การเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพในสมัยรัชกาลที่ ๗ พ.ศ. ๒๔๖๙

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์


พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพปรากฏในหลักฐานพระราชหัตถเลขาลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๙ พระราชทานแก่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพว่า[1]

“ด้วยเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้ทรงทำรายการสังเขปการจัดรับเสด็จในการที่หม่อมฉันจะไปมณฑลพายัพมาให้ดู หม่อมฉันขอมอบถวายให้ท่านทรงดำริห์กะวันและเวลาประทับกับอำนวยการจนตลอด ให้ทรงติดต่อและสั่งการงานแก่เจ้าหน้าที่ได้โดยทางบรมราชโองการตามแต่จะเหมาะแก่กาละและเรื่อง ได้ถวายรายการสังเขปมาพร้อมกับหนังสือนี้แล้ว เพื่อท่านจะได้ทรงดำริห์เสียแต่บัดนี้ไป” [2]

การเตรียมการวางแผนกะระยะทางและงบประมาณในการเสด็จฯเส้นทางของการเสด็จฯและเตรียมการรับเสด็จฯ ทำให้สามารถบูรณาการเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเบื้องหลังของเหตุการณ์บางส่วนที่ไม่เคยปรากฏในเอกสารทางราชการ โดยเชื่อมโยงกับหลักฐานส่วนพระองค์ของเจ้านายในสมัยนั้น

บทบาทของพระราชชายาเจ้าดารารัศมีและกรมพระดำรงราชานุภาพในการเตรียมการเสด็จฯ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพทรงมีพระหัตถเลขาทูลพระราชชายาเจ้าดารารัศมีในรัชกาลที่ ๕ เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับพระราชประสงค์ พระหัตถเลขาฉบับนี้ยืนยันให้เห็นบทบาทเบื้องหลังการเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพของสมเด็จฯกรมพระดำรงราชานุภาพและพระราชชายาเจ้าดารารัศมีเป็นอย่างดี ดังนี้

“ด้วยพระเจ้าอยู่หัว ตรัสปรึกษาหม่อมฉันถึงเรื่องที่จะเสด็จมณฑลพายัพปลายปีนี้ หม่อมฉันเห็นว่าการไปมาเดี๋ยวนี้สะดวกผิดกับแต่ก่อนมาก พิธีการที่เคยรับเสด็จเจ้านายมาแต่ก่อน เช่นแห่เสด็จเข้าเมืองดูถวายเป็นการเล่นไปเสียแล้ว น่าจะต้องคิดกระบวนการรับเสด็จเป็นอย่างใหม่ให้ประเพณีเก่าเข้ากับสมัยปัจจุบันนี้ได้ หม่อมฉันใคร่จะปรึกษาผู้ซึ่งชำนาญการพิธีอย่างเก่าของเมืองเชียงใหม่ ก็ไม่เห็นมีใครนอกจากพระโอษฐ์ของเจ้าป้า(เจ้าป้า หมายถึงพระราชชายาเจ้าดารารัศมี -ผู้เขียน) จึงคิดว่าขึ้นไปเชียงใหม่ไปทูลหารือเรื่องนี้ ทั้งจะได้เป็นโอกาสตรวจตราโบราณวัตถุที่เมืองเชียงใหม่และเมืองลำพูนด้วย ปีนี้อายุหม่อมฉันจะเท่าพระชันษา พระชนก-จอม-หัว (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ –ผู้เขียน) จะรอพอทำบุญวันเกิดแล้ว วันพุธที่ ๒๓ มิถุนายนจะออกจากกรุงเทพฯ ไปถึงเมืองเชียงใหม่วันที่ ๒๔ พักอยู่เมืองเชียงใหม่จนวันที่ ๒๙ กลับมากรุงเทพฯ จึงทูลมาให้ทรงทราบเรื่องที่พัก อาหารเลี้ยงท้องจากเจ้าป้า ผู้ที่ไปด้วยเห็นจะสัก ๔-๕ คนด้วยกัน แต่ทางเทศานั้น หม่อมฉันบอกเขาว่า จะไปตรวจโบราณวัตถุ หวังใจว่าที่เมืองเชียงใหม่จะสิ้นฤดูร้อนเพราะฝนตกแล้ว” [3]

