รัฐสภายุโรป

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:17, 7 กรกฎาคม 2566 โดย Trikao (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ฐิติกร สังข์แก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

 

ความเป็นมาและอำนาจหน้าที่ของรัฐสภายุโรป

          รัฐสภายุโรป (European Parliament) เป็น 1 ใน 2 องค์กรนิติบัญญัติควบคู่กับคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Council of the European Union) และเป็น 1 ใน 7 สถาบันหลักของสหภาพยุโรป (European Union) ทั้งนี้ รัฐสภายุโรปและสถาบันของสหภาพยุโรปมีจุดเริ่มต้นมาจากการก่อตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรป (European Coal and Steel Community: ECSC) หลังสงครามโลกครั้งที่_2 ตามสนธิสัญญาปารีส ค.ศ. 1951 ในระยะแรก ECSC มีวัตถุประสงค์เป็นเพียงสมัชชาสามัญ (Common Assembly) อันเป็นที่รวมกันของกลุ่มผลประโยชน์ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา (consultative body) แก่คณะกรรมาธิการใหญ่ (High Authority) ซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร ขณะที่องค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการพิจารณาร่างกฎระเบียบ คือ คณะมนตรี (Council) ที่ประกอบด้วยรัฐมนตรีจากรัฐสมาชิก ทั้งนี้สมาชิกของสมัชชาสามัญ ประกอบด้วยชนชั้นนำและเทคโนแครต 78 คน ที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐสภาระดับชาติของรัฐสมาชิก โดยเปิดประชุมครั้งแรก ณ เมืองสตราสบูร์ก ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 1952[1] ครั้นเมื่อมีการก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Community) และประชาคมปรมาณูยุโรป (Euratom) ตามสนธิสัญญาโรม ค.ศ. 1957 สมัชชาสามัญซึ่งเดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมถ่านหินฯ ก็กลายเป็นองค์กรที่มีอำนาจนิติบัญญัติอย่างเป็นทางการให้กับทั้งสามประชาคม จึงเปลี่ยนชื่อเป็นสมัชชารัฐสภาแห่งยุโรป (European Parliamentary Assembly) ซึ่งมีอำนาจคำปรึกษาต่อร่างกฎหมายที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการของแต่ละประชาคม (Commissions) ก่อนที่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะมนตรีของแต่ละประชาคม (Councils) นั่นหมายความว่าคณะมนตรียังคงมีอำนาจตัดสินใจขั้นสุดท้ายเหนือสมัชชารัฐสภา

          กระนั้นก็ตาม สมาชิกสมัชชารัฐสภายุโรปค่อย ๆ ขยายบทบาทและอิทธิพลที่ไม่เป็นทางการในกระบวนการนิติบัญญัติ และตัดสินใจเปลี่ยนชื่อองค์กรเป็นรัฐสภายุโรป (European Parliament) ในปี ค.ศ. 1962[2] จนกระทั่งปี ค.ศ. 1967 เมื่อทั้งสามประชาคมบูรณาการเป็นหนึ่งเดียวกันกลายเป็น “ประชมคมยุโรป” (European Communities) โดยมีคณะมนตรีและคณะกรรมาธิการเดียวกัน ประกอบกับการแก้ไขสนธิสัญญาระหว่าง ค.ศ. 1970-1975 ส่งผลให้รัฐสภายุโรปและคณะมนตรีได้รับอำนาจร่วมกันในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายให้กับประชาคมยุโรป[3] อันเป็นการวางรากฐานให้รัฐสภายุโรปสามารถใช้อำนาจนิติบัญญัติร่วมกับคณะมนตรีมาจนกระทั่งภายหลังการก่อตั้งสหภาพยุโรป (European Union) ในปี ค.ศ. 1993

          กล่าวได้ว่า ถึงปัจจุบันรัฐสภายุโรปมีบทบาทหน้าที่คล้ายครึ่งกับรัฐสภาระดับชาติ (ทว่าด้วยทิศทางและน้ำหนักที่ต่างกัน) ใน 3 บทบาท ดังนี้

          บทบาทนิติบัญญัติ รัฐสภายุโรปมีอำนาจเท่าเทียมกับคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Council of the European Union) และต้องทำงานร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ทั้งนี้ ในกรณีที่

