11 กันยายน พ.ศ. 2481

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2481 ได้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรกในประวัติ

ศาสตร์การเมืองไทย โดยนายกรัฐมนตรี พระยาพหลพลพยุหเสนา ขณะนั้นประเทศไทยใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ซึ่งมีบทบัญญัติในมาตรา 35 ว่า

“พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งสมาชิกมาใหม่ ในพระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภาเช่นนี้ต้องมีกำหนดให้เลือกตั้งสมาชิกใหม่ภายในเก้าสิบวัน”

ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา เมื่อทางฝ่ายรัฐบาลแพ้เสียงในสภาในเรื่องสำคัญ นายกรัฐมนตรีผู้เป็นหัวหน้ารัฐบาลก็มีทางเลือกว่าจะลาออกเพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ตัวท่านเอง อาจกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกหรือไม่กลับมาเป็นอีกก็ได้ หรืออาจเลือกเอาทางยุบสภา ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่เพื่อจัดตั้งรัฐบาลต่อไป

มูลเหตุของการที่จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกนี้มาจากการที่รัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนาแพ้เสียงในมติเกี่ยวกับการร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีการพิจารณากันเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2481 โดยรัฐบาลแพ้เสียง 45 ต่อ 31 เสียงในการลงคะแนนลับ

เมื่อกรณีเป็นไปเช่นนี้นายกรัฐมนตรี พระยาพหลพลพยุหเสนาจึงได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในวันนี้ แต่คณะผู้สำเร็จราชการฯ ไม่ยอมรับใบลา อ้างว่าสถานการณ์บ้านเมืองมีความปั่นป่วน จึงได้ ให้ออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาในวันถัดมา (11 กันยายน พ.ศ. 2481) และต่อมาก็ได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 นับว่าเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 3 ของประเทศ หลังการเลือกตั้งแล้วแม้มีผู้พยายามให้พระยาพหลพลพยุหเสนากลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก แต่ท่านก็มิได้หวนกลับมารับตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลอีกเลย