การเจรจาไกล่เกลี่ย
ผู้แต่ง : นายชลัท ประเทืองรัตนา ผู้ทรงคุณวุฒิ : พลเอก เอกชัย ศรีวิลาศ
1.ความสำคัญของการเจรจาไกล่เกลี่ย
ความขัดแย้งที่ขยายตัวกลายเป็นความรุนแรงนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งทางร่างกาย การสูญเสียชีวิต และบาดแผลทางจิตใจ และมีโอกาสยกระดับจนนำไปสู่การแตกร้าวของสังคมในวงกว้าง สังคมไทยได้เผชิญกับความสูญเสียจากความรุนแรงมาอย่างยาวนานจนกระทั่งถึงปัจจุบันก็ยังมีตัวอย่างความรุนแรงในสังคมให้ได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ความเสียหายที่เกิดขึ้น มีทั้งที่สังคมไทยสามารถจัดการได้ ไม่เกิดการขยายตัวบานปลายไปสู่ความรุนแรงในวงกว้าง แต่ก็มีเหตุการณ์จำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถยุติลงได้ หรือยังไม่สามารถจัดการปัญหาได้ ตราบจนกระทั่งปัจจุบัน
เราลองนึกภาพเหตุการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมไทยที่ไม่สามารถจัดการได้ และยืดเยื้อเรื้อรังนั้น จะนำมาสู่การบั่นทอนการพัฒนาสังคมไทยขนาดไหน ปัญหาของการจัดการน้ำจืดน้ำเค็มที่ใช้ประตูกั้นน้ำจืด-น้ำเค็มมาแก้ปัญหา ที่จังหวัดสมุทรสงคราม จะเป็นอย่างไร ถ้าไม่มีระบบการจัดการที่ดี ทำให้คนฝั่งน้ำจืด-น้ำเค็มที่ทำนาข้าวกับนากุ้งลุกมาห้ำหั่นกันเองเพื่อมิให้อีกฝ่ายเปิดประตูกั้นน้ำ แต่สุดท้ายก็สามารถพูดคุยกันจนได้ทางออกอย่างยั่งยืนจากภูมิปัญญาท้องถิ่น จะเป็นอย่างไร ถ้าเกิดปัญหาการผ่าตัดต้อกระจกในโรงพยาบาล แล้วทำให้คนไข้ตาบอดหลายราย แล้วเกิดการฟ้องร้องจากคนไข้และญาติ ทำให้ความสัมพันธ์ของผู้ให้บริการกับผู้รับบริการแตกร้าว เสื่อมเสียชื่อเสียงโรงพยาบาล ผู้ป่วยก็ไม่ได้รับการเยียวยาทางจิตใจ แต่ปัญหานี้ก็คลี่คลายด้วยกระบวนการเยียวยาทางจิตใจและกระบวนการพูดคุย จะเป็นอย่างไร ถ้านักเรียนและนักศึกษาทำร้ายร่างกายกันทั้งบาดเจ็บรวมถึงเสียชีวิต โดยไม่มีระบบจัดการเยียวยาบาดแผลอันเจ็บปวดของผู้ที่เกี่ยวข้อง จะเป็นอย่างไร ถ้าวัดกับโรงโม่หินต้องมาทะเลาะกันจากการระเบิดหินของโรงโม่ แล้วก้อนหินกระเด็นใส่วัด จนกระทั่งพระสงฆ์ไม่สามารถปฏิบัติธรรมได้ จะเป็นอย่างไรถ้าสังคมไทยไม่สามารถพูดคุยกันเรื่องการเมืองได้ งานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า (2555) ให้ข้อมูลว่าความขัดแย้งทางการเมืองไทย ที่ผ่านมา เกิดการสูญเสียชีวิตมากกว่าร้อยคน บาดเจ็บมากกว่า 1,800 คน สังคมไทยอยู่กันด้วยความหวาดระแวง ความกังวล และประเทศชาติไม่สามารถพัฒนาไปได้อย่างต่อเนื่อง
การเจรจาไกล่เกลี่ย (Negotiation) จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการจัดการกับความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นด้วยกระบวนการการพูดคุยกันอย่างเป็นระบบมีขั้นตอน มีศิลปะในการพูดคุยกันภายใต้บรรยากาศที่เอื้ออำนวยให้เกิด มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้คนที่ขัดแย้งกันสามารถมาเผชิญหน้ากันได้เมื่อถึงจุดหรือสถานการณ์ที่เหมาะสม และเป็นการพูดคุยที่เป็นการไกล่เกลี่ย ไม่เกลี้ยกล่อม ตะล่อม ข่มขู่และบังคับ แต่เป็นกระบวนการของความสมัครใจ และเกิดการยอมรับจากคู่กรณี เป็นการพูดคุยที่บรรลุเป้าหมายทั้ง 3 มุมที่ควรจะเป็น กล่าวคือบรรลุเป้าหมาย(เนื้อหา)ที่ชัดเจนร่วมกัน มีกระบวนการที่ยอมรับร่วมกัน และเกิดสัมพันธภาพต่อกันอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง สัมพันธภาพเปรียบได้กับกาวที่ช่วยเชื่อมเป้าหมายและวิธีการไว้ด้วยกัน อันจะส่งผลให้การจัดการความขัดแย้งเป็นไปได้อย่างลุล่วง สิ่งที่สำคัญคือ การยอมรับร่วมกันคงไม่ใช่เพียงการทำบันทึกข้อตกลงให้เสร็จสิ้นหรือเสร็จๆไปเท่านั้น มิเช่นนั้นก็จะประสบปัญหาดังที่ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (2546) กล่าวว่า “สนธิสัญญาสันติภาพหรือข้อตกลงสันติภาพนั้นมิได้เป็นการแก้ไขปัญหา หากเป็นเพียง “แช่เย็น” ความขัดแย้งไว้ชั่วคราวเพื่อให้เกิดโอกาสในการเจรจาหาลู่ทางแก้ไขปัญหาอื่นๆต่อไป”
2.แนวคิดการเจรจาไกล่เกลี่ย
2.1 นิยามความหมาย
ในชีวิตประจำวันพวกเราเจรจาไกล่เกลี่ย (Negotiation) อยู่ตลอดเวลา การเจรจาไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะการเจรจาที่เป็นทางการเท่านั้นอันทำให้เราอาจจะรู้สึกว่ามีความไกลตัวจากเราเท่านั้น เช่น การเจรจาระหว่างประเทศ การเจรจาธุรกิจ การเจรจายุติความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การเจรจากรณีความเห็นแตกต่างทางการเมือง เป็นต้น แต่ที่จริงการเจรจาเกิดขึ้นกับเราเสมอไม่ว่าจะเป็นการเจรจากับตนเองหรือการเจรจากับผู้อื่น การเจรจากับตนเอง เช่น จะไปเข้ารับการอบรมหรือนอนต่ออีกนิด จะทำงานที่บริษัทใดดี จะเลือกใครเป็นคู่ครองของเรา เป็นต้น สำหรับการเจรจากับคนอื่น เช่น การเจรจากับเพื่อนว่าจะไปกินข้าวที่ร้านไหน เล่นกีฬากันวันไหน การเจรจากับครอบครัวเรื่องสถานที่เที่ยวในวันหยุดการเจรจาแบ่งหน้าที่กันทำงานในครอบครัว การเจรจาว่าจะไปรับแฟนหรือจะไปประชุม เจรจากับสามีหรือภรรยาว่าจะดูทีวีช่องไหน การเจรจาขอขึ้นเงินเดือนกับนายจ้าง การเจรจาราคาซื้อขายสินค้าและตัวอย่างอื่นๆ อีกมากมายที่ไม่ได้กล่าวมา ณ ที่นี้
Negotiation มีผู้แปลและเรียกคำนี้แตกต่างกันไป แต่หนังสือแปลหรือหนังสือส่วนใหญ่จะใช้คำว่า การ “เจรจาต่อรอง” ถ้าเป็นการเจรจาแบบมุ่งเน้นผลแพ้ชนะผู้เขียนเห็นสอดคล้องว่าควรใช้คำว่า การเจรจาต่อรอง แต่ถ้าเป็นการเจรจาแบบมุ่งเน้นสร้างความร่วมมือ เน้นการสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ไม่ทิ้งความขุ่นเคืองต่อกัน ผู้เขียนเห็นสอดคล้องตามที่ ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ (2550 : 179) ได้นิยามศัพท์ไว้ว่า “การเจรจาไกลเกลี่ย” ซึ่งเป็นกรณีที่คู่กรณีหันหน้ามาพูดคุยกันเอง ไม่ใช่การโต้แย้งกันว่าใครผิด ใครถูก แต่เป็นการมาทำความเข้าใจในความต้องการของแต่ละฝ่ายทั้งฝ่ายตนและฝ่ายอื่น
