ผลต่างระหว่างรุ่นของ "“13 ความลับ” และสันติวิธีในสังคมไทย"
ลไม่มีความย่อการแก้ไข |
ลไม่มีความย่อการแก้ไข |
||
บรรทัดที่ 136: | บรรทัดที่ 136: | ||
[[หมวดหมู่:การยุติความขัดแย้ง|ค]] | [[หมวดหมู่:การยุติความขัดแย้ง|ค]] | ||
[[หมวดหมู่: | [[หมวดหมู่:วารสารปีที่ 8 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม - เมษายน 2553|ค]] |
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:11, 19 มีนาคม 2555
ผู้เรียบเรียง อาจารย์ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์
วารสารสถาบันพระปกเกล้า ปี 2553 เล่มที่ 1
“13 ความลับ” และสันติวิธีในสังคมไทย
นับตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 เมื่อ “คนเสื้อแดง” หรือกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ประกาศระดมพลเพื่อจัดการชุมนุมใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผู้คนในสังคม โดยเฉพาะที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวง ต่างพากันตื่นตัว เฝ้าติดตามปรากฏการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญนี้ด้วยความห่วงใย ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน จำนวน 1,134 คน ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลโดยสวนดุสิตโพล พบว่าเหตุการณ์การชุมนุมส่งผลให้ผู้คนกว่าร้อยละ 51 ติดตามข่าวสารจากสื่อต่างๆ เพิ่มขึ้น ในจำนวนนี้ ร้อยละ 40 รู้สึกเครียดมากเพราะเป็นห่วงบ้านเมือง ขณะที่อีกร้อยละ 33 รู้สึกกังวลเพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะจบลงอย่างไร ท่ามกลางบรรยากาศอันตึงเครียด ทั้งรัฐบาลและกลุ่มผู้ชุมนุมต่างคอยตอกย้ำจุดยืนและอ้างความชอบธรรมของตนผ่านแนวทางสันติวิธี เช่นเดียวกันกับอีกหลากหลายกลุ่มในสังคมที่ทยอยกันออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ฝ่ายต่างๆ ไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน สันติวิธีกลายเป็นคำที่ได้รับความสนใจจากสังคมไทยอย่างกว้างขวาง หากความสนใจดังกล่าวอาจมาพร้อมกับความไม่แน่ใจและสับสนว่าสันติวิธีคืออะไรแน่ หรือทำอะไรได้บ้าง
หนึ่งในบรรดาความพยายามที่จะทำความเข้าใจกับสังคมเกี่ยวกับแนวคิดสันติวิธี คือ การจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ขนาดเล็ก “13 ความลับสันติวิธี” โดยศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา เพื่อเผยแพร่แก่กลุ่มผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหาร และบุคคลทั่วไป นับตั้งแต่ช่วงสัปดาห์แรกของการชุมนุม ปฏิกิริยาของผู้ได้รับแจกเอกสารดังกล่าวนั้นหลากหลายและน่าสนใจไม่น้อย ผู้คนจำนวนหนึ่งรับเอกสารไปด้วยความยินดี บ้างอิดออดและอธิบายว่า “สิ่งที่เราทำเป็นสันติวิธีอยู่แล้ว” กระทั่งชายคนหนึ่งฉีกเอกสารทิ้งต่อหน้าอาสาสมัครทันทีที่ได้รับ ปฏิกิริยาเหล่านี้เป็นกระจกอีกด้านที่สะท้อนว่าผู้คนในสังคมมีทัศนคติและความรับรู้เกี่ยวกับสันติวิธีแตกต่างกันเพียงใด
บทความนี้เป็นความพยายามทำความเข้าใจแนวคิดสันติวิธีในสังคมไทยผ่าน 13 “ความลับ” พื้นฐาน โดยอาศัยกรณีศึกษาของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นับตั้งแต่มีการชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 จวบจนเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารและกลุ่มผู้ชุมนุมในคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 ประหนึ่งว่าสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่เป็นเครื่องทดสอบว่าสังคมไทยได้เดินทางมาไกลเพียงใดในแง่ความรู้ความเข้าใจและการยึดมั่นในหลัก “การต่อสู้” โดยไม่ใช้ความรุนแรงนี้
13 ความลับสันติวิธี: ทฤษฎี หลักการ วิธีการ พลวัตและข้อจำกัด
ท่ามกลางความขัดแย้งที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ต่างอ้างความชอบธรรมของตนผ่านแนวทางสันติวิธี หากแต่ละกลุ่มกลับมีความเข้าใจต่อแนวคิดนี้แตกต่างกันไป แม้ว่าสันติวิธีจะไม่ได้มีคำจำกัดความที่ตายตัว หากก็คงไม่ได้หมายถึงอะไรก็ได้ตามแต่ใครอยากจะเลือกนิยาม ในระดับพื้นฐานที่สุด สันติวิธีคือการไม่ใช้หรือขู่จะใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่นในทางกายภาพ ทว่าในฐานะวิธีการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย สันติวิธีมีพื้นฐานทางทฤษฎี หลักการ วิธีการ พลวัตและข้อจำกัดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทั้งผู้สนใจศึกษาและผู้ใช้สันติวิธีควรจะต้องทำความเข้าใจ ผ่าน “ความลับ” พื้นฐาน 13 ประการ ดังต่อไปนี้
2 ทฤษฎี
1. สันติวิธีเป็นเรื่องของอำนาจ ตามทฤษฎีอำนาจมาจาก “ความยินยอม” (Consent)
