บ้านพิษณุโลก

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:45, 7 ธันวาคม 2560 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " เรียบเรียงโดย : วรัญญา เพ็ชรคง ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทคว...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

เรียบเรียงโดย : วรัญญา เพ็ชรคง

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต


บ้านพิษณุโลก

          “บ้านพิษณุโลก” เดิมชื่อ “บ้านบรรทมสินธุ์” ซึ่งเป็นบ้านที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงมีพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกสร้างขึ้นโดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ แล้วพระราชทานให้กับมหาเสวกเอก พลตรีพระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ) บุตรชายคนเล็กของพระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ร.ว.ลม้าย พึ่งบุญ) กับพระนมทัต (คุณหญิงประสิทธิ์ศุภการ) ผู้ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาคัดเลือกให้เป็นแม่นมถวายแด่ทูลกระหม่อมโต เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พระราชโอรสองค์โตในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ[1]

          ในสมัยต่อๆ มาบ้านหลังนี้ได้มีบทบาทสำคัญ ในหลายๆ คราวด้วยกัน เช่น สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ถูกใช้เป็นบ้านรับรองของรัฐบาลไว้รองรับการมาเยือนของนายพลโตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในขณะนั้น พ.ศ. 2485 ทางการใช้กรมประสานงานไทย-ญี่ปุ่นและเปลี่ยนชื่อบ้านบรรทมสินธุ์เป็น บ้านไทย-พันธมิตร หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้าบรรทมสินธุ์ได้ถูกเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นบ้านพิษณุโลกตามชื่อถนนที่ตัดผ่าน หลังจากนั้นเป็นต้นมา บ้านหลังนี้ได้ถูกปรับให้เป็นบ้านพักประจำตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีมาหลายยุคหลายสมัย เริ่มตั้งแต่สมัยพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นต้นมา

 

ความเป็นมา

          พ.ศ. 2465 หรือกว่า 70 ปีที่ผ่านมา รัชกาลที่ 6 โปรดให้นายช่างชาวอิตาลีที่เคยสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นผู้ออกแบบ โดยเริ่มปรับที่ปลูกบ้านประมาณปี 2465 ในพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ แล้วเริ่มปลูกเรือนคู่ใจเป็นบ้านเล็กๆ หลังแรกระหว่างการก่อสร้าง เพื่อให้เป็นที่อยู่ของเจ้าคุณอนิรุทฯ และคุณหญิงเฉลา ผู้เป็นภริยา บ้านบรรทมสินธุ์สร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 2486

          บ้านบรรทมสินธุ์เป็นสถาปัตยกรรมแบบ Italian Baroque ประกอบด้วย ตึกนารายณ์บรรทมสินธุ์ เป็นตึกประธานสูง 3 ชั้นมีห้องใต้ดิน ชั้นล่างเป็นห้องโถงใหญ่สำหรับนั่งเล่น และมีห้องรับแขก 2 ห้อง ชั้นสองเป็นห้องนอนทั้งสองด้าน ห้องของพลตรีพระยาอนิรุทธเทวาอยู่ซ้ายมือ เป็นห้องขนาดใหญ่สีชมพู  ชั้นสามเป็นห้องพระใหญ่ใต้โดมหน้าตึก ด้านหลังห้องพระเป็นห้องนอน ห้องทุกห้องในบ้านมีเพดานสูงเพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก บนเพดานมีภาพเขียนด้วยสีฝุ่นสวยงามมาก ตรงกลางเพดานมีโคมไฟฟ้าแบบ Chandelier ซึ่งเป็นพวงแก้วผลึกสีต่างๆ แขวนอยู่ ผนังอาคารทั้งภายนอกและภายในมีลวดลายปูนปั้นหรือไม้แกะสลักตกแต่งอย่างงดงาม ตามซุ้มประตูและบานประตูมีลวดลายแกะสลัก สำหรับบันไดวนที่พิสดารมาก กล่าวคือเป็นบันไดวนที่ไม่มีเสารองรับขึ้นไปจนถึงชั้นสามของตัวตึก ด้านหน้าตึกประธานมีรูปปั้น “นารายณ์บรรทมสินธุ์” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์พระราชทานเป็นเครื่องหมายประจำตระกูล ประดิษฐานอยู่บนแท่นศิลาในอ่างน้ำพุ[2]

