ศาลรัฐธรรมนูญกับความคาดหวังของสังคม
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร
วารสารสถาบันพระปกเกล้า ปี 2546 ฉบับที่ 1
ในวงการของการเมืองการปกครองของไทย อาจมองว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นสถาบันการเมืองแห่งใหม่ เพราะในช่วงเวลา 65 ปี ของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยมา ยังไม่เคยมีสถาบันการเมืองใดที่เรียกว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” แต่ถ้ามองไปถึงอำนาจหน้าที่แล้วจะพบว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่สถาบันการเมืองใหม่แต่อย่างใด หากแต่เป็นสถาบันการเมืองที่พัฒนาหรือปฏิรูปมาจาก “คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” นั่นเอง
บ้านเมืองที่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรเป็นกติกาของแผ่นดินนั้นถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศที่บางท่านก็ว่าเป็นแม่บทกฎหมาย และกฎหมายอื่นที่ออกมาจะขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้
ในอดีตรัฐธรรมนูญถาวรของไทยฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 เป็นฉบับแรกที่ระบุไว้ในมาตรา 61 ว่า
“ บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดๆ มีข้อความแย้งหรือขัดแก่รัฐธรรมนูญนี้ ท่านว่าบทบัญญัตินั้นๆ เป็นโมฆะ”
แต่รัฐธรรมนูญของไทยก็มิได้กำหนดให้ชัดว่าองค์กรใดหรือสถาบันการเมืองใดจะเป็นผู้มีอำนาจตีความหรือวินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดกับรัฐธรรมนูญ จนกระทั้ง ปี พ.ศ.2488
“มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2488 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ได้มีการตรา “พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ.2488” ให้เอาโทษแก่ผู้ที่มีการกระทำที่ตามกฎหมายนั้นถือว่าเป็นอาชญากรสงคราม ไม่ว่าการกระทำนั้นจะกระทำขึ้นก่อนหรือหลังจากที่กฎหมายนี้ใช้บังคับก็ตาม” [1]
คดีอาชญากรสงครามไปถึงศาล และศาลฎีกาได้แสดงให้เห็นว่าศาลฎีกา “มีอำนาจที่จะวินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญได้” และก็ได้พิพากษาว่าพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ.2488 ใช้บังคับไม่ได้ เพราะเป็นโมฆะ ดังปรากฏตาม คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีอาชญากรสงครามที่ 1/2488 ลงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2489 [2]
คำตัดสินคดีดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความเห็นแตกต่างในเรื่องการวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องการ ขัดแย้งของกฎหมายกับรัฐธรรมนูญ เพราะทางสภาผู้แทนราษฎรในตอนนั้นมีความเห็นว่าเป็นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากอำนาจตีความรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าเป็นของสภาผู้แทนราษฎร ถึงแม้จะไม่ได้ระบุชัดในเรื่องการวินิจฉัยเกี่ยวกับการขัดแย้งของกฎหมายกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 62 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 บัญญัติดังนี้
“ท่านว่าสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งสิทธิเด็ดขาดในการตีความแห่งรัฐธรรมนูญนี้”
หลังจากนั้นมาฝ่ายอำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติม และร่าง รัฐธรรมนูญฉบับต่อมา จึงได้ระบุไว้ชัดเจนให้มีองค์กรแยกให้เห็นต่างหากให้มีหน้าที่ในการวินิจฉัยเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ดังปรากฏในรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2489 จำนวน 3 มาตรา เรียงกันดังนี้
“มาตรา 87 บทบัญญัติแห่งกฎหมายใด มีข้อความแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้”
“มาตรา 88 ในการที่ศาลจะใช้บทกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นว่าบทกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 87 ก็ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีนั้นไว้ชั่วคราว แล้วให้รายงานความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการไปยังคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย เมื่อคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยแล้ว ให้แจ้งให้ศาลทราบ
คำวินิจฉัยของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ถือเป็นเด็ดขาดและให้ศาลปฏิบัติตามนั้น”
ดังนั้นองค์กรที่แยกออกมาจากรัฐสภาเพื่อทำหน้าที่อันสำคัญนี้ก็คือ “คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” และเป็นองค์กรที่มีอำนาจวินิจฉัยที่ศาลต้องรับปฏิบัติในเรื่องนี้ เพราะคำวินิจฉัยของคณะตุลาการ รัฐธรรมนูญถือ “เป็นเด็ดขาดและให้ศาลปฏิบัติตาม”
คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นใคร มีที่มาจากไหน และมีจำนวนเท่าใด ตลอดจนจะมีวิธีพิจารณาอย่างไร มาตรา 89 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 ได้เขียนกำหนดไว้พอให้เห็นได้บ้างว่า
“คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐสภา แต่งตั้งขึ้นเป็นประธานตุลาการคนหนึ่ง และตุลาการอีกสิบสี่คน
ให้มีการแต่งตั้งคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ทุกครั้งเมื่อได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน เพราะเหตุที่สภาผู้แทนหมดอายุหรือถูกยุบ
วิธีพิจารณาของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น”
จึงเห็นได้ว่ารัฐสภาทรงอำนาจที่จะตั้งประธานตุลาการและตุลาการอีก 14 คน ส่วนวิธีพิจารณาของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นก็จะมีกฎหมายออกมาเพื่อกำหนดในรายละเอียดอีกที ซึ่งทำให้เห็นได้ว่าเป็นการตัดหนทางไม่ให้ศาลยุติธรรมหรืออำนาจตุลาการเข้ามาเป็นผู้พิจารณาเรื่องที่ว่ากฎหมายจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่อีกต่อไป
ตั้งแต่นั้นมาอำนาจในการพิจารณาเรื่องที่ว่ากฎหมายจะขัดกับรัฐธรรมนูญก็อยู่ในมือของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาเป็นผู้เลือก ต่อมาเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ออกมาภายหลังก็ยึดแบบให้มีคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ทำหน้าที่ในเรื่องนี้ต่อมาด้วย หากแต่ว่าในคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นได้มีผู้ที่ได้เข้ามาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยตำแหน่งอยู่ด้วย เช่นประธานวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทน ทั้งยังให้ฝ่ายอำนาจตุลาการคือประธานศาลฎีกาและอธิบดีศาลอุทธรณ์ เป็นโดยตำแหน่งด้วย รวมถึงฝ่ายอัยการคืออธิบดีกรมอัยการนอกเหนือจากบุคคลที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านกฎหมายอีกจำนวนหนึ่งซึ่งก็น้อยกว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นโดยตำแหน่งดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
“มาตรา 168 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานศาลฎีกา อธิบดีศาลอุทธรณ์ อธิบดีกรมอัยการ และบุคคลอื่นอีกสี่คน ซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในทางกฎหมาย
ประธานวุฒิสภาเป็นประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” [3]
ที่มาและองค์ประกอบของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นไปตามแนวทางของรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2492 กำหนดไว้เรื่อยมา เว้นแต่ตอนที่มีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จนกระทั้งมี รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2517 ในยามที่บ้านเมืองมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น การบัญญัติถึงที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงได้ปรับเปลี่ยนไปบ้าง ดังปรากฏในมาตรา 218 ว่า
“คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีจำนวนเก้าคน โดยรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการตุลาการตามมาตรา 210 เป็นผู้เลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิมีจำนวนฝ่ายละสามคน” [4]
จึงเป็นการให้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการอันเป็นอำนาจทั้ง 3 ที่ดูแลการเมืองการปกครองของประเทศเป็นผู้เสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายละเท่าๆ กัน
แต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 ก็ใช้อยู่ได้ไม่ถึง 3 ปี ก็มีการรัฐประหารล้มรัฐธรรมนูญ และต่อมาเมื่อมีรัฐธรรมนูญหลักฉบับ พ.ศ.2521 และฉบับพ.ศ.2534 ตามลำดับ องค์ประกอบของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็กลับไม่เหมือนกับที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2492 นั่นคือมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ได้มาโดยตำแหน่งดังจะเห็นได้ในฉบับ พ.ศ.2534 มาตรา 200 ที่ว่า
“คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา อัยการสูงสุด และผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์หรือสาขารัฐศาสตร์อีกหกคน ซึ่งวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งสภาละสามคน”
รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 อันได้แก่รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันได้เปลี่ยนจากการมีคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นองค์กรแยกออกมาจากรัฐสภา แต่ก็เป็นคณะบุคคลที่หลายท่านและโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวประธานยังมีตำแหน่งเกี่ยวพันอยู่กับรัฐสภา หรือไม่ก็มีตำแหน่งอยู่ในฝ่ายตุลาการและ ข้าราชการประจำ มีเพียงผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์อีกเป็นส่วนน้อยในคณะตุลาการ ให้มาเป็นสถาบันแห่งใหม่ที่เรียกว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่มีที่มาเป็นพิเศษ และมีอำนาจหน้าที่มากขึ้น
โดยให้มีที่มาและองค์ประกอบของรัฐธรรมนูญต่างกว่าที่เคยมีมาในประเทศไทย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 255 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ว่า
“ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นอีกสิบสี่คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากบุคคลดังต่อไปนี้
(1) ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา โดยวิธีลงคะแนนลับจำนวนห้าคน
(2) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ ศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับจำนวนสองคน
(3) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ซึ่งได้รับเลือกตามมาตรา 257 จำนวนห้าคน
(4) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ ซึ่งได้รับเลือกตามมาตรา 257 จำนวนสามคน
ให้ผู้ได้รับเลือกตามวรรคหนึ่ง ประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ”
เมื่อมองย้อนไปถึงความเป็นมาของศาลรัฐธรรมนูญดังที่ยกมานี่ ก็ย่อมเห็นได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญ แห่งนี้ในสายตาของมหาชนจึงเป็น “ศาลเรื่องการเมืองสูงสุด” ของบ้านเมืองนั่นเอง ดังนั้นจึงย่อมจะมีความสำคัญมาก
ที่สำคัญมากนั้นก็เพราะเป็นสถาบันที่มีอำนาจที่จะปกป้องให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่อยู่เหนือกฎหมายอื่น มิให้กฎหมายอื่นออกมาขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญที่เป็นแม่บทกฎหมาย และกติกาหลักของแผ่นดิน
เราคงต้องไม่ลืมว่า ในประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น รัฐธรรมนูญมีความสำคัญยิ่งนัก เพราะในความหมายอย่างกว้างแล้วรัฐธรรมนูญเป็นยิ่งกว่า “ตัวบทกฎหมาย” เพราะรัฐธรรมนูญมีความหมายถึงประชาธิปไตยด้วย
“รัฐธรรมนูญตามความหมายในทางการเมือง หมายถึงรัฐธรรมนูญแห่งระบอบประชาธิปไตย ความหมายของรัฐธรรมนูญดังกล่าวนี้ เราย่อมจะพบอยู่บ่อยๆในเมื่อบุคคลกล่าวถึง “การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ” หรือ “พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ทั้งนี้ เพราะตามประวัติศาสตร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เดิมประเทศต่างๆ ได้มีพระมหากษัตริย์ปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาก่อน แล้วจึงได้เปลี่ยนมาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยการปฏิวัติบ้าง โดยวิวัฒนาการ (คือค่อยเปลี่ยนมาทีละเล็กทีละน้อย) บ้าง หรือทั้งโดยการปฏิวัติและโดยวิวัฒนาการบ้าง การเปลี่ยนแปลงมาเป็นระบอบประชาธิปไตยนี้โดยมากกระทำโดยการให้รัฐธรรมนูญ โดยเหตุนี้ในทางการการเมืองความหมายของรัฐธรรมนูญจึงตรงกับระบอบประชาธิปไตย” [5]
ในบ้านเมืองไทยเรานี้ หลายเพลาแล้วที่คนไทยมองรัฐธรรมนูญเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย การเรียกร้องรัฐธรรมนูญของประชาชนเมื่อปี พ.ศ.2514 ที่นำไปสู่การจับกุมผู้นำการเรียกร้องรัฐธรรมนูญในครั้งนั้น ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงและต่อต้านรัฐบาลทหารของ จอมพลถนอม กิตติขจร กับคณะ จนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ทำให้ประชาชนและนิสิตนักศึกษาสามารถล้มรัฐบาลได้ และนำการปกครองแบบประชาธิปไตยกลับคืนมาให้ประชาชนไทยได้อีกระยะเวลาหนึ่ง
จากนั้นมาการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เพื่อเอาคืนมาซึ่งระบอบประชาธิปไตยก็ยังทำต่อมาอีก และแม้แต่การขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่สมาชิกของสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากตัวแทนประชาชนตามจังหวัดต่างๆ และ นักวิชาการ ก็ล้วนแต่เพื่อต้องการให้บ้านเมืองนี้มีประชาธิปไตยที่ยั่งยืนนั่นเอง
ความสำคัญอีกประการหนึ่งของรัฐธรรมนูญนั้นก็คือ รัฐธรรมนูญเป็นสถาบันการเมือง ที่กำหนด “ความชอบธรรมแห่งอำนาจการปกครอง” ไว้อย่างเป็นรูปธรรม ในรัฐธรรมนูญนั้นจะกำหนดโครงสร้างของอำนาจในการปกครองบ้านเมืองไว้อย่างชัดแจ้ง ว่าจะมีการปกครองอย่างไร และใครจะเป็นผู้มีอำนาจปกครอง ที่มาของผู้ปกครองเป็นอย่างไรนั่นก็คือบอกทั้ง “วิถี” ของการได้อำนาจปกครองและ “วิธี” การปกครอง ขั้นตอนทั้งหลาย จะถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญเป็นสถาบันการเมืองที่กำหนดความชอบธรรมแห่งอำนาจปกครอง