หากพิจารณาจากพื้นฐานหลักการที่รองรับ จะสามารถแบ่งสันติวิธีหรือการไม่ใช้ความรุนแรงออกเป็น 2 แบบ ได้แก่ การไม่ใช้ความรุนแรงที่เน้นพื้นฐานทางศีลธรรม และการไม่ใช้ความรุนแรงที่เน้นพื้นฐานทฤษฎีแห่งอำนาจ
การไม่ใช้ความรุนแรงที่เน้นพื้นฐานทางศีลธรรมรูปแบบหนึ่งที่ได้ยินกันอยู่บ่อยครั้ง กระทั่งกลุ่ม นปช. ก็ประกาศชัดเจนว่าเป็นหลักการที่พวกตนยึดมั่น ได้แก่ แนวทางอหิงสา ซึ่งเป็นแนวทางที่มหาตมะคานธี (ค.ศ.1869-1948) ประกาศกแห่งสันติวิธี ใช้นำมวลชนเพื่อต่อสู้ปลดแอกจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ กระทั่งนำไปสู่เอกราชของประเทศอินเดียใน ค.ศ.1947 สำหรับคานธี อหิงสา (Ahimsa) หรือการไม่ใช้ความรุนแรง เป็นหนทางเดียวที่จะบรรลุสัจจะ ตรงกันข้ามกับความรุนแรงที่ละเมิดสัจจะอันสูงสุด ซึ่งก็คือเอกภาพและความ ศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตทั้งมวล คานธีอธิบายว่าอหิงสาเป็น “พลังที่แท้จริงเพียงอย่างเดียวของชีวิต” และมีเงื่อนไขแห่งความสำเร็จอยู่ 4 ประการ ได้แก่ คือ ประการแรก ผู้ใช้อหิงสาต้องไม่มีความเกลียดชังฝ่ายตรงข้าม สิ่งที่ผู้ใช้สันติวิธีมุ่งต่อสู้ไม่ใช่ตัวบุคคล แต่คือความชั่วและความอยุติธรรมต่างๆ ประการที่สอง สันติวิธีต้องมีเป้าหมายในการต่อสู้ที่เป็นธรรม ประการที่สาม ผู้ปฏิบัติอหิงสาพร้อมที่จะทุกข์ทรมานจนถึงที่สุด และประการสุดท้าย จะต้องมีศรัทธาในพระเป็นเจ้า โดยเชื่อว่าตัวตนของมนุษย์นั้นสำคัญน้อยกว่าจิตวิญญาณ
สันติวิธีอีกรูปแบบหนึ่งเป็นการไม่ใช้ความรุนแรงที่เน้นพื้นฐานทฤษฎีแห่งอำนาจ เรียกว่าปฏิบัติการไร้ความรุนแรง (Nonviolent Action) แนวทางนี้เข้าใจว่าอำนาจของผู้ปกครองไม่ได้เกิดจากคนจำนวนน้อยที่สถิตอยู่บนจุดยอดแห่งการสั่งการ อีกนัยหนึ่ง อำนาจไม่ใช่สิ่งที่เสริมสร้างเกื้อหนุนตนเองหรือคงทนถาวร ตรงกันข้าม ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงวางอยู่บนฐานความเข้าใจว่าอำนาจของผู้ปกครองไม่ได้ดำรงอยู่ในตัวเขา แต่เกิดมาจากส่วนต่างๆ ในสังคม และดังนั้นอำนาจทางการเมืองจึงเปราะบาง เพราะขึ้นอยู่กับการเสริมกำลังอำนาจของกลุ่มต่างๆ ถึงแม้ผู้ปกครองจะมีกลไกมากมาย เช่น การเสนอผลประโยชน์และการลงทัณฑ์ เพื่อทำให้ได้มาซึ่งการเชื่อฟังจากกลุ่มต่างๆ ในสังคม แต่กลไกเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการเชื่อฟังได้โดยอัตโนมัติ ดังนั้น อาจสรุปได้ว่าการปกครองทุกชนิดขึ้นอยู่กับการยินยอมเชื่อฟังโดยสมัครใจ (Consent) และหมายความว่าการยินยอมเชื่อฟังนั้น ตลอดจนความช่วยเหลือต่อระบบนั้นสามารถถูกเพิกถอนไปจากผู้ปกครองได้เช่นกัน ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเห็นว่าการปฏิเสธที่จะเชื่อฟังและให้ความช่วยเหลือเท่ากับการบั่นทอนอำนาจของผู้ปกครองโดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงต่อสู้แต่อย่างใด
ในแง่นี้ การระดมพลเพื่อชุมนุมใหญ่ ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่ม นปช. ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากการแสดงให้เห็นว่าคนเสื้อแดงไม่ยอมรับรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะผู้ปกครอง และมีข้อเรียกร้องสำคัญคือการยุบสภา กลุ่มคนเสื้อแดงประกาศยืนยันว่าการชุมนุมของพวกตนเป็นการเคลื่อนไหวตามระบอบประชาธิปไตย และเป็นการชุมนุมโดยสันติ อหิงสา ปราศจากอาวุธ จึงอาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่พวกเขาถือฤกษ์วันที่ 12 มีนาคมในการเคลื่อนพล เพราะเป็นวันเดียวกันกับที่มหาตมะคานธีเริ่มต้น Salt March หรือการเดินทางไกลกว่า 200 ไมล์เพื่อรณรงค์ให้ชาวอินเดียร่วมกันละเมิดกฎหมายห้ามการผลิตเกลือ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อต้านระบบปกครองอันไม่ชอบธรรมของจักรวรรดิอังกฤษเมื่อแปดทศวรรษก่อน (ค.ศ.1930)
2. สันติวิธีคือการกระทำ ไม่ใช่การไม่กระทำ (Action, and Not Inaction)
วิธีการต่อสู้โดยสันติวิธี ไม่ใช่การนิ่งเฉย ยอมแพ้หรือยอมจำนนอยู่ใต้อำนาจของผู้อื่น ตรงกันข้าม ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงมีความหมายตามชื่อที่ปรากฏ คือ เป็นการกระทำ (Action) หรือปฏิบัติการโดยไม่ใช้ความรุนแรง ประกอบด้วยการประท้วงต่อต้าน การไม่ให้ความร่วมมือ และการเข้าไปแทรกแซงโดยตรง ไม่ใช่การใช้เพียงวาจาเท่านั้น
