“โรงเรียนในบ้าน” ของพระองค์และโรงเรียนเยาวกุมาร

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:12, 19 พฤษภาคม 2560 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์


 

 

เด็กๆ ในพระราชอุปการะ

ไม่ค่อยเป็นที่ทราบกันแพร่หลายนักว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชอุปการะเลี้ยงดูเด็กไว้ใกล้ชิดพระองค์ เริ่มตั้งแต่ครั้งที่ยังทรงดำรงพระอิสสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชาและเสด็จกลับมาจากการทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษใหม่ๆ คือเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ และประทับอยู่ที่ “วังท่าเตียน” ของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระเชษฐา หรือ “บ้านจักรพงษ์” ในปัจจุบัน ในครั้งนั้น ทรงรับหม่อมเจ้าชายพระชันษาประมาณ ๘-๙ ปี สี่พระองค์ ต่างราชสกุลกัน มาทรงอุปการะเลี้ยงดู และต่อๆ มา เมื่อทรงอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ และเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ยังได้ทรงรับเด็กเข้ามาเป็นรุ่นๆ เรื่อยมา ดังนั้น แม้ว่าจะไม่ทรงมีพระราชโอรสธิดาแต่ก็ทรงมีเด็กๆ ห้อมล้อมพระองค์เป็นส่วนหนึ่งของ “ครอบครัว” โดยตลอด[1] พระอุปนิสัยรักและเลี้ยงดูเด็กนี้ ชะรอยจะทรงดำเนินตามเบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๕ “สมเด็จแม่” ของพระองค์ เรื่องราวซึ่งปรากฏในเรื่องเล่าของเด็กผู้หนึ่ง[2] อีกทั้งในเรื่องการทรงตั้งโรงเรียน[3] ซึ่งจะกล่าวถึงในช่วงท้ายของบทความนี้

 

“โรงเรียนในบ้าน” (homeschool) ของพระองค์

เข้าเฝ้าเป็นกิจวัตร

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลี้ยงดูเด็กๆ เหล่านี้ไว้ใกล้ชิดพระองค์ เด็กผู้หญิงคนเดียวที่ทรงเลี้ยงตั้งแต่อายุ ๘ ขวบเช่นเดียวกัน เล่าไว้ว่าในเวลาเช้า เด็กๆ จะเข้าเฝ้าฯ ในห้องพระบรรทม หลังจากที่สมเด็จฯ เสด็จฯ เข้า “ข้างในแล้ว” เฝ้าฯ ขณะเสวยพระกระยาหารเช้า “ซึ่งจัดในถาดมีโต๊ะเตี้ยๆ รองบนพระที่บรรทม มีกาแฟและขนมปังกรอบต่างๆ เนยสด ตับบด ไข่ดูเหมือนจะไม่มี พอเสวยเสร็จ เขาก็ยกลงมาให้เราได้กินกัน พวกเราก็ “โจ๊ะ” (กิน) กันอย่างสนุกมาก มีขนมปังกรอบรสวิเศษต่างๆ เช่น Mellin Food รสคล้ายๆ โอวัลติน หอมน้ำตาลไหม้ ซึ่งบัดนี้ไม่มีขายแล้ว Digestive และขนมปังข้าวเกรียบขนาดนิ้วมือไส้เนยแข็ง และไส้ช็อคโกแลต พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเพลิดเพลินกับการรุม “โจ๊ะ” ของพวกเรา บางคราวขณะเสวย บางคนพอเห็นทรงหยิบขนมปังกรอบจะเสวยก็มองตามด้วยความเสียดายมัน ทรงสังเกตเห็นนัยน์ตาของเขา ก็ทรงพระสรวลแล้วทรงวางลง ไม่เสวย พร้อมกับรับสั่งว่า “ไม่กินละ ไว้ให้แกกิน” พวกเราก็ฮากันลั่น ตอนเช้านั้นโดยมากพวกเราก็คุยกับท่าน แต่ส่วนมากคุยกันเอง หรือเล่นเกมส์อะไรกัน ซึ่งเป็นแผ่นกระดาษ เช่นเสือตกถัง เป็นต้น...”[4] เห็นได้ว่าบรรยากาศเต็มไปด้วยความเป็นกันเอง ไม่ค่อยมีพิธีรีตรอง ดุจพ่อกับลูก


