ประชานิยม การเลือกตั้ง และระบบอุปถัมภ์ทางการเมือง
ผู้เรียบเรียง : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ[1]
บทนำ
ในทางวิชาการ ประชานิยม (populism) นับเป็นแนวคิดหนึ่งที่ถูกนำไปใช้ในความหมายที่หลากหลายในการศึกษาวิจัยทางรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์อื่น ๆ และยังไม่มีความเห็นพ้องต้องกันในหมู่นักทฤษฎีและนักวิชาการ อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธได้ยากว่าประชานิยมกำลังมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในทางการเมืองโดยเฉพาะการเลือกตั้งในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ดังที่ปรากฏว่าประชานิยมถูกนำไปใช้เป็นสโลแกนของพรรคการเมืองทั้งพรรคฝ่ายซ้ายสุดโต่ง (far-left parties) และพรรคฝ่ายขวาสุดขั้ว (far-right parties) (Rooduijn, et al., 2023) ประชานิยมยังเป็นคำที่ถูกใช้เพื่อแสดงถึงคุณลักษณะส่วนบุคคลของผู้นำทางการเมืองที่เข้มแข็ง (Pappas, 2019b) และยังเป็นวาทกรรม (discourse) ที่นำไปสู่การแบ่งขั้วแยกข้างทางการเมือง (political polarization) (Roberts, 2022) โดยตัวอย่างเหตุการณ์ที่เห็นได้อย่างเด่นชัดคือการเลือกตั้งจนนำไปสู่การเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ ในสหรัฐอเมริกา (Schneiker, 2020) และการรณรงค์ในช่วงการลงประชามติเกี่ยวกับการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) (Clarke, John and Newman, 2017) นอกจากนี้ บรรดาประเทศประชาธิปไตยก้าวหน้าในยุโรปหลายประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน โปรตุเกส ฮังการี กรีซ ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ สวีเดน และเยอรมนี ต่างได้เผชิญกับการเติบโตอย่างรวดเร็วของประชานิยมในฐานะเครื่องมือสำคัญของพรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองในการเอาชนะใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น (Rooduijn, De Lange and van der Brug, 2014; Rooduijn, 2018)
พรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองนำประชานิยมมาใช้อย่างไรในการเลือกตั้ง ทำไมแนวทางหรือวิธีการแบบประชานิยมจึงทำให้พรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองเหล่านั้นประสบความสำเร็จในการสร้างแรงสนับสนุนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง บทความนี้มุ่งตอบคำถามดังกล่าวโดยอาศัยแนวทางการศึกษาที่มองประชานิยมในฐานะยุทธวิธีในการระดมพลังทางการเมือง (populism as a mobilization strategy) และแบ่งการนำเสนอเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วนหลัก ประกอบด้วย ส่วนแรก นำเสนอความหมายและแนวคิดทั่วไปของแนวทางการศึกษาที่มุ่งพิจารณาประชานิยมในฐานะยุทธวิธีในการระดมพลังทางการเมือง ส่วนที่สอง กล่าวถึงยุทธวิธีแบบประชานิยมที่พรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองใช้ในการสร้างคะแนนนิยมจากประชาชนในช่วงเลือกตั้ง ซึ่งสามารถแบ่งตามมุมมองในการพิจารณาประชานิยมได้เป็น 4 แนวทาง ได้แก่ ประชานิยมเชิงอุดมการณ์ ประชานิยมเชิงนโยบาย ประชานิยมเชิงยุทธศาสตร์ ประชานิยมเชิงอุปถัมภ์ และส่วนที่สาม เป็นการสรุปภาพรวมเพื่อบ่งชี้สถานะของปรากฏการณ์ประชานิยมในการเลือกตั้งของโลกยุคปัจจุบัน และข้อเสนอแนะเบื้องต้นสำหรับการรับมือกับผลกระทบด้านลบของประชานิยมต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย
ประชานิยมในฐานะยุทธวิธีในการระดมพลังทางการเมือง
ประชานิยมในฐานะยุทธวิธีในการระดมพลังทางการเมืองคืออะไร การทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการศึกษานี้จำเป็นต้องเริ่มต้นจากการสำรวจความหมายของคำว่า “การระดมพลังทางการเมือง (political mobilization) โดยสังเขปก่อน เพื่อฉายภาพรวมในทางทฤษฎีของการระดมพลังทางการเมือง ก่อนที่จะแสดงความเชื่อมโยงระหว่างแนวคิดนี้กับการศึกษาเรื่องประชานิยมในลำดับถัดไป
การระดมพลังทางการเมือง (political mobilization) เป็นกระบวนการที่มุ่งทำให้กลุ่มที่ประกอบไปด้วยปัจเจกบุคคลจำนวนมากมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นกลุ่มที่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองและในกิจกรรมสาธารณะต่าง ๆ อย่างแข็งขัน (Marquette, 1974) กลุ่มดังกล่าวอาจมีพื้นฐานมาจาก ชนชั้น วรรณะ ศาสนา เชื้อชาติหรือสัญชาติ เพศ หรืออาจจะเป็นการรวมกันตามประเด็นเฉพาะ เช่น การลดอาวุธนิวเคลียร์ การต่อต้านการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น นอกจากนี้ กลุ่มอาจเกิดขึ้นด้วยคำถามเกี่ยวกับความชอบธรรมของระบอบการปกครองที่ดำรงอยู่ เช่น กลุ่มเคลื่อนไหวผลักดันการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กลุ่มผู้ชุมนุมขับไล่รัฐบาล กลุ่มคนที่รวมตัวกันคัดค้านผลการเลือกตั้ง เป็นต้น (Daley, 1996; Bartolini, 2000; Krishan, 2005; Piombo, 2009; McKeever, 2020) การระดมพลังทางการเมืองจึงเป็นคำที่มีความหมายกว้างขวางครอบคลุมตั้งแต่การระดมพลังสนับสนุนจากประชาชนของพรรคการเมือง (partisan/party mobilization) เพื่อให้ประชาชนสนับสนุนกิจการของพรรค ทำงานร่วมกับพรรค ลงคะแนนเสียงให้พรรคและผู้สมัครของพรรค ตลอดจนร่วมผลักดันแนวนโยบายของพรรคให้เป็นนโยบายของประเทศ (Dalton, 2006; Scarrow, 2015) การระดมพลังในการเลือกตั้ง (electoral mobilization) ของรัฐบาลเพื่อให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกมาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเป็นจำนวนมาก (Cox, 2015) และการระดมพลังของพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วยยุทธวิธีต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับกิจกรรมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งและลงคะแนนเสียงให้พรรคและ/หรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง (Endersby, Petrocik and Shaw, 2006; Holbrook and McClurg, 2005) และการระดมพลังมวลชน (mass mobilization) เพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้อง ประท้วง แสดงการต่อต้านรัฐบาล หรือเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมทางตรงในกระบวนการตัดสินใจสาธารณะ (Tarrow, 1995)
นอกจากนี้ เนื่องจากการระดมพลังเป็นวิธีการที่พรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองนำมาใช้สร้างความนิยมจากประชาชนเพื่อเสริมสร้างอำนาจในการปกครอง การระดมพลังทางการเมืองจึงเป็นคำที่มีการนำไปใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองอื่น ๆ นอกเหนือจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในการเมืองเรื่องการเลือกตั้งและพรรคการเมือง การเคลื่อนไหวทางสังคม ขบวนการชาตินิยม การก่อกบฏ และการปฏิวัติ โดยมีการนำไปใช้ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการหรือความเคลื่อนไหวทางการเมืองใด ๆ ที่พรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองที่ถูกมองว่าเป็นพรรคการเมืองหรือผู้นำทางการเมืองแนวประชานิยมนำมาใช้ในการเข้าสู่อำนาจ รักษาอำนาจ และสืบทอดอำนาจทางการเมืองการปกครองด้วย จนมีผลทำให้การศึกษาวิจัยที่อาศัยแนวคิดการระดมพลังทางการเมืองในระยะหลัง ๆ หันมาให้ความสนใจกับการอธิบายบทบาทของตัวแสดงทางการเมืองทั้งที่เป็นผู้นำทางการเมือง ขบวนการทางสังคม และพรรคการเมือง ในการระดมผู้คนในฐานะปัจเจกบุคคลให้เกิดสำนึกหรือมีการแสดงออกในการต่อต้านหรือต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจของรัฐที่ถูกมองว่ามีอำนาจล้นเกินหรือถูกควบคุมการใช้อำนาจไว้โดยผลประโยชน์ของชนชั้นนำ (Laclau, 2005; Jansen, 2011; Pappas, 2019a) หรือที่อาจเรียกว่าเป็น “การระดมพลังแบบประชานิยม (populist mobilization) (Bornschier, 2017; Mudde and Kaltwasser, 2017) นั่นเอง