การกระทำ (Action) ในทฤษฎีปฏิบัติการไร้ความรุนแรง หมายถึง การแสดงพฤติกรรมอันไม่ใช่วิถีปกติของบุคคล เป็นการกระทำซึ่งเกินเลยหรือนอกเหนือไปจากที่กำหนดตามกรอบขนบธรรมเนียมประเพณี กระทั่งอาจเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและหลักการข้อบังคับต่างๆ (Commission) นอกจากนี้ การกระทำในมุมมองของปฏิบัติการไร้ความรุนแรง ยังหมายรวมถึง การกระทำโดยละเว้น (Omission) นั่นคือ การปฏิเสธการกระทำซึ่งดำเนินอยู่เป็นปกติ หรือถูกคาดหวังว่าจะกระทำโดยขนบธรรมเนียมประเพณี หรือกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ กำหนดให้กระทำอีกด้วย
การชุมนุมใหญ่และกิจกรรมการเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช. ย่อมชัดเจนว่าเป็นการกระทำ (Action) ที่มุ่งแสดงออกถึงการต่อต้านไม่ยอมรับอำนาจของรัฐบาล ทั้งการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมอันไม่ใช่วิถีปฏิบัติปกติ (Commission) ได้แก่ การฝ่าฝืนกฎหมายนับไม่ถ้วนภายใต้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นภายในราชอาณาจักร และพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ ยังรวมถึงการกระทำโดยละเว้น (Omission) อันไม่เป็นไปตามขนบประเพณีหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ในบางลักษณะ อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่จำเป็นต้องพิจารณาควบคู่กันไป คือ การกระทำ (Action) ดังกล่าวเป็นสันติวิธีหรือไม่
หากยึดมั่นตามนิยามพื้นฐานอย่างเคร่งครัด ว่าสันติวิธีคือการไม่ใช้หรือขู่จะใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่นในทางกายภาพ อาจไม่ง่ายนักที่จะพิจารณาว่าการเคลื่อนไหวในบางลักษณะของ นปช. เป็นวิธีการแห่งสันติ อาทิ การตอบโต้ของนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. ต่อคำให้สัมภาษณ์ของรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เรื่องที่จะให้เจ้าหน้าที่มาบุกจับตัวแกนนำว่า หากมีกรณีเช่นนั้นจริง คนเสื้อแดงก็จะบุกไปจับตัวนายสุเทพเป็นการตอบแทนบ้าง ในทำนองเดียวกันกับปฏิกิริยาของกลุ่มคนเสื้อแดงในต่างจังหวัดต่อท่าทีของศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ที่จะสลายการชุมนุมในกรุงเทพว่า พร้อมจะตอบโต้ด้วยการเผาศาลากลางจังหวัด เป็นต้น
3 หลักการ
3. ต้องไม่มีความเกลียดชัง (No Hatred)
ถึงแม้ความรู้สึกเกลียดชังโดยตัวมันเองจะไม่ใช่พฤติกรรมรุนแรงที่ส่งผลต่อผู้อื่นในทางกายภาพ แต่คงยากจะปฏิเสธว่าความเกลียดชังเป็นมูลฐานสำคัญที่สามารถนำไปสู่ความรุนแรงทางกายภาพได้ เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้การเคลื่อนไหวของ นปช. โดยรวมจะดำเนินไปโดยไม่มีความรุนแรง แต่การชุมนุมใหญ่ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 นั้น กลับมีจุดเริ่มต้นจากการแสดงออกซึ่งความรู้สึกชิงชังรังเกียจ ด้วยพิธีการเผาพริกเผาเกลือสาปแช่งรัฐบาล
ยิ่งไปกว่านั้น ความขัดแย้งอันยืดเยื้อซึ่งเป็นเสมือนระเบิดเวลาระลอกใหญ่ในสังคมไทยครั้งนี้ เป็นทั้งผลและสาเหตุจากการที่คู่ขัดแย้งแต่ละฝ่ายมีสื่ออยู่ในครอบครอง ทั้งสถานีโทรทัศน์ วิทยุและอินเตอร์เน็ต ช่องทางการสื่อสารเหล่านี้ถูกใช้เพื่อนำเสนอข้อมูลและชุดความจริงที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว เป็นกระบวนการสำคัญในการสร้างความเป็นอื่นและความเกลียดชังกันอย่างไม่ลดละ
ในสารคดี “บันไดห้าขึ้นสู่ทรราช” (Five Steps to Tyranny) ซึ่งจัดทำโดยสถานีโทรทัศน์บีบีซี เมื่อหลายปีก่อน แสดงให้เห็นถึงการทดลองทางจิตวิทยาที่พิสูจน์ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโลกของเรา ไม่ได้เป็นผลจากการกระทำของปิศาจร้าย แต่เกิดจากการกระทำของคนธรรมดาเฉกเช่นเราทั้งหลาย กระบวนการที่สามารถเปลี่ยนคนธรรมดาให้กลายไปเป็นฆาตกรเลือดเย็นไดนั้น เริ่มต้นด้วยขั้นตอนง่ายๆ โดยการแบ่ง “พวกเขา” ออกจาก “พวกเรา” ซึ่งมักจะเกิดขึ้นควบคู่กับอคติพื้นฐานว่ากลุ่มของเราเหนือกว่ากลุ่มอื่น ในไม่ช้า “พวกเขา” จะถูกมองว่าน่ารังเกียจเดียดฉันท์ ต่ำต้อยด้อยค่าจนไม่หลงเหลือความเป็นมนุษย์ (Dehumanization) กระทั่งกลายเป็นปิศาจร้ายที่น่าเกลียดกลัว (Demonization) และต้องกำจัดให้สิ้นซาก เมื่อเราเห็นว่าคนอื่นไม่ใช่มนุษย์เหมือนกับเรา การที่จะใช้ความรุนแรงกับเขาก็กลายเป็นเรื่องไม่ยาก
4. มุ่งความเปลี่ยนแปลงสู่เป้าหมายที่เป็นธรรม (Just Cause)
ผู้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมอาจโต้แย้งว่าข้อเรียกร้องของคนเสื้อแดง ที่ให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาในทันที เป็นไม่ใช่เป้าหมายที่ชอบธรรม อย่างไรก็ตาม คงไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่าปัญหาพื้นฐานที่ผลักดันให้กลุ่มคนเสื้อแดงมารวมตัวกัน ทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวย ความไม่เป็นธรรม ตลอดจนการขาดโอกาสที่จะมีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากรในชุมชน นั้นไม่ได้ดำรงอยู่และเป็นปัญหาที่มีมาช้านานในสังคมการเมืองไทย
