การเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 26
ผู้เรียบเรียง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร. สติธร ธนานิธิโชติ
ความนำ
สภาผู้แทนราษฎรถือเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสภาไทยซึ่งเป็นองค์กรหนึ่งในสามองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยตามหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ (Checks and balances) อันถือเป็นพื้นฐานของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยสภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติหรือหน้าที่ในการออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้ และยังทำหน้าที่ในการควบคุมการบริหารราชแผ่นดินของรัฐบาลอีกด้วย นับตั้งแต่แรกเริ่มสถาปนาระบบรัฐสภาไทยภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 นับว่าเป็นสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 และในเวลาต่อมาได้มีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งปรากฏว่านายชวน หลีกภัย สมาชิกสภาผู้แทนแบบบัญชีรายชื่อลำดับ 2 ของพรรคประชาธิปัตย์ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 26 ของไทย
ข้อกำหนดและขั้นตอนการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร
ภายหลังการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 และมีการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อของคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้วเสร็จ[1] กระบวนการทางการเมืองที่สำคัญหลังจากนี้ ก็คือ ประการแรก การเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก กล่าวคือ ตามบทบัญญัติมาตรา 121 วรรค 1 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดให้ภายใน 15 วันภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก[2] และในเวลาต่อมาได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2562 ซึ่งกำหนดให้วันที่ 24 พฤษภาคม 2562 เป็นวันรัฐพิธีดังกล่าว[3] ประการถัดมา การเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อทำหน้าที่ประธานในการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรตลอดสมัยการประชุมและในฐานะประธานรัฐสภาไทยอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ถูกกำหนดขึ้นในวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ณ ห้องประชุมใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร ซึ่งถือเป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 สมัยประชุมสามัญประจำปีเป็นครั้งแรก โดยสำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ มีนายชัย ชิดชอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ที่อาวุโสสูงสุดทำหน้าที่การประธานในการประชุมชั่วคราว[4] ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 กำหนดขั้นตอนการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร[5] โดย 1) กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อสมาชิกฯ ได้ 1 ชื่อ 2) รายชื่อสมาชิกฯ ที่ถูกเสนอชื่อเป็นประธานสภาฯ จะต้องมีสมาชิกสภาฯ รับรองไม่น้อยกว่า 20 คน 3) กรณีมีผู้ถูกเสนอชื่อเพียงชื่อเดียว ให้ผู้ถูกเสนอเป็นผู้ได้รับเลือกเป็นประธาน 4) กรณีมีการเสนอชื่อหลายชื่อให้มีการออกเสียงโดยการลงคะแนนลับ
ทั้งนี้ สำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระดังกล่าวได้มีสมาชิกสภาฯ ใช้สิทธิเสนอชื่อผู้สมควรเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 2 คนด้วยกัน คือ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ เสนอชื่อ นายชวน หลีกภัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่นายซูการ์โน มะทา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต จังหวัดยะลา พรรคประชาชาติ ได้เสนอชื่อ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต จังหวัดเชียงใหม่[6] อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเสนอชื่อผู้สมควรเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ดำเนินการลงคะแนนลับในคูหาเลือกตั้ง และการนับผลคะแนนปรากฏว่า นายชวน หลีกภัย ได้รับคะแนน 258 คะแนน ส่วนนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ได้รับคะแนน 235 คะแนน[7] ด้วยผลคะแนนตามที่ปรากฏนี้ จึงส่งผลให้นายชวน หลีกภัย ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 26 ของรัฐสภาไทย
'ดีลการเมือง'? : เบื้องหลังตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร
ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรและในฐานะประธานรัฐสภาถือเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญยิ่งอันเนื่องจากเป็นประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะต้องควบคุมกระบวนการในการออกกฎหมาย ตลอดจน การตรวจสอบและถ่วงดุลฝ่ายบริหาร เช่น การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล การตั้งกระทู้ถามคณะรัฐมนตรี เป็นต้น โดยฉพาะอย่างยิ่ง การทำหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎรในห้วงเวลาที่รัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ มีเสียงในสภาฯ “ปริ่มน้ำ” อันเนื่องจากผลคะแนนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อไม่มีพรรคการเมืองสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพียงพรรคเดียว ด้วยเหตุนี้ กระบวนการต่างๆ และความกดดัดทางการเมืองจึงตกอยู่ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม หากพินิจพิจารณากระแสข่าวเพียงไม่กี่วันก่อนวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร พบว่า กระแสผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้ง ตำแหน่งต่างๆ ในคณะรัฐมนตรีก็ยังคงไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใด ทั้งนี้ สำหรับพรรคพลังประชารัฐนั้น ได้วางตัวนายสุชาติ ตันเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา และนายวิรัช รัตนเศรษฐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้เป็นผู้ท้าชิงประธานสภาผู้แทนราษฎรมาตั้งแต่ต้น แต่ทั้งนี้ ก็มีกระแสข่าวว่าพรรคพลังประชารัฐอาจจะเสนอตำแหน่งดังกล่าวให้กับนายบัญญัติ บรรทัดฐาน จากพรรคประชาธิปัตย์แทน อย่างไรก็ดี กลับมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางกลุ่มของพรรคพลังประชารัฐมีความกังวลว่าหากเสนอชื่อบุคคลจากพรรคอื่นมาทำหน้าที่ก็อาจสุ่มเสี่ยงทำให้พรรคพลังประชารัฐเสียเปรียบในกระบวนการทางรัฐสภาได้[8]
บทส่งท้าย: บริบทการเมืองไทย และการทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร
ภายใต้รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำประกอบกับปรากฎการณ์เลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรข้างต้นนั้น ได้มีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตถึงผลทางการเมืองที่อาจจะตามมาจากปรากฎการณ์ดังกล่าวไว้ 2 ประการสำคัญ[9]
ประการแรก ประเด็นด้านเสถียรภาพของรัฐบาล กล่าวคือ ภายใต้เงื่อนไขของการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่ประกอบด้วยบรรดาพรรคการเมืองหลากหลายพรรค และที่ผ่านมาก็พบข้อเท็จจริงว่ามีการต่อรองอำนาจและตำแหน่งการเมืองจนไม่สามารถจัดตั้งคณะรัฐมนตรีได้ในเวลาอันสมควรนั้น ข้อกังวลในประเด็นดังกล่าวนี้ คือในอนาคตกระบวนการทำงานของรัฐสภาอาจจะประสบปัญหาความมีเสถียรภาพ อาทิ การผ่านพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งถือเป็นกฎหมายสำคัญประจำปีของรัฐบาล ฯลฯ นอกจากนี้ ด้วยภาวะเสียงปริ่มน้ำของรัฐบาล การโหวตใดๆ ที่มีความสำคัญในสภาผู้แทนราษฎรอาจจะมีกลุ่มก้อนทางการเมืองภายในพรรครัฐบาลโหวตสวนทางคัดค้าน หรือมีโอกาสเกิดกรณี “งูเห่า” สูง
ประการที่สอง ประเด็นของการดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรของนายชวน หลีกภัย โดยเห็นว่าด้วยความอาวุโส ประสบการณ์ทางการเมือง และบารมีจะสามารถควบคุมกระบวนการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรให้ราบรื่นไปได้ แต่ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า การที่มีประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่ได้มาจากพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น ถือเป็นความอ่อนหัดทางการเมือง เพราะนายชวน หลีกภัยซึ่งมาจากพรรครองในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น ถึงแม้จะสามารถควบคุมการประชุมและกระบวนการต่างๆ ของรัฐสภาให้ดำเนินไปได้ แต่ถึงที่สุดพรรคประชาธิปัตย์ หรือ นายชวน หลีกภัยเองอาจจะไม่เล็งเห็นว่าความราบรื่นลงตัวท่ามกลางกลุ่มก้อนอำนาจทางการเมืองในกระบวนการรัฐสภาจะเป็นผลประโยชน์สูงสุดที่เกิดแก่พรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นได้
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่น่าสนใจและน่าจับตามองต่อไปว่าการดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภาของนายชวน หลีกภัย จากพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลนั้น จะทำหน้าที่และวางบทบาทอย่างไรต่อเกมการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร จะหนุนเสริมความไร้เสถียรภาพของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต หรือจะควบคุมเกมในทิศทางตรงกันข้าม
บรรณานุกรม
“ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 125 ตอนพิเศษ 79 ง. 2 พฤษภาคม 2551
“ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 125 ตอนพิเศษ 79 ง. 2 พฤษภาคม 2551
“จับสัญญาณ-เลือก ปธ.สภา ภาพสะท้อน ‘การเมืองป่วน’!.” มติชนออนไลน์ (28 พฤษภาคม 2562) เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1512608>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.
