ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์
ผู้เรียบเรียง เชษฐา ทองยิ่ง
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
ถ้าหากเอ่ยถึงสมญานามที่ว่า"โค้วตุงหมง" หรือ "โค้วตงหมง" และวลีที่ว่า "ยุ่งตายห่า" หลายๆคนคงจะนึกถึงเจ้าของสมญานามและวลีดังกล่าว คือ "นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์" ผู้ที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักของบุคคลในวงการต่างๆโดยทั่วไป ท่านเป็นทั้งทนายความ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักการธนาคาร นักการเมืองท้องถิ่น คือ สมาชิกสภาและประธานสภาจังหวัดฉะเชิงเทรา และก้าวสู่การเมืองระดับชาติ เริ่มจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดฉะเชิงเทรา รัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการหลายกระทรวงในคณะรัฐมนตรีหลายชุด อีกทั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีในช่วงสมัยหนึ่งด้วย นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่งประมุขสูงสุดของฝ่ายนิติบัญญัติ คือ ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งยังเป็นสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมืองสุดท้ายก่อนที่จะอำลาวงการการเมืองไป
ประวัติส่วนตัว
นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ เกิดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2458 ที่ตำบลบางขนาก อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 5 คน ของหมื่นสุวรรณศิริพงษ์ (ติ๊ดเส่ง แซ่โค้ว หรือ ชัย กาญจนวัฒน์) กับนางสาวส้มจีน แซ่เซียว (ต่อมาเปลี่ยนนามสกุลใหม่เป็นติณวร)[1]
นายประสิทธิ์เคยให้สัมภาษณ์สำนักพิมพ์กรีนพีช เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2536 เกี่ยวกับชีวิตเยาว์วัย ตอนหนึ่งว่า
" ผมเกิดปีเถาะ พ.ศ.2458 วันที่ 20 มิถุนายน ตอนโพล้เพล้ใกล้ค่ำ ที่บ้านริมคลองบางขนาก เมื่อตอนเป็นเด็กเล็กแรกเกิด หมอดูเขาบอกว่า ต่อไปจะเป็นอภิชาตบุตร* และพ่อแม่เลี้ยงดูไม่ได้ พ่อเลยถือเคล็ด ยกให้อาบู่น้องสาวของพ่อเป็นผู้เลี้ยงดูแทน"[2] (* คำว่า อภิชาตบุตร มีความหมายว่า บุตรที่มีคุณสมบัติสูงกว่าบิดามารดา)[3]
นายประสิทธิ์มีชื่อเดิมเป็นภาษาจีนว่า "อี้ฮวง" ครั้งเมื่อถูกส่งไปเรียนที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ครูจีนเห็นว่าเป็นชื่อที่มีความหมายออกจะเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะคำว่า "อี้ฮวง" แปลว่า "ความสวยงาม" ครูจึงได้เปลี่ยนชื่อภาษาจีนให้ใหม่ว่า"ตุงหมง" หรือ"ตุนเม่า" ซึ่งแปลว่า "ความเจริญงอกงาม" และเมื่อรวมกับชื่อแซ่หรือตระกูล"โค้ว" ก็จะเป็น"โค้วตุงหมง" หรือ"สวี่ ตุนเม่า" มีความหมายแปลเป็นภาษาไทย คือ "ความเจริญรุ่งเรืองอย่างมิรู้สุดสิ้น"[4]
เมื่อมีกฎหมายนามสกุลออกมาใช้บังคับ ทางราชการกำหนดให้ทุกคนจะต้องมีนามสกุล คู่กับชื่อ ครอบครัวของนายประสิทธิ์จึงใช้นามสกุลว่า "กิมฮวด" (ฮวดเป็นชื่อของพ่อของหมื่น-สุวรรณศิริพงษ์และเป็นปู่ของนายประสิทธิ์) และต่อมาได้เปลี่ยนนามสกุลใหม่เป็น "กาญจนวัฒน์" ซึ่งก็แปลงมาจากนามสกุลกิมฮวดเดิม เพราะ "กิม" แปลเป็นไทยว่า "ทอง" ใช้คำว่า "กาญจน์" ส่วน "ฮวด" แปลเป็นไทยว่า "เจริญ" ก็ใช้คำว่า "วัฒน์" รวมเป็น"กาญจนวัฒน์" ซึ่งมีความหมายว่า "ตระกูลที่เพียบพร้อมด้วยทรัพย์สินเงินทอง"[5]
นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ได้ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2542 ด้วยโรคมะเร็งในตับ ขณะมีอายุได้ 84 ปี[6]
การศึกษา
2.1 ระดับประถมและมัธยมศึกษา
นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ เข้ารับการศึกษาครั้งแรก ขณะมีอายุได้ 6 ปี ที่โรงเรียนวัดปากคลองบางขนาก ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับบ้านที่พักอาศัย เมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียน ในปี พ.ศ.2465 จึงถูกส่งไปเรียนภาษาจีนที่เมืองเอี่ยวเพ้ง มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน (บ้านเกิดของนายฮวดผู้เป็นปู่) โดยได้ไปพำนักอาศัยอยู่กับญาติ แต่เนื่องจากความไม่เคยชินกับสภาพภูมิอากาศและสถานที่ อีกทั้งความอดคิดถึงบ้านไม่ได้ จึงเรียนได้เพียงครึ่งปี (6 เดือน) เท่านั้น จึงได้เดินทางกลับประเทศไทย ต่อมาในปี พ.ศ.2466 ได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนจีนในกรุงเทพฯ ที่ "โรงเรียนอึ้งฮุ้น" (เรียกตามภาษาจีนแต้จิ่ว) หรือ "โรงเรียนหวงหวน" (เรียกตามภาษาจีนกลาง) ตั้งอยู่ในซอยตรงข้ามวัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) เชิงสะพานพุทธฯ ซึ่งเปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงมัธยม และเปิดสอนวิชาครูต่ออีก 2 ปี นายประสิทธิ์จึงได้เรียนอยู่ ณ โรงเรียนแห่งนี้ เป็นระยะเวลา 10 ปี จึงได้สำเร็จการศึกษา ซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียง 18 ปี[7] ต่อจากนั้นโรงเรียนอึ้งฮุ้นก็ได้รับนายประสิทธิ์เข้าทำงานเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนแห่งนี้ โดยได้รับเงินเดือน เดือนละ 20 บาท[8]
แต่เนื่องจากการสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนสอนภาษาจีนนั้น รัฐบาลไม่ได้เทียบวิทยฐานะให้ จึงไม่สามารถสมัครเข้ารับราชการหรือศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นได้ นายประสิทธิ์จึงได้หาทางศึกษาต่อโดยวิธีการเรียนลัดหรือกวดวิชา เพื่อสอบเทียบเอาประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาสมบูรณ์ คือ มัธยมปีที่ 8 (ม.8) ของกระทรวงธรรมการ (ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาธิการ) ซึ่งนายประสิทธิ์สอบเทียบชั้นมัธยมปีที่ 4 (ม.4) ได้สำเร็จในปี พ.ศ.2476 ชั้นมัธยมปีที่ 6 (ม.6) ในปี พ.ศ.2477 และชั้นมัธยมปีที่ 8 (ม.8) ในปี พ.ศ.2478 ทำให้มีสิทธิที่จะสอบรับราชการและเรียนต่อมหาวิทยาลัยต่อไปได้[9]
2.2 ระดับประกาศนียบัตรและอุดมศึกษา[10]
ในขณะที่นายประสิทธิ์สอบเทียบได้ชั้นมัธยมปีที่ 8 (ม.8) ท่านมีอายุเพียง 20 ปีและยังได้รับเลื่อนตำแหน่งเป็นครูใหญ่ (ฝ่ายไทย) โดยได้รับเงินเดือน เดือนละ 50 บาท ด้วยความที่นายประสิทธิ์เป็นคนรักศึกษาหาความรู้ จึงมีความมุ่งมาดปรารถนาที่จะเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง แต่เนื่องจากได้รับคัดเลือกให้เดินทางไปศึกษาอบรมวิชาครูเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัย จี้หนาน นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เป็นระยะเวลา 1 ปี 3 เดือน ทำให้ความใฝ่ฝันที่จะเรียนต่อต้อง ยุติลงชั่วคราว
ในปี พ.ศ.2479 เมื่อนายประสิทธิ์สำเร็จการศึกษาอบรมแล้ว ได้รับประกาศนียบัตรวิชาครูจากมหาวิทยาลัยจี้หนาน และได้เดินทางกลับประเทศไทยมาเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนอึ้งฮุ้นต่อไปเช่นเดิม และในปี พ.ศ.2480 จึงได้สอบเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองได้สำเร็จตามที่ใฝ่ฝันเอาไว้ และสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต ในปี พ.ศ.2490
