การศึกษาในประเทศอังกฤษ : กับครูและที่วิทยาลัยอีตัน
ผู้เรียบเรียง : ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์
การส่งเสด็จไปยุโรป
เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในภายหลัง) ได้ทรงเข้าพระราชพิธีโสกันต์ (โกนจุก) เฉลิมพระนามเป็นกรมขุนศุโขไทยธรรมราชา เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์ผู้มีพระชันษา ๑๒ ปีเศษ เสด็จออกไปทรงศึกษาต่อ ณ ทวีปยุโรปเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ มีพิธีการส่งเสด็จเป็นพิธีสงฆ์ที่พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต ในวันที่ ๑๓ และ ๑๔ และในวันที่ ๑๘ เสด็จไปยังพระอุโบสถวันพระศรีรัตนศาสดาราม ทรง “ปฏิญาณพระองค์เป็นอุบาสกถือพระรัตนทั้งสามเป็นสรณะ” ต่อพระพักตร์กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส “พระอุปัชฌาอย่างทรงผนวช” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์และทรงเจิมพระราชทานแล้วเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรีส่งเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอที่ปากน้ำ เมืองสมุทรปราการ
เห็นได้ว่าทรงเข้าพระหฤทัยดีในหลักพระพุทธศาสนาระดับหนึ่งแล้วก่อนที่จะเสด็จไปประทับในประเทศตะวันตกซึ่งมีศาสนาวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป ทั้งยังน่าจะได้ทรงทราบความแห่งพระบรมราโชวาท ซึ่งพระราชทานพระเจ้าลูกยาเธอ ๔ พระองค์แรกที่เสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ยุโรป เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๘ ความสำคัญ ๗ ข้อ ความโดยสรุปว่า หนึ่ง ไม่ให้อวดอ้างว่าเป็นเจ้านายแต่ให้ทำตัว “เสมอลูกผู้มีตระกุล” สอง ให้สำนึกเสมอว่าเงินที่พระราชทานให้ใช้สอยนั้น หากใช้อย่างประหยัดและมีเหลือก็ทรงยกให้เป็นสิทธิขาด หากแต่ว่าให้สำนึกว่า แม้จะเป็นเงินพระคลังข้างที่ แท้ที่จริงก็มาจากราษฎร “จึงต้องใช้ให้เป็นการมีคุณต่อแผ่นดิน” เท่านั้น สาม เมื่อกลับมาแม้เป็นเจ้าก็ไม่จำเป็นที่พระเจ้าแผ่นดินจะต้องทรงใช้ในราชการ ฉะนั้นไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม จะ “ต้องอาศัยสติปัญญา ความรู้และความเพียรของตัว” จึงต้องเล่าเรียนด้วยความเพียรอย่างยิ่ง “เพื่อมีโอกาสทำคุณแก่บ้านเมืองและโลก” สี่ ไม่ให้ประพฤติตัว “เกะกะ” หากทำผิดเมื่อใดจะถูกลงโทษทันที จึงต้องละเว้นทางที่ชั่วซึ่งทราบเองหรือมีผู้ตักเตือน ห้า ให้เขม็ดแขม่ใช้แต่เพียงพอที่อนุญาตให้ใช้ อย่า “ใจโตมือโต สุรุ่ยสุร่าย” หก ให้ศึกษาภาษาต่างประเทศจนคล่องแคล่ว จนแต่งหนังสือได้ ๒ ภาษาเป็นอย่างน้อย โดยภาษาไทยต้องรู้ด้วย และต้องเรียนเลขด้วย เจ็ด ให้ประพฤติให้เรียบร้อยตามแบบอย่างซึ่งโรงเรียนตั้งไว้ “อย่าเกะกะวุ่นวาย เชื่อตัวเชื่อฤทธิ์ไปต่างๆ จงอุสาหะพากเพียรเรียนวิชชาให้รู้มา ได้ช่วยกำลังพ่อเป็นที่ชื่นชมสมกับที่มีความรักนั้นเถิด” (ตัวสะกดตามต้นฉบับ) หากศึกษาพระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ดี จะเห็นได้ว่าทรงปฏิบัติตามนี้เป็นสำคัญ
ในการเสด็จไปทรงศึกษา ณ ทวีปยุโรปนี้ มีพระยาศรีธรรมศาสน์ อัครราชทูตประจำราชสำนักกรุงเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก ประเทศรัสเซีย นำเสด็จ และมีหม่อมราชวงศ์ฉายฉาน (ศิริวงศ์) ในพระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์ (พระราชมาตุลาหรือน้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ) โดยเสด็จไปศึกษาด้วย ม.ร.ว.ฉายฉานผู้นี้ต่อมาในรัชกาลที่ ๗ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหม่อมราชินิกุลที่นาวาตรี หม่อมศิริวงศ์วรวัฒน์
ประทับทรงศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศส ๔ เดือน
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯ เสด็จถึงกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ (ในราชสกุลกฤดากร พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ในภายหลัง) อุปทูต ณ กรุงปารีส ผู้ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ทรงเป็นผู้ทรงจัดการศึกษาในยุโรปถวาย เชิญเสด็จไปประทับ ณ ตำบลวิแยร์ วีย์ (Viller Ville) ในแคว้นนอร์มังดี (Normandie) ชายทะเลทางเหนือจนถึงวันที่ ๔ กันยายน จึงเสด็จกลับไปยังกรุงปารีส ประทับทรงศึกษาวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และภาษาละติน เพื่อเป็นพื้นฐานในการที่จะเสด็จไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษต่อไป มีนายครอสเป็นผู้ถวายพระอักษร ประทับอยู่ที่กรุงปารีสเป็นเวลา ๔ เดือน ระหว่างนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ พระเชษฐาได้เสด็จไปทรงเยี่ยมพระองค์ด้วย เพราะพระชันษาใกล้กันและทรงคุ้นเคยกันมาก ต่อมาเมื่อหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์เสด็จกลับสยาม ได้โปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าบวรเดช (ในราชสกุลกฤดากร พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าในภายหลัง) ทรงทำหน้าที่แทน
ประทับทรงศึกษากับครูที่ประเทศอังกฤษครึ่งปี
ต่อมาได้เสด็จไปยังประเทศอังกฤษ และตั้งแต่วันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๙ (พ.ศ. ๒๔๕๐ นับตามปฏิทินปัจจุบัน) ประทับอยู่กับครอบครัวของนายเบลล์ (Mr. C.W. Bell) ชาวอังกฤษ ที่ใกล้เมืองเล็ดเบอรี่ (Ledbury) เมืองเก่าเล็กๆ ในจังหวัดเฮริเฟิร์ดเชียร์ (Herefordshire County) ทางตะวันตกของแคว้นอิงแลนด์ มีนายโคลแมน (Mr. Coleman) ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยลอนดอนเป็นพระอาจารย์สอนวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ภาษาละติน ฯลฯ อีกทั้งได้ทรงฝึกทรงม้า แทงดาบ (fencing) และยิมนาสติก (gymnastics) ด้วย โดยครอบครัวเบลล์ได้จัดให้ทรงปฏิบัติพระจริยวัตรตามเวลาที่กำหนดไว้ตามแบบฉบับที่คล้ายกับของโรงเรียนประจำซึ่งต้องทรงเข้าศึกษาต่อไป ประทับอยู่กับครอบครัวนี้เป็นเวลาถึง ๑ ปี ๔ เดือน การส่งนักเรียนไทยไปพำนักอยู่กับครอบครัวชาวอังกฤษและมีครูสอนเป็นการเฉพาะตัวเช่นนี้ เป็นวิธีปฏิบัติปกติในสมัยนั้นและในสมัยต่อมาด้วย เพื่อให้เด็กเกิดความคุ้นเคยกับการใช้ภาษาและวิถีชีวิตในประเทศนั้น และมีความรู้พอที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนได้
อนึ่ง ในพ.ศ. ๒๔๕๐ นี้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯ ได้เสด็จไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ในช่วงที่เสด็จฯ เยือนทวีปยุโรปครั้งที่ ๒ ด้วย
ประทับทรงศึกษา ณ วิทยาลัยอีตัน ๒ ปี
