การสืบราชสันตติวงศ์
ผู้เรียบเรียง :นายรังสิทธิ์ วรรณกิจ
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง
บทนำ
ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาแต่โบราณ การสืบราชสมบัติหรือการสืบราชสันตติวงศ์มีการพัฒนาสืบเนื่องมาตั้งแต่ยังไม่มีกฎเกณฑ์หรือระเบียบแบบแผนที่แน่นอนจนมาถึงได้กำหนดเป็นหลักเกณฑ์ที่เป็นระเบียบมีความชัดเจนและแน่นอน เพื่อเป็นหลักประกันความคงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์เพราะจะทำให้รู้ว่าประมุขในรูปแบบนี้มีที่มาอย่างไรและจะยังคงอยู่ต่อไปไม่ขาดช่วงและจะเกิดความแน่นอนและไม่ทำให้ราษฎรสับสน ดังที่ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับประวัติศาสตร์ของชาติไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้
ความหมาย
“สืบราชบัลลังก์ หรือ สืบราชสมบัติ” หมายถึง เป็นพระมหากษัตริย์ต่อเนื่องแทน
“สืบราชสันตติวงศ์” หมายถึง ครองราชย์สมบัติต่อจากพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนซึ่งอยู่ในราชวงศ์เดียวกัน เช่น กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.๒๔๖๗
“การสืบราชสมบัติ” หมายถึง การขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งนับต่อเนื่องจากพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนมิให้ขาดตอนกัน อันเป็นธรรมเนียมในนานาประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐหรือประเทศ
“กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์” หมายถึง กฎหมายที่วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการสืบราชสมบัติ
ส่วนผู้เขียนมีความเห็นว่า “การสืบราชสันตติวงศ์” หมายถึง การขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ต่อเนื่องแทนพระมหากษัตริย์องค์ก่อนในราชวงศ์เดียวกัน อันเป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์และรัฐธรรมนูญ
ประวัติความเป็นมาโดยสังเขป
ประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตลอดมา การสืบราชสมบัติในอดีตมิได้มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเป็นระเบียบแบบแผน หากจะมีเพียงกฎมณเฑียรบาล ซึ่งอาจจะกำหนดในเรื่องอื่นๆ ไว้ แต่มิได้มีการบัญญัติเกี่ยวกับการสืบราชสมบัติหรือการสืบราชสันตติวงศ์ไว้อย่างชัดเจน คงเป็นเพราะเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ
จนมาถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ในปี พ.ศ.๒๔๖๗ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ขึ้น เพื่อ “เป็นหลักฐานแถลงราชนิติธรรม” กำหนดกฎเกณฑ์ในการสืบราชสมบัติอย่างชัดเจน นับเป็นกฎมณเฑียรบาลที่สำคัญยิ่งกว่ากฎมณเฑียรบาลทั้งปวง และเป็นการแสดงความเป็นอารยประเทศอย่างยิ่งเพราะบรรดาประเทศทั้งหลายย่อมต้องมีกฎหมายกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับประมุขของตนให้เป็นที่ปรากฏชัดแจ้ง เป็นการตัดความหวาดระแวงและความไม่แน่นอนต่างๆ ในเกือบทุกประเทศถึงกับกำหนดลงไว้อย่างละเอียดในรัฐธรรมนูญ เช่น เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น
- การสืบราชสมบัติก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย
ประเพณีการสืบราชสมบัติของไทยแต่เดิมจะมีระเบียบแบบแผนอย่างใดไม่ปรากฏ แม้จะเคยมีกฎมณเฑียรบาลตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ก็มิได้แสดงว่าเมื่อราชบัลลังก์ว่างลงใครจะเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายและจะเข้าสู่ตำแหน่งพระมหากษัตริย์โดยวิธีใด
นักประวัติศาสตร์ไทยสันนิษฐานว่า เป็นเรื่องตามพระราชอัธยาศัยเพราะเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์แต่ละองค์ที่จะทรงกำหนดยกราชสมบัติให้แก่ผู้ใด แต่มีการกำหนดตำแหน่ง “พระมหาอุปราช” ซึ่งมักจะเป็นผู้ได้รับราชสมบัติเมื่อราชบัลลังก์ว่างลง มิใช่พระราชโอรส พระราชอนุชา หรือพระราชนัดดา แต่ถ้าไม่มีการสถาปนาพระมหาอุปราชและพระมหากษัตริย์มิได้ทรงกำหนดสถาปนาใครไว้ อำนาจในการเลือกผู้สืบราชสมบัติมักตกอยู่แก่พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ได้ทรงกำหนดตำแหน่งซึ่งเคยมีมาในสมัยอยุธยาขึ้นมาใหม่คือ ตำแหน่ง “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” (วังหน้า) แทนตำแหน่ง “พระมหาอุปราช” และเป็นธรรมเนียมตั้งแต่นั้นมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งจะเป็นผู้สืบราชสมบัติต่อไปในทำนองรัชทายาท และแต่งตั้งตำแหน่ง “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร”