ถึงแม้เป้าหมายที่เป็นธรรมย่อมจะมีผลไม่มากก็น้อยให้ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงประสบผลสำเร็จได้ หากในทางทฤษฎีกลับพบว่า ไม่มีอะไรในตัวปฏิบัติการไร้ความรุนแรงที่จะป้องกันไม่ให้วิธีการนี้ถูกนำไปใช้เพื่อจุดมุ่งหมายที่ “ดี” หรือ “ชั่ว” อีกนัยหนึ่ง ทฤษฎีปฏิบัติการไร้ความรุนแรงอ้างว่าวิธีการไม่ใช้ความรุนแรงนี้สามารถใช้ให้เป็นผลได้ ทั้งในปฏิบัติการเพื่อเป้าหมายอันชอบธรรมและเป้าหมายอื่นๆ ที่อาจชอบธรรมน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ผลทางสังคมของการใช้ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเพื่อวัตถุประสงค์ที่ชั่วร้ายอาจจะแตกต่างอย่างยิ่งจากผลของการใช้ความรุนแรงเพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน
5. ผู้ใช้สันติวิธีอดทนยอมรับความทุกข์ทรมานเสียเอง (Self-Suffering)
หนึ่งในกิจกรรมการเคลื่อนไหวของ นปช. ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด ได้แก่ “ยุทธการเทเลือด” ซึ่งมีขึ้นในเช้าวันที่ 16 มีนาคม 2553 คนเสื้อแดงจำนวนมากและบรรดาแกนนำ นปช. พร้อมใจกันสละเลือดคนละ 10 ซีซี รวมได้ปริมาณกว่า 200,000 ซีซี เพื่อนำไปเทราดที่ประตูทำเนียบรัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์ในเย็นวันเดียวกัน ทฤษฎีปฏิบัติการไร้ความรุนแรงชี้ว่า ความเจ็บปวดของผู้ใช้สันติวิธีมีอิทธิพลอย่างมากในการพยายามเปลี่ยนทัศนะของฝ่ายตรงข้าม โดยเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของฝ่ายตรงข้าม เป็นวิธีการประสานช่องว่างทางสังคมระหว่างสองกลุ่ม ทำให้ฝ่ายตรงข้ามสามารถรู้สึกผูกพันกับผู้ใช้สันติวิธีที่กำลังเจ็บปวด และมองผู้ใช้สันติวิธีเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน สอดคล้องกับสิ่งที่นายวีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช. อธิบายว่าการสละเลือดครั้งนี้ “เป็นการต่อสู้แบบสันติ อหิงสา เพราะเป็นการเสียสละเลือดของตัวเองมากกว่าประสงค์จะเอาเลือดของศัตรู” ส่วนที่จะเอาเลือดไปเทที่บริเวณรอบทำเนียบรัฐบาลนั้น เพื่อบอกนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่า “หากคิดจะก้าวข้ามกองเลือดของประชาชนในประเทศโดยไม่รู้สึกอะไร ก็ให้มันรู้ไป”
3 กลุ่มวิธีการ
6. ประท้วง/ชักจูงด้วยสัญลักษณ์ (Symbolic Protest/Persuasion)
การประท้วงโน้มน้าวโดยไร้ความรุนแรงเป็นวิธีการซึ่งมุ่งเน้นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือต่อต้านผ่านการกระทำ อาจเพื่อกระตุ้นความสนใจและทำให้ปัญหาดังกล่าวเป็นที่รับรู้ทั่วกัน โดยมุ่งให้ฝ่ายตรงข้ามหรือคนอื่นๆ ยอมรับในความคิดเห็นนั้นหรือลงมือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มคนเสื้อแดงพยายามสื่อสารจุดยืนทางการเมืองของพวกตนผ่านกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ อาทิ การมีหน่วยจักรยานยนต์อาสากว่า 500 คัน วิ่งกระจายรอบกรุงเทพ เพื่อรณรงค์ติดและแจกจ่ายสติกเกอร์จำนวน 500,000 แผ่นเรียกร้องให้ยุบสภา หรือกิจกรรมของกลุ่ม “ไม่ต้องจ้าง เราอยากทำ” ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของนักกิจกรรมทางสังคมและช่างภาพอิสระ นำภาพถ่ายความเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงในมุมมองที่อ้างว่าไม่ได้ถูกนำเสนอในสื่อกระแสหลักมาจัดนิทรรศการ “Red-Shirt Unseen” และเปิดเวทีให้ผู้ที่มาเข้าชมนิทรรศการได้แสดงความคิดเห็นที่มีต่อคนเสื้อแดง นอกจากนี้ ในเวลาต่อมา กลุ่มคนเสื้อแดงยังตัดสินใจยกระดับการเคลื่อนไหวของตน โดย นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ และแกนนำคนเสื้อแดงจากจังหวัดต่างๆ พร้อมมวลชน ทั้งหญิงชาย เด็กและคนแก่ กว่า 400 คน ร่วมกันทำกิจกรรมโกนหัวขับไล่รัฐบาล โดยนายสุภรณ์อธิบายว่า การโกนหัวครั้งนี้เป็นไปตามแนวทางสันติ อหิงสา เพื่อสื่อให้เห็นว่าคนเสื้อแดงพร้อมสละทุกอย่าง ในการต่อสู้ขับไล่รัฐบาล ไม่ว่าเลือดหรือเส้นผม ทั้งมั่นใจว่าเป็นการโกนหัวไล่รัฐบาลที่มีคนร่วมมากที่สุดในโลก ให้ทั่วโลกเห็นแนวการต่อสู้ที่แท้จริงของคนเสื้อแดง