ครั้นเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๐ (พ.ศ. ๒๔๕๑ นับตามปฏิทินปัจจุบัน) สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯ ได้ทรงสอบผ่านเพื่อเข้าศึกษาในวิทยาลัยอีตัน (Eton College) โรงเรียนราษฎรประเภทอยู่ประจำชั้นเอกอุของอังกฤษซึ่งเป็นที่นิยมของ “ผู้มีตระกูล” โรงเรียนนี้ตั้งอยู่ใกล้กับพระราชวังวินด์เซอร์ (Windsor Castle) ที่ประทับนอกกรุงลอนดอนแห่งหนึ่งของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ นักเรียนจึงได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียมราชสำนัก ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯ ในฐานะนักเรียนใหม่ผู้หนึ่งน่าจะได้เฝ้าฯ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ เมื่อเสด็จไปทรงเปิดหอประชุมของโรงเรียนในปีเดียวกัน
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯ เสด็จ เข้าประทับทรงศึกษาที่วิทยาลัยอีตันตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๑ ประทับอยู่ในสำนักหรือคณะ (House) ของนายแฮร์ (Mr. J.H.M. Hare) นายแฮร์มีจดหมายในเดือนกรกฎาคมถัดมารายงานหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ว่า ทรงปรับพระองค์ได้แล้ว ทรงมีความฉลาดและทรงเข้าพระทัยภาษาอังกฤษพอใช้ แต่ยังทรงล้าหลังในวิชาภาษาละติน อีกทั้งยังไม่ทรงคุ้นเคยกับวิธีการคิดเลขแบบอังกฤษ แต่โดยรวมทรงมีความก้าวหน้าและความเพียรที่จะทรงทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทรงทำได้
วิชาที่ทรงเรียนได้แก่ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ละติน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วาดเขียน และดนตรี (ไวโอลิน) ทรงมีพื้นฐานภาษาฝรั่งเศสดีอยู่แล้วและทรงทำคะแนนได้ดีมากในวิชานี้ อีกทั้งทรงได้รับรางวัลสำหรับวิชาฟิสิกซ์เป็นหนังสือภาพเขียนสถานที่ในวิทยาลัยอีตันในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๐ (พ.ศ. ๒๔๕๓)
ส่วนนายเกลีย์ (Mr. Andrew Gailey) อาจารย์ผู้ใหญ่ (Vice –Provost) อีตันปัจจุบันได้เขียนบทความเกี่ยวกับพระองค์ขณะประทับอยู่ที่อีตันโดยการสกัดสาระจากเอกสารจดหมายเหตุของอีตันเกี่ยวกับพระองค์ว่า “ทรงเป็นผู้ฉลาดที่สุดในกลุ่ม และมีความตรงต่อเวลา ทั้งละเอียดถี่ถ้วนและมุ่งมั่นที่จะทรงทำให้สุดความสามารถในทุกสิ่ง ไม่น่าแปลกใจที่ทรงทำได้ดีที่สุดในวิชาภาษาฝรั่งเศส แต่ก็ทรงแสดงความสามารถในวิชาวิทยาศาสตร์ด้วย อีกทั้งยังทรงได้คะแนนสูงในการสอบภาษากรีกโบราณ การผสมผสานกันระหว่างท่วงท่าที่เป็นระเบียบแบบแผนกับความพร้อมที่จะทรงทำความเข้าพระทัยกับแนวคิดใหม่ๆ ได้ช่วยให้ดำรงพระองค์ได้อย่างมั่นคงที่อีตัน และได้กลายเป็นบทเรียนที่ไม่ทรงลืมเลยในช่วงหลังแห่งพระชนมชีพ” และ “การที่ทรงเป็นผู้ที่สนิทใจด้วยง่ายก็สำคัญ บรรดาครูอาจารย์ของพระองค์พอใจตั้งแต่แรกกับ เด็กน้อยที่น่ารักและน่าคบพระองค์นี้ และนิยมชมชอบพระอัธยาศัยแจ่มใส และการที่ทรงยืดหยุ่นปรับพระองค์เองได้ แม้ว่าพระวรกายจะย่อมก็ตาม โดยที่เราสัมผัสได้ว่า ทรงชนะศึกต่างๆ ของพระองค์ได้ก็โดยการเอาชนะใจคน ด้วยพระเสน่ห์และการดำรงพระองค์อยู่ในทำนองคลองธรรมโดยแท้”
สำหรับพระองค์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯ เองนั้น รับสั่งว่า เมื่อทรงปรับพระองค์ได้แล้ว ทรงสบายดี สนุกสนานมาก และทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์ ทรงหัดว่ายน้ำและโปรดการเล่นกรรเชียงเรือ ในเรื่องกรรเชียงเรือนี้ ทรงเป็นนายท้ายเรือ (cox) ซึ่งก็คือนายธงให้สัญญาณแก่ฝีพายซึ่งหันหลังให้ทิศทางที่เรือกำลังแล่นไป ในการแข่งขันของนักเรียนรุ่นเยาว์นามว่า Novice Eights ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ซึ่งคงจะเป็นเพราะพระวรกายย่อม พระน้ำหนักเบา เอื้อให้เรือแล่นได้เร็ว ส่วนกีฬาอื่นๆ ที่ทรงนั้นย่อมมีฟิลด์เกม (Field Game) ซึ่งนายเกลีย์เขียนไว้ว่า “ต้องใช้ความสมบุกสมบันและความอดทน..ซึ่งยากยิ่งที่สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ พระวรกายย่อมจะทรงพระปรีชา” และวอลล์เกม (Wall Game) เพราะเป็นกีฬาเฉพาะของอีตันทั้งคู่ และแน่นอนคริกเก็ต (Cricket) กีฬาประจำชาติของอังกฤษ
