การหาได้รายของท้องถิ่น : กรณีตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่น
ผู้เรียบเรียง : เอกวีร์ มีสุข
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
การหารายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของการคลังท้องถิ่น (local finance) จากตัวอย่างในต่างประเทศจะพบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งได้สร้างและพัฒนานวัตกรรมทางการคลังและงบประมาณอันโดดเด่นที่แตกต่างกัน แต่มีเป้าหมายสำคัญที่มุ่งสร้างความเป็นอิสระของการคลังและงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถพึ่งพาตนเองทางด้านการเงินในการหารายได้เพื่อใช้จ่ายในกิจการของท้องถิ่นเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและการพัฒนา ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่มีระดับการกระจายอำนาจทางการคลังที่สูงและมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สามารถพัฒนาการจัดเก็บรายได้ที่น่าสนใจ
ภาพรวมการคลังและการหารายได้ของท้องถิ่นในประเทศญี่ปุ่น
กรอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายเป็นกฎหมายหลักที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาการคลังและการพัฒนาท้องถิ่น รัฐธรรมนูญแห่งประเทศญี่ปุ่น ค.ศ. 1947 หมวด 8 การปกครองตนเองของท้องถิ่น (Local Self-Government) ที่มีเพียง 4 มาตรา โดยมาตรา 94 กำหนดเรื่องความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้านการจัดการทรัพย์สินและกิจการต่าง ๆ ว่า “ให้หน่วยงานสาธารณะท้องถิ่น มีสิทธิจัดการทรัพย์สินกิจการต่าง ๆ และการบริหารของตน และตรากฎระเบียบต่าง ๆ ของตนภายใต้บังคับของกฎหมาย” (Article 94 Local public entities shall have the right to manage their property, affairs and administration and to enact their own regulations within law.) กรอบทางรัฐธรรมนูญดังกล่าวนำไปสู่การออกกฎหมายการปกครองส่วนท้องถิ่น ค.ศ. 1947 (Local Autonomy Law 1947) เพื่อกำหนดโครงสร้างและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคลังและงบประมาณท้องถิ่นอีกหลายฉบับ[1]
ภาพรวมด้านการคลังและการงบประมาณของประเทศญี่ปุ่นจะเห็นได้ว่าการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (gross domestic product-nominal) เป็นสัดส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากกว่าสัดส่วนของรัฐบาลกลาง โดยใน ค.ศ. 2020 ในระดับท้องถิ่นคิดเป็น 65,471 พันล้านเยน ขณะที่ของรัฐบาลกลางมีเพียง 25,466 พันล้านเยน โดยแนวโน้มช่วง 10 ปี ย้อนหลังตั้งแต่ ค.ศ. 2010-2020 รายจ่ายงบประมาณของท้องถิ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 55,475 พันล้านเยนใน ค.ศ. 2010 เพิ่มเป็น 63,471 พันล้านเลยใน ค.ศ. 2020 อย่างไรก็ตามภาพรวมการใช้จ่ายของภาครัฐมีปริมาณน้อยกว่าภาคเอกชน แต่ข้อมูลทางสถิติใน ค.ศ. 2020 สามารถสรุปได้ว่าในส่วนของการใช้จ่ายของรัฐ องค์ปกครองส่วนท้องถิ่นมีขนาดและปริมาณการใช้จ่ายที่ส่งผลต่อประเทศมากกว่ารัฐบาลกลาง โดยท้องถิ่นคิดเป็น ร้อยละ 43.9 ขณะที่รัฐบาลกลางมีเพียง ร้อยละ 17.6[2]
เมื่อพิจารณาจากแหล่งรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศญี่ปุ่นพบว่ารายได้หลักของท้องถิ่นจะมาจากภาษีทั้งที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง (local tax) และที่รัฐบาลกลางจัดเก็บให้อย่างภาษีอุดหนุนให้ท้องถิ่น (local allocation tax) และภาษีที่รัฐโอนให้กับท้องถิ่น (local transfer tax) จากข้อมูลใน ค.ศ. 2020 รายได้จากภาษีคิดเป็น ร้อยละ 46.3 ของรายได้ทั้งหมด[3] และแนวโน้มรายได้จากภาษีของท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาจาก 54.0 ล้านล้านเยนใน ค.ศ. 2010 เพิ่มเป็น 60.3 ล้านล้านเยนใน ค.ศ. 2020[4]