รัฐธรรมนูญ มีความสำคัญขนาดนี้ ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์กรที่ควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญจึงยอมมีความสำคัญเป็นประการที่หนึ่ง เพราะภาระหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญนั้นก็คือ
“ยุติปัญหาความขัดแย้งระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งวาง กฎเกณฑ์แห่งการควบคุมตรวจสอบความถูกต้องชอบธรรมของการใช้อำนาจรัฐเพื่อการดังกล่าว..” [6]
ในฐานะ “ศาลเรื่องการเมืองสูงสุด” นั้นเป็นอย่างไร จะขอแยกดูได้ดังนี้ การเป็น “ศาลเรื่องการเมือง” นั้นจะดูได้จากอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญนั้นเอง อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญได้ถูกแยกย่อยไว้เป็น 4 กลุ่มใหญ่
“1.อำนาจหน้าที่ในการควบคุมกฎหมายหรือร่างกฎหมายมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
2.อำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยสมาชิกภาพหรือคุณสมบัติของสมาชิกรัฐสภา รัฐมนตรี คณะกรรมการเลือกตั้งและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินฯ
3.อำนาจหน้าที่ใน(การ)พิจารณาวินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ
4.อำนาจหน้าที่อื่นๆตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนด” [7]
ในเรื่องของอำนาจหน้าที่ประการแรกอันเป็นหน้าที่ซึ่งคนไทยรู้จักกันดีและเป็นหน้าที่ดั้งเดิมนั้น มาตรา 262 ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า
“ร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญใดที่รัฐสภาให้ความ เห็นชอบแล้ว ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญนั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยตามมาตรา 93 หรือร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญใดที่รัฐสภาลงมติยืนยันตามมาตรา 94 ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติหรือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้งหนึ่ง
(1) หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตาม บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี แล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าวส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า
(2) หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่ายี่สิบคนเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภาแล้วแต่กรณี แล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าว ส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า
(3) หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวมี ข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่ง รัฐธรรมนูญนี้ ให้ส่งความเห็นเช่นว่านั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา ทราบโดยไม่ชักช้า
ในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ให้นายกรัฐมนตรีระงับการดำเนินการเพื่อประกาศใช้ร่างพระราชบัญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้จนกว่าศาล รัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญนั้น ให้ร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป
ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้แต่มิใช่กรณีตามวรรคสาม ให้ข้อความที่ขัดหรือแย้งนั้นเป็นอันตกไป และให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการตามมาตรา 93 หรือมาตรา 94 แล้วแต่กรณี ต่อไป
จากอำนาจหน้าที่ตามที่ปรากฏตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเห็นได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นมาเป็นสถาบันการเมืองใหม่ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่มุ่งหมายจะปฏิรูปการเมือง ได้บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่มากขึ้น นอกเหนือจากให้แยกศาลรัฐธรรมนูญออกมาเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องขึ้นอยู่กับอำนาจอื่นใดทั้ง 3 อำนาจที่เคยมีมาเดิมอันได้แก่อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการแล้วยังทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นสถาบันการเมืองที่สำคัญยิ่งสถาบันหนึ่ง ในกลุ่มอำนาจใหม่คือ “อำนาจที่สี่” อันเป็นอำนาจในการตรวจสอบอำนาจรัฐอื่นๆ และอำนาจที่สี่นี้ก็มีอยู่หลายองค์กรที่เป็นอิสระต่อกัน
ส่วนที่ว่าเรื่องการเมืองสูงสุด อันแสดงว่าให้เป็นผู้ตัดสินสุดท้ายนั่นเองซึ่งมาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า
“คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภาคณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรอื่นของรัฐ”
แสดงว่าผูกพันฝ่ายราชการทั้งหมด และเป็นเด็ดขาด จึงเป็นที่ยุติตามที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ซึ่งสำคัญมาก และเป็นศาลเรื่องการเมืองสูงสุดที่วินิจฉัยแล้วผูกพันเด็ดขาดกับสถาบันอื่น จึงเป็นเรื่องที่จะต้องมาดูถึงความคาดหวังของสังคม ที่กล่าวว่าเป็นความคาดหวังของสังคมก็เพราะว่ามิได้เป็นเพียงความหวังของใครคนใดคนเดียว หรือกลุ่มคนกลุ่มย่อย อย่างเช่นความหวังของคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ หรือของกลุ่มนักวิชาการ หากแต่เป็นของมหาชนทั่วไปนั่นเอง
ในความคาดหวังของมหาชนนั้น น่าจะอยู่ที่ความเป็นอิสระและความเป็นกลาง ไม่ถูกอำนาจทางการเมืองแทรกแซง
ในการดูเรื่องความเป็นอิสระนั้นดูได้สองกรณี
1.ความเป็นอิสระขององค์กรรัฐธรรมนูญระบุว่าเป็นองค์กรอิสระ และสำนักงานเลขาธิการศาลกับเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นข้าราชการประจำ
2.ความเป็นอิสระในการทำงานที่สำคัญก็คือในการพิจารณาตัดสินคดีของ ประธานศาลและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ประการแรกเมื่อพิจารณาถึงความเป็นอิสระของหน่วยงานศาลรัฐธรรมนูญ จะพบว่าฝ่ายประจำซึ่งทำหน้าที่ธุรการบริหารงานให้แก่ศาลรัฐธรรมนูญนั้นยังอยู่ในระบบราชการ ซึ่งก็เป็นการเลือกของศาลรัฐธรรมนูญเอง ที่จะอยู่ในระบบราชการในตอนเริ่มต้นตั้ง หากศาลรัฐธรรมนูญจะให้สำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญไม่อยู่ในระบบราชการเป็นไปอย่างสำนักงานเลขาธิการ คณะกรรมการการเลือกตั้งก็คงได้ ทางอำนาจบริหารมิได้บังคับ ผู้ที่ทำงานจึงเป็นข้าราชการประจำ ที่มีระเบียบราชการเป็นเกณฑ์ แต่ก็เชื่อได้ว่าข้าราชการประจำของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องดำเนินการตามแนวทางของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เพราะรัฐธรรมนูญได้บัญญัติการบังคับบัญชาและที่มาของเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญไว้ในทางที่ให้อยู่ในความเห็นชอบของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ดังปรากฏในมาตรา 270 ว่า
“ศาลรัฐธรรมนูญมีหน่วยธุรการของศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นอิสระ โดยมีเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานศาลรัฐธรรมนูญ การแต่งตั้งเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมีอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณและการดำเนินการอื่น ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ”
ที่จริงในเรื่อง “ความเป็นอิสระ” ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีอยู่หลายองค์กรนี้ ได้เคยมีเรื่องที่หน่วยงานได้ขอความเห็นไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกาบ้างแล้ว และความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะใหญ่ก็ได้เคยให้ความเห็นในเรื่องนี้เอาไว้แล้ว ที่แสดงให้เห็นว่าองค์กร ดังกล่าวนั้นมีลักษณะพิเศษและมีความเป็นอิสระที่รัฐธรรมนูญประกัน
ประการที่สองที่น่าจะสำคัญที่สุดจึงอยู่ที่ความเป็นอิสระของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะความเป็นกลางก็ดีหรือการไม่ถูกอำนาจทางการเมืองแทรกแซงนั้น เป็นเรื่องที่ต้องติดตามดู 2 ประการหลักคือ หนึ่งที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าใครเลือกและเลือกกันมาอย่างอิสระอย่างไร และสองจากการทำงานและการวินิจฉัยคดีของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ในการดู “ความเป็นอิสระ” ของคณะตุลาการของศาลรัฐธรรมนูญก็น่าจะดูถึงที่มาของคณะตุลาการจำนวน 15 ท่านเหล่านี้โดยที่หันกลับไปอ่านรัฐธรรมนูญดูว่า คณะตุลาการชุดนี้ มีองค์ประกอบอย่างไร ทั้งนี้มาตรา 255 ที่ได้เคยยกมาดูตอนต้นๆ แล้ว ได้กำหนดไว้ชัดเจน
“(1) ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับจำนวนห้าคน
(2) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวนสองคน
(3) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ซึ่งได้รับเลือกตามมาตรา 257 จำนวนห้าคน
(4) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ ซึ่งได้รับเลือกตามมาตรา 257 จำนวนสามคน”
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าที่มาของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นมาจากแหล่งที่ต่างกัน 3 แห่ง
แห่งที่หนึ่งจากศาลฎีกา โดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเป็นผู้เลือกด้วยวิธีการลงคะแนนลับ อันที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกานั้นต้องถือว่าเป็นที่ประชุมสำคัญของอำนาจตุลาการคือศาลยุติธรรม ซึ่งสมาชิกของที่ประชุมแห่งนี้ที่เป็นผู้มีหน้าที่เลือก ผู้พิพากษาในศาลฎีกา มาให้ได้จำนวน 5 คน ศาลยุติธรรมนั้นเป็นสถาบันที่สังคมไทยเคารพนับถือว่าเป็นสถาบันสำคัญของบ้านเมืองที่เชื่อถือได้ และก็ไม่เกี่ยวพันกับการเมือง