ไปโรงเรียนเป็นธรรมดา

หลังจากนั้นเด็กๆ ก็ไปโรงเรียน โดยเด็กผู้ชายไปโรงเรียนที่โรงเรียนนอกวัง เช่นที่เทพศิรินทร์ ส่วนเด็กผู้หญิงคนเดียวนั้นเรียนร่วมกับบุตรีข้าราชบริพารใกล้ชิดกับครูผู้หญิงซึ่งจบจากวัฒนาวิทยาลัย

ครั้นกลับมาจากโรงเรียน หากไม่ทรงมีพระราชกิจนอกวังเด็กๆ ก็ได้เฝ้าฯ อีกในช่วงเสวยพระสุธารสชายามบ่ายๆ เย็นๆ แบบ afternoon tea ของอังกฤษ มีจานช่องแจกแต่ละคน

 

การกีฬาเพื่อพลานามัย

ที่พระที่นั่งอัมพรสถานในรัชกาล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดสระว่ายน้ำ ไม่มีเครื่องกรองน้ำและสารเคมีฆ่าเชื้อโรค พระองค์ “ก็ยังโปรดทรงเล่นน้ำกับพวกเด็กๆ เสมอ แม้ว่าน้ำจะสกปรก มีกบเขียดลงไปไข่เต็ม ท่านก็ทรงสนุกสนามกับพวกเราได้เสมอ...บางวันก็โปรดให้เด็กๆ แจวเรือจากคลองในสวนดุสิตออกไปที่เขาดินวนาตอนเย็นและกลับตอนค่ำ”[5]

นอกจากนั้นยังโปรดให้เด็กๆ ได้เล่นกีฬาซึ่งทรงอยู่เอง เช่นเทนนิส แบตมินตัน และสควอชแร็กเก็ต (squash racket) โดยทรงฝึกให้เขารู้จักเก็บรักษาอุปกรณ์กีฬา เด็กๆ จึงได้ออกกำลังกายและฝึกวินัยไปด้วย

 

ฟังนิทานแฝงคุณธรรม

ครั้นเด็กๆ จะเข้านอน หากทรงว่าง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็จะเสด็จมา “ทรงเล่านิทานแฝงคุณธรรม เช่นเรื่องทาร์ซาน (tarzan) ให้เด็กฟังเป็นตอนๆ ไป ซึ่งเด็กๆ ชอบฟังเป็นพิเศษ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติและการผจญภัยในป่า...ทรงทำเสียงประกอบตามบทบาทของตัวละครด้วย เป็นการเพิ่มความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น แต่มีเสียงหนึ่ง ภาษาอังกฤษสะกดว่า “GRRR…” เป็นเสียงร้องของสิงโต ผมทำเสียงคำรามว่า “เกร่ออ” พระเจ้าอยู่หัวทรงได้ยินก็รับสั่งว่า “เออใช่...ฉันอ่านตั้งนานไม่รู้ว่าจะทำเสียงยังไง” แล้วต่อมาศัพท์นี้ก็ใช้กันในพระราชสำนักให้หมายถึงความไม่พอใจหรือโกรธเคือง” หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ เด็กในพระราชอุปการะองค์หนึ่งทรงเล่า[6]

 

