ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ปัญหาการพัฒนาประชาธิปไตยไทย"
ลไม่มีความย่อการแก้ไข |
ลไม่มีความย่อการแก้ไข |
||
บรรทัดที่ 144: | บรรทัดที่ 144: | ||
---- | ---- | ||
*[http://www.kpi.ac.th/kpith/pdf/%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3/ | *[http://www.kpi.ac.th/kpith/pdf/%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3/50/01/50-01%2007.%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%8A%E0%B8%95.%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B9%8C.pdf ปัญหาการพัฒนาประชาธิปไตยไทย '''(PDF Download)''' ] | ||
[[หมวดหมู่:วารสารปีที่ 5 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม - เมษายน 2550]] | [[หมวดหมู่:วารสารปีที่ 5 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม - เมษายน 2550]] |
รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 10:39, 26 พฤศจิกายน 2556
ผู้เรียบเรียง ดร.เสนีย์ คำสุข
วารสารสถาบันพระปกเกล้า ปี 2550 ฉบับที่ 1
สภาพปัญหาและประเด็นคำถาม
ชื่อบทความที่ตั้งไว้ ค่อนข้างจะเชยสำหรับคนที่เกี่ยวข้องกับแวดวงการรัฐศาสตร์ แต่เป็นเรื่องที่รัฐศาสตร์ไทย (ต้อง) สนใจและค่อนข้างจะตรงกับความเป็นจริงของการเมืองไทยอย่างมาก ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 จนถึง รัฐประหาร พ.ศ.2549 การรัฐประหารหรือการยึดอำนาจทางการเมืองด้วยกลไกรัฐ การกบฏหรือการพยายามก่อการรัฐประหารแต่ไม่สำเร็จ การใช้เงินทุนสร้างพรรค และเอาชนะการเลือกตั้ง กระบวนการคอรัปชั่น ความขัดแย้งต่าง ๆ และวิกฤตการเมือง ล้วนเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในแบบแผน (pattern) คล้าย ๆ กัน จนกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “วงจรชั่วร้ายหรืออุบาทว์” (vicious cycle) ดังแผนภาพ
ข้อมูล ข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยในรอบ 74 ปี ก็คือ เกิดการรัฐประหาร 11 ครั้ง รวมทั้งกรณีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยดำเนินงานของคณะราษฎร เกิดการกบฏไม่ต่ำกว่า 7 ครั้ง ประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาแล้ว 17 ฉบับ (ถึงฉบับวันที่ 1 ตุลาคม 2549) เกิดพรรคการเมืองมาแล้วมากกว่า 300 ชื่อ การเลือกตั้งทั่วไป (รวมทั้งการเลือกตั้งเพิ่ม) มีอยู่ราว 20 ครั้ง รัฐสภาทั้งจากแต่งตั้งและเลือกตั้ง 50 กว่าชุด นายกรัฐมนตรี 24 คน จัดรัฐบาลบริหารประเทศรวมแล้วมากกว่า 60 ชุด เกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองมากมายอยู่เสมอ จนนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองหลายครั้ง และลงเอยด้วยการรัฐประหารและการกบฏ อย่างน้อย 2 – 3 ครั้ง ที่ประชาชนในส่วนกลางและเขตเมืองที่ต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองจำนวนหลายแสนคนได้ออกมาชุมนุมประท้วงและเรียกร้อง จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่สำคัญ คือ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 17 – 20 พฤษภาคม 2535 และเหตุการณ์ตอนต้นปี 2549
การรัฐประหารและการกบฏเกิดขึ้นเฉลี่ย 4 ปีต่อครั้ง ผลสำคัญประการหนึ่งก็คือ ผู้นำทหารที่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายหลังการรัฐประหาร ตั้งแต่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มาจนถึง พล.อ.สุจินดา คราประยูร รวมทั้ง นายกรัฐมนตรี ‘นอมินี’ ฝ่ายพลเรือนหรือบุคคลภายนอก ที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งขึ้น เช่น นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายอานันท์ ปันยารชุน และพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ รวมแล้วสามารถอยู่ในตำแหน่งทางการเมืองมากกว่า 50 ปี ขณะที่นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง สามารถอยู่ในตำแหน่งรวมกันเพียงประมาณ 21 – 22 ปี
ผู้เขียนบทความนี้ คาดการณ์ว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเกิดรัฐประหารและการกบฏต่อไปได้อีก และสถิติต่าง ๆ ทางการเมืองของไทยตามที่กล่าวมาข้างต้นก็คงจะเพิ่มจำนวนสูงขึ้น รัฐธรรมนูญคงจะเป็นฉบับที่ 18 ในปี 2550 และอาจจะเป็นฉบับที่ 19 และ 20 ภายหลังการรัฐประหารที่อาจเกิดขึ้นอีกในช่วง 10 ถึง 15 ปีข้างหน้า
พิจารณาปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เดินวนเป็นวงจรการเมืองไทย พ.ศ.2475 – 2549 คำถามที่คนสนใจคล้ายคลึงกันมากที่สุด (common) ก็คือ “ทำไมจึงเป็นอย่างนี้” และอีกคำถามหนึ่งที่เกิดจากการคิดต่อก็คือ “ทำอย่างไรจึงจะหลุดพ้นวงจรอุบาทว์นี้ไปได้” ตัวอย่างเช่น ไมเคิล ไรท ถามและพยายามหาคำตอบหรือคำอธิบายว่า “ประชาธิปไตยไทยล้มลุกทำไม ? Why does Thai Democracy Falter” คุณสนิทสุดา เอกชัย ถามไว้ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ว่า “มีอะไรที่บกพร่องในระดับวัฒนธรรมของไทยหรือ ที่ทำให้เราไม่ลงเอยกับนักการเมืองขี้ฉ้อ ก็ต้องลงเอยกับเผด็จการทหาร...” โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ สงสัยว่า “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ?” เมื่อศึกษาข้อมูลประวัติศาสตร์รัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476 เปรียบเทียบกับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และนิธิ เอียวศรีวงศ์ ตั้งคำถามในเชิงค้านหรือไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารว่า “มังกุออกลูกเป็นมังกรหรือ”
สำหรับผู้เขียนบทความเองคิดว่า เราต้องมองสองส่วนประกอบกันและต้องมองความจริงของปรากฏการณ์ไปสู่องค์รวมของปัญหาและสาระความเป็นจริงทั้งหมด กล่าวคือ สภาพความเป็นจริงของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับความเป็นจริงของการเมืองไทยโดยรวม เพราะสองส่วนประกอบกันก็คือปัญหาการพัฒนาการเมืองประชาธิปไตยของไทย หรือความเป็นจริงของ ‘หนูติดจั่น’ หรือ ‘การหลงอยู่ในเขาวงกต’ ของสังคมไทย
การรัฐประหารของทหารกับการลงทุนซื้ออำนาจของนายทุน นักธุรกิจ อาจเปรียบเทียบได้กับ ‘ฆาตกรรมต่อเนื่อง’ นอกจากจะต้องค้นหาสาเหตุหรือแรงจูงใจของผู้กระทำหรือฆาตกรแล้วยังจะต้องแสวงหา หรือสร้างกลไกในการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นด้วย และเป็นความจำเป็นสูงสุดหรือเป็นเป้าหมายสูงสุดร่วมกันของสังคมไทยที่จะต้องมาร่วมมือกันทำ เพราะ “ฆาตกรรมต่อเนื่องทางการเมืองไทย” ทั้งโดยปืนและเงินมีผลร้ายต่อสังคมไทยทั้งหมด และเป็นผลยืดเยื้อหรือร้ายและรุนแรงกว่าฆาตกรรมต่อเนื่องของฆาตกรโรคจิตหลายพันเท่า เพราะสังคมไทยสูญเสียทั้งในเชิงเศรษฐกิจ และตัวเงิน สูญเสียโอกาสการพัฒนา สูญเสียความเชื่อมั่นทางการเมืองทั้งในและต่างประเทศ และสูญเสียด้านอื่น ๆ อีกมากมาย
ข้อเท็จจริงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
คณะรัฐประหารที่ตั้งชื่อว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรือ คปค.* ประกาศยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พรรคไทยรักไทย โดยอ้างเหตุผลสำคัญไว้ 3 – 4 ประเด็น คือ หนึ่ง การบริหารราชการแผ่นดินและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไร้ประสิทธิภาพจนประชาชนเสื่อมศรัทธา สอง เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบและเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องขึ้นอย่างกว้างขวาง สาม เกิดความขัดแย้งในมวลหมู่ประชาชน มีการปลุกปั่นให้แบ่งแยกเป็นฝักฝ่ายกลายเป็นวิกฤตการณ์รุนแรงทางสังคม และสี่ มีความหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจากกิจกรรมทางการเมืองในหลายโอกาส
คณะ ‘คปค.’ ที่ออกมาปรากฏตัวและแถลงการณ์ทาง ‘โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ’ ในเช้าวันที่ 20 กันยายน 2549 คือ พล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน ผู้บัญชาการทหารบก หัวหน้าคณะ พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ประธานที่ปรึกษาคณะ พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ รองหัวหน้าคณะ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก ผู้บัญชาการทหารอากาศ รองหัวหน้าคณะ และพล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รองหัวหน้าคณะ ยังได้ให้สัญญาไว้ว่า มุ่งมั่นจะสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยต่อไป โดยจะคืนอำนาจการปกครองประชาธิปไตยสู่ประชาชนโดยเร็วที่สุด
ข้อเท็จจริงของ ‘ฆาตกรรมต่อเนื่องทางการเมือง’ โดยปืนหรือ ‘จิตวิญญาณสถาบันทหารและข้าราชการ’ ครั้งนี้ ก็คือ การยุบเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ฉบับที่มีเนื้อหาสาระประชาธิปไตยมากที่สุดของไทยทิ้งไป ยุบเลิกวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี และศาลรัฐธรรมนูญ (ตามประกาศฉบับที่ 3) แต่งตั้งให้แม่ทัพภาคต่าง ๆ (1 – 4) มีอำนาจระงับ ปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อยในแต่ละพื้นที่ (คำสั่ง ฉบับที่ 3) ห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป (ประกาศฉบับที่ 7) ประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร และการควบคุมและจัดระเบียบทุกด้านในสังคมด้วยคำสั่งและประกาศอีกหลายฉบับ
ข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ต่าง ๆ ก่อนจะมาถึง 19 กันยายน 2549
เหตุการณ์สำคัญในยุค ‘ระบอบทักษิณ’ ระหว่าง พ.ศ.2544 – 2549 ที่กลายเป็นปมปัญหากระทบทุกส่วนของสังคมไทย จนนำไปสู่ความตึงเครียดของระบบการเมืองและกลายเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมือง ก็คือ