ในรัชกาลที่ ๑ ทรงตั้งพระราชอนุชา คือ เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช (บุญมา) เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล องค์แรก แต่เสด็จทิวงคตลง จึงได้ทรงตั้งพระราชโอรส คือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (อิม) เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล องค์ที่สอง และได้สืบราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ ๒
ในรัชกาลที่ ๒ ทรงตั้งพระอนุชา คือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์ (จุ้ย) เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นองค์ที่ ๓ แต่ก็เสด็จทิวงคตก่อน
ในรัชกาลที่ ๓ ทรงตั้งพระปิตุลา คือ พระองค์เจ้าอรุโณทัย กรมหมื่นศักดิผลเสพย์ เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล องค์ที่ ๔
ในรัชกาลที่ ๔ มิได้ทรงตั้งใครดำรงตำแหน่งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
ในรัชกาลที่ ๕ บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่พร้อมใจกันอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์กรมขุนพินิตประชานาถ ขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และอัญเชิญกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล องค์ที่ ๕
เมื่อกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จทิวงคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงยกเลิกตำแหน่ง “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” ทันที โดยมีพระราชหัตถเลขาอธิบายว่า “ผู้ที่อยู่ต่างประเทศก็ไม่อาจที่จะเข้าใจตำแหน่งนั้นได้ชัดเจน...เป็นตำแหน่งลอยอยู่ มิได้มีคุณต่อแผ่นดินอย่างหนึ่งอย่างใด เป็นแต่ต้องใช้เงินแผ่นดินซึ่งจะต้องใช้รักษาตำแหน่งยศพระมหาอุปราชอยู่เปล่าฯ”
หลังจากทรงยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว ในปี พ.ศ.๒๔๒๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร อันเป็นตำแหน่งรัชทายาท เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Crown Prince แต่ก็เสด็จทิวงคตในเวลาต่อมา
ในปี พ.ศ.๒๔๓๗ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์ที่สอง และต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
หลังจากนั้นก็ไม่มีการสถาปนาตำแหน่งดังกล่าวอีก จนกระทั่งมาถึงในรัชกาลปัจจุบัน (รัชกาลที่ ๙) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร นับเป็นพระองค์ที่ ๓ ซึ่งถือเป็นรัชทายาท
ในปี พ.ศ.๒๔๖๗ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎหมายขึ้นฉบับหนึ่งชื่อว่า “กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗” ด้วยเหตุผลว่า “ให้มีนิติธรรมกำหนดการสืบราชสันตติวงศ์ขึ้นไว้ เพื่อที่จะได้ตัดความยุ่งยากแก่งแย่งภายในพระราชวงศ์ ในเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทขึ้นไว้โดยแน่นอน”
- การสืบราชสมบัติภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย
การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ มีผลกระทบต่อกฎเกณฑ์การสืบราชสมบัติอยู่บ้างในแง่ที่ว่าทำให้กฎเกณฑ์นั้นมั่นคงเป็นหลักฐานมากขึ้น คือพระราชอำนาจในการกำหนดรัชทายาทหรือผู้สืบราชสันตติวงศ์ ซึ่งต่อไปนี้จะต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด จะเป็นไปโดยพระราชพินัยกรรมอีกหาได้ไม่
การสืบราชสมบัติภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย จะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ โดยใช้ประกอบกับกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗
สรุปได้ว่า ตำแหน่งหรือผู้มีสิทธิที่มีสิทธิในการสืบราชสมบัติของไทย ดังนี้
๑. การกำหนดตำแหน่ง
ในสมัยอยุธยา ได้กำหนดตำแหน่ง “พระมหาอุปราช”
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕ กำหนดตำแหน่ง “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” (วังหน้า) และเปลี่ยนเป็นตำแหน่ง “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร” หรือในกรณีที่ไม่ได้ทรงกำหนดตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารไว้ เจ้านายเชื้อพระวงศ์ก็ต้องได้รับสมมติยกย่องจากพระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดีและขุนนางอันเชิญขึ้นครองราชย์
๒. การแต่งตั้งเป็นรัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาล หรือโดยพระราชพินัยกรรม ในสมัยรัชกาลที่ ๖ แม้จะมีการตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ขึ้นแล้ว แต่ก็ทรงทำพระราชพินัยกรรมไว้ เมื่อวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ.๒๔๖๘ ว่าถ้าทรงมีพระราชโอรส ให้พระราชโอรสสืบราชสมบัติ ถ้ายังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะให้สมเด็จพระน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปก เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต้ถ้าไม่มีพระราชโอรสก็ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกฯ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา เป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์