ตำแหน่ง/หน้าที่การงาน
3.1 ตำแหน่ง/หน้าที่การงานทั่วไป
นอกจากนายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ได้ทำงานในตำแหน่งครูและครูใหญ่ที่โรงเรียนอึ้งฮุ้นดังที่กล่าวแล้ว ในปี พ.ศ.2482 ได้สอบเข้ารับราชการในกระทรวงเศรษฐการ (ปัจจุบันคือกระทรวงพาณิชย์) เป็นข้าราชการชั้นจัตวา อันดับ 2 ได้รับเงินเดือน เดือนละ 50 บาท และในปี พ.ศ.2482 ได้เปิดสำนักงานทนายความ "มนูกิจ" เพื่อให้คำปรึกษาทางกฎหมายและว่าความทั่วราชอาณาจักร[11]
นอกจากนี้ นายประสิทธิ์ยังมีตำแหน่งสำคัญๆในธนาคารกรุงเทพ จำกัด ได้แก่ กรรมการธนาคารกรุงเทพ จำกัด (ปี พ.ศ.2496) กรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ จำกัด (ปี พ.ศ.2511) รองประธานกรรมการและกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ จำกัด (ปี พ.ศ.2519) และประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพ จำกัด (ปี พ.ศ.2527)[12]
นอกจากหน้าที่การงานดังกล่าวแล้ว นายประสิทธิ์ยังเป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ที่มีผลงานมากมาย ที่สำคัญได้แก่ เป็นผู้แปลเรียบเรียงหนังสือชื่อ เจียง ไค เช็ค ประมุขจีนใหม่ แปลรัฐธรรมนูญแห่งสหภาพโซเวียต และเขียนบทความเกี่ยวกับการเมืองลงหนังสือพิมพ์การเมืองอีกหลายเรื่อง รวมทั้งเป็นเจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์การเมืองชื่อ "การเมือง" อีกด้วย[13]
3.2 การดำรงตำแหน่งทางการเมือง
1) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
นายประสิทธิ์ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดฉะเชิงเทรา รวม 5 สมัย คือ ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2495, วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500, วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2500, วันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2518 และวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2519[14]
นายประสิทธิ์เคยให้สัมภาษณ์นิตยสารผู้นำ ฉบับเดือนกันยายน พ.ศ.2527 ว่า
"...เริ่มสมัครผู้แทนตั้งแต่อายุ 30 ไม่ได้รับเลือก (6 ม.ค.2489) ต่อมาอีกที หลัง 8 พ.ย.2480 ที่ป๋าผิน (พลโท ผิน ชุณหะวัณ) รัฐประหาร...เลือกตั้ง 29 ม.ค.2491 ก็ไม่ได้ มาได้เอา 2495 และผู้แทนได้มา 5 ครั้ง... เลือกตั้งแต่ละที แหมแทบรากเลือด ไม่ต้องทำมาหากินอะไรแล้ว เดินทุ่งนิ้วเท้าฉีกหมด ค่ำไหนนอนนั่น อย่างกับพระธุดงค์... อย่าบอกใครเลย เหล้ากินทั้งมียี่ห้อและไม่มียี่ห้อ อยู่กลางทุ่งก็ตั้งวงเหล้า ต้องกินด้วยกัน ไม่รักกันแล้ว จะเอาคะแนนเหรอ มันก็อย่างนี้แหละ กอดคอกันไป ช้อนอันเดียวกัน เวียนกันอยู่นั่นแหละ มันก็โชคก็ดวงนะที่เอาชีวิตรอดมาได้ ฝ่าฟันอุปสรรคมาก็มาก"[15]
2) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี
นายประสิทธิ์ ดำรงตำแหน่งทั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการ รัฐมนตรีว่าการ และรองนายกรัฐมนตรี ในคณะรัฐมนตรี รวม 5 คณะ เรียงตามลำดับ ดังนี้[16]
- รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสหกรณ์ (ปัจจุบันคือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ในคณะรัฐมนตรี คณะที่ 28 ซึ่งมีพลโท ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี (ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2501)
- รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการ (ปัจจุบันคือกระทรวงพาณิชย์) ในคณะรัฐมนตรี คณะที่ 31 ซึ่งมีจอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี (ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2514)
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในคณะรัฐมนตรี คณะที่ 32 ซึ่งมีจอมพล ถนอม กิตติ-ขจร เป็นนายกรัฐมนตรี (ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2515)
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในคณะรัฐมนตรี คณะที่ 37 ซึ่งมีหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี (ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2519)
- รองนายกรัฐมนตรี ในคณะรัฐมนตรี คณะที่ 38 ซึ่งมีหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี (ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2519)
3) ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร
นายประสิทธิ์ได้รับเลือกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 14 ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2518-12 มกราคม พ.ศ.2519[17] และเนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น มาตรา 96 บัญญัติให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่งอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย[18]
4) สมาชิกวุฒิสภา
นอกจากนี้นายประสิทธิ์ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภา เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2522[19] ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมืองสุดท้ายก่อนที่จะเลิกเล่นการเมืองไป
อย่างไรก็ตาม นอกจากตำแหน่งทางการเมืองสำคัญๆดังกล่าวแล้ว ในช่วงปี พ.ศ.2508 นายประสิทธิ์ยังได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาจังหวัดฉะเชิงเทรา และได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาจังหวัดฉะเชิงเทราด้วย[20] นอกจากนี้ภายหลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ได้เปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นอีกครั้ง ตามพระราชบัญญัติ พรรคการเมือง พ.ศ.2517 นายประสิทธิ์และคณะจึงได้รวมตัวกันก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้น ใช้ชื่อว่า "พรรคสังคมชาตินิยม" ซึ่งมีนายประสิทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรค และได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2518 ปรากฏว่า พรรคสังคมชาตินิยมได้รับเลือกตั้งมา 16 ที่นั่ง[21] ในการเลือกตั้งครั้งนี้นายประสิทธิ์ได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 4 และเป็นครั้งที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกด้วย
สมญานาม/ฉายาที่ได้รับ[22]
จากการดำรงตำแหน่งสำคัญๆของนายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์นั้น ทำให้ท่านเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป และยิ่งมีการตั้งสมญานามและฉายาให้ท่านแล้ว ก็ยิ่งทำให้ชื่อของนายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ เป็นที่รู้จักของบุคคลต่างๆมากยิ่งขึ้น