แห่งที่สองจากศาลปกครอง โดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดประชุมกันเลือกตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมาอีก 2 คน โดยวิธีลงคะแนนลับ อันศาลปกครองนั้นเป็นสถาบันศาลแห่งใหม่ที่ตั้งขึ้นมาภายหลังการใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 จึงเป็นสถาบันใหม่ แต่ก็เป็นสถาบันใหม่ที่รัฐธรรมนูญสร้างขึ้นมาให้เป็นองค์กรอิสระที่ไม่มีพันธะอยู่ใต้อำนาจทางการเมือง
เพียงแต่ว่าการแต่งตั้งประธานศาลปกครองสูงสุดนั้นนอกจากต้องได้รับความเห็นชอบ จากคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองแล้วยังต้องได้รับความเห็นชอบของวุฒิสภาด้วย[8] ฉะนั้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 ท่านที่มาจากศาลปกครองก็ต้องถือว่ามีความเป็นอิสระมากอีกเช่นกัน
แห่งที่สามจากวุฒิสภานั้นทางวุฒิสภาจะเลือกผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 5 คน กับ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ 3 คน จากรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาได้เสนอชื่อมาจำนวน 2 เท่าให้ได้เท่ากับจำนวนทั้งหมด 8 คน ผู้ทรงคุณวุฒิที่วุฒิสภาจะเลือกนี้ก็มีข้อกำหนดคุณสมบัติซึ่งแสดงให้เห็นว่าต้องเป็นผู้มีวัยวุฒิพอสมควรและเคยดำรงตำแหน่งสูงในราชการมาก่อน ดังปรากฏในมาตรา 256 (2) และ (3) ที่ว่า “ (2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปีบริบูรณ์ (3) เคยเป็นรัฐมนตรี กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุด อธิบดีหรือเทียบเท่า หรือดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าศาสตราจารย์ ”
ดังนั้นผู้ที่เป็น “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ตามนี้ได้ก็ต้องอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ดำรงตำแหน่งสูงใน ราชการ ระดับไม่ต่ำกว่าอธิบดี หรือข้าราชการระดับ 10 เป็นผู้ที่ทำงานมีความรู้และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์มาแล้ว นอกเหนือจากศึกษามาในสาขานิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ สาขาใดสาขาหนึ่งในประเภทที่จะต้องคัดเลือกกัน
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 8 ท่านที่มาจากการเลือกโดยวุฒิสภาจึงมีขั้นตอนที่ต้องพิจารณาอยู่สองขั้นตอนได้แก่ขั้นตอนที่หนึ่งขั้นตอนในระดับคณะกรรมการสรรหาและขั้นตอนที่สองขั้นตอนในการเลือกของวุฒิสภาเอง
มาดูที่ขั้นตอนที่หนึ่งโดยละเอียดกันสักนิด มาตรา 297 (1) บัญญัติว่า
“ให้มีคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคณะหนึ่งประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา คณบดีคณะนิติศาสตร์ หรือเทียบเท่าของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐทุกแห่งซึ่งเลือกกันเองให้เหลือสี่คน คณบดีคณะรัฐศาสตร์ หรือเทียบเท่าของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐทุกแห่งซึ่งเลือกกันเองให้เหลือสี่คน ผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคละหนึ่งคนซึ่งเลือกกันเองให้เหลือสี่คนเป็นกรรมการ คณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่สรรหาและจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 255 (3) จำนวนสิบคน และผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 255(4) จำนวนหกคน เสนอต่อประธานวุฒิสภา โดยต้องเสนอพร้อมความยินยอมของผู้ได้รับการเสนอชื่อ ทั้งนี้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุทำให้ต้องมีการเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวมติในการเสนอชื่อดังกล่าวต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่”
รัฐธรรมนูญให้กติกาในการสรรหาไว้เพียงเท่านี้ คือคณะกรรมการสรรหาชุดนี้ มี
1. ตุลาการศาลยุติธรรมระดับประธานศาลฎีกา นั่นก็คือผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดของศาลยุติธรรมมาเป็นกรรมการอยู่ด้วยคนหนึ่ง
2. หัวหน้าคณาจารย์ที่สอนทางกฎหมาย ซึ่งอาจเป็นคณบดีหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า จากสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ นั่นก็คือแหล่งสอนหนังสือระดับสูงสุด ที่เน้นว่าต้องเป็นของรัฐนั้นก็คงเนื่องจากว่าในวงวิชาการถือกันว่าหัวหน้าของสถาบันการศึกษาของรัฐและหัวหน้าของคณะที่มีการเรียนการสอนนั้นมีกระบวนการเลือกคนมาดำรงตำแหน่งนี้อย่างอิสระและเป็นที่ยอมรับโดย ทั่วไป ที่เน้นสาขาวิชาทางกฎหมายก็เพราะจะต้องเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์จำนวนสิบคนไปให้วุฒิสภาเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวนห้าคน หัวหน้าคณาจารย์ที่ว่านี้จะต้องไปเลือกกันเองให้เหลือเพียง 4 คนเพื่อมาเป็นกรรมการสรรหาชุดนี้
