เขตการลงทุนอาเซียน (ASEAN Investment Area : AIA)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:07, 17 มีนาคม 2559 โดย Suksan (คุย | ส่วนร่วม) (หน้าที่ถูกสร้างด้วย '==บทนำ== เขตการลงทุนอาเซียน จัดตั้งขึ้นภายใต้...')
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

บทนำ

เขตการลงทุนอาเซียน จัดตั้งขึ้นภายใต้กรอบความร่วมมือการลงทุนอาเซียน อันเป็นผลมาจากการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 5 ในปี ค.ศ. 1998 โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อให้มีข้อตกลงในระดับภูมิภาคร่วมกันเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจ[1] ศักยภาพของการไหลเวียนของเงินทุนทั้งจากนอกภูมิภาคและในภูมิภาค ให้อาเซียนมีความน่าดึงดูดในแง่ของการลงทุน เป็นตลาดที่เปิดแก่เหล่าผู้ประกอบการ โดยจะครอบคลุมเฉพาะการลงทุนโดยตรง ไม่รวมถึงการลงทุนหลักทรัพย์ [2] อย่างไรก็ตามการมีข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นการแสดงถึงความชัดเจนในกระบวนการของเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA-ASEAN Free Trade Area) อีกด้วย ต่อมาในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 6 ได้ออก “มาตรการเข้มข้น” เพื่อมาฟื้นฟูวิกฤตการเศรษฐกิจในภูมิภาคและเร่งรัดเพื่อให้มาตรการของ AIA เกิดผลโดยเร็ว ยกตัวอย่างเช่น มาตรการยกเว้นภาษีให้ผู้ประกอบการอาเซียนในระยะแรกเริ่ม และสำหรับผู้ประกอบการต่างชาติได้รับการลดภาษีร้อยละ 30 หรือยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าประเภททุน เป็นต้น

พันธกรณีตามข้อตกลง

ข้อตกลงที่ปรากฏอยู่ในเขตการลงทุนอาเซียน มีผลผูกพันสมาชิก ให้ลดบรรดากฎเกณฑ์เงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นข้อจำกัดการลงทุนในอาเซียน โดยมีกรอบเวลากำหนดเพื่อเป็นหลักประกัน ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ประเทศอาเซียนจะเปิดเสรีการลงทุนในด้านอุตสาหกรรม รวมถึงให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนสัญชาติประเทศสมาชิกอาเซียนให้เท่าเทียมกับสิทธิที่จะให้แก่นักลงทุนสัญชาติประเทศตัวเอง โดยต้องให้สิทธิดังกล่าวภายใน 6 เดือน หลังจากมีการทำข้อตกลงดังกล่าว (7 ตุลาคม ค.ศ. 1998) นอกจากนี้ในส่วนภาคการผลิต กลุ่มประเทศอาเซียน 6 (สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย) จากต้องให้สิทธิดังกล่าวภายในปี 2003 และเช่นเดียวกับพม่าที่จะต้องร่วมผูกพันตามข้อตกลงดังกล่าวภายในปี ค.ศ.2003 [3]

การดำเนินการ

ภายใต้เขตการลงทุนอาเซียนแผนการดำเนินการประกอบไปด้วยมาตรการหลากหลายเพื่อสนับสนุนและเอื้อให้เกิดการลงทุนในอาเซียน มีการจัดประชุมสัมมนาพูดคุยเรื่องการ จัดให้มีมาตรการเอื้อประโยชน์ร่วมกัน เรื่องการส่งเสริมการลงทุนจากภายนอกกลุ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและกิจการเพื่อการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ ความร่วมมือกันในภาคสาธารณชนในด้านการกำหนดกฎเกณฑ์การลงทุน การกำหนดนโยบายรัฐ ที่จะออกมาตรการเฉพาะที่จะสร้างความโปร่งใสของระบบการค้าการลงทุน เพื่อจะกำจัดอุปสรรคทางการค้าและสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน การจัดโครงการฝึกฝนบุคลากรที่จะให้บริการในด้านการลงทุนและข้อมูลข่าวสาร มีการระบุสถิติการเข้ามาลงทุนในด้านต่างๆจากต่างชาติ โดยจะต้องส่งข้อมูลให้แก่ (ASEAN Heads of Investment Agencies - AHIR) ดูแล และควบคุมการดำเนินการต่างๆในเขตการลงทุนอาเซียน โครงการดังกล่าวยังรวมไปถึงการรวบรวมมาตรการหรือสิ่งจูงใจใดๆที่จะเป็นการเอื้อให้เกิดการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ จัดพิมพ์สรุปส่งให้แก่รัฐสมาชิกทั้งหลาย เพื่อใช้ในกระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการลงทุนของรัฐนั้นๆ เอง ทั้งนี้ ภายใต้ข้อตกลงเขตการลงทุนอาเซียนและการเอื้อให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติ นำมาสู่ 3 โครงการย่อย ดังนี้ [4]

