สุขาภิบาลท่าฉลอม
เรียบเรียงโดย ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล
บทนำ
การปฏิรูปการจัดระเบียบราชการแผ่นดินในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับการบริหารราชการแผ่นดินโดยการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนการกลาง(Centralisation) โดยมีพระมหากษัตริย์และกระทรวงต่างๆที่ทรงจัดตั้งขึ้นทำหน้าที่แยกไปตามภารกิจ รวมถึงการจัดระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินใหม่ โดยใช้รูปแบบมณฑลเทศาภิบาลที่มีการจัดลำดับชั้นของการบริหารลดลั่นลงไป เป็นเมือง อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน อย่างไรก็ตาม การรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางมิได้ตอบสนองต่อประสิทธิภาพในการรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ต่อมาจึงได้มีการจัดตั้งสุขาภิบาลรับผิดชอบภารกิจนี้ขึ้น
กำเนิดสุขาภิบาล
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครองให้มีความทันสมัยทัดเทียมกับอารยประเทศ และนำรัฐสยามเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ด้วยการสถาปนารัฐสมัยใหม่(Modern State)อันสามารถจำแนกรูปแบบรัฐในช่วงการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งมีพระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงสุดว่า รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์(Absolutist State) ซึ่งมีลักษณะรวมศูนย์อำนาจการปกครองรวมถึงการมีเหตุผลแห่ง
รัฐที่แตกต่างไปจากเดิม ทำให้แนวคิดและเป้าหมายเกี่ยวกับงานปกครองของรัฐจึงมีความแตกต่างจากรัฐในยุคจารีตอย่างชัดเจน ซึ่งแต่เดิมรัฐจารีตจะให้ความสำคัญกับการพาผู้ใต้ปกครองไปสู่การพ้นทุกข์และอยู่ในโลกหน้า ในขณะที่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับให้ความสำคัญกับการมีชีวิตในโลกนี้ [1] ด้วยเหตุที่ หน้าที่สำคัญของผู้ปกครองในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะต้องบำรุงบ้านเมืองและราษฎรไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองควบคู่กับการรักษาความสงบเรียบร้อย อาทิ การส่งเสริมการทำมาหากิน การปรับปรุงการคมนาคม การรักษาความสะอาด การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ยังผลให้รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต้องสร้างกลไกและองค์กรใหม่ ๆ ขึ้นมารับผิดชอบการจัดการบำรุงบ้านเมือง เช่น การรถไฟ การประปา การสาธารณสุข รวมถึงการสุขาภิบาลด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ การปกครองท้องถิ่นในรัฐสมัยใหม่(Modern State)ต้องถูกรัฐจัดตั้งขึ้น(state created) โดยมีภารกิจหน้าที่ 2 ประการควบคู่กันไป คือ ประการแรก หน้าที่ “การบำรุง”ด้วยการจัดบริการสาธารณะให้ประชาชนในท้องถิ่น(public services) และประการที่สอง หน้าที่ “การปกครอง” โดยการปกครองท้องถิ่นนั้นจะต้องมีอิสระในการการบริหาร(autonomy)มีอิสระในออกข้อบัญญัติท้องถิ่นตามขอบเขตที่กฎหมายบัญญัติมอบอำนาจให้มา โดยที่มาของคณะผู้บริหารและการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นนั้นจะมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนตามกระบวนการประชาธิปไตย(democracy) ทั้งนี้ความเป็นอิสระและการมีส่วนร่วมของประชาชนทางการปกครองนี้อันถือเป็นภารกิจสำคัญของการปกครองท้องถิ่นตามระบอบประชาธิปไตย[2]