การเจรจานั้นมีผู้ให้นิยามความหมายไว้เป็นจำนวนมาก อาทิ Coltri (2004) นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย Maryland ให้นิยามความหมายไว้ว่า การเจรจาเป็นการมาพูดคุยกันเองโดยตรงของคู่กรณี และเป็นวิธีการที่ดีกว่าการไปฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรม สำหรับ Zartman (2009) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเจรจาระหว่างประเทศจากสหรัฐอเมริกา เห็นว่าการเจรจาเป็นกระบวนการรวมจุดยืนของความขัดแย้งมาเป็นข้อตกลงร่วมกัน (Joint Agreement) การเจรจามีลักษณะที่แตกต่างจากการตัดสินใจด้วยการลงคะแนนเสียง และการพิพากษาโดยศาล ด้วยการหาความเห็นพ้องต้องกัน (Unanimity) ใน 3 ทาง คือ ใช่ ไม่ใช่หรือจะเจรจาต่อไป (Yes, No, Or Continue Negotiating) การเจรจาเกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนกันมากกว่าชัยชนะของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นการให้บางสิ่ง (Give Something) เพื่อได้รับบางสิ่ง (Get Something) แม้ว่าอาจจะไม่ได้เท่ากันทั้งสองฝ่ายก็ตาม กระบวนการเจรจากระทำภายใต้บรรทัดฐานของสังคม (Norms) กระบวนการและผลลัพธ์ จึงไม่เหมือนกันมีความแตกต่างกันไปในแต่ละแห่ง ในขณะที่ วิลเลียม ยูริ (2545) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก็มีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่าการเจรจา เป็นกระบวนการของการสื่อสารไปมาที่มุ่งหวังให้บรรลุข้อตกลงกับฝ่ายอื่น โดยที่ความต้องการบางส่วนของคุณได้รับการพิจารณาและบางส่วนอาจถูกคัดค้าน รวมถึง สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ (2549) ก็เห็นเช่นเดียวกันว่า ผู้ที่เข้าร่วมเจรจานั้นต้องการที่จะหาข้อสรุปที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
2.2 เหตุผลและเงื่อนไขพื้นฐานของการเจรจาไกล่เกลี่ย
ทำไมต้องมีการเจรจา ? ไม่ว่าจะเป็นรัฐ กลุ่มหรือปัจเจก ต่างก็พอใจมากกว่าที่จะแก้ไขปัญหาเพียงฝ่ายเดียว ในเงื่อนไขที่เขาสามารถควบคุมการตัดสินใจและไม่ต้องพึ่งพิงฝ่ายอื่น อย่างไรก็ตาม เมื่อแต่ละฝ่ายเห็นว่าจะต้องมีการเจรจาเมื่อต้องพึ่งพิงฝ่ายอื่นและไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เพียงฝ่ายเดียว (Zartman, 2009) การเจรจาภายใต้สถานการณ์แบบใดที่มีความเหมาะสมและน่าจะทำให้การเจรจาประสบความสำเร็จ (Zartman (2009) เห็นว่าแต่ละฝ่ายก็ต้องมีการแลกเปลี่ยน เจรจาอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงกระบวนการก็ต้องได้รับการยอมรับจากคู่กรณี การยอมถอยหรือการยอมให้กันก็ต้องมาจากทั้งสองฝ่าย อยู่บนพื้นฐานของการแลกเปลี่ยน มิใช่มีเพียงฝ่ายเดียวที่ยอมให้อีกฝ่าย การละเลยความยุติธรรมในด้านของความเท่าเทียมกันจะส่งผลต่อการขัดขวางการเจรจา
