ผลต่างระหว่างรุ่นของ "การแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางการเมืองของไทย: พบทางตันจริงหรือ"
ลไม่มีความย่อการแก้ไข |
ลไม่มีความย่อการแก้ไข |
||
บรรทัดที่ 207: | บรรทัดที่ 207: | ||
<references/> | <references/> | ||
[[หมวดหมู่:การยุติความขัดแย้ง]] | [[หมวดหมู่:การยุติความขัดแย้ง]] | ||
[[หมวดหมู่: | [[หมวดหมู่:วารสารปีที่ 8 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม - เมษายน 2553]] |
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:23, 19 มีนาคม 2555
ผู้เรียบเรียง รอ. ทพญ.ดร. สุพัตรา จิตตเสถียร
วารสารสถาบันพระปกเกล้า ปี 2553 เล่มที่ 1
บทนำ
“Conflict is not always negative and can be essential to change of the issues it raiser are channeled into the kind of debates and exchanges which help to find solutions”
ความขัดแย้ง(Conflict) เป็นปรากฏการณ์หนึ่งในสังคมที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะตราบใดที่มนุษย์เรายังอยู่ร่วมกัน มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ที่ผ่านมาการชุมนุมเรียกร้องในประเทศไทยจะเกี่ยวข้องอยู่ 5 เรื่องใหญ่ ๆ คือ ปัญหาที่ดินทำกินปัญหาอันเกิดจากการก่อสร้างโครงการของรัฐที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปัญหาหนี้สิน ปัญหาเขื่อนหรือโรงไฟฟ้า และการบริหารราชการหรือการดำเนินนโยบายของรัฐบาล เพราะว่าเป็นเรื่องที่อยู่ ใกล้ตัวและเป็นเรื่องปากท้องหรือเรื่องของสิทธิที่ประชาชน ควรจะได้รับ(http://www.isab.go.th/dopa_isab/taksin/17/17 40.pdf. ค้นเมื่อ 15 เมษายน 2553.) จนอาจกล่าวได้อย่างสรุปว่า “ความขัดแย้งกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตมนุษย์ในยุคศตวรรษที่ ๒๑” ที่มาพร้อมกับกระแสโลกาภิวัตน์และแนวคิดการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่เน้นการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น ดังนั้น ความขัดแย้งระดับชุมชนจึงมิใช่เป็นปัญหาภายในชุมชนเท่านั้น แต่กลายเป็นปัญหาที่มีปฏิสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันไปทั่วประเทศ และสามารถสื่อสาร ถ่ายทอดไปได้ทั่วโลก จากเหตุผลนี่เอง ที่ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองไทย ได้ส่งผลเกิด ปัญหาความไร้เสถียรภาพทางการเมืองมากขึ้นและรุนแรง เข้มข้นขึ้น ดังเห็นได้จาก ช่วงระยะเวลากว่า ๗๘ ปีของระบบรัฐสภาไทย มีรัฐธรรมนูญมา ๑๘ ฉบับ ภายใต้การบริหารประเทศด้วยนายรัฐมนตรีมาแล้ว ๒๗ คน มีคณะรัฐมนตรีทั้งหมด ๕๙ ชุด โดยการปฏิวัติและรัฐประหาร ๑๒ ครั้ง มีการก่อกบฏมากถึง ๑๑ ครั้ง(บวรศักดิ์ อุวรรณโณ.ผ่าทางตันวิกฤติประเทศไทย.www.thairath.co.th/content/pol.73086) เป็นสถิติที่พอจะยืนยันได้ว่า ระบอบประชาธิปไตยของไทย ยังต้องมีการพัฒนาอีกมากและการที่การเมืองยังขาดเสถียรภาพ ซึ่งเดิมนั้น เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในแต่ละครั้งนั้นมักเกิดจากคนเมือง (โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ) คนต่างจังหวัด เป็นเพียงคนส่วนใหญ่ที่รับรู้ การต่อสู้ เปลี่ยนแปลงทางการเมืองสื่อ ของรัฐเท่านั้น แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เกิดการพลิกขั้วของการต่อสู้และการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง กลับกลายเป็น การขับเคลื่อนพลังโดย คนชนบท โดยผ่านแกนนำ กลับกลายเป็นว่า คนชั้นกลางและคนกรุงเทพฯ กลายมาเป็นท่านผู้ชมการประท้วงเรื่อยมาตั้งแต่ การประท้วงของกลุ่มพันธมิตร (เสื้อสีเหลือง) และการประท้วงของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (เสื้อสีแดง) ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทยที่รุนแรงและยืดเยื้อ มีการแบ่งฝ่าย แบ่งสี ออกจากกันอย่างเด่นชัด สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยเรากำลังเผชิญกับความขัดแย้งทางการเมืองในระดับที่รุนแรงมากขึ้น ผนวกเข้ากับความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง (Structural Conflict) ที่มีมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจและการใช้อำนาจมิชอบ รวมถึงสถานการณ์ ความขัดแย้งจากผลประโยชน์ (Interest Conflict) ซึ่งประจักษ์ต่อสังคมไปทั่วโลกในเรื่องของการแสวงหาผลประโยชน์ทับซ้อนจากอิทธิพลของนักการเมือง การทุจริต คอรัปชั่นทั้งในภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง มีการต่อสู้ และตอบโต้กันอย่างดุเดือด หลายต่อหายครั้งมีการปะทะกันจนถึงมีผู้บาดเจ็บรุนแรง และเสียชีวิต อย่างในกรณี กลุ่ม นปช.(เสื้อแดง) ปะทะกับกำลังทหาร และตำรวจ เมื่อวันที่ ๑๑-๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ ถือเป็น “ปฏิบัติการความรุนแรงจากมือที่มองไม่เห็น” เพราะฝ่ายที่กำลังเป็นคู่ขัดแย้งกันอยู่ คือ ฝ่ายรัฐบาล และฝ่าย นปช. ต่างไม่ยอมรับว่า เป็นฝีมือของฝ่ายตน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของคนเราย่อมไม่มีใครจะกล้ายืดอกรับผิด กับ การใช้ความรุนแรงที่ไร้มนุษยธรรมเยี่ยงนี้ และ ต่อมาฝ่ายรัฐบาลได้เรียก กลุ่มหนึ่ง ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าเป็นใคร ว่า “กลุ่มผู้ก่อการร้าย” ส่งผลให้ คนชั้นกลาง ที่กำลังแสดงความไม่พอใจต่อฝ่าย นปช. อยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เกิดความ “เกลียดชังและคิดว่าเป็นเพราะ การประท้วงของ นปช.นั้นสร้างความเดือดร้อน และเป็นชนวนของการเกิดความรุนแรง” จึงเกิดเป็น “กลุ่มเสื้อหลากสี กลุ่มเสื้อสีชมพู กลุ่มเสื้อสีขาว” ออกมาเคลื่อนไหวตอบโต้กันไปมา เพราะต่างฝ่ายต่างอ้างว่าเป็นการเรียกร้องตามแนวทาง “สันติวิธี”
