สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 12:34, 14 กรกฎาคม 2566 โดย Trikao (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ศิวพล ชมภูพันธุ์

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ

 

พระประวัติ

          สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เป็นพระราชโอรสใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง มีประสูติกาลเมื่อ วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2426 พระองค์ทรงเป็นพระอนุชาธิราชใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงเป็นพระเชษฐาธิราชใน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงเป็นเจ้านายที่มีบทบาททางการเมืองและการทหารอย่างสูงยิ่ง โดยเฉพาะในสมัย รัชกาลที่ 6 ต่อมาเสด็จทิวงคตเมื่อ วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2463 ณ ประเทศสิงคโปร์ สิริพระชนมายุ 37 พรรษา สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงเป็นต้นราชสกุล “จักรพงษ์”

          ในส่วนพระประวัติเกี่ยวกับการศึกษานั้น ในเบื้องต้น เมื่อยังทรงพระเยาว์ทรงได้รับการศึกษาภาษาไทยและภาษาอังกฤษในพระบรมมหาราชวัง โดยมีพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) และ ขุนบำนาญวรวัฒน์ (สิงโต) เป็นพระอาจารย์ถวายการสอนหนังสือไทย ส่วนวิชาภาษาอังกฤษมี นายวุสสเลย์ ลูวีส และ นายเยคอล พิลด์เยมส์ เป็นพระอาจารย์ เมื่อพระชนมายุ 14 พรรษา ได้เสด็จไปทรงศึกษาในประเทศอังกฤษเป็นระยะเวลาหนึ่ง ต่อมาในคราวที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรป ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2440 และเสด็จพระราชดำเนินเยือนราชสำนักรัสเซีย สมเด็จพระจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย ได้ทรงชักชวนให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวส่งพระราชโอรสมาศึกษาในประเทศรัสเซีย ในการนี้พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ (พระยศในขณะนั้น) ให้ทรงย้ายจากอังกฤษมาประทับและศึกษาในรัสเซีย ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 พร้อมด้วยสามัญชนชาวไทยอีก 1 คน คือ นายพุ่ม สาคร นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงจากโรงเรียนเทพศิรินทร์[1] สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ทรงเข้ารับการศึกษาวิชาทหาร ณ โรงเรียนนายร้อยมหาดเล็กในราชสำนักรัสเซีย เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาทรงได้รับการบรรจุเข้าเป็นนายทหารประจำการทหารม้าฮุลซาร์ของ สมเด็จพระจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2445 พระองค์ทรงเจริญก้าวหน้าในราชการของรัสเซียตามลำดับและสร้างความพอพระราชหฤทัยให้แก่ พระจักรพรรดิแห่งรัสเซียอย่างยิ่ง จนทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายพันเอกพิเศษในกองทัพบกรัสเซียและเป็นนายทหารพิเศษในกรมทหารม้าฮุสซาร์ของสมเด็จพระจักรพรรดิ ในการนี้ทรงได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เซนต์อันเดรย์ ชั้นสายสะพายและตราเซนต์วลาดิเมียร์[2]

 

บทบาททางการเมืองและการทหารในสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ

          เมื่อเสด็จนิวัติสยาม พ.ศ. 2449 สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ทรงเป็นหนึ่งในเจ้านายที่สำคัญในการวางรากฐานการทหารสมัยใหม่ของไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการซึ่ง กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ทรงเป็นผู้บัญชาการ แต่ทรงดำรงตำแหน่งดังกล่าวเพียง 5 เดือน ต่อมาทรงย้ายไปเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบกซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทั้งทางการปกครองและการศึกษา ภารกิจในช่วงนี้ถือเป็นช่วงเวลาของการจัดการการศึกษาวิชาทหารของสยามให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น เช่น มีการตั้งกรมบัญชาการโรงเรียนทหารบก รวมถึงการแบ่งส่วนราชการกองโรงเรียนทหารบกออกเป็นโรงเรียนนายร้อยชั้นประถมและชั้นมัธยม เป็นต้น

