เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ มนูธรรม
ผู้เรียบเรียง ธิกานต์ ศรีนารา
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ มนูธรรม
ในประกาศของคณะราษฎรเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งได้วิจารณ์การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น มีข้อความตอนหนึ่งว่า คณะราษฎรจะดำเนินการปกครองโดยวางโครงการที่อาศัยหลักวิชา ไม่ทำไปเหมือนคนตาบอดเช่นรัฐบาลเก่า ผู้ร่างคำประกาศฉบับนั้น คือ ปรีดี พนมยงค์ หรือที่รู้จักกันดีโดยบรรดาศักดิ์ขณะนั้นว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ผู้ซึ่งเป็น “มันสมอง” ของคณะราษฎร ปรีดีได้รับการศึกษาทางกฎหมายและเศรษฐศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส เขาได้รับอิทธิพลทางความคิดด้านสังคมนิยมจากการศึกษาประวัติลัทธิเศรษฐกิจ และมีความเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 นั้น จะเป็นเพียงการรัฐประหาร ถ้าปราศจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ[1] ดังนั้น ในสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม พ.ศ. 2476 ปรีดี พนมยงค์ จึงได้เสนอเอกสาร “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ที่เขาร่างขึ้นต่อสมาชิกคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่รู้จักกันในนาม “คณะราษฎร” และรัฐบาลตามหลักการข้อที่ 3 ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักทั้ง 6 ประการที่คณะราษฎรได้ประกาศไว้ว่า “จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก” [2]
แต่ปัญหาก็คือว่า ในเวลานั้น พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนแรกของระบอบใหม่ มีแนวความคิดทางเศรษฐกิจที่สวนทางกับ ปรีดี พนมยงค์ มาตั้งแต่ก่อนที่ ปรีดี พนมยงค์ จะเสนอ “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” เสียอีก ดังจะเห็นได้ว่า ในการแถลงนโยบายของรัฐบาลเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2475 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา กล่าวว่า
- มีเถียงกันอยู่เป็น 2 ทาง ทางหนึ่งรัฐบาลเข้าจัดทำเองเสียทั้งหมด ซึ่งเป็นการตึงเกินไป...อีกทางหนึ่งก็คือรัฐบาลไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้ราษฎรทำกันเอง...ดังนี้ก็เป็นการหย่อนเกินไป...ฉะนั้นจุดที่หมายของรัฐบาลนี้ จึงคิดมีส่วนในกิจการที่เห็นเป็นสำคัญ...(และ) ในเรื่องกรรมสิทธิแห่งทรัพย์สินนั้น...รัฐบาลนี้ก็ยังจะพูดและถือต่อไปว่า ทรัพย์สินของราษฎรทั้งหลายจะได้รับความคุ้มครอง[3]
ความคิดเกี่ยวกับนโยบายทางเศรษฐกิจดังที่เกือบจะไม่แตกต่างจากนโยบายเศรษฐกิจในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดังกล่าว และการที่รัฐมนตรีที่รับผิดชอบในด้านนี้เป็นผู้ที่ไม่มีความชำนาญในด้านเศรษฐกิจเลย เช่น พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เจ้าพระยาวงษานุประพันธ์ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรพาณิชยการ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปัญหาทางเศรษฐกิจไม่ได้รับการพิจารณาอย่างกระตือรือร้นตามหลัก 6 ประการ หรือ การดำเนินการตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้ไม่เป็นจริงโดยทันที
อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่เกิดขึ้นทั่วโลกในเวลานั้น ได้ส่งผลให้เกิดแนวความคิดที่จะต้องมีการวางแผนเศรษฐกิจ แทนที่จะปล่อยให้เป็นไปตามระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมซึ่งเป็นเป็นกระแสหลักของโลก ขณะที่การจัดการกับเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพในประเทศค่ายสังคมนิยม อย่าง สหภาพโซเวียต และประเทศค่ายอำนาจฟาสซิสต์ อย่าง เยอรมนีและญี่ปุ่น รวมทั้ง นโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมซึ่งมีการตั้งกำแพงภาษี ขจัดอิทธิพลของต่างชาติในทางเศรษฐกิจ ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายรัฐบาลสยามในเวลานั้นอย่างยิ่ง สภาพการณ์ดังกล่าว ได้ทำให้แนวคิดทางเศรษฐกิจในหลัก 6 ประการยังคงเป็นประเด็นสำคัญของกลุ่มพลเรือนหนุ่มที่อยู่ทั้งในรัฐบาลและในสภาผู้แทนราษฎร ดังจะเห็นได้ว่า ในเดือนสิงหาคม 2475 ได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคนอภิปรายสอบถามเร่งรัดให้รัฐบาลจัดทำโครงการทางเศรษฐกิจ และในอีก 6 เดือนถัดมา นายจรูญ สืบแสง และนายวิลาศ โอสถานนท์ สมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้พยายามกระตุ้นให้รัฐบาลเร่งวางแผนการทางเศรษฐกิจของตนเอง พวกเขากล่าวว่า “ได้พยายามเร่งรัดมาครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ 6 เดือนมาแล้ว...อยากทราบว่าเมื่อไหร่จะทำได้...” นอกจากนี้ พวกเขายังท้าทายว่า ถ้ารัฐบาลดำเนินการในเรื่องนี้เสร็จไม่ทันในปีหน้า สภาผู้แทนราษฎรจะขอให้มีการ vote of confidence แบบเรียงตัวบุคคล[4]
