ประชาธิปไตยท้องถิ่น

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

เรียบเรียงโดย : สันต์ชัย รัตนะขวัญ

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล


ความหมายของประชาธิปไตยท้องถิ่น

ประชาธิปไตยท้องถิ่น (local democracy) คือ ประชาธิปไตยในระดับรากฐานของสังคม เพราะประชาชนในท้องถิ่น สามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย ได้จากการเข้ามีส่วนร่วมในการจัดทำกิจกรรมสาธารณะต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้โดยตรง ดังเช่น การรวมกลุ่มชาวบ้านในท้องถิ่น เพื่อตัดสินใจทำโครงการพัฒนาท้องถิ่นของตน ไม่ว่าจะเป็นการทำถนนเข้าหมู่บ้าน การสร้างบ่อกำจัดขยะ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีโอกาสกระทบต่อการดำรงชีวิต หรือมีความใกล้ตัวชาวบ้านในท้องถิ่นได้มาก ประชาธิปไตยท้องถิ่นจึงมีความแตกต่างไปจากประชาธิปไตยระดับชาติในปัจจุบัน อันเป็นประชาธิปไตยสมัยใหม่ (modern democracy) ที่ประชาชนใช้การเลือกตัวแทน ไปใช้อำนาจปกครองแทนตนเอง (representative government) ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างประชาธิปไตยทั้งสองระดับดังกล่าว อยู่ที่เรื่องการให้ความสำคัญกับหลักการที่ว่าด้วย “การปกครองตนเอง” (self-government democracy) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของประชาธิปไตยที่แท้จริง อันสะท้อนให้เห็นผ่านประชาธิปไตยท้องถิ่น ในเชิงแนวความคิด นักปรัชญาชาวอังกฤษที่ชื่อว่า จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) ได้ให้มุมมองที่สำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่าง ประชาธิปไตยท้องถิ่นกับการปกครองส่วนท้องถิ่นเอาไว้ว่า การปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความเป็นประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นนั้น จะต้องให้ความสำคัญต่อการเชื่อมโยงความคิดเรื่องความเป็นอิสระในท้องถิ่น (local autonomy) เข้ากับเป้าหมายในการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน (popular responsiveness) เพื่อให้การปกครองท้องถิ่น เป็นวิถีทางในการรับประกันเสรีภาพของประชาชน ในการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลส่วนกลาง และเป็นกลไกหนึ่งที่จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งท้ายที่สุดจะทำให้เกิดการศึกษาทางการเมืองของประชาชนอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนมีความคุ้นเคยกับประชาธิปไตย และเรียนรู้วิถีทางในการประพฤติปฏิบัติตามแบบประชาธิปไตยไปโดยปริยาย ในลำดับต่อไป ผู้เขียนจะกล่าวถึงรายละเอียดของหลักการสำคัญของประชาธิปไตยท้องถิ่น และยกตัวอย่างรูปธรรมของประสบการณ์เกี่ยวกับประชาธิปไตยท้องถิ่นที่เกิดขึ้นทั้งในต่างประเทศ และในประเทศไทย