กรอบแนวคิดที่บทความนี้นำมาใช้เป็นแนววิเคราะห์ยุทธวิธีแบบประชานิยมที่พรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองใช้ในการสร้างคะแนนนิยมจากประชาชนในช่วงเลือกตั้งพัฒนาขึ้นจากการปรับปรุงแนวทางการศึกษาการระดมพลังทางการเมืองที่ใช้อยู่ในแวดวงการศึกษาพฤติกรรมทางการเมืองและพฤติกรรมการเลือกตั้ง โดยบูรณาการเข้ากับแนวทางการศึกษาการระดมพลังแบบประชานิยม และนำกรอบแนวคิดที่พัฒนาขึ้นนี้ไปใช้พิจารณาประชานิยมใน 4 มุมมอง ได้แก่ (1) มุมมองที่พิจารณาประชานิยมในฐานะอุดมการณ์ โดยเฉพาะการสร้างชุดความคิดที่ว่าประชาชนถูกทรยศโดยชนชั้นนำซึ่งถือเป็นวิกฤติสำคัญของประชาธิปไตยแบบตัวแทน ทำให้ประชาชนต้องออกมากระทำการเคลื่อนไหวด้วยตนเองเพื่อต่อต้านการทุจริตและการตักตวงผลประโยชน์ให้แก่ตัวเองและพวกพ้องของชนชั้นนำ (Mudde and Kaltwasser, 2013; Caramani, 2017) (2) มุมมองที่พิจารณาประชานิยมในฐานะวาทกรรมที่พรรคการเมือง ผู้นำทางการเมือง และนักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมประดิษฐ์สร้างและนำไปใช้ระดมพลังทางการเมืองผ่านคำกล่าว ถ้อยแถลง หรือข้อเขียนในลักษณะต่าง ๆ (Weyland, 2001; Levitsky and Roberts, 2011) (3) มุมมองที่พิจารณาประชานิยมในฐานะของยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่พรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองนำไปใช้ในการระดมพลังทางการเมืองโดยเฉพาะเพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง รวมถึงวิธีการที่นักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมนำประชานิยมไปใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนประเด็นสาธารณะหรือกระทำการที่มุ่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาล (Barr, 2018) และ (4) มุมมองที่พิจารณาประชานิยมในฐานะวิธีการที่พรรคการเมืองหรือผู้นำทางการเมืองนำไปใช้ในการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยไม่จำเป็นต้องผ่านตัวกลางของระบบอุปถัมภ์ทางการเมืองแบบดั้งเดิม (Kenny, 2017; 2018)
ยุทธวิธีแบบประชานิยมเพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยุทธวิธีที่พรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองทั้งในประเทศไทยและในประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกนำมาใช้เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับกิจกรรมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และลงคะแนนเสียงให้พรรคและ/หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคในท้ายที่สุดนั้นมีค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่การใช้อัตลักษณ์และอุดมการณ์ชาตินิยม การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งแบบเข้าถึงตัวบุคลและผ่านสื่อต่าง ๆ การนำเสนอนโยบายหรือโครงการ การจูงใจผ่านการแบ่งสรรปันส่วน (ผลประโยชน์) ในรัฐบาลด้วยเหตุผลทางการเมือง (pork-barrel) หรือแม้กระทั่งการใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในรูปแบบต่าง ๆ (clientelism/patronage) (Boix, 2010) การเลือกใช้ยุทธวิธีต่าง ๆ เหล่านี้ของพรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองขึ้นอยู่กับกลไกที่ใช้ในการตัดสินใจซึ่งอาจอยู่ในรูปตัวบุคคล คณะบุคคล หรือที่ประชุมสมาชิกพรรคหรือผู้ให้การสนับสนุน (Schröder and Manow, 2020) โดยการตัดสินใจดังกล่าวนี้มักครอบคลุมถึงการตัดสินใจเลือกพื้นที่เป้าหมาย (เช่น เขตเลือกตั้ง) สำหรับการสร้างคะแนนนิยมจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ตลอดจนการเลือกแนวทางที่พรรคหรือผู้นำทางการเมืองจะใช้เพื่อบรรลุผลตามเป้าหมายเพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง (Rohrschneider, 2002)
ในหลายกรณี ผู้นำพรรคและกลไกการตัดสินใจของพรรคการเมืองจะเป็นผู้เลือกว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มใดคือเป้าหมายของพรรคหรือผู้นำทางการเมืองที่พรรคสนับสนุน และจะใช้ยุทธวิธีใดในการสร้างคะแนนนิยมจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งเหล่านั้น โดยการดำเนินการตามยุทธวิธีที่เลือกนี้ พรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองอาจเลือกที่จะแสวงหาความร่วมมือหรือการสนับสนุนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกกลุ่ม หรือเลือกเฉพาะกลุ่มที่มีผลประโยชน์ แนวทางหรือจุดยืนทางการเมืองบางอย่างใกล้เคียงกัน หรืออาจจะเลือกเฉพาะกลุ่มที่มีอัตลักษณ์ทางภาษา อาชีพ หรือเชิงพื้นที่ที่สอดคล้องกับพรรคของตนหรือตัวผู้นำทางการเมืองแต่ละคนอย่างเคร่งครัดก็ได้ (Hagopian, 2009) นอกจากนี้ พรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองอาจใช้วิธีการจัดหาสิ่งของเครื่องใช้ ส่งเสริมอาชีพการงาน หรือผลประโยชน์อื่นใดให้แก่ชุมชนเพื่อจูงใจให้ประชาชนออกมาลงคะแนนให้ (Thachil, 2014) รวมถึงอาจใช้คุณสมบัติส่วนตัวของผู้นำพรรคหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคที่ประชาชนชื่นชอบเป็นจุดขายก็ได้ เช่น ความซื่อสัตย์สุจริต ความสามารถในการทำงาน ความเคร่งครัดในศีลธรรมจรรยา การมีอัตลักษณ์ร่วมกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเรื่องเชื้อชาติ ชนชั้น การนับถือศาสนา ตลอดจนความคิดเกี่ยวกับการปกครองและสังคม เป็นต้น (De Leon, 2014; Pacewicz, 2023)
ใครคือเป้าหมายในการสร้างคะแนนนิยมจากประชาชนในช่วงเลือกตั้งของพรรคการเมืองและผู้นำทางการเมือง คุณลักษณะส่วนบุคคลและคุณลักษณะร่วมของผู้มีสิทธิเลือกตั้งแบบใดที่มีผลต่อการลงทุนลงแรงของพรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองในการสร้างคะแนนนิยมจากประชาชนในช่วงเลือกตั้ง และอะไรคือผลที่เกิดขึ้น (ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ) กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผลการเลือกตั้งโดยภาพรวมจากการเลือกใช้ยุทธวิธีต่าง ๆ ในการสร้างคะแนนนิยมของพรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองเหล่านั้น คำอธิบายต่อคำถามเหล่านี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำความเข้าใจว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีแบบแผนพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างไร และแบบแผนพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงนั้นมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับยุทธวิธีแบบประชานิยมที่พรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองนำมาใช้ในการระดมพลังทางการเมืองจากประชาชนเพื่อเอาชนะการเลือกตั้งในแนวทางและรูปแบบใดบ้าง
ประชานิยมเชิงอุดมการณ์กับการเลือกตั้ง