ดูหนังอย่าดูเปล่าๆ

วันที่เด็กๆ รอคอยที่สุดคือวันที่มีการฉายภาพยนตร์ในวัง หม่อมเจ้าการวิกทรงเล่าว่า

“วันที่เด็กชอบมากที่สุดและอยากให้มาถึงเร็วๆ คือวันพุธ พระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จฯ จะเสด็จฯ ไปยังศาลาเอนกประสงค์เพื่อทอดพระเนตรหนัง เสด็จฯ ถึงที่ประทับ ๑๙.๐๐ นาฬิกา ก็เริ่มฉายข่าวรอบโลก ซึ่งเด็กดูบ้างไม่ดูบ้าง คอยรายการต่อไปซึ่งเป็นหนังตลกกับการ์ตูน เด็กทุกคนดูกันอย่างสนุกสนานเฮฮาเต็มที่ ลำดับต่อไปคือหนังเรื่อง ถ้าเป็นหนังชีวิตหรือหนักๆ หน่อย พวกเด็กๆ ก็หลับหมด จนถึง ๒๓.๐๐ นาฬิกา ก็ตื่นเพราะได้กลิ่นของว่าง อันที่จริงไม่ได้สนใจของคาวเท่าไรนัก สิ่งที่คอยอยู่คือไอศกรีมโซดา ซึ่งเป็นของใหม่ในยุคนั้น...”[7]

หนังหรือภาพยนตร์สมัยนั้นเป็นหนังเงียบ คือไม่มีเสียง เวลาฉายจะเห็นแต่ภาพบนจอที่เคลื่อนไหวไปมาเท่านั้น และมีบทพากย์เป็นตัวหนังสือ จึงทรงอธิบายให้เด็กๆ ซึ่งนั่งกับพื้นหน้าพระเก้าอี้ได้เข้าใจบ้างด้วย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จะทรงบรรเลงเพลงประกอบด้วยซออู้ “ซึ่งทรงเรียกว่า “ซอตุ๋น” เพราะมีขนาดเล็ก คันสั้นประมาณหนึ่งฟุตครึ่งเท่านั้น เวลาสีต้องหดนิ้วเบียดกัน จึงสียากกว่าปกติ แต่ก็ทรงพระอัจฉริยภาพ คือทรงได้คล่อง อีกทั้งยังทรงใช้ซอนี้ในการทรงพระราชนิพนธ์เพลงไทยเดิมด้วย รับสั่งว่าเสียงค่อยดี ไม่หนวกหูผู้อื่น[8]

การที่ทรงส่งเสริมให้เด็กๆ ได้ดูหนัง มิใช่เพื่อความบันเทิงเท่านั้น ดังที่โดยรับสั่งพระราชทานลูกเสือในการสวนสนามใน พ.ศ. ๒๔๗๐ ว่า

“ถ้าเจ้าดู (หนัง) ด้วยความสังเกตอาจนำประโยชน์มาได้เป็นอันมาก สังเกตดูเวลาดูหนังที่มาจากอเมริกา เจ้าเคยนึกหรือไม่ว่า ทำไมจึงเจริญได้อย่างยิ่ง เมื่อไม่นานมานี้ไม่กี่ร้อยปี ประเทศอเมริกาเป็นป่าเสียด้วยซ้ำ...เขามีความเพียรและความกล้าหาญนั้นแหละเป็นทุนสำคัญ...”[9] ชวนให้นึกถึงศัพท์ปัจจุบันที่ว่า “ทุนทางสังคม”

 

สุนทรียการดนตรี

ส่วนในเรื่องดนตรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) และหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดุริยชีวิน) เข้าไปสอนการเล่นดนตรีไทยแก่เด็กๆ บ่อยครั้งพระองค์ทรงดนตรีร่วมกับเด็กๆดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาเมื่อครั้งเสด็จประพาสเกาะชวาด้วยเรือพระที่นั่งกลางท้องทะเลว่า “บางเวลาก็สีซอเล่นกับเด็กๆ บ้าง แต่ซ้อมกันจริงจังไม่ได้ เพราะไม่ครบวงเลย...ถ้าไม่มีเด็กมาด้วย เห็นจะเงียบมาก สำหรับฉันของนั่งดูเด็กเล่นอะไรบ้าๆ ก็สบายพอแล้ว เวลาเย็นก็เล่านิทานให้เด็กฟัง”[10] เห็นได้ว่า มิได้ทรงละเลยบทบาทของสุนทรียศาสตร์ในการกล่อมเกลาจิตใจของเด็กๆ ในพระราชอุปการะ อีกทั้งว่าพระองค์โปรดเด็กเพียงใด จึงทรงเพลิดเพลินไปได้กับสิ่งละอันพันละน้อยที่เด็กๆ ทำ

