สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:28, 14 กรกฎาคม 2558 โดย Suksan (คุย | ส่วนร่วม) (หน้าที่ถูกสร้างด้วย ''''ผู้เรียบเรียง''' : จารุวรรณ สุขุมาลพงษ์ '''ผู้ทรงคุ...')
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : จารุวรรณ สุขุมาลพงษ์

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง


พระประวัติ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 62 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงพรรณราย (หม่อมเจ้าหญิงพรรณราย หรือ แฉ่) พระราชธิดาของกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันอังคาร เดือน 6 ขึ้น 11 ค่ำ ปีกุน เบญจศก จ.ศ. 1225 ตรงกับวันที่ 28 เมษายน 2406 และได้รับพระราชทานพระนามจากสมเด็จพระบรมชนกนารถโดยมีพระราชหัตถเลขาดังนี้ “สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยามผู้บิดา ขอตั้งนามบุตรชายที่ประสูติจากหญิงแฉ่ พรรณราย ผู้มารดาในวัน 311ฯ 6 ค่ำ ปีกุนเบญจศก13 นั้นว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ สิงหนาม ขอจงมีความเจริญชนมายุ พรรณ ศุข พล ประฏิภาณ ศุภสารสมบัติ สุวรรณหิรัญรัตน์ ยศบริวารศฤงคาร ศักดานุภาพตระบะเดชวิเสศคุณสุนทร ศรีสวัสดิ์พิพัฒนมงคลพิบูลยผลทุกประการเทอญฯ ตั้งนามวัน 6ฯ117 ค่ำ ปีกุนเบญจศก เป็นปีที่ 13 ฤาวันที่ 4412 ในรัชกาลประจุบันนี้” ในปี พ.ศ. 2428 พระองค์ได้รับการสถาปนาจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศรานุวัติวงษนอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีพระราชดำริว่า หม่อมเจ้าพรรณราย พระมารดาในพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศรานุวัติวงษนั้น นับเป็นพระเจ้าหลานเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระขนิษฐาร่วมพระชนกในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี (สมเด็จพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ดังนั้น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศรานุวัติวงษจึงมีพระอัยการ่วมกับพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการสถาปนา พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศรานุวัติวงษ ขึ้นเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงษ พร้อมกันนี้ทรงสถาปนาพระเชษฐภคินีในพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศรานุวัติวงษขึ้นเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนขัตติยกัลยาด้วย หลังจากที่พระองค์ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งต่าง ๆ เช่น เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ เสนาบดีกระทรวงพระคลัง เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ผู้บัญชาการทหารเรือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริเห็นควรที่จะสถาปนาให้ดำรงพระอิสริยยศที่ “กรมหลวง” ได้ กอปรกับการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ ซึ่งเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอร่วมพระราชมารดาในพระองค์ ดังนั้น พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงสถาปนาพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงษขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงษ์ เมื่อปี พ.ศ. 2448 เมื่อ พ.ศ. 2452 พระองค์ประชวรด้วยโรคพระหทัยโตขณะที่ยังทรงรับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง จึงได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามที่ทรงขอ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงแม้ด้วยพระโรคที่พระองค์เป็นอยู่นั้นไม่เอื้ออำนวยให้พระองค์ทรงสามารถรับราชการในตำแหน่งที่สำคัญ ๆ ได้ แต่พระองค์ก็ยังคงรับราชการส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงออกแบบงานต่าง ๆ ตามพระราชประสงค์ เช่น พระโกศพระบรมอัฐิและพระวิมานทองคำลงยาราชาวดีสำหรับประดิษฐานพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการเลื่อนกรมสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงษ์ขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงษ์ มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ มหามกุฏพงศ์นฤบดินทรปรมินทรา นุชาธิเบนทร์ ปรเมนทรราชปิตุลา สวามิภักดิ์สยามวิชิต สรรพศิลปสิทธิวิทยาธร สุรจิตรกรศุภโกศล ประพนธปรีชาชาญโบราณคดี สังคีตวาทิตวิธีวิจารณ์ มโหฬารสีตลัธยาศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณานุวัติ ขัตติยเดชานุภาพบพิตร” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่กับงานศิลปะและวิทยาการจนพระกำลังพระปัญญาเสื่อมลงทุกที ด้วยทรงพระชราด้วยโรคภัยเบียดเบียน คือ โรคพระหทัยโต หลอดลมอักเสบเรื้อรัง และโรคเส้นพระโลหิตแข็ง วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2490 เวลา 13.05 นาฬิกา จึงสิ้นพระชนม์โดยสงบ มีพระชันษา 83 ปี 10 เดือน 12 วัน มีการจัดพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ณ ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2493 โดยใช้พระเมรุองค์เดียวกับพระเมรุมาศ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล  

