สัญญา ธรรมศักดิ์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

บทความนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยโดยผู้ืทรงคุณวุฒิ


ผู้เรียบเรียง นายพงษ์ศักดิ์ ปัตถา


บทนำ

“Palais des justice” “ความยุติธรรมเป็นสิ่งที่สวรรค์ประทานให้พื้นพิภพ” คำกล่าวสำคัญของ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีในโอกาสเปิดประสาทยุติธรรม หรือ อาคารศาลฎีกาหลังใหม่ที่ใหญ่โตโอฬาร คุณูปการของท่านที่มีต่อชาติบ้านเมืองมิใช่มีเพียงการสร้างอาคารหลังใหญ่โตจากเมืองสวรรค์ดังท่านว่าเท่านั้น แต่คุณงามความดีของท่านทางด้านการเมืองการปกครอง การยุติธรรม และการเรียนการสอนนั้น มีมากมายเสียจนจะนึกสดุดีได้ทั้งหมด แต่ข้อเขียนบทนี้ต้องการอธิบายถึงบรรยากาศการเมืองทั้งก่อนและหลังการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งนับได้ว่าเป็นภาระอันหนักหนาอย่างยิ่งในการแก้ไขบ้านเมืองในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ การเดินขบวนประท้วงเรื่องปัญหาปากท้องของประชาชน ปัญหาขบวนการคอมมิวนิสต์ และความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล

สังเขปชีวประวัตินายสัญญา ธรรมศักดิ์

นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ.2450 ที่จังหวัดธนบุรี เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน 3 คนของ มหาอำมาตย์ตรี พระยาธรรมสารเวทย์วิเศษภักดี ศรีสัตยวัตตา พิริยพาหะ (ทองดี ธรรมศักดิ์) และคุณหญิงชื้น ธรรมสารเวทย์ ท่านสมรสกับ ท่านผู้หญิงพงา ธรรมศักดิ์ (เพ็ญชาติ) มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นายชาติศักดิ์ ธรรมศักดิ์ และนายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์

พ.ศ.2457 เข้าเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ สำเร็จชั้น 6 (มัธยมบริบูรณ์) จากนั้นเข้าศึกษาที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมเป็นเวลา 3 ปี และสำเร็จเป็นเนติบัณฑิต พ.ศ.2471 ต่อมาใน พ.ศ.2472 ได้รับทุนเล่าเรียน "รพีบุญนิธิ" ไปศึกษาวิชากฎหมายต่อในประเทศอังกฤษ ที่สำนักมิดเดิ้ลเทมเปิ้ล (The Middle Temple) เป็นเวลา 3 ปี และสอบไล่ได้ตามหลักสูตรเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ (Barrister-at-Law) เมื่อ พ.ศ.2475

นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เข้ารับราชการครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2468 ในขณะที่มีอายุ 18 ปี ในตำแหน่งนักเรียนล่าม กรมบัญชาการ (กองล่าม) กระทรวงยุติธรรม ได้รับเงินเดือน 30 บาท หลังจากนั้นชีวิตรับราชการก็ได้เจริญก้าวหน้าตามลำดับดังนี้ พ.ศ.2476 เป็นผู้พิพากษาฝึกหัด เงินเดือน 200 บาท พ.ศ.2477 เป็นผู้พิพากษาในกระทรวงยุติธรรม ได้รับเงินเดือน 200 บาท พ.ศ.2478 เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา รับเงินเดือน 260 บาท พ.ศ.2491 เป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เงินเดือน 500 บาท พ.ศ.2494 เป็นข้าหลวงยุติธรรมภาค 4 เงินเดือน 700 บาท พร้อมกันนั้นได้ทำหน้าที่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเชียงใหม่ด้วย พ.ศ.2496 เป็นปลัดกระทรวงยุติธรรมเงินเดือน 800 บาท พ.ศ.2501 เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา พ.ศ.2505 เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เงินเดือน 8,600 บาท และในปี พ.ศ.2506 – 2510 ได้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา พ.ศ.2510 – 2516 เป็นองคมนตรีและเป็นประธานองคมนตรี พ.ศ.2518 – 2541 ในปี พ.ศ.2511 – 2514 เป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2514 – 2516 เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพ.ศ.2516 – 2518 เป็นนายกรัฐมนตรี

นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้ถึงแก่อสัญกรรมโดยสงบเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2545 เวลา 06.43 น. ด้วยโรคชรา รวมสิริอายุได้ 94 ปี 9 เดือน 1 วัน [1]

บรรยากาศทางการเมืองรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์

ทักษ์ เฉลิมเตียรณ เป็นผู้บัญญัติศัพท์คำว่า การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์ ซึ่งเป็นรูปแบบการเมืองการปกครองที่จอมพล สฤษดิ์ ธนรัชต์ เป็นผู้สถาปนาขึ้นหลังการทำรัฐประหารยึดอำนาจจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อ 16 กันยายน พ.ศ.2500 และได้รับการสืบทอดอำนาจโดย จอมพล ถนอม กิตติขจร การเมืองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาซึ่งมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของบ้านเมืองถูกยกเลิก จอมพล ถนอม กิตติขจรใช้อำนาจการบริหารบ้านเมืองแบบเบ็ดเสร็จมากว่า 1 ทศวรรษ เกิดกระแสการเรียกร้องรัฐธรรมนูญของประชาชนให้เห็นมาเป็นระยะ แต่รัฐบาลทายาทพ่อขุนอุปถัมภ์อย่างจอมพล ถนอม กิตติขจร และรองนายกรัฐมนตรีจอมพล ประภาส จารุเสถียร ได้อ้างถึงภัยร้ายของขบวนการคอมมิวนิสต์ที่ยึดครองประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ตามทฤษฎีโดมิโนของสหรัฐอเมริกา อำนาจแบบเบ็ดเสร็จและมาตรา 17 ตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ที่ให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีอย่างไม่มีการถ่วงดุลเท่านั้น ถึงจะดูแลบ้านเมืองให้อยู่รอดพ้นจากภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ได้

ความเพิกเฉยต่อรัฐธรรมนูญอันเคยเป็นบทบัญญัติสูงสุดของประเทศของจอมพล ถนอม กิตติขจร ทำให้เกิดกระแสการต่อต้าน วิพากษ์วิจารณ์ และเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเป็นอย่างมากจากบรรดานิสิต นักศึกษา และประชาชน การเรียกร้องประชาธิปไตยมาสุกงอมเมื่อนักศึกษาเรือนหมื่นเรือนแสนพร้อมใจกันออกมาเดินขบวนประท้วงเรียกร้องให้มีการมอบรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนและให้ทางการปล่อยตัวผู้ต้องหาที่ถูกจับในข้อหาเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เหตุการณ์ความรุนแรงตั้งแต่วันที่ 5 - 14 ตุลาคม 2516 ได้กลายเป็นเหตุการณ์วิปโยคและถูกจารึกลงในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทย

หลังเสียงปืนนัดสุดท้ายเงียบลง จอมพล ถนอม กิตติขจร จอมพล ประภาส จารุเสถียร และพันเอก ณรงค์ กิตติขจร ได้เดินทางออกจากประเทศไทย ทิ้งความหวังกับประชาชนคนไทยว่าประชาธิปไตยจะกลับมาเบ่งบานอีกครั้ง หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และองคมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 12 ของประเทศ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จัดตั้งคณะรัฐบาลชุดที่ 30 ประกอบด้วยพลเรือน 19 คน ตำรวจ 3 คน และทหาร 2 คน [2]

นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตประธานศาลฎีกา เป็นข้าราชการฝ่ายยุติธรรมมาตลอดชีวิตการทำงาน รวมทั้งเป็นอาจารย์พิเศษสอนหนังสือด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของท่านเป็นการก้าวเข้าสู่อาชีพนักการเมืองครั้งแรก แม้ว่าจะเคยเป็นสมาชิกร่างรัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ.2514 แล้วก็ตาม นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้กล่าวถึงความรู้สึกครั้งแรกที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีว่า “เมื่อได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนั้น เราจะต้องพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่เต็มความสามารถ แม้จะให้ไปตายก็ตาม”