 

ทัศนาโลกกว้าง

การโดยเสด็จพระราชดำเนินทั้งในประเทศและในต่างแดนเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งของ “โรงเรียนในบ้าน” หรือ “homeschool” ของพระองค์ อย่างที่กระทรวงศึกษาธิการในสมัยหลังมากๆ เรียกว่าวิชา “สร้างเสริมประสบการชีวิต (สปช.) ” หม่อมเจ้าการวิก ทรงเล่าว่า ต้องทรงเป็นมหาดเล็กแต่งเครื่องแบบตามเสด็จฯ คอยรับพระมาลาเมื่อทรงถอด หรือพระแสง (ดาบ) มาเชิญไว้ เป็นต้น[11] เป็นการฝึกความรับผิดชอบ กาลเทศะ และการจัดความสัมพันธ์ของตนกับมหาดเล็กผู้ใหญ่ซึ่งเด็กๆ ซึ่งแม้จะเป็นเจ้า ก็ต้องให้ความเคารพ ส่วนเด็กผู้หญิงก็จะทำหน้าที่เสริมนางพระกำนัลในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เช่นในการเสด็จประพาสอินโดจีนของฝรั่งเศส เด็กผู้หญิงคนเดียวนั้น เล่าไว้ว่า “พระเจ้าอยู่หัวทรงสอนให้ส่งภาษาฝรั่งเศสกับเจ้าเมืองที่ให้ของขวัญแก่เด็กๆ ด้วยว่า “แมร์ซี่ โบคู ปัวร์ เลอร์ กาโด” ซึ่งฉันท่องเสียแทบแย่กว่าจะได้ไป “แสดง” กับเขา[12] ประสบการณ์จริงในการใช้ภาษาต่างประเทศเช่นนี้นับว่าเป็นวิธีการเรียนภาษาที่ดีใช้ประโยชน์ได้จริงต่อมาเมื่อเด็กผู้หญิงคนนั้นเติบใหญ่

 

แสดงออกความเป็นคน

การแสดงออกเป็นอีกอย่างหนึ่งซึ่งทรงส่งเสริมให้เด็กๆ ทำ ดังที่เด็กผู้หญิงคนเดิมเล่าไว้ว่า “ทรงฟังความคิดเห็นของทุกๆ คน แม้ของเด็กๆ” แม้จะมีเด็กๆ เล่นกันคุยกันอยู่รอบพระองค์ขณะที่กำลังทรงพระอักษร (อ่านหนังสือ) ก็ยังทรงสามารถเข้ามารับสั่งในเรื่องที่พวกเด็กๆ กำลังคุยกันอยู่ได้เสมอ[13]

ในส่วนของ “การสื่อสารการแสดง” เมื่อมีงานเลี้ยงพิเศษในวังและมีการแสดงบนเวที ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เด็กๆ ทั้งเล็กและโตได้มีบทแสดง เช่นในการแสดงรีวิวขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล หัวหิน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ มีภาพถ่ายในอัลบั้มที่พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นประจักษ์พยาน แต่ที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษคือ เมื่อเสด็จประพาสทางทะเลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ ได้ทรงถ่ายทำภาพยนตร์ขนาด ๑๖ มิลลิเมตรขึ้นที่เกาะพงันโดยทรงพระราชนิพนธ์บทขึ้นอย่างกะทันหัน เป็นนิทานแฝงคุณธรรม ให้เด็กๆ เป็นผู้แสดงหลัก ภาพยนตร์นั้นชื่อว่า “แหวนวิเศษ” ซึ่งโชคดียังอยู่ในสภาพที่อนุรักษ์ไว้ได้ทั้งเรื่อง มีจัดฉายที่พิพิธภัณฑ์ฯ ดังกล่าวอยู่เนืองๆ เช่นกัน นับว่าทรงจัดให้เด็กๆ มีประสบการณ์การแสดง แต่เพื่อให้ง่าย จึงทรงให้เด็กๆ แสดงตามลักษณะนิสัยของแต่ละคน และในการดำเนินเรื่อง เด็กๆ ได้ท่องไปในธรรมชาติ ได้รู้จักหาผลหมากรากไม้ ได้สนุกสนานเล่นปีนน้ำตก ได้รู้จักดูแลกันเอง ใครรั้งท้ายอยู่ก็ต้องคอยเรียก อีกทั้งต้องระวังป้องกันพวกตนเองจากพ่อเลี้ยงใจร้ายที่กะจะพาเด็กไปหลงทางบนเกาะและปล่อยทิ้งไว้ที่นั่น ทรงแฝงการสอนถึงเมตตาธรรม และมิให้ลุลุ่มหลงในอำนาจของเวทย์มนต์คาถา สำหรับเด็กที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็โปรดให้มีบทบาทในการถ่ายภาพยนตร์และถ่ายภาพนิ่ง เพราะต่างก็ได้สัมผัสกับกล้องส่วนพระองค์มาตั้งแต่ยังเล็ก เท่ากับว่าทรงสอนให้เด็กๆ ได้ทำจริง ปฏิบัติจริง (hands- on) มาตั้งแต่ต้น

