วิถีใหม่ (New Normal)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

เรียบเรียงโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร และ ธีทัต จันทราพิชิต

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

 

          วิถีใหม่ หมายถึง วิถีการใช้ชีวิตแบบใหม่ ซึ่งทั่วไปแล้วมักจะหมายถึงการใช้ชีวิตที่ไม่ปกติในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยคำศัพท์ดังกล่าวได้มีการใช้อย่างกว้างขวางโดยวงการสาธารณสุขประเทศไทยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

          วิถีใหม่ถูกใช้ครั้งแรกในฐานะคำที่อธิบายการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ โดยผู้ใช้คนแรก คือ บิลล์ กรอส (Bill Gross) นักลงทุนตราสารหนี้[1] เพื่ออธิบายรูปแบบของเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในช่วง ปี 2007-2009 ซึ่ง บิลล์ กรอส คาดว่าจะไม่เติบโตได้แบบเดิมตามรูปแบบของวงจรเศรษฐกิจที่เคยเป็นมาในช่วงก่อนวิกฤต โดย บิลล์ กรอส ยังมองอีกว่าภาวะเช่นนี้จะกลายเป็นเรื่องปกติแทนภาวะปกติก่อนหน้าซึ่งรูปแบบวงจรทางเศรษฐกิจแบบเดิม[2] นอกจากนี้ในวงการเศรษฐกิจของประเทศจีนมีการใช้คำนี้อย่างกว้างขวางตั้งแต่ ปี 2013-2014 เป็นต้นมา โดยผู้นำรุ่นใหม่กล่าวว่าเศรษฐกิจจีนภายใต้วิถีใหม่จะโตราว ร้อยละ 6-7 จะไม่ใช่ ร้อยละ 8-10 เหมือนที่ผ่านมา

          ต่อมาเมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด - 19 คำว่าวิถีใหม่ก็ถูกนำไปปรับใช้มายิ่งขึ้นเพื่อสื่อถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปอันเป็นผลจากมาตรการรับมือต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจหลายธุรกิจต้องปรับตัว สังคมเริ่มที่จะพัฒนากลายเป็นสังคมไร้เงินสดมากยิ่งขึ้น และธุรกิจบางธุรกิจก็เติบโตขึ้นอย่างกะทันหัน และบางธุรกิจก็ต้องล้มหายตายจาก ซึ่งธุรกิจที่เติบโตในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั่นหนีไม่พ้นธุรกิจการขนส่งซึ่งเป็นธุรกิจที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากในเวลาดังกล่าว[3]

          โดยใน ปี 2563 ทาง Workpoint Today ได้ลงบทความ อะไร ๆ ก็ ‘New Normal’ แท้จริงแล้ว ‘New Normal’ คืออะไร?” โดยในบทความได้ทำการคาดคะเนวิถีชีวิตที่จะเปลี่ยนไปจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไว้ทั้งสิ้น 4 ข้อ ได้แก่

          1. อินเตอร์เน็ตจะกลายเป็นสิ่งที่มีบทบาทในชีวิตมากยิ่งขึ้น เพราะมีการสั่งอาหารทางช่องทางออนไลน์หรือการประชุมออนไลน์พร้อมกันนั้นก็มีการเสพสื่อต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้นตามไปด้วย

          2. ผู้คนจะมีการปฏิสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไป การเว้นระยะห่างทางสังคมจะกลายเป็นเรื่องปกติ และการไปที่สาธารณะจะลดลง การเดินทางทั้งในประเทศและต่างประเทศจะลดลง

          3. ปัญหาสุขภาพจะได้รับการใส่ใจมากยิ่งขึ้น การสวมหน้ากากอนามัยเดินทางไปไหนมาไหนจะกลายเป็นเรื่องปกติมากยิ่งขึ้น

          4. การลงทุนและการจับจ่ายสินค้าจะเป็นไปอย่างรอบคอบมากยิ่งขึ้น ประกันสุขภาพต่าง ๆ จะถูกซื้อและการใช้จ่ายเพื่อสินค้าฟุ่มเฟือยจะลดลง

          ขณะเดียวกันแวดวงสาธารณสุขก็ได้นำเอาคำว่าวิถีใหม่มาอธิบายการใช้ชีวิตในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเน้นเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นหลัก โดยมักจะหมายถึงการ Work From Home การดำเนินการทางธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การเรียนออนไลน์ การแพทย์และสาธารณสุขที่ปรึกษาในแบบออนไลน์ และการ deglobalization อันเกิดจากการที่การเดินทางเป็นไปได้ยากขึ้น[4]

         

วิถีใหม่ในมุมมองของบุคลากรสาธารณสุข

          ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางรัฐบาลได้เผยแพร่แนวคิดเรื่องวิถีใหม่เพื่อใช้ชีวิตในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยวิถีใหม่นั่นตั้งอยู่บนฐานความคิดของบุคลากรสาธารณสุขที่พยายามจะสร้างความปลอดภัยในชีวิต ผ่านการป้องกันไม่ให้มีการติดโรคโควิด-19 มากกว่าเรื่องของการปรับตัวทางเศรษฐกิจหรือการปรับตัวของวิถีชีวิต