ข้อสังเกตคือ การเจรจามีหลายระดับและความยากง่ายที่แตกต่างกันไป ปัญหาที่ไม่สลับซับซ้อนมีคนเกี่ยวข้องไม่มากนัก ไม่เกิดการสูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน การเจรจาก็จะทำได้ไม่ยากนัก แต่ถ้าเกิดความรุนแรงอย่างยืดเยื้อเรื้อรัง การเจรจาเพียงอย่างเดียวอาจยังไม่เพียงพอ แต่ต้องมีกระบวนการอื่นๆเข้ามาร่วมด้วย หรือต้องเน้นจัดการในเรื่องอื่นๆที่เน้นคุณค่ามากกว่าเรื่องผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม ดังที่ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (2546) มองว่าการแก้ไขข้อขัดแย้ง (Conflict Resolutions) ที่ลึกซึ้ง มิใช่การทำให้ข้อขัดแย้งหายไปด้วยการเจรจา แต่ต้องเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ในกรณีที่เกิดขึ้น และวิเคราะห์สภาพความขัดแย้งให้ลึกซึ้งโดยคำนึงถึงมิติแห่งความเป็นมนุษย์ ที่เน้นความเมตตาและการให้อภัย
2.3 ความแตกต่างระหว่างการเจรจากับการไกล่เกลี่ยโดยคนกลาง
การเจรจาเป็นการที่คู่กรณีหันหน้ามาพูดคุยกันเองได้โดยตรง สามารถพูดคุย เผชิญหน้าและตกลงกันได้เอง ไม่จำเป็นต้องพึ่งหรืออาศัยคนกลางแต่อย่างใด การพูดคุยกันเองนั้นถ้าสามารถเกิดขึ้นได้เป็นสิ่งที่ดีกว่าการอาศัยคนกลาง เพราะคู่กรณีไม่ต้องนำเรื่องของตนเองไปเปิดเผยให้คนอื่นได้รับรู้ ยกตัวอย่างการเจรจาระหว่างประเทศ ก็มักจะใช้การเจรจากันเองโดยใช้กระบวนการทางการทูตทั้งเรื่องเล็กไปจนกระทั่งเรื่องใหญ่ และมักจะดำเนินไปอย่างลับๆ ในระหว่างที่มีการเจรจา จนกระทั่งประสบความสำเร็จถึงจะเปิดเผยและ มีการทำบันทึกข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรในรูปแบบต่างๆ ร่วมกัน (สมพงศ์ ชูมาก, 2552)
อย่างไรก็ตามการเจรจาอาจเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าความสัมพันธ์ต่อกันไม่ดี หรือมีอารมณ์และความรู้สึกไม่พอใจซึ่งกันและกันมาก จนไม่สามารถหันหน้ามาพูดคุยกันหรือตกลงกันได้เอง ความรู้สึกเสียหน้าอาจเกิดขึ้นได้ถ้าพูดคุยกันเองแล้วต้องยอมให้อีกฝ่าย บางครั้งการพึ่งคนกลาง ก็จะหาทางออกได้เพราะคู่กรณีไม่รู้สึกเสียหน้าว่ายอมให้อีกฝ่าย แต่ที่ยอมให้ก็ด้วยเป็นเพราะยอมให้คนกลาง
การเจรจามีความแตกต่างจากการไกล่เกลี่ยโดยคนกลางอย่างชัดเจน กล่าวคือการเจรจาไกล่เกลี่ยเป็นการที่คู่กรณีพูดคุยเพื่อหาข้อตกลงหรือยุติปัญหาด้วยกันเองโดยไม่ต้องพึ่งพิงบุคคลที่สาม ในขณะที่การไกล่เกลี่ยโดยคนกลาง เป็นกระบวนการที่บุคคลที่สามเข้ามาช่วยกำกับกระบวนการและกระตุ้นให้คู่กรณีตัดสินใจหาข้อตกลงร่วมกัน เบอร์นาร์ด เมเยอร์ ผู้สอนและผู้ไกล่เกลี่ยที่มากด้วยประสบการณ์จาก CDR Associates ซึ่งเป็นองค์กรด้านการจัดการความขัดแย้งที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เห็นว่าการเจรจาเป็นวิธีการที่คู่กรณีมักเลือกใช้ในการจัดการปัญหาเป็นอันดับแรก นอกเสียจากว่าปัญหามีระดับที่รุนแรงมากขึ้นจนควบคุมได้ยาก คู่กรณีจึงจะเลือกใช้วิธีการไกล่เกลี่ยโดยคนกลาง ด้วยการแสวงหาความช่วยเหลือจากภายนอกหรือบุคคลที่สาม (เมเยอร์,2553) ในสังคมไทยมีตัวอย่างมากมายที่คู่กรณีเจรจากันเองได้สำเร็จ และไม่สามารถเจรจากันได้เอง โดยต้องอาศัยหรือพึ่งคนกลาง เข้ามาช่วยจัดการปัญหาดังจะได้ยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนขึ้นต่อไป สำหรับการนำเสนอ ชุดความรู้ในเรื่องนี้ จะเน้นไปที่การเจรจาไกล่เกลี่ย (Negotiation) โดยไม่รวมในส่วนของการไกล่เกลี่ยโดยคนกลาง (Mediation) ซึ่งจะกล่าวถึงโดยละเอียดในชุดความรู้ส่วนต่อไป