ในทำนองเดียวกัน กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมก็ร่วมกันรณรงค์ให้ทุกฝ่ายมีความอดกลั้นและไม่ใช้ความรุนแรงต่อกันผ่านกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ตัวอย่างเช่น กลุ่มประชาชนไม่เอาสงครามกลางเมืองนำธงสีขาวและพวงมาลัยเขียนข้อความว่า “สติ สันติ สันติภาพ” กับเอกสารเรียกร้องให้หยุดใช้ความรุนแรงแจกจ่ายเพื่อรณรงค์ให้ทั้งรัฐบาลและกลุ่มคนเสื้อแดงอย่าใช้ความรุนแรง โดยมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม ให้กลุ่ม นปช. ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐบังคับใช้กฎหมายเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมโดยมีเป้าหมายเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย ที่สำคัญ เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมการชุมนุมต้องไม่มีการติดอาวุธ ให้มีเฉพาะอุปกรณ์ป้องกันตัวและอุปกรณ์สำหรับควบคุมดูแลการชุมนุมเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีข้อเรียกร้องต่อประชาชนกลุ่มต่างๆ ซึ่งอาจมีจุดยืนหรือความเห็นทางการเมืองต่างจากผู้ชุมนุม ให้ใช้ความอดทนอดกลั้น มีสติยับยั้ง ไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ติดตามข่าวสารอย่างมีสติ และไม่ให้ความร่วมมือกับฝ่ายใดที่ใช้ความรุนแรง
7. ไม่ให้ความร่วมมือ (Non-Cooperation)
ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงโดยไม่ให้ความร่วมมือ เป็นเจตนาที่จะหยุดยั้งหรือเพิกถอนความร่วมมือในรูปแบบหรือระดับที่เคยให้แก่บุคคล กิจกรรม สถาบันหรือระรอบปกครอง เพื่อแสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วอำนาจในการปกครองล้วนมีที่มาจากจากการยอมรับและสนับสนุนของประชาชน และเมื่อใดที่ประชาชนพร้อมใจกันเพิกถอนความยินยอมนั้น บุคคล กิจกรรม สถาบัน กระทั่งระบอบปกครอง ก็ไม่อาจดำเนินต่อไปได้ ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงโดยวิธีการไม่ให้ความร่วมมือสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มวิธี ได้แก่ (1) การไม่ให้ความร่วมมือทางสังคม (2) การไม่ให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อาทิ การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และการนัดหยุดงาน และ (3) การไม่ให้ความร่วมมือทางการเมือง
นับตั้งแต่กลุ่มคนเสื้อแดงเริ่มการชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพ ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ได้ทยอยออกประกาศฉบับต่างๆ รวมทั้งสิ้น 11 ฉบับ กระทั่งคณะรัฐมนตรีมีมติประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 และศาลอนุมัติหมายจับแกนนำ นปช. รวมทั้งสิ้น 17 คน แต่กลุ่มคนเสื้อแดงกลับเพิกเฉย กระทั่งตั้งใจจะละเมิดกฎหมายเหล่านี้อย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งประกาศจะยกระดับการกดดันให้เพิ่มมากขึ้น และยังเชิญชวนให้คนในกรุงเทพและต่างจังหวัดออกมาร่วมเรียกร้องให้มีการยุบสภาอีกด้วย นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. เคยประกาศอย่างชัดเจนว่า “หากนายกเข้าใจว่า การประกาศ พ.ร.ก. ดังกล่าวจะควบคุมคนเสื้อแดงได้ตามอำเภอใจ ทั้งหมดนั้นคิดผิด ในทางกลับกัน ประชาชนจะใช้ พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าวจัดการนายกอภิสิทธิ์แทน...เพราะประชาชนไม่ถอยอย่างแน่นอน”
การไม่ให้ความร่วมมือหรือตั้งใจละเมิดกฎหมายในลักษณะเช่นนี้ ถือเป็นปฏิบัติการสันติวิธีรูปแบบหนึ่ง เรียกว่า “อารยะขัดขืน” (Civil Disobedience) นั่นคือ เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนและต่อต้านกฎหมายโดยสันติวิธี เพื่อมุ่งประท้วงหรือคัดค้านคำสั่งและกฎหมายของผู้ปกครองที่อยุติธรรม หรือเป็นการต่อต้านการกระทำของรัฐบาลที่ประชาชนเห็นว่าไม่ถูกต้อง โดยอ้างอิงบรรทัดฐานและกฎเกณฑ์ที่สูงส่งยิ่งกว่า คือ “คำสั่งแห่งความรู้สึกผิดชอบชั่วดี” ของตนเอง อย่างไรก็ตาม การใช้อารยะขัดขืนไม่ได้มุ่งเปลี่ยนแปลงหรือแย่งชิงอำนาจรัฐ แต่เป็นการต้านอำนาจรัฐด้วยการมุ่งเปลี่ยนแปลงบางสิ่งในกฎหมายหรือนโยบายของรัฐที่ไม่เป็นธรรม โดยการปลุกจิตสำนึกและมโนสำนึกของคนในสังคมให้ตระหนักถึงความอยุติธรรมที่ดำรงอยู่ ที่สำคัญ อารยะขัดขืนต่างจากการละเมิดอำนาจรัฐแบบอื่นๆ ทั้งหมด ตรงที่ผู้ใช้จะต้องยอมรับการลงโทษที่รัฐจะกระทำต่อตน ในฐานะพลเมืองของรัฐด้วย กล่าวคือ การปลุกมโนธรรมสำนึกของสาธารณะไม่ได้เพียงเกิดขึ้นจากการละเมิดกฎหมาย แต่เกิดขึ้นจากการรับผลของการละเมิดกฎหมายดังกล่าว เพราะอารยะขัดขืน (Civil Disobedience) เป็นการขัดขืนอำนาจรัฐ เพื่อทำให้สังคมการเมืองโดยรวมมี “อารยะ” ยิ่งขึ้นนั่นเอง
8. แทรกแซงทางตรง (Direct Intervention)