1. การก่อตั้งพรรคไทยรักไทยแล้วมีการชักชวน ‘กลุ่มการเมือง’ ที่เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่พยายาม ‘(ผูกขาด)’ ให้ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ และสังกัดอยู่ใน 7 – 8 พรรคเดิม คือ ประชาธิปัตย์ ชาติไทย ความหวังใหม่ ชาติพัฒนา เสรีธรรม กิจสังคม ประชากรไทย พลังธรรม และเอกภาพ และพรรคเล็ก ๆ บางพรรค เข้ามาสังกัดในพรรค จนมีผลให้บางพรรคต้องยุบเลิกไป และบางพรรคหมดศักยภาพทางการเมืองไปในทันที ประกอบกับการมี ‘ทุนการเมือง’ จำนวนมาก ทั้งจากครอบครัวและเครือญาติของหัวหน้าพรรค คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เอง และกลุ่มทุนจากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่หลายกลุ่ม เช่น เจริญโภคภัณฑ์ หรือ C.P. ของตระกูลเจียรวนนท์ ธุรกิจของตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ ตระกูลมาลีนนท์ ตระกูลโพธารามิก ตระกูลสิริวัฒนภักดี ใบหยก และลาภวิสุทธิสิน เป็นต้น เข้ามาร่วมดำเนินกิจกรรมทางการเมืองภายในพรรค รวมทั้งการพยายาม “สร้างภาพลักษณ์” ภาวะผู้นำทางการเมืองแนวใหม่ (new political leadership) ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ภายใต้แนวคิด “คิดใหม่ ทำใหม่” “การเมืองใหม่” และ “รวยแล้วจึงต้องการเสียสละเพื่อส่วนรวม” ทำให้ก่อเกิดพลังทางการเมืองขึ้นในทันทีทันใดและปรากฏชัดเจนในการเลือกตั้งทั่วไป 6 มกราคม 2544 ด้วยจำนวน ส.ส. เกือบ 250 คน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของ ส.ส. ทั้งสภา (500 คน) หลังการเลือกตั้งไม่กี่วัน พรรคเสรีธรรมที่มี ส.ส. 14 คน ก็ประกาศยุบรวมเข้ากับไทยรักไทย ในระยะต่อมา พรรคความหวังใหม่ก็ได้ ยุบรวมเข้ากับไทยรักไทยอีกหนึ่งพรรค และก่อนการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2548 พรรคชาติพัฒนาก็ยุบรวมเข้าอีกหนึ่งพรรค ขณะที่ความชื่นชอบของคนในชนบททางภาคเหนือและอีสานกระจายออกไปอย่างรวดเร็ว จากภาพลักษณ์ของผู้นำและนโยบายที่เรียกว่า “ประชานิยม” ที่พยายามกระจายงบประมาณบางส่วนให้ถึงคนชนบทโดยตรง
การเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากนักคิด นักวิชาการ และหนังสือพิมพ์อย่างกว้างขวางว่า ไม่ใช่แนวทางประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่เป็นการใช้เงินทุนมหาศาลครอบงำ ‘นักเลือกตั้ง’ ระบบหัวคะแนน และผู้มีสิทธิเลือกตั้งระดับล่าง (‘คนจน’ ที่นิยมเรียกว่า ‘รากหญ้า’ ในยุคนี้) และจะนำไปสู่ ‘เผด็จการทุนนิยมรัฐสภา’ เกิด ‘ระบอบทักษิณ’ และ ‘ระบอบเครือญาติและพวกพ้องทางการเมือง’ (crony politics) และกลายเป็นกระบวนการคอรัปชั่นทางการเมือง (political corruption) อย่างแยบยลและกว้างขวาง เพราะต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากอยู่ตลอดเวลา เพื่อเชื่อมโยงโครงสร้างทางการเมืองทุกส่วนให้โค้งงอเข้าหากันอยู่เสมอ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมทางการเมือง (political legitimacy) ที่ผู้นำระบอบสามารถนำไปกล่าวอ้างอิงให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ได้ทุกโอกาส อย่างน้อย ๆ ก็คือ ‘ปริมาณของคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง’ ‘จำนวนสมาชิกพรรค’ และ ‘จำนวน ส.ส.’
2. แนวคิดและพฤติกรรมทางการเมืองของผู้นำสูงสุด (supreme leader) คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เริ่มชัดเจนขึ้นเป็นลำดับว่า กำลังนำไปสู่ความขัดแย้งและแตกแยกขึ้นในสังคมไทยอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง และค่อนข้างจะขัดกับหลักการประชาธิปไตยสากล และแม้แต่เจตนารมณ์ของ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540
นอกจากจะกล่าวหาและใส่ร้ายนักคิด นักวิชาการ นักวิจารณ์ และหนังสือพิมพ์ ที่วิพากษ์วิจารณ์ตนเองว่าเป็นคนที่ไร้คุณค่าและเป็นพวกไม่รักชาติแล้ว ยังเรียกพวกก่อเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า “โจรกระจอก” และ “แรงมาก็แรงไป” ประกาศจะจัดสรรงบประมาณแผ่นดินลงในจังหวัดและเขตเลือกตั้งที่เลือกพรรคไทยรักไทยก่อน กล่าวหาและใส่ร้ายกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย’ ที่มีนายสนธิ ลิ้มทองกุล และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นแกนนำว่า ไม่รักชาติและล้มละลายทางสังคม กล่าวตอบโต้สหประชาชาติในบางกรณีว่า “ยู.