          (1) รัฐสภายุโรปและคณะกรรมาธิการฯ ให้ความเห็นชอบต่อร่างกฎหมายในการพิจารณารอบแรก ร่างกฎหมายนั้นจะกลายเป็นกฎหมายทันที

          (2) แต่หากรัฐสภาต้องการแก้ไขเพิ่มเติมร่างฯ ก็จะต้องส่งต่อไปให้คณะมนตรีฯ ให้ความเห็นชอบเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย หากลงมติไม่เห็นชอบก็จะต้องส่งร่างฯ กลับไปให้รัฐสภาทบทวนอีกครั้ง

          (3) ในชั้นนี้ รัฐสภาสามารถยืนยันให้ความเห็นชอบร่างฯ นั้น (ร่างฯ กลายเป็นกฎหมาย) หรือไม่เห็นชอบร่างฯ นั้น (ร่างฯ เป็นอันตกไป) หรือแก้ไขเพิ่มเติมแล้วส่งต่อให้คณะมนตรีฯ พิจารณาอีกครั้ง หากยังคงไม่ได้รับความเห็นชอบก็จะนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการร่วมไกล่เกลี่ย (Conciliation Committee) ประกอบด้วยสมาชิกจากคณะมนตรีฯ และรัฐสภาจำนวนเท่ากันเพื่อแสวงหาความเห็นชอบร่วมกัน และในขั้นสุดท้ายจึงให้รัฐสภาลงมติเห็นชอบ ร่างฯ ที่ผ่านคณะกรรมาธิการร่วม[4]

          บทบาทด้านการงบประมาณ รัฐสภายุโรปมีอำนาจกำหนดงบประมาณรายจ่ายที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการยุโรป หากเกิดการไม่เห็นพ้องต้องกันระหว่างรัฐสภากับคณะมนตรีฯ ก็จะนำไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมร่วมไกล่เกลี่ยเพื่อแสวงหาข้อตกลงร่วมกันในร่างงบประมาณ อันจะนำไปสู่ขั้นตอนการลงมติเห็นชอบในทั้งสององค์กรต่อไป แต่หากคณะมนตรีฯ ยังคงไม่ให้ความเห็นชอบกับร่างงบประมาณของคณะกรรมาธิการร่วมร่วมไกล่เกลี่ย รัฐสภาก็สามารถยืนยันมติและรับรองเป็นกฎหมายต่อไปได้[5]

          บทบาทควบคุมและกำกับติดตาม รัฐสภายุโรปมีหน้าที่ควบคุมและกำกับติดตามการทำงานของ

          1) คณะมนตรียุโรป (European Council)

          2) คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Council of the EU)

          3) ลงมติเลือกประธานคณะกรรมาธิการยุโรปที่ได้รับการเสนอชื่อโดยคณะมนตรียุโรป

          4) เสนอเรื่องให้ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป (Court of Justice of the EU) วินิจฉัยกรณีที่เห็นว่าคณะกรรมาธิการยุโรป และคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ดำเนินการไม่เป็นไปตามกฎหมาย หรืออาจยื่นคำร้องขอให้ตั้งศาลพิเศษขึ้นมาพิจารณาข้อพิพาทต่าง ๆ

          5) หารือกับคณะมนตรียุโรปเพื่อแสวงหาบุคคลที่เหมาะสมในการเข้าดำรงตำแหน่งประธาน รองประธาน และเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank) ก่อนที่คณะมนตรียุโรปจะลงมติแต่งตั้ง

          6) กำกับติดตามรายงานของศาลผู้ตรวจสอบบัญชียุโรป (European Court of Auditors)

          7) แต่งตั้งและติดตามผู้ตรวจการแห่งสหภาพยุโรป (European Ombudsman)[6]

โครงสร้างองค์กรของรัฐสภา

          รัฐสภายุโรปมีองค์ประกอบพื้นฐานใกล้เคียงกับรัฐสภาระดับชาติ แต่เนื่องจากเป็นองค์กรเหนือชาติ (supranational organization) องค์กรนิติบัญญัติอย่างรัฐสภายุโรปจึงมีบทบาทเพิ่มเข้ามาในการทำหน้าที่เชื่อมโยงกับรัฐสมาชิกและรัฐนอกสหภาพยุโรปด้วย จากเว็บไซต์ทางการระบุว่าโครงสร้างองค์กรของรัฐสภายุโรป ประกอบด้วย 6 ส่วน[7] ได้แก่