 

สร้างคนที่สมบูรณ์

ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลี้ยงดูเด็กในพระราชอุปการะด้วยความเอาพระราชหฤทัยใส่ให้ได้เรียนรู้ไม่ใช่แต่วิชาในโรงเรียน หากแต่ทรงจัดการศึกษาให้เขาตามแบบที่ปัจจุบันเรียกว่า “โรงเรียนในบ้าน” (home school) มีทั้งกิจกรรมกีฬาเพื่อช่วยให้ร่างกายแข็งแรง มีวินัย เล่นเกมในกติกาและเป็นทีม กิจกรรมทัศนศึกษาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต ทั้งให้ได้แสดงออกและได้ทำจริงปฏิบัติจริง อีกทั้งได้รับการกล่อมเกลาให้มีความเป็นสุนทรีย์ เช่นในทางดนตรี รวมทั้งมีคุณธรรมประจำจิต รวมความว่าต้องพระราชประสงค์ให้เขาเป็นคนที่สมบูรณ์ทั้งทางด้านร่างกาย ความรู้ ความคิด จิตใจ และคุณธรรม

พระมหากรุณาธิคุณเช่นนี้ เป็นที่ประจักษ์แก่เด็กๆ ทุกคนในพระราชอุปการะ จึงไม่น่าประหลาดใจเลยที่หนึ่งในจำนวนนั้นมักเล่าให้ลูกหลานฟังถึงความรู้สึกของตนครั้งที่ตนอายุประมาณ ๑๒ ปี และไปส่งเสด็จพระราชดำเนินยังยุโรปเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ว่า “มีความรู้สึกว่าได้รับความทุกข์ทรมานและเศร้าโศกเสียใจเป็นที่สุดนับแต่เกิดมา ถึงกับลืมการกลัวพระราชอาญา ได้วิ่งไปกอดพระบาทพระเจ้าอยู่หัว แล้วร้องไห้ด้วยเสียงอันดัง ผู้ที่ได้เฝ้าฯ ส่งเสด็จฯ อยู่ขณะนั้นถึงกับน้ำตาซึมไหลออกมาด้วยความรันทดใจ พระเจ้าอยู่หัวทรงลูบหัว แล้วรับสั่งว่า “ตาหนู ฉันจะให้แกตามไปทีหลัง”[14]

 

โรงเรียนเยาวกุมาร

ในช่วงกลางๆ ของรัชกาลของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนเล็กๆ ขึ้นในราชสำนักสำหรับเด็กผู้ชายในพระราชอุปการะและบุตรข้าราชบริพาร โดยแรกเริ่มเดิมทีใช้บางส่วนของพระที่นั่งอภิเษกดุสิตใกล้พระที่นั่งอัมพรสถานในพระราชวังดุสิตเป็นสถานที่ตั้ง และต่อมาย้ายไปอยู่ที่สวนจิตรลดา ณ อาคารกรมมหาดเล็ก (ซึ่งต่อมาในรัชกาลที่ ๙ เป็นสถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต ต่อด้วยกรมราชองครักษ์) ในสมัยนั้น สวนจิตรลดาซึ่งเต็มไปด้วยต้นไม้ แต่ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสนามกอล์ฟหลวงขึ้นด้วย

