รูปแบบการจัดทำรายงานกรณีศึกษา

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:02, 28 ธันวาคม 2552 โดย Ekkachais (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

รูปแบบการจัดทำรายงานกรณีศึกษา หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง “การเสริมสร้างสังคมสันติสุข” รุ่นที่ ๑

ลำดับเรื่องราวเรียนรู้


ประเด็นในการศึกษา

เริ่มต้นว่า “อยากเรียนรู้เรื่องอะไร” “สงสัยอะไร” ในประเด็นที่กำหนด ความสนใจใคร่รู้จะทำให้การค้นหาคำตอบนั้นเป็นไปอย่างมีความสุขและผู้ศึกษาจะมีพลังในการหาวิธีการตอบโจทย์ที่สนใจ

ประเด็นที่สอดคล้องกับหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง “การเสริมสร้างสังคมสันติสุข” จะมุ่งเน้นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ระดับชุมชน ระดับสังคม และระดับชาติ ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตโดยรวม ตลอดจนความมั่นคงในด้านต่างๆของประเทศ

กระบวนการนำไปสู่การตอบโจทย์

เมื่อทบทวนประเด็นที่ต้องการศึกษาในทุกมิติแล้ว มาคิดกระบวนการที่จะนำไปสู่การค้นหาคำตอบต่อปัญหา หรือประเด็นที่สนใจ รายละเอียดของกระบวนการอาจจะเริ่มตั้งแต่การใช้วิธีการพูดคุยแบบไม่เป็นทางการหรือการตั้งวงสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และความรู้สึก การสัมภาษณ์เชิงลึกบุคคลที่เกี่ยวข้อง การสำรวจเอกสาร/ หนังสือ/ ระเบียบ/ นโยบาย/ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง หรือการสืบค้นข้อมูล ข้อเท็จจริง ความคิดเห็นต่างๆจากอินเตอร์เนท เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อที่จะศึกษาวิธีคิด ความเชื่อ และมุมมองต่อปัญหาและการแก้ไขปัญหา แนวทางและกระบวนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ การดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดจากการใช้แนวทางดังกล่าว การนำเสนอกระบวนการในการหาข้อมูลอาจนำเสนอเป็นขั้นตอน โดยมีภาพแผนผัง (Chart/ MindMap) ประกอบเพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงของกระบวนการตั้งแต่ต้นทาง (การเริ่มต้นหาข้อมูล) เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนว่าจะนำไปสู่ปลายทาง (คำตอบที่ต้องการ) ได้อย่างไร

บริบทของพื้นที่ ชุมชน

ส่วนนี้จะเป็นรายละเอียดของเป้าหมายที่จะศึกษา อธิบายถึงด้านต่างๆ เช่น ด้านกายภาพชีวภาพ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม (เน้นเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ศึกษา) อธิบายให้เห็นภาพรวมของสภาพแวดล้อมและชุมชนในพื้นที่ที่จะศึกษา ตลอดจนปัจจัยที่อาจจะเป็นจุดเอื้อ / ขัดขวางการศึกษา (ข้อมูลบริบทชุมชน มักขาดพลัง ถูกละเลย ไม่มีการนำไปใช้ประโยชน์หรือวิเคราะห์ประกอบการ “อธิบาย” การบรรลุ หรือไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของการศึกษา)

ข้อค้นพบ

ข้อค้นพบที่เกิดขึ้น สามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ ด้าน คือ ด้านทัศนคติ/ความรู้สึก และด้านความรู้

ด้านทัศนคติ/ความรู้สึก

หลังจากที่ได้ทำการศึกษาและลงพื้นที่พูดคุยในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และรับฟังปัญหาจากคนในพื้นที่แล้ว ผู้ศึกษารู้สึกอย่างไร เกิดมุมมองและทัศนคติใดต่อปัญหาที่เกิดขึ้นบ้าง ตลอดจนอาจจะสังเกตและบันทึกความรู้สึกและทัศนคติของผู้ที่เกี่ยวข้องกับปํญหาด้วย เนื่องจากมิติด้านนี้นั้น ถือเป็นประเด็นสำคัญของการทำความเข้าใจกรณีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและเป็นข้อมูลสำคัญต่อการแก้ไขปัญหา

ด้านความรู้

นอกจากความรู้สึกและทัศนคติที่เกิดขึ้นแล้ว มิติที่สำคัญอีกประการคือ ด้านองค์ความรู้ ในแง่ที่ว่าผู้ศึกษาได้เรียนรู้สิ่งใดบ้าง เกิดองค์ความรู้ใหม่ใดบ้าง ทั้งนี้ อาจแบ่งออกเป็นหัวข้อดังต่อไปนี้

๑.สถานการณ์ของประเด็นที่ศึกษา (อธิบายโดยยึดประเด็นที่สนใจ อย่างละเอียด เจาะลึก)