          1. ประธานรัฐสภายุโรป (President of European Parliament) มีวาระการดำรงตำแหน่ง คราวละ 2 ปีครึ่ง ทำหน้าที่ดูแลวงงานของสภาและหน่วยงานในกำกับ ซึ่งรวมถึงการควบคุมการอภิปรายในที่ประชุมใหญ่ (the Plenary) ให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับการประชุม การแถลงวาระของสภาในการเปิดประชุมคณะมนตรียุโรป การลงนามในร่างงบประมาณและร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากสภา เป็นต้น

          2. สมาชิกรัฐสภายุโรป (Members of the European Parliament: MEPs) ภายหลังจากสหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในปี ค.ศ. 2020 รัฐสภายุโรป ประกอบด้วยสมาชิก 705 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของพลเมืองในรัฐสมาชิก 27 ประเทศ ทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมายควบคู่กับคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป โดยประชุมสมัยสามัญร่วมกัน ณ กรุงสตราสบูร์ก ประเทศฝรั่งเศส 12 ครั้งต่อปี และประชุมสมัยวิสามัญ ประชุมคณะกรรมาธิการ และกลุ่มการเมือง ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม

          3. กลุ่มการเมือง (Political Groups) ซึ่งปัจจุบัน (23 พฤษภาคม ค.ศ. 2023) มีด้วยกัน 7 กลุ่ม แบ่งตามอุดมการณ์และความสนใจทางการเมือง (political affiliation) ทั้งนี้สมาชิกรัฐสภายุโรปสามารถสังกัดเพียงกลุ่มเดียวหรืออาจเลือกที่จะไม่สังกัดกลุ่มใดเลยก็ได้ กลุ่มการเมืองเป็นองค์กรที่รวมตัวกันภายในรัฐสภายุโรปเพื่อกำหนดจุดยืนในการลงมติ หารือเกี่ยวกับร่างกฎหมาย และทำงานร่วมกับคณะกรรมาธิการคณะต่าง ๆ ขณะที่ผู้สมัครสมาชิกรัฐสภายุโรปในรัฐสมาชิกสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคการเมืองได้ ดังนั้นกลุ่มการเมืองหนึ่งจึงอาจเป็นที่รวมกันของหลายพรรคจากหลายรัฐสมาชิก ซึ่งมีอุดมการณ์และความสนใจทางการเมืองคล้ายคลึงกัน โดยกลุ่มที่มีบทบาทนำมากที่สุด คือ กลุ่มอนุรักษ์นิยมชื่อพรรคประชาชนยุโรป (European People’s Party: EPP) ซึ่งครองเสียงข้างมากมานับตั้งแต่การเลือกตั้งปี ค.ศ. 1999 และกลุ่มแนวสังคมนิยมประชาธิปไตย ชื่อ กลุ่มพันธมิตรก้าวหน้าสังคมนิยมและประชาธิปไตย (Progressive Alliance of Socialists and Democrats: S&D) ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของกลุ่มพรรคประชาชนยุโรป

          4. คณะกรรมาธิการ (Committees) ประกอบด้วยคณะกรรมาธิการสามัญ 20 คณะ ประชุม 1-2 ครั้งต่อเดือน ณ กรุงบรัสเซลส์ ทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมายของคณะกรรมาธิการยุโรปและคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ก่อนที่จะเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ของรัฐสภายุโรป ทั้งนี้คณะกรรมาธิการสามัญแต่ละคณะอาจเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญหรือคณะกรรมาธิการสืบสวนข้อเท็จจริงในวงงานของตนเอง โดยคณะกรรมาธิการสามัญที่มีบทบาทสูง ได้แก่ คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและการเงิน คณะกรรมาธิการงบประมาณ คณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศ และคณะกรรมาธิการรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

          5. คณะผู้แทนแห่งรัฐสภายุโรป (Delegations of the EU) คือกลุ่มของสมาชิกรัฐสภาที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับรัฐสภาระดับชาตินอกสมาชิกสหภาพยุโรป ทำหน้าที่ทางการทูตเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ส่งเสริมภาพลักษณ์ของสหภาพยุโรป