ตารางที่ 1 : ภาพรวมแหล่งรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นญี่ปุ่น ค.ศ. 2020
|
จำนวน (พันล้านเยน) |
ร้อยละ |
1. รายได้จากภาษี (general revenue resource) |
60,272.5 |
46.3 |
1.1 ภาษีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บเอง (local tax) |
40,825.6 |
31.4 |
1.2 ภาษีอุดหนุนให้ท้องถิ่น (local allocation tax) |
16,989.0 |
13.1 |
1.3 ภาษีที่รัฐโอนให้กับท้องถิ่น (local transfer tax) |
2,232.3 |
1.7 |
1.4 เงินชดเชยพิเศษจากการลดภาษี (special local grants) |
225.6 |
0.2 |
2. เงินอุดหนุนของรัฐบาลให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (national treasury disbursement) |
37,455.7 |
28.8 |
3. พันธบัตรท้องถิ่น (local bond) |
12,260.7 |
9.4 |
3.1 พันธบัตรสำหรับมาตรการทางการเงินพิเศษ (Bonds for the extraordinary financial measures) |
3,111.6 |
2.4 |
4. รายได้จากแหล่งอื่น (Other revenue resources) |
20,058.3 |
15.5 |
รวม |
130,047.2 |
100.0 |
ที่มา : Ministry of Internal Affairs and Communications, White Paper on Local Public Finance, 2022 (Tokyo: Financial Management Division, Local Public Finance Bureau, Ministry of Internal Affairs and Communications, 2022), 7, https://www.soumu.go.jp/iken/zaisei/r04data/chihouzaisei_2022_en.pdf.
การหารายได้จากภาษีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศญี่ปุ่น
แหล่งรายได้สำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศญี่ปุ่นจากภาษีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บเอง (local tax) ในสัดส่วนที่สูงโดยใน ค.ศ. 2020 เป็นรายได้ที่คิดเป็น ร้อยละ 31.3 ของรายได้ที่ท้องถิ่นได้รับทั้งหมด[5] โดยประเภทของภาษีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บเองมี 5 ประเภท ดังนี้
1) ภาษีเพื่อการอยู่อาศัย (local inhabitants tax) เป็นภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ภายในท้องถิ่นและจัดเก็บจากนิติบุคคลที่ตั้งอยู่ในท้องถิ่น เกณฑ์การคำนวณ์ภาษีเพื่อการอยู่อาศัยจะอาศัยรายได้ของบุคคลธรรมดาหรือรายได้ของนิติบุคคลเป็นเกณฑ์การคำนวณจำนวนภาษีที่จะจัดเก็บ
2) ภาษีอสังหาริมทรัพย์ (property tax) เป็นภาษีที่จัดเก็บจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ภายในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกณฑ์การจัดเก็บจะคำนวณจากมูลค่าของที่ดินและทรัพย์สินที่บุคคลเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์
3) ภาษีการบริโภคของท้องถิ่น (local consumption tax) เป็นภาษีที่จัดเก็บจากการเคลื่อนย้ายทุนและทรัพย์สินระหว่างพื้นที่ของผู้ดำเนินธุรกิจในรูปบริษัทและวิสาหิจ รวมถึงการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวกับการนำเข้าทุนหรือทรัพย์สินจากต่างประเทศเพื่อใช้ในการผลิตตามที่กฎหมายกำหนด ภาษีการบริโภคของท้องถิ่นจัดเก็บครั้งแรกใน ค.ศ. 1997
4) ภาษีบุหรี่ (tobacco tax) เป็นภาษีที่จัดเก็บจากผู้ผลิตและผู้ค้าส่งบุหรี่ เกณฑ์การจัดเก็บจะมาจากการกำหนดอัตราการจัดเก็บต่อจำนวนซองบุหรี่ ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าอัตราการจัดเก็บภาษีบุหรี่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากนโยบายการรณรงค์เพื่องดการสูบบุหรี่ การขึ้นอัตราภาษีจึงเป็นไปเพื่อรักษาสัดส่วนรายได้ไว้