ไม่เพียงแต่ในแวดวงรัฐบาลเท่านั้น ความคิดที่ว่า รัฐบาลควรมีการวางแผนการทางเศรษฐกิจยังปรากฏขึ้นในหมู่ประชาชนด้วย ในเดือนกรกฎาคม 2475 ก่อนที่รัฐบาลจะมอบหมายให้ ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาตินั้น นายมังกร สามเสน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเวลานั้น ได้ร่างแผนเศรษฐกิจขึ้นมา 1 ฉบับ พร้อมทั้งเสนอให้มีการลดค่าเงินบาทลงมากกว่าที่เคยลดได้ก่อนการยึดอำนาจ การเคลื่อนไหวทั้งในและนอกสภาเหล่านี้ ส่งผลให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ยอมมอบหมายให้ ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ดำเนินการร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้น โดยรัฐบาลได้รายงานความคืบหน้าต่อรัชกาลที่ 7 เป็นระยะๆ[5]
สมุดปกเหลือง หรือ เค้าโครงการเศรษฐกิจ ของ ปรีดี พนมยงค์ มีเนื้อหา 3 ส่วน ส่วนแรกคือ เค้าโครงการเศรษฐกิจ, ส่วนที่สองคือ เค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร (Assurance Sociale) และส่วนที่สามคือ เค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจ พุทธศักราช... [6]
เค้าโครงการเศรษฐกิจ แบ่งเนื้อหาออกเป็น 11 หมวด
หมวดที่ 1 ย้ำถึงประกาศของคณะราษฎรข้อ 3 ที่ว่า “จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก” ซึ่ง ปรีดี พนมยงค์ เห็นว่าเป็นเรื่องที่ “รัฐบาลทำได้ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย”
หมวดที่ 2 ว่าด้วย “ความไม่เที่ยงแท้แห่งการเศรษฐกิจในปัจจุบัน” ซึ่งกล่าวถึง “ความแร้นแค้นของราษฎร” และ “คนมั่งมี คนชั้นกลาง คนยากจน ก็อาจแร้นแค้น”
หมวดที่ 3 ว่าด้วย “การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” ซึ่งกล่าวถึงหลายประเด็น ได้แก่ “ราษฎรทุกคนควรได้รับการประกันจากรัฐบาล” อันเป็นเรื่องที่ “เอกชนทำไม่ได้” โดยรัฐบาลต้องออก “พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร”, “ราษฎรไทยชอบเป็นข้าราชการ”, “เงินเป็นสิ่งที่ใช้แลกเปลี่ยน”, “รัฐบาลไม่ต้องริบทรัพย์ของผู้มั่งมี”, “การหักลบกลบหนี้”, “รัฐบาลเป็นผู้ประกอบเศรษฐกิจเอง”, “ราษฎรไม่มีที่ดินและเงินทุนพอ” และ “ที่ดิน แรงงาน เงินทุนองประเทศ”
หมวดที่ 4 ว่าด้วย “แรงงานที่สูญเสียไปและพวกหนักโลก” หมายความว่า ประเทศไทยมีที่ดินจำนวนมาก แต่ “มิได้ใช้ให้เต็มที่” ทั้งนี้เพราะการประกอบการเศรษฐกิจตามทำนองเอกชนต่างคนต่างทำดังที่ทำกันมา ทำให้แรงงานสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์บ้าง ขาดเครื่องจักรกลที่จะช่วยแรงงานให้ได้ผลดียิ่งขึ้นบ้าง และมี “บุคคลที่เกิดมาหนักโลก” ซึ่งหมายถึง บุคคลที่อาศัยคนอื่นกิน ไม่เป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจหรือกิจการใดให้เหมาะสมกับแรงงานของตน อาศัยอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และสถานที่ของผู้อื่น หรือบางทีก็ทำงานเล็กๆ น้อยๆ ในกรุงเทพฯ หรือในหัวเมือง เมื่อสังเกตตามบ้านของชนชั้นกลาง หรือตามบ้านของคนมั่งมีแล้วก็จะเห็นว่า มีผู้ที่อาศัยกินอยู่เป็นจำนวนมาก บุคคลจำพวกนี้ นอกจากจะ “หนักโลก” แล้ว ยังเป็นเหตุให้ราคาสิ่งของเพิ่มขึ้นได้ ถ้าปล่อยให้คงอยู่ตราบปัจจุบันนี้ก็จะกลายเป็นคนขี้เกียจไป การปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทำ และปล่อยให้มีคนเกียจคร้านคอยอาศัยกินดังนั้น ผลเศรษฐกิจของประเทศก็จะลดน้อยลง ไม่มีวิธีใดที่ดีกว่าที่รัฐบาลจะประกอบการเศรษฐกิจเสียเอง และหาทางบังคับและให้ราษฎรประเภทนี้ทำงาน จึงจะใช้แรงงานของ “ผู้ที่หนักโลก” นี้ ให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองได้[7]
หมวดที่ 5 ว่าด้วย “วิธีซึ่งรัฐบาลจะหาที่ดิน แรงงาน เงินทุน” อันได้แก่ การจัดหาที่ดิน โดยการซื้อ “ที่ดินที่จะใช้ประกอบการทางเศรษฐกิจ เช่น ที่นาหรือไร่ กลับคืนสู่รัฐบาล ส่วนที่บ้านอยู่อาศัยนั้นไม่จำเป็นที่รัฐบาลต้องซื้อคืน เว้นไว้แต่เจ้าของประสงค์จะขายแลกกับใบกู้”, การจัดหาการงาน โดยการรับราษฎรเป็นข้าราชการ และการจัดหาเงินทุน โดยการเก็บภาษีทางอ้อม, ออกฉลากกินแบ่ง, กู้เงิน และโดยการหาเครดิต ทั้งนี้ หลักการสำคัญที่รัฐบาลจะต้องควรคำนึงถึงก็คือ “รัฐบาลจะต้องดำเนินวิธีละม่อม คือ ต้องอาศัยการร่วมมือระหว่างคนมั่งมีและคนจน รัฐบาลจะต้องไม่ประหัตประหารคนมั่งมี” [8]
หมวดที่ 6 ว่าด้วย “การจัดทำให้รายได้และรายจ่ายของรัฐบาลเข้าสู่ดุลยภาพ” และ “การจัดเศรษฐกิจของรัฐบาลต้องระวังมิให้มนุษย์กลายเป็นสัตว์” ตามคำของ ปรีดี พนมยงค์