          ต่อมาใน พ.ศ. 2452 สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก และทรงรั้งตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศึกษาควบคู่กันไป ด้วยความสนพระทัยในกิจการทหารและการจัดการการศึกษาวิชาทหาร จะเห็นได้จากพระกรณียกิจที่สำคัญได้แก่ การขยายชั้นเรียนและการปรับปรุงหลักสูตรของโรงเรียนนายร้อย การขยายการรับสามัญชนเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยได้ พระนิพนธ์ตำราเกี่ยวกับการทหาร การริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนเสนาธิการเมื่อ พ.ศ. 2452 เพื่อเป็นสถานศึกษาวิชาการทหารชั้นสูง เป็นต้น[3]

          ในสมัย รัชกาลที่ 6 สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ทรงมีบทบาททั้งในทางการเมืองและการทหารอย่างสูงยิ่ง เมื่อ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ. 2453 สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ทรงดำรงตำแหน่งรัชทายาทชั่วคราวโดยอนุโลมเนื่องด้วยในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมิได้ทรงมีพระราชโอรส[4] นอกจากนั้นยังทรงดำรงตำแหน่งที่สำคัญได้แก่ เสนาธิการทหารบก ผู้บังคับการกรมทหารราบ ที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ รวมทั้งองคมนตรี อีกทั้งยังทรงมีส่วนร่วมในการเสนอพระทัศนะและการร่วมตัดสินใจต่อกิจการของประเทศที่สำคัญในเวลานั้น อาทิ การวางโครงการร่างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การร่างพระราชกำหนดลักษณะปกครองข้าราชการหัวเมืองฝ่ายธุรการ การพิจารณาพระราชบัญญัติว่าด้วยโรงเรียนเชลยศักดิ์ รวมถึงการตัดสินใจของสยามในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2460[5]

          ในตอนต้น ปี พ.ศ. 2454 ได้เกิดเหตุการณ์สร้างแรงกระเทือนต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นอย่างยิ่ง คือการเคลื่อนไหวของกลุ่มนายทหารหนุ่มที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองแต่ไม่ประสบความสำเร็จซึ่งรู้จักกันในเวลาต่อมาคือ “คณะ ร.ศ. 130” ซึ่งวางแผนการไว้ว่าหากก่อการสำเร็จจะยกเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งขึ้นเป็นกษัตริย์แทนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในหนึ่งในรายชื่อของผู้ก่อการคือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ ซึ่งทรงเป็นที่เคารพนับถือในหมู่นายทหาร การพาดพิงพระองค์ก่อให้เกิดความหวาดระแวงพระองค์จากฝ่ายราชสำนัก แต่กระนั้นพระองค์ก็พิสูจน์พระองค์ด้วยบทบาทการจับกุมผู้ก่อการอย่างแข็งขัน ด้วยการรับหน้าที่เป็นประธานอำนวยการพิจารณาโทษ คณะ ร.ศ. 130 และแสดงพระองค์ว่ามิได้มีส่วนเกี่ยวข้องพร้อมกับการแสดงความรับผิดชอบด้วยการขอลาออกแต่ก็ถูกระงับไว้

          ผลจากเหตุการณ์ ร.ศ. 130 ทำให้เกิดความหวั่นเกรงภัยความมั่นคงของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่นับวันยิ่งปรากฏชัดยิ่งขึ้น สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ เองก็ทรงเห็นถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปภายหน้า จึงทรงพยายามกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงตระหนักถึงปัญหาตลอดจนการเสนอทางแก้ไขท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองในเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็นกระแสความคิดเกี่ยวกับการเมืองการปกครองแบบตะวันตก สภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย กระแสต่อต้านข้าราชการที่ประพฤติมิชอบ รวมทั้งความไม่พอใจกองเสือป่าที่ถูกมองว่าตั้งขึ้นมาซ้ำซ้อนกับกิจการทหาร เป็นต้น แต่ความพยายามของพระองค์ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

