พระราชดำริสร้างพระปฐมบรมราชานุสรณ์
หากเรามองจากบนท้องฟ้า ก็จะเห็นสะพานพระพุทธยอดฟ้าทอดยาวไปทางฝั่งธนบุรี เป็นรูปลูกศรขนาดใหญ่เป็นความหมายตามพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ ประชาธิปกศักดิเดชน์ ซึ่งคำว่า “เดชน์” นั้นแปลว่า “ลูกศร”
โดยถนนสองข้างมีบริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ฝั่งพระนครเป็นปลายศร ตัวศรประกอบด้วยสะพานทอดข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาสู่ฝั่งธนบุรี บริเวณวัดประยุรวงศาวาสเชื่อมต่อกับถนนประชาธิปก พร้อมกันนั้นได้ตัดถนนเป็นโครงข่ายการคมนาคมฝั่งธนบุรี เป็นส่วนหัวลูกศรชี้ทิศทางที่ความเจริญจะดำเนินไป
ในโอกาสเฉลิมฉลองที่กรุงเทพมหานคร อายุครบ ๑๕๐ ปี ในปี ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีพระราชดำริให้จัดสร้างอนุสรณ์ถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดจุฬาโลกมหาราช เป็นการแสดงกตัญญูกตเวทิตาคุณของชาวสยามให้ปรากฏชาวโลก
โดยได้จัดส่งพระบรมราชานุสาวรีย์ พร้อมกับสะพานเพื่อให้เป็นสาธารณประโยชน์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน ๒ ล้านบาทและพระราชทานที่ดินของพระคลังข้างที่ในท้องที่ตำบลวัดราชบูรณะ รวมเนื้อที่ ๔,๕๔๐ ตารางวา คิดเป็นราคาที่ดินสมัยนั้น ๙๙๔,๔๔๐ บาท เพื่อประโยชน์แก่การสร้างสะพาน สะพานพระพุทธยอดฟ้า เป็นสะพานทางถนนให้รถและคนเดินข้ามได้เป็นแห่งแรกของประเทศ สะพานแห่งนี้ได้เชื่อมโยงราษฎรฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีของสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้ไปมาหาสู่กันอย่างสะดวกสบายสืบมาจนถึงทุกวันนี้
ที่มา
บทสารคดี “ปกเกล้าธรรมราชา” สารคดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ในวโรกาสครบ ๑๒๐ ปี แห่งวันพระบรมราชสมภพและเป็นบุคคลสำคัญของโลก โดยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประจำปี ๒๕๕๖