2.4 ประโยชน์ของการเจรจาไกล่เกลี่ย
ดังที่เราทราบกันว่า ความขัดแย้งเกิดขึ้นจากเป้าหมายที่ไปกันไม่ได้ แต่เป้าหมายที่ขัดกันยังไม่ใช่ปัญหา ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อคู่ขัดแย้งพยายามมีอำนาจเหนือกว่าอีกฝ่าย อันจะทำให้ข้อตกลงในการร่วมมือกันถูกขัดขวาง หรืออาจจะนำไปสู่ความรุนแรงได้ ความขัดแย้งขยายตัวจนกระทั่งนำไปสู่หนึ่งในสามผลลัพธ์นี้เกิดขึ้นคือ ชัยชนะของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือความเจ็บปวดเกิดขึ้นจนทำให้คู่ขัดแย้งพิจารณาหาทางลดความขัดแย้ง และเกิดสภาพที่ ไม่สามารถเอาชนะกันได้คงที่ การเจรจาสามารถใช้ในการป้องกันความขัดแย้งขยายตัวไปสู่ความรุนแรงหรือการเจรจาถูกใช้ในการจัดการความขัดแย้ง เป็นการลดความรุนแรงลงมา หรือเป็นวิธีในการแก้ไขเป้าหมายที่ขัดกันไม่ได้ หรือแปรเปลี่ยนความขัดแย้งไปสู่ความสัมพันธ์แบบร่วมมือ การเจรจายังเป็นประโยชน์เมื่อต้องการควบคุมผลลัพธ์ได้เอง ไม่ต้องไปพึ่งการลงคะแนนเสียงหรือการตัดสินจากศาล (Zartman, 2009) การเจรจากันระหว่างคู่กรณีนั้น ผู้ที่ตัดสินใจยุติหรือหาข้อตกลงก็คือคู่กรณีเอง คู่กรณีเป็นผู้ชี้ขาดที่จะหาจุดที่ลงตัวร่วมกันด้วยตนเอง ดีกว่าที่จะต้องไปให้คนอื่น เช่น ผู้พิพากษา หรืออนุญาโตตุลาการชี้ขาด ดังนั้น การยุติเรื่องด้วยตนเองก็จะนำไปสู่ความพึงพอใจร่วมกัน
การเจรจา ดีกว่าหลีกเลี่ยงปัญหาหรือใช้การบังคับ Wilmot (2007) เห็นว่าการเจรจาอยู่ตรงกลางระหว่างการไม่ทำอะไรด้วยการหลีกเลี่ยงหรือหลีกหนีปัญหา กับการบังคับด้วยอำนาจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของตน ซึ่งการเจรจานั้นเกิดผลดีที่คู่กรณีได้มาพูดมาคุยกัน ดีกว่าการหลีกหนีปัญหาซึ่งทำให้ปัญหาที่แท้จริงไม่ได้รับการแก้ไข ความพึงพอใจก็ไม่เกิดขึ้น เหมือนซุกปัญหาอยู่ใต้พรม เมื่อเปิดพรมขึ้นมาก็เจอปัญหาหรือเศษขยะอยู่ดี หรือแม้แต่การบังคับก็อาจทำให้ได้รับชัยชนะ ด้วยพลังอำนาจที่เหนือกว่า แต่สร้างความขุ่นเคือง เกิดความสัมพันธ์ที่ร้าวฉาน ไม่สามารถคบหากันได้อย่างสนิทใจ และคนที่ได้รับชัยชนะด้วยการบังคับก็ต้องคอยหวาดระแวงว่าจะถูกใช้กำลังบังคับเอาคืนบ้าง
ที่มา: Wilmot & Hocker 2007: 244
บรรณานุกรม
เครตัน, เจมส์ แอล. (2547). คู่มือการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจของชุมชน. (วันชัย วัฒนศัพท์, ผู้แปล) ขอนแก่น: ศิริภันฑ์ ออฟเซ็ท. ( ต้นฉบับพิมพ์ปี, 1992)
ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว. (2547). ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับสันติวิธีและธรรมชาติของความขัดแย้งในสังคมไทย. นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (2533). ท้าทายทางเลือก: ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โกมลคีมทอง.