การศึกษาในกรณีประเทศประชาธิปไตยก้าวหน้าในยุโรปตะวันตกและอเมริกาเหนือจำนวนมาก[2] พบว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงตามอุดมการณ์ (ideological voting) ซึ่งหมายรวมถึง การตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งตามอุดมการณ์ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าใจว่าสอดคล้องกับตน อย่างไรก็ตาม อุดมการณ์เช่นว่านั้นไม่จำเป็นต้องเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองตามความหมายที่มีการนิยามกันในทางวิชาการ แต่อาจเป็นเพียงอุดมการณ์ตามความเข้าใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนที่อาจมองว่าตัวเองมีอุดมการณ์แบบเสรีนิยม (liberal) อนุรักษ์นิยม (conservative) หรือเป็นแบบกลางๆ (moderate) ก็ได้ (Ford and Jennings, 2020; Van der Brug, 2010) ยุทธวิธีในการสร้างคะแนนนิยมจากประชาชนในช่วงเลือกตั้งที่พรรคการเมืองเลือกใช้จึงเป็นผลของการประเมินผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่ามีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใด และพรรคการเมืองจะใช้วิธีการใดในการสร้างความรู้สึกผูกพันใกล้ชิดหรือความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันจนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเหล่านั้นยอมตัดสินใจลงคะแนนให้พรรคหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรค (Chapman, 2020) ภายใต้วิธีคิดเช่นนี้ การที่พรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองอาศัยแนวคิดประชานิยมในการสร้างความนิยมจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งจึงปรากฏอย่างน้อย 2 ลักษณะ ซึ่งสอดคล้องกับการอธิบายความหมายของคำว่าประชานิยมในทางวิชาการ (Silva, Neuner and Wratil, 2023) กล่าวคือ
ลักษณะแรก คือ การใช้ประชานิยมเชิงอุดมการณ์ในความหมายแบบเบาบาง (thin ideology) ที่อ้างอิงจากคำอธิบายของ Cas Mudde นักรัฐศาสตร์ชาวเนเธอร์แลนด์ ที่มองประชานิยมว่าเป็น “อุดมการณ์ที่มองว่าสังคมถูกแยกออกเป็นสองกลุ่มที่มีลักษณะเป็นเนื้อเดียวกัน (homogeneous) และเป็นศัตรูกัน (antagonistic) ได้แก่ ‘ประชาชนบริสุทธิ์ (the pure people)’ กับ ‘ชนชั้นนำที่ฉ้อฉล (the corrupt elite)’ และให้เหตุผลว่าการเมืองควรเป็นการแสดงออกของเจตจำนงทั่วไป (general will) ของประชาชน”[3] ปรากฏการณ์ที่ตรวจพบในการเลือกตั้งของหลายประเทศจึงเป็นไปในลักษณะที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองเอาชนะการเลือกตั้งโดยใช้วิธีการต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นการโจมตีไปที่ชนชั้นนำในเรื่องการทุจริต ผูกขาด หรือความไม่ชอบธรรมในการใช้อำนาจต่าง ๆ และเรียกร้องให้ประชาชนออกมาแสดงพลังอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
ความสำเร็จของ Five Star Movement หรือในชื่อภาษาอิตาเลียนว่า Movimento 5 Stelle (M5S) พรรคการเมืองในประเทศอิตาลีนับเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของพรรคการเมืองที่ประสบความสำเร็จในการใช้แนวทางประชานิยมเชิงอุดมการณ์ตามความหมายนี้ (Conti and Memoli, 2015) กล่าวคือ Five Star Movement เป็นพรรคการเมืองที่เริ่มต้นจากการเป็นขบวนการทางสังคมที่มุ่งแสดงออกซึ่งการต่อต้านระบบการเมืองแบบเก่าที่ดำรงมาอย่างช้านาน และได้ชักชวนให้ประชาชนออกมาเดินขบวนแสดงพลังครั้งสำคัญใน ค.ศ. 2007 ซึ่งพวกเขาเรียกการแสดงพลังดังกล่าวว่า “V-Day” โดยตัวอักษร V นั้นย่อมาจาก “vaffanculo” ซึ่งเป็นคำด่าในภาษาอิตาเลียนมีความหมายว่า “ไปตายซะ” เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การก่อตั้งพรรคการเมืองเพื่อเข้าสู่สนามเลือกตั้งอย่างเต็มตัวใน ค.ศ. 2009 (Tronconi, 2018) ก่อนที่จะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งมากขึ้นตามลำดับ เริ่มจากการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในช่วงแรก สู่การเลือกตั้งทั่วไประดับชาติครั้งแรกใน ค.ศ. 2013 ที่พรรคได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรถึง 109 ที่นั่งจากทั้งหมด 630 ที่นั่ง นับเป็นพรรคการเมืองที่ครองที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเป็นอันดับสอง ขณะที่ในวุฒิสภาก็สามารถคว้าที่นั่งได้ถึง 54 ที่นั่งจาก 315 ที่นั่ง นับเป็นพรรคการเมืองที่มีที่นั่งมากเป็นอันดับสามในวุฒิสภา (Franzosi, Marone and Salvati, 2015) จนกระทั่งขึ้นสู่จุดสูงสุดในการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. 2018 โดยพรรคได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 227 ที่นั่ง โดยได้คะแนนเสียงจากผู้ออกมาใช้สิทธิมากถึงร้อยละ 33 และได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล (The Guardian, 2018)
ลักษณะที่สองของประชานิยมเชิงอุดมการณ์ที่พรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองนำมาใช้เพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง คือ การใช้ประชานิยมเชิงอุดมการณ์โดยเชื่อมโยงกับอุดมการณ์ทางการเมืองที่พรรคการเมือง (หรือผู้นำทางการเมือง) เหล่านั้นยึดมั่นอย่างกลมกลืนและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้ง ดังปรากฏการณ์ที่พบเห็นโดยทั่วไปในระยะหลัง ๆ ว่าพรรคการเมืองที่มีความชัดเจนเชิงอุดมการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายขวา พรรคฝ่ายซ้าย หรือพรรคสายกลาง จำนวนมากได้แสดงจุดยืนทางการเมืองของตนอย่างชัดแจ้งเพื่อหวังเอาชนะใจประชาชน เช่น พรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์แบบขวาจะแสดงจุดยืนในการต่อต้านโลกาภิวัตน์ (Mudde, 2015) ไม่ต้อนรับคนต่างชาติ และการอพยพย้ายถิ่น (Rodrik, 2017; 2021) ในขณะที่พรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์แบบซ้ายจะแสดงจุดยืนในการสนับสนุนให้เกิดการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม (Acemoglu, Egorov and Sonin, 2013; Guriev and Papaioannou, 2022) เป็นต้น
ตัวอย่างความสำเร็จในการใช้แนวคิดประชานิยมเชิงอุดการณ์ตามแนวทางนี้ที่เห็นได้ชัดตัวอย่างหนึ่งคือการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ. 2016 ด้วยคำขวัญอันเรียบง่ายว่า “Make America Great Again” หรือที่อาจแปลเป็นภาษาไทยว่า “ทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง” พร้อมกับแสดงจุดยืนทางการเมืองแนวชาตินิยมเพื่อตอกย้ำแนวทางดังกล่าวให้เด่นชัดยิ่งขึ้นไปอีกว่าการทำให้ประเทศกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งนั้นประชาชนชาวอเมริกันต้องมาก่อน หรือที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ใช้คำว่า “American First” (Kazin, 2016) ในขณะที่ในอีก 4 ปีต่อมา นายโจ ไบเดน สามารถเอาชนะนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ด้วยคำขวัญที่มีท่วงทำนองแบบชาตินิยมคล้าย ๆ กัน คือ “Build America Back Better” หรือ “สร้างอเมริกาให้กลับมาดีกว่าเดิม” เพียงแต่แนวทางที่นายโจ ไบเดน นำเสนอนั้นมุ่งไปที่การปรับโครงสร้างภาษี การบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 การสร้างงาน ตลอดจนสวัสดิการสังคมของเยาวชนและครอบครัวชาวอเมริกัน ซึ่งสอดคล้องกับอุดมการณ์ทางการเมืองฝ่ายซ้ายมากกว่า (McDonald, 2023)
ประชานิยมเชิงนโยบายกับการเลือกตั้ง
นอกจากการลงคะแนนเสียงตามอุดมการณ์ซึ่งมีแบบแผนค่อนข้างแน่นอนและสามารถคาดการณ์ได้ในระยะยาวแล้ว ในการศึกษาอีกจำนวนไม่น้อยทั้งในประเทศที่มีประชาธิปไตยก้าวหน้าและประเทศที่ประชาธิปไตยยังไม่หยั่งรากฝังลึกนักกลับพบว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงตามนโยบาย (policy voting) ซึ่งหมายถึงการลงคะแนนเสียงที่เน้นไปที่การตัดสินใจลงคะแนนโดยการพิจารณาจากนโยบายตามที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องการ (policy preference)[4] นโยบายดังกล่าวจะถูกนำเสนอมาจากพรรคการเมืองแต่ละพรรคหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคนในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ดังนั้น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ลงคะแนนเสียงตามนโยบายนี้สามารถตัดสินใจลงคะแนนเสียงโดยพิจารณาจากนโยบายในการเลือกตั้งแต่ละครั้งได้โดยอิสระ ไม่จำเป็นต้องตัดสินใจเหมือนหรือเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการเลือกตั้งครั้งก่อน ๆ รวมถึงการเลือกตั้งในคราวต่อ ๆ ไปด้วย การลงคะแนนเสียงตามนโยบายนี้แม้จะเป็นการลงคะแนนด้วยการใช้เหตุผล (rational) หรืออาจเรียกว่า “การลงคะแนนเสียงตามเหตุผล (rational voting)” แต่ก็เป็นเพียงการใช้เหตุผลในการตัดสินใจตามสถานการณ์หรือความต้องการในระยะสั้น จึงเป็นการยากที่จะสามารถคาดการณ์แบบแผนที่ชัดเจนได้ (Miller et al., 1996; McGann, 2016; Abramson, Koçak and Magazinnik, 2022) ยุทธวิธีในการสร้างคะแนนนิยมจากประชาชนในช่วงเลือกตั้งที่พรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองแนวประชานิยมเลือกใช้จึงเป็นผลจากการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์หรือความต้องการของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งแต่ละครั้งเป็นคราว ๆ ไป และเลือกใช้วิธีการนำเสนอนโยบายหรือแนวทางการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้งครั้งนั้น ๆ เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งตัดสินใจลงคะแนนให้แก่พรรคหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคตน (Boscán, Llamazares and Wiesehomeier, 2018)