          โดยหัวใจสำคัญของวิถีใหม่นั่นอยู่ที่การเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อลดความหนาแน่นของจำนวนคนต่อพื้นที่ โดยมีอัตราส่วนอยู่ที่ 1 คนต่อ 1 ตารางเมตร โดยให้ยึดมาตรการนี้ทั้งในร้านค้าและขนส่งสาธารณะ

          ซึ่งข้อสรุปดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ไว้ทั้งสิ้นดังต่อไปนี้

          1. รักษาระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 2 เมตร ในทุกกิจกรรม

          2. ระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภทควรจำกัดผู้ใช้บริการ เพื่อรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล

          3. ร้านอาหาร จัดพื้นที่เว้นระยะห่างในการเข้ารับบริการและจำกัดจำนวนคนนั่งในแต่ละโต๊ะ

          4. พกเจลแอลกอฮอล์ติดตัวเสมอ และล้างมือบ่อย ๆ

          5. ใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน

          6. ปิดฝาชักโครกทุกครั้งก่อนกดชักโครก

          7. เมื่อพบว่าตัวเองมีอาการไข้ สูง ไอ จาม ควรสวมหน้ากากอนามัยและรีบไปพบแพทย์[5]

 

ข้อวิจารณ์ต่อการใช้คำวิถีใหม่

          ในขณะที่คำว่า “วิถีใหม่” ถูกใช้ในโลกยุคโควิด-19 คล้ายเป็นแฟชั่นแต่ในมุมของคนบางกลุ่ม เช่น คนชายขอบของสังคมอย่างคนผิวสี คนไร้บ้าน ผู้อพยพลี้ภัย วิถีใหม่ หรือ New Normal อาจเป็นเพียงวิถีเดิม ๆ หรือ Old Normal ของพวกเขาที่ต้องเผชิญมาตลอดชีวิต เนื่องจากมาตรการที่รัฐทั้งหลายนำมาใช้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น เป็นมาตรการที่ใช้บังคับแก่คนชายขอบของสังคมมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างเสรี ความวิตกกังวลว่าลูกหลานจะไม่ได้เข้าโรงเรียนหรือไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย หรือการไม่ได้เข้าร้านตัดผม ร้านอาหาร โรงยิม โรงหนังหรือสปา นอกจากนี้มาตรการ การเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) สำหรับคนในบางพื้นที่ เช่น สลัม ค่ายผู้อพยพลี้ภัย คุก สถานกักกัน หรือชุมชนเมืองที่แออัดมาก ๆ เป็นมาตรการที่แทบจะปฏิบัติจริงไม่ได้เลย ดังนั้นวิถีใหม่ที่กล่าวอ้างกันในโลกยุคโควิด-19 จึงไม่สร้างความแตกต่างให้แก่วิถีชีวิตเดิม ๆ ของคนบางกลุ่มเลย ยิ่งไปกว่านั้นวิถีใหม่ที่ปฏิบัติกันอยู่ในทุกวันนี้กลับสร้างสิ่งที่อาจเรียกว่าเป็น “ความไม่ปกติใหม่ (new abnormal)” ขึ้นมามากกว่า อาทิ ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้น การเหยียดเชื้อชาติด้วยเหตุผลว่าเป็นชาติต้นเหตุของโรคระบาด การตั้งแง่หรือแสดงความรังเกียจคนติดโรคและขับไล่ออกจากชุมชน ตลอดจนแนวโน้มใหม่ของการฆ่าตัวตาย ภาวะซึมเศร้า และความรุนแรงในครอบครัวที่เพิ่มสูงขึ้น[6]                                                                                                                                    

อ้างอิง

[1] The Bangkok insight, 2563, ทำความรู้จัก 'New Normal' เตรียมพร้อมรับ 'โลกใหม่ใบเดิม'. เข้าถึงจาก https://www.thebangkokinsight.com/news/business/344430/

[2] Workpoint Today, 2563, อะไรๆก็ ‘New Normal’ แท้จริงแล้ว ‘New Normal’ คืออะไร?. เข้าถึงจาก https://workpointtoday.com/new-normal-covid19-newworld/

[3] กรุงเทพธุรกิจ, 2563, ยุคเฟื่องฟู'โลจิสติกส์' ในยุคโควิด-19 เติบโตสวนกระแสอุตสาหกรรมอื่น. เข้าถึงจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/952902

[4] แรงงานรู้สู้โควิด, 2564, ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal). เข้าถึงจาก https://www.tosh.or.th/covid-19/index.php/new-normal

[5] โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, 2563, New Normal วิถีใหม่ในโลกใบเดิมกับยุคโควิด-19. เข้าถึงจากhttps://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/new-normalวิถีใหม่ในโลกใบเดิมกั/

[6] จิตติภัทร พูนขำ. 2563. New Normal, Old Normal หรือ New Abnormal? การเมืองโลกบนขอบเหวของความปกติวิถีใหม่. เข้าถึงจากhttps://www.the101.world/world-politics-in-new-normal/