สถานการณ์ความขัดแย้งที่เรื้อรังมาเกือบ ๓ ปีนั้นได้ปรากฏต่อสายตาชาวไทยและต่างชาติ ผ่านสื่อต่างๆ ส่งผลทำให้ต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน ส่งผลกระทบเชิงลบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง สร้างความเสียต่อระบบเศรษฐกิจ และทำลายภาพลักษณ์ของเมืองพุทธที่มีการเลือกใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาจนมีผู้คนล้มตาย จากเสพย์ข่าว ภาพและบทวิเคราะห์ต่างๆผ่านสื่อมากมายหลายแหล่ง วันแล้ววันเล่า คนไทยกลุ่มใหญ่[1] เองก็รู้สึกเบื่อหน่ายกับ กระบวนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมที่ผ่านมา ซึ่งไม่รู่ว่า จะโทษว่าเป็นความผิดของใคร แต่ที่น่าคิด คือ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา ๔-๕ ปีที่ผ่านมานั้น เกี่ยวข้องกับเรื่องของ อำนาจ และผลประโยชน์ ของผู้ที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะอย่างชัดเจน ซึ่งควรแก้ด้วยกระบวนการขับเคลื่อนทางการเมืองนำการทหาร
สิ่งที่น่าขบคิดประการหนึ่ง คือ จากอดีตจวบจนปัจจุบัน สังคมไทยมีความผูกพันธ์แบบฉันท์มิตรแบบครอบครัวและเครือญาติกันมานานภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข เราอยู่ร่วมกันได้ท่ามกลางความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และภาษา อย่างสงบสุขมาช้านาน แล้วเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย? ความรู้สึกมั่นคง ร่มเย็น หายไปไหน? ทำไมคนไทยทะเลาะ และขัดแย้งกันด้วยเรื่องอะไร?.... หลายๆๆคำถามผุดขึ้นมาในความคิดของผู้เขียน วันแล้ว วันเล่า และมีคำถามที่ผู้เขียนให้ความสำคัญมาก คือ สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังสร้างความรุนแรงนี้ เกี่ยวข้องกับบทบาทผู้นำชุมชนอย่างไรบ้าง? คำถามนี้เกิดขึ้นมาจากเหตุผลสำคัญ ๓ ประการ ได้แก่ ประการแรก คือ กลุ่มคนที่เข้ามาประท้วงในกรุงเทพฯและปริมณฑลนั้น ส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด ซึ่งผู้นำชุมชนมีส่วนในการระดมคนและกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมทางการเมืองหรือไม่? ประการที่สอง ผู้นำชุมชน มีส่วนเกี่ยวข้องกับอำนาจและผลประโยชน์ของนักการเมืองระดับชาติหรือไม่? และประการสุดท้าย ผู้นำชุมชนในท้องถิ่นต่างๆควรมีบทบาทในการยับยั้งและป้องกันการระดมกำลังคนเพื่อการประท้วง (ไม่ว่าจะเป็นประเด็นใดๆก็ตาม) อย่างไรบ้าง?” แล้ว คำว่า “ผู้นำชุมชน” ที่ผู้เขียนให้ความสนใจในบทความนี้ หมายถึงใคร? มีความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมอย่างไรบ้าง?
ผู้นำชุมชน (Community Leaders) หมายถึง ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้า ดูแลเอาใจใส่ และปกครองให้ชาวชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดี รวมทั้งเป็นผู้ที่เผชิญกับสถานการณ์ของความขัดแย้งในท้องถิ่นอย่างใกล้ชิดอยู่ตลอดเวลา และมีบทบาทสำคัญในการเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งและได้ทำหน้าที่ในการจัดการความขัดแย้งมาตลอดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน อาทิเช่น การแย่งแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก การรุกที่ป่าสงวน การขัดแย้งทางการเมือง และการทะเลาะวิวาทกัน เป็นต้น จากอดีตจวบจนปัจจุบัน พบว่า ผู้นำชุมชน มักเป็นผู้ทรงอิทธิพล กล้าคิด กล้าทำ หรือไม่ก็เป็นที่มีฐานะดี เพราะชาวบ้านจะได้เกรงใจ และเป็นที่เกรงขาม เมื่อ ชาวบ้านเกิดความไม่เข้าใจกัน ทะเลาะกัน หรือ ขัดแย้งกันรุนแรงจนตกลงกันไม่ได้ ก็มักจะใช้ผู้ทรงอิทธิพลในชุมชน เป็นคนกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ย เช่น ในกรณีที่ หญิง ชาย ที่เป็นคู่รักกัน มีการทำผิดประเวณี ก็มีการเชิญผู้ใหญ่ ที่เคารพนับถือ ของทั้งสองฝ่าย มาเจรจาไกล่เกลี่ย เพื่อ ทำการขอขมา หรือ เรียกค่าเสียหาย ได้ ทำให้คนในชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข
บทบาทผู้นำชุมชนในการจัดการของความขัดแย้งในชุมชน
เนื่องด้วย การอยู่ร่วมกันในสังคมไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสังคมเกษตรกรรม มีความสัมพันธ์แบบเครือญาติ พี่น้อง โดยมีศาสนา และมีขนบธรรมเนียมประเพณี เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ทำให้สังคมไทยอยู่ร่วมกันได้ แม้ในบางชุมชน จะมีหลายชนเผ่า มีความต่างทางภาษา ค่านิยม ประเพณี กันไปบ้าง แต่ก็พบความขัดแย้งและการเกิดความรุนแรงน้อยมาก แต่อย่างไรก็ตาม “ความขัดแย้งในชุมชน เกิดขึ้นได้อยู่ตลอดเวลา เป็นเรื่องปกติ ธรรมดาของมนุษยโลก” ดังนั้น ผู้นำชุมชน จึงต้องมีบทบาทหนึ่ง ที่สำคัญ ไม่น้อย คือ บทบาทในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง กรณีพิพาทต่างๆที่เกิดขึ้นในชุมชน และบางครั้ง ผู้นำชุมชนเองก็สามารถก่อให้เกิดความขัดแย้งกันขึ้นมาเองได้ เช่น กรณีต่อมา ได้มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นบริหารจัดการเองมากขึ้น ผู้นำชุมชน ที่มีบทบาทสำคัญ อีกกลุ่มหนึ่ง คือ ผู้นำองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้ในช่วงแรกๆ ของการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นนั้น ฝ่ายปกครองท้องที่ เกิดความรู้สึกว่า ถูกลดบทบาทและความสำคัญลง ไปอย่างมาก จนทำให้หลายๆพื้นที่ มีการต่อต้านกัน และนำไปสู่การแบ่งพรรค เป็นพวกเกิดขึ้นในชุมชน ซึ่งก็เป็นบทเรียนที่หลายๆรัฐบาล ที่พยายามจะกระจายอำนาจให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว น่าจะเรียนรู้และถอดบทเรียน ว่า มีปัญหาความขัดแย้งในชุมชนตามมาอย่างไรบ้าง และ คุ้มค่า หรือไม่ในการเร่งพัฒนาตามอย่างตะวันตก โดยทิ้งปัญหาอันเกิด ความไม่พร้อมของคน และท้องถิ่น ไว้ข้างหลัง แล้วในวันนี้ เห็นได้ชัดว่า ความขัดแย้ง จากการแย่งชิงผลประโยชน์ จาก ธุรกิจการเมืองในระดับท้องถิ่น กลายเป็น เชื้อโรคร้ายที่แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว เพราะ เราไม่ได้คิดถึงภูมิต้านทาน (ไม่ได้ฉีดวัคซีนก่อน)ของชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และที่น่ากลัวยิ่งกว่า คือ การที่คนชั้นกลางในชุมชน ต่างแสวงหาตำแหน่ง ในเทศบาล หรือ อบต. เพราะต้องการอำนาจทางการบริหาร ซึ่งอาจจะเอื้อให้เกิด ธุรกิจการเมืองภายใต้ระบบอุปถัมภ์และระบบหัวคะแนน เพื่อที่จะถอนทุนคืน จากการใช้เงินในการหาเสียง เพื่อเข้าสู่อำนาจในท้องถิ่นนั่นเอง
