คดีปกครอง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:41, 10 เมษายน 2554 โดย Teeraphan (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง นางสาวธีรพรรณ ใจมั่น



คดีปกครอง

คือ คดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานทางการปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันเอง และเป็นคดีในเรื่องดังต่อไปนี้

1.คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางการปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น กรณีผู้ฟ้องคดีเห็นว่าพนักงานท้องถิ่นปฏิเสธไม่ออกใบอนุญาตก่อสร้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือกรณีผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้บังคับบัญชามีคำสั่งลงโทษทางวินัยโดยไม่เป็นธรรม เป็นต้น

2. คดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร เช่น กรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นละเลยต่อหน้าที่ไม่ตรวจตรา และออกคำสั่งให้เจ้าของอาคารรื้อถอนที่ก่อสร้าง หรือต่อเติมไม่ได้รับอนุญาต กรณีเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการออกโฉนดที่ดินล่าช้าเกินสมควร เป็นต้น

3.คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิด หรือความรับผิดชอบอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจล่าช้าเกินสมควร เช่น การที่เจ้าพนักงานที่ดินออกคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับเสียหาย และผู้ฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายดังกล่าว หรือการฟ้องเรียกค่าทดแทนการเวนคืน หรือการรอนสิทธิจากการวางท่อประปา หรือเสาไฟฟ้าแรงสูงเป็นต้น

4.คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง เช่น ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างเอกชน ก่อสร้างถนน อาคารเรียน หรือข้อพิพาทเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าสัมปทานตามสัญญาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลน หรือสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองทำกับข้าราชการที่ได้รับอนุญาตให้ลาศึกษาต่อเป็นต้น

5.คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าของรัฐต้องฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลกระทำการหรือละเว้นการกระทำ เช่น กรณีเจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางน้ำฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อมีคำสั่งให้เอกชนรื้อถอนสะพาน หรือบ้านที่ปลูกรุกล้ำแม่น้ำ กรณีเจ้าพนักงานท้องถิ่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อมีคำสั่งให้จับกุม และกักขังบุคคล ซึ่งไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ฯ เป็นต้น

6.คดีที่กฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง เช่น กรณีที่ฟ้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาด หรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง เป็นต้น


การฟ้องคดีปกครอง

การฟ้องคดีปกครอง สามารถดำเนินการได้โดยง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก หรือ อาจไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายถือหลักว่าให้กระทำได้โดยง่าย ไม่มีข้อยุ่งยาก ทั้งยังไม่ต้องบังคับให้ต้องมีทนายความในการฟ้องคดี แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากการฟ้องคดีปกครองสามารถดำเนินการได้โดยง่าย จึงได้มีการกำหนดเงื่อนไขบางประการเอาไว้ในการฟ้องคดีเพื่อไม่ให้เกิดการกลั่นแกล้งและฟ้องคดีอย่างพร่ำเพรื่อ หรือฟ้องคดีโดยไม่มีเหตุ อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความยุ่งยากแก่ผู้ถูกฟ้องและเป็นภาระต่อศาลปกครอง จึงได้กำหนดเงื่อนไขไว้ 4 ประการ ได้แก่

1. ผู้ฟ้องคดี

ต้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของทางราชการ หรือเป็นผู้ที่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือเป็นผู้ที่มีข้อโต้แย้งอื่นใดที่กฎหมายกำหนดให้ฟ้องต่อศาลปกครอง

2. ระยะเวลาการฟ้องคดี

ต้องฟ้องภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งโดยหลัก คือ ภายใน 90 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี หรือภายใน 1 ปี ในกรณีที่ฟ้องคดีเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของทางราชการ หรือในกรณีที่ฟ้องคดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง

3. คำฟ้อง

ไม่มีแบบฟอร์มบังคับโดยเฉพาะ เพียงแต่มีเงื่อนไขว่าต้องใช้ถ้อยคำสุภาพและต้องมีเนื้อหาสาระให้เข้าใจได้ว่าเป็นคำฟ้อง ซึ่งประกอบด้วยชื่อและที่อยู่ของผู้ฟ้องคดีและของหน่วยงานที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี การกระทำที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี พร้อมข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ตามสมควร คำขอว่าประสงค์จะให้ศาลสั่งอย่างไรเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนเสียหายของตน และต้องลงลายมือชื่อของผู้ฟ้องคดี

4. การขอให้มีการแก้ไขเยียวยาในเบื้องต้นก่อนนำเรื่องมาฟ้องศาลปกครอง หากในเรื่องที่จะฟ้องคดีนั้นมีกฎหมายกำหนดให้ต้องดำเนินการอย่างใดเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายนั้นเสียก่อน ผู้ฟ้องคดีก็ต้องดำเนินการเช่นนั้นให้เสร็จสิ้นแล้วจึงจะมีสิทธิมาฟ้องคดีต่อศาลได้


การยื่นคำฟ้อง

ผู้ฟ้องคดีสามารถยื่นคำฟ้องได้ 2 วิธี ได้แก่

1. ยื่นคำฟ้องด้วยตนเองที่ศาลปกครองที่ตนมีภูมิลำเนาหรือที่มูลคดีเกิด

2. ส่งคำฟ้องทางไปรษณีย์ลงทะเบียน


ที่มา

1. พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

2. พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

3. พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539

4. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542