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (2546). อาวุธมีชีวิต แนวคิดเชิงวิพากษ์ว่าด้วยความรุนแรง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน.
ชลัท ประเทืองรัตนา. (2555). กระบวนการและปัจจัยแห่งความสำเร็จในจัดการความขัดแย้งกรณีประตูกั้นน้ำจืด-น้ำเค็ม แพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และกรณีผ่าตัดต้อกระจกติดเชื้อ โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. ปีที่ 31 ฉบับที่ 4 เดือนตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ.2555., หน้า 38-52.
ชลัท ประเทืองรัตนา. ความขัดแย้งในการใช้พื้นที่หนองใหญ่ ตำบลบางลึก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร. วารสารมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี. ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2554. หน้า 173-197
บอนพิน, เท็ด. (2550). คู่มือการเพิ่มพลังความสามารถกระบวนการจัดการข้อพิพาท. (วันชัย วัฒนศัพท์, ถวิลวดี บุรีกุลและศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์, ผู้แปล) นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า.
ไพศาล วิสาโล. (2550). สร้างสันติด้วยมือเรา. (พิมพ์ครั้งที่ 2). นครปฐม : ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล.
มัวร์, คริสโตเฟอร์. (2542). กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง (วันชัย วัฒนศัพท์, ผู้แปล) ขอนแก่น: ศิริภัณฑ์ออฟเซ็ท.
มอริส, แคธเธอรีน. (2547). การจัดการความขัดแย้งและการขอโทษ. (วันชัย วัฒนศัพท์, ผู้แปล). นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า.
ไรค์เลอร์, ลุค. (2548). การสร้างสันติภาพ : คู่มือภาคสนาม. (พรรณงาม เง่าธรรมสาร, ผู้แปล). นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า.
ศูนย์สันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า. (2547). ศัพท์บัญญัติเกี่ยวกับการแก้ปัญหาและความขัดแย้ง. นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า
หรรษา ธมมหาโส (นิธิบุณยากร). พุทธสันติวิธี : การบูรณาการหลักการและเครื่องมือจัดการความขัดแย้ง. กรุงเทพฯ : บริษัท 21 เซ็นจูรี่ จำกัด.
ฟิชเชอร์, โรเจอร์., ยูริ, วิลเลียม, และแพ็ทตัน, บรู๊ซ. (2545). กลยุทธ์การเจรจาต่อรอง. (ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น.
เมเยอร์, เบอร์นาร์ด. (2553). พลวัตรการจัดการความขัดแย้ง. (นายแพทย์บรรพต ต้นธีรวงศ์, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คบไฟ.
มาร์คัส ลีโอนาร์ด เจ.และคณะ. (2552). เจรจาแนวใหม่ มิติแห่งการป้องกันและระงับความขัดแย้งในทีมงานและระบบสุขภาพ. (นายแพทย์บรรพต ต้นธีรวงศ์, ผู้แปล). กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์คบไฟ.