สุขาภิบาล ถือเป็นองค์กรที่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตั้งขึ้น(State created)เพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐในการจัดการบำรุงและสาธารณูปโภค(public services) เช่น ดูแลความสงบเรียบร้อยให้แก่ชุมชน การดูแลรักษาความสะอาด การป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ และจัดสาธารณูปโภคให้ท้องถิ่น โดยอาศัยแรงงานและทุนในท้องถิ่น แต่การบริหารสุขาภิบาลยังอยู่ภายใต้การควบคุมของส่วนกลาง ผ่านข้าราชการมหาดไทยและมณฑลเทศาภิบาล[3]ซึ่งที่มาของการจัดตั้งสุขาภิบาลอันมีหน้าที่ในการบำรุงบ้านเมืองสัมพันธ์กับแนวคิดเรื่อง
การจัด“มูนิซิเปอล” (Municipal)ที่เกิดขึ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามแบบอย่างที่ประเทศตะวันตกใช้ในอาณานิคมขณะนั้น เพื่อสร้างความเจริญของบ้านเมืองอย่างเป็นระบบ[4]
ทั้งนี้ ความเป็นมาของแนวคิดเรื่องการจัด “มูนิซิเปอล” ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯถูกริเริ่มในปี พ.ศ. 2436 (ร.ศ.112) เมื่อพระยาอภัยราชา (โรลังค์ยัคมินส์) ที่ปรึกษาราชการทั่วไป ได้กราบบังคมทูลไปยังรัชกาลที่ 5 ว่า ควรจัด “มูนิซิเปอล” ขึ้นในกรุงเทพฯ เพื่อให้ราษฎรได้มีส่วนรับผิดชอบในการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ การทำถนน ป้องกันอัคคีภัย และการจัดการศึกษา โดยจัดให้มีการเลือกตัวแทนของราษฎรเข้าร่วมบริหารงานกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการจัดกิจการสาธารณะให้กับราษฎร[5] แต่ขณะนั้นข้อเสนอของพระยาอภัยราชากลับไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากที่ประชุมเสนาบดีมีความเห็นว่าแนวคิดดังกล่าวยังคงเป็นเรื่องใหม่ที่สยามไม่ควรนำมาใช้อย่างทันที[6]
อย่างไรก็ตามพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงเห็นถึงความจำเป็นในการบำรุงบ้านเมืองในด้านการรักษาความสะอาดการป้องกันโรค ฯลฯ ดังนั้นพระองค์จึงทรงตั้งกรมสุขาภิบาลทำหน้าที่“ซะนิตอริ” (Sanitary)ใน พ.ศ. 2440 ให้สังกัดกระทรวงนครบาลเพื่อดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้แก่ชุมชน ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ และให้บริการด้านสาธารณูปโภคแก่ราษฎร เช่น น้ำประปา ไฟฟ้าจากนั้นได้มีการประกาศใช้พระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 (พ.ศ.2441)โดยกำหนดอำนาจหน้าที่ของสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ได้แก่ การทำลายขยะมูลฝอย การจัดที่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะของราษฎรทั่วไป การจัดห้ามมิให้ปลูกสร้างหรือซ่อมโรงเรือนที่จะเป็นเหตุให้เกิดโรค และการขนย้ายสิ่งโสโครกและสิ่งรำคาญของมหาชนไปให้พ้น โดยงานสุขาภิบาลอยู่ภายใต้กำกับดูแลของเจ้าพนักงานสุขาภิบาล และได้รับเงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน[7]
การจัดตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า “สุขาภิบาลกรุงเทพฯ”ขึ้นแทนโดยให้ทำหน้าที่เป็นกลไกการบำรุง(public services)ที่มุ่งเน้นการจัดการสาธารณสุขและการบำรุงบ้านเมืองเป็นสำคัญ แต่ไม่ได้มีฐานะเป็นองค์กรปกครองที่แยกออกจากการบริหารงานของส่วนกลาง แต่อย่างใด เนื่องจากสุขาภิบาลเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงนครบาล หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ งานสุขาภิบาลกรุงเทพฯเป็นงานแขนงหนึ่งหรือแผนกหนึ่งของกระทรวงนครบาลนั่นเอง[8] ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าการสุขาภิบาลที่ถูกจัดตั้งขึ้นในสมัยพระจุลจอมเกล้าฯนั้น มีภารกิจหน้าที่ในการบำรุงหรือการจัดบริการสาธารณะแต่ยังไม่จัดเป็นการปกครองท้องถิ่นอย่างแท้จริง เนื่องจากองค์กรดังกล่าวถูกดำเนินการโดยข้าราชการเป็นสำคัญส่วนราษฎรในท้องถิ่นยังไม่มีส่วนร่วมในการบริหารอันเป็นแนวคิดพื้นฐานของการปกครองท้องถิ่น