ข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพเสด็จฯขึ้นไปเมืองเชียงใหม่เพื่อตระเตรียมการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนานถึง๑ สัปดาห์

ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในการเตรียมการรับเสด็จอย่างสมพระเกียรติและประหยัด

ปีพ.ศ. ๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพระหว่างวันที่ ๖ มกราคม ถึง ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๙ รวม ๓๒ วัน ได้เสด็จเยี่ยมราษฎรในมณฑลฝ่ายเหนือ คือ เมืองพิษณุโลก และมณฑลพายัพ ได้แก่นครลำปาง เมืองแพร่ นครลำพูน เชียงราย พะเยา และนครเชียงใหม่ ในครั้งนั้นได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจสำคัญ นับเป็นพระมหากษัตริย์ในพระบรมจักรีวงศ์พระองค์แรกที่เสด็จมายังเมืองนครเชียงใหม่ และมีการรับเสด็จอย่างยิ่งใหญ่ด้วยขบวนแห่ช้างในส่วนของนครเชียงใหม่ โดยมีเจ้านายฝ่ายเหนืออำนวยการรับเสด็จเช่น พระราชชายาเจ้าดารารัศมีและพลตรี มหาอำมาตย์โทเจ้าหลวงแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้าย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้การเสด็จฯครั้งนั้นเป็นไปอย่างประหยัดที่สุดแต่มิให้เป็นการเสียพระเกียรติยศ อย่างไรก็ดี การรับเสด็จฯที่เชียงใหม่กลับเป็นงานที่ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติยศตามประเพณีของเจ้านายฝ่ายเหนือเป็นอย่างยิ่งเช่น ขบวนอัญเชิญเสด็จฯทั้งสองพระองค์เข้าสู่นวนครริมปิงด้วยขบวนช้าง ๘๐ ช้าง พิธีทูลพระขวัญ[4] และการฟ้อนของเจ้าเมืองเหนือหน้าพระที่นั่ง รวมทั้งกระบวนแห่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆภายใต้พระบรมโพธิสมภาร เช่น แม้ว เย้า ยาง เงี้ยว ขมุ มูเซอร์ รวมทั้งชาวลัวะผู้เสาะหาดอกเอื้องแซะสีขาวเหลืองหอมอบอวลซึ่งหายากยิ่งมาทูลเกล้าฯถวาย เป็นประจักษ์พยานแห่ง ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในดินแดนอันเป็นส่วนของ “สยาม” มิใยต้องกล่าวถึง พ่อค้าชาวจีน แขก ฝรั่ง ซึ่งเข้ามาประกอบการค้าและการทำไม้ ซึ่งใช้ช้างลากซุงถวายทอดพระเนตร อีกทั้งยังได้พบเจอลูกช้างพลายสำคัญมาน้อมเกล้าฯถวายเป็น “สัญลักษณ์แห่งพระบารมีและความจงรักภักดี” ซึ่งได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระเศวตคชเดชน์ดิลก” และจัดการสมโภชขึ้นที่พระราชวังดุสิต ในภายหลัง

ช่วงเวลาที่ทั้งสองพระองค์เสด็จฯไปนับเป็นช่วงที่วัฒนธรรมล้านนามีการดำเนินชีวิตอย่างผสมผสานกลมกลืน เป็นช่วงอากาศเย็นสบาย ดอกไม้ก็งามสะพรั่ง ดังนั้นจึงเป็นบรรยากาศที่เหมาะสมยิ่งต่อการแสดงออกถึงความสมัครสมานและเชื่อมสายใยทั้งฝ่ายพระมหากษัตริย์และเหล่าพสกนิกรซึ่งมีชนเผ่าต่างๆเข้าเฝ้าแสดงความจงรักภักดีมีธรรมเนียมของชนเผ่าลั๊วะที่นำดอกเอื้องแซะที่เป็นดอกไม้หายากมาเป็นเครื่องบรรณาการ รวมถึงชาวจีนเริ่มมีบทบาททางภาคเหนือก็ตรงกับเทศกาลตรุษจีนพอดี จึงมีการเตรียมการรับเสด็จฯของชาวจีนด้วยโดยนำเอากิมฮวยอั้งติ้วอันเป็นเครื่องบูชาของคนจีนมาตกแต่งสถานที่เพื่อเฝ้ารับเสด็จด้วย อีกทั้งยังมีการออกหนังสือพิมพ์รายวันท้องถิ่น “ข่าวเสด็จฯ” เป็นการพิเศษด้วย