- ความจริงเท่าที่ได้กล่าวแล้ว ข้าพเจ้าได้ถือว่าราษฎรเป็นข้าราชการ มีฐานะเหมือนข้าราชการทุกวันนี้ที่ทำงานแล้วได้รับเงินเดือน และเมื่อเจ็บป่วยชราได้เบี้ยบำนาญ ข้าพเจ้าได้ระวังมิให้มนุษย์มีสภาพเป็นสัตว์ ข้าพเจ้าประสงค์ให้มนุษย์เป็นมนุษย์ยิ่งขึ้น ปราศจากการประทุษร้ายต่อกันอันเนื่องมาจากเหตุเศรษฐกิจ ข้าพเจ้ายังเคารพต่อครอบครัวของผู้นั้น ผู้หญิงไม่ใช่เป็นของกลาง ความเกี่ยวพันในระหว่างครอบครัว ผู้บุพการี เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย บิดา มารดา กับผู้สืบสันดาน เช่น บุตรหลาน ยังคงมีตามกฎหมายลักษณะผัวเมียไม่ยกเลิก ราษฎรคงมีบ้านอยู่ตามสภาพที่จะจัดให้ดีขึ้น ราษฎรยังคงมีมานะที่จะช่วยส่งเสริมความเจริญเหมือนดังข้าราชการในทุกวันนี้ ถ้าหากราษฎรหมดมานะที่จะช่วยส่งเสริมความเจริญแล้ว ข้าราชการในทุกวันนี้ก็จะมิเป็นบุคคลจำพวกที่หมดมานะที่จะช่วยส่งเสริมความเจริญหรือ [9]
หมวดที่ 7 ว่าด้วย “การแบ่งงานออกเป็นสหกรณ์” กล่าวคือ แม้ว่าโดยตามหลักการแล้วรัฐบาลจะเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจเอง แต่ในประเทศที่กว้างขวาง มีพลเมืองมากกว่า 11 ล้านคน ดังเช่นประเทศไทย หากการประกอบการเศรษฐกิจขึ้นตรงต่อรัฐบาลทั้งหมด การควบคุมตรวจตราก็อาจจะไม่ทั่วถึง ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องแบ่งการประกอบการเศรษฐกิจเป็นสหกรณ์ต่างๆ[10]
หมวดที่ 8 ว่าด้วย “รัฐบาลจะจัดให้มีเศรษฐกิจชนิดใดบ้างในประเทศ” โดยรัฐบาลจะต้องถือหลักว่า จะต้องจัดการกสิกรรม อุตสาหกรรมทุกอย่างให้มีขึ้น ซึ่งในที่สุดประเทศก็จะไม่จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อป้องกันภัยอันตรายอันจะเกิดจากการปิดประตูการค้าได้ เมื่อเรามีสิ่งที่ต้องการภายในประเทศครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว แม้จะถูกปิดประตูการค้าก็ไม่เดือดร้อน[11]
หมวดที่ 9 ว่าด้วย “การป้องกันความยุ่งยากในปัญหาเรื่องนายจ้างกับลูกจ้าง” ที่ ปรีดี พนมยงค์ เห็นว่า ถ้าประเทศสยามจะดำเนินตามลัทธิที่ปล่อยให้บริษัทเอกชนเป็นเจ้าของโรงงานแล้ว ก็จะนำความระส่ำระสายและความหายนะมาสู่ประเทศ เช่นเดียวกับประเทศยุโรป ดังจะเห็นได้ว่า ในประเทศไทย แม้โรงงานจะมีเพียงเล็กน้อย แต่ปัญหาก็เริ่มเกิดขึ้น เช่น การประท้วงของกรรมกรรถราง เป็นต้น ยิ่งถ้าหากบ้านเมืองเจริญขึ้น โรงงานก็มีมากขึ้น ความระส่ำระสายก็จะมากขึ้นด้วย ดังนั้น ถ้ารัฐได้เข้าเป็นเจ้าของการประกอบการทางเศรษฐกิจทั้งหลายเสียเอง เมื่อราษฎรทั้งหลายทำงานตามกำลังและตามความสามารถเหมือนกับข้าราชการประเภทอื่นแล้ว ก็จะได้รับผลเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นความเสมอภาคตามกำลังและความสามารถ “รัฐบาลเป็นผู้แทนราษฎรก็เท่ากับราษฎรได้เป็นเจ้าของการเศรษฐกิจทั้งปวง”[12]
หมวดที่ 10 ว่าด้วย “แผนเศรษฐกิจแห่งชาติ” เพื่อให้การประกอบเศรษฐกิจสามารดำเนินไปโดยเรียบร้อยและได้ผลดี โดยจะต้องคำนวณและสืบสวนว่า “ปัจจัยแห่งการดำรงชีวิตตามความต้องการของราษฎรนั้นมีอะไรบ้าง”, “ต้องอาศัยที่ดิน แรงงาน เงินทุน เป็นจำนวนเท่าใด”, และต้องรู้ว่า ในปัจจุบัน รัฐบาลมีที่ดิน แรงงาน และเงินทุนเท่าใดและควรจะต้องเพิ่มขึ้นเท่าใด [13]
หมวดที่ 11 ว่าด้วย “ผลสำเร็จอันเกี่ยวแก่หลัก 6 ประการ” อันได้แก่ เอกราช, การรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน, การเศรษฐกิจ, เสมอภาค, เสรีภาพ และ การศึกษา กล่าวคือ เมื่อรัฐบาลจัดการประกอบการเศรษฐกิจเสียเอง โดยแบ่งการเศรษฐกิจออกเป็นสหกรณ์นั้น ย่อมทำให้วัตถุประสงค์อื่นๆ ของคณะราษฎรได้สำเร็จเป็นอย่างดียิ่งกว่าการปล่อยการเศรษฐกิจให้เอกชนต่างคนต่างทำ[14]
เกี่ยวกับแนวความคิดเบื้องหลัง “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ของ ปรีดี พนมยงค์ นั้น ชัยอนันต์ สมุทวณิช เสนอว่า ปรีดีได้รับอิทธิพลมาจากหลักโซลิดาริสต์ซึ่งถือว่า มนุษย์ในสังคมเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่อกัน ความคิดหลักของปรีดีคือ มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาย่อมเป็นลูกหนี้เจ้าหนี้ต่อกัน ความยากแค้นของมนุษย์เกิดจากสภาพสังคมและเศรษฐกิจ สังคมและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมทำให้ฝูงชนยากจนลงได้ ฉะนั้น มนุษย์ทุกคนต่างก็มีหนี้ตามธรรมจริยาต่อกัน จำเป็นต้องร่วมประกันภัยต่อกันและกัน และร่วมกันในการประกอบการทางเศรษฐกิจ ความไม่เที่ยงแท้แน่นอนในระบบเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ทุกชนชั้นต้องตกอยู่ในสภาพที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ถ้ารัฐไม่ยื่นมือเข้าไปช่วยจัดระเบียบเศรษฐกิจ รัฐบาลภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่มีแผนเศรษฐกิจที่แน่นอน รัฐบาลของคณะราษฎรจึงจะแก้ไขข้อบกพร่องนี้เสีย โดยกำหนดโครงการที่อาศัยหลักวิชาของการวางแผนแบบสังคมนิยมซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์โดยแท้ [15]