          6. หน่วยงานในกำกับของรัฐสภา ประกอบด้วย สำนักงานประธานรัฐสภา (Conference of the President) สำนักกิจการรัฐสภา (the Bureau) สำนักการคลัง (College of Quaestors) สำนักงานประธานคณะกรรมาธิการ (Conference of Committee Chairs) และสำนักงานประธานคณะผู้แทนรัฐสภา (Conference of Delegation Chairs)

ระบบเลือกตั้งของรัฐสภายุโรป

          ความพยายามในการผลักดันการปฏิรูประบบเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปมีมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรปตามสนธิสัญญาโรม ค.ศ. 1957 ที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา ภายใต้ “ระเบียบแบบแผนเดียวกันในทุกรัฐสมาชิก”[8] ถึงแม้ว่าหลังจากนั้นรัฐสภายุโรปจะเสนอร่างกฎหมายปฏิรูประบบเลือกตั้งหลายครั้ง ทว่าคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปก็ยังไม่อาจเห็นชอบในเรื่องระบบเลือกตั้งได้ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1976 ได้มีมติเห็นชอบให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาโดยตรงทุก 5 ปี และมีการเลือกตั้งครั้งแรกในปี ค.ศ. 1979 บนพื้นฐานของระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน (proportional representation) ซึ่งอาจเป็นระบบบัญชีรายชื่อ (list system) หรือระบบถ่ายโอนคะแนนเสียง (single transferable vote system) ก็ได้ หากรัฐสมาชิกใดใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้งให้กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำ (minimum threshold) ไว้ที่ ร้อยละ 5 ของบัตรดี หรือหากรัฐสมาชิกแบ่งประเทศเป็นหลายเขตเลือกตั้ง ให้กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำอยู่ระหว่าง ร้อยละ 2-5 ซึ่งรัฐสมาชิกต้องดำเนินอย่างช้าภายในปี ค.ศ. 2024 ส่งผลให้แต่ละรัฐกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำแตกต่างกัน ตั้งแต่ ร้อยละ 5 (เช่น ฝรั่งเศส เบลเยียม โปแลนด์ ฮังการี) ไปจนถึง ร้อยละ 3 (กรีซ) และไม่กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำเลย (เยอรมนี)[9]

          สำหรับการจัดสรรจำนวนสมาชิกรัฐสภายุโรปให้แก่รัฐสมาชิกนั้น สนธิสัญญาลิสบอน ค.ศ. 2007 ได้วางหลักการจัดสรรโดยอาศัยระบบตัวแทนที่มีสัดส่วนลดลงตามขนาดประชากร (degressively proportional representation) กล่าวคือรัฐที่มีประชากรมากก็จะได้รับการจัดสรรจำนวนสมาชิกมากกว่ารัฐที่มีประชากรน้อย ขณะเดียวกันรัฐที่มีประชากรมากก็จะมีสัดส่วนประชากรต่อสมาชิก 1 คน มากกว่ารัฐที่มีประชากรน้อย[10] นี่ย่อมหมายความว่าจำนวนสมาชิกรัฐสภายุโรปโดยรวมและจำนวนที่แต่ละรัฐสมาชิกพึงมี ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งจะผันแปรไปตามความเปลี่ยนแปลงของขนาดประชากรโดยรวมและขนาดประชากรของแต่ละรัฐสมาชิก ทั้งนี้ในการเลือกตั้ง ค.ศ. 2019 รัฐสภายุโรปมีสมาชิกสภาทั้งสิ้น 751 คน โดยเยอรมนีได้รับการจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาสูงสุด (96 คน) คิดเป็นสัดส่วนประชากรประมาณ 854,000 คน ต่อสมาชิกสภา 1 คน ขณะที่เอสโตเนีย ไซปรัส ลักเซมเบิร์ก และมอลตา ได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาน้อยที่สุด (6 คน) คิดเป็นสัดส่วนประชากรประมาณ 200,000 คน 141,000 คน 11,000 คน และ 78,000 คน ตามลำดับต่อสมาชิกสภา 1 คน[11] อย่างไรก็ตามเมื่อสหราชอาณาจักร ซึ่งมีสมาชิกสภา 73 คน ถอนตัวออกจากสมาชิกสาภาพยุโรปอันมีผลสมบูรณ์หลัง วันที่ 31 มกราคม 2020 ทำให้มีตำแหน่งสมาชิกสภาว่างลง จึงมีการจัดสรร 27 ที่นั่ง ให้แก่ 14 รัฐสมาชิก ตามหลักการเป็นตัวแทนที่มีสัดส่วนลดลงตามขนาดประชากร ขณะที่อีก 46 ที่นั่งที่เหลือนั้นยังคงสงวนไว้ในกรณีที่อาจมีรัฐสมาชิกเพิ่มขึ้น โดยรวมรัฐสภายุโรปจึงมีสมาชิกสภาทั้งสิ้น 705 คน[12]

