14 มีนาคม พ.ศ. 2518

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:05, 14 ตุลาคม 2557 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2518 เป็นวันที่ประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรี คนที่ 13 ของประเทศและเป็นนายกรัฐมนตรีที่เป็นน้องชายแท้ ๆ ของนายกรัฐมนตรีผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนหน้านี้ด้วย ท่านคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แต่ก็มิใช่เรื่องของการสืบตำแหน่งเพราะว่าเป็นญาติพี่น้องกันแต่อย่างใด เพราะทั้งสองท่านในขณะนั้นเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองกันคนละพรรค คนพี่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนน้อง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นี้เป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคม

การเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมกราคม พ.ศ. 2518 อันเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 นั้น พรรคประชาธิปัตย์ชนะได้คะแนนมากเป็นอันดับหนึ่งจึงได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่พรรคเองก็มีเสียงน้อยกว่ากึ่งหนึ่งในสภา แม้จะได้พรรคการเมืองอื่นมาร่วมรัฐบาลเสียงที่มีรวมกันแล้วก็ยังน้อยกว่ากึ่งหนึ่งในสภา ทำให้เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย และไม่ได้รับความไว้วางใจในวาระแรกที่แถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร ทำให้รัฐบาลพ้นตำแหน่ง

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคมที่มีเสียงในสภาผู้แทนราษฎร เพียง 18 เสียงได้รับความยินยอมให้เป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลผสมและรัฐบาลก็ได้รับความไว้วางใจให้บริหารประเทศ

ในช่วงเวลาที่เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นมีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองระหว่างประเทศที่ใกล้กับไทยมาก คือ กองทัพเขมรแดงได้เข้ายึดกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของเขมรได้ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2518 นับว่าภัยคอมมิวนิสต์ได้ใกล้ไทยอย่างมาก นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้สามารถดำเนินการทางการทูตอย่างฉับพลันติดต่อกับทางรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ที่ปักกิ่งได้สำเร็จ โดยนายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน ถึงวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 จนสามารถลงนามสถาปนาความสัมพันธ์กับสาธารณประชาชนจีนในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 ถือว่าได้ว่าเป็นนโยบายสำคัญที่ทำให้ไทยยืนหยัดต้านคอมมิวนิสต์ภายในประเทศผ่านวิกฤตการณ์มาได้เป็นอย่างดี

ส่วนการเมืองภายในที่มีปัญหาสะสมมานานนั้น รัฐบาลผสมไม่สามารถแก้ไขได้มากนัก และความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลเองได้นำมาสู่การที่นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2519 ที่นำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2519