ความสำเร็จของพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2544 และ 2548 ที่สืบทอดมาสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2550 ของพรรคพลังประชาชนซึ่งก่อตั้งขึ้นภายหลังการยุบพรรคไทยรักไทยในปีเดียวกัน ต่อเนื่องมาถึงชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 ของพรรคเพื่อไทยซึ่งก่อตั้งขึ้นภายหลังการยุบพรรคพลังประชาชน (Huang and Thananithichot, 2018) นับเป็นตัวอย่างที่เด่นชัดของการที่พรรคการเมืองและผู้นำทางการเมือง (ในที่นี้คือนายทักษิณ ชินวัตร ในฐานะผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย และผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย) ได้อาศัยการหาเสียงผ่านการนำเสนอนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมที่เข้าถึงความต้องการของประชาชนในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้งแต่ละครั้งเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จำนวนมากต่างเห็นพ้องต้องกันว่าการอาศัยแนวทางซึ่งอาจเรียกว่าเป็นนโยบายประชานิยม (populist policy) ของพรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นโดยมีนายทักษิณ ชินวัตรเป็นผู้นำคนสำคัญนั้น แตกต่างจากแนวทางประชานิยมเชิงอุดมการณ์ที่พรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองแบบประชานิยมในระยะหลัง ๆ นิยมใช้กัน ถึงแม้ว่าการนำเสนอนโยบายโดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจและสังคมจะเป็นองค์ประกอบสำคัญของการอาศัยแนวทางประชานิยมเชิงอุดมการณ์ดังกล่าวก็ตาม (Hewison, 2017; Hawkins and Selway, 2017) เหตุผลสำคัญประการหนึ่ง คือ จุดเริ่มต้นในการใช้แนวทางประชานิยมของพรรคไทยรักไทยและนายทักษิณ ชินวัตรนั้นมิได้พัฒนาขึ้นจากการเป็นกลุ่มหรือขบวนการทางสังคมมาก่อน แต่เป็นการตั้งต้นจากการรวบรวมความต้องการและนำเสนอแนวนโยบายในช่วงเลือกตั้ง และนำนโยบายที่หาเสียงไว้เหล่านั้นมาดำเนินการเมื่อได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล (Kenny, 2018) ดังจะเห็นว่านโยบายสำคัญ ๆ ที่ทำให้พรรคไทยรักไทยและนายทักษิณ ชินวัตร เป็นที่นิยมของประชาชน ได้แก่ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค นโยบายกองทุนหมู่บ้าน และนโยบายพักหนี้เกษตรกร ล้วนเป็นนโยบายที่ถูกใช้ในการหาเสียงและนำมาพัฒนาต่อเป็นนโยบายของรัฐบาลภายหลังจากที่พรรคไทยรักไทยได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งแล้วทั้งสิ้น (Phongpaichit and Baker, 2008; 2012)
ประชานิยมเชิงยุทธศาสตร์กับการเลือกตั้ง
ถึงแม้ว่าอุดมการณ์ทางการเมืองและนโยบายจะเป็นเรื่องสำคัญต่อการกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศ แต่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอาจจะมิได้มีพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงตามอุดมการณ์หรือลงคะแนนเสียงตามนโยบาย (เหตุผล) เสมอไป การศึกษาจำนวนมาก พบว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยมีพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงในแบบที่เรียกว่าเป็นการ “เลือกเชิงยุทธศาสตร์ (strategic voting)” หมายความว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งมิได้ลงคะแนนเสียงตามความต้องการที่แท้จริงหรือลงคะแนนให้แก่ตัวเลือกที่ชอบมากที่สุดทุกครั้ง แต่การลงคะแนนแต่ละครั้งเกิดจากกระบวนการคิดที่เกี่ยวเนื่องกับการตัดสินใจและการคาดเดาผลลัพธ์ โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะทำการชั่งน้ำหนักหรือคาดคะเนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการลงคะแนนให้แก่ตัวเลือกหนึ่ง ๆ ท่ามกลางตัวเลือกที่มีอยู่ในการเลือกตั้งครั้งนั้น ๆ (Gschwend and Meffert, 2017) ในความหมายนี้ จึงมีความเป็นไปได้ว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์จะไม่ได้เลือกพรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ตนชื่นชอบมากที่สุด เนื่องจากเมื่อชั่งน้ำหนักดูแล้วพรรคหรือผู้สมัครที่ตนชื่นชอบที่สุดนั้นไม่มีโอกาสชนะการเลือกตั้ง แต่อาจเป็นการลงคะแนนให้แก่พรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งใดก็ตามที่มีผลทำให้พรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ตนไม่ชอบมากที่สุดไม่ชนะการเลือกตั้งแทนก็ได้ (Bowler, Karp and Donovan, 2010)
ยุทธวิธีในการสร้างคะแนนนิยมจากประชาชนในช่วงเลือกตั้งที่พรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองเลือกใช้จึงเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองจะต้องทำการวิเคราะห์เพื่อทราบถึงประโยชน์สูงสุดที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละกลุ่มคาดหวังในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง และเลือกใช้วิธีการสร้างคะแนนนิยมที่มุ่งทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิดความเชื่อมั่นว่าการลงคะแนนให้แก่พรรคหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคตนแล้วจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามที่ผู้สิทธิเลือกตั้งเหล่านั้นคาดหวังไว้ (Barr, 2018) ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการลงคะแนนเชิงยุทธศาสตร์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งคือระบบเลือกตั้งซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลโดยตรงต่อการเลือกยุทธวิธีในการสร้างคะแนนนิยมจากประชาชนในช่วงเลือกตั้งของพรรคการเมืองและผู้นำทางการเมือง (Niou, 2001; Burden, 2005; Abramson et al., 2010)
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเมืองแบบประชานิยมคือการสร้างช่องทางการมีส่วนร่วมทางตรงกับประชาชน การเลือกใช้ยุทธวิธีแบบประชานิยมจึงมีลักษณะเฉพาะ และความสำเร็จของการใช้ยุทธวิธีดังกล่าวในการเลือกตั้งต้องอาศัยทั้งลีลา (style) (Mudde and Kaltwasser, 2014) วาทศิลป์ (rhetoric) (Moffitt and Tormey, 2014) และการสื่อสารอย่างมียุทธศาสตร์ (strategic communication) (Bracciale and Martella, 2017) ที่ทรงประสิทธิภาพประกอบเข้าด้วยกัน กล่าวคือ การใช้สิ่งที่เรียกว่า “ลีลาประชานิยม (populist style)” เอาชนะการเลือกตั้งนั้นเป็นการอาศัยผู้นำทางการเมืองที่มีเสน่ห์ (charismatic leader) เป็นทางลัดในการเข้าถึงใจประชาชน โดยบทบาทที่สำคัญของผู้นำทางการเมืองผู้ทรงเสน่ห์ในสายตาประชาชน ณ ช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้งคือการหลอมรวมเจตจำนงของประชาชนมาไว้ในตัวตนของเขาหรือเธออย่างกลมกลืน โดยเฉพาะผ่านการสร้างวาทกรรมที่ดึงเอาความรู้สึกขุ่นข้องหมองใจของประชาชนออกมาสะท้อนให้เห็นจนเกิดเป็นสำนึกร่วมกันระหว่างผู้นำทางการเมืองคนนั้น ๆ กับประชาชนทั่วไป (Hellström, 2016) และใช้วาทศิลป์แบบประชานิยม (populist rhetoric) ซึ่งมีลักษณะมุ่งโจมตีไปที่ผู้ถือครองอำนาจและ/หรือโครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่ไม่เป็นธรรม ร่วมกับการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายและการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อใหม่ (new media) และสื่อสังคมออนไลน์ (social media) อันเป็นลักษณะอันโดดเด่นของ “การสื่อสารแบบประชานิยม (populist communication) ในการระดมพลังจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ตระหนักรับรู้ถึงความเป็นตัวแทนประชาชนของผู้นำทางการเมืองผู้ทรงเสน่ห์นั้น ๆ ประหนึ่งว่าเขาหรือเธอคนนั้นได้เข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจของประชาชนเลยทีเดียว (Rolfe, 2016)