ในโรงเรียนราษฎร์ประเภท “public school” ของอังกฤษ เช่น อีตันในสมัยนั้นและในสมัยต่อๆ มาอีกนาน เด็กเล็กจะต้องเป็นเด็กรับใช้ (forg) รุ่นพี่ที่เป็นหัวหน้า (prefect) เช่น ตื่นเช้าไปปลุก ชงน้ำชา ปิ้งขนมปัง ขัดรองเท้า เอาฟืนมาใส่เตาผิงเพื่อทำความอุ่นในห้อง ฯลฯ ตามแต่หัวหน้าจะใช้ให้ทำ ถือเป็นการฝึกการเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดี เพื่อที่จะเป็นผู้บังคับบัญชาที่ดีได้ในอนาคต ดังที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเล่าพระราชทานนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในรัชกาลของพระองค์ว่า
“ครู เด็กชั้นใหญ่ เด็กชั้นเล็ก เขาปกครองกันเป็นลำดับ แลมีวินัยอย่างเคร่งครัด...และให้เด็กปกครองกันเอง เพื่อฝึกหัดให้รู้จักปกครองเป็นลำดับชั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าไม่มีโรงเรียนไหนที่อนุญาตให้เด็กชั้นใหญ่เฆี่ยนเด็กชั้นเล็ก แต่นี่อังกฤษเขายอมให้ทำเช่นนั้น เด็กเล็กต้องรับใช้เด็กใหญ่ และเด็กชั้นใหญ่ลงโทษเด็กเล็กได้ด้วย...”
หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ เยาวราชวงศ์ผู้ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงชุบเลี้ยงมาตั้งแต่ยังเยาว์ทรงเล่าว่าสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯ “ทรงได้รับคำสั่งจากลูกพี่ให้เล็ดลอดออกไปซื้อไข่ในเมืองมาให้หัวหน้า ทรงปีนกำแพงกลับเข้ามาแล้วไข่แตกอยู่ในพระมาลา เขาจับได้...ทางโรงเรียนลงโทษ เพราะว่าผิดกฎเกณฑ์ ไม่แน่ใจว่าโทษถึงเฆี่ยนหรือเปล่า”
เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าทรงปฏิบัติพระองค์และทรงได้รับการปฏิบัติต่อเช่นเดียวกันกับนักเรียนคนอื่นๆ และเข้าพระทัยเป็นอย่างดีถึงวัตถุประสงค์ของการฝึกหัดเช่นนั้น
ส่วนที่เกี่ยวกับการที่นักเรียนมักจะล้อเลียนหรือแกล้งกันนั้น ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่ามีผู้ใดแกล้งพระองค์หรือไม่ แต่สำหรับการล้อเลียนหรือต่อว่านั้น หม่อมเจ้าการวิก ทรงเล่าว่ามีเกี่ยวกับเมื่อพระสหายร้องว่าทรงเป็น “คนป่าเหม็น” ด้วยได้เสวยน้ำพริก ณ ที่ประทับที่สถานอัครราชทูตสยามก่อนเสด็จกลับไปโรงเรียนหลังวันหยุดบางสุดสัปดาห์ หากแต่ว่ามีเบาะแสให้เห็นว่าทรงวางพระองค์อย่างไรเมื่อทรงถูกแกล้งหรือล้อเลียน คือ พระราชหัตถเลขาพระราชทานพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาตลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ ทรงแนะนำว่า “อย่าไปทำโกรธ ทำเฉยๆไว้ และอย่าไปทำจ๋อง ทำเฉยเท่านั้นเป็นดี ถ้าเราไม่โกรธหรือไม่เรี่ยแหย มันก็ล้อไม่สนุก เลิกกันไปเอง ยิ้มๆ เฉยๆ เสียดีกว่า ถ้าโกรธหรือกลัวมันแล้ว มันเอาใหญ่ ต้องทำเป็นคนใจดี ใจเย็น...” พระอัธยาศัยเช่นนั้นกระมังที่อาจารย์เกลีย์สังเกตเห็นจากการศึกษาเอกสารที่พระอาจารย์ของพระองค์บันทึกไว้แต่กาลก่อน