จากรายงานการวิจัยเรื่อง บทบาทผู้นำชุมชนในการจัดการความขัดแย้งในท้องถิ่น กรณีศึกษา : ภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย ซึ่งผู้เขียนเองได้ทำการศึกษาวิจัยไว้ ได้พบว่า ผู้นำชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างนั้น จะเผชิญกับ ความขัดแย้งอยู่ ๕ กลุ่มสาเหตุ ได้แก่
๑. ความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ ( Interest Conflict) พบว่า มักเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ เรื่องการเกษตรกรรม ความเป็นอยู่ และ การประกอบอาชีพ ได้แก่ ปัญหาการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรและพื้นที่ราบเชิงเขา ปัญหาจากการกำหนดเขตพื้นที่ทำกินของรัฐไม่ชัดเจน ทำให้ เกิดการบุกรุกที่สาธารณะของประชาชน เกิดข้อพิพาทระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ส่วนความขัดแย้งระหว่างผู้นำฝ่ายปกครองท้องที่ มักเกิดจากความแตกต่างด้านค่าตอบแทน ของฝ่ายท้องที่ กับฝ่ายท้องถิ่น และข้าราชการ (เหลื่อมล้ำและไม่สอดคล้องกับภาระ ความรับผิดชอบ) และ ผลประโยชน์ทับซ้อน จากการเมืองระดับชาติแทรกแซงการเมืองระดับท้องถิ่น
๒. ความขัดแย้งด้านข้อมูล ( Data Conflict) ที่พบมาก ได้แก่ การออกเอกสารสิทธิ์ หรือหลักฐานที่ทำกิน ซ้อนทับที่สาธารณะ มีการรับรู้และเข้าใจต่อเอกสารสิทธิ์ไม่ตรงกัน เช่น รัฐประกาศเขตอุทยาน ทับซ้อนเขตทำกินของชาวบ้าน โดยชาวบ้านไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริง นอกจากนั้น พบว่าเกิดจากกระบวนการสื่อสารและภาษา ที่ใช้สื่อสารมีปัญหา เช่น สื่อชุมชน ที่ยังขาดความเป็นกลาง และยึดโยงกับผลประโยชน์ ช่องทางเข้าถึงสื่อ และ การแทรกแซงสื่อของภาครัฐ สื่ออินเตอร์เน็ทยังเข้าถึงชุมชนไม่มากพอและชาวบ้านยังขาดความรู้ด้านนี้มาก และประการสุดท้าย คือ การใช้สื่อโทรทัศน์ วิทยุ และอินเตอร์เน็ต มาใช้เพื่อสร้างความแตกแยก ความเกลียดชัง เพื่อทำลายคู่แข่งทางการเมืองด้วย ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ตามมาด้วย
- ๓. ความขัดแย้งด้านโครงสร้าง (Structural Conflict) ที่เด่นชัด ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำระหว่างชาวบ้าน กับภาครัฐ ในด้าน “อำนาจการต่อรอง” “การเข้าถึงสื่อ” และ “โอกาสของการเรียนรู้”ทำให้เกิด ความขัดแย้งแบบไม่สมมาตร(asymmetric conflict) เพราะความไม่สมดุลแห่งความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ภาครัฐ ใช้ประโยชน์/อ้าง กฎหมาย ระเบียบ ในการตัดสินใจแก้ปัญหาความขัดแย้งมากเกินไป จนละเลย ความเข้าใจในสิทธิมนุษย์ชน และด้านประชาชน ก็เรียนร้องมากจนเกินไป(บางท้องที่) จนละเลย กฎหมาย จึงพบปรากฏการณ์ “รัฐขัดแย้งกับประชาชน” ได้เช่น บริเวณ ต.บ้านแยง อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ที่ชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่ฯจับกุม ในข้อหาบุกรุกที่อุทยานฯ เป็นต้น แสดงให้เห็นถึง อำนาจในการมีส่วนร่วมตัดสินใจที่ไม่เท่ากัน
๔. ความขัดแย้งด้านค่านิยม และการให้คุณค่า ( Value Conflict) เห็นได้ว่า ความขัดแย้งหลายๆด้าน เกิดขึ้นจาก “อคติต่อกัน” และการยึดถือศักดิ์ศรี รวมถึง อคติที่เกิดจากความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรและอำนาจการตัดสินใจ และการตีคุณค่าของชาติพันธ์ อื่น จนกลายเป็นคนชายขอบในสังคมประชาธิปไตยที่เน้นความเสมอภาคและเท่าเทียม (สวนกระแสกันเอง ...ผู้วิจัย) สิ่งสำคัญยิ่งที่ ส่งผลต่อ ความเลวร้ายของสถานการณ์ความขัดแย้งในทุกระดับของประเทศไทย คือ อุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกันและตอบโต้เพื่อเอาชนะกัน ทั้งเพื่อผลประโยชน์และศักดิ์ศรีของฝ่ายตน มากกว่าอุดมการณ์ที่แท้จริง
๕. ความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ ( Relationship Conflict) ในอดีตระดับชุมชนนี้ยังพบปัญหาด้านนี้ไม่มากนัก เพราะสายสัมพันธ์เครือญาติ ยังสามารถยึดโยงความรู้สึก อคติต่อกันลงไปได้มาก แต่ในยุคปัจจุบัน นี้ความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ ช่างเปราะบางเหลือเกิน เห็นได้จาก เมื่อเกิดความไม่เข้าใจในเรื่องข้อมูล ค่านิยม ย่อมนำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่อกัน และยิ่งในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศก้าวหน้า ความสัมพันธ์ขัดแย้งกันมากขึ้นจาก “สงครามสื่อ” แพร่กระจายไปทั่วประเทศ แบ่งแยก อุดมการณ์ (เสื้อสีแดง-สีเหลือง-สีชมพู-สีน้ำเงิน..)
จากความขัดแย้งทางการเมืองในชุมชนสู่ความขัดแย้งทางการเมืองในระดับชาติ
จากการประมวลสรุปสาระสำคัญของสาเหตุความขัดแย้งในระดับชุมชนในทั้ง ๕ ประการนี้ สะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์ความขัดแย้งมีปฏิสัมพันธ์กันสลับซับซ้อน ยุ่งเหยิงมากขึ้นมากกว่าในอดีตยิ่งนัก แม้ว่าในอดีตเรามักจะพบเห็นความขัดแย้งในชมชนมักเกี่ยวข้องกับประเด็นของเรื่องปากท้อง การประกอบอาชีพ และการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม แต่ในปัจจุบันพบว่า ความขัดแย้งทางการเมือง กลายเป็นชนวนสร้างความแตกแยกและ นำไปสู่การสร้างความเป็น “พวกเขา-พวกเรา” (Us-Them) ตั้งแต่ในระดับชุมชน เป็นต้นมา จนสามารถก่อเป็นความรุนแรงในระดับชาติได้อย่างน่าสะพรึงกลัว พร้อมทั้งมีการระดมเงินทุนทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ เพื่อมาห้ำหั่น หวังในชัยชนะของฝ่ายตน และยังมีการใช้อำนาจสื่อ เป็นเครื่องมือในการทำให้เกิดการรวมพลังในการประท้วง เห็นได้จาก กลุ่มแกนนำ นปช. ก็มีผู้เป็นนักจัดรายการวิทยุชุมชน โฆษก และมีการใช้สื่อหนังสือพิมพ์ นิตยสาร โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ การแบ่ง “พวกเขา – พวกเรา” จึงกลายเป็นปรากฏการณ์หนึ่งยืนยันได้ว่า อิทธิพลของโลกาภิวัตน์ มีผลต่อการสร้างอุดมการณ์ และการแบ่งแยกพวก ในสังคมไทยได้ และนำไปสู่การสร้างความเกลียดชังโดยไร้เหตุผลที่ว่ามาอธิบายว่า “ทำไม?”