นายสัญญา ธรรมศักดิ์ แถลงนโยบายพร้อมคณะรัฐมนตรี “สัญญา 1” มีใจความสำคัญคือ จะมอบรัฐธรรมนูญที่ประชาชนคนไทยเรียกร้องมากว่า 2 ทศวรรษภายใน 6 เดือน โดยรัฐบาลนี้จะเป็นเพียงรัฐบาลชั่วคราว จะจัดให้มีการเลือกตั้ง มอบอำนาจให้แก่รัฐสภาและประชาชนให้เร็วที่สุด และส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของมหาวิทยาลัยอย่างเต็มที่ เช่นที่ท่านเคยให้เสรีภาพในธรรมศาสตร์ทุกตารางนิ้วเมื่อครั้งเป็นอธิการบดี ในเวลาเดียวกันสมาชิกสภานิติบัญญัติได้ถูกเลือกตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2517 เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญตามครรลองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตามแม้ว่าผู้นำเผด็จการอย่างจอมพล ถนอม กิตติขจร และคณะจะเดินทางออกนอกประเทศ และมีนายกรัฐมนตรีสมอย่างความตั้งใจของประชาชนและนิสิต นักศึกษาแล้วก็ตาม บรรยากาศทางการเมืองสมัยสัญญา 1 หาได้สงบราบคาบไม่ เพราะสถานการณ์บ้านเมืองยังคงมีเหตุการณ์ให้รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาอยู่แทบทุกวัน เพราะประชาชนไม่พอใจกับคณะรัฐมนตรีสัญญา 1 เนื่องจากหลายคนเป็นรัฐมนตรีหน้าเดิมจากคณะรัฐมนตรีชุดก่อน

นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล อันเนื่องมาจากเสรีภาพของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ความเป็นอิสระของสมาชิกได้ส่งผลให้ร่างพระราชบัญญัติที่รัฐบาลเสนอไม่ผ่านการลงมติถึง 3 ครั้ง เมื่อเป็นดังนี้นายสัญญาจึงได้แสดงความรับผิดชอบโดยการขอลาออกจากจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ก็ต้องกลับเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นวาระที่ 2 จากการร้องขอของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ประธานสภานิติบัญญัติและการเห็นชอบจากสมาชิกสภานิติบัญญัติ

กระทั่งที่สุดประชาธิปไตยที่ประชาชนทุกคนรอคอยก็ได้เกิดขึ้น เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2517 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ให้สิทธิเสรีภาพต่อการเคลื่อนไหวและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างที่ไม่เคยปรากฏ จนได้รับการกล่าวถึงว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองที่รัฐมอบให้ประชาชน ทำให้มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องการบริหารงานของรัฐบาลไม่เว้นในแต่ละวัน

รัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นเพียงรัฐบาลชั่วคราว สาระสำคัญของรัฐบาลชุดนี้อยู่ที่การมอบรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยแก่ประชาชน แต่ปัญหาปากท้องของประชาชนกลับเป็นปัญหาสำคัญที่หลีกเลี่ยงเสียไม่ได้ เนื่องจากในยามนี้ประเทศไทยได้เกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมมากมาย ทั้งปัญหาราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและค่าโดยสารรถประจำทาง [3] ต้องปรับราคาขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่รายได้ของประชาชนยังคงอยู่เท่าเดิมและยากจนเช่นเดิม กรรมกรโรงงานนัดหยุดงานและเดินประท้วงตั้งแต่ต้นปี 2517[4] รัฐบาลเองก็ได้พยายามแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ แต่ด้วยเสถียรภาพที่ไม่มั่นคงของรัฐบาลซึ่งถูกกล่าวหาว่าอ่อนแอจนเกินไปนั้น ทำให้การบริหารงานไม่เป็นที่น่าพอใจสำหรับประชาชนในขณะนั้น ซึ่งเห็นได้จากการเดินขบวนประท้วงเรียกร้องอยู่ไม่เว้นแต่ละวัน