หลักการสำคัญของประชาธิปไตยท้องถิ่น

หลักการสำคัญของประชาธิปไตยท้องถิ่น อยู่ที่เรื่อง “การปกครองตนเอง” ซึ่งเป็นเรื่องของการมีสิทธิและเสรีภาพในการกำหนดชีวิตของตนเองอย่างมากที่สุด ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายของรัฐนั้นๆ ได้ให้ไว้กับประชาชนในท้องถิ่น แต่สิ่งที่ต้องพึงระวังไว้เกี่ยวกับหลักการปกครองตนเองดังกล่าว ก็คือ การมีสิทธิและเสรีภาพดังกล่าว มิได้หมายความว่า ประชาชนในท้องถิ่นจะเป็นอิสระจากอำนาจรัฐ จนกระทั่งสามารถกระทำการต่างๆได้ตามอำเภอใจ เพราะในความเป็นจริงแล้ว การกระทำของพวกเขาจะต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบต่อหน้าที่ความเป็นพลเมืองที่ดีของตนเองด้วย ดังเช่น การมีความกระตือรือร้นในการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ ทั้งของตนเองและส่วนรวมในชุมชนท้องถิ่น ฯลฯ หลักการสำคัญดังกล่าว ทำให้ประชาธิปไตยท้องถิ่นถูกมองว่า มีลักษณะใกล้เคียงกับการใช้ประชาธิปไตยทางตรงในสมัยกรีกโบราณ ที่ในอดีตจะเกิดขึ้นได้ในเมืองที่มีขนาดเล็กๆ และประชากรจำนวนน้อยๆ ด้วยลักษณะทางกายภาพดังกล่าว ได้เอื้ออำนวยให้เกิดการตัดสินใจทางการเมือง และการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการชีวิตสาธารณะของตนเองโดยประชาชนได้โดยง่าย กล่าวคือ พลเมืองภายในนครรัฐ (polis) ของกรีกโบราณ สามารถใช้อำนาจทางด้านนิติบัญญัติ ด้านการบริหาร และด้านตุลาการ โดยใช้วิธีจับฉลากเข้าไปทำหน้าที่ โดยไม่ต้องใช้การเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่เฉกเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในประชาธิปไตยสมัยใหม่ ภายใต้บริบททางกายภาพที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากรัฐสมัยใหม่ (modern state) ที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น มีอาณาเขตที่กว้างขวางและมีประชากรจำนวนมาก ยากที่จะบริหารจัดการให้เกิดประชาธิปไตยทางตรงในระดับชาติได้ ประชาธิปไตยท้องถิ่นมีข้อดีที่สำคัญที่สุด อยู่ที่เรื่องของการทำให้ประชาชนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของท้องถิ่น มากกว่าจะเป็นเพียงแค่ ผู้รอรับผลประโยชน์ทางนโยบายสาธารณะ หรือผู้ปฏิบัติตามนโยบายที่ผู้ปกครองได้ให้เอาไว้ ดังนั้น ด้วยลักษณะสำคัญของประชาธิปไตยท้องถิ่นดังกล่าว เราจึงสามารถกล่าวได้ว่าโดยหลักการแล้ว ประชาธิปไตยท้องถิ่นให้ความสำคัญกับ การ “เป็นของประชาชน” และ “ทำโดยประชาชน” มากกว่าการเป็นประชาธิปไตย “เพื่อประชาชน” ซึ่งลักษณะสำคัญดังกล่าวของประชาธิปไตยท้องถิ่น จะช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในประชาธิปไตยสมัยใหม่ ซึ่งเป็นประชาธิปไตยระดับชาติได้ ดังเช่น ปัญหาทรราชจากเสียงข้างมาก (tyranny of the majority) การมีรัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพ (ineffective government) การเกิดความขัดแย้งระหว่างตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เป็นต้น

ประสบการณ์ด้านประชาธิปไตยท้องถิ่นในต่างประเทศ

ประสบการณ์ด้านประชาธิปไตยท้องถิ่นในต่างประเทศนั้น มีตัวอย่างให้เห็นได้มากมาย แต่ในที่นี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึงประสบการณ์ทั้งที่เป็นไปในทางบวกและทางลบ โดยเริ่มจากกรณีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เป็นรากฐานของประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก การทำความเข้าใจประชาธิปไตยท้องถิ่นของสหรัฐอเมริกานั้น สามารถทำได้ผ่านการศึกษางานเขียนทางวิชาการที่ชื่อว่า ประชาธิปไตยในอเมริกา (Democracy in America) ของนักคิดชาวฝรั่งเศสที่ชื่อว่า อเล็กซิส เดอ ท็อกเกอร์วิลล์ (Alexis de Tocqueville) งานเขียนชิ้นนี้เป็นตัวอย่างการศึกษาประชาธิปไตยท้องถิ่นชิ้นสำคัญเล่มแรกในโลกวิชาการ ซึ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1835 ท็อกเกอร์วิลล์ได้นำเสนอแนวคิดประชาธิปไตยท้องถิ่น ผ่านการอธิบายการปกครองท้องถิ่นของสหรัฐอเมริกา เพราะมองว่าเรื่องดังกล่าว ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจ ก่อนจะกล่าวถึงประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกาในระดับสหพันธรัฐ ท็อกเกอร์วิลล์ ได้ยกตัวอย่าง ระบบชุมชนในนิวอิงแลนด์ (New England) ที่ให้เสรีภาพแก่ประชาชนในชุมชนอย่างเต็มที่ เพราะประชาชนในชุมชนของนิวอิงแลนด์ เป็นที่มาของอำนาจในสังคม สามารถใช้อำนาจของตนได้โดยตรงอย่างยิ่ง แม้ว่าในระดับของมลรัฐนิวอิงแลนด์จะมีระบบผู้แทนดำรงอยู่ แต่ในระดับของชุมชน ซึ่งถือได้ว่ามีการใช้อำนาจนิติบัญญัติและการปกครอง ที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนอย่างมาก ระบบผู้แทนในลักษณะดังกล่าวจะไม่เป็นที่ยอมรับของชุมชน ดังนั้น ในระดับของชุมชนภายในมลรัฐนิวอิงแลนด์ จึงไม่มีสภาเทศบาลทำหน้าที่เป็นตัวแทนของพลเมืองที่อาศัยอยู่ในชุมชน เพื่อชี้นำการทำกิจการสาธารณะต่างๆ แต่พลเมืองในชุมชนซึ่งมีสิทธิเลือกตั้งจะเป็นผู้นำนักบริหารชุมชนที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา โดยเฉพาะในกรณีที่มิได้มีข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญของรัฐเอาไว้โดยตรง