          ในอีกด้านหนึ่ง แม้สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ จะมิได้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีของกระทรวงใดก็ตาม แต่ก็ทรงมีบทบาททางการเมืองอย่างสูงเด่น เนื่องด้วยยังทรงตำแหน่งรัชทายาท เมื่อมีการประชุมเสนาบดีสภาพระองค์จะทรงเข้าร่วมการประชุมตามกระแสพระบรมราชโองการ ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงมีส่วนในการตัดสินใจและการกำหนดนโยบายของรัฐอยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่องการทหารและความมั่นคง อย่างไรก็ตาม การประชุมของเสนาบดีสภาก็มิได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนักเนื่องด้วย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้ประทับในพระนครเป็นเวลานาน ด้วยเหตุนี้จะมีการโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมแทนพระองค์ โดยสลับหมุนเวียนกันไปตามพระราชกระแสรับสั่ง ซึ่งรวมถึงสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถด้วย กระนั้นก็ตาม การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่โปรดให้มีการประชุมเสนาบดีบ่อยครั้ง หรือโปรดการบริหารราชการแผ่นดินผ่านการออกพระบรมราชโองการและให้เสนาบดีเข้าเฝ้าเป็นรายบุคคลนั้นได้ส่งผลให้เกิดปัญหาการประสานงานระหว่างเสนาบดี สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ จึงทรงเสนอให้มีการตั้ง “Institute” หรือ สถาบันทางการเมือง อันเป็นที่พบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างเสนาบดี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอันเนื่องด้วยความขัดแย้งระหว่างพระมหากษัตริย์กับเสนาบดีด้านหนึ่ง และความขัดแย้งระหว่างเสนาบดีด้วยกันเองอีกด้านหนึ่ง[6]

          เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอุบัติขึ้นในทวีปยุโรปช่วงกลาง ปี พ.ศ. 2457 สยามได้ประกาศความเป็นกลางในสงครามดังกล่าว เนื่องด้วยมิได้มีข้อขัดแย้งใดใดและยังมีสัมพันธไมตรีกับคู่สงครามทั้งสองฝ่าย การดำเนินความเป็นกลางของสยามดำเนินอย่างต่อเนื่อง 3 ปี จนกระทั่ง พ.ศ. 2460 การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างประเทศและสถานการณ์สงครามที่เริ่มเปลี่ยนไป ได้ส่งผลให้รัฐบาลสยามเริ่มตัดสินใจที่จะนำประเทศเข้าสู่สงคราม แต่กระนั้นก็ยังมิได้มีเหตุจำเป็นหรือได้รับผลกระทบโดยตรงจากคู่สงครามฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ในอีกด้านหนึ่ง เกิดความเคลื่อนไหวทางการทูตจากฝ่ายรัสเซียที่ต้องการชักชวนให้สยามเข้าร่วมกับสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร นายลอริส เมลิกอฟ อัครราชทูตรัสเซียประจำสยาม ได้ติดต่อสมเด็จฯ เพื่อกราบทูลโน้มน้าวให้พระองค์เห็นประโยชน์ของการเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งพระองค์เองก็ทรงเห็นพ้องกับเมลิกอฟแต่กระนั้น ก็ยังไม่มีเหตุที่จะตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับฝ่ายมหาอำนาจหรือมีเหตุอันใดที่จะเข้าร่วมสงคราม อย่างไรก็ตามรัฐบาลสยามก็เริ่มมีท่าทีในการเปลี่ยนแปลงนโยบายการต่างประเทศเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ดังจะเห็นได้จากการประชุมเสนาบดีตลอดเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ซึ่งมี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับเป็นองค์ประธานในที่ประชุมจนได้ข้อสรุปในเวลาต่อมาว่า สยามจะเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างเป็นเกียรติยศโดยใช้เหตุเรื่อง เยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี มิได้ประพฤติตนตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและหลักศีลธรรมจรรยาระหว่างประเทศ

