ผลต่างระหว่างรุ่นของ "นักศึกษาชุมนุมประท้วงกรณีมายาเกวซ"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
หน้าที่ถูกสร้างด้วย ''''ผู้เรียบเรียง''' จุฬาพร เอื้อรักสกุล ---- '''ผู้ทรงคุ...'
 
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
 
บรรทัดที่ 33: บรรทัดที่ 33:
<references/>
<references/>
[[หมวดหมู่:เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย สมัย พ.ศ. 2501-2519]]
[[หมวดหมู่:เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย สมัย พ.ศ. 2501-2519]]
[[หมวดหมู่:จุฬาพร เอื้อรักสกุล]]

รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 10:26, 4 ตุลาคม 2554

ผู้เรียบเรียง จุฬาพร เอื้อรักสกุล


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


นักศึกษาชุมนุมประท้วงกรณี “มายาเกวซ”

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 เวลาประมาณ 15.20 น. เรือมายาเกวซ (Mayaquez) ซึ่งเป็นเรือบรรทุกสินค้าของประเทศสหรัฐอเมริกาที่กำลังแล่นจากฮ่องกงมุ่งหน้ามาสัตหีบ จ. ชลบุรี ได้ถูกเรือของรัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตยจับในเขตน่านน้ำซึ่งอยู่ห่างจากฝั่งของประเทศกัมพูชาประมาณ 60 ไมล์ ขณะที่ถูกจับเรือดังกล่าวมีลูกเรือรวม 39 คน[1] รัฐบาลสหรัฐตอบโต้อย่างแข็งกร้าวและรวดเร็วเพราะเห็นเป็นโอกาสอันดีที่ผู้นำสหรัฐใช้เพื่อแสดงอำนาจและความเด็ดขาดให้ปรากฏแก่ชาวโลก เนื่องจากว่าเพียงแค่เดือนก่อนหน้านั้นทั้งกัมพูชาและเวียดนามใต้ได้พ่ายแพ้แก่กองกำลังคอมมิวนิสต์ซึ่งสร้างความสั่นคลอนอย่างยิ่งแก่เกียรติภูมิและความภูมิใจแห่งชาติของชาวอเมริกัน[2]

ปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐเพื่อชิงเรือคืนเกิดขึ้นโดยนาวิกโยธินอเมริกันจากเกาะโอกินาวาและอ่าวซูบิคที่ถูกส่งมายังฐานทัพอเมริกันที่อู่ตะเภาในวันที่ 13 พฤษภาคม ได้บุกจู่โจมชิงเรือและลูกเรือคืนในเช้ามืดวันที่ 14 พฤษภาคม โดยมีเครื่องบินรบจากฐานทัพอเมริกันที่อุดรธานีและโคราชออกปฏิบัติการร่วมด้วย และประสบความสำเร็จในเวลาประมาณ 11.00 น.