๓. การสืบราชสันตติวงศ์เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยมีรัฐธรรมนูญกำหนดหลักการไว้ว่าจะต้องมีฝ่ายนิติบัญญัติ (สภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐสภา) เข้ามามีบทบาทหรือมีส่วนร่วมในการเห็นชอบหรือรับทราบการสืบราชสันตติวงศ์ ทั้งนี้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับกำหนดไว้
พระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ขึ้นครองราชย์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ ๘) ในปี พ.ศ.๒๔๗๗ เป็นอันว่ากฎและเกณฑ์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ได้เริ่มใช้เป็นผลอย่างแท้จริงในเวลาอีก ๑๐ ปี ต่อมาภายหลังประกาศใช้ และพระองค์ที่สอง คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙) รัชกาลปัจจุบัน
๔. กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์
กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๗ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นกฎหมายการสืบราชสมบัติฉบับแรกของไทยที่กำหนดการสืบโดยสายตรง ซึ่งมิได้เคยบัญญัติมาก่อนในประวัติศาสตร์การสืบราชสันตติวงศ์ของไทย โดยตราขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โดยทรงพระราชดำริว่าตามโบราณราชประเพณี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงสยามย่อมทรงพระบรมเดชานุภาพโดยบริบูรณ์ และทรงมีสิทธิอำนาจที่จะทรงเลือกตั้งพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ซึ่งทรงพระราชดำริว่ามีพระปรีชาสามารถอาจเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ ดำรงราชตระกูลและรัฐสีมาอาณาจักร อารักษ์พสกนิกรสนองพระองค์ต่อไปได้นั้น ขึ้นเป็นพระรัชทายาท โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศแก่บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และเสนามาตย์ราชเสวกบริพาร อีกทั้งสมณพราหมณาจารย์และอาณาประชาราษฎรให้ทราบทั่วกัน ได้ทรงเลือกสรรพระบรมวงศ์พระองค์นั้นเป็นพระรัชทายาท และบางทีก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอุปราชาภิเษกหรือยุพราชาภิเษกด้วย ราชประเพณีนี้ย่อมเป็นสิ่งซึ่งสมควรแก่พระบรมเดชานุภาพของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยแท้ แต่ก็ได้เคยมีมาแล้วในอดีตสมัยและอาจมีได้อีกในอนาคตสมัยที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงเลือกและประดิษฐานพระรัชทายาทขึ้นไว้อย่างเช่นที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งเป็นผลให้บังเกิดมีเหตุยุ่งยาก แก่งแย่งกันขึ้นในเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตลง การแก่งแย่งช่วงชิงพระราชอำนาจกันย่อมเป็นโอกาสให้ศัตรูทั้งภายนอกภายในได้ใจคิดประทุษร้ายต่อราชตระกูล และอิสรภาพแห่งประเทศสยาม นำความหายนะมาสู่ชาติไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระอนุสรคำนึงถึงข้อความเหล่านี้ จึงมีพระราชประสงค์ที่จะให้มีนิติธรรมกำหนดการสืบราชสันตติวงศ์ขึ้นไว้เพื่อจะได้ตัดความยุ่งยากแก่งแย่งกันภายในพระราชวงศ์ในเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงตั้งแต่งพระรัชทายาทขึ้นไว้แน่นอน โดยเนื้อหาการแบ่งออกเป็น ๘ หมวด มีทั้งหมด ๒๑ มาตรา ดังนี้
หมวดที่ ๑ ว่าด้วยนามและกำหนดใช้กฎมณเฑียรบาลนี้ (มาตรา ๑ – มาตรา ๓)
หมวดที่ ๒ บรรยายศัพท์ (มาตรา ๔)
หมวดที่ ๓ ว่าด้วยการทรงสมมุติและทรงถอนรัชทายาท (มาตรา ๕ – มาตรา ๗)
หมวดที่ ๔ ว่าด้วยลำดับชั้นผู้ควรสืบราชสันตติวงศ์ (มาตรา ๘ – มาตรา ๙)
หมวดที่ ๕ ว่าด้วยผู้ที่ต้องยกเว้นจากการสืบราชสันตติวงศ์ (มาตรา ๑๐ – มาตรา ๑๓)
หมวดที่ ๖ ว่าด้วยเวลาที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเยาว์ (มาตรา ๑๔ – มาตรา ๑๘)
หมวดที่ ๗ ว่าด้วยการแก้กฎมณเฑียรบาลนี้ (มาตรา ๑๙ – มาตรา ๒๐)
หมวดที่ ๘ ว่าด้วยผู้เป็นหน้าที่รักษากฎมณเฑียรบาลนี้ (มาตรา ๒๑)
โดยมีเนื้อหาสาระที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้
ชื่อกฎหมาย เรียกว่า กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ (มาตรา ๑) โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ (มาตรา ๒)
การกำหนดกฎหมายขึ้นมีข้อความขัดแย้งกับกฎมณเฑียรบาล ให้ยกเลิกเสียทั้งสิ้น
โดยมีหมวด ๒ ได้กำหนดบทนิยามศัพท์ไว้ทั้งหมด ๘ คำ เช่น
“พระรัชทายาท” คือ เจ้านายเชื้อพรบรมวงศ์ พระองค์ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สมมุติขึ้นเพื่อเป็นผู้ทรงสืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์ต่อไป (มาตรา ๔ (๑))