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เสนอว่า “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ของ ปรีดี พนมยงค์ นั้น เสนอในสิ่งใหม่สุดของสังคมสยาม นั่นคือการที่รัฐบาลจะใช้พันธบัตรซื้อที่ดินสำหรับการเพาะปลูกทั้งหมด ยกเว้นที่อยู่อาศัย ดังนั้น ชาวไร่ชาวนาก็จะกลายเป็นลูกจ้างของรัฐบาล ได้รับเงินเดือน รัฐบาลคุมกิจการค้าใหญ่ที่สุดของประเทศ คือ ข้าว ทั้งในด้านการผลิตและในด้านการค้าขาย เป็นการตัดคนกลาง ในขณะเดียวกัน ระบบกำไรขาดทุนก็จะถูกขจัดออกไป ประชาชนจะซื้อข้าวของเครื่องใช้จากร้านค้าของรัฐบาล หากพิจารณาตามตัวอักษร แผนการเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่โตมาก เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ในการผลิตและปัจจัยการผลิตของคนทั้งชาติ และที่สำคัญที่สุดก็คือ มีผลกระทบโดยตรงและรุนแรงต่อเจ้าและขุนนางในระบอบเก่าซึ่งส่วนใหญ่มีฐานทางเศรษฐกิจจากการเป็นเจ้าของที่ดินจำนวนมาก อันจะนำมาซึ่งการต่อต้านอย่างรุนแรง[16]
ขณะที่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เสนอว่า แม้ปรีดี พนมยงค์จะยืนกรานว่า “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ของเขา “ดำเนินวิธีละม่อม”, “อาศัยการร่วมมือระหว่างคนมั่งมีและคนจน” และ “ไม่ประหัตประหารคนมั่งมี”, “ถ้าหากพวกคอมมิวนิสต์มาอ่าน จะติเตียนมากว่ายังรองรับคนมั่งมีให้มีอยู่” ก็ตาม แต่ข้อเสนอใน “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ของ ปรีดี พนมยงค์ ไม่เพียงแต่เป็นหลักการที่ปฏิบัติไม่ได้เท่านั้น หากยังไม่สมควรปฏิบัติด้วย ทั้งนี้เนื่องจากมีลักษณะที่อาจเรียกตามภาษาสมัยใหม่ว่า “ซ้ายจัด” คือ “ซ้าย” ยิ่งกว่าพวกบอลเชวิคในรัสเซียก่อน สมัยสตาลินเสียอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายต่อชาวนา เนื่องจาก หัวใจสำคัญที่สุดของ “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” คือการทำให้ชาวนารวมหมู่โดยการบังคับ เห็นได้ชัดจากการที่ ปรีดี พนมยงค์ เสนอให้รัฐบาลใช้อำนาจบังคับ “ซื้อ” ที่ดินทำกินทั้งหมดของชาวนามาเป็นของรัฐ ชาวนาสามารถมีกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลได้เฉพาะที่ตั้งบ้านอยู่อาศัยเท่านั้น และเมื่อที่ดินทำกินกลายเป็นของรัฐแล้ว พวกเขาก็จะกลายเป็นคนงานของรัฐไปด้วย [17]
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เสนอว่า ก่อนหน้าที่จะมีการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ปรีดีได้แจกจ่าย “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ของเขาให้อ่านกันในหมู่ของคณะผู้ก่อการ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคน พร้อมๆ กับนำขึ้นถวายต่อรัชกาลที่ 7 หลังจานั้นไม่นานก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงถึงกับมีการประนามว่าเป็นโครงการ “คอมมิวนิสต์” โดยเฉพาะในประเด็นที่ให้รวมปัจจัยการผลิตส่วนใหญ่ คือ ที่ดิน แรงงาน และทุน ให้รัฐดำเนินงานแทนเอกชน เกิดความแตกแยกขึ้นอย่างชัดเจนทั้งในคณะรัฐมนตรีและผู้นำของคณะราษฎรเอง[18] ในวันที่ 9 มีนาคม 2476 ปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอร่าง “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ต่อคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ตกลงให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 14 คน เพื่อพิจารณาร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจฉบับนี้ ในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายจรูญ สืบแสง ได้ตั้งกระทู้ถามถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ในบางประเด็นเขากล่าวว่า “นโยบายของหลวงประดิษฐ์ มีบางคนเข้าใจว่า เป็นนโยบายทาง Communist หรือ Socialist”
คณะอนุกรรมาธิการพิจารณา “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ของปรีดี พนมยงค์ ได้จัดประชุมขึ้นอีกในวันที่ 12 มีนาคม 2476 โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธาน ที่ประชุมมีความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเสนอให้ดำเนินการทางเศรษฐกิจอย่างรัฐบาลเก่า คือ ขยายสหกรณ์ประเภทเครดิต และขจัดคนกลาง เลือกทำในบางเรื่องตามโอกาสอำนวย และที่สำคัญคือ ไม่ต้องมีการวางแผนเศรษฐกิจ ส่วนฝ่ายของปรีดี พนมยงค์ เสนอให้รับหลักการที่จะดำเนินตาม “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” แต่ตั้งสภาเศรษฐกิจสำรวจและวางแผนจัดดำเนินการ “เมื่อมีแรงทุนเท่าใดทำเพียงเท่านั้น” การประชุมในวันนั้น ฝ่ายปรีดี พนมยงค์ พยายามรุกให้ที่ประชุมตกลงว่า จะเอาอย่างไรให้แน่นอน แต่ฝ่ายพระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็เบี่ยงบ่ายด้วยความคิดที่ว่า โครงการนั้นจะดำเนินการไม่ได้ และถ้าหาก ปรีดี พนมยงค์ ประกาศโครงการเศรษฐกิจในนามของตนเอง ก็อย่าทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดว่าเป็นของรัฐบาล