          สมเด็จฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงมีส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายการเข้าสงครามโลกครั้งที่หนึ่งของสยาม แม้ในบางคราว พระองค์จะมิได้ทรงเข้าร่วมการประชุมเนื่องด้วยทรงติดภารกิจอื่น แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จะมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานไปยังพระอนุชาธิราช เพื่อทรงสอบถามความคิดเห็นอยู่เสมอซึ่งข้อคิดเห็นเหล่านั้นได้เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดท่าทีของสยาม และแนวทางการเข้าสู่สงครามของสยามเป็นอย่างยิ่งจนกล่าวได้ว่า พระองค์ทรงสนับสนุนให้สยามเข้าร่วมสงครามเพื่อเป็นเกียรติยศของประเทศ เมื่อสยามประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอย่างเป็นทางการเมื่อ วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 สมเด็จฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงมีบทบาทที่สำคัญในการสงครามครั้งนั้นหลายประการ ได้แก่ การดำเนินการจัดการเชลยศึกให้เป็นไปตามแบบแผนสากล การจัดการเรื่องการถอดคนเยอรมนีที่แปลงสัญชาติตลอดจนภารกิจที่สำคัญคือ การส่งกองทหารอาสาเข้าไปช่วยฝ่ายสัมพันธมิตรในสมรภูมิยุโรป เมื่อสยามได้ตอบรับข้อร้องขอของรัฐบาลฝรั่งเศสในการส่งหน่วยพยาบาล คนขับรถ และนักบิน อีกทั้งยังมีการรับสมัครกองทหารอาสาเพื่อไปราชการสงครามในทวีปยุโรป ปรากฎว่าได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก แม้แต่ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ก็มีพระประสงค์ที่จะเข้าร่วมอาสาดังกล่าวแต่ก็ได้รับการ ทัดทานจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไว้เนื่องด้วยทรงต้องการให้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงช่วยจัดการภารกิจภายในประเทศในฐานะแนวหลังเป็นสำคัญ[7]

          พระกรณียกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งใน สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ คือ การพัฒนากองทัพอากาศไทย เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ทรงมีดำริที่จะจัดตั้งกิจการการบินขึ้นเป็นแผนกหนึ่งของกองทัพบก ทว่าในเวลานั้น สยามยังขาดผู้มีความรู้ความสามารถในกิจการการบิน ด้วยเหตุนี้ใน พ.ศ. 2455 จึงมีการคัดเลือกนายทหารไปศึกษาวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศส จำนวน 3 นาย ประกอบด้วย

          1) นายพันตรี หลวงศักด์ศัลยาวุธ (สุณี สุวรรณประทีป) ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์สูงสุดที่ พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ

          2) นายร้อยเอก หลวงอาวุธวิขิกร (หลง สิน-สุข) ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์สูงสุดที่ นาวาเอก พระยาเวหาสยามศิลปสิทธิ์ และ

          3) นายร้อยโททิพย์ เกตุทัต ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์สูงสุดที่ พระยาทยาพิฆาฏ

 

          เมื่อนายทหารทั้งสามนายสำเร็จการศึกษาแล้ว กระทรวงกลาโหมได้จัดตั้งแผนกการบินใน พ.ศ. 2456 ต่อมาหน่วยงานดังกล่าวได้ขยายตัวขึ้นและต้องการใช้สถานที่ใหม่ที่กว้างขวาง สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ พร้อมด้วย พระยาเฉลิมอากาศ ได้เลือกตำบลดอนเมืองเป็นสถานที่ที่ใช้ทำการบินจนก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2457 มีการยกระดับแผนกการบินทหารบกขึ้นเป็นกองบินทหารบกโดยมี พันโทพระยาเฉลิมอากาศ เป็นผู้บังคับการ[8] เมื่อสยามเข้าร่วมสงครามโลก กองบินทหารบกนี้ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการสงครามดังกล่าวอีกด้วย การวางรากฐานด้านกิจการการบินของพระองค์ในประเทศถือเป็นคุณูปการอย่างยิ่ง พระเกียรติคุณดังกล่าวได้รับการยกย่องในเวลาต่อมาด้วยการถวายพระสมัญญานามว่า “พระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย”