“สมเด็จพระยุพราช” คือ รัชทายาทที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้นเป็นตำแหน่งสมเด็จพระยุพราช โดยพระราชทานยุพราชภิเษกหรือโดยพิธีอย่างอื่นสุดแท้แต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ (มาตรา ๔ (๓))
“สมเด็จหน่อพุทธเจ้า” คือ สมเด็จพระบรมราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จอัครมเหสี (มาตรา ๔ (๔)) เป็นต้น
หมวดที่ ๓ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทรงแต่งตั้งและทรงถอนพระรัชทายาท โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสมมุติเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งให้เป็นพระรัชทายาท สุดแท้แต่จะทรงพระราชดำริเห็นสมควรและเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยได้ การเป็นองค์พระรัชทายาท เป็นการเฉพาะพระองค์ของพระรัชทายาทพระองค์นั้น (มาตรา ๕)
เมื่อทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทแล้ว ก็ต้องประกาศให้ความปรากฏแก่พระบรมวงศานุวงศ์ เสนามาตย์ราชเสวกบริพารและอาณาประชาชนให้ทราบทั่วกันแล้ว ว่าพระองค์นั้นเป็นพระรัชทายาทโดยแน่นอนปราศจากปัญหาใดๆ (มาตรา ๖)
แต่อย่างไรก็ตาม ตามกฎมณเฑียรบาลกำหนดให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสงวนไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพและพระราชสิทธิที่จะทรงถอนพระรัชทายาทออกจากตำแหน่งได้ ผลของการที่ทรงถอนออกจากตำแหน่ง คือ องค์รัชทายาทนั้น ขาดจากการที่จะสืบราชสันตติวงศ์และให้ถอนพระนามออกเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์ พระโอรสและบรรดาเชื้อสายโดยตรงของพระรัชทายาทที่ทรงถอนพระองค์นั้นก็ให้ถอนเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์ด้วยทั้งสิ้น
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชสิทธิที่จะทรงประกาศยกเว้นเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งออกเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์ได้ (มาตรา ๗)
หมวดที่ ๔ เกี่ยวกับลำดับชั้นผู้สมควรสืบราชสันตติวงศ์ ซึ่งได้กำหนดไว้ค่อนข้างละเอียดมาก กล่าวคือ ลำดับชั้นเชื้อพระบรมราชวงศ์ซึ่งจะควรสืบราชสันตติวงศ์ได้นั้น ให้เลือกตามสายตรงก่อนเสมอ จนไม่สามารถเลือกจากสายตรงได้ จึงให้เลือกตามเกณฑ์ที่สนิทมาและน้อย โดยกฎมณเฑียรบาลได้วางลำดับสืบราชสันตติวงศ์ไว้ทั้งหมด ๑๓ ลำดับ ดังนี้
ลำดับที่ ๑ ได้แก่ สมเด็จหน่อพุทธเจ้า ก็คือ สมเด็จพระบรมราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จอัครมเหสี (มาตรา ๙ (๑))
ลำดับที่ ๒ ได้แก่ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จหน่อพุทธเจ้าและพระอัครชายาของสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น หรือพระราชโอรสพระองค์รองๆ ต่อไปตามลำดับพระชนมายุ (มาตรา ๙ (๒))
ลำดับที่ ๓ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่ ๒ ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอัครมเหสี (มาตรา ๙ (๓))
ลำดับที่ ๔ ได้แก่ พระราชโอรส ในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่ ๒ (มาตรา ๙ (๔))
ลำดับที่ ๕ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์อื่นๆ ในสมเด็จพระอัครมเหสี หรือพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้นๆ สลับกันไปตามลำดับ (มาตรา ๙ (๕))
ลำดับที่ ๖ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในพระมเหสีรองถัดลงไปตามลำดับชั้นพระอิสริยยศแห่งพระมารดา หรือพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอนั้นๆ สลับกันตามลำดับ (มาตรา ๙ (๖))
ลำดับที่ ๗ ได้แก่ พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่มีพระชนมายุมากที่สุดในกรณีที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในพระมเหสีรองหาพระองค์ไม่สิ้นแล้ว หรือพระโอรสพระองค์ใหญ่ของพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น หรือพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่มีพระชนมายุถัดลงมาหรือพระโอรสของพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้นๆ สลับกันไปตามลำดับ (มาตรา ๙ (๗))
ลำดับที่ ๘ ได้แก่ สมเด็จพระอนุชาที่ร่วมพระราชชนนีพระองค์ที่มีพระชนมายุถัดลงมาจากพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในกรณีที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไร้พระราชโอรสและพระราชนัดดา (มาตรา ๙ (๘))
ลำดับที่ ๙ ได้แก่ พระโอรสของสมเด็จพระอนุชาพระองค์นั้นตามลำดับ ในกรณีสมเด็จพระอนุชาพระองค์ที่ควรได้ทรงเป็นทายาทนั้นหาพระองค์ไม่เสียแล้ว (มาตรา ๙ (๙))
ลำดับที่ ๑๐ ได้แก่ สมเด็จพระอนุชาที่ร่วมพระชนนีพระองค์ที่ถัดลงมาตามลำดับพระชนมายุ หรือพระโอรสของสมเด็จพระอนุชาพระองค์นั้นๆ สลับกันไปตามลำดับ (มาตรา ๙ (๑๐))