รัฐบาลสัญญา 1 และ 2 พยายามประคับประคองประเทศชาติมาด้วยความยากลำบาก ทั้งจากแรงกดดันจากการเรียกร้องของประชาชน และความไม่เข้มแข็งของคณะรัฐบาลเอง แต่นายสัญญา ธรรมศักดิ์ก็สามารถฟันฝ่านานาปัญหาทางการเมืองจนประกาศใช้รัฐธรรมนูญและจัดให้มีการเลือกตั้งได้ในวันที่ 26 มกราคม 2518 การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ที่มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรคได้รับชัยชนะ ได้ที่นั่งมากที่สุดและจัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเกษตรสังคม เป็นการสิ้นสุดภาระหน้าที่ทางการเมืองอันหนักหนาและไร้ซึ่งเสถียรภาพของนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ระยะเวลา 1 ปีเศษในการบริหารราชการแผ่นดินถึงแม้รัฐบาลจะไม่ได้นำพาประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองทางด้านเศรษฐกิจการค้า เทคโนโลยี ดั่งที่วาดเอาไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ก็ได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ 2517 มอบสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน คนไทยอีกครั้ง หลังถูกฝังกลบโดยผู้นำเผด็จการทหารมากว่า 2 ทศวรรษ

สรุป

ภาระหน้าที่สำคัญในการบริหารบ้านเมืองในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวาน คงไม่เป็นที่พิสมัยสำหรับใครต่อใครนัก แม้ว่าจะได้มาซึ่งอำนาจและบริวารอันล้นเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วการเมืองหลังเหตุการณ์วิปโยค 14 ตุลาคม 2516 แต่นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นผู้รับอาสาขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 12 ของประเทศ ปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่ ถาโถมเข้าใส่รัฐบาลส่งผลให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ต้องยอมแพ้ขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้ไม่นาน แต่ด้วยสำนึกในความรักและเป็นห่วงชาติบ้านเมือง และการเรียกร้องของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ท่านจึงยอมกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี กระทั่งวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2517 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ก็ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับมหาชนเมื่อได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 นำมาซึ่งสิทธิ เสรีภาพ ที่นิสิต นักศึกษา ประชาชน เรียกร้องมายาวนานเกือบ 2 ทศวรรษ

ที่มา

1. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, จาก 14 ถึง 6 ตุลา. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์), 2541.

2. พิพิธภัณฑ์ศาลไทย. ประวัตินายสัญญา ธรรมศักดิ์ [Online]. Accessed 3 August 2009. Available from http://www.coj.go.th/museum/SpPerson/sanya.html

หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ

1. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, จาก 14 ถึง 6 ตุลา. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์), 2541.

2. นรนิติ เศรษฐบุตร, ชีวประวัตินายกรัฐมนตรีไทยตั้งแต่ พ.ศ.2475-2529 (กรุงเทพฯ : ศูนย์วิจัย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), 2529.

3. นรนิติ เศรษฐบุตร, สัญญา ธรรมศักดิ์ ชีวิตและงาน (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), 2531.

4. นรนิติ เศรษฐบุตร, สัญญากับประชาธิปไตย (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), 2548.

5. วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย, สัญญา ธรรมศักดิ์ คนของแผ่นดิน (กรุงเทพฯ : กองทุนศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์), 2546.

6. http://www.sanyadharmasakti.com/biography.html

7. http://www.coj.go.th/museum/SpPerson/sanya.html

8. http://th.wikipedia.org/wiki

อ้างอิง

  1. พิพิธภัณฑ์ศาลไทย. ประวัตินายสัญญา ธรรมศักดิ์ [Online]. Accessed 03 August 2009. Available from http://www.coj.go.th/museum/SpPerson/sanya.html
  2. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, จาก 14 ถึง 6 ตุลา. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) 2541, หน้า 207.
  3. เรื่องเดียวกัน, หน้า 208.
  4. เรื่องเดียวกัน, หน้า 221.