เอ็น. ไม่ใช่พ่อ” รวมไปจนถึงการกล่าวพาดพิงถึงบุคคลสำคัญในสังคมไทยที่มีแนวคิดแตกต่างไปจากตน โดยใช้คำว่า “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” ที่พยายามกดดันให้ตนพ้นไปจากตำแหน่งทางการเมือง แต่ตนจะไม่ยอมเพราะเห็นว่าเป็นวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มักจะเดินทางไปพบปะประชาชนในภาคเหนือและอีสานมากกว่าทางภาคใต้ รวมทั้งช่วง 1 – 2 เดือน ก่อนจะเกิดรัฐประหาร มีการแต่งตั้ง ‘พวกพ้อง’ และคนใกล้ชิดตลอดจนเครือญาติของตนเองและพวกพ้องในพรรคเข้ารับตำแหน่งทั้งในทางการเมืองและในระบบราชการ ที่เป็นปัญหาขัดแย้งกับผู้นำทหารบางคนมาก ก็คือ การจัด ‘โผโยกย้ายทหาร’ โดยมีเพื่อนที่เรียนเตรียมทหารรุ่นเดียวกัน (ตท.10) เข้ารับตำแหน่งสำคัญโดยไม่คำนึงถึงระบบอาวุโส เปิดทางให้ตำรวจใช้ความรุนแรงหรือวิธีการ ‘วิสามัญฆาตกรรม’ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดตามนโยบาย ‘ทำสงครามกับยาเสพติด’ จนมีคนตายราว 2,500 – 3,000 คน และกรณีทหารใช้วิธีรุนแรงในเหตุการณ์ “มัสยิดกรือเซะ” และ “ตากใบ” รวมถึงการ ‘อุ้มฆ่า’ นายสมชาย ลีนะไพจิตร ทนายความเชื้อสายมุสลิมและผู้นำชุมชนและชาวบ้านที่ออกมาคัดค้านการดำเนินนโยบายของรัฐบาลหลายคน เช่น กรณีของ นายเจริญ วัดอักษร ที่ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น โดยไม่มีความคืบหน้ามากนักในกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย พฤติกรรมที่ส่อไปในทางไม่สุจริตก็มีหลายเรื่อง ตั้งแต่การซุกหุ้น ก่อนเข้ารับตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2544 และการเอื้อประโยชน์ต่อเครือญาติและพวกพ้องในพรรคไทยรักไทย แต่ที่ก่อให้เกิดกระแสคัดค้านรุนแรงก็คือ การขายหุ้น ‘ชินคอร์ป’ ให้กับกองทุนเทมาเส็ก ของสิงคโปร์ ที่ตกลงกันชัดเจนในวันที่ 23 มกราคม 2549 ที่มีมูลค่าสูงถึง 73,300 ล้านบาท โดยไม่มีการเสียภาษี โดยมีพฤติกรรมและกระบวนการทางการเมืองที่แยบยลและผ่านข้อบกพร่องของกฎหมายโดยไม่ติดขัด แม้ว่าจะเป็นพฤติกรรมที่ส่อเจตนาแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองและครอบครัวอย่างชัดเจน นอกจากนั้นก็คือ พฤติกรรมที่แยบยลและทำอย่างเป็นระบบในการแทรกแซงในองค์กรตรวจสอบที่ตั้งขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และในวุฒิสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการหาทางให้คนที่ใกล้ชิดหรือผู้ใต้อุปถัมภ์และพวกพ้องของตน และคนในพรรคไทยรักไทย สามารถเข้ารับตำแหน่งในองค์กรต่าง ๆ เหล่านั้น จนการลงมติต่าง ๆ ในเกือบทุกองค์กร เสียงข้างมากมักจะเอื้อไปในทางให้ประโยชน์กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ครอบครัว และพวกพ้องเกือบทั้งหมด เช่น คดีซุกหุ้น พ.ศ.2544 ชนะด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 7 ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และกรณีคัดเลือกคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) 7 คนในวุฒิสภา เกือบทั้งหมดเป็นคนใกล้ชิดและผู้ใต้อุปถัมภ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการจัด ‘ม็อบ’ จากหลายจังหวัดในภาคเหนือและอีสานมาเผชิญหน้า ‘ม็อบ’ คัดค้านในกรุงเทพมหานครหลายครั้ง นอกเหนือจากกลุ่มผู้สนับสนุนที่ออกมาชุมนุมต้านฝ่ายคัดค้านจนนำไปสู่เหตุรุนแรงอย่างต่อเนื่อง
3. การเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2548 การยุบสภา พ.ศ.2549 และการเลือกตั้งพรรคเดียว พ.ศ.2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศว่า ต้องการจำนวน ส.ส. อย่างน้อย 401 คนในการเลือกตั้งทั่วไป 6 กุมภาพันธ์ 2548 ซึ่งจะมีผลให้พรรคฝ่ายค้านไม่สามารถใช้สิทธิเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาตรา 185 และ 186 ได้เลย ด้วยความพร้อมในด้านผู้สมัคร กลไกพรรค เงินทุน ระบบหัวคะแนน และกลไกด้านการตลาด (การเมือง) รวมทั้งความนิยมชมชอบในตัวผู้นำของผู้มีสิทธิเลือกตั้งระดับรากหญ้าในเกือบทุกภาค ยกเว้นเพียงภาคใต้ ประกอบกับความต้องการนโยบาย ‘ประชานิยม’ ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเหล่านั้น พรรคไทยรักไทยจึงได้เปรียบพรรคคู่แข่งทุกพรรคและได้รับเลือกตั้งถึง 376 คน จากส.ส.ทั้งหมด 500 คน กระบวนการควบคุมและตรวจสอบการเลือกตั้งของ กกต. ชุดใหม่ที่มี พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ เป็นประธาน ยอมรับผลการเลือกตั้งเกือบทุกเขต โดยให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือให้ “ใบเหลือง” เพียงไม่กี่เขต* และไม่มีการตัดสิทธิ หรือให้ “ใบแดง” แก่ผู้สมัครคนใดเลย แม้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีการร้องเรียนและเปิดเผยเรื่องการทุจริตในหลายรูปแบบ รวมทั้งการซื้อเสียงจากหลายฝ่ายรวมทั้งสื่อมวลชน หรือแม้แต่ประชาชนเอง
ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป 6 กุมภาพันธ์ 2548 เพียง 1 ปี กับ 18 วัน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทยและนายกรัฐมนตรี ก็ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรและตกลงกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ ในวันที่ 2 เมษายน 2549 คือหลังจากการยุบสภาเพียง 37 วัน ประเด็นสำคัญก็คือ ทำไมต้องยุบสภาผู้แทนราษฎร ทั้ง ๆ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เคยกล่าวอย่างเชื่อมั่นมาหลายครั้งในช่วงก่อนหน้านี้ว่า “ยุบสภาเอาไว้ชาติหน้าตอนบ่าย ๆ”
สาเหตุสำคัญมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน เมื่อเกิดกลุ่ม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ระดมประชาชนในกรุงเทพมหานครและเขตเมือง ตลอดจนผู้คนที่ไม่พอใจแนวคิดและแนวทางการบริหารงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกมาชุมนุมประท้วง ครั้งใหญ่หลายครั้ง เพื่อขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะมีพฤติกรรมส่อไปในทางคอรัปชั่นและเอื้อประโยชน์กับธุรกิจของตระกูลตนเองและพวกพ้องในพรรคไทยรักไทย โดยความรู้สึกและความไม่พอใจนี้ ค่อย ๆ สะสมมาที่ละเล็กละน้อย ตั้งแต่มีการเปิดเผยการทุจริตของคนสำคัญในพรรคไทยรักไทยที่มีตำแหน่งทางการเมือง ที่สำคัญก็คือ กรณีของนายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา และธุรกิจของครอบครัว กรณีที่ก่อกระแสความไม่พอใจรุนแรงต่อคนจำนวนมาก ก็คือ กระบวนการขายหุ้นชินคอร์ปให้กับกองทุน เทมาเส็กของสิงคโปร์ มูลค่า 73,300 ล้านบาท ที่ตกลงกันได้ในขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 เมื่อเกิดกระแสต่อต้านจากสังคม ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ พรรคไทยรักไทยและพวกพ้องของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ออกมาตอบโต้ในทุกรูปแบบ ตั้งแต่กล่าวหาใส่ร้าย การจัดม็อบออกมาเผชิญหน้า การฟ้องร้องคดีต่อศาลและเรียกค่าเสียหายหลายร้อยล้านบาทในคดีแพ่ง การใช้เสียงข้างมากลงมติไว้วางใจรัฐมนตรีที่ถูกเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา ไปจนถึงการใช้อิทธิพลทางการเมืองผ่านวุฒิสภา องค์กรตรวจสอบ ต่าง ๆ เจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงานราชการที่อยู่ใต้อุปถัมภ์ และอิทธิพลทางธุรกิจในด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างสงครามจิตวิทยาและกดดันให้ฝ่ายต่อต้านไม่สามารถสร้างกระแสสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กระแสต่อต้านได้ทวีความเข้มแข็งขึ้นเป็นลำดับ จนถึงขั้นที่ผู้คนหลายฝ่าย รวมทั้งคนไทยในต่างประเทศได้ออกมาแสดงท่าทีเปิดเผยต่อการไม่ยอมรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จนทำให้ม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีพลังเข้มแข็งและมีความชอบธรรมทางการเมืองมากเพียงพอที่จะท้าทายการใช้อำนาจทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาลได้
หลังจากออกพระราชกฤษฎีกายุบสภา วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 สถานการณ์ทางการเมืองยิ่งบีบรัด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทยมากยิ่งขึ้น เพราะพรรคการเมืองที่มีเงินทุนและผู้สมัครที่มีศักยภาพจะแข่งขันได้บ้าง คือ ประชาธิปัตย์ ชาติไทย และมหาชน ยังชิงความได้เปรียบทางการเมือง ด้วยการวางเงื่อนไขให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหลักสำคัญหลังจากการเลือกตั้ง หลังจากนั้นจึงยุบสภาและเลือกตั้งใหม่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อทางพรรคไทยรักไทยปฏิเสธ ทั้งสามพรรคดังกล่าวจึงประกาศไม่เข้าร่วมการเลือกตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้หันไปจูงใจพรรคที่ปราศจากเงินทุนและขาดตัวบุคคลที่มีศักยภาพเพียงพอในการแข่งขันที่เรียกกันว่า “พรรคเล็ก” ทั้งหลาย จำนวนเกือบ 20 พรรค ให้เข้าไปร่วมในการเลือกตั้งแทน จนนำมาสู่การเปิดเผยข้อมูลของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในเวลาต่อมาว่า พรรคไทยรักไทยให้เงิน ‘จ้าง’ พรรคเล็กส่งผู้สมัครเข้าแข่งขัน เพื่อหลีกเลี่ยงเงื่อนไขกฎหมายเลือกตั้ง ที่ผู้สมัครต้องได้คะแนนเสียงถึงร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในกรณีที่ไม่มีผู้สมัครแข่งขัน แต่ที่เห็นถึงความลำเอียงและเป็นพฤติกรรมบิดเบือนเจตนารมณ์การตรวจสอบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มากที่สุด ก็คือ การทำงานของ กกต. เพราะพยายามจะทำให้พรรคไทยรักไทยและพรรคเล็กได้จำนวน ส.ส.ครบ 400 ที่นั่ง ในระบบเขตเลือกตั้งให้ได้ โดยไม่สนใจการทุจริต คดโกงการเลือกตั้ง และการละเมิดกฎหมายที่เกิดขึ้นในหลายรูปแบบด้วยการประกาศจัดการเลือกตั้งขึ้นในเขตที่ยังไม่ได้ ส.ส.อีก 2 – 3 ครั้ง หลังจากการเลือกตั้งทั่วไป 2 เมษายน 2549 จนนำมาสู่ความเอือมระอาของสังคมต่อตัวตนที่แท้จริงของ “ระบอบทักษิณ”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงรับสั่งกับตุลาการศาลปกครองสูงสุดและผู้พิพากษาประจำศาลฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม ที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 เกี่ยวกับวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนั้น โดยอาจแยกสาระสำคัญออกได้เป็น 3 ประเด็น คือ หนึ่ง การปกครองระบอบประชาธิปไตยกำลังประสบปัญหาวิกฤตที่สุดในโลกเพราะการเลือกตั้ง (2 เมษายน 2549) ไม่เป็นประชาธิปไตย สอง กรณี มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540* พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทำอะไรได้ตามใจชอบเพราะอาจจะเกินหน้าที่และไม่เป็นประชาธิปไตย และสาม ขอให้ 3 ศาล คือ ศาลปกครอง ศาลยุติธรรม และศาลรัฐธรรมนูญ ปรึกษากันและปรึกษากับฝ่ายปกครองประเทศเพื่อหาทางทำให้บ้านเมืองปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ พระองค์ได้ทรงตรัสคำว่า “ประชาธิปไตย” นับรวมกันได้ถึง 12 ครั้ง