บทส่งท้าย: บทบาทของรัฐสภายุโรปในสถานการณ์ร่วมสมัย

          ด้วยเหตุที่รัฐสภายุโรปเป็นองค์กรเดียวในเจ็ดสถาบันเสาหลักของสหภาพยุโรปที่สมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของพลเมืองรัฐสมาชิก จึงสะท้อนความชอบธรรมแบบประชาธิปไตยในระดับสูง แม้อำนาจนิติบัญญัติจะถูกแบ่งปันร่วมกันกับคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป แต่อำนาจที่เพิ่มขึ้นผ่านสนธิสัญญาฉบับต่าง ๆ นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี ค.ศ. 1951 ก็ส่งผลให้รัฐสภายุโรปกลายเป็นองค์กรนิติบัญญัติเหนือชาติที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ผลงานที่โดดเด่นของรัฐสภายุโรปในระยะใกล้ที่ส่งผลต่อรัฐสมาชิกให้ต้องแก้ไขกฎหมายและปฏิบัติตามบรรทัดฐานทางกฎหมายที่รัฐสภายุโรปวางหลักไว้ ตัวอย่างเช่น

          นโยบายปก้องงบประมาณและหลักนิติธรรม รัฐสภายุโรปเห็นชอบร่างกฎหมายที่จะลงโทษรัฐสมาชิกใดก็ตามที่ละเมิดหลักนิติธรรม เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 2020 โดยให้อำนาจศาลยุติธรรมแห่งยุโรปพิจารณาระงับงบประมาณของรัฐสมาชิกนั้น และอาจรวมถึงการให้คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรประงับสิทธิต่าง ๆ ที่มาจากการเป็นสมาชิกภาพ[13]

          นโยบายสำหรับพื้นที่ดิจิทัล รัฐสภายุโรปลงมติผ่านกฎหมายการให้บริการดิจิทัล (Digital Services Act: DSA) และกฎหมายตลาดดิจิทัล (Digital Markets Act: DMA) ในปี ค.ศ. 2022 ที่สร้างมาตรฐานให้พื้นที่ดิจิทัลมีความปลอดภัยและโปร่งใสมากขึ้น โดยบริษัทผู้ให้บริการออนไลน์ทั้งหลายที่ดำเนินการในสหภาพยุโรปต้องไม่เผยแพร่เนื้อหาใด ๆ ที่ผิดกฎหมายในโลกจริง จัดให้มีระบบตรวจจับเนื้อหาที่เข้าข่ายผิดกฎหมายการแบนเนื้อหาและโฆษณาที่อาจส่งผลเสียต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน การเลือกตั้ง และความรุนแรงทางเพศ เป็นต้น[14]

          นโยบายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม รัฐสภายุโรป ลงมติเมื่อ 24 มิถุนายน 2021 รับร่างกฎหมายสภาพภูมิอากาศยุโรป (European Climate Law) ที่เสนอโดยคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ซึ่งกำหนดให้รัฐสมาชิกต้องร่วมกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อย ร้อยละ 55 ภายในปี ค.ศ. 2030 และมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (net zero greenhouse gas emissions) ภายในปี ค.ศ. 2050[15] หรือแม้แต่การลงมติเห็นชอบการแบนผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic products) ในทุกรัฐสมาชิกภายในปี ค.ศ. 2021 รวมถึงเพิ่มค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบการที่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมด้วย[16]