การใช้ดินแดนไทยเพื่อปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้เกิดขึ้นโดยขัดขืนเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยซึ่งมิได้รับรู้ปฏิบัติการครั้งนี้เลย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้แจ้งแก่อุปทูตสหรัฐประจำประเทศไทยในวันที่ 13 พฤษภาคม แล้วว่า ไทยไม่ยินยอมให้ใช้ดินแดนไทยในทางการทหารใดๆ เพื่อตอบโต้กัมพูชา อย่างไรก็ตาม ก่อนการดำเนินภารกิจนี้ สถานทูตสหรัฐได้แจ้งแผนการใช้กำลังต่อพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดซึ่งเป็นผู้ที่สหรัฐติดต่อด้านการทหารเป็นประจำ[3] พลเอกเกรียงศักดิ์ได้ให้อนุญาตโดยมิได้แจ้งแก่รัฐบาลไทยๆซึ่งรับรู้สถานการณ์ภายหลังจากที่สหรัฐดำเนินภารกิจเสร็จสิ้นแล้ว ก็ได้แถลงว่าการกระทำครั้งนี้เป็นการละเมิดอธิปไตยไทยและได้ยื่นบันทึกประท้วงต่ออุปทูตสหรัฐพร้อมทั้งระบุให้ถอนนาวิกโยธินออกทั้งหมดภายใน 24 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ได้สร้างความสะเทือนกว้างไกล กลุ่มการเมืองต่างๆ ได้แสดงปฏิกิริยาประท้วงและประณามสหรัฐอย่างรวดเร็วและอย่างสอดคล้องกันซึ่งขัดแย้งกับบริบทการเมืองไทยขณะนั้นที่มีความขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองอย่างรุนแรงในสังคม ดังที่บทความหนึ่งในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 ระบุว่า “ไม่มีครั้งใดในการเมืองไทยที่คนไทยทั้งชาติจะแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบรัฐบาลสหรัฐเท่าครั้งนี้” การเคลื่อนไหวเริ่มขึ้นในวันที่ 15 พฤษภาคม โดยพรรคการเมืองฝ่ายค้านทุกพรรคได้เรียกร้องให้เปิดประชุมสภาวิสามัญเพราะเห็นว่าเหตุการณ์เป็นภาวะคับขันและเกี่ยวข้องกับ เอกราชและอธิปไตยของชาติ หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับได้เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนความสัมพันธ์ไทย – อเมริกันเพื่อให้ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน แต่ปฏิกิริยาที่รุนแรงที่สุดมาจากศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยซึ่งได้จัดการชุมนุมประท้วงสหรัฐที่สนามหลวงและมีผู้เข้าร่วมหลายพันคน ต่อมาในวันที่ 16 พฤษภาคม คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ส่งบันทึกประท้วงถึงรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ พร้อมทั้งเรียกตัวเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐกลับ และประกาศจะทบทวนสัญญาและข้อผูกพันระหว่างไทยกับสหรัฐที่มีทั้งหมด ส่วนการชุมนุมที่นำโดยศูนย์นิสิตฯ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ขีดเส้นตายให้รัฐบาลสหรัฐต้องขอขมาภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากที่ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ จากรัฐบาลสหรัฐในวันต่อมากลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มายังหน้าสถานทูตสหรัฐ อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ได้เข้าร่วมด้วย เช่น นายธีรยุทธ บุญมี และ นายเสกสรร ประเสริฐกุล เป็นต้น

ในวันที่ 3 มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมจำนวนถึงกว่าหนึ่งหมื่นคน สหภาพกรรมกร 61 แห่งได้ประกาศเข้าร่วมด้วยและขู่จะทำลายธุรกิจของบริษัทที่ชาวอเมริกันเป็นเจ้าของถ้าสหรัฐไม่ขอโทษไทย นอกจากนี้ ยังมีการชุมนุมของนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสงขลานครินทร์ด้วย ผู้ชุมนุมที่หน้าสถานทูตได้เผาหุ่นประธานาธิบดีฟอร์ดและ ดร.เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐซึ่งมีความผิดตามคำพิพากษาของ “ศาลประชาชน” คือ “เป็นฆาตกรเลือดเย็น ฆ่าประชาชนหลายหมื่นคนในอินโดจีนและหลอกลวงประชาชนไทย” นายธีรยุทธ บุญมี ได้ประกาศด้วยว่าหากประธานาธิบดีฟอร์ดไม่ขอโทษประชาชนไทยเองภายใน 24 ชั่วโมง ก็จะเผาธงชาติอเมริกันซึ่ง “เป็นการทำลายสัญลักษณ์ของจักรวรรดินิยมอเมริกา” การชุมนุมได้เกิดความวุ่นวายขึ้นเมื่อผู้ชุมนุมกรูกันเข้าไปแกะตราสถานทูตซึ่งเป็นรูปนกอินทรีลงกระทืบและติดรูปอีแร้งแทน ป้ายชื่อสถานทูตถูกทับด้วยป้าย “ซ่องโจร” และขณะที่เหตุการณ์กำลังชุลมุนนั้น ก็มีคนกลุ่มหนึ่งแต่งตัวเป็นชาวเวียดนามกระชากธงชาติอเมริกันลงมาปัสสาวะรดกลางที่ชุมนุมขณะเกิดเหตุการณ์ทั้งหมดนั้น กำลังตำรวจที่ดูแลบริเวณนั้นมิได้เข้าจัดการใดๆ