การต่อสู้ทางการเมืองจนทำให้เกิดสถานการณ์ความรุนแรงขึ้นนั้น ก็ถือว่าเป็นผลพวงหนึ่ง ของ สงครามสื่อไร้สาย ที่สามารถทำให้ “ความขัดแย้งทางการเมืองในระดับชาติแพร่กระจายไปได้ในทุกหย่อมหญ้า” โดยมีโดยไม่มีอาวุธสงครามมาใช้ยิงกัน แต่เป็นการต้อสู้ ด้วย การสาดโคลน ใส่ร้าย ป้ายสี และสร้างข้อมูลที่บิดเบือน เพื่ออ้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มของตนเองได้ จึงไม่น่าแปลกใจ เลยว่า ทำไมการเคลื่อนไหวทางการเมืองในยุค “ตุลามหาวิปโยค” จะมาผู้คนล้มตายท่ามกลางเสียงกระสุนปืน และรถถัง เป็นจำนวนมาก ซึ่งได้ต่างจากยุคนี้ ที่แม้ว่าจะมีตัวเลขของผู้เสียชีวิตไม่มากเท่าในอดีต แต่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมสูงมากกว่าหลายเท่า สิ่งที่ผู้เขียนคิดว่า ความรุนแรงการประท้วงทางการเมืองครั้งนี้ สร้างความน่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก คือ “การสร้างความเกลียดชังจากมือที่มองไม่เห็น” ให้กับคนไทยด้วยกันเอง และอาจถึงขั้นนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าอย่างในกรณีของ ราวันดา เพราะความเกลียดชัง ได้ทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันหลักของชาติ จากคนเพียงกลุ่มหนึ่งที่มุ่งหวังชัยชนะของฝ่ายตนแต่ได้ทำลายไปโดยปริยาย เกิดทำลายล้างไปแทบทุกมิติ อาทิเช่น ทำลายระบบเศรษฐกิจ สร้างปัญหาสังคม ความขัดแย้งต่างๆที่เกิดขึ้นมา ปรากฏในรูปแบบที่ถูกเรียกว่า “สันติวิธี” แท้จริงแล้วเป็น สันติวิธี จริง? สันติวิธีใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้จริงหรือ? หลายๆคำถาม เกิดขึ้นกับเหล่านักวิชาการหลากหลายสาขา หลายๆกลุ่มพยายามเสนอทางแก้ไขปัญหา กลุ่มแล้ว กลุ่มเล่า แต่กลับได้รับคำตอบเดิมๆ นั่นคือ การยึดจุดยืนของฝ่ายตน ผู้เขียนจึงอยากเชิญชวนท่านผู้อ่านมาช่วยกันขบคิด ว่าปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยนี้เกิดในกรุงเทพฯและปริมณฑล แต่กลับเกี่ยวข้องกับชาวบ้านจากทุกภาค (อาจจะมีมาจากภาคเหนือและอีสาน มากกว่าภาคอื่นๆ) เราต้องแก้ไข ปัญหาความขัดแย้งตั้งแต่ระดับชุมชนมิใช่หรือ? แล้ว ปัจจัยอะไร ที่สามารถเชื่อมโยง ความสัมพันธ์ของนักการเมืองระดับชาติกับนักการเมืองระดับท้องถิ่น คำตอบ คือ “ธุรกิจการเมือง” และ “บุญคุณต้องตอบแทนแค้นต้องชำระ” (ดูแผนภูมิ 1 ประกอบ)

ดังนั้น การที่จะทำให้ สมาชิกวุฒิสภาหรือนักการเมืองท้องถิ่นปลอดจากพรรคการเมืองนั้น ทำได้ค่อนข้างยากในบริบทของวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไทยๆ เพราะ การเลือกตั้ง ย่อมใช้เงินในการขับเคลื่อน ในการหาเสียง และประชาสัมพันธ์ จึงไม่ต้องแปลกใจว่า นักการเมืองรุ่นเก่าที่ต้องเว้นวรรคทางการเมือง จึงต้องในญาติ พี่น้องลงสมัครต่อจากตนเอง ทั้ง เพราะ ฐานเสียง และหัวคะแนนมีอยู่ในบัญชีรายชื่อที่ได้รับการสนับสนุนมาก่อนแล้ว และผู้ที่มีบทบาทสำคัญ ว่า ผลการเลือกตั้ง จะออกมาเป็นอย่างไร ก็ คือ ผู้นำชุมชน และนอกจากนั้นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการจัดการและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในระดับท้องถิ่น คือ “ผู้นำชุมชน” ด้วยเช่นกัน ดังนั้น หลายๆความขัดแย้งทางการเมืองในระดับชุมชนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วง พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๕๓ มานี้ จึงมีความสัมพันธ์กับ ความขัดแย้งทางการเมืองในระดับประเทศอย่างไม่ต้องกังขาเกิดขึ้น ซึ่งผู้เขียนของกล่าวโดยสรุปว่า เกิดจากอำนาจของ 3 ปัจจัย คือ
1. ความขัดแย้งทางโครงสร้าง ที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ทำให้ชนชั้นล่างที่ได้รับผลประโยชน์จาก นโยบายประชานิยม[2] ซึ่งถือว่า เป็น ผู้รับประโยชน์อย่างชัดเจนเกิดความจงรักภักดี ต่อรัฐบาลที่ผ่านมาในอดีตอย่างท่วมท้น และเมื่อ อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ถูกดำเนินคดีหลายคดี และมีการต่อสู้ว่า อำนาจตุลการและอำนาจบริหารนั้น ไม่มีความยุติธรรม รวมทั้ง การไม่ยอมรับอำนาจของรัฐบาลใหม่ (ภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์) ว่ามาจากจากทำรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งขัดกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย
2. อำนาจเงินทุน ที่มีส่วนเชื่อมโยงกับ นักการเมืองท้องถิ่น และสายสัมพันธ์ของหัวคะแนน อัน ยึดโยงอยู่ได้เพราะ ผลประโยชน์ ทางการเงิน จึงพบว่า การประท้วงที่เริ่มต้น จากสันติ ตามสิทธิขั้นพื้นฐานแห่งรัฐธรรม กลายเป็น การเรียกร้องที่ “ยึดจุดยืน” (Position-Based) ของฝ่ายตนเป็นสำคัญ กลายเป็นชนวน ของการประท้วงที่สร้างความรุนแรงตามมา ซึ่งต่างก็ไม่มีใครทราบว่า ต้นเหตุของการยิง และการปาระเบิดมาจากไหน? ซึ่งการประท้วงที่ยืดเยื้อเป็นเวลานาน (ซึ่งกลุ่มพันธมิตร เคยปฏิบัติมาแล้วถึง ๙๐ วัน) ต้องยอมรับว่า “มีค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล” แล้วเงินทุนเหล่านั้นมาจากไหน? กลุ่มที่สนับสนุนทุน ย่อมจะหวังผลในการเอาทุนคืน หรือ จะแลกด้วยชาติของเรา? ซึ่งก็มีความสัมพันธ์กับ คำว่า “ธุรกิจการเมือง” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