          นโยบายด้านการต่างประเทศ รัฐสภายุโรปมีบทบาทไม่เฉพาะแต่ภายในขอบเขตอำนาจของรัฐสมาชิกเท่านั้น หากยังขยายไปถึงประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคใกล้เคียงด้วย เช่น ในสถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครน รัฐสภายุโรปแสดงท่าทีอย่างชัดแจ้งว่ายืนอยู่ข้างรัฐบาลยูเครน จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 2022 ได้มีการเรียกประชุมสมัยวิสามัญโดยเชิญให้ประธานาธิบดี Volodymyr Zelenskyy ของยูเครน มาแถลงต่อหน้าสมาชิกรัฐสภายุโรป[17] อันนำไปสู่การออกมาตรการตอบโต้รัสเซียและให้ความช่วยเหลือยูเครนอย่างต่อเนื่อง เช่น การประณามและคว่ำบาตรรัสเซีย รวมถึงประเทศที่สนับสนุนรัสเซียในการโจมตียูเครน การปล่อยเงินกู้ยืมแก่รัฐบาลยูเครนหลายครั้ง เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ให้การสนับสนุนทางการทหารแก่ยูเครน การช่วยเหลือด้วยการงดเว้นภาษีนำเข้าสินค้าจากยูเครน สนับสนุนประเทศต่าง ๆ ที่รับผู้ลี้ภัยสงครามชาวยูเครน อนุญาตให้ชาวยูเครนใช้ใบขับขี่ของประเทศตนเองในสหภาพยุโรป และไม่รับรองหนังสือเดินทางรัสเซียที่ออกให้ในเขตยึดครอง เป็นต้น[18] พร้อม ๆ กันนั้น สมาชิกรัฐสภายุโรปก็เร่งรัดให้สหภาพยุโรปรับรองสถานะผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของยูเครน

บรรณานุกรม

“Budgetary powers,” European Parliament, Available <https://www.europarl.europa.eu/about-parliament/en/powers-and-procedures/budgetary-powers>. Accessed May 12, 2023.

“Digital Services: landmark rules adopted for a safer, open online environment.” European Parliament (5 July 2022). Available <https://www.europarl.europa.eu/news/en/press-room/20220701IPR34364/digital-services-landmark-rules-adopted-for-a-safer-open-online-environment>. Accessed June 25, 2023.

Judge, David and David Earnshaw (2003). The European Parliament. Houndmills: Palgrave Macmillan.

Nugent, Neill (2006). The Government and Politics of the European Union. 6th ed. Houndmills: Palgrave Macmillan.

“Ordinary legislative procedure,” European Parliament, Available <https://www.europarl.europa.eu/infographic/legislative-procedure/index_en.html>. Accessed May 12, 2023.

“Organisation,” European Parliament, Available <https://www.europarl.europa.eu/about-parliament/en/organisation-and-rules/organisation>. Accessed May 12, 2023.

“Parliament seals ban on throwaway plastics by 2021.” European Parliament (27 March 2019). Available <https://www.europarl.europa.eu/news/en/press-room/20190321IPR32111/parliament-seals-ban-on-throwaway-plastics-by-2021>. Accessed June 25, 2023.

Policy Department for Citizens’ Rights and Constitutional Affairs (2017). The Composition of the European Parliament (3O January). Available <https://www.europarl.europa.eu/RegData/etudes/IDAN/2017/583117/IPOL_IDA(2017)583117_EN.pdf>. May 12, 2023.

“Redistribution of seats in the European Parliament after Brexit,” European Parliament (1 January 2020). Available <https://www.europarl.europa.eu/news/en/press-room/20200130IPR71407/redistribution-of-seats-in-the-european-parliament-after-brexit>. Accessed May 12, 2023.

“Reducing carbon emissions: EU targets and policies.” European Parliament (27 June 2023). Available <https://www.europarl.europa.eu/news/en/headlines/society/20180305STO99003/reducing-carbon-emissions-eu-targets-and-policies>. Accessed June 25, 2023.

“Rule of law: new mechanism aims to protect EU budget and values.” European Parliament (16 December 2020). Available <https://www.europarl.europa.eu/news/en/headlines/priorities/eu-s-long-term-budget/20201001STO88311/rule-of-law-new-mechanism-aims-to-protect-eu-budget-and-values>. Accessed June 25, 2023.

Sokolska, Ina (2003). “The European Parliament: electoral procedures,” European Parliament (March). Available <https://www.europarl.europa.eu/factsheets/en/sheet/21/the-european-parliament-electoral-procedures>. Accessed May 12, 2023.

“Supervisory powers,” European Parliament, Available <https://www.europarl.europa.eu/about-parliament/en/powers-and-procedures/supervisory-powers>. Accessed May 12, 2023.