"โค้วตุงหมง" เป็นชื่อเดิมของนายประสิทธิ์ที่เป็นภาษาจีน (ต่อมามีการออกเสียงเพี้ยนเป็น "โค้วตงหมง" ) บางครั้งก็มีคนเรียกท่านว่า "มังกรร้ายแห่งถ้ำบางขนาก" เนื่องจากท่านมีถิ่นกำเนิด อยู่ที่ตำบลบางขนากนั่นเอง
"สามสลึงเฟื้อง" ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสหกรณ์ เมื่อปี พ.ศ.2501 ท่านเรียกตัวท่านเองว่าเป็น"สามสลึงเฟื้อง" ซึ่งหมายความว่าท่านอยู่ในตำแหน่งนี้ได้เพียง 3 เดือนครึ่ง รัฐบาลในขณะนั้นก็ถูกจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการยึดอำนาจการปกครอง ส่งผลให้ท่านต้องพ้นจากตำแหน่งนี้ไปด้วย
"คิสซิงเจอร์แห่งประเทศไทย" หรือ "ผู้เปิดประตูเมืองจีน" เป็นการเรียกขานนายประสิทธิ์ ในช่วงปี พ.ศ.2515 ที่ท่านได้ร่วมเดินทางกับคณะผู้แทนไทยไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศจีน สมัยที่โจว เอิน ไหล เป็นผู้นำประเทศจีน ในขณะนั้นท่านเป็นที่ปรึกษาของทีมนักกีฬาปิงปอง แต่พอไปถึงประเทศจีน ท่านได้เปลี่ยนบทบาทไปเป็นผู้แทนในการเจรจาความทางการเมืองกับรัฐมนตรีหลายฝ่ายของจีน รวมทั้งกับท่านผู้นำโจว เอิน ไหลด้วย เมื่อเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยหนังสือพิมพ์ NATION ฉบับภาษาอังกฤษ ได้พาดหัวข่าวยกย่องให้ท่านเป็นวีรบุรุษแห่งปีด้วยบทบาททางการทูต ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะคล้ายกับการเดินทางไปเยือนจีนของนายเฮนรี่ คิสซิงเจอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสหรัฐอเมริกา จึงมีการเรียกขานท่านว่าเป็น "คิสซิงเจอร์แห่งประเทศไทย" นั่นเอง
"ยุ่งตายห่า" เป็นคำพูดหรือวลีที่ทำให้นายประสิทธิ์เป็นที่รู้จักของบุคคลโดยทั่วไปมากยิ่งขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากท่านเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ มองโลกในแง่ดี พูดคุยสนุกสนาน เป็นกันเอง ทำให้ท่านสามารถควบคุมการประชุม ให้เป็นไปอย่างเรียบร้อยดี บางครั้งท่านก็มีมุขคำพูดที่ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถึงกับหัวเราะทั้งสภา ทำให้บรรยากาศที่ตึงเครียดอยู่กลับผ่อนคลายลง วันหนึ่งขณะที่ท่านทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมอยู่บนบัลลังก์ ท่านได้พูดกระซิบกับนายประมวล กุลมาตย์ ซึ่งเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น ว่า "อย่างนี้ก็ยุ่งตายห่า" โดยลืมไปว่า ไมโครโฟนนั้นกำลังเปิดอยู่ ทำให้เสียงของท่านดังได้ยินไปทั่วห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร หนังสือพิมพ์ก็เลยนำเอาคำนี้ไปเขียน ถึงกัน จนกลายเป็นคำพูดหรือวลีที่ฮิตติดปากของบุคคลทั่วไป ฮิตมากถึงขนาดตัวท่านเองพูดคุยล้อเล่นกับเพื่อนฝูงว่า จะนำคำนี้ไปจดทะเบียนลิขสิทธิ์ ห้ามมิให้คนอื่นนำไปใช้
อ้างอิง
- ↑ อภิวัฒน์ วรรณกร, จอมยุทธ
- ↑ สำนักพิมพ์สาธารณชน, ฟัง ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ พูด, กรุงเทพฯ: บริษัท ครีเอทีฟ พับ-ลิชชิ่ง จำกัด, 2537, หน้า 4.
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณทิตยสถาน พ.ศ.2542, กรุงเทพฯ: บริษัท นานมีบุ๊คส์ พับลิเคชั่นส์ จำกัด, 2546, หน้า 1331.
- ↑ อภิวัฒน์ วรรณกร, จอมยุทธ
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 37-38.
- ↑ สยามจดหมายเหตุ (ข้อมูลออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.siamarchives.com/node/20132 สืบค้น ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553.