3. ผู้นำชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความจงรักภักดี ต่อตัวบุคคลและนโยบายพรรค ที่พวกเขาเคยได้รับประโยชน์ ดังจะเห็นได้จากว่า ชาวบ้าน จำนวนมากจากต่างจังหวัดมาประท้วง ภายใต้การนำของ แกนนำ ซึ่งก็ คือ ผู้ที่มีอิทธิพลต่อชาวบ้าน มิฉะนั้น จะรวบรวม ชักจูงชาวบ้านไม่ได้ ซึ่งตามความเห็นของผู้เขียนเอง มีความเชื่อว่า คือ ผู้นำชุมชน ที่ชาวบ้านเชื่อถือ นั่นเอง เพราะเป็นผู้ที่ชาวบ้านให้ความเคารพ เกรงใจ เป็นทุนเดิมอยู่มาก
คำถามสุดฮิต ที่ชาวไทยตั้งคำถามในวงสนทนาในทุกหย่อมหญ้า คือ แล้วสุดท้าย สถานการณ์ความขัดแย้ง ความรุนแรงนี้จะจบลงได้อย่างไร? ใครจะเป็นวีรบุรุษขี่ม้าขาวมาช่วยสังคมไทย ในช่วงวิกฤตินี้ แล้ว บทบาทผู้นำชุมชน หายไปไหน ใยปล่อยให้ พลังประชาชนจากชนบททะลักสู่การประท้วงที่กรุงเทพฯได้ ?” จากคำถามที่ผู้เขียนได้ประมวลสรุปจากวงสนทนาของนักวิชาการและนิสิตรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (การจัดการความขัดแย้ง ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ข้อคำถามที่น่าสนใจ ดังนี้
๑. ผู้นำชุมชน ในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประท้วงเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาหรือไม่?
๒. การยุบสภา จะสามารถแก้ไขสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองและปัญหาความมั่นคง ได้ตรองหรือ?
๓. คนไทย (ชาวบ้าน-นักการเมือง-แกนนำประท้วง-ทหาร-ตำรวจ ..) ล้วนแต่เป็นผู้ที่ไม่เคยมีเรื่องบาดหมาง หรือขัดใจกันเลย พวกเขามีแรงจูงใจ แห่งความเกลียดชังอะไรมากมายถึงขนาดที่สามารถเข่าฆ่าและทำร้ายกันได้ลง?
๔. ผู้ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งใช้แนวทางสันติวิธี และยอมรับว่ากระบวนการสานเสวนาอย่างแท้จริงหรือไม่? และอะไรเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการเจรจาฯ?
๕. ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่จะทำให้ องค์ความรู้ด้าน “สันติวิธี” ได้ถูกนำไปใช้ในหลักสูตรการเรียน การสอนของสถาบันการศึกษาไทย?
จากการเปิดประเด็นทั้ง ๕ ข้อนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอการการวิเคราะห์และอภิปราย ดังนี้
จากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯและเขตปริมณฑล ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ผู้เขียนขอแสดงความคิดเห็นว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับ “ธุรกิจการเมือง” และ “สงครามสื่อ” ที่พยายามใช้อำนาจเงิน และระบบสื่อสาร เพื่อเพิ่มความเข้มข้นแบ่งเป็น “พวกเขา- พวกเรา (Us-Them)” สังเกตได้จาก ฝ่ายที่ขัดแย้งกัน (ฝ่ายรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ กับฝ่ายอำนาจเก่า ของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิน ชินวัตร) ต่างฝ่ายต่างอ้างความชอบธรรมในการเรียกร้องผ่านสื่อทุกรูปแบบ และการที่จะระดมประชาชนจำนวนมากมายสู่กรุงเทพฯ ได้นั้น ต้องมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น เงินจำนวนมากมายนั้นมาจากไหน (ท่อน้ำเลี้ยง) นั่นแสดงถึงว่า ต้องมีอำนาจทางการเงินและธุรกิจหนุนหลังให้เกิดการเคลื่อนไหวครั้งนี้อย่างไร้ความกังขา ซึ่งจากการวิเคราะห์นี้น่าจะตอบได้บ้างว่า ผู้นำชุมชน เกี่ยวข้องด้วยหรือไม่?[3] ส่วนปัจจัยที่ทำให้คนไทยเกิดความรู้สึกเกลียดชัง และแบ่งข้างเพื่อสนับสนุนอุดมการณ์ที่ตนชื่นชอบนั้น ผู้เขียนไม่ได้รู้สึกแปลกใจว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในสังคมไทยในปัจจุบันนี้ตรงกับสิ่งที่ Samuel Huntington เคยกล่าวได้ตั้งแต่ ค.ศ. 1993 ( พ.ศ.2536) ว่า สงคราม หรือความขัดแย้งของมนุษย์ เกิดขึ้นบนพื้นฐานของการแข่งขันทางวัฒนธรรมและค่านิยม(Based on competing cultural value) และ Alvin Toffler and Naisbitte ได้ “ตอกย้ำว่า ICT จะปฏิวัติโลก” และนอกจากนั้น ยังชี้ให้เห็นว่า “สังคมข่าวสาร คือ สังคมที่สามารถคุม และล้างสมองมนุษย์ด้วยข่าวสารและการโฆษณาชวนเชื่อ ...ปลุกกระแส และสร้างประชามติให้คนเชื่อมั่นต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และสามารถคุมแม้แต่พฤติกรรมของมนุษย์ได้ รวมทั้ง สามารถกล่อมประสาทให้คนเกลียดชัง คลั่งไคล้ หรือบ้าคลั่งในสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้..” แล้วในที่สุดสิ่งที่ Huntington, Toffler and Naisbitte ได้แสดงความเห็นไว้ ได้เกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย
ทางออกของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไทย
กลุ่มนักวิชาการ และผู้ที่ปรารถนาให้ความสมานฉันท์เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ได้มีความพยายามหลายครั้ง เพื่อนำเสนอให้มีกระบวนการรับฟังกันและกันด้วยใจที่ไร้อคติ (Dialogue)[4] แต่ก็พบกับความล้มเหลวเช่นกัน ที่เป็นเช่นนั้น ผู้เขียนวิเคราะห์ได้ว่าเป็นเพราะ
1) แกนนำของคู่ขัดแย้งไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อการเจรจา ตามแนวทางสันติวิธี
2) ต่างฝ่ายต่างใช้ สันติวิธี เป็น คำพูดที่สวยหรูต่อภาพลักษณ์ฝ่ายตนแต่แท้จริงไม่สามารถปฏิบัติตามได้เลย เพราะ สิ่งที่มีอิทธิพลเหนือกว่า สันติวิธี คือ กิเลส และความใฝ่มุ่งเอาชนะกัน โดยขาดการคิดถึง ประชาชนผู้บริสุทธิ์ ที่ต้องมาเดือดร้อนจาก สถานการณ์อันเลวร้ายที่พวกเขาไม่ได้ก่อขึ้น นั่น คือ ปรากฏการณ์ของการลืมนึกถึงการเอาใจเขามาใส่ใจเรานั่นเอง[5]
3) การไม่ยอมรับกฎ กติกา ตามแนวทางประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ทำให้มักอ้าง สิทธิ เสรีภาพ แต่ขาดการคำนึงถึง ภราดรภาพ (Fraternité) คือความเป็นพี่เป็นน้องกัน มนุษย์ทุกคนจะต้องมีความเท่าเทียมกันและปฏิบัติต่อกันดุจพี่น้อง ความเป็นพี่เป็นน้อง เป็นสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้มนุษย์ คือ การไม่เน้นผิวพรรณ หรือ เผ่าพันธุ์