ในระหว่างนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศผ่านทางสื่อมวลชนว่า จะขอยุติการทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี (“เว้นวรรค”) โดยมอบอำนาจให้ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่แทน แต่ต่อมาไม่นาน ก็กลับเข้ามารับหน้าที่อีก หลังจากที่ศาลฎีกาได้ทำการสรรหา กกต. ชุดใหม่ตามกลไกรัฐธรรมนูญ และเริ่มเตรียมการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ที่ประกาศให้มีขึ้นในวันที่ 15 ตุลาคม 2549 จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า กกต. ชุดเดิมที่มีพล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ เป็นประธาน ได้จัดการเลือกตั้งโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษา กรณีที่ นายถาวร เสนเนียม สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ยื่นฟ้องว่า กกต. ปฏิบัติหน้าที่โดย มิชอบว่า กกต. จัดการเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรมจริง จึงพิพากษาให้จำคุก พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต. และกกต.อีก 2 คน คือ นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และนายวีระชัย แนวบุญเนียร คนละ 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคนละ 10 ปี รวมทั้งไม่ให้มีการประกันตัวด้วย แรงกดดันจากการถูกจำคุก 2 – 3 คืน ทำให้ทั้งสามคนต้องเขียนใบลาออกจากตำแหน่งในที่สุด
ปัญหาของปัญหาวงจรเผด็จการอำนาจนิยม : ความไม่เป็นประชาธิปไตย
ถ้าพิจารณาเฉพาะกรณีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ปัญหาของความเป็นประชาธิปไตย ก็คือ การใช้วิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย (undemocratic means) ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และเข้าสู่อำนาจทางการเมือง คณะรัฐประหารบางยุค เช่น สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้น ประกาศชัดเจนเลยว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวทางประชาธิปไตยตะวันตก ในยุคหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คณะรัฐประหารแสดงท่าทีเห็นด้วยกับแนวทางประชาธิปไตย หลังการรัฐประหารจึงสนับสนุนให้เกิดสถาบันทางการเมืองประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่ ทั้งรัฐธรรมนูญ รัฐสภา พรรคการเมือง และการเลือกตั้ง คณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หรือ คปค. (คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ประกาศว่า “ต้องถอย 1 ก้าว เพื่อจะก้าวเดินไป ข้างหน้าอีกหลายก้าว” นั่นคือ เห็นด้วยกับแนวทางประชาธิปไตย แต่ปัญหาของเผด็จการทหารก็คือ การใช้วิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
คำถามตรง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของปัญหาวงจรเผด็จการอำนาจนิยม ก็คือ จะเป็นไปได้หรือที่จะสร้างประชาธิปไตยขึ้นมาจากวิธีการใช้กำลังคน อาวุธ และกลไกระบบราชการล้มล้างสถาบันทางการเมืองเดิม รวมทั้งกลุ่มชนชั้นนำที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความขัดแย้งรุนแรงจนเกิดวิกฤต
มุมมองด้านหนึ่งที่มองโลกในแง่ดีสุดขั้ว และอาจแฝงด้วยความลำเอียงอยู่ด้วย เห็นว่า ดีกว่าการปล่อยให้เผด็จการพลเรือนเสียงข้างมากในรัฐสภากอบโกยโกงกิน และสร้างปัญหานานาประการ รวมทั้งความแตกแยกและแตกสามัคคีของคนในชาติ และถ้าร่วมมือกันจริง ๆ ก็สามารถจะพัฒนาการเมืองประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่ได้
อีกมุมมองหนึ่ง ต่างออกไปสุดขั้ว และอาจแฝงด้วยความรังเกียจการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองของทหารและระบบราชการ เห็นว่า การใช้วิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ((undemocratic means) แก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ วิธีการรัฐประหาร ไม่สามารถนำไปสู่การสร้างประชาธิปไตยได้เลย เพราะนอกจากจะเป็นการทำลายหรือสกัดกั้นกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยแล้ว ยังเป็นการผลิตซ้ำวัฒนธรรมเผด็จการ (ทหาร) ให้ตราตรึงลงในกระแสเลือด การเมืองของคนไทยอีกด้วย ตัวอย่างหรือข้อเท็จจริง ก็คือ ‘วงจรอุบาทว์’ ของการเมืองไทย ตลอด 74 ปี ระหว่าง พ.ศ.2475 – 2549