ยูริ, วิลเลียม. (2545). เอาชนะคำว่าไม่ใช่เรื่องยาก. (ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์, ผู้แปล). นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า.
วันชัย วัฒนศัพท์, บรรพต ต้นธีรวงศ์, ศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์. (2549) การจัดการความขัดแย้งในระบบบริการสาธารณสุข : หลักการ แนวปฏิบัติและนโยบาย.กรุงเทพฯ : ศูนย์สันติวิธีสาธารณสุข.
วันชัย วัฒนศัพท์. (2550). ความขัดแย้ง: หลักการและเครื่องมือแก้ปัญหา....พิมพ์ครั้งที่ 3. ขอนแก่น: ศิริภัณฑ์ออฟเซ็ท.
วิชัย โถสุวรรณจินดา. (2551) .ครบเครื่องเรื่องการเจรจาต่อรอง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น).
ศรีเพ็ญ ศุภพิทยากุล .(2552). มนุษย์กับสันติภาพ. (พิมพ์ครั้งที่ 12). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข.(2553).ร้อยเรื่องราวในรอบวัน งาน R2R ครั้งที่ 3. วันที่ 14 กรกฎาคม 2553 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี.
สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์. (2549). กลยุทธ์การเจรจาต่อรอง.(พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).
สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า. หลักสูตรแนวคิดพื้นฐานการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีสำหรับนักเรียนและนักศึกษา. เอกสารไม่ตีพิมพ์.
สถาบันพระปกเกล้า. (2555) แนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติ. กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า
สมพงศ์ ชูมาก. (2552). การแก้ไขความขัดแย้งระหว่างประเทศใน ศรีเพ็ญ ศุภพิทยากุล บก.2552. มนุษย์กับสันติภาพ. (พิมพ์ครั้งที่ 12). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อนันต์ชัย คงจันทร์ "การบริหารความขัดแย้งเพื่อสร้างสันติภาพในองค์การ" ศรีเพ็ญ ศุภพิทยากุล .(2552). มนุษย์กับสันติภาพ. (พิมพ์ครั้งที่ 12). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ภาษาอังกฤษ
Bercovitch, Jacob., Kremenyuk, Victor., & Zartman, I. William. (2009). The Sage Handbook of Conflict Resolution. London: SAGE Publications Ltd.
Boulding, K. (1989). Three Faces of Power. Quoted in Miall et al. USA: Blackwell Publishers Inc., 1999
Coltri, S.Laurie. (2004). Conflict diagnosis and alternative dispute resolution and Mediation. New Jersey. Pearson Prenice Hall.
Fisher, Roger. Ury, William., Patton, Bruce. (1991). Getting to Yes : Negotiating an agreement without giving in. London: Random House.
Furlong, T. Gary. (2005). The conflict resolution toolbook models and maps for analyzing, diagnosing, and resolving conflict. Canada: John wiley and sons Canada, ltd.
Lewicki Roy J., .Saunders M. David, and Minton, W. John. (2001). Essentials of Negotiation. New York. Irwin/Mcgraw-Hill.
Miall, Hugh., Ramsbotham, Oliver., & Woodhouse, Tom. (1999). Contemporary Conflict Resolution : the prevention, management and transformation of deadly conflicts. USA: Blackwell Publishers Inc.
Morris, Catherine. (2004).Conflict analysis a tutorial. Retrieved February 9,2011, from Website http://www.peacemakers.ca
Thomas, Kenneth & Killman, Ralph. (1974). “Developing a Forced-Choice Measure of Conflict-Handling Behavior,” Educational and Psycholigical Measurement XXXVII: 309-325.
Warner, Michael. (2001). Complex Problems,Negotiated Solutions.London: ITDG Publishing.
Wilmot & Hocker. (2007). Interpersonal conflict. (Seventh edition). New York. Mcgraw-Hill,
Zartman , I. William, & Berman, Marueen. R. (1982). The Practical Negiator. USA: Halliday Lithograph.
Zartman, I.William. (2009). “Conflict Resolution and Negotiation”. In The SAGE Handbook of Conflict Resolution, eds. Bercovitch, Jacob., Victor Kremenyuk, & I. William Zartman (2009). London: SAGE Publications Ltd.