ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ผู้เรียบเรียง : สิฐสร กระแสร์สุนทร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง
การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ซึ่งโดยแท้ที่จริงแล้วการปกครองในระบอบนี้ ประชาชนจะต้องปกครองกันเอง ออกกฎหมายกันเอง บริหารกิจการบ้านเมืองกันเอง แต่ประชาชนในประเทศหนึ่ง ๆ มีจำนวนมากไม่สามารถหาสถานที่และเวลาในการมาประชุมหรือหารือร่วมกันเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าวได้ จึงจำเป็นต้องมีการเลือกตั้งเพื่อมอบอำนาจให้บุคคลหรือคณะบุคคลไปทำหน้าที่แทนตนเองในการปกครองประเทศ ดูแลทุกข์สุขของประชาชน จัดสรร และแบ่งปันผลประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งบุคคลดังกล่าวก็คือ “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวมกลุ่มกันเป็นคณะบุคคลเพื่อทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติของประเทศเรียกคณะบุคคลดังกล่าวว่า “สภาผู้แทนราษฎร” ทั้งนี้ เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมากมาประชุมหารือร่วมกันเพื่อดำเนินงานต่าง ๆ ของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้การประชุมดังกล่าวสามารถดำเนินไปด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย จำเป็นต้องมีกฎหรือกติกาในการควบคุมการประชุม โดยเรียกกฎหรือกติกาดังกล่าวว่า “ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร”
ความหมายของข้อบังคับการประชุม
ความหมายหรือคำจำกัดความของข้อบังคับการประชุม มีผู้ให้ความหมายไว้พอสรุปได้ดังนี้
คณิน บุญสุวรรณ ได้ให้คำจำกัดความของข้อบังคับการประชุมสภา คือ ข้อกำหนด ระเบียบปฏิบัติ หรือกรอบกติกาที่บัญญัติขึ้นใช้สำหรับการประชุมสภาในระดับชาติ ซึ่งทำหน้าที่นิติบัญญัติ ทั้งนี้ รวมถึงการประชุมคณะกรรมาธิการของสภาด้วย เพื่อให้การประชุมสภาและการประชุมคณะกรรมาธิการเกิดความเรียบร้อย ราบรื่น และบรรลุวัตถุประสงค์ของการประชุม ข้อบังคับการประชุมสภานี้ ประกอบด้วย ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ให้คำจำกัดความของข้อบังคับการประชุม คือ กฏหรือระเบียบที่ได้ตราขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และใช้บังคับหรือควบคุมให้การประชุมดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย
กล่าวโดยสรุปข้อบังคับการประชุม คือ ระเบียบหรือข้อกำหนดที่ใช้เป็นกรอบกติกาเพื่อใช้บังคับหรือควบคุมให้การประชุมดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้ ข้อบังคับการประชุม จะต้องสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ความสำคัญของข้อบังคับการประชุม
โดยปรกติแล้วเมื่อบุคคลมารวมกลุ่มกันมาก ๆ เพื่อทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือความแตกต่างกันในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ความคิดเห็น ประสบการณ์ หรือสิ่งอื่น ความแตกต่างเหล่านี้อาจนำมาซึ่งความขัดแย้งได้ จึงจำเป็นต้องมีการสร้างกฎ ระเบียบ ขนบธรรมเนียม ประเพณี หรือสิ่งอื่นใดขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นเครื่องควบคุมให้การดำเนินกิจกรรมร่วมกันเป็นไปด้วยความสงบสุข เรียบร้อย และปราศจากความขัดแย้ง การประชุมก็เช่นเดียวกัน หากการประชุมใดไม่มีกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับมาเป็นเครื่องมือในการควบคุมความเรียบร้อยในการประชุมแล้ว การประชุมดังกล่าวคงดำเนินไปด้วยความยากลำบาก และอาจเกิดความขัดแย้งขึ้นได้ โดยเฉพาะการประชุมในเรื่องที่มีความสำคัญระดับประเทศ เช่น สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถือว่าเป็นการประชุมที่มีความสำคัญยิ่งต่อประเทศชาติ จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดข้อบังคับการประชุมขึ้น
โดยการใช้ข้อบังคับการประชุม มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้การประชุมสามารถดำเนินไปด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย ถูกต้อง และเหมาะสม เพื่อให้การประชุมบรรลุวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมการประชุมจำเป็นต้องยึดถือ และปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ในข้อบังคับที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้การประชุมนั้น ๆ ผ่านไปได้ด้วยดี
สาระสำคัญของข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
สาระสำคัญของข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเลือกประธานสภาและรองประธานสภา อำนาจและหน้าที่ของประธานสภา รองประธานสภา และหน้าที่ของเลขาธิการ การประชุม กรรมาธิการ การเสนอและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ การเสนอและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภามีมติเห็นชอบให้พิจารณาต่อไป กระทู้ถาม การพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี การเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ การรักษาระเบียบและความเรียบร้อย รวมทั้งกิจการอื่น ๆ เพื่อดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งสามารถดูข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฏร พ.ศ. 2551 ได้เป็นตัวอย่าง
กระบวนการตราข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