4) การสื่อสาร และการให้ข้อมูลแก่สังคมมีการบิดเบือน เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตน จนทำให้คนอื่นๆที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง (หรือ คนไม่มีสีเสื้อ ว่าเป็นฝ่ายใด) จะเกิดความสับสน และในที่สุดจะนำมาซึ่งการถูกแทรกแซงและบ่อนทำลายความมั่นคงและความสามัคคีในชาติได้
5) ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ต้อง ถามใจตัวเองให้ชัดเจนว่า “พวกท่านทั้งหลายรักชาติ รักแผ่นดินนี้ อย่างแท้จริง หรือไม่?” เพราะนั่นหมายถึง เราจะค้นหาทางออกที่เป็นจุดหมายร่วมกัน ที่ต่างฝ่าย ต่างชนะ นั่นคือ ประเทศชาติชนะ มิใช่ใครกลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง ชนะ
ถ้าการตัดสินใจแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย ขาดเป้าหมายที่เป็นผลประโยชน์ชาติร่วมกันอย่างแท้จริงแล้ว ทุกอย่างจะพบทางตัน แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาในสังคมไทยตลอดระยะกว่า ๔-๕ ปีที่ผ่านมามีท่าทีว่าจะคลี่คลายลงไปมา เพราะจะเห็นว่า กลุ่มประชาชนที่เป็นชนชั้นกลาง ได้รวมพลังผ่านทางสื่ออินเตอร์เน็ต ออกมาแสดงจุดยืนและมีอีกหลายกลุ่ม ได้ออกมาเสนอทางออก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า “การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนชาวไทยได้มีการพัฒนาในทางที่ดีขึ้นมาระดับหนึ่ง เพราะประชาชนสามารถรวมตัวกัน เพื่อตอบโต้ การใช้ความรุนแรง หรือ มีการเรียกร้องให้ธำรงไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์” ทำให้คู้ขัดแย้งหลัก (ฝ่าน นปช. กับฝ่ายรัฐบาล) ต้องทบทวนวิธีการต่อสู้ เรียกร้องใหม่หลายครั้ง เช่น ฝ่ายแกนนำ นปช. พร้อมเปิดเจรจาฯ กับฝ่ายรัฐบาล และยืดเวลาให้ยุบสภาจาก ๑๕ วัน เป็น ๓๐ วัน และฝ่ายรัฐบาลเอง ก็ยืนยันผ่าน ผบ.ทบ. ว่า จะไม่มีการใช้กำลังเพื่อสลายม็อบ เป็นต้น และจากการติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตลอดระยะเวลากว่า ๕ ปีของผู้เขียน ได้เสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย ดังต่อไปนี้
๑. ในภาวการณ์แก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เสนอให้มีการ “เจรจาตามแนวทางสานเสวนา” มิใช่การเจรจาต่อรอง เพื่อการะยะเวลาที่เหมาะสมในการยุบสภา แม้ว่า การยุบสภา จะมิใช่การแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ที่ตรงกับสาเหตุที่แท้จริง แต่ผู้เขียนเห็นว่า เป็นการแก้ไขในภาวะวิกฤติ ซึ่งอาจจะคิดว่า ไปสนับสนุนของเสนอของ นปช. ก็จริง แต่ผู้เขียนเห้นว่า การคืนอำนาจให้ประชาชน เป็นคนตัดสินใจ (เพราะคนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ เป็นเจ้าของ สิทธิ นี้ มิใช่เฉพาะกลุ่มที่ประท้วง เรียกร้อง ) พวกเขา จะได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งถือว่า เป็นการยอมรับ กฎ กติกา ตามรัฐธรรมนูญ ร่วมกัน
๒. ควรจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ (เฉพาะกิจ) เพื่อรักษาการณ์ ช่วงที่มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ เพื่อลดความ “ไม่ไว้วางใจ” ของฝ่ายที่ขัดแย้งกันลงไป และองค์กรกลาง เช่น กกต. ต้องจริงจัง ต่อการจัดเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ ยุติธรรม และถึงแม้ว่า บางฝ่าย อาจจะโต้แย้งว่า “มีการซื้อเสียง” ด้วยอำนาจเงินเข้ามาอีกได้ ผู้เขียนยอมรับว่า “การซื้อเสียงมีจริง” แต่จากการออกมาแสดงพลังของคนกลุ่มต่างๆ ที่ เป็นคนจากชุมชนเมือง และนิสิต นักศึกษา นักวิชาการ รวมทั้ง การเสนอ สื่อ ที่สร้างความเป็นกลาง มีการตรวจสอบ การทุจริต เข้มแข็งมากขึ้น เชื่อว่า “อำนาจเงินจะเบาบางลง” และจากบทเรียน การสูญเสียของชาติ ครั้งนี้ จะทำให้คนอีกจำนวนมาก เกิดการพิจารณา พิเคราะห์สรรหานักการเมือง พิถีพิถันมากขึ้น
๓. เสนอแนะให้มีการศึกษาวิจัย ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสำคัญ คือ “ ความสัมพันธ์ปัจจัยแห่งความขัดแย้งทางการเมืองไทย ในมิติของพลังชุมชนจากชนบท ต่อ การขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลง การเมือง การปกครองไทย” เพราะ จากบทเรียนของความขัดแย้งและการก่อความรุนแรงในสังคมที่ผ่าน ทำให้เราได้เห็นถึง ความขัดแย้งทางการเมืองไทยในระดับชาติมัก เกี่ยวข้องกับพลังการระดมคนของผู้นำชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเสนอให้มีการศึกษาเป็น “ทีม” จากนักวิชาการหลายๆสาขา มาบูรณาการ เพราะ “การยึดมั่นในวิธีการเก่าๆ ทั้งที่ปัจจัยต่างๆได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ย่อมทำให้เราย่ำอยู่กับที่ และพบจุดจบในที่สุด”
๔. ควรมีการถอดบทเรียน กระบวนการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อการเรียนรู้ และหาทางป้องกัน ความขัดแย้งในอนาคต
๕. การปฏิรูปสื่อสารมวลชน และจริงจังจัดระเบียบสื่อให้มีจริยธรรมที่ดี และมีความเป็นกลางอย่างแท้จริง
๖. การปฏิรูปการเมือง ไปพร้อมๆกับการปฏิรูประบบราชการ เป็นวาระแห่งชาติ