5) ภาษีรถยนต์ (automobile) เป็นภาษีที่จัดเก็บจากเจ้าของรถยนต์โดยได้มีการจัดเก็บเป็นรายปี แบ่งตามเกณฑ์การคิดคำนวนอัตราภาษีตามประเภทของรถยนต์ แบ่งออกเป็น รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถยนต์บรรทุก รถยนต์โดยสาร ฯลฯ และแบ่งตามความจุของกระบอกสูบ[6]
นอกจากนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังได้รับรายได้จากภาษีที่รัฐบาลเป็นผู้จัดเก็บแต่มีการจัดสรรให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก 3 ประเภท คือ
1) ภาษีอุดหนุนให้ท้องถิ่น (local allocation tax) คือ ภาษีที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้เพียงพอในการจัดบริการสาธารณะและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องนำรายได้จากภาษีตัวนี้ไปใช้ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ภาษีประเภทนี้จะไม่ได้กำหนดวัตถุประสงค์เฉพาะสำหรับการใช้จ่ายในกิจการใดเป็นพิเศษ ภาษีที่จัดอยู่ในกลุ่มภาษีอุดหนุนให้แก่ท้องถิ่นจะมีหลายประเภทแยกย่อยตามแหล่งภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บ ซึ่งภาษีแต่ละประเภทจะกำหนดสัดส่วนที่แบ่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแตกต่างกัน ทั้งนี้โดยทั่วไปภาษีอุดหนุนให้ท้องถิ่นรัฐบาลจะจัดสรรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละปีคิดเป็น ร้อยละ 94 ของภาษีอุดหนุนให้ท้องถิ่น และรัฐบาลจะกันภาษีนี้ไว้เพื่อจัดสรรในกรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินอีก ร้อยละ 6 โดยใน ค.ศ. 2020 รายได้จากภาษีอุดหนุนให้ท้องถิ่นคิดเป็น ร้อยละ 13.1 ของรายได้ที่ท้องถิ่นได้รับท้องหมด[7]
ภาษีอุดหนุนให้แก่ท้องถิ่นมีหลายประเภทและแต่ละประเภทจะกำหนดสัดส่วนร้อยละของรายได้ที่จัดเก็บเพื่อจัดสรรให้ท้องถิ่นแตกต่างกัน ได้แก่
1.1) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (individual income tax) จัดสรรคืนให้ท้องถิ่น ร้อยละ 33.1
1.2) ภาษีรายได้ธุรกิจ (corporate income tax) จัดสรรคืนให้ท้องถิ่น ร้อยละ 33.1
1.3) ภาษีสุรา (liquor tax) จัดสรรคืนให้ท้องถิ่น ร้อยละ 50
1.4) ภาษีการบริโภค (consumption tax) จัดสรรคืนให้ท้องถิ่น ร้อยละ 19.5 และ
1.5) ภาษีรายได้ธุรกิจท้องถิ่น (local corporate tax) จัดสรรคืนให้ท้องถิ่น ร้อยละ 100[8]
นอกจากนี้การจัดสรรภาษีอุดหนุนให้ท้องถิ่นจะคำนึงถึงขนาดและจำนวนประชากรของท้องถิ่นแต่ละแห่ง โดยท้องถิ่นใดที่มีขนาด/จำนวนประชากรน้อยจะได้รับภาษีอุดหนุนให้ท้องถิ่นในสัด่วนที่สูงกว่าท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่กว่า กล่าวคือภาษีตัวนี้ทำหน้าที่แก้ไขความไม่สมดุลทางด้านการจัดเก็บรายได้ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและทำให้มั่นใจได้ว่าท้องถิ่นจะมีศักยภาพทางการคลังที่เพียงพอในการจัดบริการสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐานแก่ผู้อยู่อาศัยได้อย่างมีมาตรฐานไม่แตกต่างกันทั้งประเทศ[9]
2) ภาษีที่รัฐโอนให้กับท้องถิ่น (local transfer tax) คือ ภาษีที่แม้รัฐบาลกลางจะจัดสรรให้ท้องถิ่นก็จริงแต่จะกำหนดวัตถุประสงค์เฉพาะสำหรับการใช้จ่ายไว้อย่างชัดเจนว่าจะให้เป็นค่าใช้จ่ายของกิจการใด โดยภาษีที่รัฐโอนให้ท้องถิ่นแบ่งออกเป็นหลายประเภทและมีการกำหนดวัตถุประสงค์การใช้จ่ายไว้ด้วย ตัวอย่างภาษีที่รัฐโอนให้ท้องถิ่นอาทิ ภาษีระวางพาหนะที่มีเครื่องยนต์ ภาษีน้ำมัน (เพื่อใช้บำรุงทางและถนน) ภาษีเชื้อเพลิงการบิน (เพื่อกิจการสนามบิน) เป็นต้น[10] โดยใน ค.ศ. 2020 รายได้จากภาษีที่รัฐโอนให้กับท้องถิ่นคิดเป็น ร้อยละ 1.7 ของรายได้ที่ท้องถิ่นได้รับทั้งหมด[11]