ในสัปดาห์ที่สามของการชุมนุม กลุ่ม นปช. ประกาศยกระดับการเคลื่อนไหวให้เข้มข้นยิ่งขึ้น ผ่านยุทธศาสตร์สำคัญ 2 ประการ ได้แก่ ยุทธศาสตร์แรก “ตาต่อตา เต็นท์ต่อเต็นท์” เป็นยุทธศาสตร์ที่การ์ด นปช. ไปตั้งเต็นท์ประกบกองกำลังทหารที่ประจำอยู่ใกล้กับบริเวณที่ชุมนุมทุกหน่วย และจะให้ผู้ชุมนุมเข้าค้นตัวนายทหารทุกคน เพื่อตรวจสอบว่าทหารที่มารักษาความปลอดภัยให้ผู้ชุมนุมปราศจากอาวุธตามที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่ และยุทธศาสตร์ที่สอง เรียกว่า ยุทธศาสตร์ “ตามไปดู” คือ การที่กลุ่มผู้ชุมนุมอ้างว่าจะตามนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไปทุกแห่งโดยไม่ปราศจากอาวุธ ยุทธวิธีดังกล่าวถือว่าเป็นการแทรกแซงทางตรงโดยสันติวิธี นั่นคือ การแทรกแซงเข้าไปในสถานการณ์ เพื่อมุ่งจะแยกสลาย กระทั่งทำลายแบบแผนพฤติกรรมที่เป็นอยู่ และมุ่งจะสร้างแบบแผนพฤติกรรม นโยบาย ความสัมพันธ์หรือสถาบันซึ่งเป็นที่พอใจขึ้นมา
2 พลวัต
9. เปลี่ยนพฤติกรรมของฝ่ายตรงข้ามโดยเปลี่ยนใจของเขา (Conversion)
หลังการประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ กล่าวปราศรัยในที่ชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ เรียกร้องให้ทหารและตำรวจพิจารณาสถานการณ์และตัดสินใจว่าจะเลือกยืนอยู่ข้างใคร “หากเลือกอยู่ข้างรัฐบาล จะต้องจับอาวุธเข้าเผชิญหน้าประชาชนที่ปักหลักไม่ยอมถอย ต้องใช้อาวุธเข่นฆ่าประชาชนเพื่อรักษานายอภิสิทธิ์เพียงคนเดียวให้เป็นนายกต่อไป แต่หากทหารกล้าที่จะยืนอยู่ข้างประชาชน ทันทีที่มีคำสั่งให้ใช้กำลังปราบปรามประชาชน ให้ทั้งหมดวางอาวุธและเดินมาอยู่ข้างประชาชน จะมีนายกอภิสิทธิ์เพียงคนเดียวที่ต้องเดินลงจากอำนาจ”
คำประกาศดังกล่าวอาจสามารถอธิบายในทางทฤษฎีได้ว่าเป็นความพยายามที่จะเปลี่ยนทัศนะและความเชื่อของคู่ต่อสู้ให้หันมายอมรับจุดหมายของผู้ใช้สันติวิธี (Conversion) การเปลี่ยนทัศนะดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเพราะเหตุผล อารมณ์ ความเชื่อหรือระบบศีลธรรมของฝ่ายตรงข้าม และมีเงื่อนไขสำคัญอยู่ที่ความเต็มใจเสียสละอุทิศตนเพื่อยืนยันความเชื่อและวัตถุประสงค์ของผู้ใช้สันติวิธี หากฝ่ายตรงข้ามแลเห็นความจริงใจดังกล่าว ก็จะเคารพต่อผู้ใช้สันติวิธี และหันมาทบทวนทัศนะของเขาที่มีต่อกลุ่ม ความคิด และเป้าหมายเหล่านั้น ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นบันไดเบื้องต้นไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ตลอดจนนโยบายหรือสถาบันของฝ่ายตรงข้ามได้ในที่สุด
10. เปลี่ยนพฤติกรรมของฝ่ายตรงข้ามด้วยการสร้างเงื่อนไขกดดันพลังต่างๆ ที่แวดล้อมเขาอยู่
ความเปลี่ยนแปลงจำนวนมากโดยสันติวิธีไม่ได้เกิดขึ้นเพราะคู่ขัดแย้งมีทัศนะที่เปลี่ยนไป แต่เป็นผลมาจากเงื่อนไขกดดันที่แวดล้อมฝ่ายตรงข้ามนั้นอยู่ ทำให้จำเป็นต้องเปลี่ยนพฤติกรรม แม้จะฝืนเจตจำนงของเขาก็ตาม ทั้งนี้อาจเป็นเพราะคู่ขัดแย้งต้องการลดทอนการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น หากไม่ยอมตามข้อเรียกร้องของผู้ใช้สันติวิธี หรือเพราะกลุ่มผู้ต่อต้านคัดค้านมีจำนวนเพิ่มมากเกินกว่าจะปราบปรามให้ยอมจำนนได้ กล่าวคือ ที่มาแห่งอำนาจของฝ่ายตรงข้ามนั้นจะถูกลดทอนหรือถูกทำลายด้วยวิธีการไร้ความรุนแรง หากไม่ยินยอมและยังให้การต่อสู้ดำเนินต่อไป เขาอาจไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในที่สุด
อาจกล่าวได้ว่า ยุทธวิธีที่ผ่านมาของกลุ่มคนเสื้อแดง หากไม่ใช่เพื่อมุ่งกดดันรัฐบาลโดยตรง ก็ล้วนแต่เป็นการสร้างเงื่อนไขให้กลุ่มพลังต่างๆ ที่แวดล้อมรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อเรียกร้องกดดันให้เกิดการยุบสภา ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของกลุ่ม นปช. อาจกล่าวได้ว่าการชุมนุมใหญ่ทั้งที่บริเวณแยกผ่านฟ้าและราชประสงค์ ตลอดจนการเคลื่อนพลไปยังบริเวณต่างๆ ซึ่งส่งผลให้การจราจรติดขัดไปทั่วเมือง อีกทั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินรถกว่า 50 เส้นทาง ขณะที่การปักหลักชุมนุมที่บริเวณแยกราชประสงค์ทำให้ห้างสรรพสินค้าใหญ่ทั้ง 8 ห้างรอบพื้นที่ต้องปิดทำการนับตั้งแต่วันที่ 3 เมษายนเป็นต้นมา ก่อความสูญเสียให้แก่ธุรกิจค้าปลีกในย่านเศรษฐกิจสำคัญนี้สูงถึงประมาณวันละ 1,000 ล้านบาท ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของกลุ่มคนเสื้อแดง อย่างไรก็ตาม ย่อมไม่อาจปฏิเสธได้ว่ายุทธวิธีบางประการ แม้จะถือเป็นสันติวิธี กล่าวคือ ไม่ใช่การใช้หรือขู่จะใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่นในทางกายภาพ แต่เมื่อการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้คนอย่างกว้างขวาง โดยไม่อาจอธิบายข้ออ้างรองรับ (Justification) หรือความเชื่อมโยงของยุทธวิธีกับเป้าหมายของผู้ใช้สันติวิธีได้โดยตรง อาจก่อให้เกิดแรงต่อต้านจากสังคมต่อกลุ่มผู้ใช้ยุทธวิธีนั้นๆ มากกว่าจะเห็นคล้อยตาม ดังจะเห็นได้จากปรากฏการณ์การรวมกลุ่มของคนที่ไม่เห็นด้วยและต่อต้านกลุ่มคนเสื้อแดงที่มีเพิ่มมากขึ้น