๗. การใช้บทบาทของผู้นำชุมชนในระดับท้องถิ่น ในการสร้างความสมานฉันท์ตั้งแต่ระดับชุมชน และเป็นตัวการในการเปลี่ยนแปลง(Change Agent) ทัศนคติ ค่านิยม และความเข้าใจที่ถูกต้องของแนวทาง “สันติวิธี” ซึ่งสามารถปฏิบัติได้จริง โดยความร่วมมือกับ กระทรวงยุติธรรม ในกระบวนการยุติธรรมชุมชน และผ่านทางกรมการปกครอง ในการเจรจาไกล่เกลี่ยในระดับอำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน ทั้งนี้ เพื่อสร้างการเรียนรู้ถึง “บทเรียนความเสียหายจากการประท้วงและการใช้ความรุนแรงจากอดีตที่ผ่านมา” ทั้งนี้ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สถานการณ์ความรุนแรงใน ๒ ปีที่ผ่านมานี้จะกลายเป็น “ครู” ที่เก็บไว้สอนเยาวชนรุ่นหลังให้ศึกษา เรียนรู้ เพื่อมิให้ “กงล้อแห่งประวัติศาสตร์ความแตกแยกในสังคมไทย ได้เกิดขึ้นอีก ดังเช่นที่ไทยเราเคยเสียกรุงศรีอยุธยาไปเพราะคนไทยแตกความสามัคคีกันเอง” ความสำเร็จ จะบรรลุผลได้ ควรเริ่มตั้งตั้งในระดับชุมชน โดยผ่าน ผู้ที่มีบทบาทสำคัญ คือ ผู้นำชุมชน นั่นเอง
บทส่งท้าย
“ความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่ต้องเป็นไปด้วยการเคารพซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งการรับฟังกันด้วยใจที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตา ด้วยการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ให้คิดถึงว่า ถ้าคนไทยไม่รักกันแล้ว ชนชาติใดในโลกนี้ที่จะรักพวกเราด้วยความบริสุทธิ์ใจ”
แม้ว่า สถานการณ์ความรุนแรงมีทีท่าว่าจะหาทางคลี่คลาย หรือยุติ ได้ยาก แต่สิ่งหนึ่ง ที่คนไทย มีอยู่เหมือนกัน คือ ความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ขอให้ ความคิดเห็นและอุดมการณ์ทางการเมืองที่ขัดแย้ง ยุติลงได้ด้วย การสานเสวนา เพราะนั่น คือ ทางออกที่เหมาะสมกับ คนไทยและสังคมไทย นับตั้งแต่ในอดีตกาลที่ผ่านมา เหล่าผู้นำชุมชน ต่างก็ใช้การล้อมวงพูดคุยกัน ฉันท์พี่ๆน้องๆ แล้ว ปัญหาความขัดแย้งในชุมชนและก็สามารถแก้ไขได้เสมอ ผู้เขียนปรารถนาที่จะเห็น กลุ่มแกนนำ (ไม่ว่าเสื้อสีใดก็ตาม) ลดทิฐิ ลดอคติ แล้วหันหน้ามาแสดงความรักต่อชาติ ด้วยการนั่งล้อมวงคุยกัน หาทางออกด้วยกันและไม่มองกลับไปในอดีต มีแต่ต้องมองไปข้างหน้า เพื่อสานสัมพันธ์แห่งสายเลือดความเป็นไทยเพื่อที่เราจะอยู่ร่วมกันต่อไปได้ เพื่อที่จะ “ยิ้ม” ให้กันได้ ให้สมกับ คำว่า “สยามเมืองยิ้ม” ที่กำลังจะจางหาย ให้กลับมาเป็นเสน่ห์ของคนไทย เพื่อลูกหลานเราจะได้เดินต่อไปอย่างสง่างาม ท่ามกลางการถูกจับตามองผ่านสื่อไร้พรมแดนไปทั่วโลก ถ้าท่านรักลูกหลานของท่าน จงสร้างดอกไม้แห่ง “สันติภาพ” ให้เบ่งบานในใจ ด้วยการหันหน้ามาจับมือกัน ให้อภัยกัน เพราะท่านทั้งหลายอย่าลืมว่า ลูกหลาน กำลังนั่งมอง ความรุนแรงผ่านสื่ออยู่ทุกๆวัน แล้วพวกเขาจะเติบโตมาเป็นคนไทยแบบใดก็ขึ้นอยู่กับภาพที่พวกเราทั้งกำลังแสดงให้เด็กๆเขาดูอยู่
สุดท้ายผู้เขียนขอเสนอการ”ผ่าทางตัน” ความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย ตามแผนผัง ดังนี้

ฝากไว้ให้คิด
“อำนาจเงินเป็นเพียงมายาที่เชื่อว่าจะแลกวัตถุสิ่งของมาปรนเปรอให้เรามีความสุขได้ก็จริงn แต่วัตถุเหล่านั้น ไม่จีรังยั่งยืน แต่ ความดี และความรักที่เรามอบให้กัน ซิ เป็นของขวัญอันวิเศษ ที่เราจะมอบเป็นมรดกไว้ให้ลูกหลานเราได้ ดำรงชาติไทยไว้ชั่วนิรันดร์”
บรรณานุกรม
Creighton, L. James .(2548 ). คู่มือการศึกษา การมีส่วนร่วมของประชาชนและการแก้ปัญหาความขัดแย้ง. วันชัย วัฒนศัพท์ และคณะ (แปลและเรียบเรียง) กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า
Crawley, J., & Graham, K. (2002). Mediation for managers: Resolving conflict and rebuilding relationships at work. London: Nicholas Brealey.
Coffey, R. E., Cook, C. W., & Hunsaker, P. L. (1994). Management and organizational behavior. Burr Ridge, IL: Irwin.
Cook, Curtis W. and Hunsaker, Phillip L. (2001). Management and organizational behavior. Burr Ridge, IL: Irwin
Dubrin, A.J. (2003). Essentials of management (6th ed.). Mason, OH: South-Western.
Furlong, Gary T. (2005). The Conflict Resolution Toolbox : Models and Maps for analysis diagnosis and resolving conflict . Ontario : John Wiley & Sons Canada ,Ltd.
Galtung, Johan .(1990) . Cultural Violence. Journal of Peace Research. Vol.27 No.3
Galtung, Johan. (2000). Conflict transformation by Peaceful Means, UN: United Nations Diaster Management Training Program
Kenton, B and Penn, S .(2009). Change ,Conflict and Community : Challenging Thought and Action. Elsevier Ltd. UK.
Kenton, Barbara and Penn, Suzanne. (2009) Change, Conflict and Community : Challenging thought and action. Singapore: Elsevier Ltd.
Webster’s Dictionary (1967) p:308
Landau, Barbara and Landau, Daryl (2001) .From conflict to creativity (การจัดการความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์). (2549) นรินทร์ องค์อินทรี และ ธนิกานต์ มาฆะศิรานนท์ (แปลและเรียบเรียง) กรุงเทพฯ : เอ็กซเปอร์เน็ท
McConnell, A. J. (1995). Mindful meditation handbook for Buddhist peacemaker. Bangkok, Thailand: SEM.
Moore, C. (1996). The mediation process: Practical strategic for resolving conflict (2nd ed.). San Francisco: Jossey-Bass.
Moorhead, G., & Griffin, R. W. (2001). Organization behavior: Managing people and organizations (6th ed.). Boston: Houghton Mifflin.