3) เงินชดเชยพิเศษจากการลดภาษี (special local grants) คือ เงินชดเชยพิเศษที่จัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้ครอบคลุมรายได้ทั้งหมดอันเกิดจากการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนที่ลดลงเนื่องจากการใช้นโยบายลดภาษีท้องถิ่น เช่น การลดภาษีพิเศษสำหรับเงินกู้ที่อยู่อาศัยในภาษีเพื่อการอยู่อาศัย การชดเชยจากการลดภาษีเพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อมจากการใช้รถที่สะอาดอย่างภาษีสิ่งแวดล้อมรถยนต์ (auto mobile environmental performance tax) และภาษีสิ่งแวดล้อมยานพาหนะเบา light vehicle environmental performance tax) เป็นต้น[12]
การหารายได้ด้วยช่องทางอื่นที่ไม่ใช่ภาษีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศญี่ปุ่น
รายได้ที่มิใช่ภาษีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศญี่ปุ่น สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1) เงินอุดหนุนของรัฐบาลให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (national treasury disbursement) เป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางผ่านการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามกระทรวงต่าง ๆ เงินอุดหนุนประเภทนี้จะกำหนดวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายและการดำเนินโครงการไว้อย่างชัดเจนจากกระทรวงของรัฐบาลกลางเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องนำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่ายตามแนวทางที่กำหนด เป้าหมายของการมีเงินอุดหนุนของรัฐบาลให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเนื่องจาก
- เพื่ออุดหนุนการจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ดำเนินงานได้ตามมาตรฐานและเป็นแบบแปนเดียวกันตามที่กฎหมายกำหนด
- เพื่อจูงใจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำแผนงานหรือโครงการที่สอดคล้องกับนโยบาย แผนงาน และเป้าหมายของรัฐบาลญี่ปุ่นที่กำหนดขึ้นในแต่ละปีงบประมาณ[13]
จากข้อมูลใน ค.ศ. 2020 รายได้จากเงินอุดหนุนนี้มี จำนวน 20,058 พันล้านเยน คิดเป็น ร้อยละ 15.5 ของรายได้ท้องถิ่นทั้งหมด[14]
2) เงินกู้ยืม (borrowing) และการออกพันธบัตรท้องถิ่น (local bond) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถออกพันธบัตรเพื่อกู้ยืมเงินจากเอกชนและสาธารณะได้ โดยขั้นตอนการออกพันธบัตรท้องถิ่นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลกลาง โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบบเทศบาล (municipality) ต้องได้รับความเห็นชอบจากจังหวัด (prefecture) ก่อนแล้วถึงจะเสนอขออนุมัติให้รัฐบาลกลางเห็นชอบ ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างจังหวัดต้องเสนอเรื่องการออกพันธบัตรโดยตรงต่อรัฐบาลกลาง การออกพันธบัตรจะเกิดขึ้นได้ต้องคำนึงถึงสภาวะและความมั่นคงทางการเงินการคลังขององค์กรท้องถิ่นเองด้วย[15] จำนวนเงินกู้และการออกพันธบัตรของท้องถิ่นมีทิศทางคงที่โดยช่วง ค.ศ. 2010-2020 คิดเฉลี่ยประมาณ 137 ล้านล้านเยน โดยใน ค.ศ. 2020 มีจำนวน 139.381 ล้านล้านเยน[16]
3) รายได้จากแหล่งอื่น (Other revenue resources) ที่มาจากค่าบริการในการจัดทำบริการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เงินจากการบริจาคและรายได้จากการประกอบกิจการที่สร้างรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือการมีทรัพย์สินให้เช่าเพื่อเก็บค่าเช่าและผลประโยชน์ เป็นต้น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ารายได้ส่วนนี้มีจำนวนที่ค่อนข้างคงที่นับแต่ ค.ศ. 2010 โดยคิดเป็น ร้อยละ 15 ของรายได้ทั้งหมดในแต่ละปี ใน ค.ศ. 2010 มีรายได้จากแหล่งอื่น 20.1 ล้านล้านเยน คิดเป็น ร้อยละ 15.5 ของรายได้ทั้งหมด[17]