1. ASEAN Supporting Industrial Database (ASID) โครงการฐานข้อมูลอุตสาหกรรมสนับสนุนประเทศอาเซียน เพื่อให้สมาชิกได้ใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลในการประเมินสถานภาพทางด้านอุตสาหกรรม เพื่อกำหนดกลยุทธ์นโยบายพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และเพื่อประโยชน์แก่ภาคเอกชนในการร่วมทุนและการติดต่อธุรกิจ

2.โครงการจัดระบบเทคโนโลยีที่อาเซียนเป็นผู้ผลิตและเป็นเจ้าของเพื่อเอื้อให้มีการใช้เทคโนโลยีจากภายในกลุ่มเอง ให้ความชัดเจนในการจับคู่ค้าในการลงทุน สนับสนุนการลงทุนร่วม เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับเทคโนโลยีที่ผลิตได้ในอาเซียน ให้ได้ใช้ในอาเซียน และเพิ่งโอกาสการส่งออกเพื่อนำไปใช้กับประเทศนอกกลุ่ม

3.โครงการสรุปนโยบายและมาตรการต่างๆที่เกี่ยวกับการลงทุนในอาเซียน เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับนโยบายและมาตรการพื้นฐานในแต่ละประเทศสมาชิก

ในปี ค.ศ.2009 รัฐมนตรีเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศได้มีการทำความตกลงด้านการลงทุนของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Investment Agreement (ACIA)) อันเป็นการปรับปรุงข้อตกลงเขตการลงทุนอาเซียน พร้อมกับผนวกข้อตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (ASEAN Investment Guarantee Agreement- IGA) เข้าด้วยกัน [5] ความตกลงนี้ประกอบด้วย 4 หลักการที่สำคัญคือ การเปิดเสรีการลงทุน การให้ความคุ้มครองการลงทุน การส่งเสริมการลงทุน และการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน เพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันในการลงทุนของอาเซียนในสายตานักลงทุนต่างชาติ โดยมีแนวคิดเปิดการค้าเสรีที่มากขึ้นกว่าเดิม ด้วยการลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนบางประการที่มีในข้อตกลงเขตการลงทุนอาเซียนออกไป [6]

คณะกรรมการเขตการลงทุนอาเซียน (ASEAN Investment Area Council)

คณะกรรมการเขตการลงทุนอาเซียน อยู่ภายใต้อำนาจการบริหารของคณะมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ประกอบจากรัฐมนตรีจากรัฐสมาชิกทั้ง 10 ประเทศและเลขาธิการอาเซียน ดูแลและควบคุมการดำเนินทางด้านเศรษฐกิจและระบบการลงทุน

ตารางแถลงการณ์ดำเนินงานจากการประชุมร่วมโดยคณะกรรมการเขตการลงทุนอาเซียน [7]

ตัวอย่างข้อตกลงที่เกี่ยวกับการลงทุนในอาเซียน[8]

ข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยให้นักลงทุนสามารถเข้ามาลงทุนและประกอบธุรกิจระหว่างกันได้ง่ายขึ้น ตลอดจนอัตราภาษีที่ลดต่ำลงจาก AFTA อันเป็นการขยายฐานการผลิตรวมไปถึงตลาดสินค้าในอาเซียน [9] ทั้งนี้ด้วยการสนับหนุนให้มีการเคลื่อนไหวของเงินทุนอย่างเสรี แรงงานที่มีฝีมือและผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงเทคโนโลยีระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน

ความท้าทายของเขตการลงทุนอาเซียน

สำหรับประเทศไทยแล้วมีนักลงทุนมากมายที่สนใจการลงทุนในประเทศอาเซียน เพียงแต่การลงทุนที่แท้จริงนั้นมักจะเป็นไปในลักษณะของการร่วมลงทุนในระดับใหญ่ ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ก็ได้เล็งเห็นถึงปัญหา จึงได้ให้การช่วยเหลือสนับสนุนการลงทุนในระดับกลางด้วย เพื่อให้มีการกระจายโอกาสการลงทุนแก่ประชาชน โดยทางคณะกรรมการและเหล่านักลงทุนต่างได้มาแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อให้นำมาซึ่งช่องทางที่ดีที่สุด อย่างไรก็ดีการซื้อขายแต่ละทอดในประเทศอาเซียนต่างก็เพิ่มมูลค่าของตัวสินค้าไปเรื่อยๆในแต่ละประเทศสมาชิก[10] สำหรับในอาเซียนเอง สินค้าที่มีความเคลื่อนไหวในระบบเศรษฐกิจอาเซียนคือ รถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าอาหาร และสินค้าจำพวกผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ดังนี้ อย่างไรก็ตามเนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียนก็ดำรงสถานภาพเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) เช่นกัน ดังนี้จึงเป็นความท้าทายว่าเหล่าประเทศอาเซียนจะรักษาความสมดุลระหว่างการให้สิทธิประโยชน์กับประเทศในกลุ่มเขตการลงทุนอาเซียน กับประเทศคู่ค้าที่อยู่ในกลุ่มองค์การค้าโลกแต่อยู่นอกกลุ่มอาเซียนอย่างไร