บทบาทของฆวน โดมิงโก เปรอน (Juan Domingo Perón) อูโก ชาเบซ (Hugo Chávez) และเอโบ โมราเลส (Evo Morales) ผู้นำทางการเมืองแบบประชานิยมในละตินอเมริกาเป็นตัวอย่างที่อาจนับเป็นต้นแบบของการใช้ประชานิยมเชิงยุทธศาสตร์เพื่อเอาชนะการเลือกตั้งที่ประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี (De la Torre, 2017) ในขณะที่ปรากฏการณ์ความสำเร็จของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 ของประเทศไทย นับเป็นตัวอย่างล่าสุดตัวอย่างหนึ่งของการใช้ประชานิยมเชิงยุทธศาสตร์อย่างได้ผล กล่าวคือ ในการเลือกตั้งครั้งดังกล่าว นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและบุคคลที่พรรคเสนอชื่อให้เป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีบทบาทสำคัญในการใช้ลักษณะความเป็นผู้นำอันทรงเสน่ห์ (charismatic leadership) ในการระดมพลังสนับสนุนจากประชาชนผ่านคำขวัญ “มีลุง ไม่มีเรา มีเรา ไม่มีลุง” ซึ่งฟังดูเรียบง่าย ติดตลก แต่เข้าถึงความรู้สึกของผู้คนจำนวนมากที่มีความไม่พอใจ เบื่อหน่าย หรือแม้แต่สิ้นหวังกับการปกครองภายใต้รัฐบาลที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเกือบ 10 ปีนับแต่การรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 และต้องการการเปลี่ยนแปลง (McCargo, 2024) คำขวัญดังกล่าวนับเป็นการต่อยอดจากคำขวัญที่พรรคก้าวไกลใช้เริ่มต้นการรณรงค์หาเสียงก่อนหน้านั้นที่ว่า “กาก้าวไกล ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม” (Sawasdee, 2023) และยังนับได้ว่าเป็นคำขวัญที่เป็นที่จดจำมากที่สุดและทรงพลังที่สุดในการสร้างกระแสความนิยมให้แก่นายพิธาและพรรคก้าวไกล และได้กลายเป็นคำขวัญที่นายพิธานำไปใช้ทุกครั้งในการสื่อสารกับประชาชน (หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, 2566) ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลได้ใช้ประโยชน์จากทุกช่องทางการสื่อสารที่สามารถเข้าถึงประชาชนในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นการลงพื้นที่เพื่อเดินพบปะประชาชนและจัดเวทีปราศรัย การเข้าร่วมเวทีประชันวิสัยทัศน์ที่จัดโดยสื่อมวลชนและสถาบัน/องค์กรต่าง ๆ รวมถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ที่เป็นที่นิยมของคนไทย ได้แก่ Facebook YouTube Twitter Tik Tok และแพลตฟอร์มอื่น ๆ แทบจะทุกแพลตฟอร์ม โดยมีการวางยุทธศาสตร์ในการนำเสนอและแพร่กระจายข้อมูลผ่านสื่อหลากหลายรูปแบบดังกล่าวอย่างเป็นระบบและเชื่อมประสานกันทั้งภาคพื้นดิน (on ground) การออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์ (on air) และออนไลน์ (online) (Sinpeng, 2024) ผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นจากการใช้ประชานิยมเชิงยุทธศาสตร์ของพรรคก้าวไกลอย่างได้ผลยังมีส่วนสำคัญทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลออกมารณรงค์เคลื่อนไหวทั้งแบบปัจเจกบุคคลและเป็นกลุ่มเป็นก้อนในลักษณะที่มีการเรียกตัวเองว่าเป็น “หัวคะแนนธรรมชาติ” (Colombier, 2024)
ประชานิยมเชิงอุปถัมภ์และการเลือกตั้ง
การทำความเข้าใจกับยุทธวิธีแบบประชานิยมที่พรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองนำมาใช้ในการเลือกตั้งโดยอาศัยมุมมองที่มีต่อพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งอาจเป็นการลงคะแนนตามอุดมการณ์ที่แต่ละคนยึดถือ การลงคะแนนโดยพิจารณาจากนโยบายที่ตนชื่นชอบ หรือแม้แต่การลงคะแนนเชิงยุทธศาสตร์เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ อาจถูกมองว่าเป็นการทำความเข้าใจแบบแผนพฤติกรรมการลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในประเทศประชาธิปไตยก้าวหน้ามากกว่าประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่และประเทศที่ประชาธิปไตยยังไม่หยั่งรากฝังลึก การศึกษาจำนวนมากในประเทศสองกลุ่มหลัง (ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย) พบว่า พฤติกรรมการลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ภายใต้อิทธิพลของการใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในการสร้างคะแนนนิยมจากประชาชนในช่วงเลือกตั้งของพรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองหรืออาจเรียกว่าเป็นการสถาปนา “ระบบอุปถัมภ์ทางการเมือง” ขึ้นมา
ในความหมายนี้ ยุทธวิธีแบบประชานิยมที่พรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองนำมาใช้เพื่อเอาชนะการเลือกตั้งจึงมิใช่วิธีการแบบดั้งเดิมที่มีลักษณะเป็นซื้อเสียง (vote buying) (Schaffer and Schedler, 2007; Hanusch and Keefer, 2013) การจัดหาสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ส่วนบุคคลหรือผลประโยชน์แก่ชุมชน เช่น เงิน สิ่งของเครื่องใช้ สิ่งปลูกสร้าง สาธารณูปโภค โครงการพัฒนา ฯลฯ เพื่อแลกกับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่พรรคการเมืองหรือผู้สมัคร (Stokes, 2011; Cantú, 2019) หรือการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองหรือผู้นำทางการเมืองกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในรูปแบบผู้อุปถัมภ์กับผู้ใต้อุปถัมภ์ (patron-client relationships) โดยผ่านตัวกลางที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดหรือมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน เช่น ผู้นำชุมชน นักธุรกิจ/นายทุนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ ฯลฯ เพื่อใช้เป็นกลไกในการหาเสียงเลือกตั้ง (Scott, 1972; Keefer and Vlaicu, 2008) แต่พรรคการเมืองหรือผู้นำทางการเมืองแนวประชานิยมจะอาศัยวิธีการเข้าถึงและสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองทางตรงกับประชาชนซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะประการหนึ่งของการใช้ยุทธวิธีแบบประชานิยม ในการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์แบบใหม่ระหว่างพรรคการเมืองหรือผู้นำทางการเมืองกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยไม่จำเป็นต้องผ่านตัวกลางของระบบอุปถัมภ์แบบดั้งเดิม (Kenny, 2017) กล่าวอีกนัยหนึ่ง ยุทธวิธีแบบประชานิยมที่นำมาใช้ในการเลือกตั้งอย่างได้ผลมิใช่การทลายระบบอุปถัมภ์ทางการเมืองซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน แต่เป็นการสถาปนาระบบอุปถัมภ์ทางการเมืองรูปแบบใหม่ที่ลดความสำคัญของตัวกลางลงไปเท่านั้น