๒.ปัญหา และสาเหตุของปัญหา (อธิบายว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร สืบให้ถึงต้นตอของปัญหา ค้นหา “สมุทัย” ที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ให้ได้)

๓.ศักยภาพ/ภูมิปัญญาในการแก้ไขปัญหา (มีอะไรบ้าง อธิบายให้เข้าใจ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพราะอะไร ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น)

๔.กิจกรรมที่ชุมชน หรือส่วนงานทั้งภาคเอกชนและภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ทำเพื่อแก้ไขปัญหา มีอะไรบ้าง และมีรูปแบบอย่างไร

๕.ผลของกิจกรรมที่ได้ทำไปเพื่อแก้ไขปัญหา (ประเมินในภาพรวม)

๖.รูปแบบวิธีการที่ได้ (องค์ความรู้) ในการจัดการปัญหา หรือสามารถตอบคำถามประเด็นที่สนใจศึกษาได้ อย่างไรก็ตาม หัวข้อทั้ง ๖ ข้อนี้ เป็นเพียงแนวทางในการเขียน ผู้ศึกษาไม่จำเป็นต้องยึดติดกับรูปแบบดังกล่าวนี้

การวิเคราะห์สังเคราะห์

เป็นการรวบรวมเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้ทั้งหมดมาอธิบายให้ครบถ้วน โดยดึงเอาข้อมูลความรู้จากสิ่งที่ค้นพบ มา “ประมวล” กลั่นกรอง” แล้วเรียบเรียงให้เป็น “ผลผลิตใหม่” ที่มีการอธิบายให้เป็นเรื่องเดียวกัน ตอบโจทย์หรือสมมติฐานที่เราตั้งไว้ได้หรือไม่ ด้วยปัจจัยหรือเงื่อนไขใด แล้วทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

นอกจากนี้ยังสามารถนำไปสื่อสารหรือนำไปใช้งานกับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะที่เรากำหนดไว้ได้ ดังนั้น “ควรมีการเก็บข้อมูลให้ครบถ้วนตามกรอบเนื้อหา” เพราะการเขียนรายงานผลการศึกษาจะออกมาดี มีประโยชน์มากน้อยเพียงใดนั้น ข้อมูลที่รวบรวมไว้จะเป็นตัวสนับสนุนและสร้างความเชื่อถือให้แก่ผู้ที่นำรายงานนั้นๆไปศึกษาเรียนรู้หรือประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติ (ข้อมูลได้มาจากการลงพื้นที่ สืบค้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เอกสารการศึกษาที่มีผู้ศึกษามาแล้ว จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และอื่นๆ)

สังเคราะห์ข้อมูลอย่างไร?

๑.ต้องมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายการสังเคราะห์ที่ชัดเจน ว่าต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องใด เพื่อใคร การกำหนดวัตถุประสงค์ที่ขัดเจน จะทำให้เห็นกลุ่มเป้าหมายและสามารถกำหนดผู้เกี่ยวข้องในการสังเคราะห์งานเพื่อตอบวัตถุประสงค์ได้ด้วย

๒.มีกรอบเนื้อหาที่ชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางในการสังเคราะห์งานข้อมูลความรู้ รวมถึงการวางแผนการทำงานและรวบรวมข้อมูล

๓.มีการรวบรวมข้อมูลความรู้ เป็นการรวบรวมข้อมูลความรู้จากหลายๆส่วน เช่น จากเอกสารต่างๆ หรือที่เรียกว่า “ข้อมูลมือสอง” รวมถึงข้อมูลความรู้ที่ได้จากการดำเนินงานวิจัยภาคสนาม เช่น การลงพื้นที่สำรวจร่วมกับชุมชน การสัมภาษณ์เชิงลึกผู้รู้ในพื้นที่ เป็นต้น

๔.มีการแยกแยะ กลั่นกรองและประมวลความรู้ เป็นการแยกแยะข้อมูลที่ได้รวบรวมมาตามกรอบเนื้อหาที่กำหนดไว้ ตลอดจนเนื้อหา แนวคิด หรือทฤษฎีที่ได้เรียนรู้จากหลักสูตร หากยังไม่เพียงพอ สามารถทำการรวบรวมเพิ่มเติมได้ จากนั้นจึงกลั่นกรอง เพื่อหลอมรวม หรือร้อยเรียงออกมาสู่การนำเสนอ

๕.เกิดผลผลิตใหม่ หลังจากมีการสังเคราะห์ความรู้ จะก่อให้เกิดผลผลิตใหม่ขึ้น ซึ่งเป็นผลผลิตที่สามารถตอบวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

๖.มีการสื่อสาร เพื่อขับเคลื่อนงานและมีรูปแบบการสื่อสารที่เหมาะสมกับการรับรู้ของกลุ่มเป้าหมายที่เชื่อมโยงต่อการนำไปใช้