พระกรณียกิจ

ด้านราชการ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงรับราชการในตำแหน่งสำคัญ ๆ มาตลอด 4 แผ่นดิน อาทิ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ อภิรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารเรือ อุปนายกราชบัณฑิตยสภา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 เป็นต้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรีที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน อุปนายกราชบัณฑิตยสภา แผนกศิลปากร และพระองค์ ยังได้รับการแต่งให้ให้ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการพระราชวงศ์ มีหน้าที่สนองพระเดชพระคุณในพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปก เกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระราชวงศ์พระองค์ใดที่มีกิจที่ไม่ต้องกราบบังคมทูลพระกรุณาก็ให้ติดต่อ กราบบังคมทูลต่อพระองค์แทน นอกจากนี้ ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จยังต่างประเทศ พระองค์ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2476 จนกระทั่ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ พระองค์จึงพ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้านศิลปกรรม ทรงรังสรรค์ผลงานศิลปกรรมไว้หลายประเภทจำแนกได้คืองานจิตรกรรมและภาพลายเส้น ภาพจิตรกรรมฝาผนัง เช่น จิตรกรรมฝาผนังประดับเพดานพระที่นั่งอนันตสมาคมฯลฯ จิตรกรรมอื่นๆและภาพลายเส้น เช่นจิตรกรรมที่เกี่ยวกับวรรณคดีไทย งานประติมากรรม เช่น งานออกแบบพระพุทธรูปและงานอันเนื่องด้วยพระพุทธศาสนา เช่น พระพุทธไสยาสน์ฯลฯ การออกแบบพระบรมราชานุสาวรีย์ เช่น พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ฯลฯ การออกแบบอนุสาวรีย์ เช่น อนุสาวรีย์พระแม่ธรณีบิดมวยผม ฯลฯ งานสถาปัตยกรรม โดยงานสถาปัตยกรรมถาวรเช่นหมู่พระที่นั่งในพระบรมมหาราชวัง โดยเฉพาะพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ปราสาทเทพบิดร พระที่นั่งราชฤดี วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามฯลฯ งานสถาปัตยกรรมชั่วคราว เช่นการออกแบบพระเมรุมาศในงานพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ งานประณีตศิลป์ เช่นงานออกแบบปกและภาพประกอบหนังสือ งานออกแบบพระราชลัญจกรและดวงตราต่างๆ งานออกแบบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ การออกแบบตาลปัตรหรือพัดรอง การออกแบบลวดลายบนขันน้ำมนต์ การออกแบบตังอักษร การออกแบบฉากเวที