ความสำเร็จของพรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองในอินเดียและอีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งทั้งหมดถูกมองว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ระบบอุปถัมภ์ทางการเมืองมีอิทธิพลอย่างสูงต่อชัยชนะในการเลือกตั้งนับเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการนำแนวทางแบบประชานิยมไปใช้สร้างคะแนนนิยมในการเลือกตั้งอย่างได้ผล ดังที่ปรากฏในการเมืองของอินเดียตั้งแต่ยุคที่นางอินทิรา คานธี (Indira Gandhi) ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำพรรค Indian National Congress (INC) เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่แล้ว และได้เข้าไปยกเครื่องระบบอุปถัมภ์ทางการเมืองแบบดั้งเดิมที่พรรคการเมืองของเธอเคยอาศัยผู้นำระดับมลรัฐเป็นตัวกลางในการเชื่อมสัมพันธ์กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ระบบดังกล่าวกลับทำให้พรรค INC อ่อนแอ ในขณะที่ผู้นำพรรคที่จะต้องเข้าไปดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีหากพรรคได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งขาดภาวะผู้นำ เนื่องจากความเป็นอิสระและอำนาจต่อรองที่มีมากของบรรดาผู้นำระดับมลรัฐซึ่งพรรคต้องพึ่งพาในฐานะผู้ดูแลฐานเสียง ยุทธวิธีที่นางอินทิรานำมาใช้นอกเหนือจากการปฏิรูปโครงสร้างภายในพรรคเพื่อลดการพึ่งพาสถานะตัวกลางของผู้นำระดับมลรัฐลงแล้ว ยังได้อาศัยแนวทางแบบประชานิยมในการเข้าถึงและสร้างการสนับสนุนทางตรงจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อาทิ การกำหนดให้ปัญหาความยากจนเป็นวาระแห่งชาติ และนำเสนอแนวนโยบายในการแก้ปัญหาระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี ค.ศ.1971 จนพรรคการเมืองภายใต้การนำของเธอได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย (Kenny, 2017)
ปรากฏการณ์ความสำเร็จของผู้นำทางการเมืองในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดังเช่นกรณีของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน (Susilo Bambang Yudhoyono) อดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซีย และโรดรีโก โรอา ดูแตร์เต (Rodrigo Roa Duterte) อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ในการใช้วิธีการแบบประชานิยมเอาชนะการเลือกตั้งเหนือการเมืองภายใต้ระบบอุปถัมภ์ทางการเมืองแบบดั้งเดิม พร้อมกับการสถาปนาระบบอุปถัมภ์ทางการเมืองในรูปแบบที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเข้าถึงพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล หรือแม้กระทั่งตัวผู้นำทางการเมืองที่ดำรงตำแหน่งสูงสุดในฝ่ายบริหารได้อย่างใกล้ชิดและทางตรงมากขึ้น ทั้งในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งและเมื่อเข้าไปมีอำนาจเป็นรัฐบาลแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่เคยได้รับจากระบบอุปถัมภ์ทางการเมืองแบบดั้งเดิมมาก่อน นับเป็นตัวอย่างของการใช้ยุทธวิธีที่อาศัยแนวทางประชานิยมเชิงอุปถัมภ์ในการระดมพลังทางการเมืองจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จนนำไปสู่การได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น และต่อยอดชัยชนะดังกล่าวผ่านการใช้อำนาจทางการบริหารในการหล่อเลี้ยงให้ระบบอุปถัมภ์ทางการเมืองรูปแบบใหม่ที่สถาปนาขึ้นมานั้นเข้มแข็งมั่นคงยิ่ง ๆ ขึ้น (Kenny, 2018)
สรุปและข้อเสนอแนะ
พรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองที่อาศัยแนวทางประชานิยมเป็นเครื่องมือในการเอาชนะการเลือกตั้งกำลังได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในด้านหนึ่ง ยุทธวิธีแบบประชานิยมที่พรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองนำมาใช้ในการเลือกตั้งทำให้ผลประโยชน์และความต้องการของประชาชนถูกนำไปคิดคำนวณอย่างถี่ถ้วนและรอบด้านมากขึ้น เพื่อให้ได้มาซึ่งคำขวัญ แนวนโยบาย หรือการดำเนินการใด ๆ ก็ตามที่สามารถนำไปใช้ในการรณรงค์หาเสียงเพื่อเอาชนะใจประชาชน แต่ในอีกด้านหนึ่ง การเติบโตของแรงสนับสนุนที่มีต่อพรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองแนวประชานิยมที่มากเกินไปอาจกลายเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงและตั้งมั่นของระบอบประชาธิปไตยได้เช่นเดียวกัน ยุทธวิธีโต้กลับในการดำรงรักษาผลกระทบในเชิงบวกของการใช้แนวทางประชานิยมในการเลือกตั้งพร้อมไปกับการป้องกันผลกระทบในเชิงลบต่อประชาธิปไตยในระยะยาวที่ดีที่สุดทางหนึ่ง คือ การทำความเข้าใจปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการนำยุทธวิธีแบบประชานิยมมาใช้อย่างได้ผลโดยพรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองในบริบทต่าง ๆ ดังที่บทความนี้ได้พยายามนำเสนอมา
ข้อเสนอแนะเบื้องต้นเพื่อทำให้ความเข้าใจและรู้เท่าทันปัจจัยความสำเร็จของการใช้ยุทธวิธีประชานิยมในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองมีอย่างน้อย 3 ประการ คือ ประการแรก การปรับปรุงระบบเลือกตั้งโดยนำแนวคิดที่ช่วยลดโอกาสที่จะเกิดผลลัพธ์ที่นำไปสู่การแบ่งขั้วแยกข้างทางการเมืองอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู พร้อมไปกับการเพิ่มโอกาสให้เสียงของคนเล็กคนน้อยได้มีที่ทางในรัฐสภามากขึ้น เช่น การใช้ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนแทนการใช้ระบบเลือกตั้งตามเสียงข้างมาก การเพิ่มจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนให้มากขึ้นกรณีเลือกใช้ระบบการเลือกตั้งแบบผสม หรือการประยุกต์ใช้วิธีการลงคะแนนแบบจัดอันดับผู้สมัครหรือพรรคการเมืองที่ชื่นชอบจากมากไปหาน้อย แทนการลงคะแนนให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองที่ชอบที่สุดเพียงคนเดียวหรือพรรคเดียว ประการที่สอง การนำวิธีการภายใต้แนวคิดประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (deliberative democracy) มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการตัดสินใจสาธารณะต่าง ๆ เช่น การออกกฎหมาย การกำหนดนโยบายสาธารณะ การวางแผนพัฒนา ฯลฯ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมทางตรงของประชาชนในกลไกการใช้อำนาจทางการเมืองการปกครองที่เป็นทางการอย่างสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังที่ในปัจจุบัน หลายประเทศได้มีการพัฒนาและนำกระบวนการตัดสินใจภายใต้แนวคิดดังกล่าวมาใช้อย่างได้ผล เช่น การนำกระบวนการสภาพลเมือง (Citizens’ Assembly) มาใช้ในการร่างรัฐธรรมนูญของไอร์แลนด์ การใช้กระบวนการริเริ่มเสนอกฎหมายโดยประชาชน (Citizens’ Initiative) ในฟินแลนด์ และการใช้วิธีการสำรวจความคิดเห็นแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Poll) ในกระบวนการนิติบัญญัติของมองโกเลีย (Landemore, 2020) ประการสุดท้าย การมีกลไกหรือมาตรการทางกฎหมายในการกำกับควบคุมการแพร่กระจายข้อมูลอันเป็นเท็จหรือบิดเบือนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งนับวันจะเป็นช่องทางหลักที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้ในการติดตามข้อมูลข่าวสารในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งมากขึ้นเรื่อย ๆ และข้อมูลข่าวสารที่ได้รับผ่านสื่อและสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ นับวันจะยิ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
เอกสารอ้างอิง
ภาษาไทย
หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ. (2566). วิเคราะห์: “มีลุงไม่มีเรา” ขวาง “แลนด์สไลด์” เพื่อไทย หยุด “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ของ พปชร. สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/articles/cmj7kgxy70do>
ภาษาอังกฤษ
Abramson, Paul R., et al. (2010). Comparing Strategic Voting Under FPTP and PR. Comparative Political Studies, 43(1), 61-90.