ลำดับที่ ๑๑ ได้แก่ สมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชาต่างพระชนนีหรือพระโอรสของสมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชานั้นๆ สลับกันไปตามลำดับ (มาตรา ๙ (๑๑))
ลำดับที่ ๑๒ ได้แก่ พระเจ้าพี่ยาเธอและพระเจ้าน้องยาเธอ หรือพระโอรสของพระเจ้าพี่ยาเธอและพระเจ้าน้องยาเธอตามลำดับสลับกัน (มาตรา ๙ (๑๒))
ลำดับที่ ๑๓ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอและพระเจ้าบรมวงศ์เธอ หรือพระโอรสและเชื้อสายของท่านพระองค์นั้น ตามลำดับแห่งความสนิทมากและน้อย ในกรณีที่ต่อเมื่อหมดพระเจ้าพี่ยาเธอและพระเจ้าน้องยาเธอทั้งหมดพระโอรสของท่านนั้นๆ (มาตรา ๙ (๑๓)) หมวดที่ ๕ เกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามการสืบราชสันตติวงศ์ กล่าวคือ พระบรมราชวงศ์พระองค์ใดจะได้เสด็จขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ควรที่จะเป็นผู้ที่มหาชนนับถือได้โดยเต็มที่และเอาเป็นที่พึ่งได้โดยความสุขใจ (มาตรา ๑๐)
ส่วนลักษณะต้องห้าม ให้ยกเว้นเสียจากลำดับราชสันตติวงศ์ซึ่งยกเว้นทั้งสาย โดยลักษณะต้องห้ามมีดังนี้ (มาตรา ๑๑ และ มาตรา ๑๒)
๑. มีพระสัญญาวิปลาส
๒. ต้องราชทัณฑ์เพราะประพฤติผิดพระราชกำหนดกฎหมายในคดีมหันตโทษ
๓. ไม่สามารถทรงเป็นอัครพุทธศาสนูปถัมภก
๔. มีพระชายาเป็นคนต่างด้าว กล่าวคือ นางที่มีสัญชาติเดิมเป็นชาวประเทศอื่นนอกจากชาวไทยแท้
๕. เป็นผู้ที่ได้ถูกถอนออกแล้วจากตำแหน่งพระรัชทายาท ไม่ว่าการถูกถอนนี้จะได้เป็นไปในรัชกาลใดๆ และ
๖. เป็นผู้ที่ได้ถูกประกาศยกเว้นออกเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์
ตามกฎมณเฑียรบาลได้ห้ามมิให้ราชนารีขึ้นทรงราชย์สืบสันตติวงศ์ ดังนั้นจึงห้ามมิให้จัดเอาราชนารีพระองค์ใดๆ เข้าไว้ในลำดับสืบราชสันตติวงศ์เป็นอันขาด (มาตรา ๑๓)
ในส่วนสถานะของกฎมณเฑียรบาล ศาสตราจารย์วิษณุ เครืองาม ได้อธิบายได้ว่า กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ เป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญประเภทหนึ่ง ในความหมายของกฎหมายรัฐธรรมนูญ หมายถึง กฎหมายที่เกี่ยวกับสถาบันทางการเมืองและอาจอยู่ในรูปแบบหรือชื่อต่างๆ กันได้ ในส่วนสถานะทางกฎหมายของกฎมณเฑียรบาลนั้นเห็นว่าแม้จะแก้ไขเพิ่มเติมได้ยากเหมือนรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีที่ใดบอกว่ามีฐานะเป็นกฎหมายสูงสุด กฎหมายใดจะขัดหรือแย้งไม่ได้ ดังกรณีของรัฐธรรมนูญ การที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศนั้นเพราะกฎหมายอื่นจะขัดหรือแย้งไม่ได้ กฎมณเฑียรบาลจึงน่าจะมีฐานะต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ แต่สูงกว่าบรรดาพระราชบัญญัติทั้งหลายซึ่งการแก้ไขทำได้ง่าย
ผู้เขียนก็มีความเห็นสอดคล้องกับคำอธิบายข้างต้นและมีข้อสังเกตว่า รูปแบบของการตรา (เขียน) ก็มีความเหมือนกับรัฐธรรมนูญ โดยจะเห็นได้จากคำปรารภที่แสดงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นๆ ซึ่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ จะมีคำปรารภขึ้นต้นว่า “ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาล ๒๔๖๗ พรรษา ปัตยุบันสมัย พฤศจิกายนมาส ทสมสุรทิน จันทวาร กาลกำหนด...” ซึ่งในรูปแบบการตรารัฐธรรมนูญ (ปี ๒๕๕๐) ในส่วนของคำปรารภก็จะขึ้นต้นด้วย “ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาค ๒๕๕๐ พรรษา ปัจจุบันสมัย จันทรคตินิยม สูกรสมพัตสร สาวนมาส ชุณหปักษ์ เอกาทสีดิถี สุริยคติกาล สิงหาคมมาส จตุวีสติมสุรทิน ศุกรวาร โดยกาลบริเฉท...” เช่นกัน
กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ เป็นกฎเกณฑ์ว่าด้วยการดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศ ซึ่งบัญญัติไว้เป็นเอกเทศ ซึ่งถือเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศที่บัญญัติไว้นอกตัวบทรัฐธรรมนูญ แต่เวลาใช้ต้องมาพิจารณาประกอบกัน
หลักเกณฑ์การสืบราชสันตติวงศ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตั้งแต่ปี ๒๔๗๕ – ปัจจุบัน(๒๕๕๐)
- พระราชบัญญัติธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕
หมวด ๒ กษัตริย์ ตั้งแต่มาตรา ๓ ถึงมาตรา ๗
มาตรา ๔ ผู้เป็นกษัตริย์ของประเทศ คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว การสืบมฤดกให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ และด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕
หมวด ๑ พระมหากษัตริย์ ตั้งแต่มาตรา ๓ ถึงมาตรา ๑๐
มาตรา ๙ การสืบราชสมบัติ ท่านว่าให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙
หมวด ๑ พระมหากษัตริย์ ตั้งแต่มาตรา ๓ ถึงมาตรา ๑๑
มาตรา ๙ การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๔๙๐