3 ข้อจำกัด
11. สันติวิธีขึ้นกับการเตรียมตัวเตรียมการ
ความสำเร็จของการใช้สันติวิธีโดยกลุ่ม ย่อมขึ้นอยู่กับความพร้อมในการจัดการและเตรียมการ เช่นเดียวกันกับการจัดองค์กรในรูปแบบอื่นๆ ความพร้อมในที่นี้หมายรวมถึง ความพร้อมด้านข้อมูล ตลอดจนความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหาและสถานการณ์ การวางแผน การกำหนดยุทธศาสตร์และยุทธวิธี การระดมคนและทะรัพยากร รวมถึงการฝึกฝนอบรมผู้ใช้สันติวิธีให้มีความพร้อมทางกาย กล่าวคือ มีสุขภาพแข็งแรงและมีทักษะในการป้องกันตนเอง (โดยปราศจากอาวุธ) มีความพร้อมด้านสติปัญญา คือ เข้าใจประเด็นปัญหาและยุทธวิธี มีไหวพริบในการแก้ไขปัญหา ตลอดจนมีความพร้อมในด้านอารมณ์ความรู้สึกให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้
ในแง่การวางแผนเตรียมการ กลุ่มคนเสื้อแดงเริ่มต้นการชุมนุมใหญ่ครั้งนี้โดยร่วมกันระดมทุนเพื่อสนับสนุนค่าน้ำมันรถในการเดินทางมาชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพฯ ภายใต้โครงการ “ร่วมใจซื้อน้ำมันไล่รัฐบาล 1 ล้านคัน 1 ล้านคน” ขณะที่การเตรียมกายและใจ นายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร อ้างว่าได้เน้นย้ำกับสมาชิกกว่า 200 คนอยู่เสมอ ห้ามไม่ให้ดื่มสุราอย่างเด็ดขาด หากพบเห็นจะให้กลับบ้านในทันที
ตัวอย่างที่น่าสนใจในเรื่องการเตรียมความพร้อมของผู้ใช้สันติวิธีจากกรณีศึกษานี้ ได้แก่ ปรากฏการณ์เมื่อวันที่ 20 เมษายน ซึ่งกลุ่มคนเสื้อแดงประกาศจะเดินขบวนไปทั่วเมือง เพื่อเชิญชวนให้คนกรุงเทพมาร่วม ขับไล่รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก่อนที่จะมีการตั้งแถวเคลื่อนขบวน นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำและหัวหน้าหน่วยสันติวิธีของ นปช. ได้กล่าวชี้แจงและซักซ้อมกับมวลชนถึงวิธีการเดินขบวน อันประกอบด้วยหลัก “3 ไม่” ได้แก่ ไม่โกรธ ไม่รุนแรง ไม่ตอบโต้ และ “3 ส่ง” คือ ส่งยิ้ม ส่งความรัก ส่งความสุข” กระนั้น เมื่อขบวน นปช. เคลื่อนมาจนถึงบริเวณแยกราชเวที มีกลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มคนเสื้อแดงขว้างขวดแก้วจากดาดฟ้าอาคารพาณิชย์ ตกลงมายังพื้นแตกกระจาย สร้างความไม่พอใจแก่ผู้ชุมนุม ซึ่งเตรียมจะบุกขึ้นไปบนอาคาร แต่แกนนำก็รีบประกาศห้ามปรามและเคลื่อนขบวน ต่อไป
ตัวอย่างที่น่าสนใจอีกกรณีหนึ่ง คือ การที่นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง นำมวลชนคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 7 เมษายน ถูกมองว่าส่งผลต่อภาพลักษณ์ของ นปช. จนแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงต้องออกมาชี้แจงว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการตัดสินใจของนายอริสมันต์เพียงคนเดียว และยืนยันวันแกนนำ นปช. ส่วนใหญ่ยังยึดแนวทางสันติวิธี
ในทางทฤษฎี การรักษาวินัยโดยยืนหยัดจะไม่ใช้ความรุนแรง เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการยั่วยุหรือการปราบปรามกดขี่ ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อความสำเร็จของขบวนการสันติวิธี กลุ่มผู้ใช้สันติวิธีจะต้องยึดมั่นในการไม่ใช้ความรุนแรง ไม่เช่นนั้นก็กลายจะเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่ฝ่ายตรงข้าม และบั่นทอนขบวนการสันติวิธีให้อ่อนแอลง ทำให้กลุ่มผู้ใช้สันติวิธีนั้นมีอัตราเสี่ยงสูงที่จะพ่ายแพ้
12. ใช้สันติวิธีแล้วอาจเผชิญกับความรุนแรงจากฝ่ายตรงข้ามได้
ข้อจำกัดซึ่งกลายเป็นมายาคติสำคัญประการหนึ่งสันติวิธี คือ ความเข้าใจที่ว่าผู้ใช้สันติวิธีจะไม่ถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรง ในความเป็นจริง ไม่มีหลักประกันใดรับรองได้ว่า เมื่อใช้สันติวิธีแล้ว คู่กรณีจะไม่ตอบโต้ปราบปรามด้วยความรุนแรง การคาดหวังว่าจะไม่ถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรง เป็นเป็นทั้งความเข้าใจผิดและความประมาทที่อาจส่งผลเลวร้ายต่อผู้ใช้สันติวิธีได้ เพราะทำให้ขาดการเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับสถานการณ์และอาจใช้ความรุนแรงเข้าตอบโต้ เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสและสร้างความชอบธรรมให้แก่คู่กรณี ในการใช้ความรุนแรงกับตนได้อย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้น การเตรียมความพร้อมทั้งกายและใจ ตลอดจนการฝึกฝนวินัยของผู้ใช้สันติวิธี ซึ่งในที่นี้หมายถึงมวลชนคนเสื้อแดง เจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหารที่ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ตลอดจนกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของ นปช. จึงถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จร่วมกันในการป้องกันไม่ให้สถานการณ์บานปลายไปสู่ความรุนแรง