Abramson, Scott F., Koçak, Korhan, and Magazinnik, Asya. (2022). What do We Learn About Voter Preferences from Conjoint Experiments?. American Journal of Political Science, 66(4), 1008-1020.
Acemoglu, Daron, Georgy Egorov, and Sonin, Konstantin. (2013). A Political Theory of Populism. The Quarterly Journal of Economics, 128(2), 771-805.
Bankert, A., Huddy, L., & Rosema, M. (2017). Measuring Partisanship as a Social Identity in Multi-party Systems. Political Behavior, 39(1), 103–132.
Barr, Robert R. (2018). Populism as a Political Strategy. In Carlos de la Torre (Ed.), Routledge Handbook of Global Populism (pp. 44-56). Oxon: Routledge.
Bartolini, Stefano. (2000). The Political Mobilization of the European Left, 1860-1980: The Class Cleavage. Cambridge: Cambridge University Press.
Boix, Carles. (2010). Electoral Markets, Party Strategies, and Proportional Representation. American Political Science Review, 104(2), 404-413.
Bornschier, Simon. (2017), Populist Mobilization Across Time and Space: An Introduction. Swiss Political Science Review, 23(4), 301-312.
Boscán, Guillermo, Llamazares, Iván, and Wiesehomeier, Nina. (2018). Populist Attitudes, Policy Preferences, and Party Systems in Spain, France, and Italy. Revista Internacional de Sociología, 76(4), e110.
Bowler, Shaun, Karp, Jeffrey A., and Donovan, Todd. (2010). Strategic Coalition Voting: Evidence from New Zealand. Electoral Studies, 29(3), 50-357.
Bracciale, Roberta, and Martella, Antonio. (2017). Define the Populist Political Communication Style: the Case of Italian Political Leaders on Twitter. Information, Communication & Society, 20(9), 1310-1329.
Brader, Ted, Joshua A. Tucker, and Dominik Duell. (2013). Which Parties can Lead Opinion? Experimental Evidence on Partisan Cue Taking in Multiparty Democracies. Comparative Political Studies, 46(11), 1485-1517.
Burden, Barry C. (2005). Minor Parties and Strategic Voting in Recent US Presidential Elections. Electoral Studies, 24(4), 603-618.
Cantú, Francisco. (2019). Groceries for Votes: The Electoral Returns of Vote Buying. The Journal of Politics, 81(3), 790-804.
Caramani, Daniele. (2017). Will vs. Reason: The Populist and Technocratic forms of Political Representation and Their Critique to Party Government. American Political Science Review, 111(1), 54-67.
Chapman, Emilee Booth. (2020). New Challenges for a Normative Theory of Parties and Partisanship. Representation, 1-16.
Clarke, John, and Newman, Janet. (2017). People in This Country have had Enough of Experts’: Brexit and the Paradoxes of Populism. Critical Policy Studies, 11(1), 101-116.
Colombier, Alexandra. (2024). How Thailand’s Move Forward Party’s Fandom Strategy Shaped the 2023 General Election. Singapore: ISEAS-Yusof Ishak Institute.
Conti, Nicolò, and Memoli, Vincenzo. (2015), The Emergence of a New Party in the Italian Party System: Rise and Fortunes of the Five Star Movement. West European Politics, 38(3), 516-534.
Cox, Gary W. (2015). Electoral Rules, Mobilization, and Turnout. Annual Review of Political Science, 18(1), 49-68.
Cruz, Cesi, Keefer, Philip, Labonne, Julien, and Trebbi, Francesco. (2024). Making Policies Matter: Voter Responses to Campaign Promises. The Economic Journal, 134(661), 1875–1913.
Daley, Anthony. (Ed.). (1996). The Mitterrand Era: Policy Alternatives and Political Mobilization in France. London: Palgrave Macmillan Limited.
Dalton, Russell J. (2006). Partisan Mobilization, Cognitive Mobilization and the Changing American Electorate. Electoral Studies, 26(2), 274-286.
De la Torre, Carlos. (2017). Populism and Nationalism in Latin America. Javnost-The Public, 24(4), 375-390.
De Leon, Cedric. (2014). Party and Society. Oxford: John Wiley & Sons.
Dulani, Boniface, et al. (2021). Electoral Preferences Among Multiethnic Voters in Africa. Comparative Political Studies, 54(2), 280-311.
Endersby, J., Petrocik, J., & Shaw, D. (2006). Electoral Mobilization in the United States. In Richard S. Katz and William Crotty (Eds.), Handbook of Party Politics (pp. 316-36). London: SAGE.
Ford, Robert, and Jennings, William. (2020). The Changing Cleavage Politics of Western Europe. Annual Review of Political Science, 23, 295-314.
Franzosi, Paolo, Marone, Francesco and Salvati, Eugenio. (2015). Populism and Euroscepticism in the Italian Five Star Movement. The International Spectator, 50(2), 109-124.
Gschwend, Thomas, and Meffert, Michael F. (2017). Strategic Voting. In Kai Arheimer, Jocelyn Evans and Michael S Lewis-Beck (Eds.), The Sage Handbook of Electoral Behaviour (pp. 339-366). Los Angeles: SAGE.
Guriev, Sergei, and Papaioannou, Elias. (2022). The Political Economy of Populism. Journal of Economic Literature, 60(3), 753-832.
Hagopian, Frances. (2009). Parties and Voters in Emerging Democracies. In Carles Boix and Susan C. Stokes (Eds), The Oxford Handbook of Comparative Politics (pp. 604-627). New York: Oxford University Press.
Hanusch, Marek, and Keefer, Philip. (2013). Promises, Promises: Vote-buying and the Electoral Mobilization Strategies of Non-credible Politicians. World Bank Policy Research Working Paper, (6653).
Hawkins, K., & Selway, J. (2017). Thaksin the Populist?. Chinese Political Science Review, 2, 372-394.
Hellström, Anders. (2016). Trust us: Reproducing the Nation and the Scandinavian Nationalist Populist Parties. New York: Berghahn Books.
Hewison, Kevin. (2017). Reluctant Populists: Learning Populism in Thailand. International Political Science Review, 38(4), 426-440.
Holbrook, Thomas M., and McClurg, Scott D. (2005). The Mobilization of Core Supporters: Campaigns, Turnout, and Electoral Composition in United States Presidential Elections. American Journal of Political Science, 49(4), 689-703.
Huang, Kai-Ping, and Thananithichot, Stithorn. (2018). Social Divisions, Party Support, and the Changes in the Thai Party System since 2001. International Area Studies Review, 21(3), 214-230.
Jansen, Robert S. (2011). Populist Mobilization: A New Theoretical Approach to Populism. Sociological Theory, 29(2), 75-96.
Kazin, Michael. (2016). Trump and American Populism: Old Whine, New Bottles. Foreign Affairs, 95, 17.
Keefer, Philip, and Vlaicu, Razvan. (2008). Democracy, Credibility, and Clientelism. The Journal of Law, Economics, & Organization, 24(2), 371-406.
Kenny, Paul D. (2017). Populism and Patronage: Why Populists Win Elections in India, Asia, and Eeyond. Oxford: Oxford University Press.
Kenny, Paul D. (2018). Populism in Southeast Asia. Cambridge: Cambridge University Press,
Krishan, Shri. (2005). Political Mobilization and Identity in Western India, 1934-47. New Delhi: Sage.
Laclau, Ernesto. (2005). Populism: What’s in a Name. Populism and the Mirror of Democracy, 103-114.
Landemore, Hélène. "Open democracy: Reinventing popular rule for the twenty-first century." (2020): 1-272.
Levitsky, S. and R.M. Roberts. (2011). Latin America's “Left Turn”: A Framework for Analysis. In Levitsky, S. and K.M. Roberts (eds.), The Resurgence of the Latin American Left (pp. 1-28). Baltimore: Johns Hopkins University Press.
Lupu, Noam. (2015). Party Polarization and Mass Partisanship: A Comparative Perspective. Political Behavior, 37(2), 331-356.
Marquette, Jesse F. (1974). Social Change and Political Mobilization in the United States: 1870-1960. The American Political Science Review, 68(3), 1058-10574.
McCargo, Duncan. (2024). The Real Deal: Results versus Outcomes of the 2023 Thai General Election. Pacific Affairs, 97(1), 79-98.