นอกเหนือจากการตั้งสุขาภิบาลกรุงเทพฯแล้ว ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มีความคิดในการกลไกการบำรุงให้ขยายไปทั่วประเทศด้วยการจัดตั้งสุขาภิบาลตามหัวเมือง แนวคิดนี้เริ่มต้นจากความพยายามในการจัด “มูนิซิเปอล” ตามหัวเมืองของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ในขณะนั้น เนื่องจาก กระทรวงมหาดไทยขาดเงินทุนในการดำเนินการประกอบกับการจัดวางระบบเทศาภิบาลในหัวเมืองที่ยังไม่เรียบร้อยเท่าที่ควร ดังนั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงแก้ปัญหาด้วยการสนับสนุนให้มีการจัดสุขาภิบาลเพื่อเป็นการแบ่งเบาภารกิจของรัฐในการบำรุงในหัวเมืองทั่วประเทศแทน
กำเนิดสุขาภิบาลท่าฉลอม
สุขาภิบาลตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2448 ซึ่งถือเป็นสุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรก อันมีจุดมุ่งหมายเริ่มแรกเพื่อบำรุงชุมชนให้สะอาดและเป็นระเบียบ โดยรัฐได้จัดสรรเงินภาษีโรงร้านในเขตสุขาภิบาลจากราษฎรไทยและคนในบังคับต่างชาติ สำหรับเป็นเงินทุนในการบำรุง ซ่อมแซมถนนหนทาง การจุดโคมไฟ และการรักษาความสะอาดภายในเขตสุขาภิบาลซึ่งการดำเนินงานของสุขาภิบาลท่าฉลอมบริหารงานโดยคณะกรรมการสุขาภิบาล ประกอบด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และพ่อค้า โดยมีข้าหลวงเทศาภิบาลควบคุมการทำงานและตรวจสอบบัญชีของคณะกรรมการสุขาภิบาล[9]ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่างานสุขาภิบาลตำบลท่าฉลอมเริ่มมีรูปองค์กรเกิดขึ้นและมีภารกิจหน้าที่ในการบำรุงท้องถิ่น โดยอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการสุขาภิบาลเป็นของข้าราชการในมณฑลเทศาภิบาล
มูลเหตุของการจัดตั้งสุขาภิบาลท่าฉลอม เกิดขึ้นจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาส เมืองนครเขื่อนขันธ์ (เมืองพระประแดง สมุทรปราการ) ทรงทอดพระเนตรเห็นสภาพตลาดเมือง นครเขื่อนขันธ์สกปรกมาก และจึงทรงมีพระราชดํารัสในที่ประชุม เสนาบดีว่า “โสโครกเหมือนกับตลาดท่าจีน” (ตลาดท่าฉลอม) จึงเป็นเหตุให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุ ภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ร้อนพระทัยมาก ทรงคิดหาวิธี ร่วมกับ พระยาพิไชยสุนทร ผู้ว่าราชการเมืองสมุทรสาคร
พระยาพิไชยสุนทรจึงได้เชิญกํานัน ผู้ใหญ่บ้าน และพ่อค้าชาวจีนในตลาดท่าฉลอม มาประชุมเพื่อร่วมกันพิจารณาหาทาง ปรับปรุงแก้ไข ซึ่งได้ข้อสรุปว่าประชาชนและพ่อค้าชาวจีน ยินดี ที่จะออกเงินซื้ออิฐปูถนน แต่ขอให้ทางผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้ทําถนน โดยใช้แรงงานนักโทษทําการปรับพื้นดินและเก็บกวาดขยะ มูลฝอยขนไปเททิ้งเป็นครั้งคราว โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ได้เสด็จออกตรวจดูการดําเนินงานก่อสร้างถนนที่ ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ได้เรี่ยไรกันเป็น จํานวนเงิน 5,472 บาท ทรงมีพระดําริว่า ถนนสายนี้ เป็นของราษฎรได้ ลงทุนเสียสละเงินเป็นจํานวนมาก หากไม่มีแผนรองรับการ ซ่อมแซมไว้ให้ดีแล้วอาจชํารุดเสียหาย กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรงเห็นเป็นโอกาสดี จึงกราบบังคม ทูลขอพระราชทานเงินภาษีโรงร้านตลาดท่าฉลอมมาใช้ ทํานุบํารุงในกิจการ 3 ประเภท คือ ซ่อมแซมถนน จุด โคมไฟให้มีแสงสว่างในเวลาคํ่าคืน และจัดจ้างคนงานสําหรับ กวาดขยะมูลฝอย[10] ทั้งนี้ข้อเสนอในการใช้ภาษีโรงร้านนี้ได้ ต่อมารับพระบรมราชานุญาต จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็น “ประกาศแก้ภาษีโรงร้าน จัดสุขาภิบาลตลาดท่าฉลอม เมืองสมุทสาคร” วันที่ 18 มีนาคม ร.ศ.124 ”(2448)[11] จากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จพระราชดําเนินมายังเมืองสมุทรสาครโดยทางรถไฟ เพื่อทรงเปิด “ถนนถวาย” ที่ ประชาชนชาวตําบลท่าฉลอมมี ความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันเสียสละเพื่อพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง
คณะกรรมการสุขาภิบาลชุดแรก ประกอบด้วย 1.หลวงพัฒนาการภักดี กํานันตําบลท่าฉลอม 2. ขุนพิจารณ์นรกิจ 3.ขุนพินิจนรการ ผู้ใหญ่บ้าน 4.จีนมัก 5.จีนศุข 6.จีนเน่า 7.จีนอู้ด และ 8.จีนโป๊
จากที่กล่าวมาข้างต้นอาจแบ่งการบริหารงานสุขาภิบาลของสยามในระยะแรกเป็น 2 ส่วนคือ สุขาภิบาลกรุงเทพฯ บริหารงานโดยกระทรวงนครบาลหรือการบริหารส่วนกลาง และใช้งบประมาณจากเงินรายได้ของแผ่นดิน และสุขาภิบาลตำบลท่าฉลอม บริหารงานโดยข้าราชการในมณฑลเทศาภิบาล แต่ใช้งบประมาณจากรายได้ที่เก็บจากท้องถิ่นนั้นเอง
หลังจากจัดสุขาภิบาลท่าฉลอมได้ระยะหนึ่งแล้ว ทางข้าหลวงเทศาภิบาลในหลายมณฑลมีความประสงค์ที่จะจัดตั้งสุขาภิบาลในท้องที่ต่าง ๆ ขึ้นให้สอดคล้องกับแนวพระดำริของกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่จะขยายกิจการบำรุงโดยสุขาภิบาลออกไปทั่วประเทศ ดังนั้นจึงมีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาลตามหัวเมือง ร.ศ.127”(พ.ศ.2452)ขึ้น เพื่อวางหลักการเกี่ยวกับการจัดตั้งสุขาภิบาลและกำหนดอำนาจหน้าที่ทั่วไปของสุขาภิบาลขึ้นใหม่โดยกฎหมายฉบับนี้แบ่งสุขาภิบาลเป็น 2 ประเภท คือ 1.สุขาภิบาลสำหรับเมือง ซึ่งจัดตั้งในท้องถิ่นที่เป็นที่ตั้งของชุมชนเมือง และ 2. สุขาภิบาลสำหรับตำบล ซึ่งจัดตั้งในท้องถิ่นตำบลใดตำบลหนึ่ง[12]อย่างไรก็ตาม หน้าที่หลักของสุขาภิบาลยังคงเป็น การบำรุงหรือการจัดบริการสาธารณะ อันได้แก่ (1)การรักษาความสะอาดในท้องที่ เช่น การทำลายขยะมูลฝอยและของโสโครก(2)การป้องกันและรักษาความเจ็บไข้ในท้องที่ เช่น การปลูกฝี การจัดหาน้ำสะอาดบริโภค และการจำหน่ายยารักษาโรค (3)การบำรุงรักษาทางในท้องที่ เช่น การซ่อมแซมถนนและสะพาน การจัดทำโคมไฟส่องสว่าง[13]
สำหรับพัฒนาของสุขาภิบาลท่าฉลอม สุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรก มีดังนี้ วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2448 จัดตั้งสุขาภิบาลท่าฉลอม การยกสถานะสุขาภิบาลท่าฉลอม เป็นสุขาภิบาลตำบลท่าฉลอมในปีพ.ศ. 2452 การยกสถานะสุขาภิบาลตำบลท่าฉลอมเป็นสุขาภิบาลเมืองในปี พ.ศ.2459 การยกสถานะสุขาภิบาลเมืองเป็นเทศบาลเมืองสมุทรสาคร ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลเมืองสมุทรสาคร ในปีพ.ศ.2478 และการยกสถานะเทศบาลเมืองสมุทรสาคร เป็นเทศบาลนครสมุทรสาคร ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลนครสมุทรสาคร ในปีพ.ศ.2542 ในท้ายที่สุด
กล่าวโดยสรุป สุขาภิบาลท่าฉลอม เป็นสุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรกถือกำเนิดขึ้นมาในรัฐไทยสมัยใหม่ (modern state) ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากผู้ปกครองในรัฐสมัยใหม่จะมีเหตุผลแห่งรัฐ(reason d’etate )ที่แตกต่างไปจากผู้ปกครองในยุครัฐแบบจารีต โดยผู้ปกครองในรัฐสมัยใหม่จะมีหน้าที่ในการบำรุงและนำพาบ้านเมืองและราษฎรไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองทางโลกตามแบบอารยประเทศ ยังผลให้รัฐจำต้องสร้างหน่วยงานใหม่ๆขึ้น เช่น การจัดตั้งสุขาภิบาลขึ้นเพื่อรองรับภารกิจดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ สุขาภิบาลจึงถือเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นไทยที่ถูกจัดตั้ง(state created)ขึ้น โดยพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้สุขาภิบาลมีภารกิจหลัก คือ “การบำรุง”บ้านเมืองและราษฎรด้วยการจัดบริการสาธารณะ(public services )เป็นสำคัญ
บรรณานุกรม
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. “ปรีดี พนมยงค์ กับการปกครองท้องถิ่นไทย.” วารสารธรรมศาสตร์ 25,1 (มกราคม – เมษายน 2542): 35-43.