จากการศึกษาเอกสารจดหมายเหตุ พบว่าเจ้านายที่เตรียมการรับเสด็จฯอย่างสมพระเกียรติและประหยัดในครั้งนั้นคือ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทั้งสองพระองค์ทรงวางแผนการรับเสด็จฯว่าจะใช้งบประมาณไม่เกินหนึ่งแสนบาท จากที่กะไว้เดิมจำนวนถึงสองแสนห้าหมื่นบาท จึงต้องลดระยะเวลาการเสด็จฯจาก ๔๐ วันให้เหลือ ๓๒ วันโดยตัดการเสด็จฯบางเมือง เช่น เมืองสุโขทัย[5] ออกไปเนื่องจากทำให้ต้องเสด็จฯ อ้อมไปและลดค่าใช้จ่ายต่างๆลงจนเหลือเพียงหนึ่งแสนสามหมื่นบาท

พระราชดำริในการเสด็จฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะดำเนินพระราชกรณียกิจตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมอัยกาธิราช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมเชษฐาธิราช เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎร และเสริมสร้างความก้าวหน้าแก่ประเทศชาติ ดังพระราชดำริ ความว่า

“... หัวเมืองมณฑลฝ่ายเหนือเป็นเมืองที่ตั้งมาแต่โบราณกาล บางเมืองเคยเป็นราชธานีในสยามประเทศทั้งหัวเมืองมณฑลพายัพนับว่ายังไม่เคยมีพระเจ้าแผ่นดินในกรุงรัตนโกสินทร์เสด็จฯ มาก่อน หากพระองค์เสด็จฯ ขึ้นไปมณฑลพายัพ ก็ต้องนับว่าพระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่เสด็จฯ ไปถึงเป็นพระองค์แรก...”

“...การเสด็จพระราชดำเนินเลียบหัวเมืองมณฑลน้อยใหญ่ยังเป็นโอกาสให้ได้ทอดพระเนตรภูมิประเทศถิ่นฐานบ้านเมือง ทรงทราบความเป็นไปอันเนื่องด้วยสุขด้วยทุกข์ตลอดถึงการทำมาหาเลี้ยงชีพของข้าขอบขัณฑสีมาอาณาจักรทั่วไป...สำหรับจะได้นำมาเป็นเครื่องทรงพระราชดำริดัดแปลงแก้ไขสิ่งที่พ้นสมัยผดุงสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้คงดีตลอดไป และพยายามให้ดียิ่งๆ ขึ้นสมกับที่ทรงดำรงตำแหน่งเป็นประมุขของชาติ...”

ดังนั้นเมื่อทางรถไฟสร้างขึ้นเพื่อเชื่อมโยงหัวเมืองทางเหนือสุดของประเทศเข้ากับส่วนกลางเสร็จสมบูรณ์ในพ.ศ. ๒๔๖๔ ทำให้อีกประมาณ ๕ ปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชดำริที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปบำเพ็ญพระราชกรณียกิจหลังจากครองราชย์ได้เพียงปีเศษ เพื่อเป็นการดำเนินรัฐประศาสโนบายตามรอยพระบรมชนกนาถในการประสานประโยชน์ของบ้านเมืองและการยอมรับในความแตกต่างทางวัฒนธรรมทั้งเรื่องเชื้อชาติ ภาษา ศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณี การบำเพ็ญพระราชกรณียกิจสำคัญต่างๆ เพื่อความมั่นคงกลมเกลียวและเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติบ้านเมือง เช่น การพระราชทานพระแสงราชศัสตรา การสมโภชพระธาตุเจดีย์สำคัญประจำเมือง และการสมโภชช้างเผือกประจำรัชกาล การเสด็จเยี่ยมกิจการโรงเรียนของคณะมิชชันนารีและ โรงเรียนสตรี กิจการโรงพยาบาลโรคเรื้อน โอสถสภาและที่ทำการสุขาภิบาล เป็นต้น