๗.เกิดการนำไปใช้ ซึ่งการนำไปใช้เป็นการนำไปใช้เพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมาย และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่เรากำหนดข้อมูล ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการสังเคราะห์แล้วสามารถนำไปเป็นข้อมูลในการทำเป็นโครงการต่อยอด เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อไปได้

การสรุปและวิเคราะห์ สังเคราะห์ผลนั้น อาจสรุปฉายภาพรวมแบบครอบคลุมว่าสิ่งที่ทำไปได้ตอบคำถาม หรือโจทย์ของการศึกษาหรือไม่ อย่างไร ทำไม (เกิดธรรมะคือ “องค์ความรู้”)

เงื่อนไข/ปัจจัยที่ทำให้การแก้ไขปัญหาประสบความสำเร็จมีอะไรบ้าง(ทบทวนจากตัวชี้วัด(ที่มี) หรือวัตถุประสงค์ของงาน โครงการที่เกิดขึ้นในพื้นที่)

เกิดพุทธะ (ผู้รู้ คือ ผู้นำ ภูมิปัญญา ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้เกี่ยวข้อง เก่งขึ้นหรือไม่ อย่างไร ทำไม)

เกิดสังฆะ (กลุ่ม/เครือข่าย ดีขึ้นหรือไม่ หากไม่มี ได้เกิดกลุ่มใหม่หรือไม่ มีการจัดการสู่ความยั่งยืนของการแก้ไขปัญหาอย่างไร)

การมีส่วนร่วมของชุมชน (มีกลุ่มใดบ้างที่เข้ามามีส่วนร่วม/กระบวนการที่ได้ผลในการดึงให้เกิดการมีส่วนร่วมได้แก่อะไรบ้าง)

การเปลี่ยนแปลงวิธีคิด (ผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ยอมรับกันและกันมากขึ้นหรือไม่ ทำไม)

การแก้ไข(ผลเชิงพัฒนา) เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ปัญหา อุปสรรค บทเรียนที่เกิดขึ้น

ข้อเสนอแนะ “จากการศึกษาเรียนรู้ในเรื่องนี้ ท่านมีข้อเสนอแนะอย่างไร”

๑.ต่อกระบวนการทำงานกับชุมชน

๒.ต่อกระบวนการแก้ไขปัญหา

๓.ต่อการศึกษา แก้ไขปัญหาในอนาคต

๔.ต่อการพัฒนาขยายผลในอนาคต

๕.ต่อบุคคล/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเชิงนโยบายและ/หรือการปฏิบัติ

การเขียน รายงานการศึกษา แบบมีชีวิต

 อิสระในการนำเสนอ ไร้รูปแบบ

 ยึดหลัก คิดใหม่ ทำใหม่

 รูปแบบผลผลิตที่ได้ น่าจะมีความเรียบง่าย,สนุก มีความสุข,น่าอ่านน่าหยิบจับ

 นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

การเขียนงานศึกษาให้มีชีวิต เป็นการถ่ายทอดกระบวนการแก้ไขปัญหาในภาพรวมว่า ได้ทำอะไรบ้าง ทำอย่างไร ทำไมถึงทำ และสิ่งที่ทำนั้นสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ โดยข้อมูลต่างๆออกมากลุ่มเป้าหมาย ซึ่งไม่จำเป็นต้องปรุงแต่งสีสันให้สวยหรู ซึ่งเมื่ออ่านแล้วจะเห็นถึงความแตกต่างจากงานวิชาการในรูปแบบอื่นๆ และการเพิ่มเติมด้วยรูปภาพ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายหรือภาพวาด ยังสามารถทำให้เห็นถึงกระบวนการทำงานอย่างมีส่วนร่วมของ ผู้เกี่ยวข้อง แหล่งที่มาของข้อมูล และอื่นๆได้ และยังทำให้เป็นรายงานวิชาการที่มีเสน่ห์ น่าอ่าน น่าจับต้องมากขึ้น

หมายเหตุ

๑.เอกสารรายงานกรณีศึกษาถือเป็นงานกลุ่มที่ส่งต่อสถาบันฯอันจะมีผลส่วนหนึ่งต่อการจบการศึกษาในหลักสูตร

๒.ให้ทั้งกลุ่มนำเสนอต่อชั้นเรียน โดยจะให้แต่ละกลุ่มนำเสนอกลุ่มละ ๓๐ นาที และตอบข้อซักถามจากชั้นเรียน

๓.หลังการนำเสนอ ให้ปรับปรุงและจัดทำรูปเล่มเพื่อนำส่งให้แก่สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล ภายใน ๒ สัปดาห์หลังจากการนำเสนอ




สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า 8/08/2008