พระมหากษัตริย์ไทยในระบอบประชาธิปไตย

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

แม้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงประสบกับปัญหานานัปประการมาตั้งแต่ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ ประจวบกับการเผชิญปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ทว่าพระองค์ก็ทรงใช้พระปรีชาสามารถในการบริหารงานราชการแผ่นดินมาโดยตลอด

แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ครั้งสำคัญในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ส่งผลให้ฐานะของพระองค์ต้องเปลี่ยนแปลงจากพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงยอมรับสถานการณ์นั้นอย่างเป็นสุภาพบุรุษ ดังที่ปรากฏในลายพระหัตถ์ความว่า

“...ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ กับทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละมัยไม่ให้ขึ้นชื่อได้ว่าจลาจล เสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าก็ได้คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงตามทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามพระธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะเป็นตัวเชิด เพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปแบบวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวก...”

แท้ที่จริงแล้วพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตระเตรียมที่จะพระราชทานอำนาจอธิปไตยให้แก่ราษฎรอยู่แล้ว ดังจะเห็นได้จากพระราชดำรัสที่ทรงให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนที่สหรัฐอเมริกาในปี ๒๔๗๔ ว่าทรงเตรียมการที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศโดยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย

กล่าวได้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตรย์พระองค์สุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในระบอบรัฐสภาของประเทศไทย โดยในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเพื่อใช้เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองบ้านเมืองตามระบอบประชาธิปไตย

ที่มา

บทสารคดี “ปกเกล้าธรรมราชา” สารคดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ในวโรกาสครบ ๑๒๐ ปี แห่งวันพระบรมราชสมภพและเป็นบุคคลสำคัญของโลก โดยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประจำปี ๒๕๕๖