  ด้านวรรณกรรม ร้อยแก้วและร้อยกรอง เช่น โคลงประกอบภาพ จิตรกรรมภาพพระราชพงศาวดาร โคลงประกอบเรื่องรามเกียรติ์ ทรงพระนิพนธ์เมื่องานฉลองพระนครครบรอบร้อยปี ลายพระหัตถ์โต้ตอบประทานบุคคลต่าง ๆ เช่น จดหมายเวรโต้ตอบกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลายพระหัตถ์ประทานความรู้ในลักษณะจดหมายโต้ตอบพระสารประเสริฐและพระยาอนุมานราชธน เรื่องภาษาและประเพณี ลายพระหัตถ์โต้ตอบเหล่านี้เป็นเหมือนคลังความรู้สำหรับผู้สนใจใฝ่ศึกษาค้นคว้าทั่วไป ด้านดุริยางคศิลป์และนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ไทยเป็นศาสตร์ที่ทรงสนพระทัยตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงนิพนธ์เพลงต่าง ๆ เช่น เพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงเขมรไทรโยค เพลงมหาชัย เพลงสรรเสริญป่า เพลงเต่าเห่ ฯลฯ ทรงปรับปรุงแนวการแสดงคอนเสิร์ต โดยทรงนำวรรณคดีไทยมาปรับปรุงลำนำเพลง ซึ่งเรื่องรามเกียรติ์ได้ทรงนิพนธ์ไว้3ตอนคือ ตอนนางลอย ตอนพรหมมาศ ตอนนาคบาศ และเรื่องอิเหนาคือตอนบวงสรวงวิลิศมาหรา ทรงนิพนธ์และจัดลำนำเพลงประกอบภาพนิ่ง 8 ตอน เช่นเรื่องราชาธิราช เรื่องนิทราชาคริต ฯลฯ และการจัดแสดงละครดึกดำบรรพ์ เช่นเรื่องรามเกียรติ์ ตอนศูรปนขาตีสีดา เรื่องสังข์ทอง ตอนทิ้งพวงมาลัย ตีคลี และตอนถอดรูป ฯลฯ

ชายา พระโอรส และพระธิดา

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงมีชายาดังนี้ 1. หม่อมราชวงศ์ปลื้ม ศิริวงศ์ ธิดาในพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประเสริฐศักดิ์ มีพระธิดา 1 องค์ คือหม่อมเจ้าปลื้มจิตร จิตรพงศ์ (พ.ศ. 2433-2459) 2. หม่อมมาลัย เศวตามร์ เมื่อหม่อมราชวงศ์ปลื้มถึงแก่กรรม ทรงได้หม่อมมาลัย เศวตามร์ บุตรีพระสาครสมบัติ (เผือก) เป็นชายา มีโอรส 2 องค์ คือ หม่อมเจ้าอ้าย จิตรพงศ์ และ หม่อมเจ้าเจริญใจ จิตรพงศ์ (พ.ศ. 2440 - 2489) 3. หม่อมราชวงศ์โต งอนรถ เมื่อหม่อมมาลัยถึงแก่กรรมแล้ว ทรงได้หม่อมราชวงศ์โต งอนรถ ธิดาหม่อมเจ้าแดง เป็นชายา มีพระโอรส 3 องค์ และพระธิดา 3 องค์ คือหม่อมเจ้าสาม จิตรพงศ์ หม่อมเจ้าประโลมจิตร จิตรพงศ์ (พ.ศ. 2448 - 2513) หม่อมเจ้าดวงจิตร จิตรพงศ์ (พ.ศ. 2451 - 2550) หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ (พ.ศ. 2453 - 2539) หม่อมเจ้าเพลารถ จิตรพงศ์ (พ.ศ. 2457 - 2537) และหม่อมเจ้าหญิงกรณิกา จิตรพงศ์ (พ.ศ. 2459 - ปัจจุบัน)

พระเกียรติยศ

พระราชอิสริยยศ - พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ (28 เมษายน พ.ศ. 2406 -สิ้นรัชกาลที่ 4) - พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ (ต้นรัชกาลที่ 5 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2428) - พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ กรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ (10 มีนาคม พ.ศ. 2428 - 18 ธันวาคม พ.ศ. 2430) - พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ (18 ธันวาคม พ.ศ. 2430 - 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2448) - สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์ (10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2448 - สิ้นรัชกาลที่ 5) - สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์ (ต้นรัชกาลที่ 6 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2456) - สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ (11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2456 - 31 ธันวาคม พ.ศ. 2488) - สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (31 ธันวาคม พ.ศ. 2488 - สิ้นพระชนม์)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย พระองค์ทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของตระกูลต่าง ๆ ดังนี้ - เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ดาราประดับเพชร (พ.ศ. 2481) - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (พ.ศ. 2436) - เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ (พ.ศ. 2443) พร้อมสังวาลจุลจอมเกล้า ดาราประดับเพชร (พ.ศ. 2448) - เครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์ (พ.ศ. 2459) - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (พ.ศ. 2468) - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นมหาวชิรมงกุฎ (พ.ศ. 2462) - เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 4 ชั้นที่ 2 (พ.ศ. 2447) - เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5 ชั้นที่ 1 (พ.ศ. 2451) - เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 1 (พ.ศ. 2453) - เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7 ชั้นที่ 1 (พ.ศ. 2469) - เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 8 ชั้นที่ 1 (พ.ศ. 2481) - เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา (ร.ด.ม.(ศ)) (พ.ศ. 2433) - เหรียญดุษฎีมาลา เช็มราชการแผ่นดิน (พ.ศ. 2436) - เหรียญจักรมาลา (พ.ศ. 2436) เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ - เครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎอิตาลี ชั้นที่ 1 ประเทศอิตาลี