“ อีกประการหนึ่งเราได้เห็นประชาชนทั้งหลายซึ่งพากันมาต้อนรับเราตลอดทางที่มาล้วนมีอาการกริยาชื่นบานด้วยความปีติยินดี...แต่ความเจริญอันจะเกิดมีแก่บ้านเมืองและไพร่ฟ้าประชาชนแม้ยังต้องอาศัยพระเดชพระคุณของพระเจ้าแผ่นดินเป็นสำคัญก็จริงอยู่ แต่ยังอาศัยความประพฤติชอบของเหล่าพสกนิกรเป็นอุปการะเช่นกัน...เพราะฉะนั้นขอให้ท่านทั้งหลายจงตั้งใจช่วยเราทำนุบำรุงบ้านเมืองด้วยตามฐานะแห่งตน...”

ข้อความในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้สะท้อนสิ่งสำคัญของเหตุการณ์การเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพจนถึงเหนือสุดแดนสยามคือเมืองเชียงรายละเชียงแสนริมฝั่งโขงเมื่อประมาณ ๙๐ ปีมาแล้วว่าได้สร้างความปิติยินดีแก่ผู้คนทุกหมู่เหล่าและนับเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญครั้งแรกในฐานะพระมหากษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรี

อ้างอิง

  1. พระอิสริยยศขณะนั้น
  2. หอจดหมายเหตุแห่งชาติ . เอกสารส่วนพระองค์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลบ.๒.๔๖/๑แผนกหัวเมืองฝ่ายเหนือ รหัสไมโครฟิลม์ ม.สบ.๒/๓๔, หน้า ๑๖.
  3. เอกสารส่วนพระองค์สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ม.สบ ๒/๓๔ ,หน้า ๒๕
  4. พิธีทูลพระขวัญและการพระราชทานพระแสงราชศัสตรานครเชียงใหม่วันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๙.
  5. เมืองสุโขทัย นั้นผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าแม้จะเป็นสร้อยพระนามเดิม กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา และเป็นเมืองเก่าที่น่าสนใจ ก็ยังทรงเว้นที่จะไม่เสด็จฯไปเพราะทรงมีพระราชประสงค์ที่จะตัดทอนรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก

บรรณานุกรม

กมล มโนชญากร. รองอำมาตย์ตรี (ผู้รวบรวม). ๒๔๗๔ จดหมายเหคุเสด็จพระราชดำเนิรเลียบ มณฑลฝ่ายเหนือ พระพุทธศักราช ๒๔๖๙.พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร(พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พิมพ์พระราชทานในวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๔๗๔)

พูนพิศมัยดิศกุล, หม่อมเจ้าหญิง. “รัชกาลที่ ๗ เศรษฐกิจตกต่ำและเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ” ศิลปวัฒนธรรมปีที่ ๒ (เมษายน ๒๕๔๒)

บุญเสริม สาตราภัย. เสด็จลานนา. ๒ เล่ม พิมพ์ครั้งที่ ๒.กรุงเทพฯ: อักษราพิพัฒน์, ๒๕๓๒.

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ . เอกสารส่วนพระองค์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลบ.๒.๔๖/๑แผนกหัวเมืองฝ่ายเหนือ รหัสไมโครฟิลม์ ม.สบ.๒/๓๔

หนังสือพิมพ์ข่าวเสด็จ เป็นหนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกในมณฑลพายัพ พ.ศ. ๒๔๖๙