หมวด ๑ พระมหากษัตริย์ ตั้งแต่มาตรา ๓ ถึงมาตรา ๑๒
มาตรา ๑๑ ในกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลง และมิได้มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความในมาตรา ๑๐ ก็ให้คณะอภิรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินในหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว จนกว่าจะได้ประกาศแต่งตั้งผู้สืบสันตติวงศ์ในหน้าที่พระมหากษัตริย์ต่อไป
มาตรา ๑๒ การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๙๒
หมวด ๒ พระมหากษัตริย์ ตั้งแต่มาตรา ๕ ถึงมาตรา ๒๕
มาตรา ๒๓ การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา
การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ จะกระทำมิได้
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๙๕
มาตรา ๒ (๓) ให้เพิ่มมาตรา ดังต่อไปนี้เป็น มาตรา ๔ และมาตรา ๑๐ ถึงมาตรา ๒๓ ตามลำดับ
“มาตรา ๒๑ การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร
การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ จะกระทำมิได้”
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๑
หมวด ๒ พระมหากษัตริย์ ตั้งแต่มาตรา ๔ ถึง มาตรา ๒๓
มาตรา ๒๒ การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา
การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ให้กระทำได้โดยวิธีการอย่างเดียวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ”
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๗
หมวด ๒ พระมหากษัตริย์ ตั้งแต่มาตรา ๗ ถึงมาตรา ๒๖
มาตรา ๒๕ การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา หากไม่มีพระราชโอรส รัฐสภาอาจให้ความเห็นชอบในการให้พระราชธิดาสืบราชสันตติวงศ์ก็ได้
การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ให้กระทำได้โดยวิธีอย่างเดียวกันกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑
หมวด ๒ พระมหากษัตริย์ ตั้งแต่มาตรา ๖ ถึงมาตรา ๒๑
มาตรา ๒๐ การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา หากไม่มีพระราชโอรส รัฐสภาอาจให้ความเห็นชอบในการให้พระราชธิดาสืบราชสันตติวงศ์ก็ได้
การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ให้กระทำได้โดยวิธีการอย่างเดียวกันกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔
หมวด ๒ พระมหากษัตริย์ ตั้งแต่มาตรา ๖ ถึงมาตรา ๒๓
มาตรา ๒๐ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๑ กรสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗
การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ เมื่อมีพระราชดำริประการใด ให้องคมนตรีจัดร่างกฎมณเฑียรบาลแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลเดิม ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อมีพระราชวินิจฉัย เมื่อทรงเห็นชอบและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วให้ประธานองคมนตรีดำเนินการแจ้งให้ประธานรัฐสภาเพื่อให้ประธานรัฐสภาแจ้งให้รัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
มาตรา ๒๑ ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบและให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบและให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไปแล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ
ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลง และเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามมาตรา ๒๐ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ในการนี้จะเสนอพระนามพระราชธิดาก็ได้ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ
ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ หรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการรับทราบตามวรรคหนึ่ง หรือให้ความเห็นชอบตามวรรคสอง
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
หมวด ๒ พระมหากษัตริย์ ตั้งแต่มาตรา ๘ ถึงมาตรา ๒๕
มาตรา ๒๒ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๓ การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗
การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ เมื่อมีพระราชดำริประการใด ให้คณะองคมนตรีจัดทำร่างกฎมณเฑียรบาลแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลเดิม ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อมีพระราชวินิจฉัย เมื่อทรงเห็นชอบและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประธานองคมนตรีดำเนินการแจ้งประธานรัฐสภาเพื่อให้ประธานรัฐสภาแจ้งให้รัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการรับทราบตามวรรคสอง
มาตรา ๒๓ ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบและให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ
ในกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามมาตรา ๒๒ ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อรัฐสภาเพื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ในการนี้จะเสนอพระนามพระราชธิดาก็ได้
เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไปแล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ
ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ หรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการรับทราบตามวรรคหนึ่งหรือให้ความเห็นชอบตามวรรคสอง
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐
หมวด ๒ พระมหากษัตริย์ ตั้งแต่มาตรา ๘ ถึงมาตรา ๒๕
มาตรา ๒๒ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๓ การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗
การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ เมื่อมีพระราชดำริประการใด ให้คณะองคมนตรีจัดทำร่างกฎมณเฑียรบาลแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลเดิม ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อมีพระราชวินิจฉัย เมื่อทรงเห็นชอบและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประธานองคมนตรีดำเนินการแจ้งประธานรัฐสภาเพื่อให้ประธานรัฐสภาแจ้งให้รัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการรับทราบตามวรรคสอง
มาตรา ๒๓ ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบและให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ
ในกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามมาตรา ๒๒ ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อรัฐสภาเพื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ในการนี้จะเสนอพระนามพระราชธิดาก็ได้
เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไปแล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ
ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ หรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการรับทราบตามวรรคหนึ่งหรือให้ความเห็นชอบตามวรรคสอง
โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่ปี ๒๔๗๕ – ๒๕๕๐ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้กำหนดให้ฝ่ายนิติบัญญัติเข้ามาเกี่ยวข้องกับการสืบราชสันตติวงศ์ สรุปได้เป็น ๒ ช่วง ดังนี้
ช่วงที่ ๑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี ๒๔๗๕ – ๒๕๒๑ ซึ่งกำหนดให้ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งอาจเป็นสภาผู้แทนราษฎร หรือรัฐสภากำหนด “ให้ความเห็นชอบ” ในการสืบราชสมบัติ
โดยรัฐธรรมนูญปี ๒๕๑๗ และปี ๒๕๒๑ ได้กำหนดเพิ่มเติมว่า หากไม่มีพระราชโอรส รัฐสภาอาจให้ความเห็นชอบในการให้พระราชธิดาสืบราชสันตติวงศ์ก็ได้
ช่วงที่ ๒ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี ๒๕๓๔ ปี ๒๕๔๐ และ ปี ๒๕๕๐
การสืบราชสันตติวงศ์ในกรณีที่ทรงแต่งตั้งรัชทายาทไว้แล้วตามกฎมณเฑียรบาล ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ รัฐสภาเพียงมาเกี่ยวข้องเพื่อ “รับทราบ” เท่านั้น
ส่วนกรณีที่มิได้ทรงแต่งตั้งรัชทายาทไว้ คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้ที่สืบราชสันตติวงศ์ โดยจะเสนอได้ทั้งพระโอรสและพระธิดา โดยให้ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ รัฐสภา ให้ “ความเห็นชอบ” ในการสืบราชสันตติวงศ์
ส่วนการแก้กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ นั้น สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ มิได้กำหนดรายละเอียดไว้ แต่ได้กำหนดหลักการสำคัญไว้ในมาตรา ๑๙ ว่า ...สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ใดในอนาคตสมัยทรงพระราชดำริจะแก้ไขหรือเพิกถอนข้อหนึ่งข้อใดแห่งกฎมณเฑียรบาลนี้ ก็ให้ทรงคำนึงถึงพระอุปการคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ผู้ทรงตรากฎมณเฑียรบาลนี้ขึ้นไว้แล้วทรงปฏิบัติตามข้อความในมาตรา ๒๐ แห่งกฎมณเฑียรบาลนี้เถิด
โดยมาตรา ๒๐ ได้กำหนดเงื่อนไขแลขั้นตอนสรุปสาระสำคัญไว้ ดังนี้
เมื่อมีพระราชดำริว่ามีเหตุจำเป็นที่จะต้องแก้ไขหรือเพิกถอนข้อความใดๆ ให้ทรงนัดประชุมองคมนตรีสภา เพื่อพิจารณาว่าจะมีการแก้ไขหรือเพิกถอนข้อความตามพระราชดำริหรือไม่ หากที่ประชุมสภาองคมนตรีส่วนใหญ่ คือ ๒ ใน ๓ ของจำนวนที่มาประชุมและลงความเห็นว่าควรแก้ไขตามพระราชดำริก็ให้มีพระบรมราชโองการให้แก้ไขหรือเพิกถอน ถ้าที่ประชุมเห็นว่าไม่สมควรแก้ไขหรือเพิกถอนก็ให้ทรงมีพระขันติระงับพระราชดำริที่จะทรงแก้ไขหรือเพิกถอนนี้ไว้