นอกจากประสบการณ์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตัวอย่างสำคัญของประชาธิปไตยท้องถิ่นสมัยใหม่ ที่มีความเก่าแก่แล้ว ยังมีตัวอย่างกรณีศึกษาประสบการณ์ในประเทศอื่นๆ ที่ได้ชื่อว่าเป็นแม่แบบของประชาธิปไตยสมัยใหม่ ดังเช่น กรณีประชาธิปไตยท้องถิ่นของประเทศอังกฤษ การศึกษาบทบาทของประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นของอังกฤษจะให้ความสำคัญกับเรื่องหลักความรับผิดชอบ (accountability) ซึ่งในกรณีนี้จะเป็นการยกตัวอย่างการศึกษาการทำงานของตำรวจอังกฤษในระดับท้องถิ่น ที่แต่เดิมอาศัยมาตรการทางกฎหมายที่กำหนดไว้ผ่านพระราชบัญญัติตำรวจและหลักฐานอาญาฉบับใหม่ในปี ค.ศ. 1984 (the new Police and Criminal Evidence Act (1984)) ซึ่งเป็นการบัญญัติหน้าที่ความรับผิดชอบของตำรวจ ที่ต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบได้โดยรัฐบาลระดับชาติ อย่างไรก็ตาม จากความเป็นจริงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ จะต้องทำงานใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ระดับท้องถิ่นต่างๆ ก็ทำให้เกิดกระแสการเรียกร้องให้การทำงานของตำรวจ จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น และการได้รับความยินยอมให้ปฏิบัติหน้าที่ (consent) จากประชาชนในท้องถิ่น ดังนั้น จึงนำมาสู่การเพิ่มบทบาทของประชาชน ให้เข้ามาทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของตำรวจในท้องถิ่นระดับภาคและระดับแผนก (division and subdivision) โดยอยู่ในรูปของการใช้บทบัญญัติทางกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสภาชุมชนท้องถิ่น (local community councils) เพื่อบังคับใช้อำนาจการตรวจสอบการทำงานของตำรวจ

อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ด้านประชาธิปไตยท้องถิ่นจากต่างประเทศ ก็ไม่ได้มีเพียงแต่กระแสการเพิ่มอำนาจของประชาชนในท้องถิ่น ให้เข้ามามีบทบาทในการปกครองส่วนท้องถิ่นและการตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น ดังที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเท่านั้น แต่ยังมีตัวอย่างกรณีศึกษาบางกรณีในต่างประเทศ ที่แสดงให้เห็นได้ว่า ประชาธิปไตยระดับท้องถิ่นก็สามารถถูกขัดขวางได้ เมื่อมีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจตามการพัฒนาแบบเสรีนิยมใหม่ และมีการจัดระเบียบหน่วยงานด้านการปกครองท้องถิ่นใหม่ ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับกรณีการปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศชิลี แต่เดิมประชาธิปไตยระดับท้องถิ่นของชิลี ให้ความสำคัญกับแนวคิดประชานิยม ซึ่งทำให้รัฐบาลชิลีจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในท้องถิ่น และต้องทุ่มเททรัพยากรจำนวนมากให้กับท้องถิ่น เพราะพรรคการเมืองของชิลีมีการยึดโยงมวลชนในระดับท้องถิ่น เพื่อเป็นฐานคะแนนเสียงในการสนับสนุนพรรคการเมืองสำหรับการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้ขบวนการมวลชนระดับรากหญ้าและภาคประชาสังคม มีบทบาททางการเมืองที่เข้มแข็ง ในการสร้างข้อเรียกร้องจากพรรคการเมืองที่มีอำนาจในรัฐบาล