พระเกียรติประวัติ

วันที่ 28 เมษายน เป็นวันครบรอบวันประสูติของพระองค์ ทุกปีจะมีงาน “วันนริศ” ณ ตำหนักปลายเนินคลองเตย มีการแสดงละคร การบรรเลงเพลงพระนิพนธ์ การตั้งแสดงงานฝีพระหัตถ์บางชิ้น และการมอบ “ทุนนริศรานุวัดติวงศ์” แก่นักศึกษาในสาขาวิชาศิลปะ เนื่องในวาระฉลองวันประสูติครบ 100 พรรษา ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2506 องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก ได้ประกาศยกย่องให้พระองค์เป็นบุคคลสำคัญของโลกประจำปี พ.ศ. 2506 นับเป็นบุคคลไทยคนที่ 2 ที่ได้รับการยกย่อง

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. 2551. พระประวัติและประชุมบทละครดึกดำบรรพ์. กรุงเทพมหานคร : บริษัทเอดิสัน เพรส โพรดักส์ จำกัด. ทำเนียบผู้บังคับบัญชา. 2557. พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์. กองบัญชาการกองทัพบก. http://www.rta.mi.th/command.command4.htm (สืบค้นเมื่อวันที่30 กรกฎาคม 2557). เนติกร ชินโย. 2555. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์. ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร. http://www.su.ac.th/html_sunewsletter/su_pdf/naris55book.pdf. (สืบค้นเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2557). มูลนิธิวิกิพีเดีย. 2557. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ_เจ้าฟ้าจิตรเจริญ_กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (สืบค้นเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2557). ราชกิจจานุเบกษา. แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์. เล่ม 55. ตอน 0 ง. 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481. ราชกิจจานุเบกษา. พระราชทานพระบรมราชานุญาตเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ. เล่ม 9. ตอน 5. 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2435. หน้า 35. ราชกิจจานุเบกษา. พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา. เล่ม 7. ตอน 43. 25 มกราคม พ.ศ. 2433. หน้า 392 ราชกิจจานุเบกษา. พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 4 . เล่ม 21. ตอน 35. 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447. ราชกิจจานุเบกษา. พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบันฝ่ายหน้า . เล่ม 25. ตอน 35. 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451. ราชกิจจานุเบกษา. พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์. เล่ม 27. ตอน 0 ง. 11 มกราคม พ.ศ. 2453. ราชกิจจานุเบกษา. พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายหน้า . เล่ม 43. ตอน 0 ง. 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469. สุวัฒน์ วรรณมณี. ม.ป.ป. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์. ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร. http://www.su.ac.th/html_sunewsletter/su_pdf/book02.pdf. (สืบค้นเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2557)

หนังสือแนะนำเพิ่มเติม

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์. บันทึกเรื่องความรู้ต่าง ๆ เล่มที่ 1”. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย. 2506. สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์. บันทึกเรื่องความรู้ต่าง ๆ เล่มที่ 2”. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย. 2506. สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์. บันทึกเรื่องความรู้ต่าง ๆ เล่มที่ 3”. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย. 2506. สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์. บันทึกเรื่องความรู้ต่าง ๆ เล่มที่ 4”. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย. 2506. สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์. บันทึกเรื่องความรู้ต่าง ๆ เล่มที่ 5”. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย. 2506. สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. สาส์นสมเด็จ. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดการพิมพ์พระนคร