อาจารย์เกลีย์เขียนไว้ด้วยว่า แม้ว่าอีตันในสมัยนั้นจะมีระเบียบวินัยมากก็ตาม “แต่ก็ใช่ว่าจะคาดหวังให้นักเรียนต้องคล้อยตามไปในทุกสิ่ง แต่เปิดโอกาสให้นักเรียนส่วนใหญ่ได้พัฒนาความเป็นตัวของตัวเองขึ้นมาได้พอสมควร” ในกรณีของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯ นั้นนายจอร์จ ลิตเติ้ลเติ้น (George Lyttleton) อาจารย์หนุ่มผู้ซึ่งต่อมามีชื่อเสียงทางวรรณคดีประพันธ์ เป็นพระอาจารย์ที่ปรึกษา (tutor) อาจารย์ลิตเติ้ลเติ้นเขียนรายงานเกี่ยวกับภาคเรียนสุดท้ายของพระองค์ไว้ว่า
“เขาเป็นเด็กน้อยคนหนึ่งที่น่าคบมาก เพราะมีบุคลิกที่น่าสนใจไม่น้อย วิสัยสงวนท่าทีของเขาทำให้รู้จักเขาได้ยากกว่าเด็กส่วนใหญ่ หากแต่ว่าเขาดูจะมีความสนใจในสิ่งที่เด็กคนอื่นๆ ไม่สนใจ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดียิ่ง ทั้งนี้เพราะสิ่งที่เขาสนใจนั้นไม่ขัดกับสิ่งที่โรงเรียนให้ความสนใจอยู่เป็นธรรมดา ผมหมายถึงรสนิยมเชิงศิลปะที่ดูเหมือนว่าเขาจะมี ซึ่งทำให้ผมชอบคุยกับเขา เขาน่าจะมีอนาคตที่แจ่มใส” พระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในการทรงอ่านวรรณกรรมน่าจะได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์ผู้นี้
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับทรงศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยอีตันจนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ รวมระยะเวลาประมาณ ๒ ปี และได้เสด็จกลับมาทรงร่วมงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ (พ.ศ. ๒๔๕๔ นับตามปฏิทินปัจจุบัน) แล้วเสด็จกลับไปทรงเข้าศึกษาในราชวิทยาลัยทหารเมืองวุลลิช(Royal Military Academy at Woolwich) ใกล้กรุงลอนดอน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๔
บรรณานุกรม
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ๒๔๗๕. พระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระเจ้าลูกยาเธอ ทรงพระนิพนธ์แล้วเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ (พิมพ์ในงานพระราชกุศลทักษิณานุปทานพระราชทานพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ในวันสิ้นพระชนมายุครบสีปตามวาระ ณ วันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕). กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสภา/โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.
บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). ๒๕๓๖. ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์.
รัฐสภา. ๒๕๒๔. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด.
ศิริน โรจนสโรช. ๒๕๕๖. พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. ใน ๒๐ ปี ผ่านฟ้าประชาธิปก.นนทบุรี: สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. หน้า ๓-๓๙
สุวิทย์ ไพทยวัฒน์. ๒๕๓๘. พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจากข้อมูลประวัติศาสตร์บอกเล่า. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
เอื้อเอ็นดู ดิศกุล ณ อยุธยา (ผู้จัดทำ) .มปป. คุณหญิงมณี สิริวรสาร (ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ณ เมรุด้านใต้ วัดเทพศิรินทราวาส)
Eton College. 1993. The Eton Boating Book. Eton Spottiswoode: Ballantyne & Co. Ltd.
Gailey, Andrew. 2009. A Thai Prince at Eton. In The King and His Garden. Bangkok: Amarin Printing. แปลโดย ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล เป็น สมเด็จเจ้าฟ้าชาวไทยพระองค์หนึ่งที่วิทยาลัยอีตัน. ใน รายงานกิจการประจำปี ๒๕๕๒ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี. กรุงเทพฯ: มูลนิธิ: ๒๕๕๓.