คณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
คณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
คณะรัฐมนตรีมีความสำคัญในทางกฎหมายเพราะทำหน้าที่เป็นองค์กรฝ่ายบริหารที่มีหน้าที่บังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย นอกจากนี้ ความสำคัญของคณะรัฐมนตรีในทางการเมืองเพราะถือเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจทางการเมืองในการบริหารและบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ภายใต้กรอบแห่งกฎหมาย ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงถือเป็นกลุ่มองค์กรที่มีอำนาจในการกำหนดการบริหารประเทศเพราะต้องดำเนินการตามแนวนโยบายแห่งรัฐและยุทธศาสตร์ตามที่ระบุไว้[1]
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติคณะรัฐมนตรีไว้ในหมวด 8 ตั้งแต่มาตรา 158-183 ในส่วนนี้จะกล่าวถึงองค์ประกอบ คุณสมบัติ เงื่อนไขก่อนเข้าดำรงตำแหน่ง พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่ทรงใช้ผ่านทางคณะรัฐมนตรี หลักการรับสนองพระบรมราชโองการ และ เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทน ในส่วนของอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีจะกล่าวถึงไว้ในส่วนของอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
องค์ประกอบ คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของคณะรัฐมนตรี
1.1 องค์ประกอบของคณะรัฐมนตรี
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติองค์ประกอบของคณะรัฐมนตรีไว้ในมาตรา 158 “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคนประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน” คณะรัฐมนตรีจึงมีความสำคัญเพราะถูกแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกันกับนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวน 20 กระทรวง[2] ส่งผลให้ต้องมีรัฐมนตรีได้จำนวน 20 คน เพื่อทำหน้าที่ควบคุมบังคับบัญชางานทั้ง 20 กระทรวง
1.2 คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี
รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 160 ดังนี้
(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี
(3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
(4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
(5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
(6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98
(7) ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษเว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
(8) ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186
หรือมาตรา 187 มาแล้วยังไม่ถึงสองปีนับถึงวันแต่งตั้ง
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังได้กำหนดห้ามมิให้ข้าราชการและพนักงานของรัฐซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง จะเป็นข้าราชการการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นมิได้ (มาตรา 181) หมายความว่า รัฐธรรมนูญได้กำหนดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าจะต้องไม่เป็นข้าราชการและพนักงานของรัฐที่มีเงินเดือนประจำหรือข้าราชการการเมืองอื่น ๆ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ต้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่เข้าลักษณะตาม (1)-(18) เช่น
- มาตรา 98 (12) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง
- มาตรา 98 (13) เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
- มาตรา 98 (14) เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกินสองปี
- มาตรา 98 (15) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือ เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
ข้อสังเกต รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดคุณสมบัติในการของรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น ผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรีอาจจะมาจากผู้ที่ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้เช่นเดียวกับกรณีของนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรีเพิ่มเติมไว้ในมาตรา 112 กล่าวคือ บุคคลผู้เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงมาแล้วยังไม่เกินสองปี จะเป็นรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมิได้ เว้นแต่เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
เงื่อนไขก่อนดำรงตำแหน่งคณะรัฐมนตรี
1) การถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนดำรงตำแหน่ง
รัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ก่อนเข้ารับหน้าที่ด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้ (มาตรา 161)
“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
ในกรณีที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้คณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนที่จะถวายสัตย์ปฏิญาณให้คณะรัฐมนตรีนั้นดำเนินการตามมาตรา 162 วรรคสองได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้คณะรัฐมนตรีตามมาตรา 168 (1) พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมดังกล่าว
ในกรณีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 วรรคท้าย วางหลักการให้พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้คณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนที่จะถวายสัตย์ปฎิญาณ คณะรัฐมนตรีสามารถทำหน้าที่ไปพลางก่อนเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประโยชน์สำคัญของแผ่นดินได้เท่าที่จำเป็นโดยที่ยังไม่ต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา (มาตรา 162 วรรคท้าย) และในกรณีการทำหน้าที่ไปพลางก่อนนี้รัฐธรรมนูญให้ถือว่าคณะรัฐมนตรีจะพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
2) การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี
รัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนไขก่อนการทำหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีไว้อีกประการหนึ่งนอกจากต้องถวายสัตย์ปฏิญาณแล้ว คณะรัฐมนตรีจะต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาซึ่งต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ และต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย (มาตรา 162 วรรคแรก) ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญได้กำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐไว้ในหมวด 6 มาตรา 64-78 เพื่อเป็นแนวทางให้คณะรัฐมนตรีที่ทำหน้าที่บริหารประเทศได้ดำเนินการตรากฎหมายและกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาจึงเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีในการนำแนวนโยบายแห่งรัฐมากำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติด้วย
ประโยชน์ของการที่ให้คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อนจะเข้าบริหารราชการแผ่นดินเพื่อให้สมาชิกสภาได้ทราบล่วงหน้าว่ามีนโยบายอะไรอย่างไรเพื่อเป็นการผูกมัดคณะรัฐมนตรีในการบริหารนโยบายตามที่ได้แถลงไว้และหากคณะรัฐมนตรีเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามที่แถลงไวก็เป็นหน้าที่ของรัฐสภาในการตั้งมาตราการตั้งกระทู้เพื่อสอบถามหรือการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจให้คณะรัฐมนตรีชี้แจง[3]
พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่กำหนดไว้ในหมวด 8 คณะรัฐมนตรี
รัฐธรรมนูญได้กำหนดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่ทรงใช้ผ่านทางคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาไว้ตั้งแต่มาตรา 176-180 ดังนี้
1) พระราชอำนาจในการประกาศใช้และเลิกใช้กฎอัยการศึก (มาตรา 176)
2) พระราชอำนาจในการประกาศสงครามเมื่อได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา (มาตรา 177)
3) พระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพสัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ (มาตรา 178)
4) พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ (มาตรา 179)
5) พระราชอำนาจในการแต่งตั้งและให้พ้นจากตำแหน่งของข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดี และเทียบเท่า (มาตรา 180)
การรับสนองพระบรมราชโองการ
หลักการรับสนองพระบรมราชโองการถูกกำหนดให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้” ดังนี้ รัฐธรรมนูญในมาตรา 182 จึงกำหนดให้การกระทำของพระมหากษัตริย์ในกรณี “บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดินต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ” กล่าวคือ เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงทำตามคำแนะนำของผู้รับสนองพระบรมราชโองการแล้ว หากจะพึงมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นไม่ว่าในเรื่องใด ๆ บุคคลที่จะต้องรับผิดชอบในทุกทางก็คือ ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนั่นเอง[4]
เงินประจำตำแหน่ง
เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นขององคมนตรี ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา (มาตรา 183 วรรคแรก) บำเหน็จบำนาญหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นขององคมนตรีซึ่งพ้นจากตำแหน่ง ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา (มาตรา 183 วรรคท้าย)
บรรณานุกรม
พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 เพิ่มโดยพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2562.
มานิตย์ จุมปา, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550), กรุงเทพ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ครั้งที่ 2, 2553.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. (6 เมษายน 2560). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 134 ตอนที่ 40 ก.
วิษณุ เครืองาม, กฎหมายรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพ : วิญญูชน. 2538.
วิษณุ เครืองาม และ บวรศักดิ์ อุวรรณโน. พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร. วารสารกฎหมาย. ปีที่ 2 ฉบับที่ 2. (พ.ค.-ส.ค. 2520).
หนังสืออ่านเพิ่มเติม
มานิตย์ จุมปา, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550), กรุงเทพ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ครั้งที่ 2, 2553.
วิษณุ เครืองาม, กฎหมายรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพ : วิญญูชน. 2538.
วิษณุ เครืองาม และ บวรศักดิ์ อุวรรณโน. พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร. วารสารกฎหมาย. ปีที่ 2 ฉบับที่ 2. (พ.ค.-ส.ค. 2520).
[1] วิษณุ เครืองาม, กฎหมายรัฐธรรมนูญ, กรุงเทพ : วิญญูชน,2538, หน้า 550-552.
[2] พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๖๒ มาตรา 5.
[3] มานิตย์ จุมปา, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550), กรุงเทพ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ครั้งที่ 2, 2553, หน้า 358-359.
[4] วิษณุ เครืองาม และ บวรศักดิ์ อุวรรณโน, พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร, วารสารกฎหมาย, ปีที่ 2 ฉบับที่ 2, (พ.ค.-ส.ค. 2520), หน้า 159.