ระบอบประชาธิปไตยในชิลี ได้ถึงกาลล่มสลายลงไป ในปี ค.ศ. 1973 เมื่อรัฐบาลของประธานาธิบดีซัลวาดอร์ อาเยนเด้ (Salvador Allende) ต้องประสบกับปัญหาเสถียรภาพทางการคลังและการเมือง จากการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากไปกับการทำนโยบายประชานิยม และเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศ โดยนายพลออกุสโต ปิโนเช่ต์ (Augusto Pinochet) ซึ่งนำพาประเทศชิลีไปสู่การปกครองแบบเผด็จการอย่างยาวนาน การทำรัฐประหารดังกล่าวของนายพลปิโนเช่ต์ ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการปกครองท้องถิ่นของชิลีเป็นอย่างมาก เนื่องจากรัฐบาลของปิโนเช่ต์ได้ทำการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

การกระทำดังกล่าวข้างต้นของรัฐบาลนั้นไม่ได้ทำเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของประชาธิปไตยท้องถิ่น แต่กลับเป็นไปเพื่อลดรายจ่ายจากกิจการต่างๆของรัฐที่เคยใช้แนวทางการพัฒนาแบบประชานิยมในอดีต มาเป็นการผลักภาระความรับผิดชอบ ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะเรื่องการจัดการศึกษาและสาธารณสุข แต่ภายใต้การมอบหมายภารกิจดังกล่าวให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐบาลระดับชาติกลับไม่ได้ส่งงบประมาณในการจัดการภารกิจดังกล่าว มาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากนี้ รัฐบาลปิโนเช่ต์ยังทำการสลายการเชื่อมโยงระหว่าง พรรคการเมืองในชิลีกับฐานมวลชนในท้องถิ่น และทำการปราบปรามการเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการมวลชนระดับรากหญ้า (grassroot movement) เพื่อไม่ให้มีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งทำให้เกิดความอ่อนแอของพรรคการเมืองและภาคประชาสังคมของชิลี แม้ว่าในเวลาต่อมาประเทศชิลีจะมีการหวนกลับมาเป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง ภายหลังจากที่นายพลปิโนเชต์พ่ายแพ้ในการลงประชามติ ปี ค.ศ. 1988 และทำให้ชิลีมีรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1990 ภายใต้การนำของประธานาธิบดีพาทริซิโอ อยิลวิน (Patricio Aylwin) แต่การปกครองท้องถิ่นของชิลีก็ยังคงไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดประชาธิปไตยระดับท้องถิ่น ถึงแม้ว่าภายใต้การเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยระดับชาติ จะทำให้เกิดการยินยอมให้มีการเลือกตั้งผู้นำท้องถิ่นในระดับเทศบาลได้ แต่การเลือกตั้งดังกล่าว ก็กลายเป็นช่องทางให้ชนชั้นนำเข้ามาปกครองเทศบาล และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้ามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานและการจัดทำงบประมาณของหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น

ประสบการณ์ด้านประชาธิปไตยท้องถิ่นของไทย

ภายหลังจากกล่าวถึงประสบการณ์ด้านประชาธิปไตยท้องถิ่นในต่างประเทศ ในลำดับสุดท้าย ผู้เขียนจะกล่าวถึงประสบการณ์ด้านประชาธิปไตยท้องถิ่นของไทย กรณีประชาธิปไตยในท้องถิ่นของสังคมไทยมีพัฒนาการที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เกิดขึ้นในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 อันเนื่องมาจากรัชกาลที่ 7 ทรงให้ความสำคัญกับการสร้างพลเมืองเพื่อเป็นพื้นฐานของระบอบรัฐธรรมนูญ และการกระจายอำนาจในระดับท้องถิ่น การสร้างความเป็นประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นก่อนประชาธิปไตยในระดับประเทศ สามารถสังเกตเห็นได้จาก ในสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้เริ่มมีการทำสุขาภิบาลและเขตปกครองชายทะเลทิศตะวันตก นอกจากนั้น รัชกาลที่ 7 ยังทรงเขียนและร่างกฎหมายเกี่ยวกับเทศบาล โดยพระองค์ไม่ได้แปลคำว่า “municipal” ว่า “เทศบาล” แต่แปลว่า “ประชาภิบาล” เพื่อสื่อถึงการปกครองโดยตนเองของประชาชน