โรงเรียนดังกล่าว พระราชทานชื่อว่า “โรงเรียนเยาวกุมาร” นับเป็นการทรงระลึกถึง “โรงเรียนพระราชกุมาร” สำหรับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งพระองค์เองเคยทรงเป็นนักเรียน[15]

จากคำบอกเล่าของศาสตราจารย์ ระพี สาคริก นักเรียนโรงเรียนนี้ผู้เดียวซึ่งยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๘) โรงเรียนนี้มีนักเรียนประมาณ ๑๕-๑๖ คน เป็นพระอนุวงศ์ ๒ องค์ นอกนั้นเป็นบุตรขุนนาง ข้าราชบริพาร มีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ ทรงเป็นผู้อำนวยการ มีพระยาอภิรักษ์ราชฤทธิ์เป็นอาจารย์ใหญ่ และมีอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่น หม่อมเจ้ารัชฎาภิเษก โสณกุล และครูซึ่งจบจากโรงเรียนอัสสัมชัญและรับราชการอยู่ในกระทรวงวังหรือกระทรวงมุธราธร เช่น หลวงดำรงดุริตเลขและครูเทียน เหลียวรักษ์วงศ์ มาเป็นครู หลักสูตรการเรียนการสอนมีองค์ประกอบคล้ายคลึงกับของ “โรงเรียนในบ้าน” ของพระองค์ คือมีกิจกรรมการออกกำลังกายตอนเช้า มีการได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยให้ได้รู้จักแผ่นดินไทย พร้อมกับการพาเด็กๆ ไปทัศนศึกษา เช่นที่พระราชวังบางประอิน และนครปฐม เพื่อสักการะพระปฐมเจดีย์ รวมทั้งเยี่ยมการราชทัณฑ์ที่นั่นด้วย เป็นต้น รวมตลอดถึงให้ได้ฝึกฝนการแสดงบนเวที ดังที่ ศ. ระพีเล่าว่า เมื่อพ.ศ. ๒๔๗๕ ท่านได้เล่นเป็นนกโพราดกในการแสดงละครหน้าพระที่นั่ง สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงอุ้มเด็กๆ ขึ้นนั่งบนพระเพลา (ตัก) ในช่วงที่มีการฉายพระบรมฉายาลักษณ์กับครูและเด็กทั้งหมด เสด็จพระราชดำเนินกลับในเวลาเกือบ ๒๔.๐๐ น. “เด็กๆ ก็วิ่งดันหลังรถร้องไชโย ไม่มีใครเหนื่อย วันนั้นเป็นวันสุดท้ายที่เราได้เข้าเฝ้าฯ เปิดเทอมปั๊บ เขาบอกทหารกบฏ เพราะอยู่ในสวนจิตรลดา ได้ยินเสียงจากพระที่นั่งอนันต์ครับ เสียงทหารไชโยๆ แต่ไม่รู้อะไรหรอก...ผมถูกเอาตัวไปไว้ที่บ้านอาจารย์ใหญ่อยู่ตรงราชวัตร ล็อคประตู ใส่กุญแจ คุณพระพกปืน ๒ กระบอกใหญ่ เพราะตอนนั้นแก้ปัญหาฉุกละหุกมาก ลูกศิษย์อยู่ในนั้นเยอะ...คุณพระบอกว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นรุนแรง ก็จะเอาเรือเร็วออกปากอ่าว แต่บังเอิญไม่มีอะไร” หลังจากนั้น ได้เลิกโรงเรียนไป แต่อาจารย์ระพีทราบมาว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว “ทรงเตรียมเด็กชุดนี้ไว้ตามแผนประชาธิปไตยที่จะพระราชทานคนไทย”[16]

