แนวคิดเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ผู้เรียบเรียง: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายภัทระ คำพิทักษ์
แนวคิดเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยถือเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ (มาตรา 5) การกำหนดสิทธิ เสรีภาพให้แก่ประชาชนจึงถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอันถือเป็นแนวความคิดรากฐานที่สำคัญอันจะขาดเสียมิได้ของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากบทบัญญัติในเรื่องสิทธิและเสรีภาพเป็นแนวคิดที่มาควบคู่กับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อรองรับแนวคิดที่ว่ามนุษย์ควรได้รับความคุ้มครองจากรัฐเพื่อที่จะสามารถรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้ได้ โดยห้ามมิให้รัฐใช้อำนาจทางนิติบัญญัติออกกฎหมายเพื่อลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือเกินจำเป็น หลักการสำคัญนี้ปรากฏในมหากฎบัตรแม็กนาคาร์ต้า (Magna Carta) ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของโลกโดยมีสาระสำคัญว่า “พระมหากษัตริย์จะทรงเก็บภาษีโดยปราศจากความยินยอมจากรัฐสภาไม่ได้” หมายความว่า การใช้อำนาจของรัฐต่อประชาชนต้องได้รับความยินยอมจากรัฐสภาอันเป็นตัวแทนของประชาชนเสียก่อนและนับแต่นั้นเป็นต้นมา ประเทศไทยซึ่งรับอิทธิพลของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยภายใต้ระบบรัฐสภาของสหราชอาณาจักรจึงได้กำหนดบทบัญญัติในเรื่องสิทธิและเสรีภาพไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนับตั้งแต่ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 และบัญญัติไว้เรื่อยมาในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ รัฐธรรมนูญจึงต้องมีบทบัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนไว้เสมอ
ความหมายของคำว่าสิทธิและเสรีภาพ
คำว่า “สิทธิ” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายถึง อำนาจอันชอบธรรมโดยได้รับการรับรองจากกฎหมาย จากความหมายดังกล่าว คำว่า “สิทธิ” จึงหมายถึง อำนาจที่กฎหมายรับรองและให้ความคุ้มครองป้องกันมิให้บุคคลใดรุกล้ำหรือใช้สิทธิเกินส่วนของตนเองอันถือเป็นการล่วงละเมิดต่อสิทธิของผู้อื่น
สิทธิถือเป็นอำนาจที่กฎหมายรับรองให้แก่บุคคลในอันที่จะกระทำการใดที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สินของตนหรือบุคคลอื่น หรือ ประโยชน์ที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้แก่บุคคลในอันที่จะกระทำการเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือบุคคลอื่น เช่น สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิในชีวิตและร่างกาย เป็นต้น
เมื่อสิทธิถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด หมายความว่า รัฐต้องมีหน้าที่ในการจัดทำเพื่อให้ประชาชนได้รับสิทธิตามที่บัญญัติไว้ สิทธิตามรัฐธรรมนูญจึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับรัฐ และสิทธิตามรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิที่ผูกพันให้รัฐต้องปกป้อง และคุ้มครองสิทธิตามที่ได้บัญญัติในรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพื่อให้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมีผลในทางปฏิบัติ
ส่วนคำว่า “เสรีภาพ” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายถึง ความสามารถที่จะกระทำการใด ๆ ได้ตามที่ตนปรารถนาโดยไม่มีอุปสรรคขัดขวาง คำว่า “เสรีภาพ” จึงเป็นสภาวะของมนุษย์ที่เป็นอิสระในการกำหนดตนเองว่าจะกระทำการหรือไม่กระทำการอันใด เช่น เสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพในการเดินทาง เป็นต้น ทั้งนี้ การใช้เสรีภาพจะต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น
สิ่งใดรัฐธรรมนูญกำหนดเป็นเสรีภาพ หมายความว่า ประชาชนมีเสรีภาพเช่นนั้น โดยรัฐมีหน้าที่ทั่วไปที่จะงดเว้นไม่ขัดขวางการใช้เสรีภาพนั้นของประชาชน แต่รัฐไม่มีหน้าที่โดยเฉพาะเจาะจงที่จะต้องจัดหาสิ่งที่เป็นเสรีภาพให้ เสรีภาพจึงต่างจากสิทธิที่สิ่งใดเป็นสิทธิถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะเจาะจงในการทำให้ประชาชนได้รับสิทธินั้น
แนวคิดในการกำหนดสิทธิและเสรีภาพในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้เปลี่ยนวิธีการเขียนใหม่ให้เป็นสากลมากขึ้น ด้วยการปรับปรุงหลักการจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ โดยรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนชาวไทยให้ครอบคลุมกว้างขึ้นกว่าเดิม จากที่เคยกำหนดให้สิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองจะมีเฉพาะที่กฎหมายบัญญัติเท่านั้น จึงวางหลักการให้ “อะไรที่ไม่ได้ห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย สามารถทำได้และได้รับการคุ้มครอง” เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้ทันทีไม่ต้องรอให้มีการบัญญัติกฎหมายอนุวัติการมาใช้บังคับก่อน
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้กำหนดกรอบการใช้สิทธิเสรีภาพตามหลักสากล (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ไว้ 3 ข้อ ดังนี้[1]
1) ต้องไม่กระทบความมั่นคงปลอดภัยของชาติ
2) ต้องไม่กระทบความสงบเรียบร้อย
3) ต้องไม่กระทบสิทธิเสรีภาพของคนอื่น
ดังนั้น ในการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ หากไม่ได้มีการกำหนดห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่นแล้ว บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี การใช้สิทธิและเสรีภาพย่อมต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้อื่น สังคม และประเทศชาติ โดยในหมวดนี้ ได้กำหนดกรอบการใช้สิทธิและเสรีภาพว่าต้องไม่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ต้องไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น นอกจากนี้ หากประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ สามารถยกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้ รวมทั้งผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพหรือการกระทำความผิดทางอาญาของบุคคลอื่น มีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาหรือความช่วยเหลือจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ (มาตรา 25)
สำหรับการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลมีเงื่อนไขสำคัญ คือ การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ โดยเป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุดในการดำเเนินการทางอาญาต่อบุคคลที่ใช้สิทธิและเสรีภาพในทางดังกล่าวนี้ (มาตรา 49)
บรรณานุกรม
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. (6 เมษายน 2560). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 134 ตอนที่ 40 ก.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. พฤษภาคม 2562.
หนังสืออ่านเพิ่มเติม
พงษ์พิลัย วรรณราช. “สิทธิ”' และ “เสรีภาพ” แท้จริงแล้วเหมือนหรือต่างกันอย่างไร.' ออนไลน์ http://web.krisdika.go.th/data/activity/act83.htm#_ftn1.
สมคิด เลิศไพฑูรย์ และกล้า สมุทวณิช, รายงานวิจัยการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยศาลรัฐธรรมนูญ, (กรุงเทพมหานคร : ศูนย์ศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2546)
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. สาระน่ารู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ชุด “สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของปวงชนชาวไทย”. พฤศจิกายน 2560.
[1] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560, พฤษภาคม 2562, หน้า 35.