ในที่ประชุมวันเดียวกัน ได้มีผู้ลงมติเห็นชอบด้วยกับ “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ของปรีดี พนมยงค์ 8 เสียง ได้แก่ ปรีดี พนมยงค์, หลวงเดชสหกรณ์, นายแนบ พหลโยธิน, ม.จ.สกลวรรณกร วรวรรณ, หลวงคหกรรมบดี, หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์, นายทวี บุณยเกตุ และนายวิลาศ โอสถานนท์ และผู้ที่คัดค้านมี 4 เสียง ได้แก่ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พล.ร.ท.พระยาราชวังสัน, พระยาศรีวิสารวาจา และ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช ส่วนเสียงที่หายไปมี 2 เสียง คือ นายประยูร ภมรมนตรี และหลวงอรรถสารประสิทธิ์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการ นอกจากนี้ กลุ่มผู้คัดค้าน “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ของปรีดี พนมยงค์ ยังได้เสนอร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่เตรียมไว้อย่างคร่าวๆ ต่อที่ประชุมด้วย แต่ก็ไม่มีการอภิปรายถึงเรื่องนี้ในที่ประชุมอีกเลย แม้ว่าจะได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรอีกถึง 3 ครั้งก็ตาม
ควรกล่าวด้วยว่า ยังมีบุคคลที่สำคัญอีกบุคคลหนึ่งที่มีส่วนอย่างมากต่อผลสุดท้ายของความขัดแย้งเกี่ยวกับนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล นั่นคือ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช ซึ่งเป็นผู้นำอีกคนหนึ่งของคณะราษฎร กล่าวคือ มีหลักฐานว่า ก่อนหน้าที่จะมีการคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจครั้งแรกในวันที่ 25 มีนาคม 2476 นั้น ปรีดี พนมยงค์ได้มีหนังสือไปถึง พ.อ.พระยาทรงสุรเดช ลงวันที่ 24 มีนาคม 2476 แสดงการยินยอมให้มีการผ่อนผันในโครงการเศรษฐกิจของตนตาม “ข้อตำหนิ” ของ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช 3 ประการ คือ
1. ไม่ประสงค์ให้มีการบังคับซื้อที่ดิน คือประสงค์ให้ซื้อโดยสมัคร หรือ โดยขึ้นภาษีทางอ้อม
2. ไม่ประสงค์บังคับให้คนเข้ามาเป็นลูกจ้างของสหกรณ์ทั้งหมด คือ ประสงค์ให้เป็นโดยสมัคร
3. ประสงค์ให้ทำเป็นส่วนๆ ตามกำลังของเราที่มีซึ่งจะทำได้
ข้อความเหล่านี้ เป็นข้อความที่ผมได้ยอมผ่อนและได้ชี้แจงไว้แล้ว ฉะนั้น เมื่อประสงค์จะใช้โครงการเศรษฐกิจที่ผมได้เสนอไว้ และแก้ข้อความ 3 ประการนี้ ผมก็ยอมรับและขอให้ได้ประกาศตามที่แก้ไขให้อยู่ในเค้านี้ เมื่อแก้แล้ว เราจะได้ให้หลักการแก่สภาเศรษฐกิจแห่งชาติถูก เพื่อสภาจะได้ยกร่างโครงการพิสดารขึ้น และตั้งหน้าทำงานไปในหลักอันเดียวกัน มิฉะนั้น จะต้องโต้เถียงหลักการกันเรื่อยไป ทำให้การงานเดินไปไม่เรียบร้อย
แต่เมื่อคณะรัฐมนตรีก็ได้จัดการประชุมเพื่อพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับนโยบายทางเศรษฐกิจขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 25 มีนาคม 2476 ก็เป็นแต่เพียงการแสดงความคิดเห็นโดยไม่มีการลงมติเท่านั้น ทั้งนี้ เนื่องจาก นายแนบ พหลโยธิน ได้เสนอให้ที่ประชุมรอการกลับมาจากต่างจังหวัดของ พระยาพหลพลพยุหเสนา เสียก่อน โดยหวังว่า จะสามารถประนีประนอมกันได้ และที่ประชุมก็มีมติเห็นชอบตามนั้น
ความขัดแย้งระหว่าง ปรีดี พนมยงค์ กับ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เกี่ยวกับนโยบายทางเศรษฐกิจดำเนินไปอย่างเข้มข้น ต่างฝ่ายต่างก็ยืนยันแนวทางของตนเองอย่างไม่ลดละ เงื่อนไขมีอยู่ว่า ถ้ารัฐบาลยอมรับนโยบายของฝ่ายใด อีกฝ่ายก็จะลาออก ปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า เข้าเฝ้าและได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “ถ้าจะประกาศเค้าโครงการณ์ของข้าพเจ้าก็ให้ลาออกจากรัฐมนตรีและข้าราชการ เพราะจะทำให้คนเข้าใจผิด อย่าให้เป็นโปลิซีของรัฐบาล จะได้ปล่อยให้มหาชนติชมกันได้ตามความพอใจ” ดังนั้น ปรีดี พนมยงค์ จึงขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี แต่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาคัดค้านโดยอ้างว่า ปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลที่สำคัญมากของรัฐบาล จะให้ลาออกไม่ได้ ปรีดี พนมยงค์จึงเสนอทางเลือกที่ 2 นั่นคือ ยังคงอยู่ร่วมรัฐบาลแต่ขอให้ความเห็นทางเศรษฐกิจของตนปรากฏในทางใดทางหนึ่ง แต่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็คัดค้านอีกโดยอ้างว่า ถ้าจะให้ทำอย่างนั้นก็ทำให้รัฐบาลขาดความน่าเชื่อถือ เพราะรัฐมนตรีร่วมคณะมีนโยบายแตกต่างกัน การประชุมครั้งนี้ ผู้ที่วางตัวเป็นกลางและทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งคือ พระยาธรรมศักดิ์มนตรี ซึ่งเสนอไม่ให้ประกาศนโยบายของฝ่ายใดเลย อันไหนดีทำได้ให้ทำอย่างนั้น และให้ส่งคนไปดูงานต่างประเทศ
