การชนะแบบแผ่นดินถล่ม (แลนด์สไลด์)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:38, 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง
1. รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู  แก้วหานาม
2. อาจารย์ ดร. นพพล อัคฮาด
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิมพ์ลิขิต แก้วหานาม

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย   


          เป้าหมายของพรรคการเมืองทุกพรรค คือการชนะการเลือกตั้งและได้จัดตั้งรัฐบาลเพื่อทำหน้าที่บริหารประเทศ โดยกลวิธีในการชนะการเลอกตั้งได้นั้นพรรคการเมืองต่างๆ ก็ต้องมีการออกแบบนโยบายหาเสียง วางตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง และควบคุมปัจจัยต่างๆ เพื่อทำให้พรรคได้รับชัยชนะ แต่การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เป็นไปได้ยากมากที่พรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใดจะสามารถชนะการเลือกตั้งจนได้จำนวน ส.ส. เกินกึ่งหนึ่งของสภาเพื่อเป็นแกนนำสามารถรวบรวมเสียงส่วนใหญ่ในการจัดตั้งรัฐบาลได้ ด้วยเหตุนี้กลยุทธ์การชนะแบบแผ่นดินถล่ม (แลนด์สไลด์) จึงมีการพูดถึงจากแกนนำพรรคที่เคยชนะการเลือกตั้งด้วยกลยุทธ์ดังกล่าวมาแล้วเพื่อนำมาปรับใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งจะได้มีการกล่าวถึงต่อไป

 

1. ความหมาย หรือ แนวคิด

การเลือกตั้ง (election) เป็นกลไกที่สำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ประเทศใดที่ขาดการเลือกตั้งจะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยมิได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเลือกตั้งจะเป็นเงื่อนไขจำเป็น (Necessary Conditions) สำหรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ใช่เงื่อนไขที่เพียงพอ (Sufficient Conditions) ที่จะตัดสินว่าประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นประชาธิปไตย ซึ่งต้องดูปัจจัยและเงื่อนไขที่จำเป็นอื่น ๆ ประกอบด้วย อาทิ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน การตรวจสอบทางการเมือง ความบริสุทธิ์ยุติธรรมในการเลือกตั้ง เป็นต้น

ส่วนระบบการเลือกตั้งมีหลายประเภท สำหรับระบบการเลือกตั้งโดยทั่วไปสามารถแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ[1] ได้แก่

1) ระบบเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากธรรมดา ('Plurality System) หรือ “First Past the Post” (FPTP) กล่าวคือ ใครได้คะแนนมากที่สุดก็จะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง เป็นระบบที่ง่ายที่สุด ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากธรรมดาที่พบเห็นเป็นส่วนใหญ่ใช้ควบคู่กับเขตเลือกตั้งที่มีตัวแทนได้หนึ่งคน (Single-Member District/Constituency) หรือ แบบ 1 เขต 1 คน (ของประเทศไทยเรียกว่า แบบเขตเดียวเบอร์เดียว หรือแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ได้ ส.ส.เขตละ 1 คนซึ่งเป็นผู้ที่ได้คะแนนเลือกตั้งสูงสุดในแต่ละเขต)

2) ระบบเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากเด็ดขาด ('Majority Rule) ใช้ในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต แต่ละเขตมีตัวแทนได้ 1 คนผู้ชนะจะต้องได้รับเลือกด้วยเสียงข้างมากเด็ดขาด (absolute majority) กล่าวคือ เกิน 50% ขึ้นไป เช่น มีผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง 100,000 คน ผู้ชนะจะต้องได้คะแนนเสียงเกิน 50,000 คะแนน ที่เป็นเช่นนี้เพื่อให้ผู้ชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเสียงสนับสนุนมากพอที่จะมีความชอบธรรมในการทำหน้าที่ แต่ปัญหาคือ ถ้าไม่มีผู้สมัครคนใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาดจะแก้ปัญหาอย่างไร?

3) ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน ('Proportional Representation) (ประเทศไทย เรียกว่า แบบบัญชีรายชื่อ) จะใช้กับเขตใหญ่ที่มีตัวแทนได้หลายคน เช่น ของประเทศไทยแบบบัญชีรายชื่อใช้พื้นที่ทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง สามารถมีตัวแทนได้หลายคน ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนนิยมเรียกกันง่ายๆ ว่า ระบบบัญชีรายชื่อ การนำระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนมาใช้สัมพันธ์กับปัจจัย 5 ประการ คือ ขนาดเขตเลือกตั้ง ลำดับชั้นของเขตเลือกตั้ง สูตรการคำนวณ เกณฑ์ขั้นต่ำ และการจัดลำดับผู้สมัครเลือกตั้ง

4) ระบบเลือกตั้งแบบผสม ('Mixed Electoral System) หมายถึง ระบบการเลือกตั้งที่ใช้ระบบเลือกตั้งสองระบบพร้อมกันในการเลือกตั้งครั้งเดียวกัน ระบบเลือกตั้งแบบผสมสามารถใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนพร้อมกับระบบเสียงข้างมากธรรมดา หรือแบบสัดส่วนพร้อมกับระบบเสียงข้างมากเด็ดขาดก็ได้ ระบบเลือกตั้งแบบผสมที่นิยม คือ แบบคู่ขนานระหว่างแบบแบ่งเขตและแบบสัดส่วน  ในระบบนี้การจัดสรรที่นั่งของผู้สมัครในระบบเขตเลือกตั้ง และระบบสัดส่วนจากบัญชีรายชื่อของพรรค จะเป็นอิสระจากกัน  โดยไม่นำคะแนนจากระบบเลือกตั้งสองระบบมาคิดรวมกัน ระบบนี้พบได้ในประเทศญี่ปุ่นและไทยตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2540 หรือฉบับ 2550

การเลือกตั้งทั่วไปสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งใช้ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ที่เป็นระบบการจัดสรรปันส่วนผสมระหว่างระบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองและระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยใช้บัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพียง 1 ใบ ทำให้พรรคการเมืองที่เคยชนะการเลือกตั้งในระบบการเลือกตั้งแบบเดิมที่เคยออกแบบไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 มีการคาดการณ์ว่าพรรคการเมืองของตนอาจจะไม่ได้ที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากระบบบัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว เพราะการใช้บัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ใบเดียวเลือก ส.ส. เขต แล้วนำคะแนนเขตทั้งหมดมาคำนวนเพื่อคิดจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อตามความนิยมของพรรค เป็นสูตรที่คิดหาจำนวน “ส.ส. พึงมี” ของแต่ละพรรคการเมืองควรจะได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่าไหร่ โดย ณ ขณะนั้นได้มีการคาดคะเนว่า พรรคการเมืองพรรคหนึ่งจำเป็นต้องได้คะแนนเสียงเลือกตั้ง 70,000 คะแนน ถึงจะได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ 1 คน ถ้าพรรคการเมืองใดชนะการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งมาก ๆ โดยที่คะแนนไม่ถึง 70,000 คะแนน เช่น 20,000 – 30,000 คะแนน พรรคนั้นก็จะได้คะแนนเฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบเขตเลือกตั้ง ไม่ได้บัญชีรายชื่อเลยแม้แต่คนเดียว[2]

ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งข้างต้น พรรคเพื่อไทยจึงมีการพูดถึงกลยุทธ์การที่จะต้องชนะการเลืองตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่อดีตพรรคไทยรักไทย ซึ่งมีนายทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรคที่สามารถชนะการเลือกตั้ง จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย คือได้รับการเลือกตั้งเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ได้ ส.ส. ของพรรคจำนวน 377 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งหมด 500 ที่นั่ง ซึ่งถือเป็นแนวทางในการต่อต้านอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีแผนการสืบทอดอำนาจ ผ่านการจัดการการเลือกตั้งที่มีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562[3]

ทั้งนี้ จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้อธิบาย “แลนด์สไลด์ (Landslide)” หมายถึง การชนะอย่างท่วมท้น ซึ่งมีคำศัพท์ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ คำนี้เป็นคำทับศัพท์ที่จะเห็นได้ตามข่าวการเมืองโดยเฉพาะข่าวที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง Landslide มาจากคำว่า Land + Slide ซึ่งถ้าแปลตามตัวก็จะแปลได้ว่า “แผ่นดินถล่ม” ซึ่งเมื่อนำมาใช้ในทางการเมืองจึงหมายถึงการชนะแบบถล่มทลาย กล่าวคือ พรรคการเมืองพรรคหนึ่งชนะด้วยการครองเสียงข้างมากเกินครึ่งนั่นเอง[4]