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความวิตกกังวลแก่ผู้นำรัฐบาลมากและต้องการยุติการชุมนุมโดยเร็วที่สุด ดังนั้น เมื่ออุปทูตสหรัฐขอพบเพื่อหารือสถานการณ์ พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีต่างประเทศก็ได้ขอให้ส่งสารขอโทษไทย ในเช้าวันต่อมาอุปทูตสหรัฐได้ยื่นบันทึกของอุปทูตต่อ พลตรีชาติชายซึ่งมีใจความบางตอนว่า “รัฐบาลสหรัฐเข้าใจถึงปัญหาที่ได้สร้างให้แก่รัฐบาลไทย...และขอย้ำว่ามีความเสียใจในเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ สหรัฐยังคงมีนโยบายที่จะเคารพต่ออธิปไตยและเอกราชของไทยเสมอ...และเหตุการณ์ทำนองนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก” พลตรีชาติชายกล่าวในเวลาต่อมาว่าพอใจต่อบันทึกนี้และคำขอโทษจากประธานาธิบดีฟอร์ดก็ไม่จำเป็นอีกต่อไปและได้ส่งสำเนาบันทึกแก่ผู้นำการชุมนุมที่หน้าสถานทูต กลุ่มผู้ชุมนุมได้ประกาศว่า “รัฐบาลสหรัฐได้ขอขมาแล้ว” และประกาศก่อนเลิกการชุมนุมว่าการต่อสู้ครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ส่วนจุดสุดท้ายคือการขับไล่ฐานทัพอเมริกันทั้งหมดออกไป

ปฏิกิริยารุนแรงของนักศึกษาและสาธารณชนต่อเหตุการณ์มายาเกวซเกิดขึ้นในบริบทการเมืองไทยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ที่มีข้อเรียกร้องจากหลายกลุ่มให้รัฐบาลดำเนินนโยบายที่เป็นอิสระจากสหรัฐ กลุ่มเหล่านี้ซึ่งมีทั้งนักวิชาการ นักหนังสือพิมพ์ นักการเมืองพลเรือนและนักศึกษา มีทัศนะว่า นโยบายต่างประเทศที่ผูกพันกับสหรัฐอย่างแน่นแฟ้นนั้นถูกกำหนดโดยผู้นำทหารซึ่งมีผลประโยชน์สอดคล้องกับสหรัฐและเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์กับสหรัฐมากกว่า โดยเฉพาะฐานทัพและทหารอเมริกันในประเทศไทยก็คือสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันที่ต้องให้หมดไปโดยเร็ว อีกทั้งทำให้ไทยสูญเสียอธิปไตยและไร้เกียรติภูมิประเทศ นักวิชาการ เช่น ดร. เขียน ธีระวิทย์ กล่าวใน พ.ศ. 2518 ว่า หากฐานทัพอเมริกันยังอยู่ต่อไป “จะสร้างความแตกแยกให้คนในชาติมากขึ้น อาจเกิดการตั้งขบวนการสังหารชาวอเมริกันและทหารอเมริกันในไทย เพราะคนไทยทุกวันนี้มีความเกลียดชังทหารอเมริกัน” ส่วนนักศึกษาฝ่ายซ้ายกลุ่มหนึ่งในเวลานั้นก็ได้ผลิตงานเขียนหรือกล่าวเสมอในที่สาธารณะว่า สหรัฐเป็น “จักรวรรดินิยม” ที่เอาเปรียบประเทศเล็กทั่วไปรวมทั้งไทยด้วย