กระบวนการตราข้อบังคับการประชุมสภา ดำเนินการโดยนำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยกระบวนการตราพระราชบัญญัติมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยเมื่อร่างข้อบังคับการประชุมสภาผ่านความเห็นชอบโดยสภาแล้ว สมาชิกสามารถที่จะเข้าชื่อกันเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าข้อบังคับการประชุมสภามีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก่อนที่จะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ดังที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 155 บัญญัติว่า “ให้นำมาใช้บังคับกับร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา และร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา แล้วแต่กรณี ให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ยังมิได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วยโดยอนุโลม”
ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นับเริ่มตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 ซึ่งเริ่มมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เวลา 14.00 น. ณ ห้องโถงชั้นบน พระที่นั่งอนันตสมาคม ในครั้งนั้นได้เริ่มมีการใช้ข้อบังคับการประชุมสภา โดยนำข้อบังคับการประชุมของสภาองคมนตรีมาใช้ไปพลางก่อน จากนั้นจึงเกิดข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อบังคับใช้อีกหลายฉบับ โดยทุกฉบับมีวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อใช้เป็นกฎหรือระเบียบในการควบคุมการประชุมให้ดำเนินการไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งอาจมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน ได้แก่
1. ข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2476
2. ข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2477
3. ข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทน พุทธศักราช 2490
4. ข้อบังคับการประชุมปรึกษาของสภาผู้แทน พุทธศักราช 2494
5. ข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2495
6. ข้อบังคับการประชุมปรึกษาของสภาผู้แทน พ.ศ. 2513
7. ข้อบังคับการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522
8. ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2528
9. ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2535
10. ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2540
11. ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2544
12. ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551
อ้างอิง
บรรณานุกรม
1. คณิน บุญสุวรรณ , (2551) “ภาษาสภา”. กรุงเทพ ฯ : บริษัท เอมี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด.
2. ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ , (2517) “รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517)”. กรุงเทพ ฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชุมนุมช่าง.
3. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง , (2555) “วิถีประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง”. กรุงเทพ ฯ : สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง.
4. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร , (2519) “รวมข้อบังคับการประชุมสภา 2476 – 2518”. กรุงเทพ ฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
5. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร , (2546) “ข้อบังคับการประชุมสภาเปรียบเทียบ 2476 – 2517”. กรุงเทพ ฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
6. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร , (2551) “ข้อบังคับการประชุม”. กรุงเทพ ฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
7. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร , (2551) “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”. กรุงเทพ ฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
8. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร , (2553) “ข้อบังคับ”. กรุงเทพ ฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
9. ศตพล วรปัญญาตระกูล , (2555) “ข้อบังคับการประชุมสภา”. [ระบบออนไลน์]. สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557. เข้าถึงได้จาก : http://www.kpi.ac.th/wiki/...
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
1. คณิน บุญสุวรรณ , (2548) “ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย” กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์สุขภาพใจ
2. ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ , (2517) “รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517)” กรุงเทพ ฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชุมนุมช่าง
3. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร , (2551) “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” กรุงเทพ ฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
4. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร , (2553) “ข้อบังคับ” กรุงเทพ ฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ดูเพิ่มเติม
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
2. ข้อบังคับการประชุม