McDonald, Jared. (2023). Feeling Their Pain: Why Voters Want Leaders who Care. New York: Oxford University Press.
McGann, Anthony. (2016). Voting Choice and Rational Choice. Oxford Research Encyclopedia of Politics. doi: 10.1093/acrefore/9780190228637.013.79.
McKeever, D. (2020). Exiled Activism: Political Mobilization in Egypt and England. Oxon: Routledge.
Miller, Warren Edward, J. Merrill Shanks, and Robert Y. Shapiro. (1996). The New American Voter. Cambridge, MA: Harvard University Press,
Moffitt, Benjamin, and Tormey, Simon. (2014). Rethinking Populism: Politics, Mediatisation and Political Style. Political studies, 62(2), 381-397.
Mudde, Cas. (2004). The Populist Zeitgeist. Government and Opposition, 39(4), 541-563.
Mudde, Cas. (2015). Populist Radical Right Parties in Europe Today. In John Abromeit, York Norman, Gary Marotta and Bridget María Chesterton, (Eds.), Transformations of Populism in Europe and the Americas: History and Recent Trends (pp. 295-307). London: Bloomsbury Acadmic.
Mudde, Cas, and Kaltwasser, Cristóbal R. (2014). Populism and Political Leadership. Oxford: Oxford University Press,
Mudde, Cas, and Kaltwasser, Cristóbal Rovira. (2013). Exclusionary vs. Inclusionary Populism: Comparing Contemporary Europe and Latin America. Government and opposition, 48(2), 147-174.
Mudde, Cas, and Kaltwasser, Cristóbal Rovira. (2017). Populism: A Very Short Introduction. New York: Oxford University Press,
Niou, Emerson MS. (2001). Strategic Voting Under Plurality and Runoff Rules. Journal of Theoretical Politics, 13(2), 209-227.
Pacewicz, Josh. (2023). When Is Populism Good for Liberal Democracy?. Sociological Theory, 41(2), 129-153.
Pappas, Takis. (2019a). Populism and Liberal Democracy. Oxford: Oxford University Press.
Pappas, Takis S. (2019b). Populists in Power. Journal of Democracy, 30(2), 70-84.
Phongpaichit, Pasuk, and Baker, Chris. (2008). Thaksin's Populism. Journal of Contemporary Asia, 38(1), 62-83.
Phongpaichit, Pasuk, and Baker, Chris. (2012). Populist Challenge to the Establishment: Thaksin Shinawatra and the Transformation of Thai Politics. In Richard Robison (Ed.), Routledge Handbook of Southeast Asian Politics (pp. 83-96). London: Routledge.
Piombo, Jessica. (2009). Institutions, Ethnicity, and Political Mobilization in South Africa. New York: Palgrave Macmillan.
Roberts, Kenneth M. (2022). Populism and Polarization in Comparative perspective: Constitutive, spatial and institutional dimensions. Government and Opposition, 57(4), 680-702.
Rodrik, Dani. (2017). Populism and the Economics of Globalization. (No. w23559). Cambridge: National Bureau of Economic Research.
Rodrik, Dani. (2021). Why does Globalization Fuel Populism? Economics, Culture, and the Rise of Right-wing Populism. Annual Review of Economics, 13(1), 133-170.
Rohrschneider, Robert. (2002). Mobilizing Versus Chasing: How do Parties Target Voters in Election Campaigns?. Electoral Studies, 21(3), 367-382.
Rolfe, Mark. (2016). Reinvention of Populist Rhetoric in the Digital Age. Basingstoke: Palgrave Macmillan.
Rooduijn, Matthijs. (2018). What Unites the Voter Bases of Populist Parties? Comparing the Electorates of 15 Populist Parties. European Political Science Review, 10(3), 351-368.
Rooduijn, M., De Lange, S. L., & van der Brug, W. (2014). A Populist Zeitgeist? Programmatic Contagion by Populist Parties in Western Europe. Party Politics, 20(4), 563–575.
Rooduijn, Matthijs, et al. (2023). The PopuList: A Database of Populist, Far-left, and Far-right Parties Using Expert-informed Qualitative Comparative Classification (EiQCC). British Journal of Political Science, 1-10.
Sawasdee, Siripan Nogsuan. (2023). Thailand’s 2023 General Election: Process, Key Issues, and Future Trajectories. Current Electoral Processes in Southeast Asia. Regional Learnings, 45.
Scarrow, Susan. (2015). Beyond Party Members: Changing Approaches to Partisan Mobilization. Oxford: Oxford University Press.
Schaffer, Frederic Charles, and Schedler, Andreas. (2007). What is Vote Buying?. In Frederic Charles Schaffer (Ed.), Elections for Sale: The Causes and Consequences of Vote Buying (pp. 17-30). Boulder, Colo: Lynne Rienner Publishers.
Schneiker, Andrea. (2020). Populist Leadership: The Superhero Donald Trump as Savior in Times of Crisis. Political Studies, 68(4), 857-874.
Schröder, Valentin, and Manow, Philip. (2020). An Intra-party Account of Electoral System Choice. Political Science Research and Methods, 8(2), 251-267.
Scott, James C. (1972), Patron-client Politics and Political Change in Southeast Asia. American Political Science Review, 66(1), 91-113.
Silva, Bruno Castanho, Neuner, Fabian Guy and Wratil, Christopher. (2023), Populism and Candidate Support in the US: The Effects of “Thin” and “Host” Ideology. Journal of Experimental Political Science, 10(3), 438-447.
Sinpeng, Aim. (2024). Social Media and the DIY Politics in Thailand's 2023 Election. Pacific Affairs, 97(1), 99-116.
Stokes, Susan C. (2011). Political Clientelism. In Robert E. Goodin (Ed.), The Oxford Handbook of Political Science (pp. 648-672). Oxford: Oxford University Press.
Tarrow, S. (1995). Mass Mobilization and Elite Exchange: Democratization Episodes in Italy and Spain. Democratization, 2(3), 221-245.
Thachil, Tariq. (2014). Elite Parties, Poor Voters : How Social Services Win Votes in India. Cambridge: Cambridge University Press.
The Guardian. (2018). Eurosceptic Italy in Race to form Majority Government. Retrieved from https://www.theguardian.com/world/2018/mar/05/italy-turns-back-on-europe-as-election-points-to-hung-parliament
Tilley, James, Garry, John, and Matthews, Neil. (2021). The Evolution of Party Policy and Cleavage Voting Under Power-sharing in Northern Ireland. Government and Opposition, 56(2), 226-244.
Tilly, Charles. (2017). From Mobilization to Revolution. In Charles Tilly, Ernesto Castañeda and Cathy Lisa Schneider (Eds.), Collective Violence, Contentious Politics, and Social Change (pp. 71-91). New York: Routledge.
Tronconi, Filippo. (2018). The Italian Five Star Movement During the Crisis: Towards Normalisation?. South European Society and Politics, 23(1), 163–180.
Van der Brug, Wouter. (2010). Structural and Ideological Voting in Age Cohorts. West European Politics, 33(3), 586-607.
Von Schoultz, Åsa, and Papageorgiou, Achillefs. (2021). Policy or Person? The Electoral Value of Policy Positions and Personal Attributes in the Finnish Open-list System. Party Politics, 27(4), 767-778.
Weyland, Kurt. (2001). Clarifying a Contested Concept: Populism in the Study of Latin American Politics. Comparative politics, 34(1), 1-22.
[1] ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย
[2] ดูตัวอย่างการศึกษาใหม่ๆ เช่น Brader, Tucker, and Duell (2013) Lupu (2015) Bankert, Huddy, and Rosema (2017) เป็นต้น
[3] ข้อความนี้แปลจากประโยคที่ว่า “…an ideology that considers society to be ultimately separated into two homogeneous and antagonistic groups, ‘the pure people’ versus ‘the corrupt elite’, and which argues that politics should be an expression of the volonté générale (general will) of the people.” ของ Mudde (2004, p. 543)
[4] ดูตัวอย่างงานชิ้นใหม่ ๆ เช่น Von Schoultz and Papageorgiou (2021) Tilley, Garry, and Matthews (2021) Dulani, et al. (2021), Cruz, et al. (2024) เป็นต้น index.php?title=หมวดหมู่:การเลือกตั้ง index.php?title=หมวดหมู่:สารานุกรม คำศัพท์ต่าง ๆ