 

2. ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

คำว่า “แลนด์สไลด์” หรือการชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย สำหรับการใช้เป็นกลยุทธ์การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป พ.ศ. 2562 นั้นได้มีการกล่าวถึงในงานฉลองวันเกิดปีที่ 69 ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางญาติมิตรนักการเมืองจำนวนมาก ซึ่งก่อนจะเป่าเทียนวันเกิดนายทักษิณ ได้กล่าวว่า “วันนี้คงต้องพูดถึงเรื่องการเมือง เพราะมีนักการเมืองมาร่วมงานมากมาย และยังมีสำนักข่าวบีบีซีไทยด้วย และตนไม่ได้สนใจมากนักว่าเกิดอะไรขึ้นทางการเมืองในประเทศไทย เพราะมีการรัฐประหารโดยทหาร วิธีที่ทหารทำเพื่อยืดเวลาการเลือกตั้งและสร้างความนิยมให้กับตัวเอง ทำให้ผมหัวเราะอยู่ข้างหลัง ยิ่งทำมากเท่าไหร่ และนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้พ่ายแพ้มากขึ้นเท่านั้น เพราะพวกเขาไม่เข้าใจจิตใจของประชาชน ไม่เคยเข้าไปนั่งอยู่ในใจของประชาชน แต่พวกเราคือคนที่นั่งอยู่ในใจของประชาชน เรารู้ว่าประชาชนต้องการอะไร มองหาอะไร ความหวังของประชาชนคืออะไร” และในช่วงท้ายของการอวยพร มีผู้กล่าวว่า “ขอให้การเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งถล่มทลายแบบ “แลนด์สไลด์” นายทักษิณ ตอบว่าน่าจะเป็น “อาวาแลนช์” หรือหิมะถล่มมากกว่า เพราะหิมะถล่มมีความรุนแรงมากกว่าแลนด์สไลด์ที่แปลว่าดินถล่ม”[5]

หลังจากปรากฎการณ์ของการเกิดขึ้น มีการกล่าวถึงการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น โดยคาดการณ์ว่าจะได้ชัยชนะท่วมท้น ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ landslide หรือ "แผ่นดินถล่ม" แต่จะเป็นแบบ avalanche หรือ อะวาแลนช์ หรือ "หิมะถล่ม" ดังที่นายทักษิณ ชินวัตร ได้กล่าวถึงในงานวันเกิดของตัวเองตามที่ยกมา ซึ่งทำให้แสดงความมั่นใจของพรรคเพื่อไทยที่จะชนะแบบแลนด์สไลด์ ในฐานะที่ผูกขาดชัยชนะการเลือกตั้งมาตลอดในช่วงสิบปีมานี้ และความนิยมของประชาชนภายในประเทศ ของพรรคเพื่อไทย ก็ยังเป็นเข้มแข็งและเป็นที่คาดการณ์ที่จะได้ผลการเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 แต่คาดการณ์กันในหมู่นักวิเคราะห์การเลือกตั้งว่าพรรคเพื่อไทยคงได้รับชัยชนะไม่ถึงขั้นจะ “แลนด์สไลด์”เหมือนเมื่อหลายปีก่อน เพราะตามกติกาฉบับใหม่ ในรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดกรอบเพดาน ส.ส. ของพวกพรรคใหญ่เอาไว้ด้วยตัวเลขคะแนน “ส.ส. พึงมี” แล้วไปเอื้อให้กับพรรคขนาดกลาง และพรรคขนาดเล็กเยอะขึ้น ทำให้การที่จะชนะขาดแบบพรรคเดียว ก่อตั้งรัฐบาลได้ก็คงมีหนทางเดียวคือพรรคเพื่อไทย จะต้องได้ ส.ส.แทบจะทุกเขตทั้ง 350 เขต ซึ่งเป็นไปได้ยากมากในทางปฏิบัติ เพราะฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ส่วนในภาคใต้ไม่มีฐานเสียงเลย[6]