วันที่ 28 มีนาคม 2476 ได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเรื่องนี้อีก ในที่ประชุม พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ถามว่า นโยบายทางเศรษฐกิจได้จัดการอย่างไรบ้าง ปรีดี พนมยงค์ ได้เล่าถึงการเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวของตน จากนั้น พระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็ได้นำเอาบันทึกพระบรมราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 7 เกี่ยวกับเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ มาเสนอต่อที่ประชุมและให้ปรีดี พนมยงค์อ่าน การกระทำดังกล่าวทำให้ความขัดแย้งต้องยุติลง พระบรมราชวินิจฉัยดังกล่าวนี้บ้างก็เชื่อว่าเป็นของรัชกาลที่ 7 บ้างก็ว่าพระยามโนปกรณ์นิติธาดากับพวกทำขึ้นแล้วให้รัชกาลที่ 7 ลงพระนาม แต่พระบรมราชวินิจฉัยดังกล่าวโต้แย้งปรีดี พนมยงค์ รุนแรงมาก เช่นบางตอนกล่าวว่า “โครงการนี้นั้นเป็นโครงการอันเดียวอย่างแน่นอนกับที่ประเทศรัสเซียใช้อยู่ ส่วนใครจะเอาอย่างใครนั้นข้าพเจ้าไม่ทราบ สตาลินจะเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ฯ หรือหลวงประดิษฐฯ จะเอาอย่างสตาลินก็ตอบไม่ได้ ตอบได้ข้อเดียวว่า โครงการทั้ง 2 นี้ เหมือนกันหมด” ซึ่งทำให้ ปรีดี พนมยงค์ ถึงกลับกล่าวว่า “เมื่อในหลวงไม่เห็นด้วยแล้วก็มีทางเดียวเท่านั้น คือ ข้าพเจ้าต้องลาออกจากรัฐมนตรี” แต่ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ขอให้ระงับการลาออกไว้ก่อน
แต่แล้วในท้ายที่สุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ลงมติรับเอานโยบายเศรษฐกิจของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนโยบายของรัฐบาล โดยมีผู้ออกเสียงสนับสนุนถึง 11 เสียง ได้แก่ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พล.ร.ท.พระยาราชวังสัน พระยาศรีวิสารวาจา พ.อ.พระยาทรงสุรเดช พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ นายประยูร ภมรมนตรี เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ พระยาจ่าแสนยบดี พระยาเทพวิทุรฯ น.ต.หลวงสินธุสงครามชัย และหลวงเดชสหกรณ์ ผู้ซึ่งเคยลงคะแนนสนับสนุนเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ส่วนผู้ที่ออกเสียงสนับสนุนเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ มีเพียง 3 เสียงเท่านั้น คือ ปรีดี พนมยงค์ พระยาประมวลวิชาพูล และนายแนบ พหลโยธิน ผู้งดออกเสียง ได้แก่ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี พระยาพหลพลพยุหเสนา พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์ พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม และนายตั้ว พลานุกรม โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ลงมติว่าจะไม่ประกาศต่อสาธารณะว่า นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นอันเดียวกันกับนโยบายเศรษฐกิจของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เพื่อหวังให้ปรีดี พนมยงค์ไม่ลาออกจากรัฐมนตรีดังที่เขาได้ตั้งเงื่อนไขไว้
ภายหลังจากวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นวันที่มีการลงมติเกี่ยวกับ “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ของ ปรีดี พนมยงค์ ได้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เพิ่มความเข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2476 กลุ่มพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้อพยพเข้าไปอยู่ในวังปารุสกวัน ซึ่งมีนายทหารของกลุ่ม พ.อ. พระยาทรงสุรเดชคุมอยู่, ในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2476 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติลับด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 38 ต่อ 11 ให้รัฐบาลสั่งยกเลิกคำสั่งห้ามข้าราชการเข้าเป็นสมาชิกสมาคมการเมืองโดยให้ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้แทน, ในตอนเช้าของวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2476 ได้เกิดความวุ่นวายที่สภาผู้แทนราษฎร โดยมีกองทหารเข้ามาตรวจค้นอาวุธสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม มีทหารนั่งถืออาวุธในห้องประชุมสภาและห้ามสมาชิกสภาออกนอกห้องประชุม ตอนเย็นของวันเดียวกัน นายประยูร ภมรมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้เข้าควบคุมการพิมพ์หนังสือราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษตลอดคืน ความขัดแย้งยิ่งเข้มข้นขึ้น เมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดาออกคำแถลงการณ์ปิดสภาผู้แทนราษฎร, ประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 โดยไม่มีชื่อของ ปรีดี พนมยงค์ รวมอยู่ด้วย คำแถลงการณ์ปิดสภาผู้แทนราษฎรของรัฐบาล มีใจความว่า
รัฐบาลขอแถลงให้ประชาชนทราบ เพื่อเป็นที่เข้าใจทั่วกันในเหตุผลอันสำคัญยิ่งที่ได้เกิดขึ้น กระทำให้ความจำเป็นที่ต้องปิดสภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่และรอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ในคณะรัฐมนตรี ณ บัดนี้เกิดแตกแยกเป็นสองพวก มีความเห็นแตกต่างและไม่สามารถคล้อยตามกันได้ ความเห็นข้างน้อยนั้นปรารถนาที่จะวางนโยบายเศรษฐกิจอันมีลักษณะคอมมิวนิสต์ ความเห็นข้างมากนั้น เห็นว่านโยบายเช่นนั้นเป็นการตรงกันข้ามแก่ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวสยาม และเป็นที่เห็นได้อย่างแน่นอนทีเดียวว่า นโยบายเช่นนั้นจักนำมาซึ่งความหายนะแก่ราษฎร และเป็นมหันตภัยแก่ความมั่นคงของประเทศ