          ในด้านชีวิตส่วนพระองค์ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ทรงสมรสกับสตรีชาวรัสเซีย ชื่อว่า เอกาเทรินา อิวานอฟนา เดนิตสกายา หรือที่รู้จักกันในเวลาต่อมาว่า หม่อมคัทลิน โดยมีพระโอรสเพียงพระองค์เดียว คือ หม่อมเจ้าจุลจักรพงษ์ (ต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ เมื่อ พ.ศ. 2463) ต่อมาทรงหย่าร้างกับ หม่อมคัทลิน เมื่อ พ.ศ. 2462 และทรงมีพระประสงค์ที่จะเสกสมรสครั้งใหม่กับ หม่อมเจ้าชวลิตโอภาส พระธิดาใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ แต่กระนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ไม่พระราชทานพระบรมราชานุญาตเนื่องด้วยการหย่าร้างเป็นเรื่องที่ไม่ต้องด้วยพระราชนิยมจนสร้างความขัดแย้งระหว่างสองพระองค์ แต่กระนั้นภายหลังการเสด็จสวรรคตของ สมเด็จพระราชชนนี พระพันปีหลวง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ก็ทรงรับหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาสเป็นชายาทั้งที่มิได้เสกสมรส ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระองค์มิได้คำนึงถึงข้อคัดค้านจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ประการใด[9]

          สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ เสด็จทิวงคตเมื่อ วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2463 ที่สิงคโปร์ สิริพระชนมายุได้ 37 พรรษา ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาพระอิสริยยศพระองค์เป็น “สมเด็จพระอนุชาธิราช” และมีการพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวงเมื่อ วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2463

 

บรรณานุกรม

จุลจักรพงษ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า, เกิดวังปารุสก์ สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สมัยประชาธิปไตย, พิมพ์ครั้งที่ 16. กรุงเทพฯ: ริเวอร์บุคส์, 2560.

มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ: มติชน, 2545.

ยุรารัตน์ พันธุ์ยุรา. กองทัพอากาศกับการเมืองไทย พ.ศ. 2480-2519. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2531.

ศิรินันท์ บุญศิริ. บทบาททางการทหารและการเมืองของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2523.

สุจิรา ศิริไปล์. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสงครามโลกครั้งที่ 1. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2560.

 

อ้างอิง

[1] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เกิดวังปารุสก์ สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สมัยประชาธิปไตย, พิมพ์ครั้งที่ 16 (กรุงเทพฯ: ริเวอร์บุคส์, 2560), หน้า 16.

[2] เรื่องเดียวกัน, หน้า 20.

[3] ศิรินันท์ บุญศิริ. บทบาททางการทหารและการเมืองของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ. (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2523), หน้า 35-52.

[4] เรื่องการแต่งตั้งสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถเป็นรัชทายาทนั้น แม้จะเป็นพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงดำเนินการสืบสันตติวงศ์ตามลำดับพระชนมายุของพระราชโอรสในสายสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง ทว่าพระราขดำริดังกล่าวก็มีกระแสคัดค้านภายในหมู่เจ้านายชั้นผู้ใหญ่เนื่องด้วยการที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ มีพระชายาเป็นชาวรัสเซีย ดูเพิ่มเติม ราม วชิราวุธ (นามแฝง), ประวัติต้นรัชกาลที่ 6, หน้า 150-158.

[5] ศิรินันท์ บุญศิริ. บทบาททางการทหารและการเมืองของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ, หน้า 143

[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 161-162.

[7] เรื่องเดียวกัน, หน้า 95.

[8] ยุรารัตน์ พันธุ์ยุรา. กองทัพอากาศกับการเมืองไทย พ.ศ. 2480-2519 (วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2531), หน้า 9-11.

[9] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เกิดวังปารุสก์ สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สมัยประชาธิปไตย, หน้า 142-143.