3. หัวหน้าคณาจารย์ที่สอนทางรัฐศาสตร์ ซึ่งอาจเป็นคณบดีหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า จากสถาบันอุดมศึกษาของรัฐโดยเหตุผลที่น่าจะเป็นไปเช่นเดียวกับข้อ 2 โดยหัวหน้าคณาจารย์ ที่สอนทางรัฐศาสตร์นี้ต้องไปเลือกกันเองให้เหลือเพียง 4 คน เพื่อมาเป็นกรรมการสรรหาชุดนี้ ส่วนที่เจาะจงสาขาวิชารัฐศาสตร์ ก็เพราะจะต้องเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์จำนวนหกคนไปให้วุฒิสภาเลือกไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวนสามคนนั่นเอง
4. ผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคละหนึ่งคน ไปเลือกกันเองให้เหลือเพียงสี่คน เป็นกรรมการสรรหาชุดนี้ การเขียนกำหนดผู้แทนจากพรรคการเมืองนั้นก็เพื่อให้มีการโยงให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาดูแลบ้างในขั้นสรรหานั่นเอง ซึ่งเมื่อแรกที่ใช้มาก็ยังไม่มีการเห็นข้อขัดข้องแต่อย่างใด แต่เมื่อมีการสรรหากันมากกว่าหนึ่งครั้ง ก็มีผู้เห็นจุดอ่อนว่าตามที่บัญญัติไว้นี้อาจทำให้พรรคของผู้นำฝ่ายค้านและพรรครัฐบาลอาจไม่มีตัวแทนเป็นกรรมการสรรหาเลยก็คือถ้าพรรคทางฝ่ายรัฐบาลเป็นฝ่ายข้างมากตัวแทนพรรคผู้นำฝ่ายค้านก็อาจไม่ได้เป็นกรรมการสรรหา หรืออีกทางหนึ่งหากพรรคที่อยู่ตรงกันข้ามกับรัฐบาลมีหลายพรรคเกินสี่พรรคและเป็นฝ่ายเสียงข้างมากก็อาจไม่มีตัวแทนของพรรครัฐบาลได้เป็นกรรมการสรรหาได้เหมือนกัน ทั้งในกรณีที่พรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรน้อยกว่าสี่พรรค ก็อาจทำให้คนของพรรคการเมืองเป็นกรรมการสรรหาน้อยกว่าสี่คนเกิดขึ้น อันจะทำให้สัดส่วนของกรรมการในคณะกรรมการสรรหาที่ให้น้ำหนักให้มีจำนวน 13 คน โดยมาจากคณบดีทางด้านสาขาวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ สาขาวิชาละสี่ท่าน กับจากฝ่ายการเมืองสี่ท่านและจากประธานศาลฎีกา 1 ท่านก็อาจลดลงได้
กระนั้นก็ถือได้ว่าความคิดของคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่สร้างคณะกรรมการสรรหาแบบนี้มีจุดอ่อนน้อยมาก ได้มีผู้เสนอให้ตัดฝ่ายการเมืองออกไปซึ่งก็จะทำให้การโยงไปถึงพรรคการเมืองซึ่งเป็นองค์กรการเมืองที่ได้รับการรับรองและส่งเสริมมากจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ลดลง และจะเหลือเพียงนักวิชาการ 8 คนกับประธานศาลฎีกา นั่นก็คือหากจะมีการปรับปรุงในส่วนนี้ก็ควรจะดูภาพรวมของคณะกรรมการสรรหาทั้งหมดว่าควรจะประกอบด้วยใครเพราะเหตุใด อันเป็นเรื่องที่ต้องดูกันให้รอบด้านด้วยเหมือนกัน
มีประเด็นที่เป็นข้อสังเกตที่ต้องดูก็คือมติในการเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ และสาขารัฐศาสตร์จำนวน 16 คน หรือ 2 เท่าของจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประเภทผู้ทรงคุณวุฒิที่ต้องเลือกนี้ได้มีการระบุไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างแจ้งชัดอีกเหมือนกันว่า “มติในการเสนอชื่อ ดังกล่าวต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่”
จำนวนไม่น้อยกว่าสามในสี่ของกรรมการสรรหาทั้งหมดสิบสามคนนั้นเท่ากับต้องมีอยู่สิบคนขึ้นไป เมื่อเป็นเช่นนี้กรรมการสรรหาเกิดจับกลุ่มกันได้สี่คนและผนึกพลังความคิด “ไม่เอา” ผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อใดรายชื่อหนึ่ง ผู้นั้นก็จะไม่มีทางรอดผ่านไปถึงมือวุฒิสภาได้เลย ข้อสังเกตนี้มีการพูดกันบ้างในระยะหลัง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่ไม่ใช่ง่ายที่กรรมการสรรหาสี่คนจะทำได้อย่างนี้ เว้นแต่ขาดความเป็นอิสระ ในส่วนนี้ผมขอคาดคะเนเอาว่า การที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เช่นนี้ อาจตั้งใจก็ได้ คือต้องการให้คนในฝ่ายการเมือง อย่างน้อยที่สุดต้องเห็นด้วยสักหนึ่งคนจึงจะผ่านชื่อบุคคลไปเสนอต่อวุฒิสภาได้ จึงได้กำหนดจำนวนไว้อย่างรัดกุม
จากขั้นกรรมการสรรหาก็มาถึงขั้นการเลือกของวุฒิสภา ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อได้รายชื่อแล้ว วุฒิสภาก็จะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาตรวจสอบ
ถ้าบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อในด้านต่างๆ เป็นเวลาหนึ่งก่อนที่จะเสนอไปให้ที่ประชุม วุฒิสภา “มีมติเลือกบุคคล” โดยวิธีลงคะแนนลับ ซึ่งในที่สุดผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในห้าคนตามลำดับสำหรับผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ และสามคนตามลำดับสำหรับผู้ทรงคุณวุฒิสาขา รัฐศาสตร์ ก็จะได้รับเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ฉะนั้นถ้าพิจารณากันแล้ว จะเห็นได้ว่าการได้มาซึ่งตัวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจากแหล่งต่างๆ 3 แห่งที่กล่าวถึงนี้ น่าจะถือได้ว่ามีการเลือกสรรกันดีพอสมควร ที่คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญคิดได้อย่างนี้ก็นับว่าน่าจะประกันให้การเลือกสรรทำได้อย่างอิสระมาก
ที่สำคัญนั้นน่าจะอยู่ที่กระบวนการสรรหา และการเลือกของวุฒิสภาซึ่งต้องทำกันอย่างโปร่งใส และถูกตามดูอย่างใกล้ชิดโดยสื่อมวลชน โดยองค์กรเอกชน และโดยประชาชนได้
นอกจากที่มาแล้วเราก็ต้องมาดูความเป็นอิสระและความเป็นกลางของศาลรัฐธรรมนูญจากการทำหน้าที่ของประธานและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งดูได้จากงานที่ผ่านมาในรอบ 5 ปี ซึ่งในขั้นตอนการทำงานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนี้ รัฐธรรมนูญได้กำหนดมาตราการที่ดีไว้ล่วงหน้าอย่างหนึ่งเพื่อสร้างบรรยากาศให้มีการทำงานอย่างอิสระและเป็นกลางได้มาก โดยให้ “ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว” ทั้งนี้เพื่อจะได้ทำอย่างสบายใจ ไม่ต้องคิดถึงการ “ถูกเลือกใหม่” ในอนาคต แต่ก็ได้ให้มีวาระในการดำรงตำแหน่งนานมากถึงเก้าปี
ส่วนการที่จะทำให้การพิจารณาเรื่องและการตัดสินเป็นไปโดยโปร่งใส มาตรา 267 ได้บัญญัติว่า
“มาตรา 267 องค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการนั่งพิจารณาและในการทำ คำวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่าเก้าคน คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ถือเสียงข้างมาก เว้นแต่จะมีบัญญัติเป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนจะต้องทำคำวินิจฉัยในส่วนของตนพร้อมแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนการลงมติ
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคน ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างน้อยต้องประกอบด้วยความเป็นมาหรือคำกล่าวหา สรุปข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการพิจารณา เหตุผลในการวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง”
ฉะนั้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องทำคำวินิจฉัยในส่วนของตน และคำวินิจฉัยนี้ก็จะ ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาที่ผู้คนจะหาอ่านได้ เหตุผลอะไรในการวินิจฉัยก็จะเป็นที่รู้และอ้างได้ ซึ่งทำให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องทำงานด้วยความระมัดระวัง
เมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ถือเสียงข้างมาก และเมื่อองค์ประกอบของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นมาจาก 3 แหล่ง คือจากศาลฎีกา 5 ท่าน จากศาลปกครอง 2 ท่าน และจากการเลือกของวุฒิสภา 8 ท่านโดยแบ่งเป็นผู้รู้ในสองสาขาวิชาทั้งนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์เช่นนี้การจะนำให้ได้เสียงข้างมากจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
ทั้งยากที่ใครจะกำหนดหรือคุมการตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ตลอดกาล
อย่างไรก็ตามความคาดหวังของสังคมนั้นเป็นเรื่องที่คิดและเชื่อ คาดหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะต้องอิสระและเป็นกลาง หากสิ่งที่ได้รู้และได้เห็นทำให้เกิดความเชื่อว่าไม่เป็นดังที่คาดหวังไว้ แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ศาลรัฐธรรมนูญก็อาจได้รับการยอมรับจากมหาชนน้อยลงได้
ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลเรื่องการเมืองสูงสุดดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ฉะนั้นการเป็นที่ยอมรับว่าเป็นสถาบันที่เชื่อถือได้และพึ่งพาได้ในเรื่องความยุติธรรมจึงสำคัญยิ่ง ซึ่งในเรื่องนี้ที่มาของตุลาการคุณสมบัติของท่านก็มีความสำคัญ แต่ผลงานที่ออกมาในคำวินิจฉัยก็สำคัญไม่น้อยกว่าเลย
อ้างอิง
- ↑ ดู ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ. (กรุงเทพ : บริษัทพี.เพรส จำกัด, 2545), หน้า 6.
- ↑ เพิ่งอ้าง
- ↑ ดู รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2492
- ↑ รายละเอียดลำดับขั้นตอนการได้ชื่อมีเพิ่มเติมในมาตรา 218 นี้
- ↑ หยุด แสงอุทัย, หลักรัฐธรรมนูญทั่วไป. (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์วิญญูชนจำกัด, 2538), หน้า 40-41.
- ↑ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ อ้างแล้ว
- ↑ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ อ้างแล้ว
- ↑ ดู รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 278