- ↑ อภิวัฒน์ วรรณกร, จอมยุทธ
- ↑ สำนักพิมพ์สาธารณชน, ฟัง ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ พูด, อ้างแล้ว, หน้า 7,11.
- ↑ อภิวัฒน์ วรรณกร, จอมยุทธ
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 63-67,75-79,92.
- ↑ สำนักพิมพ์สาธารณชน, ฟัง ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ พูด, อ้างแล้ว, หน้า 28,30.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 285-286.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 23-24.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 285-286.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 89-90.
- ↑ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ข้อมูลออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.cabinet.thaigov.go.th/bb_main11.htm สืบค้น ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553.
- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, หนังสือที่ระลึกครบรอบ 72 ปี รัฐสภาไทย, กรุงเทพฯ: สำนักการพิมพ์, 2547, หน้า 113.
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517, ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม 91 ตอนที่ 169 วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2517.
- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, หนังสือที่ระลึกครบรอบ 72 ปี รัฐสภาไทย, อ้างแล้ว, หน้า 113.
- ↑ สำนักพิมพ์สาธารณชน, ฟัง ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ พูด, อ้างแล้ว, หน้า 285.
- ↑ อภิวัฒน์ วรรณกร, ศึกษากลยุทธ์และเคล็ดลับทางการเมือง จอมยุทธ
- ↑ วีระ เลิศสมพร, ชื่อ ฉายา และสมญานามทางการเมืองไทย พ.ศ.2475-2545, กรุงเทพฯ: พงษ์สวัสดิ์การพิมพ์, 2546, หน้า 153-155.
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
สำนักพิมพ์สาธารณชน, ฟัง ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ พูด, กรุงเทพฯ: บริษัท ครีเอทีฟ พับลิช-ชิ่ง จำกัด, 2537.
อภิวัฒน์ วรรณกร, จอมยุทธ "โค้วตุงหมง"ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์, กรุงเทพฯ: บริษัท พิฆเณศ พริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด, 2539.
อภิวัฒน์ วรรณกร, ศึกษากลยุทธ์และเคล็ดลับทางการเมือง จอมยุทธ"โค้วตุงหมง"ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ นักการเมือง 4 ทศวรรษ, กรุงเทพฯ: บริษัท พิฆเณศ พริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด, 2539.
อภิวัฒน์ วรรณกร, ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ คิด พูด เขียน, กรุงเทพฯ: บริษัท เยลโล่การพิมพ์, 2540.
บรรณานุกรม
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517, ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม 91 ตอนที่ 169 วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2517.
ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณทิตยสถาน พ.ศ.2542, กรุงเทพฯ: บริษัท นานมีบุ๊คส์ พับลิเคชั่นส์ จำกัด, 2546.
วีระ เลิศสมพร, ชื่อ ฉายา และสมญานามทางการเมืองไทย พ.ศ.2475-2545, กรุงเทพฯ: พงษ์สวัสดิ์การพิมพ์, 2546.
สยามจดหมายเหตุ (ข้อมูลออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.siamarchives.com/ node/20132 สืบค้น ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553.
สำนักพิมพ์สาธารณชน, ฟัง ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ พูด, กรุงเทพฯ: บริษัท ครีเอทีฟ พับลิชชิ่ง จำกัด, 2537.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, หนังสือที่ระลึกครบรอบ 72 ปี รัฐสภาไทย, กรุงเทพฯ: สำนักการพิมพ์, 2547.
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ข้อมูลออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.cabinet.thaigov.go.th/bb_main11.htm สืบค้น ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553.
อภิวัฒน์ วรรณกร, จอมยุทธ "โค้วตุงหมง" ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์, กรุงเทพฯ: บริษัท พิฆเณศ พริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด, 2539.
อภิวัฒน์ วรรณกร, ศึกษากลยุทธ์และเคล็ดลับทางการเมือง จอมยุทธ"โค้วตุงหมง"ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ นักการเมือง 4 ทศวรรษ, กรุงเทพฯ: บริษัท พิฆเณศ พริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด, 2539.
ดูเพิ่มเติม