ไม่เพียงเท่านั้น, เพื่อต่อต้าน ปรีดี พนมยงค์, ในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2476 รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์และห้ามจัดตั้งสมาคมการเมือง ซึ่งมีผลให้สมาคมคณะราษฎรต้องเปลี่ยนเป็นสโมสรคณะราษฎรและดำเนินกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง, วันที่ 7 – 8 เมษายน พ.ศ. 2476 หนังสือพิมพ์ประชาชาติลงคำสัมภาษณ์ พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา ที่กล่าวว่า ปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ และเร่งให้รัฐบาลจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว และวิจารณ์ว่ารัฐบาลจะไม่เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของกฎหมายเลือกตั้ง และในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2476 ปรีดี พนมยงค์ได้เดินทางออกจากกรุงเทพฯ ไปหลี้ภัยในประเทศฝรั่งเศสในฐานะบุคคลธรรมดา เพียงไม่กี่วัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงโปรดเกล้าพระราชทานเงินทุนส่วนพระองค์ให้รัฐบาลจัดพิมพ์พระบรมราชวินิจฉัยเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมออกมามากถึง 3,000 ฉบับ เพื่อแจกจ่ายให้ทราบโดยทั่วกัน
อันที่จริง ผลสะเทือนจากวิกฤตการณ์ “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ของ ปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้ยุติลงเพียงเท่านี้ เพราะยังมีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้นตามมาอีกมาก ในวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2476 คณะทหารบก ทหารเรือ คณะราษฎรได้ทำการยึดอำนาจโดยควบคุมสถานการณ์ในกรุงเทพฯได้ตั้งแต่เวลา 05.00 นาฬิกาและโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี, ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2476 นายทหารทั้งในและนอกประจำการของฝ่าย “กบฏบวรเดช” ได้เคลื่อนไหวเพื่อรวบรวมกำลังทหารล้มรัฐบาลคณะราษฎร, ในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2476 ปรีดี พนมยงค์เดินทางกลับสู่ประเทศไทย และได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีในวันถัดมา, “กบฏบวรเดช” เริ่มเคลื่อนกำลังทหารเข้ามาล้อมกรุงเทพฯ ในวันที่ 10 ตุลาคม 2476 แต่ก็ต้องถอยหนีจากฐานที่มั่นและพ่ายแพ้ยับเยินเมื่อถูกทหารรัฐบาลปราบปรามอย่างหนักในไม่กี่วันต่อมา, ในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปและอเมริกา จากนั้นในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงสละราชสมบัติ ขณะที่ยังทรงประทับ ณ ประเทศอังกฤษ
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เสนอว่า ผลสะเทือนที่เกิดขึ้นจากการเสนอเอกสาร “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ของ ปรีดี พนมยงค์ ไม่เพียงแต่นำไปสู่ความแตกแยกจากกันระหว่าง 3 นายทหารอาวุโสผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 (อันได้แก่ พระยาทรงสุรเดช, พระยาฤทธิอัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ) กับที่เหลือของคณะราษฎร, ระหว่างคณะราษฎรกับขุนนางอาวุโสที่รับเชิญมาร่วมรัฐบาล (พระยามโนปกรณ์นิติธาดากับพวก) และระหว่างคณะราษฎรกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมถึงการปิดสภา(เมษายน พ.ศ. 2476), รัฐประหาร (มิถุนายน พ.ศ. 2476), การกบฏโดยใช้กำลัง (ตุลาคม พ.ศ. 2476) และการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 (มีนาคม พ.ศ. 2477) เท่านั้น แต่ยังส่งผลให้บทบาทของพลเรือนในคณะราษฎรและในระบอบใหม่โดยทั่วไปลดลงและบทบาทของทหารเพิ่มขึ้น ไม่เพียงแต่นายกรัฐมนตรีเปลี่ยนจากพลเรือนเป็นทหาร สัดส่วนของทหารในหมู่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทสองก็เพิ่มขึ้น แม้แต่บรรดาพลเรือนที่เคยสนับสนุน “เค้าโครง” ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นส่วนที่ขยันขันแข็งกระตือรือร้นที่สุดในหมู่ผู้นำใหม่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ลดลงหรือถูกลดบทบาทลงไปด้วย
นอกจากนี้ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ยังเสนอด้วยว่า ความสำคัญของสภาพการณ์ดังกล่าวก็คือ เมื่อคณะราษฎรยึดอำนาจในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น มีความเป็นไปได้ที่จะวางรากฐานให้กับการเมืองแบบรัฐสภาที่มีเสถียรภาพ ที่มีการเลือกตั้ง และที่พลเรือนมีบทบาทนำ เนื่องจากถ้าไม่นับความขัดแย้งที่มีต่อ “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” แล้ว โดยแท้จริงหาได้มีความขัดแย้งในลักษณะที่สำคัญระหว่างผู้ก่อการด้วยกัน และระหว่างผู้ก่อการ, ขุนนางอาวุโส กับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่อย่างใด กล่าวอีกอย่างก็คือ มีความเป็นไปได้ที่จะสร้างแนวร่วมที่กว้างขวางที่สุดในหมู่ผู้นำไทยในขณะนั้น เพื่อวางรากฐานให้แก่ระบอบรัฐสภาประชาธิปไตย แต่วิกฤตการณ์อันเกิดจาก “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ของ ปรีดี พนมยงค์ ทำให้ความเป็นไปได้นี้ หมดไป แม้จะเป็นความจริงที่ว่า ปรีดี พนมยงค์ มีสิทธิเต็มที่ที่จะเสนอความคิดเห็นและแผนการทางเศรษฐกิจของตนได้ แต่ถ้าอภิปรายถึงเรื่องนี้ในฐานะที่เป็นวิจารณญาณทางการเมืองของ ปรีดี พนมยงค์ แล้ว ข้อสรุปก็ควรเป็นว่า “ปรีดีได้ทำความผิดพลาดทางการเมืองครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์”