          นอกจากตึกประธานแล้วยังมีตึกบริวารต่างๆ ได้แก่ ตึกเย้าใจ เรือนคู่ใจ เรือนณรงค์ เรือนกลัมพากร และโรงรถ เดิมเรียงรายกันไปทางด้านหลังของที่ดิน โดยทุกตัวอาคารหันหน้าออกสู่ถนนและขนานกับถนนในเนื้อที่มีการจัดผังบริเวณ จัดสวนและสระน้ำขนาดใหญ่แบบธรรมชาติ มีภูเขาจำลองและสะพานข้ามคูไปเชื่อมกับสระใหญ่ด้วย

           ในสมัยรัชกาลที่ 7 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก พระยาอนิรุทธเทวาได้นำบ้านบรรทมสินธุ์ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้เป็นราชสมบัติ เนื่องจากเหลือกำลังจะบำรุงรักษาได้ แต่ได้รับการปฏิเสธจากรัชกาลที่ 7 ประกอบกับเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย พระยาอนิรุทธฯ พาครอบครัวอพยพไปอยู่แถววัดตำหนักเหนือ เลยวัดปากเกร็ดจังหวัดนนทบุรี ไปทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา บ้านบรรทมสินธุ์จึงว่างอยู่

 

'“บ้านรับรอง” ของรัฐบาลในสมัยสงครามโลกครั้งที่ '2

          ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีสมัยนั้นได้นำประเทศไทยเข้าร่วมวงศ์ไพบูลย์กับญี่ปุ่น และตกลงร่วมรบ-ร่วมรุก เข้าสู่สงครามมหาเอเชีย-บูรพา จึงต้องการ “บ้านรับรอง” ในราชการสงครามและต้องเตรียมบ้านที่หรูหราสมเกียรติระดับชาติไว้รับรองการมาเยือนของนายพลโตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในขณะนั้น ซึ่งเล็งเห็นว่าบ้านบรรทมสินธุ์เหมาะที่จะให้ในการนี้ได้ พ.ศ. 2485 รัฐบาลจอมพง ป. พิบูลสงคราม ส่งผู้แทนติดต่อมาขอเช่าหรือซื้อบ้านบรรทมสินธุ์ซึ่งว่างอยู่ เพราะพระยาอนิรุทธเทวายังไม่ย้ายกลับมาจากต่างจังหวัด ในวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2485 พระยาอนิรุทธฯ จึงแบ่งขายที่ไปจำนวน 25 ไร่เศษ ในราคา 5 แสนบาท ในส่วนที่เป็นตึกใหญ่และตึกบริวาร ไปจนถึงตึกธารกำนัล ทางการจึงใช้เป็นที่ทำการ “กรมประสานงานไทย-ญี่ปุ่น และเปลี่ยนชื่อบ้านบรรทมสินธุ์เดิมเป็น “บ้านไทย-สัมพันธมิตร”

          ตามที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา ฉบับที่ 25 ส.ค.2485 ระบุว่า

          “เรื่องเปลี่ยนชื่อบ้านบรรทมสินธุ์ ด้วยตามที่ทางราชการได้ตกลงรับซื้อสถานที่บริเวณบ้านบันทมสินธุ์ไว้แล้วนั้น ชื่อบ้าน ‘บันทมสินธุ์’ นี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้แก่เจ้าของเดิมโดยเฉพาะ ไม่เหมาะที่จะใช้ชื่อบ้านของทางราชการสืบไป จึงเปลี่ยนชื่อบ้านดังกล่าวเสียใหม่ว่า ‘บ้านไทยพันธมิตร’ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ประกาส นะวันที่ 21 ส.ค. 2485 ลงชื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี”[3]

          หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม เพื่อลบภาพพจน์ในการเข้าร่วม ดังนั้นเมื่อสิ้นสุดสงคราม บ้านไทยพันธมิตร ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “บ้านสันติภาพ” และเมื่อ พ.ศ. 2496 จอมพล ป. พิบูลสงครามมีมติให้เปลี่ยนชื่อบ้านดังกล่าวเป็น “บ้านพิษณุโลก”

          ซึ่งทางทายาทตระกูลอนิรุทธเทวา กล่าวว่า “จริงๆ แล้วน่าจะชื่อ “บ้านวิษณุโลก” ให้ความหมายดีกว่า ชื่อถนนจะเทียบเท่าตราประจำตระกูลได้อย่างไร ซึ่งตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็ยังคงเรียกชื่อ “บ้านพิษณุโลก” มาจนถึงปัจจุบัน ไม่มีใครเปลี่ยนชื่อบ้านอีกเลย

         

บ้านพักนายกรัฐมนตรีหลายสมัย

          ตั้งแต่ พ.ศ. 2522 เป็นต้น รัฐบาลได้กำหนดให้ใช้บ้านพิษณุโลกเป็นบ้านพักนายกรัฐมนตรี มีการดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมในหลายครั้งหลายครา เริ่มจากสมัยรัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (พ.ศ.2522-2523) ที่ได้สั่งการให้ซ่อมแซม แต่รัฐบาลของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ บริหารประเทศแค่เพียงระยะสั้นๆ จึงยังไม่ได้ลงมือปรับปรุงอย่างจริงจัง 

          ต่อมาในสมัยรัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ (ดำรงตำแหน่ง 3 สมัย พ.ศ.2523-2531) ได้ดำเนินซ่อมแซมทันทีเพื่อใช้เป็นบ้านพัก ภายหลังซ่อมแซมเสร็จ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้ย้ายเข้าไปอยู่ทันที เป็นที่ตื่นเต้นของผู้คนทั่วไป จะได้ลบภาพเรื่องเล่าลือเกี่ยวกับอาถรรพณ์ที่มีมาก่อนหน้านี้ ต่อไปหวังจะให้เป็นประเพณีปฏิบัติว่า บ้านพิษณุโลก คือ บ้านพักนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย แต่หลังจากที่ พล.อ.เปรมย้ายเข้าไปพักได้เพียง 7 คืนก็ย้ายกลับไปพักบ้านสี่เสาเทเวศน์เหมือนเดิมโดยไม่มีใครทราบสาเหตุ เสียงเล่าลือเกี่ยวกับเรื่องอาถรรพณ์ก็ถูกเล่าลือกันมากกว่าเดิม

          ในสมัยรัฐบาลของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (ดำรงตำแหน่ง 2 สมัย พ.ศ.2531-2534) มีการบูรณะตกแต่งบ้านพิษณุโลกเพื่อใช้เป็นที่ทำงานของทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก แต่กลับถูก คณะ รสช.กล่าวหาว่า รัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ใช้บ้านพิษณุโลกเป็นแหล่งซ่องสุมของผู้ไม่ปรารถนาดีต่อบ้านเมือง และในการยึดอำนาจรัฐประหารเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 คณะ รสช. ก็ได้เข้ายึดและตรวจค้นบ้านพิษณุโลกอย่างละเอียด

          สมัยนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี (ดำรงตำแหน่ง 2 สมัย พ.ศ.2534-2535) ท่านได้แสดงเจตจำนงที่จะไม่เข้าพำนักที่บ้านพิษณุโลก แต่ได้ถูกใช้เป็นสถานที่จัดเลี้ยงและรับรองแขกต่างบ้านต่างเมืองเท่านั้น ต่อมาสมัย พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงสั้นๆ (เม.ย.-พ.ค. 2535) ก็ไม่ได้ย้ายมาพำนักที่บ้านพิษณุโลกแต่อย่างใด

          สมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี (ดำรงตำแหน่ง 2 สมัย พ.ศ.2535-2538 และ พ.ศ. 2540-2544) มีการปรับปรุงเปลี่ยนโฉมบ้านพิษณุโลกใหม่ แต่ท่านก็ไม่ได้ย้ายมาพำนักที่นี่ เพียงแต่ใช้เป็นสถานที่ประชุมแกนนำรัฐบาลเป็นครั้งคราวเท่านั้น รวมถึงช่วง พ.ศ.2538 รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปะอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี (พ.ศ.2538-2539) บ้านพิษณุโลกไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์มากนัก

          สมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี (พ.ย.2539-พ.ย.2540) รัฐบาลได้ดำเนินการซ่อมซอมครั้งใหญ่เพื่อจะเปิดใช้บ้านพิษณุโลกอีกครั้ง นัยว่านายกรัฐมนตรีจะเข้าพักพร้อมครอบครัว และเพื่อจะลบเสียงเล่าลือเรื่องอาถรรพณ์ที่ว่า “บ้านร้างหลังนี้ไม่มีใครอยู่  และใครก็อยู่ไม่ได้”

          เรื่องอาถรรพณ์เกี่ยวกับบ้านพิษณุโลกที่ถูกเล่าลือไปต่างๆ นานามานาน ซึ่งเป็นที่หวาดหวั่นแก่ผู้ที่จะเข้ามาพักอาศัย ซึ่ง พล.อ.เฟื่องเฉลย อนิรุทธเทวา ได้เฉลยคำตอบโดยยืนยันว่าบ้านพิษณุโลกไม่มีอาถรรพณ์ต่างๆ แน่นอน สำหรับที่มาของคำเล่าลือเรื่องอาถรรพณ์ทายาทของบ้านพิษณุโลกเล่าว่า “ผมเคยสืบความได้ว่า ตำรวจที่มาเฝ้ากุเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะเขาไม่อยากอยู่ที่นี่ จำเจ อยากย้ายไปอยู่ที่อื่น ก็เลยบอกว่าเจอผี เจออะไรบ้างก็เท่านั้นเอง ไม่มีอะไร”[4]

   

บรรณานุกรม

ทักษิณ ชินวัตร, พ.ต.ต.. “บ้านพิษณุโลก”, ใน 109 หนังสือควรอ่านจากนายกฯ ทักษิณ, 2548.

 “บ้านพิษณุโลก”. สารคดี ปีที่ 12 ฉบับที่ 143 (ม.ค.2540). หน้า 72.

ภาวินี อินเทพ. “แง้มประตูพิสูจน์อาถรรพณ์ ‘บ้านพิษณุโลก’”. ใน เนชั่นสุดสัปดาห์. ปีที่ 5 ฉบับที่ 239 วันที่ 3-9 ม.ค.2540. หน้า 29.

อินทิรา ใจอ่อน. “ฟื้นอดีตบ้านบรรทมสินธุ์ลบอาถรรพณ์ ‘พิษ’ ณุโลก”. ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 14 ฉบับที่ 10 (ส.ค.2536)

เสาวลักษณ์ พงษธา โปษยนันท์. 174 มรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทย. คณะกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย (2545-2547).

อ้างอิง


[1]  ภาวินี อินเทพ. “แง้มประตูพิสูจน์อาถรรพณ์ ‘บ้านพิษณุโลก’ ”.  เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 239 วันที่ 3-9 ม.ค.2540. หน้า 28.

[2]  “บ้านพิษณุโลก”. สารคดี ปีที่ 12 ฉบับที่ 143 (ม.ค.2540). หน้า 72. 

[3] ภาวินี อินเทพ. “แง้มประตูพิสูจน์อาถรรพณ์ ‘บ้านพิษณุโลก’ ”.  เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 239 วันที่ 3-9 ม.ค.2540. หน้า 29.

[4] ภาวินี อินเทพ. “แง้มประตูพิสูจน์อาถรรพณ์ ‘บ้านพิษณุโลก’ ”.  เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 239 วันที่ 3-9 ม.ค.2540. หน้า 30.