13. ใช้สันติวิธีแล้วอาจไม่ประสบผลสำเร็จก็เป็นได้
สันติวิธี ในฐานะวิธีการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย มีคุณสมบัติประการหนึ่งที่ไม่ต่างกับวิธีการไปสู่เป้าหมายอื่นๆ นั่นคือ ไม่สามารถรับประกันความสำเร็จได้ในทุกกรณี ความสำเร็จของสันติวิธีย่อมต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไของค์ประกอบมากมาย ทั้งเงื่อนไขภายนอกและเงื่อนไขภายในของกลุ่มผู้ใช้สันติวิธี การจะสามารถตอบคำถามว่าความพยายามใช้ “สันติวิธี” ในสังคมไทยปัจจุบันประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด อาจต้องอาศัยเวลาและการเฝ้าติดตามพัฒนาการของสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม การประเมินความสำเร็จของสันติวิธีดังกล่าว ย่อมเป็นผลมาจากการนิยามว่าอะไรคือความสำเร็จของสันติวิธีในสังคมไทย ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่หยั่งรากลึกครั้งนี้
บทสรุป: ความสำเร็จของสันติวิธีท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง
หากจะประเมินความสำเร็จของสันติวิธีโดยจำกัดอยู่บนพื้นฐานความต้องการของคู่ขัดแย้งทางการเมือง อาจต้องสรุปว่ายังไม่มีฝ่ายใดประสบความสำเร็จเลย กล่าวคือ รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังคงบริหารประเทศต่อไป ไม่ได้ประกาศยุบสภาตามที่กลุ่มคนเสื้อแดงเรียกร้อง ในทางกลับกัน รัฐบาลซึ่งต้องการจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม ก็ล้มเหลวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารและผู้ชุมนุม จากผลของการ “ขอคืนพื้นที่” เมื่อคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 25 ศพและมีผู้บาดเจ็บกว่า 865 ราย
ดังนั้นแล้ว หมายความว่าการพยายามใช้สันติวิธีท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในครั้งนี้มีแต่ความล้มเหลวหรอกหรือ?
ก่อนหน้าเหตุการณ์ความรุนแรงในวันที่ 10 เมษายน คงยากจะมีใครปฏิเสธได้ว่าความพยายามยึดมั่นในสันติวิธีของคู่ขัดแย้ง ทั้งการชุมนุมแสดงพลังโดยปราศจากอาวุธของประชาชนและการอำนวยการจากภาครัฐ มีส่วนสำคัญให้ตัวแทนจากรัฐบาลและแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. สามารถนั่งโต๊ะเจรจาร่วมกันถึงสองครั้ง ในวันที่ 28 และ 29 มีนาคม 2553 แม้ว่าการเจรจาระหว่างสองฝ่ายจะยังไม่สามารถนำไปสู่ข้อยุติของความขัดแย้ง แต่กระบวนการเจรจาดังกล่าวก็ได้จุดประกายความหวังให้แก่สังคม อีกทั้งยังเป็นอีกหมุดหลักสำคัญในเส้นทางสันติวิธีและประชาธิปไตยไทย
แม้เมื่อการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายยุติลง และเกิดเหตุรุนแรงในคืนวันที่ 10 เมษายนตามมา ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมกลับยิ่งชัดเจนว่าความรุนแรงไม่ใช่คำตอบสำหรับความขัดแย้งในครั้งนี้ ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเขตกรุงเทพและปริมณฑล จำนวน 1,084 คน หลังเหตุการณ์ปะทะผ่านพ้นไปเพียง 1 วัน พบว่า ผู้คนกว่าร้อยละ 40 เห็นว่าการไม่ใช้ความรุนแรงเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในครั้งนี้ ขณะที่ ทั้งพลทหารและสมาชิกกลุ่ม นปช. ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ปะทะ ต่างก็รู้สึกเหมือนกันว่าไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงแบบนี้ขึ้นกับใครอีก
ถึงแม้สันติวิธีจะไม่เคยรับประกันว่าผู้ปฏิบัติการจะไม่เผชิญกับความรุนแรงจากฝ่ายตรงข้าม แต่ความตั้งใจให้เกิดความสูญเสียไม่ว่าต่อผู้ใดฝ่ายใดเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ก็คงไม่อาจถือเป็นชัยชนะของสันติวิธีไปได้ เป็นไปได้ไหมว่าในวันนี้ คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายและสังคมไทย จะร่วมกันนิยามชัยชนะแห่งสันติวิธีท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้เสียใหม่ กล่าวคือ ความสำเร็จแห่งสันติวิธีสำหรับฝ่ายรัฐบาลอาจหมายถึง การบังคับใช้กฎหมายโดยไม่ให้เกิดความรุนแรงและการสูญเสียขึ้นอีก ขณะที่ความสำเร็จสำหรับกลุ่มคนเสื้อแดงอาจหมายถึง การแสดงให้เห็นถึงความไม่ยอมรับในรัฐบาลโดยไม่มุ่งสร้างความเกลียดชัง และพยายามให้ได้มาซึ่งข้อเรียกร้องพื้นฐานของตน คือสังคมที่เป็นธรรม โดยยังคงรักษาชีวิตของมวลชนเอาไว้ได้ ส่วนชัยชนะแห่งสันติวิธีสำหรับสังคมไทย อาจวางอยู่บนพื้นฐานสำคัญที่ว่า สังคมสงบสันติที่เราต่างเรียกร้อง ย่อมต้องก่อร่างสร้างขึ้นมาจากความอดทนอดกลั้น ความเข้าใจและเอื้ออาทรต่อกันในวันนี้