 

สรุป

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องจริง มิใช่นิยาย ซึ่งแสดงถึงพระราชอุปนิสัยใส่พระราชหฤทัยกับการอบรมเลี้ยงดูและพระราชทานการศึกษาแก่เด็ก ทั้งวิชาความรู้เกี่ยวกับอดีตอันเป็นรากเหง้าและความเจริญที่กำลังมา ให้มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง มีประสบการณ์ชีวิตในโลกที่กว้างออกไป พร้อมด้วยคุณธรรมและทักษะที่เพียงพอแก่การที่จะดำเนินชีวิตแม้ในยามที่มีการเปลี่ยนแปรไป ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและโลกตามความสามารถและจริตของแต่ละคน

 

 

อ้างอิง

  1. พฤทธิสาณ ชุมพล , ๒๕๔๐. “พระปกเกล้าและเด็กๆ” ใน รายงานประจำปี ๒๕๔๐. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี) , หน้า ๖
  2. ศรีพรหมา กฤดากร, ณ อยุธยา, หม่อม.๒๕๕๐. อัตชีวประวัติหม่อมศรีพรหมา กฤดากร. พิมพ์ครั้งที่ ๒. (กรุงเทพฯ: สารคดี) , หน้า ๒๓-๒๘ , ๗๘-๘๕.
  3. ศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระ. ๒๕๕๗. พระราชหัตถเลขาสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีในรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ พระราชทานเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี. มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์.
  4. สีดาดำรวง ชุมพล, หม่อมเจ้าหญิง. ๒๕๓๓. อัตชีวประวัติของหม่อมเจ้าหญิงสีดาดำรวง ชุมพล. ใน ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าหญิงสีดาดำรวง ชุมพล ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๓. (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ (๑๙๘๔)) , หน้า ๔๕.
  5. สีดาดำรวง ชุมพล, หม่อมเจ้าหญิง. ๒๕๓๓. อัตชีวประวัติของหม่อมเจ้าหญิงสีดาดำรวง ชุมพล. ใน ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าหญิงสีดาดำรวง ชุมพล ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๓. (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ (๑๙๘๔)) , หน้า ๔๕.
  6. “นรุตม์” (นามแฝง) ลำดับเรื่อง. ๒๕๓๙. ใต้ร่มฉัตร.(กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์)
  7. การวิก จักรพันธุ์, หม่อมเจ้า. ๒๕๓๓. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช ช่วงทรงพระเยาว์ถึงปลายสงครามโลก ครั้งที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๖๙-๒๔๘๘). ใน อนุสรณ์ในงานเสด็จพระราชทานเพลิงศพพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๓.(กรุงเทพฯ: หจก. กู๊ดวิล แอนเอวอร์ไทซิ่ง) , หน้า ๒๑.
  8. สีดาดำรวง ชุมพล, หม่อมเจ้าหญิง. ๒๕๓๓. อัตชีวประวัติของหม่อมเจ้าหญิงสีดาดำรวง ชุมพล. ใน ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าหญิงสีดาดำรวง ชุมพล ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๓. (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ (๑๙๘๔)) , หน้า ๔๘.
  9. บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). ๒๕๓๖. ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์) , หน้า ๑๑๐-๑๑๒.
  10. ปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จ. ๒๔๙๒. พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตในคราวเสด็จประพาศเกาะชวาเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒. พระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงพิมพ์แจกเพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณในงานอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับคืนสู่กรุงเทพมหานคร เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๙๒. (มปท.), หน้า๑-๒.
  11. “นรุตม์” (นามแฝง) ลำดับเรื่อง. ๒๕๓๙. ใต้ร่มฉัตร. (กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์) , หน้า ๓๙.
  12. สีดาดำรวง ชุมพล, หม่อมเจ้าหญิง. ๒๕๓๓. อัตชีวประวัติของหม่อมเจ้าหญิงสีดาดำรวง ชุมพล. ใน ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าหญิงสีดาดำรวง ชุมพล ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๓. (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ (๑๙๘๔)) , หน้า ๕๐.
  13. สีดาดำรวง ชุมพล, หม่อมเจ้าหญิง. ๒๕๓๓. อัตชีวประวัติของหม่อมเจ้าหญิงสีดาดำรวง ชุมพล. ใน ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าหญิงสีดาดำรวง ชุมพล ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๓. (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ (๑๙๘๔)) , หน้า ๔๕.
  14. ที่ระลึก ๒๕๒๐ . ที่ระลึกในงานฌาปณกิจศพนายพานทอง ทองเจือ ณ เมรุวัดธาตุทอง วันที่ ๗ พฤศจิกายนพ.ศ. ๒๕๒๐.(กรุงเทพฯ: เอกรัตน์ การพิมพ์) , หน้า ๔-๕.
  15. ศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระ. ๒๕๕๗. พระราชหัตถเลขาสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีในรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ พระราชทานเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี. มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์, หน้า ๓๕-๔๕.
  16. ระพี สาคริก. ๒๕๔๘. วิทยาการเพื่อชีวิตและสังคม คำบรรยายในการสัมมนาผู้รับทุนการศึกษาของมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เมื่อปี ๒๕๒๙-๒๕๔๖ เนื่องในโอกาส ๑๐๐ ปี พระราชสมภาพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๗ ณ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ใน รายงานกิจการประจำปี ๒๕๔๗ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี.(กรุงเทพฯ: มูลนิธิฯ) , หน้า ๑๒-๑๕.