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. สถานภาพของความรู้ทางประวัติศาสตร์เรื่องรัฐและรัฐบาลไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2547.
ประภัสสร อินธิแสน. “บทบาทของสุขาภิบาลที่มีต่อการปกครองตนเองในท้องถิ่นระหว่างปี พ.ศ. 2441 - 2476” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2523.
เมธีพัชญ์ จงวโรทัย. “สุขาภิบาล : การปกครองท้องที่สยาม พ.ศ. 2440 – 2476.” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549.
วัจนาถ วังตาล. “วิเคราะห์กฎหมายการปกครองท้องถิ่นไทยในรูปสุขาภิบาล.” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2536.
สุวัสดี โภชน์พันธ์. “เทศบาลและผลกระทบต่ออำนาจท้องถิ่น.” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543.
สุวัสดี โภชน์พันธ์, “ประวัติการปกครองท้องถิ่นไทย” ใน นครินทร์ เมฆไตรรัตน์และคณะ (บรรณาธิการ), สารานุกรมการปกครองท้องถิ่นไทย. นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า, 2547.
อลงกรณ์ อรรคแสง. “พัฒนาการการจัดโครงสร้างองค์กรปกครองท้องถิ่นไทยเปรียบเทียบต่างประเทศ.” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2547.
อ้างอิง
- ↑ ทวีศักดิ์ เผือกสม, เชื้อโรค ร่างกาย และรัฐเวชกรรม: ประวัติศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ในสังคมไทย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550), น. 5.
- ↑ โปรดดูเพิ่มเติม นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, “ปรีดี พนมยงค์กับการปกครองท้องถิ่นไทย,” วารสารธรรมศาสตร์ 25,1 (มกราคม – เมษายน 2542):36-37.
- ↑ สุวัสดี โภชน์พันธ์, “ประวัติการปกครองท้องถิ่นไทย” ใน นครินทร์ เมฆไตรรัตน์และคณะ (บรรณาธิการ), สารานุกรมการปกครองท้องถิ่นไทย (นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า, 2547), น. 5-8.
- ↑ เมธีพัชญ์ จงวโรทัย, “สุขาภิบาล : การปกครองท้องที่สยาม พ.ศ. 2440 – 2476,” (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549),น. 18.
- ↑ สุวัสดี โภชน์พันธุ์, “เทศบาลและผลกระทบต่ออำนาจท้องถิ่น พ.ศ. 2476 – 2500,” น. 10.
- ↑ เมธีพัชญ์ จงวโรทัย, “สุขาภิบาล : การปกครองท้องที่สยาม พ.ศ. 2440 – 2476,” น. 106 – 107.
- ↑ สุวัสดี โภชน์พันธุ์, “เทศบาลและผลกระทบต่ออำนาจท้องถิ่น พ.ศ. 2476 – 2500,” น. 12.
- ↑ อลงกรณ์ อรรคแสง, “พัฒนาการการจัดโครงสร้างองค์กรปกครองท้องถิ่นไทยเปรียบเทียบต่างประเทศ”(วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2547), น. 165.
- ↑ สุวัสดี โภชน์พันธุ์, “เทศบาลและผลกระทบต่ออำนาจท้องถิ่น พ.ศ. 2476 – 2500,” น. 16.
- ↑ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กราบบังคมทูล เรื่องทำถนนที่บ้านตลาดท่าฉลอม วันที่ 6 มีนาคม ร.ศ.124 ใน เทศบาลสมุทรสาคร, ประวัติศาสตร์ท่าฉลอม สุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรกของไทย, (ม.ป.ท.: 2552), หน้า 40-42.
- ↑ “ประกาศแก้ภาษีโรงร้าน จัดสุขาภิบาลตลาดท่าฉลอม เมืองสมุทสาคร” ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 22 (18 มีนาคม ร.ศ.124) หน้า 1155.
- ↑ “พระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาลตามหัวเมือง ร.ศ. 127” ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 25 (13 กันยายน ร.ศ.127), น. 669.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, น. 672.