“‘ชวน’ เฮ! นั่งประธานสภา ‘ปู่ชัย’ สั่งปิดประชุม นัดโหวตท่านรอง 9 โมง พรุ่งนี้.” มติชนออนไลน์ (25 พฤษภาคม 2562) เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1510111>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.
“ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 136 ตอนที่ 60 ก. 7 พฤษภาคม 2562
“ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 136 ตอนที่ 62 ก. วันที่ 8 พฤษภาคม 2562
“ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (ครั้งที่ 2).” ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 136 ตอนที่ 70 ก. วันที่ 28 พฤษภาคม 2562
“ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (ครั้งที่ 2).” ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 136 ตอนที่ 70 ก. วันที่ 28 พฤษภาคม 2562.
“พระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2562.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 136 ตอนที่ 63 ก. 14 พฤษภาคม 2562
“แย่งเก้าอี้ประธานสภาวุ่น! มีคนประชาธิปัตย์แทรก ทำพปชร.หวั่นไม่ป้อง “บิ๊กตู่”.” ข่าวสดออนไลน์ (17 พฤษภาคม 2562) เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/politics/news_2524295>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.
“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2562.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 134 ตอนที่ 40 ก . วันที่ 6 เมษายน 2560.
[1] “ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 136 ตอนที่ 60 ก, 7 พฤษภาคม 2562, หน้า 1; “ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 136 ตอนที่ 62 ก, วันที่ 8 พฤษภาคม 2562, หน้า 10.; “ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (ครั้งที่ 2),” ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 136 ตอนที่ 70 ก, วันที่ 28 พฤษภาคม 2562, หน้าที่ 30, และ “ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (ครั้งที่ 2),” ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 136 ตอนที่ 70 ก, วันที่ 28 พฤษภาคม 2562, หน้า 31.
[2] “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2562,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 134 ตอนที่ 40 ก , วันที่ 6 เมษายน 2560, หน้า 33.
[3] “พระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2562,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 136 ตอนที่ 63 ก, 14 พฤษภาคม 2562, หน้า 1.
[4] “ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 125 ตอนพิเศษ 79 ง, 2 พฤษภาคม 2551, หน้า 11 และ 13
[5] “ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 125 ตอนพิเศษ 79 ง, 2 พฤษภาคม 2551, หน้า 9
[6] “‘ชวน’ เฮ! นั่งประธานสภา ‘ปู่ชัย’ สั่งปิดประชุม นัดโหวตท่านรอง 9 โมง พรุ่งนี้,” มติชนออนไลน์ (25 พฤษภาคม 2562) เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1510111>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.
[7] “‘ชวน’ เฮ! นั่งประธานสภา ‘ปู่ชัย’ สั่งปิดประชุม นัดโหวตท่านรอง 9 โมง พรุ่งนี้,” มติชนออนไลน์ (25 พฤษภาคม 2562) เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1510111>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.
[8] “‘แย่งเก้าอี้ประธานสภาวุ่น! มีคนประชาธิปัตย์แทรก ทำพปชร.หวั่นไม่ป้อง “บิ๊กตู่”,” ข่าวสดออนไลน์ (17 พฤษภาคม 2562) เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/politics/news_2524295>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.
[9] “จับสัญญาณ-เลือก ปธ.สภา ภาพสะท้อน ‘การเมืองป่วน’!,” มติชนออนไลน์ (28 พฤษภาคม 2562) เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1512608>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.