 

3. หลักการสำคัญ / ความสำคัญ

ระบบการเลือกตั้งของประเทศไทยที่ผ่านมามี 2 แบบ กล่าวคือ แบบดั้งเดิมใช้สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต โดยมีตัวเลขกับช่องกากบาท ต่อมาในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2544 มีระบบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มขึ้น บัตรเลือกตั้งจึงเพิ่มชื่อและเครื่องหมายหรือโลโก้พรรคการเมือง ซึ่งก่อนจัดการเลือกตั้ง พรรคการเมืองจะจับฉลากว่าได้หมายเลขใด เช่น พรรค “พ” จับได้หมายเลข 1 ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะมีกี่เขต ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่สังกัดพรรค “พ” จะใช้หมายเลข 1 ในการหาเสียงเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งต่าง ๆ  ในการจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติเป็นเอกฉันท์เกี่ยวกับลักษณะของบัตรเลือกตั้ง ในการประชุมเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2561 กำหนดให้บัตรเลือกตั้งที่จะใช้ลงคะแนนในการเลือกตั้งครั้งดังกล่าว ประกอบด้วย
(1) หมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้ง (2) ชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง (3) ชื่อพรรคการเมืองที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้นสังกัด ซึ่งบัตรเลือกตั้งดังกล่าวถือเป็นการพลิกโฉมการเลือกตั้งครั้งก่อน ๆ เพราะเมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งกากบาทลงคะแนนได้เพียงครั้งเดียวในบัตรเลือกตั้งในใบเดียวดังกล่าว จะส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกได้ถึง 3 อย่าง ได้แก่ (1) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต  (2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง และ(3) บัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองนั้น

          ปรากฏการณ์ที่สำคัญอีกอย่างสำหรับการจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 คือ
มีการกำหนดเขตเลือกตั้งทั่วประเทศออกเป็น 350 เขต ในแต่ละเขตเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องจับหมายเลขที่ใช้ในการหาเสียงของตนเอง ทำให้แต่ละเขตเลือกตั้งที่แต่ละพรรคการเมืองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งจะมีหมายเลขของผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ตรงกัน ขึ้นอยู่กับการจับฉลากได้หมายเลขของผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองนั้นในเขตเลือกตั้งนั้น ดังนั้น หมายเลข 1 ของแต่ละเขตเลือกตั้งจะเป็นหมายเลขของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่สังกัดพรรคการเมืองแตกต่างกัน ทำให้บัตรเลือกตั้งที่ต้องจัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีทั้งสิ้น 350 แบบ จึงเกิดปัญหาสำหรับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่า พรรคการเมืองที่ตนชื่นชอบได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ เพราะพรรคบางพรรคส่งผู้สมัครไม่ครบทุกเขตเลือกตั้ง บางพรรคส่งครบทุกเขตเลือกตั้งเป็นต้น เพราะถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ได้ตรวจสอบให้แน่ชัด เข้าใจว่าพรรคที่ตนชื่นชอบได้ส่งผู้สมัคร และได้ไปกาช่องกากบาทที่ไม่มีผู้สมัครย่อมทำให้บัตรเลือกตั้งใบดังกล่าว กลายเป็นบัตรเสีย สำหรับปัญหาสำคัญสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยการให้เหตุผลของผู้ร่างกฎหมายเลือกตั้งในครั้งนี้ที่ว่าไม่สามารถกำหนดหมายเลขของผู้สมัครเหมือนกันทุกเขตทั่วประเทศเหมือนที่ผ่านมา เพราะบางพรรคไม่ส่งผู้สมัครให้ครบทุกเขตนั้นพบว่าในทางปฏิบัติไม่มีน้ำหนักเพียงพอ เพราะหากพรรคไม่ส่งผู้มัครในเขตเลือกตั้งนั้น สามารถหาทางออกโดยไม่ต้องให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกาช่องกากบาทที่ไม่มีผู้สมัครของพรรคนั้นในเขตนั้นไปเลย หรืออาจแก้ไขโดยให้พรรคที่ส่งผู้สมัครไม่ครบทุกเขตเลือกตั้งให้อยู่ลำดับท้ายๆ เพื่อป้องกันความสับสน ความสำคัญของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยคือ ประชาชนต้องมีส่วนในการเมือง เมื่อพรรคการเมืองใดได้เป็นรัฐบาล พรรคการเมืองนั้นย่อมมีหน้าที่ต้องนำนโยบายตามที่ได้หาเสียงไว้ กำหนดเป็นนโยบายในการบริหารประเทศ รูปแบบการเลือกตั้งที่ทำให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย ย่อมทำให้ประชาชนสามารถเลือกพรรคการเมืองที่ตนพอใจได้อย่างถูกต้อง[7]

ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับการออกแบบระบบการเลือกตั้งข้างต้น พรรคเพื่อไทยแม้จะมีการพูดถึงกลยุทธ์การที่จะต้องชนะการเลืองตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่อดีตพรรคไทยรักไทย ซึ่งมีนายทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรคที่สามารถชนะการเลือกตั้ง จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย คือได้รับการเลือกตั้งเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ได้ ส.ส. ของพรรคจำนวน 377 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งหมด 500 ที่นั่ง ซึ่งถือเป็นแนวทางในการต่อต้านอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีแผนการสืบทอดอำนาจ ผ่านการจัดการการเลือกตั้งที่มีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562[8]

แต่การที่พรรคเพื่อไทยจะสามารถชนะการเลือกตั้งจนตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จแบบเดิมนั้นเป็นไปได้ยากภายใต้เงื่อนไขของระบบการเลือกตั้งแบบการจัดสรรปันส่วนผสมดังกล่าว ทำให้กลยุทธ์แบบ “แลนด์สไลด์” ในการวางแผนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาได้มีการเปลี่ยนแปลงไปภายใต้เงื่อนไขและปัจจัยต่างๆ โดยมีการแตกพรรคเล็กพรรคน้อยเพื่อส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตเลือกตั้งเพื่อรวบรวมคะแนนในเขตเลือกตั้งที่อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคเพื่อไทยเคยแพ้คะแนนให้กับพรรคการเมืองอื่นซึ่งถูกเรียกว่า “เสียงตกน้ำ” เพื่อรวบรวมกันเป็นคะแนนเสียงในการคำนวนระบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่แตกออกจากพรรคเพื่อไทย หรือพรรคพันธมิตรของพรรคเพื่อไทยที่มีนโยบายต่อต้านการสืบอำนาจของคณะ คสช. ซึ่งได้มีการคาดการณ์ว่าผลการลงคะแนนที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งจะสามารถทำให้พรรคเพื่อไทยและพรรคพันธมิตรต่างๆ รวบรวมเสียง ส.ส. เพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้

 

4. สรุป

เป้าหมายของพรรคการเมืองทุกพรรค คือการชนะการเลือกตั้งและได้จัดตั้งรัฐบาลเพื่อทำหน้าที่บริหารประเทศ โดยกลวิธีในการชนะการเลอกตั้งได้นั้นพรรคการเมืองต่างๆ ก็ต้องมีการออกแบบนโยบายหาเสียง วางตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง และควบคุมปัจจัยต่างๆ เพื่อทำให้พรรคได้รับชัยชนะ แต่การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เป็นไปได้ยากมากที่พรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใดจะสามารถชนะการเลือกตั้งจนได้จำนวน ส.ส. เกินกึ่งหนึ่งของสภาเพื่อเป็นแกนนำสามารถรวบรวมเสียงส่วนใหญ่ในการจัดตั้งรัฐบาลได้ ด้วยเหตุนี้กลยุทธ์การชนะแบบแผ่นดินถล่ม (แลนด์สไลด์) จึงมีการพูดถึงจากแกนนำพรรคที่เคยชนะการเลือกตั้งด้วยกลยุทธ์ดังกล่าวมาแล้วอย่าง พรรคเพื่อไทย เพื่อนำมาปรับใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งกลยุทธ์การที่จะต้องชนะการเลืองตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” เคยเป็นกลยุทธ์ที่อดีตพรรคไทยรักไทย ซึ่งมีนายทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรคที่สามารถชนะการเลือกตั้ง จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย คือได้รับการเลือกตั้งเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ได้ ส.ส. ของพรรคจำนวน 377 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งหมด 500 ที่นั่ง ซึ่งกลายเป็นแนวทางในการหาเสียงเพื่อระดมคะแนนเสียงเลือกตั้งจากฝ่ายที่ต่อต้านอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีแผนการสืบทอดอำนาจ ผ่านการจัดการการเลือกตั้งที่มีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ให้เลือกพรรคเพื่อไทยหรือพรรคฝ่ายสนับสนุนการต่อต้านอำนาจของ คสช. นั่นเอง