“The Russian attack on Ukraine marks a new era for Europe, MEPs say,” European Parliament (1 March 2022).  Available <https://www.europarl.europa.eu/news/en/press-room/20220227IPR24204/the-russian-attack-on-ukraine-marks-a-new-era-for-europe-meps-say>. Accessed May 12, 2023.

Timeline: how the EU supported Ukraine in 2022,” European Parliament (25 May 2022). Available <https://www.europarl.europa.eu/news/en/headlines/world/20220519STO30402/timeline-how-the-eu-supported-ukraine-in-2022>. Accessed May 12, 2023.

อ้างอิง

[1] David Judge and David Earnshaw, The European Parliament (Houndmills: Palgrave Macmillan, 2003), pp. 27-32.

[2] Ibid., p. 36.

[3] Neill Nugent, The Government and Politics of the European Union, 6th ed. (Houndmills: Palgrave Macmillan, 2006), p. 248.

[4] “Ordinary legislative procedure,” European Parliament, Available <https://www.europarl.europa.eu/infographic/legislative-procedure/index_en.html>. Accessed May 12, 2023.

[5] “Budgetary powers,” European Parliament, Available <https://www.europarl.europa.eu/about-parliament/en/powers-and-procedures/budgetary-powers>. Accessed May 12, 2023.

[6] “Supervisory powers,” European Parliament, Available <https://www.europarl.europa.eu/about-parliament/en/powers-and-procedures/supervisory-powers>. Accessed May 12, 2023.

[7] “Organisation,” European Parliament, Available <https://www.europarl.europa.eu/about-parliament/en/organisation-and-rules/organisation>. Accessed May 12, 2023.

[8] David Judge and David Earnshaw, The European Parliament, Cited, p. 36.

[9] Ina Sokolska, “The European Parliament: electoral procedures,” European Parliament (March 2023), Available <https://www.europarl.europa.eu/factsheets/en/sheet/21/the-european-parliament-electoral-procedures>. Accessed May 12, 2023.

[10] Policy Department for Citizens’ Rights and Constitutional Affairs, The Composition of the European Parliament (3O January 2017). Available <https://www.europarl.europa.eu/RegData/etudes/IDAN/2017/583117/IPOL_IDA(2017)583117_EN.pdf>. May 12, 2023.

[11] Ibid.

[12] “Redistribution of seats in the European Parliament after Brexit,” European Parliament (1 January 2020). Available <https://www.europarl.europa.eu/news/en/press-room/20200130IPR71407/redistribution-of-seats-in-the-european-parliament-after-brexit>. Accessed May 12, 2023.

[13] “Rule of law: new mechanism aims to protect EU budget and values,” European Parliament (16 December 2020). Available <https://www.europarl.europa.eu/news/en/headlines/priorities/eu-s-long-term-budget/20201001STO88311/rule-of-law-new-mechanism-aims-to-protect-eu-budget-and-values>. Accessed June 25, 2023.

[14] “Digital Services: landmark rules adopted for a safer, open online environment,” European Parliament (5 July 2022). Available <https://www.europarl.europa.eu/news/en/press-room/20220701IPR34364/digital-services-landmark-rules-adopted-for-a-safer-open-online-environment>. Accessed June 25, 2023.

[15] “Reducing carbon emissions: EU targets and policies,” European Parliament (27 June 2023). Available <https://www.europarl.europa.eu/news/en/headlines/society/20180305STO99003/reducing-carbon-emissions-eu-targets-and-policies>. Accessed June 25, 2023.

[16] “Parliament seals ban on throwaway plastics by 2021,” European Parliament (27 March 2019). Available <https://www.europarl.europa.eu/news/en/press-room/20190321IPR32111/parliament-seals-ban-on-throwaway-plastics-by-2021>. Accessed June 25, 2023.

[17] “The Russian attack on Ukraine marks a new era for Europe, MEPs say,” European Parliament (1 March 2022).  Available <https://www.europarl.europa.eu/news/en/press-room/20220227IPR24204/the-russian-attack-on-ukraine-marks-a-new-era-for-europe-meps-say>. Accessed May 12, 2023.

[18] “Timeline: how the EU supported Ukraine in 2022,” European Parliament (25 May 2022). Available <https://www.europarl.europa.eu/news/en/headlines/world/20220519STO30402/timeline-how-the-eu-supported-ukraine-in-2022>. Accessed May 12, 2023.