ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ที่มาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550"
ลไม่มีความย่อการแก้ไข |
ลไม่มีความย่อการแก้ไข |
||
บรรทัดที่ 209: | บรรทัดที่ 209: | ||
สรุปข้อมูลสถิติการใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ว. 2 มีนาคม 2551 Retrieved from URL http://www.ect.go.th/newweb/upload/cms07/download/408-7796-0.pdf | สรุปข้อมูลสถิติการใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ว. 2 มีนาคม 2551 Retrieved from URL http://www.ect.go.th/newweb/upload/cms07/download/408-7796-0.pdf | ||
[[หมวดหมู่:สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร]] | [[หมวดหมู่:สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร]] |
รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 10:16, 11 ธันวาคม 2555
ผู้เรียบเรียง นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 480 คน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 400 คน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนจำนวน 80 คน (มาตรา 93)
(1)การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 400 คน โดยกำหนดให้มีเขตเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด ซึ่งแต่ละเขตเลือกตั้งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้เขตละ 3 คน หรือน้อยกว่านั้นในกรณีที่เขตนั้นมีจำนวน ประชากรน้อย โดยที่ประชาชนมีสิทธิลงคะแนนเสียงได้ตามจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่มีในเขตนั้น ๆ ส่วนวิธีการคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 94) ต้องคำนวณจากจำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง เฉลี่ยด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
- (1)จังหวัดใดมีจำนวนราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎร: สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คน ให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ 1คน
- (2)จังหวัดใดมีราษฎรเกินเกณฑ์จำนวนราษฎร:สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คน ให้มี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คน เพิ่มอีก 1 คนทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์
- (3) หากจำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยังไม่ครบ 400 คน ให้จังหวัดที่มีเศษเหลือจากการคำนวณมากที่สุดมี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพิ่มอีก 1 คน หากยังไม่ครบก็ให้จังหวัดที่มีเศษเหลือจากการคำนวณลำดับรองลงมาตามลำดับจนครบจำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 400 คน
ทั้งนี้ พรรคการเมืองจะต้องส่งสมาชิกเข้าเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งให้ครบจำนวนสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร ที่จะมีได้ในเขตนั้น และจะส่งได้ไม่เกินจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่จะพึงมีในเขตการเลือกตั้งนั้น ๆ เช่นกัน ทั้งนี้เมื่อพรรคการเมืองใดส่งสมาชิกเข้าสมัครรับเลือกตั้งแล้ว จะถอนการสมัครหรือเปลี่ยนแปลงผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ (มาตรา 103) เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากกรณีที่ในระหว่างการเลือกตั้งมีพรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งถอนการสมัครออก ทำให้ไม่อาจจัดการเลือกตั้งได้หรือเป็นการช่วยเหลือพรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งอื่นได้ประโยชน์
2) การเลือกตั้งแบบสัดส่วน เป็นการเลือกตั้งโดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบบัญชีรายชื่อที่เรียกว่า บัญชีสัดส่วน มีจำนวนสมาชิก 80 คน จาก 8 เขตเลือกตั้งซึ่งจัดตามกลุ่มจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกันและมีจำนวนราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งรวมกันแล้วใกล้เคียงกัน โดยที่แต่ละเขตเลือกตั้งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 10 คน(มาตรา 96) ตามบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้น ซึ่งรายชื่อตามบัญชีรายชื่อของพรรคต้องไม่ซ้ำกับรายชื่อของผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบสัดส่วนไม่ว่าของพรรคการเมืองใด และต้องคำนึงถึงโอกาส สัดส่วนที่เหมาะสมและความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชาย(มาตรา 97) โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกพรรคการเมืองที่จัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นได้หนึ่งเสียงพรรคการเมืองหนึ่งจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบสัดส่วนทุกเขตเลือกตั้งหรือจะส่งเพียงบางเขตเลือกตั้งก็ได้ (มาตรา 94)
ตารางแสดงกลุ่มจังหวัดในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน
กลุ่มจังหวัด | รายชื่อจังหวัด |
---|---|
1 | แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร |
2 | อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น |
3 | อำนาจเจริญ มุกดาหาร นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย |
4 | บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด |
5 | สระแก้ว นครราชสีมา ปทุมธานี นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด |
6 | กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ |
7 | ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สระบุรี |
8 | สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส |

ทั้งนี้ บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบสัดส่วนของพรรคการเมืองใดที่ได้ยื่นไว้แล้ว ถ้าปรากฏว่าก่อนหรือในวันเลือกตั้งมีเหตุไม่ว่าด้วยประการใดที่มีผลทำให้บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นมีจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบสัดส่วนไม่ครบตามจำนวนที่พรรคการเมืองนั้นได้ยื่นไว้ ให้ถือว่าบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นมีจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบสัดส่วนเท่าที่มีอยู่ และในกรณีนี้ให้ถือว่าสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่าที่มีอยู่(มาตรา 95) โดยใช้หลักการคำนวณให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับในเขตเลือกตั้งนั้นมารวมกัน แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมือง เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวมข้างต้น คะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ และจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนที่จะพึงมีได้ในเขตเลือกตั้งนั้น โดยให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งมีรายชื่อในบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตามเกณฑ์คะแนนที่คำนวณได้ เรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (มาตรา 98) ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้เป็นผลให้ในการลงคะแนนเสียงของประชาชนนั้น ประชาชนมีสิทธิลงคะแนนในบัตรเลือกตั้งสองรูปแบบ บัตรแรกเป็นบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต ส่วนบัตรที่สองเป็นบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน

ตัวอย่างบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตและแบบสัดส่วน
คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 101) ซึ่งจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
- (1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
- (2) อายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
- (3) เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวเป็นเวลาติดต่อกัน
ไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภา ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 30 วันนับถึงวันเลือกตั้ง
- (4) ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย
- - มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
- - เป็นบุคคลซึ่งเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง
- - เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีการศึกษา
- - เคยรับราชการหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี
- - ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบสัดส่วนต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งตาม
- - คุณสมบัติอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
เจตนารมณ์ของการแก้ไขคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
(1) ไม่ระบุคุณวุฒิทางการศึกษา เพื่อให้บุคคลในพื้นที่เขตเลือกตั้งที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ แต่ไม่มีวุฒิการศึกษาได้มีโอกาสสมัครรับเลือกตั้ง
(2) แก้ไขระยะเวลาการสังกัดพรรคการเมือง ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไป ให้ผู้ลงสมัครต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 90 วัน ส่วนในกรณีที่มีการยุบสภา ให้ผู้ลงสมัครต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 30 วัน เพื่อให้มีเวลาเพียงพอที่สมาชิกพรรคการเมืองจะตัดสินใจได้ทันการเลือกตั้งครั้งต่อไป
(3) เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีความผูกพันกับท้องที่ลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างแท้จริง จึงได้บัญญัติให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดดังกล่าวติดต่อกันเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเป็นบุคคลซึ่งเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง หรือเคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีการศึกษา หรือเคยรับราชการหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี
(4) เพิ่มกรณีที่ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาสามารถกำหนดคุณสมบัติอื่นเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสมและตามเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต
ลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 102)
- (1) ติดยาเสพติดให้โทษ
- (2) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
- (3) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 100 โดยเป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช หรือ อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือ วิกลจริต จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
- (4) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
- (5) เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง5ปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
- (6) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ
- (7) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
- (8) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง
- (9) เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
- (10) เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงแล้วยังไม่เกิน2 ปี
- (11) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
- (12) เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
- (13) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 263 ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ
- (14) เคยถูกวุฒิสภามีมติ ถอดถอนออกจากตำแหน่งตามมาตรา 274
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 | รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 | |