ปัญหาวงจรเผด็จการอำนาจนิยมจึงได้แก่ การเป็นอุปสรรคสำคัญของกระบวนการ พัฒนาประชาธิปไตย เพราะแม้ว่าจะมองโลกในด้านดีเพียงใด การรัฐประหารก็มีผลโดยตรงต่อการชะงักงันของกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย และเน้นย้ำว่ากระบวนการทางการเมืองที่ผ่านมา ตั้งแต่การลงทุนสร้างรัฐธรรมนูญ การออกพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง กระบวนการนิติบัญญัติ การบริหาร ตุลาการ และแม้แต่องค์กรตรวจสอบทางการเมืองต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามเงื่อนไขของ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ฉบับที่ถือกันว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ก็ไม่สามารถพัฒนาประชาธิปไตยได้ และอาจกดทับย้ำลึกลงไปอีกว่า ประชาธิปไตยไม่มีจริง หรือในด้านตรงกันข้ามก็คือ วิธีการรัฐประหารหรือระบอบเผด็จการทหารเท่านั้นคือทางออกที่เหมาะสมที่สุดในการแก้ไขวิกฤตการณ์การเมืองไทย
ปัญหาของปัญหาวงจรเผด็จการอำนาจนิยมในระดับพื้นฐานจริง ๆ ก็คือ วิธีคิด และวิธีการที่เห็นได้จากข้อเท็จจริงกับการสร้างอุดมคติขึ้นมาแล้วใช้กลไกการสื่อสารของรัฐ ชักจูง และโน้มน้าวให้ประชาชนคิดไปในกรอบเดียวกันว่า จะนำไปสู่การสร้างสรรค์ประชาธิปไตยต่อไป อุดมคติเชิงมายาคติดังกล่าวนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญ 2 ส่วน หนึ่ง คือความชอบธรรมทางการเมือง และสอง การทำลายความน่าเชื่อถือหรืออุดมคติประชาธิปไตยของระบอบเดิม
ความไม่เป็นประชาธิปไตยจึงปรากฏอยู่ในสาระความเป็นจริงของระบบการเมืองไทยภายใต้โครงสร้างที่ทหารและระบบราชการมีอิทธิพลอย่างกว้างขวางต่อทุกกลไกรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อการผลิตและตอกย้ำอุดมการณ์ “ชาติ” ให้มีคุณค่าเหนือกว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตย จนสามารถมีความชอบธรรมในการใช้กำลังคน อาวุธ และความรุนแรงเข้าสลายสถานการณ์ที่อ้างว่า ‘วิกฤต’ และ ‘ตึงเครียด’ ได้
วงจรรัฐประหารจึงหมายถึง วงจรเผด็จการที่หล่อเลี้ยงไว้ด้วยวัฒนธรรมอำนาจนิยม (authoritarian culture) โดยพยายามสร้างและรักษาความชอบธรรมทางการเมืองจากความอ่อนแอและขาดประสิทธิภาพของรัฐบาลที่ถูกล้มเลิกไป การรัฐประหารหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้พยายามอ้างอุดมคติประชาธิปไตยมาเสริมสร้างความชอบธรรมทางการเมืองด้วย ทำให้การอยู่ในอำนาจของคณะรัฐประหารมีช่วงเวลาสั้นลงตามลำดับ และมีความพยายามปรับเปลี่ยนวิธีการให้หลากหลายเข้ากับสภาพแวดล้อมทางด้านต่าง ๆ มากขึ้น แต่เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเอื้ออำนวยจากความอ่อนแอและขาดประสิทธิภาพของสถาบันการเมืองประชาธิปไตยทั้งหลาย รวมทั้งพฤติกรรมคอรัปชั่นของ
นักการเมือง วงจรรัฐประหารก็ฉวยโอกาสกลับมาได้เสมอ ซึ่งสามารถเขียนเป็นแผนผังของวงจรความไม่เป็นประชาธิปไตยของการเมืองไทยในอีกมิติหนึ่งได้ดังนี้
สรุปประเด็นปัญหาการพัฒนาประชาธิปไตยไทย
1. ปัญหาจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คือความไม่เป็นประชาธิปไตย จึงเป็นสาเหตุที่ไม่อาจจะนำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยตามที่อ้างไว้ในการยึดอำนาจได้ ความไม่เป็นประชาธิปไตยของ คปค. มาจากพื้นฐานของวิธีคิดและการใช้วิธีการที่ขัดแย้งกับประชาธิปไตย ที่เกิดมาจากวัฒนธรรมอำนาจนิยม การกล่าวอ้างถึงหลักการประชาธิปไตยจึงเป็นเพียงอุดมคติเฉพาะกิจเพื่อเพิ่มฐานความชอบธรรมให้กับอำนาจใหม่
วิธีการทางการเมือง ของ คปค.ก็คือ ‘อำนาจคือธรรม’ (Might is right) ซึ่งเป็นคนละขั้วกับ ‘ธรรมคืออำนาจ’ หรือ ‘หลักนิติธรรม’ (Rule of law) ตามแนวทางประชาธิปไตย แน่นอนว่า “ระบอบทักษิณ” ไม่ได้เป็นไปในแบบขั้วประชาธิปไตย เพราะยึดถือคุณค่าเดียวกับ คปค. เพียงแต่ใช้เงินซื้ออำนาจ ขณะที่ คปค. ให้ปืนบังคับเอาอำนาจ (มาจากเงินและ/หรือมาจากประชาชนนั่นเอง)
เหตุนี้ ทั้ง คปค.และระบอบทักษิณ จึงมีทั้งด้านที่ผิดและถูก ด้านที่ถูกก็คือ ประชาธิปไตย อำนาจมาจากประชาชน ระบอบทักษิณใช้วิธีซื้อมาและพยายามจะผูกขาด คปค.เอาปืนไปจี้มาจากระบอบทักษิณ (เงิน) แล้วรีบคืนกลับไปให้ประชาชน โดยมีเงื่อนไขหลายอย่าง เห็นได้จากพฤติกรรมการใช้อำนาจหลังจากได้อำนาจมาแล้ว และการวางเงื่อนไขไว้ใน ‘กติกา’ คือรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง ด้านที่ผิดคือ วิธีการทางการเมืองที่ให้ได้อำนาจมา คือการใช้ปืนและเงินล้วนสร้างปัญหาต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยทั้งคู่ แม้ว่าอาจจะมีมิติของปัญหาแตกต่างกันอยู่มาก ก็ตาม
2. วงจรอุบาทว์ วงจรความขัดแย้งทางอำนาจ อิทธิพล และผลประโยชน์ระหว่างชนชั้นนำทางการเมือง (political elites) สองกลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มที่มีปืนและควบคุมบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มธุรกิจนายทุนที่ถือเงินทุน และฐานรากกลุ่มการเมืองใต้อุปถัมภ์ โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นเพียงเสมือน “ผู้ดู” หรือไม่มีส่วนร่วมตัดสินใจในการเลือกวิธีการแก้ปัญหา เพราะว่าไม่มีพลังทางการเมืองมากเพียงพอ จากพื้นฐานความอ่อนแอของวัฒนธรรมประชาธิปไตยของสังคม ประกอบกับการให้คุณค่ากับการเมืองของ ‘เจ้านาย’ หรือชนชั้นนำ ตามพื้นฐานทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมศักดินาและอุปถัมภ์ คนไทยจำนวนไม่น้อย รวมทั้งผู้ที่ออกมาชุมนุมประท้วงรัฐบาลและผู้นำที่ตนไม่ชอบ จึงพอใจเพียงการเลือกฝ่ายทางการเมืองหรือกลุ่มชนชั้นนำ โดยไม่ได้ยึดถือหรือศรัทธาหลักการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ภายหลังเกิด คปค. สถานการณ์ทางการเมืองได้ยืนยันถึงความเป็นจริงในข้อนี้ และเป็นเช่นนี้มาโดยตลอด