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้เริ่มทำเรื่องเทศบาล โดยมีการก่อตั้งขึ้นมากกว่า 100 แห่งภายในปีเดียวหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่การสร้างประชาธิปไตยในท้องถิ่นที่เกิดขึ้น ยังไม่ได้มีลักษณะของการฝึกให้ประชาชนมีความรักต่อท้องถิ่น หรือมีความเป็นพลเมืองมากนัก เพราะคณะราษฎรให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยระดับชาติมากกว่า ดังนั้น หลักการปกครองตนเองของประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญของประชาธิปไตยท้องถิ่น เริ่มเป็นสิ่งที่ถูกละเลย และถูกลดความสำคัญลงไปมากขึ้นเรื่อยๆ ดังเห็นได้จาก หน่วยการปกครองส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ที่ได้ทำงานต่างๆแทนหน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่น ในช่วงก่อนหน้าที่จะมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 และพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 อย่างไรก็ตาม การปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกิดขึ้นภายหลังการกระจายอำนาจ กลับไม่ได้ทำให้ประชาธิปไตยท้องถิ่นที่เกิดขึ้น เป็นไปตามหลักการปกครองตนเองอย่างแท้จริง เพราะให้ความสำคัญกับการใช้ประชาธิปไตยผ่านตัวแทน เช่นเดียวกับประชาธิปไตยระดับชาติ โดยมีการเลือกผู้แทนสำหรับทำหน้าที่การบริหาร และหน้าที่นิติบัญญัติในสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละระดับ ทำให้ประชาธิปไตยท้องถิ่นที่เกิดขึ้นมีปัญหาไม่ต่างจากประชาธิปไตยระดับชาติ

ด้วยข้อจำกัดของการเมืองเชิงสถาบันที่เกิดขึ้นกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในลักษณะดังกล่าว จึงทำให้บทบาทของการเมืองภาคพลเมืองในระดับท้องถิ่น กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประชาชนในท้องถิ่น ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจและการบริหารปกครองท้องถิ่นโดยตรง โดยประชาชนในท้องถิ่นอาจจะอาศัยช่องทางการมีส่วนร่วมอย่างเป็นทางการ ดังเช่น การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น การเข้าชื่อเสนอลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ฯลฯ หรือประชาชนในท้องถิ่นอาจจะอาศัยช่องทางการมีส่วนร่วมที่ไม่เป็นทางการ ในรูปของการรวมกลุ่มประท้วงเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (social movement) เพื่อรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของตนเอง ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆของท้องถิ่น ดังเช่น การเกิดปัญหามลภาวะจากนิคมอุตสาหกรรมในท้องถิ่นที่ตนอยู่อาศัย การก่อสร้างโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ การแย่งชิงทรัพยากรในท้องถิ่นระหว่างชาวบ้านกับนายทุน ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้กระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นโดยตรง ดังที่เห็นได้จากกรณีที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนจนคนด้อยอำนาจในสังคม อย่างเช่น สมัชชาคนจน เครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ เป็นต้น การเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการพัฒนาของรัฐและเอกชน โดยกลุ่มประชาชนตามท้องถิ่นต่างๆของประเทศไทย จึงกลายเป็นภาพตัวอย่างหนึ่ง ของการเมืองภาคพลเมืองในระดับท้องถิ่นที่เกิดเพิ่มขึ้นอย่างมาก ภายหลังจากการขยายสิทธิของประชาชนในการจัดการชุมชนท้องถิ่นของตน ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ นับตั้งแต่ฉบับปี 2540 เป็นต้นมา

บรรณานุกรม

Birch, Anthony. The Concepts & Theories of Modern Democracy, 3rd ed. London: Routledge, 2007.

Cunningham, Frank. Theories of Democracy: A Critical Introduction. London: Routledge, 2002.

de Tocqueville, Alexis. Democracy in America: Historical-Critical Edition of De la démocratie an Amérique, Volume I. Edited by Eduardo Nolla. Indianapolis: Liberty Fund, 2010.

Heywood, Andrew. Key Concepts in Politics. New York: Palgrave Macmillan, 2000.

Posner, Paul W. “Local Democracy and the Transformation of Popular Participation in Chile,” Latin America Politics and Society 46, 3 (Autumn 2004): 55-81.

Smith, Susan J. “Police Accountability and Local Democracy,” Area 18, 2 (June 1986): 99-107.

เอกพลณัฐ ณัฐพัทธนันท์, “ผลสะเทือนจากการต่อสู้ของขบวนการคนจนและคนด้อยอำนาจในสังคมไทย ตั้งแต่ปี 2531-2549,” วารสารสังคมศาสตร์ 40, 2 (กรกฏาคม-ธันวาคม 2552): 220-272.

เอนก เหล่าธรรมทัศน์. ประชาธิปไตยท้องถิ่น: แง่คิดเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะในระดับท้องถิ่น. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ, 2550.