         

5. บรรณานุกรม

ผู้จัดการออนไลน์. (2561) “เพื่อไทย”โดนดูด แบบ“แลนด์สไลด์”สืบค้นจาก

https://mgronline.com/daily/detail/9610000076964, เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563

พีพีทีวีออนไลน์. (2561) “ทักษิณ” ลั่น “เพื่อไทย” ชนะเลือกตั้งถล่มทลาย, สืบค้นจาก

https://www.pptvhd36.com/news/, เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563

มติชน (ฉบับวันที่ 8 มิถุนายน 2554). ภาษาไทยวันละคำ. สืบค้นจาก

https://thaiwordaday.tumblr.com/page/34, เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563

รุจิระ บุนนาค. (2561). บัตรเลือกตั้งแบบไฮบริด. สืบค้นจาก

http://www.marutbunnag.com/article/614/, เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563

วอยซ์ทีวี. (2561). โฆษก พท. ยกโมเดล 'ทักษิณ' แลนด์สไลด์ต้าน คสช., สืบค้นจาก

 http://www.voicetv.co.th/read/EimIz5th1, เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563

สิริพรรณ นกสวน. (2551). Election and Electoral System : การเลือกตั้งและระบบเลือกตั้ง. ใน

พฤทธิสาณ ชุมพล และเอก ตั้งทรัพย์วัฒนา บรรณาธิการ, คำและความคิดในรัฐศาสตร์ร่วมสมัย เล่ม

2, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. น. 98-118.

 

อ้างอิง

[1] สิริพรรณ นกสวน. (2551). Election and Electoral System : การเลือกตั้งและระบบเลือกตั้ง. ใน

พฤทธิสาณ ชุมพล และเอก ตั้งทรัพย์วัฒนา บรรณาธิการ, คำและความคิดในรัฐศาสตร์ร่วมสมัย เล่ม

2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. น. 98-118.

[2] หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ. (2561). เพื่อไทย: ถอดบทเรียนเลือกตั้ง 2562 กับสถานการณ์ใหม่ ชนะเลือกตั้ง แต่ตั้งรัฐบาลไม่ได้. สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-48950003, เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน 2563

[3] วอยซ์ทีวี. (2561). โฆษก พท. ยกโมเดล 'ทักษิณ' แลนด์สไลด์ต้าน คสช., สืบค้นจาก

 http://www.voicetv.co.th/read/EimIz5th1, เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563

[4] จากหนังสือพิมพ์มติชน มติชน (ฉบับวันที่ 8 มิถุนายน 2554). ภาษาไทยวันละคำ. สืบค้นจาก

https://thaiwordaday.tumblr.com/page/34, เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563

[5] อ้างถึงในพีพีทีวีออนไลน์. (2561) “ทักษิณ” ลั่น “เพื่อไทย” ชนะเลือกตั้งถล่มทลาย, สืบค้นจาก

https://www.pptvhd36.com/news/, เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563

[6] ผู้จัดการออนไลน์. (2561) “เพื่อไทย”โดนดูด แบบ“แลนด์สไลด์”สืบค้นจาก

https://mgronline.com/daily/detail/9610000076964, เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563

[7] รุจิระ บุนนาค. (2561). บัตรเลือกตั้งแบบไฮบริด. สืบค้นจาก

http://www.marutbunnag.com/article/614/, เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563

[8] วอยซ์ทีวีวอยซ์ทีวี. (2561). โฆษก พท. ยกโมเดล 'ทักษิณ' แลนด์สไลด์ต้าน คสช., สืบค้นจาก

 http://www.voicetv.co.th/read/EimIz5th1, เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563