Morris, C. (2004). Managing conflict in health care settings: Principles, practices & policies. Bangkok, Thailand: Prepared for a workshop at King Prajadhikop’s Institute
Morrill, Calvin .(1996). The Executive way: Conflict management in corporation. Chicago: The University of Chicago Press.
Van Slyke, E. J. (1999). Listening to conflict: Finding constructive solution to workplace disputes. New York: Library of Congress Cataloging-in-Publication Data.
Weeks ,Dudley (1992) .The Eight essential steps to conflict resolution : preserving relationships at work, at home, and in the community. Los Angeles : J.P. Tarcher
กัลตุง,โยฮัน. เดชา ตั้งสีฟ้า แปล (2550) การเปลี่ยนแปลงขับเคลื่อนความขัดแย้งด้วยสันติวิธี. กรุงเทพฯ : คบไฟ
จอห์น แมคคอนแนล (2538). ศาสตร์และศิลป์แห่งการระงับความขัดแย้ง: คู่มือสำหรับชาวพุทธผู้ใฝ่สันติ. พระไพศาล วิสาโลและคณะ (บรรณาธิการและ แปล) กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เสมสิกขาลัย.
จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย (2548). กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์: การปรับกระบวนทัศน์ กระบวนการยุติธรรมไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิพัฒนากระบวนการยุติธรรม
ฉันทนา บรรพศิริโชติ. (2542). ความขัดแย้งในสังคมไทย: ช่องว่างของการรับรู้และความเข้าใจ. กรุงเทพฯ : คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว. (2547). ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับสันติวิธีและธรรมชาติของความขัดแย้งในสังคมไทย. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า.
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (2539). สันติทฤษฎี/วิถีวัฒนธรรม.(Peace theory and cultural elements) .สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง .กรุงเทพฯ
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (2551). อารยะขัดขืน. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์ครั้งที่ 2
ชัยเสฏฐ์ พรหมศรี. (2550). การจัดการความขัดแย้งในองค์การ(Conflict Management). กรุงเทพฯ: เอ็กซ์เปอร์เน็ท
ชาญชัย ชัยสุขโกศล.( ม.ป.ป.) “อ่าน” สันติวิธีในสังคมไทย : แผนที่นำเที่ยวสำหรับผู้มาใหม่. เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย เรื่อง “วัฒนธรรมการเมืองไทย ในส่วน สันติวิธี ในชุด โครงการวิจัยองค์ความรู้เรื่องวัฒนธรรมในประเทศไทย. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.
พระไพศาล วิสาโล. (2549). สันติวิธี: วิถีแห่งอารยะ. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง.
พระไพศาล วิสาโล. (2550). สร้างสันติด้วยมือเรา: คู่มือสันติวิธีสำหรับนักปฏิบัติการไร้ความรุนแรง. ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2522.
มัวร์, คริสโตเฟอร์ ดับเบิลยู. (2542). กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง: ยุทธศาสตร์-การนำไปใช้ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง (วันชัย วัฒนศัพท์, สุวิทย์ เลาหศิริวงศ์ และวงศา คงดี, ผู้แปล). ขอนแก่น: มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มูลนิธิเอเชียและมูลนิธีวิเทศพัฒนา, สถาบันสันติศึกษา.
ยูรี, วิลเลียม. (2547). กลยุทธ์การสมานไมตรี เพื่อบรรลุสันติร่วมกัน: ที่บ้าน ที่โรงเรียน ที่ทำงานและทุกแห่งในโลก (เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์-สวนเงินมีมา.
วิศิษฐ์ วังวิญญู. (2548). สุนทรียสนทนา. กรุงเทพฯ: สำนักพิพม์สวนเงินมีมา
วันชัย วัฒนศัพท์. (2547). ความขัดแย้ง: หลักการและเครื่องมือแก้ปัญหา (พิมพ์ครั้งที่ 2). นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า.
วันชัย วัฒนศัพท์. (2549). ความขัดแย้ง: ทางออกด้วยสันติวิธี. นนทบุรี: สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า สมาคมสันติวิธีแห่งประเทศไทย
สมศักดิ์ ศรีสันติสุข. (2550). กลไกการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาท: แนวคิดการควบคุมทางสังคม (The strategies of the dispute mediation: A social control concept). วารสารการพัฒนาท้องถิ่น ปีที่ 2 ฉบับที่1 มิถุนายน – กันยายน 2550 สันติวิถี : ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อความมั่นคง. กรุงเทพฯ สถาบันยุทธศาสตร์ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล พิมพ์ครั้งที่ 3 มีนาคม 2544
เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์.(2534).ความขัดแย้ง การบริหารเพื่อความสร้างสรรค์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ตะเกียง
โสฬส ศิริไลย์. (2548).วิธีการสนทนาแบบมนุษยสัมพันธ์มนุษย์และการเปลี่ยนวิธีคัดค้านการฟังอย่างลึกซึ้ง. นครปฐม: สำนักงานทรานส์ทีม-เครือข่ายการวิจัยบูรณาการลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง อังคณา บุญสิทธิ์ (2551). ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในท้องถิ่นไทย
http://rescom2006.trf.or.th/display/show_colum_print.php?id_colum=1838. print : 12/11/2551. www.thairath.co.th/content/pol.73086.
http://www.isab.go.th/dopa_isab/taksin/17/17 40.pdf. ค้นเมื่อ 15 เมษายน 2553.
http://www.peace.mahidol.ac.th/th/index.php?option=com_content&task=view&id=351&Itemid=155 ค้นเมื่อ 20 เมษายน 2553.
http://www.idis.ru.ac.th/report/index.php?topic=408.0
อ้างอิง
- ↑ เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนที่เชื่อว่าและสรุปว่า คนส่วนใหญ่ของประเทศที่กำลังเพิกเฉย ตามแบบอย่างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ มีอยู่เป็นจำนวนมากมายที่รับรู้ ความขัดแย้งทางการเมือง จากสื่อต่างๆ แล้วไม่มีการเคลื่อนไหวใดออกมา
- ↑ สมัยพรรคไทยรักไทย ๑ เป็นรัฐบาล ภายใต้การนำของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร
- ↑ การเมืองไทย มีสิ่งหนึ่งที่เกิดควบคู่กันมาตลอด คือ การสร้างฐานคะแนนเสียงจาก “หัวคะแนน” ซึ่งมักเป็นผู้ที่กว้างขวาง มีอิทธิพล และมักมีสายสัมพันธ์กับนักการเมืองระดับชาติ เป็นเครือข่าย และหัวคะแนน ก็มักเป็นกลุ่มคนที่เป็นผู้นำชุมชน หรือผู้ที่ใกล้ชิดกับนักการเมือง
- ↑ การสานเสวนา (dialogue) เป็นรูปแบบหนึ่งของการสนทนา ที่มุ่งให้เกิดความเข้าใจ ทั้งมุมมองของตนและของผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น
- ↑ การสานเสวนาเน้นที่การฟังมากกว่าการพูด ในการสานเสวนาผู้ฟังจะต้องฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังด้วยใจเปิดกว้างเมตตา ฟังโดยไม่ด่วนตัดสินหรือตัดสินไว้ก่อน ฟังแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา (โปรดอ่านเพิ่มเติมใน โคทม อารียา ที่เว็บไซด์ www.peace.mahidol.ac.th)