บรรณานุกรม

การวิก จักรพันธุ์, หม่อมเจ้า. ๒๕๓๓. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช ช่วงทรงพระเยาว์ถึงปลายสงครามโลก ครั้งที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๖๙-๒๔๘๘). ใน อนุสรณ์ในงานเสด็จพระราชทานเพลิงศพพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๓. กรุงเทพฯ: หจก. กู๊ดวิล แอนเอวอร์ไทซิ่ง.

ที่ระลึก ๒๕๒๐ . ที่ระลึกในงานฌาปณกิจศพนายพานทอง ทองเจือ ณ เมรุวัดธาตุทอง วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๐. กรุงเทพฯ: เอกรัตน์ การพิมพ์.

“นรุตม์” (นามแฝง) ลำดับเรื่อง. ๒๕๓๙. ใต้ร่มฉัตร. กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์.

บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). ๒๕๓๖. ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์.

ปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จ. ๒๔๙๒. พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตในคราวเสด็จประพาศเกาะชวาเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒. พระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงพิมพ์แจกเพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณในงานอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับคืนสู่

กรุงเทพมหานคร เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๙๒. มปท.

ระพี สาคริก. ๒๕๔๘. วิทยาการเพื่อชีวิตและสังคม คำบรรยายในการสัมมนาผู้รับทุนการศึกษาของมูลนิธิ

พระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เมื่อปี ๒๕๒๙-๒๕๔๖ เนื่องในโอกาส ๑๐๐ ปี พระราชสมภาพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๗ ณ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ใน รายงานกิจการประจำปี ๒๕๔๗ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จ

พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี. กรุงเทพฯ: มูลนิธิฯ.

พฤทธิสาณ ชุมพล , ๒๕๔๐. “พระปกเกล้าและเด็กๆ” ใน รายงานประจำปี ๒๕๔๐. กรุงเทพฯ : มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี.

ศรีพรหมา กฤดากร, ณ อยุธยา, หม่อม.๒๕๕๐. อัตชีวประวัติหม่อมศรีพรหมา กฤดากร. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: สารคดี.

ศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระ. ๒๕๕๗. พระราชหัตถเลขาสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีในรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ พระราชทานเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี. มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์.

สีดาดำรวง ชุมพล, หม่อมเจ้าหญิง. ๒๕๓๓. อัตชีวประวัติของหม่อมเจ้าหญิงสีดาดำรวง ชุมพล. ใน ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าหญิงสีดาดำรวง ชุมพล ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๓. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ (๑๙๘๔).