การชุมนุมของนักศึกษาครั้งนี้ดูเหมือนประสบความสำเร็จเพราะรัฐบาลได้ตอบโต้สหรัฐอย่างแข็งกร้าว อย่างไรก็ตาม การตอบโต้ของรัฐบาลยังเป็นเพราะสาเหตุอื่นด้วย กล่าวคือ ผู้นำพลเรือนกลุ่มหนึ่งก็มีทัศนะว่าจะต้องปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ไทย – อเมริกันที่มีลักษณะ “ลูกพี่ – ลูกน้อง” และเน้นด้านการทหารให้มีลักษณะที่สมดุลมากขึ้น เหตุการณ์ “มายาเกวซ” จึงเป็นโอกาสที่จะแสดงความเป็นตัวของตัวเองแก่สหรัฐและประเทศเพื่อนบ้านอินโดจีนที่รัฐบาลกำลังพยายามสร้างไมตรีด้วย นอกจากนี้ก็เป็นโอกาสที่รัฐบาลจะมีบทบาทในเรื่องความมั่นคงที่ก่อนหน้านั้นถือเป็นเรื่องของฝ่ายทหารที่รัฐบาลพลเรือนช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม แทบไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ก็ทำให้รัฐบาลไทยอยู่ในฐานะลำบากเพราะฝ่ายทหารยังคงมีอำนาจในการเมืองไทยและต้องการความช่วยเหลือด้านการทหารจากสหรัฐต่อไป ขณะเดียวกัน สหรัฐยังคงเป็นมหาอำนาจที่ผู้นำไทยทุกกลุ่มให้ความสำคัญมากที่สุดและหากจำเป็นก็ยังคงหวังพึ่งพามากที่สุดด้วย ดังนั้น รัฐบาลจึงยุติเหตุการณ์ทั้งหมดอย่างรวดเร็วโดยการยอมรับ “สารแสดงความเสียใจ” จากอุปทูตอเมริกันประจำประเทศไทยที่มิใช่ “คำขอโทษ” จากรัฐบาลอเมริกัน[4]

ที่มา

1. จุฬาพร เอื้อรักสกุล, กรณีมายาเกวซ  : ศึกษาการตัดสินนโยบายในภาวะวิกฤตการณ์, วิทยานิพนธ์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2529.

2. Walter LaFeber, America, Russia, and the Cold War, 1945-1990, McGraw – Hill: Inc., 1991.

อ้างอิง

  1. Time, 26 May, 1975, p.8. ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์วารสารรวมทั้งการวิเคราะห์ในที่นี้ทั้งหมดอ้างอิงใน จุฬาพร เอื้อรักสกุล, กรณีมายาเกวซ  : ศึกษาการตัดสินนโยบายในภาวะวิกฤตการณ์, วิทยานิพนธ์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2529
  2. Walter LaFeber, America, Russia, and the Cold War, 1945-1990, (McGraw - Hill, Inc., 1991), pp. 281 – 282.
  3. พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมา “...ผมได้รับคำบอกจากเจ้าหน้าที่ชั้นสูงสหรัฐฯ ว่านาวิกโยธินอเมริกันจะมาขึ้นบกในเวลา 8.00 น. ที่อู่ตะเภา โปรดได้อนุญาต ขณะนั้นเป็นเวลา 22.00 น. ซึ่งผมไม่อาจจัดประชุมคณะรัฐมนตรีได้ ผมจึงบอกให้เขาทำไป ถ้าผมขอรัฐบาลแล้วรัฐบาลปฏิเสธ อะไรจะเกิดขึ้น?....”, Asiaweek, 22 November, 1985, p. 32.
  4. สัมภาษณ์ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมท, 24 กรกฎาคม 2528 และพลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ, 19 มิถุนายน 2528 โปรดดูรายละเอียดในจุฬาพร เอื้อรักสกุล, อ้างแล้ว.