การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 23 วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

บทความนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยโดยผู้ืทรงคุณวุฒิ



ผู้เรียบเรียง .... และ รองศาสตราจารย์ ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


รายนามผู้ทรงคุณวุฒิื

       รองศาสตราจารย์ นรนิติ เศรษฐบุตร
       รองศาสตราจารย์ ดร. นิยม รัฐอมฤต
       ศาสตราจารย์ ดร. วิษณุ เครืองาม

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 23 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2548 นับเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ภายหลังจากที่รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 และหัวหน้าพรรคไทยรักไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ได้บริหารประเทศมาจนครบวาระ 4 ปีเต็ม (ตั้งแต่ชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 22 เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2544 และเริ่มบริหารประเทศตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2544 จนกระทั่งจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งที่ 23) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยสามารถบริหารประเทศได้ครบวาระ[1] อันแสดงถึงเสถียรภาพและความเข้มแข็งของฝ่ายบริหารและนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์หลักของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่ต้องการให้เกิดฝ่ายบริหารที่เข้มแข็งและนายกรัฐมนตรีที่เข้มแข็ง (strong executive and strong prime minister)[2] จนอาจกล่าวได้ว่าการบริหารงานการเมืองไทยในช่วงเวลานี้ตกอยู่ภายใต้นโยบายการบริหารงานของพรรคไทยรักไทยอย่างเบ็ดเสร็จ


มิเพียงเท่านั้น ผลจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อมา เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 พรรคไทยรักไทยยังทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางการเมืองครั้งใหม่อีกครั้ง โดยเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ภายใต้กฎกติกาการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นช่วงที่การเมืองไทยถูกบริหารงานโดย “รัฐบาลพรรคเดียวแบบพรรคเด่นพรรคเดียว (single party government)” โดยพรรคไทยรักไทย ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งด้วยจำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรถึง 377 ที่นั่ง ทิ้งห่างพรรคการเมืองอื่น ๆ อันได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีจำนวน 96 ที่นั่ง พรรคชาติไทย 25 ที่นั่ง และพรรคมหาชน 2 ที่นั่ง[3] และส่งผลให้เป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านไปโดยทันที


จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2548

จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2548[4]
พรรคการเมือง จำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (คน) จำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขต (คน) รวมจำนวน ส.ส.
ไทยรักไทย 67 310 377
ประชาธิปัตย์ 26 70 96
ชาติไทย 7 18 25
มหาชน 0 2 2
รวม 100 400 500

พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร

ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครจำนวน 25 พรรค โดยประกอบไปด้วย

(1) พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครทั้งในระบบการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และ ระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวนทั้งหมด 19 พรรค ได้แก่ พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคพัฒนาชาติไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาชนไทย พรรคคนขอปลดหนี้ พรรคธรรมชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย พรรคไทยรักไทย พรรคความหวังใหม่ พรรคมหาชน พรรคประชากรไทย พรรคไทยช่วยไทย พรรคแรงงาน พรรคชาติประชาธิปไตย พรรคกสิกรไทย พรรคทางเลือกที่สาม พรรครักษ์ถิ่นไทย และพรรคเกษตรกร


(2) พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแต่เฉพาะระบบการเลือกแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 5 พรรค คือ พรรคพลังธรรม พรรคกฤษไทยมั่นคง พรรคเผ่าไท พรรครักษ์แผ่นดินไทย และพรรคเกษตรกรไทย


(3) พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแต่เฉพาะระบบการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 1 พรรค คือ พรรคพลังประชาชน


(4) พรรคการเมืองที่ผู้สมัครได้รับเลือกตั้ง มีจำนวนทั้งหมด 4 พรรค คือ พรรคไทยรักไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน (เห็นได้ว่าจำนวนพรรคที่ได้รับเลือกตั้งมีจำนวนลดน้อยลงไปอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 22 ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเหตุมาจากการที่พรรคความหวังใหม่ พรรคชาติพัฒนา และพรรคเสรีธรรมควบรวมพรรคเข้ากับพรรคไทยรักไทย)


(5) พรรคการเมืองที่ผู้สมัครไม่ได้รับเลือกตั้ง มีทั้งหมด 21 พรรค ได้แก่ พรรคกิจสังคม พรรคพัฒนาชาติไทย พรรคประชาชนไทย พรรคคนขอปลดหนี้ พรรคธรรมชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย พรรคประชากรไทย พรรคความหวังใหม่ พรรคไทยช่วยไทย พรรคแรงงาน พรรคชาติประชาธิปไตย พรรคกสิกรไทย พรรคทางเลือกที่สาม พรรครักษ์ถิ่นไทย พรรคเกษตรกร พรรคพลังธรรม พรรคกฤษไทยมั่นคง พรรคเผ่าไท พรรครักษ์แผ่นดินไทย พรรคเกษตรกรไทย และพรรคพลังประชาชน


การเลือกตั้งในครั้งนี้มีจำนวนผู้สมัครทั้งหมด 2,247 คน มีจำนวนผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมด 540 คน และแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 1,707 คน


จำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้ได้รับการเลือกตั้ง

ตารางจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้ได้รับการเลือกตั้ง
ประิเภท จำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้ง จำนวนผู้ได้รับการเลือกตั้ง
แบบบัญชีรายชื่อ 540 100
แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 1,707 400
รวม 2,247 500

อ้างอิง

  1. ประเทศไทยเคยมีรัฐบาลที่ดำรงอยู่ตำแหน่งอยู่จนครบวาระมาแล้วสองครั้งในช่วง พ.ศ.2476-2480 และช่วงปี พ.ศ.2495-2500 ซ่งในสมัยนั้นเป็นระบบสภาเดีว มีสมาชิกสองประเภท สมาชิกประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้ง และสมาชิกประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้งในจำนวนเท่ากัน, นพรัตน์ วงศ์วิทยาพาณิชย์, การก่อเกิดรัฐบาลพรรคเดียวในการเมืองไทย : ศึกษากรณีพรรคไทยรักไทย, วิทยานิพนธ์หลักสูตรรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2550, น.2.
  2. เกษียร เตชะพีระ, บุชกับทักษิณ (กรุงเทพมหานคร: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2547), น. 172.
  3. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง <http://www.ect.go.th>, [เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2548].
  4. ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, <http://www.ect.go.th>, [เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2548].


ดูเพิ่มเติม


ดังนั้น พรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะหัวหน้าพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลเพียงพรรคการเมืองเดียว ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีสืบเนื่องอีกหนึ่งสมัย ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2548