---|---|---|
จำนวน ส.ส. | 500 คน | 480 คน |
ที่มาของ ส.ส. |
-การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คนการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ (ของทั้งประเทศ) 100 คน -พรรคการเมืองที่ได้มีคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อไม่ถึง 5% ของจำนวนคะแนนทั้งประเทศ ไม่ถือว่ามีผู้ใดในบัญชีรายชื่อได้รับเลือกตั้ง |
-การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน โดยกำหนดจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง แต่ละเขตมี ส.ส. ได้ 3 คน หรือน้อยกว่านั้น -การเลือกตั้งแบบสัดส่วน 80 คน จาก 8 เขตเลือกตั้งตามกลุ่มจังหวัด เขตละ 10 คน พรรคการเมืองจะได้รับจำนวนที่นั่งตามอัตราส่วนคะแนนที่พรรคได้รับ โดยไม่มีเกณฑ์ขั้นต่ำ |
วาระการดำรงตำแหน่ง ส.ส. |
4 ปี |
4 ปี |
คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. |
-วุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี -เป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วันทุกกรณี |
-ไม่กำหนดวุฒิการศึกษาขั้นต่ำ -เป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วัน ในกรณีทั่วไป และ 30 วันในกรณียุบสภา -ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เขตที่ลงรับสมัครเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเกิด หรือเคยศึกษาในจังหวัดที่ลงสมัครไม่น้อยกว่า 5 ปีหรือเคยรับราชการหรือเคยมีชื่ออยู่ในจังหวัดที่ลงสมัครติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี |
ลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. |
-ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย - เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่ ๒ ปีขึ้นไป โดยพ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปี เว้นแต่เป็นความผิดโดยประมาทหรือลหุโทษ - เป็นสมาชิกวุฒิสภา - เคยถูก ส.ว. ถอดถอนออกจากตำแหน่ง และยังไม่พ้น 5 ปี |
- ไม่เคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต - เคยต้องคำพิพากษาจำคุกโดยพ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปี เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ - เป็นหรือเคยเป็น ส.ว. แต่ยังพ้นจากตำแหน่งไม่เกิน 2 ปี -เคยถูก ส.ว. ถอดถอนออกจากตำแหน่ง |
สถิติที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ. 2550 มีสถิติเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งที่น่าสนใจ ได้แก่
- (1) เขตเลือกตั้ง มีจำนวนเขตเลือกตั้ง 157 เขต มีหน่วยเลือกตั้ง 88,500 หน่วย จังหวัดที่มี 1 เขตเลือกตั้ง มี 31 จังหวัด จังหวัดที่มี 2 เขตเลือกตั้ง มี 27 จังหวัด จังหวัดที่มี 3 เขตเลือกตั้ง มี 10 จังหวัดจังหวัดที่มี 4 เขตเลือกตั้ง มี 6 จังหวัด จังหวัดที่มี 6 เขตเลือกตั้ง มี 1 จังหวัด และจังหวัดที่มี 12 เขตเลือกตั้ง มี 1 จังหวัด
- (2) จำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบสัดส่วนจำนวน 1,260 คน แบ่งเป็น ชาย 989 คน (78.49%) และหญิง 271 คน (21.51%) ผู้สมัครแบบแบ่งเขตจำนวน 3,894 คน แบ่งเป็น ชาย 3,320 คน(85.26%) และหญิง 574 คน (14.74%)
- (3) จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบสัดส่วน 80 คน แบ่งเป็น ชาย 73 คน(91.25%) และ หญิง 7 คน (8.75%) แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน แบ่งเป็นชาย 351 คน(87.75%) หญิง 49 คน (12.25%)
- (4) จำนวนพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครลงสมัครรับเลือกตั้ง แบบสัดส่วน 31 พรรค และแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 39 พรรค
- (5) จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 44,002,593 คน
- (6) จำนวนราษฎรโดยเฉลี่ยต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคน เท่ากับ 157,071 คน
- (7) การใช้สิทธิเลือกตั้ง มีจำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร 58,807 คน จำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในราชอาณาจักร แบบสัดส่วน 32,792,246 คน (74.52%) แบ่งเป็นจำนวนบัตรเสีย 1,823,436 บัตร (5.56%) และจำนวนบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน 935,306 บัตร (2.85%) จำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในราชอาณาจักร แบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 32,775,868 คน (74.49%) แบ่งเป็นจำนวนบัตรเสีย 837,775บัตร (2.56%) และจำนวนบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน 1,499,707บัตร (4.58%)
- (8) ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตแยกตามรายชื่อพรรคและเพศ
- (9) ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนแยกตามรายชื่อพรรคและเพศ
ที่มา
“การแบ่งเขตการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร”, Retrieved from URL http://www.matichon.co.th/ news-photo/matichon/2007/10/p0106171050p2.jpg (10 ธันวาคม 2550).
“ตัวอย่างบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตและแบบสัดส่วน” Retrieved from URL
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญ.ตารางความแตกต่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กับ พุทธศักราช 2550 พร้อมเหตุผลโดยสังเขป Retrieved from URL http://www.parliament.go.th/parcy/sapa_db/committee0-upload/0-200802060 85205_compare.pdf .
สรุปข้อมูลสถิติการใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. 23 ธันวาคม 2550 Retrieved from URL http://www.ect.go.th/newweb/upload/cms07/download/401-5753-0.rar
สรุปข้อมูลสถิติการใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ว. 2 มีนาคม 2551 Retrieved from URL http://www.ect.go.th/newweb/upload/cms07/download/408-7796-0.pdf