กิจการพาณิชย์ท้องถิ่น (local public enterprise) เป็นกิจการหนึ่งที่เป็นช่องทางการสร้างรายได้เสริมให้กับท้องถิ่นในประเทศญี่ปุ่นที่ถือเป็นบริการสาธารณะที่มีการจัดเก็บค่าบริการเพื่อหารายได้ อาทิ กิจการน้ำประปา การบำบัดน้ำเสีย โรงพยาบาล ที่จอดรถ การพัฒนาที่อยู่อาศัย การคมนาคมและขนส่งมวลชน เป็นต้น จากข้อมูลใน ค.ศ. 2020 มีกิจการพาณิชย์ท้องถิ่น จำนวน 8,165 แห่ง โดยส่วนใหญ่จะดำเนินงานในด้านกิจการบำบัดน้ำเสีย กิจการน้ำประปา และกิจการสถานพยาบาล ทั้งนี้กิจการพาณิชย์โดยรวมมีรายได้ส่วนเกินเป็นผลกำไรให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง โดยใน ค.ศ. 2020 สร้างผลกำไรที่ 696.2 พันล้านเยน[18]
บรรณานุกรม
Ministry of Internal Affairs and Communications. White Paper on Local Public Finance, 2022. Tokyo: Financial Management Division, Local Public Finance Bureau, Ministry of Internal Affairs and Communications, 2022.
ประเสริฐ จิตติวัฒนพงศ์. "การปกครองท้องถิ่นและการเลือกตั้งท้องถิ่นในญี่ปุ่น." วารสารพัฒนบริหารศาสตร์ 29, no. 2 (เมษายน - มิถุนายน 2532): 133-86.
ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์. การปกครองท้องถิ่น: มุมมองจากประเทศฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และไทย. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2563.
อ้างอิง
[1] คำแปลรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นมาตรา 94 มาจาก ประเสริฐ จิตติวัฒนพงศ์, "การปกครองท้องถิ่นและการเลือกตั้งท้องถิ่นในญี่ปุ่น," วารสารพัฒนบริหารศาสตร์ 29, no. 2 (เมษายน - มิถุนายน 2532).
[2] Ministry of Internal Affairs and Communications, White Paper on Local Public Finance, 2022 (Tokyo: Financial Management Division, Local Public Finance Bureau, Ministry of Internal Affairs and Communications, 2022), 3, https://www.soumu.go.jp/iken/zaisei/r04data/chihouzaisei_2022_en.pdf.
[3] Ministry of Internal Affairs and Communications, 7.
[4] Ministry of Internal Affairs and Communications, 9. แต่ในค.ศ.2020 เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนพบว่ารายได้จากภาษีมีสัดส่วนลดลงเป็นครั้งแรก เนื่องจากเป็นปีที่รัฐบาลได้ให้เงินอุดหนุน (national treasury disbursement) เพิ่มขึ้นมากกว่าปีค.ศ.2019 มากกว่าเท่าตัว แม้ว่าในเชิงจำนวนการจัดเก็บรายได้จากภาษีจะคงที่ แต่ในเชิงสัดส่วนกลับลดลง
[5] Ministry of Internal Affairs and Communications, 7.
[6] ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์, การปกครองท้องถิ่น: มุมมองจากประเทศฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และไทย (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2563), 159-60.
[7] Ministry of Internal Affairs and Communications, 7.
[8] Ministry of Internal Affairs and Communications, 13.
[9] Ministry of Internal Affairs and Communications, 13.
[10] ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์, 160-61.
[11] Ministry of Internal Affairs and Communications, 7.
[12] Ministry of Internal Affairs and Communications, 7.
[13] ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์, 161.
[14] Ministry of Internal Affairs and Communications, 7.
[15] ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์, 161-62.
[16] Ministry of Internal Affairs and Communications, 26.
[17] Ministry of Internal Affairs and Communications, 9.
[18] Ministry of Internal Affairs and Communications, 28-29.