ผลต่างระหว่างรุ่นของ "15 ธันวาคม พ.ศ. 2515"
ลไม่มีความย่อการแก้ไข |
ลไม่มีความย่อการแก้ไข |
||
บรรทัดที่ 1: | บรรทัดที่ 1: | ||
'''ผู้เรียบเรียง''' | '''ผู้เรียบเรียง''' ศาสตราจารย์(พิเศษ) นรนิติ เศรษฐบุตร | ||
---- | ---- |
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:34, 6 กันยายน 2556
ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์(พิเศษ) นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2515 เป็นวันประกาศใช้กติกาการปกครองประเทศ ฉบับที่ 9 ที่เรียกว่า ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มีอยู่อย่างสั้น ๆ ว่า เมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร กับคณะยึดอำนาจโดยกำลัง ล้มรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 แล้ว ท่านกับคณะก็อาศัยความใจกล้าปกครองบ้านเมืองต่อมาโดยไม่ออกรัฐธรรมนูญมาใช้จึงเป็นการปกครองที่ปราศจากรัฐธรรมนูญอยู่ประมาณปีกว่า
การปกครองหลังยึดอำนาจแล้วโดยไม่มีรัฐธรรมนูญ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เคยทำมาก่อนแล้วตั้งแต่ยึดอำนาจล้มรัฐธรรมนูญ เมื่อ พ.ศ. 2501 ครั้งนั้นปกครองโดยไม่มีรัฐธรรมนูญอยู่ประมาณ 90 วัน ที่จัดการปกครองโดยไม่มีรัฐธรรมนูญหรือธรรมนูญการปกครองนานอย่างนั้น มีคนบอกว่าเป็นเพราะจอมพลถนอม กิตติขจร กับคณะมีความมั่นใจในอำนาจของตนและคณะมากเกินไป
หากเราไปอ่านดูธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 ฉบับนี้ก็จะทราบได้ว่าคณะทหารที่ยึดอำนาจดูจะไม่เร่งรัดในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวรออกมาใช้อย่างจริงจัง
ที่เป็นดังนี้ก็ขอให้อ่านดูมาตรา 10 และมาตรา 11 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร
“มาตรา 10 คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ”
การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญต้องกระทำเป็นสามวาระ........
การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามให้ใช้วิธีเรียกชื่อและต้องมีเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด
การประชุมตามความในวรรคสาม ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม .............”
“มาตรา 11 ในกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่หนึ่งหรือวาระที่สาม ให้คณะรัฐมนตรีเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติไม่ให้ความเห็นชอบ..............”
การที่กำหนดไว้ดังนี้มีผู้วิจารณ์ว่ารัฐบาลคงต้องการให้รัฐธรรมนูญเสร็จล่าช้า ผู้วิจารณ์ท่านนี้เขียนไว้ในบทกฎหมายและเอกสารสำคัญในทางการเมืองของประเทศไทย ของศาสตราจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม ดังนี้
“วิธีที่มีบัญญัติไว้เช่นนี้คงต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญได้ช้า ไม่เป็นไปโดยเร็วได้ เพราะต้องการให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอก่อน “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” จึงจะพิจารณาได้ (การปฏิบัติที่เคยมีมาแต่ก่อน ๆ นั้น คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว และก็ใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์เป็นอย่างช้า แต่ไม่ถึงกับที่จะต้องมีรัฐธรรมนูญบัญญัติบังคับเอาไว้) เสียงของสมาชิกที่เห็นด้วยในร่างรัฐธรรมนูญต้องมีถึง 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด และองค์ประชุมต้องมีไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด และถ้าร่างรัฐธรรมนูญนี้ต้องตกไป ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งดังกล่าวแล้วก็ต้องเริ่มร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่และอาจจะเวียนเริ่มต้นกันใหม่ไปเรื่อย ๆ ได้”
ความจริงที่ปรากฏต่อมาก็เป็นไปอย่างที่ผู้วิจารณ์คาดคะเน เพราะเวลาผ่านมาอีกเกือบ 10 เดือน การร่างรัฐธรรมนูญก็ยังไม่เสร็จ จนเป็นเหตุให้นักศึกษา อาจารย์ และประชาชน ออกมาเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญจนมีการจับกุมอาจารย์ นักศึกษา และประชาชนจำนวน 12 คน ต่อมาได้ไปค้นบ้านและจับนายไขแสง สุกใส อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มอีก 1 คน ในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2516
จนเป็นเหตุให้มีการประท้วงของนักศึกษาและประชาชนที่ใหญ่มาก และนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่แสดงถึงการเรียกร้องและต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของนักศึกษาและประชาชน จนล้มรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ลงได้
อันรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2515 นี้ ที่จริงเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่สำคัญอะไรมากแก่ระบอบประชาธิปไตย เพราะให้อำนาจมากแก่รัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีมาตรา 21 ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีที่จะสั่งการอะไรก็ได้ เพราะมีกำลังหนุนหลัง แต่ท้ายที่สุดเมื่อถูกประท้วง มาก ๆ และใช้อำนาจตามมาตรา 21 แล้ว ประชาชนไม่เกรงกลัวรัฐบาลที่คิดว่ามีอำนาจมากก็อยู่ไม่ได้