ส่วนรายละเอียดหรือกระบวนการแก้ไขหรือเพิกถอนกฎมณเฑียรบาลซึ่งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับของไทยตั้งแต่ปี ๒๔๗๕ – ฉบับปี ๒๕๕๐ สรุปได้ดังนี้
๑. กำหนดห้ามมิให้มีการแก้ไขในกฎมณเฑียรบาล จะกระทำมิได้ เช่น รัฐธรรมนูญ ปี ๒๔๙๒ และ ๒๔๙๕ เป็นต้น
๒. กำหนดให้การแก้ไขกฎมณเฑียรบาลให้กระทำเช่นเดียวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เช่น ในรัฐธรรมนูญปี ๒๕๑๑, ๒๕๑๗ และ ๒๕๒๑ เป็นต้น
๓. กำหนดให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมได้เมื่อมีพระราชดำริประการใด องคมนตรีจัดร่าง กฎมณเฑียรบาลแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลเดิมขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อมีพระราชวินิจฉัย เมื่อทรงเห็นชอบและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วให้ประธานองคมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาเพื่อแจ้งให้รัฐสภาทราบ โดยให้ประธานรัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เช่น ในรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๓๔, ๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐ เป็นต้น
กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ห้ามมิให้เสนอชื่อพระราชธิดาเป็นผู้อยู่ในลำดับผู้สืบราชสันตติวงศ์นั้น หมายความว่า พระธิดามิได้ทรงแต่งตั้งเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลได้เลย
แต่อย่างไรก็ตาม ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหลายฉบับได้บัญญัติไว้ว่า การสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นของฝ่ายนิติบัญญัติไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐสภา ในกรณีที่มีระบบสองสภา หากไม่มีพระราชโอรส รัฐสภาอาจให้ความเห็นชอบในการให้พระราชธิดาสืบราชสันตติวงศ์ก็ได้ เช่น ในรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๑๗, ๒๕๒๑ เป็นต้น หลังจากนั้นมาก็ไม่มีการกำหนดในทำนองนี้อีกเลยในรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มา
บทสรุป
การสืบราชสันตติวงศ์ของไทยในอดีตยังไม่มีกฎระเบียบแบบแผนกำหนดไว้อย่างชัดเจนแน่นอน ให้เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ แต่ได้มีการกำหนดตำแหน่งที่จะสืบราชสันตติวงศ์สืบต่อจากพระมหากษัตริย์ไว้ กล่าวคือ ตำแหน่ง “พระมหาอุปราช” ในสมัยอยุธยา ส่วนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้กำหนดตำแหน่ง “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” และตำแหน่ง “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร”
จนกระทั่งมาถึงในรัชกาลที่ ๖ ทรงตรากฎหมายเกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์ขึ้นเป็นฉบับแรก ที่กำหนดเป็นแบบแผนและเป็นระบบระเบียบ คือ กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ โดยใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ รัฐธรรมนูญจึงได้กำหนดรองรับกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ไว้เพื่อให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้นโดยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี ๒๔๗๕ จนถึงปี ๒๕๕๐
ดังนั้น การสืบราชสันตติวงศ์จะต้องเป็นตามนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในแต่ละยุคแต่ละสมัย
บรรณานุกรม
๑. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔. พิมพ์ครั้งที่ ๑, กรุงเทพมหานคร : ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์. ๒๕๕๖.
๒. ธงทอง จันทรางศุ . สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐. พิมพ์ครั้งที่ ๑, กรุงเทพมหานคร : สถาบันพระปกเกล้า. ๒๕๔๔.
๓. วิษณุ เครืองาม. กฎหมายรัฐธรรมนูญ. พิมพ์ครั้งที่ ๓, กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์นิติบรรณการ. ๒๕๓๐.
๔. สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รวมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (๒๔๗๕ – ๒๕๔๙). พิมพ์ครั้งที่ ๑, กรุงเทพมหานคร : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ๒๕๔๙.
๕. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐.
๖. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗, (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.krisdika.go.th/data/law/law0/%laa102/%a102-20-2467-a0001.pdf สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๗)
หนังสืออ่านเพิ่มเติม
๑. วารสารราชบัณฑิตยสถาน, ปีที่ ๓๗ ฉบับที่ ๓ ก.ค. – ก.ย. ๒๕๕๕ โดย วิษณุ เครืองาม
๒. คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญ, วิษณุ เครืองาม, พิมพ์ครั้งที่ ๓, พ.ศ.๒๕๓๐, สำนักพิมพ์นิติบรรณการ กทม.