เอกสารอ่านเพิ่มเติม
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติการเมืองไทย 2475 – 2500. (กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2544)
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ปฏิวัติ 2475. (กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2547)
ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ขัตติยา กรรณสูตร. เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417 - 2477. (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518)
ณัฐพล ใจจริง. “วิวาทะของหนังสือ เค้าโครงการเศรษฐกิจฯ และ พระบรมราชวินิจฉัยฯ กับการเมืองของการผลิตซ้ำ” ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 26 ฉบับที่ 7 (พฤษภาคม 2548) หน้า 76 – 100.
ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (พ.ศ. 2475 - 2517). (กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชุมนุมช่าง, 2517)
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง. (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2544)
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์). เค้าโครงการเศรษฐกิจ. (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, 2542)
อ้างอิง
- ↑ ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ขัตติยา กรรณสูตร. เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417 - 2477. (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518) หน้า 235.
- ↑ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์). เค้าโครงการเศรษฐกิจ. (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, 2542) หน้า 4.
- ↑ ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (พ.ศ. 2475 - 2517). (กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชุมนุมช่าง, 2517), หน้า 23 – 24.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 57.
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติการเมืองไทย 2475 – 2500. (กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2544) หน้า 137 – 138.
- ↑ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์). เค้าโครงการเศรษฐกิจ. หน้า 4.
- ↑ ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ขัตติยา กรรณสูตร. เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417 – 2477, หน้า 247 – 248.
- ↑ ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ขัตติยา กรรณสูตร. เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417 – 2477, หน้า 248 – 249.
- ↑ ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ขัตติยา กรรณสูตร. เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417 – 2477, หน้า 256 – 257.
- ↑ ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ขัตติยา กรรณสูตร. เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417 – 2477, หน้า 257.
- ↑ ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ขัตติยา กรรณสูตร. เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417 – 2477, หน้า 259.
- ↑ ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ขัตติยา กรรณสูตร. เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417 – 2477, หน้า 259 - 260.
- ↑ ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ขัตติยา กรรณสูตร. เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417 – 2477, หน้า 260 - 262.
- ↑ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์). เค้าโครงการเศรษฐกิจ. หน้า 1 - 44.
- ↑ ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ขัตติยา กรรณสูตร. เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417 – 2477, หน้า 235.
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติการเมืองไทย 2475 - 2500. (กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2544) หน้า 138.
- ↑ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง. (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2544) หน้า 5.
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติการเมืองไทย 2475 – 2500, หน้า 138.