บทสรุป

เขตการลงทุนอาเซียนเป็นอีกก้าวหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงพลังที่เกิดจากการรวมตัวเป็นอาเซียน โดยการที่เหล่าประเทศสมาชิกจะให้สิทธิประโยชน์ระหว่างกัน ทั้งนี้ได้มีมาตรการส่งเสริมต่างๆ มากมาย รวมไปถึงการจัดประชุมเพื่อติดตามผลเป็นระยะ อย่างไรก็ดี ในขณะที่อาเซียนพยายามจะรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศก็ดำเนินความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศอื่นๆ และดำเนินกิจกรรมในฐานะสมาชิกขององค์การการค้าในรูปแบบอื่นไปพร้อมๆ กัน แต่ละประเทศสมาชิกจึงมีการให้สิทธิพิเศษหรือมีข้อผูกพันอื่นๆ กับประเทศนอกกลุ่มอาเซียนซึ่งอาจจะส่งผลให้เขตการลงทุนอาเซียนลดความสำคัญและด้อยประสิทธิภาพลง ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายที่ประเทศสมาชิกอาเซียนอาจต้องมีการวางแนวนโยบายร่วมกันโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของเหล่านักลงทุนสัญชาติอาเซียนที่หวังพึ่งเขตการตกลงดังกล่าวในการดำเนินธุรกิจ

บรรณานุกรม

องค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก.2012.ASEAN. http://eco-cooperation.exteen.com/20100214/asean (Accessed May 21.2015)

Lawan Thanadsillapakul .2015. Open Regionalism and Deeper Integration: The Implementation of ASEAN Investment Area (AIA) and ASEAN Free Trade Area (AFTA). http://www.thailawforum.com/articles/lawanasean7.html (Accessed May 21.2015)

Nick Freeman.The Future of Foreign Investment in Southeast Asia. New York:Routledge Curzon,2004.

Sondre Ulvund Solstad. 2013. “Introduction to the ASEAN Comprehensive Investment Agreement” http://www.aseanbriefing.com/news/2013/04/12/introduction-to-the-asean-comprehensive-investment-agreement.html#sthash.zzLhAv2i.dpuf http://www.aseanbriefing.com/news/2013/04/12/introduction-to-the-asean-comprehensive-investment-agreement.html (Accessed October 26.2015)

Yossarin Boonwiwattanakarn.2015. Thai investment in ASEAN lagging behind regional colleagues. http://www.nationmultimedia.com/business/Thai-investment-in-Asean-lagging-behind-regional-c-30209408.html (Accessed May 23,.2015)

อ้างอิง

  1. Lawan Thanadsillapakul .2015. “Open Regionalism and Deeper Integration: The Implementation of ASEAN Investment Area (AIA) and ASEAN Free Trade Area (AFTA).” http://www.thailawforum.com/articles/lawanasean7.html (Accessed May 21.2015)
  2. องค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก.2012.”ASEAN.” http://eco-cooperation.exteen.com/20100214/asean (Accessed May 21.2015)
  3. Supra note 1.
  4. Supra note 1
  5. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน,”ความตกลงด้านการลงทุนของอาเซียน (Asean Comprehensive Investment Agreement (ACIA))” <https://www.google.co.th/webhp?sourceid=chrome-instant&ion=1&espv=2&ie=UTF-8#q=acia+asean+comprehensive+investment+agreement++%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD>Z(Accessed October 26.2015)
  6. Sondre Ulvund Solstad. 2013. “Introduction to the ASEAN Comprehensive Investment Agreement” <http://www.aseanbriefing.com/news/2013/04/12/introduction-to-the-asean-comprehensive-investment-agreement.html#sthash.zzLhAv2i.dpuf http://www.aseanbriefing.com/news/2013/04/12/introduction-to-the-asean-comprehensive-investment-agreement.html>(Accessed October 26.2015)
  7. Nick Freeman.The Future of Foreign Investment in Southeast Asia. (New York:Routledge Curzon,2004),page. 97-98 .
  8. Ibid.
  9. องค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก.2012.อ้างแล้ว.
  10. Yossarin Boonwiwattanakarn.2015.” Thai investment in Asean lagging behind regional colleagues.” http://www.nationmultimedia.com/business/Thai-investment-in-Asean-lagging-behind-regional-c-30209408.html (Accessed May 23,.2015)