ประเด็นปัญหาในภาพรวม ก็คือ นอกจากปืนและเงิน ที่มีวิธีคิดและวิธีการเข้าสู่อำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และนำมาสู่การล้มล้างกันหลายต่อหลายครั้งแล้ว ตราบใดที่ภาคสังคมยังคงมีพื้นฐานวัฒนธรรมประชาธิปไตยไม่เข้มแข็ง วงจรอุบาทว์ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในอนาคตการเมืองไทย
3. การขาดดุลยภาพระหว่างแนวคิดและสถาบันทางการเมืองแบบเก่ากับใหม่ กล่าวคือ ระหว่างแนวคิดและสถาบันอำมาตยาธิปไตยกับสถาบันการเมืองประชาธิปไตย ที่พยายามสร้างขึ้นมาตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 แต่มักจะเบี่ยงเบนไปสู่แนวคิดและแนวทางสถาบันธนาธิปไตยมากกว่า
แนวคิดและแนวทางการเมืองของผู้นำกองทัพและระบบราชการทหารยังคงยึดถือเอาอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นเป้าหมายหลักมากกว่าประชาธิปไตย พฤติกรรมของคนเหล่านี้จึงพยายามสร้างและรักษาสถาบันอำมาตยาธิปไตยไว้และใช้เป็นเครื่องมือเข้ามาสร้างอิทธิพลทางการเมืองทั้งโดยตรงและโดยอ้อมมาทุกยุคทุกสมัย รวมทั้งการใช้กลไกรัฐและหน่วยงานราชการเพื่อสร้างอิทธิพลทางการเมือง และสร้างความชอบธรรมในการเข้าไปแทรกแซงทางการเมืองในวิธีการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้วยการรัฐประหาร
แนวคิดและสถาบันทางการเมืองประชาธิปไตยทั้งหลาย คือ รัฐธรรมนูญ กลุ่มผลประโยชน์ พรรคการเมือง รัฐสภา รัฐบาล และการเลือกตั้ง มักสร้างขึ้นอย่างฉุกละหุก และมักมีลักษณะการจัดโครงสร้างองค์กรอย่างเป็นทางการคล้ายคลึงกับระบบราชการ แต่มีขนาดเล็กกว่าและไม่มีความเป็นกลุ่มก้อนที่เข้มแข็งเพียงพอ ส่วนใหญ่จึงอ่อนแอ ขาดประสิทธิภาพในการทำงาน และได้รับการสนับสนุนจากประชาชนต่ำ กลุ่มผลประโยชน์ที่เข้มแข็งมากที่สุดนอกจากหน่วยงานราชการแล้ว ก็คือ กลุ่มธุรกิจและนายทุนจำนวนน้อย การจัดตั้งพรรคของคนเหล่านี้จึงเป็นกิจกรรมเฉพาะกิจและมุ่งหวังใช้พรรคเป็นเครื่องมือเข้าสู่อำนาจทางการเมืองเป็นหลัก จึงไม่อาจสร้างฐานการสนับสนุนในภาคสังคมได้อย่างแท้จริง
ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนักการเมืองจากการเลือกตั้งกับฝ่ายทหารและข้าราชการจึงไม่อาจเกิดดุลยภาพได้ในระยะยาว เพราะความขัดแย้งทางความคิดและผลประโยชน์ ความอ่อนแอของแนวคิดและสถาบันทางการเมืองประชาธิปไตยจึงกลายเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาประชาธิปไตยไทย
คำถามและประเด็นปัญหาสำคัญที่ต้องคิดกันต่อไป
1) ลักษณะสำคัญของแบบแผนการเมืองไทย “ปืน – เงิน – ปืน” โดยปราศจากคุณค่าของ “คน” คืออะไร
2) สาเหตุหรือปัจจัยสำคัญต่าง ๆ ที่นำไปสู่แบบแผนการเมือง ‘วงจรอุบาทว์’ ที่ขัดขวางการพัฒนาประชาธิปไตยคืออะไรบ้าง แต่ละปัจจัยมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันหรือไม่ อย่างไร
3) จะ (แก้ไข) เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขที่เป็นสาเหตุนำไปสู่วงจรอุบาทว์ทางการเมืองได้หรือไม่ อย่างไร หรืออีกนัยหนึ่งคือ จะขจัดตัวปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยได้หรือไม่
ถ้าคำตอบคือ ได้ หรืออาจจะได้ คำถามต่อไปที่ค่อนข้างยากและท้าทายสติปัญญาคนไทยมาเกือบ 8 ทศวรรษแล้วก็คือ
4) จะแก้ไขหรือจะเปลี่ยนแปลงไปสู่แนวทางประชาธิปไตยได้อย่างไร (how to change)
คำถามเหล่านี้เกิดมาจากสภาพความเป็นจริงของปัญหาการพัฒนาประชาธิปไตยไทย จึงสามารถจะหาคำตอบได้ไม่มากก็น้อย หวังอย่างยิ่งว่าจะมีการแสวงหาคำตอบกันต่อไป ผู้เขียนเองก็จะพยายามหาคำอธิบายที่จะทำให้เข้าใจและหาทางออกในทางใดทางหนึ่งในโอกาสต่อไป
บรรณานุกรม
ชัยอนันต์ สมุทวณิช. ไตรลักษณรัฐกับการเมืองไทย. กรุงเทพมหานคร : บริษัทสุขุมและบุตร จำกัด,2538.
พิทยา ว่องกุล. บรรณาธิการ.ประชาธิปไตยโดยตรงสู้ทรราชรัฐสภา.กรุงเทพมหานคร: บริษัทอัมรินทร์ พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2543.
รุ่งพงษ์ ชัยนาม และคณะ. คณะบรรณาธิการ. 20 ปีรัฐศาสตร์ มสธ. รวมบทความวิชาการรัฐศาสตร์. กรุงเทพหานคร: พิมพ์อักษร, 2545.
สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์. การพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองไทย.กรุงเทพมหานคร: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2542.
Tansey, D. Stephen. Politics: The Basics. 3 rd edition. New York: Routledge, 2004.