อดุล อดุลเดชจรัส
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว และ ต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
“ในทัศนะของผม และเท่าที่ผมรู้จักสนิทสนมกับท่านเวลาหนึ่ง พลตำรวจเอกอดุล อดุลเดชจรัส เป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่ คำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ของชาติไทย ไม่คิดถึงประโยชน์ส่วนตัวและมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญอย่างลึกซึ้ง ยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน”
ป๋วย อึ้งภากรณ์[1]
พลเอก อดุล อดุลเดชจรัส
“นายพลตาดุ” เป็นสมญานามของพลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส หนึ่งในคณะราษฎรผู้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เขาเคยดำรงตำแหน่งสำคัญเป็นจำนวนมาก เช่น องคมนตรี รองนายกรัฐมนตรี อธิบดีกรมตำรวจ และผู้บัญชาการทหารบก และเป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งพรรคสหชีพเพื่อสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองอีกด้วย
ประวัติการศึกษาและชีวิตครอบครัว
พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส หรือมีนามเดิมว่า บัตร พึ่งพระคุณ เกิดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2437 ที่บ้านพักถนนเจริญกรุง อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร เป็นบุตรคนที่ 3 ของหลวงบุรีรัฐพิจารณ์ และ นางจันทร์ พึ่งพระคุณ บิดาได้นำตัวไปถวายงานเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ จึงทำให้ท่านได้พักอาศัยอยู่ในวังปารุสตั้งแต่เด็ก
เด็กชายบัตร ได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนอัสสัมชัญ และหลังจากนั้นจึงได้ไปเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก ใน พ.ศ. 2452 ถึง พ.ศ. 2457 และไปเข้าศึกษาเป็นนักเรียนที่ทำการนายน้อยประจำกรมทหารปืนใหญ่ที่ 3 ในปี พ.ศ. 2458
หลวงอดุลได้สมรสกับนางเปี่ยมสุข อดุลเดชจรัส มีบุตรธิดารวมกันทั้งสิ้น 4 คน ขอให้ระบุชื่อว่าประกอบด้วยใครบ้าง
หน้าที่การงานและตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ[2]
ประวัติการรับราชการของหลวงอดุลมีพัฒนาการตามลำดับดังต่อไปนี้ เริ่มต้นจากการรับพระราชทานยศนายร้อยตรี ใน พ.ศ.2459 ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายทหารคนสนิทผู้บังคับการปืนใหญ่ และนายทหารคนสนิทผู้บังคับการโรงเรียนปืนใหญ่ใน พ.ศ.2462 และได้เลื่อนขั้นมารับพระราชทานยศนายร้อยโท ใน พ.ศ.2463
ใน พ.ศ.2466 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับกองร้อย 2 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 10 จนเมื่อ พ.ศ.2468 จึงได้รับการเลื่อนชั้นยศเข้ารับพระราชทานยศนายร้อยเอก และเมื่อ พ.ศ.2469 จึงได้เข้ารับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนอดุลเดชจรัส
ใน พ.ศ.2470 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับกองร้อยทหารปืนใหญ่ที่ 5 และเข้ารับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงอดุลเดชจรัส ใน พ.ศ.2473 และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าการตรวจอากาศกองบังคับการทหารปืนใหญ่ในปีเดียวกัน
พ.ศ.2475 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 2 และได้เข้ารับพระราชทานยศนายพันตรี ใน พ.ศ.2476 และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมตำรวจ
รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท 2 ในปีเดียวกัน
ใน พ.ศ.2477 เข้ารับพระราชทานยศนายพันโท และใน พ.ศ.2478 จึงได้เข้ารับพระราชทานยศนายพันตำรวจเอก และได้ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งสูงสุดของวงการตำรวจใน พ.ศ.2479 ด้วยการเข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ
ปี พ.ศ.2480 เริ่มมารับตำแหน่งทางการเมืองด้วยการดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และมาได้รับพระราชทานยศนายพันเอกใน พ.ศ.2481 และได้รับพระราชทานยศนายพลตำรวจตรีใน พ.ศ.2482
พ.ศ.2483 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจสนาม ต่อมาใน พ.ศ.2484 ได้ทำหน้าที่ว่าราชการแทนนายกรัฐมนตรีชั่วคราว และใน พ.ศ.2485 ได้เข้ารับพระราชทานยศนายพลตำรวจโท
พ.ศ.2486 ได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และได้รับพระราชทานยศพลตำรวจเอก พลเอก พลอากาศเอก และพลเรือเอกในปีเดียวกัน
ปีพ.ศ.2488 - 2489 ได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จนกระทั่งในปี พ.ศ.2489 จึงได้รับตำแหน่งสูงสุดของกองทัพบกคือผู้บัญชาการทหารบก
พ.ศ.2490 ลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก
ในส่วนของการปฏิบัติงานราชการพิเศษหรือการได้รับตำแหน่งพิเศษนั้นมีดังต่อไปนี้ ใน พ.ศ.2479 ได้รับตำแหน่งราชองครักษ์พิเศษ ใน พ.ศ.2487 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการที่ปรึกษาป้องกันภัยทางอากาศแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2488 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษากรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามพุทธศักราช 2488 ใน พ.ศ.2490 ได้ดำรงตำแหน่งเป็นอภิรัฐมนตรี และนายทหารพิเศษประจำกองทัพบก และใน พ.ศ.2492 ได้ดำรงตำแหน่งเป็นองคมนตรี
ในส่วนของเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญพระราชทานที่หลวงอดุลได้รับ มีดังต่อไปนี้ พ.ศ.2454 ได้รับพระราชทานเหรียญราชาภิเษก รัชกาลที่ 6 พ.ศ.2467 ได้รับพระราชทานเบญจมาภรณ์มงกุฎสยาม พ.ศ.2468 ได้รับพระราชทานเหรียญราชาภิเษก รัชกาลที่ 7 พ.ศ.2474 จักรมาลา ได้รับพระราชทานเหรียญฉลองพระนคร 150 ปี ต่อมาใน พ.ศ.2477 ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา (ราชการแผ่นดิน) พ.ศ.2480 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย พ.ศ.2481 ได้รับประถมาภรณ์มงกุฎไทยและเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 8 ชั้นที่ 1 ต่อมาในพ.ศ.2482 ได้รับพระราชทานประถมาภรณ์ช้างเผือก พ.ศ.2484 ได้รับพระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ มหาวชิรมงกุฎและใน พ.ศ.2486 ได้รับพระราชทานมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก และสุดท้ายใน พ.ศ.2493 ได้รับพระราชทานเหรียญบรมราชาภิเษก (ทอง) รัชกาลที่ 9
ผลงานที่สำคัญในทางการเมือง
นอกจากเคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆหลายตำแหน่งแล้ว หลวงอดุลได้ชื่อว่าเป็นตำรวจที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของไทย เนื่องจากบุคลิกลักษณะส่วนตัวและการทำงานของท่าน ดังที่ “เกียรติ” ได้เขียนถึงหลวงอดุลเอาไว้ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ประจำวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2513 ดังนี้
“อาจกล่าวได้ว่า “หลวงอดุลฯ เป็นอธิบดีกรมตำรวจในยุคประชาธิปไตยที่ปฏิวัติกิจการของตำรวจ จริงอยู่ แม้จะมีบ้างที่รุนแรงเกินไปสำหรับการปฏิวัติครั้งนั้น แต่ความเป็นตำรวจในยุคนั้นก็มีอะไรหลายอย่างที่ทำให้ตำรวจมีหน้ามีตาและมีอำนาจขึ้นโดย “กำลัง” ของนายพล “ตาดุ” ผู้นี้ เขาเป็นอธิบดีกรมตำรวจที่ถือกฎหมายเป็นใหญ่ เล่ากันว่าในสมัยที่หลวงอดุลฯ สั่งจับรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงครามนั้น จอมพล ป. ฯ โกรธมาก แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ จึงใช้วิธีเอาน้ำเย็นเข้าลูบ โดยมีจดหมายส่วนตัวถึงหลวงอดุลฯ ขอให้ปล่อยรัฐมนตรีร่วมคณะที่ถูกสั่งจับ หลวงอดุลฯ บันทึกตอบมาในจดหมายส่วนตัวถึงนายกรัฐมนตรีเกลอเก่าว่า ใครทำผิดกฎหมายจับทั้งนั้น ถ้านายกรัฐมนตรีทำผิดก็จับเหมือนกัน ผลคือจอมพบ ป. นิ่งเงียบและไม่ขอร้องกันอีกต่อไป แม้จะเพียงให้เพื่อนรัฐมนตรีที่ถูกจับมีประกันหรือไม่ต้องคุมขังในห้องขังที่สถานีตำรวจเหมือนกับผู้ต้องหาธรรมดาก็ไม่ขอกันอีกต่อไป”[3]
นอกจากนี้อีกบทบาทสำคัญของหลวงอดุลก็คือในช่วงระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา ได้เข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทย และมีส่วนช่วย ให้งานเสรีไทยดำเนินไปได้สะดวก ป้องกันมิให้เสรีไทยที่ถูกจับกุมต้องได้รับทุกข์ทรมานจากการกระทำของญี่ปุ่น ประการสำคัญคือมีส่วนในการแก้ไขสถานการณ์ของชาติให้รอดพ้นจากการเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม
ในช่วงท้ายของชีวิตของพลตำรวจเอกอดุล เดชจรัส ทางราชการได้สร้างเรือนหลังเล็กในบริเวณวังปารุสกวันให้เป็นที่พัก จนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2512 ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ด้วยโรคชรา สิริอายุทั้งสิ้น 75 ปี
บรรณานุกรม
ป๋วย อึ้งภากรณ์, คนที่ผมรู้จัก, (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2559)
ทำเนียบผู้บัญชาการทหารบก, พลเอก หลวงอดุล อดุลเดชจรัส (บัตร พึ่งพระคุณ) ผู้บัญชาการทหารบกลำดับที่ 14 (ระหว่าง 26 มิถุนายน 2489 – 8 พฤศจิกายน 2490), กองทัพบก, (ไม่ปรากฏวันที่), Retrieved From: http://www.rta.mi.th/command/command14.htm, April 6, 2016.
สุพจน์ ด่านตระกูล (รวบรวม) , พล. ต. อ. อดุล อดุลเดชจรัส พูดถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับ นายปรีดี พนมยงค์ และ จอมพล ป. พิบูลสงคราม, (กรุงเทพฯ: ศิริพรการพิมพ์, 2522)
[1] ป๋วย อึ้งภากรณ์, คนที่ผมรู้จัก, (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559), น. 82.
[2] ทำเนียบผู้บัญชาการทหารบก, พลเอก หลวงอดุล อดุลเดชจรัส (บัตร พึ่งพระคุณ) ผู้บัญชาการทหารบกลำดับที่ 14 (ระหว่าง 26 มิถุนายน 2489 – 8 พฤศจิกายน 2490), กองทัพบก, (ไม่ปรากฏวันที่), Retrieved From: http://www.rta.mi.th/command/command14.htm, April 6, 2016.
[3] สุพจน์ ด่านตระกูล (รวบรวม) , พล. ต. อ. อดุล อดุลเดชจรัส พูดถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับ นายปรีดี พนมยงค์ และ จอมพล ป. พิบูลสงคราม, (กรุงเทพฯ: ศิริพรการพิมพ์, 2522), น. 60-61.