ผลต่างระหว่างรุ่นของ "สงครามเย็น"
หน้าที่ถูกสร้างด้วย ''''ผู้เรียบเรียง''' จุฬาพร เอื้อรักสกุล ---- '''ผู้ทรงคุ...' |
ลไม่มีความย่อการแก้ไข |
||
บรรทัดที่ 46: | บรรทัดที่ 46: | ||
<references/> | <references/> | ||
[[หมวดหมู่:เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย สมัย พ.ศ. 2475-2500]] | [[หมวดหมู่:เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย สมัย พ.ศ. 2475-2500]] | ||
[[หมวดหมู่:จุฬาพร เอื้อรักสกุล]] |
รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 10:26, 4 ตุลาคม 2554
ผู้เรียบเรียง จุฬาพร เอื้อรักสกุล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
สงครามเย็น
ระเบียบระหว่างประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่รู้จักกันว่าสงครามเย็นถูกก่อตัวขึ้นจากพัฒนาการสำคัญ คือ การแข่งขันระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการทำสงคราม ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ข้ามชาติ การปฏิรูปและการปฏิสังขรณ์ของระบบทุนนิยมโลก และกระบวนการปลดปล่อยแห่งชาติ การต่อสู้แข่งขันระหว่างสหรัฐและโซเวียตในเรื่องเหล่านี้ได้แบ่งโลกออกเป็น 2 ขั้วการเมืองและการทหาร และแทบไม่มีประเทศใดที่หลุดรอดจากอิทธิพลของสงครามเย็น[1]
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับผลกระทบอย่างลึกซึ้งจากสงครามเย็น โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐมุ่งมั่นจะสกัดกั้นคอมมิวนิสต์ในเอเชียภายหลังจากชัยชนะของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในจีนเมื่อปี ค.ศ. 1949 และสงครามเกาหลีที่ปะทุขึ้นในมิถุนายน ค.ศ. 1950 สหรัฐเห็นว่าจีนซึ่งเป็นพันธมิตรโซเวียตจะเป็นผู้นำการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชียและดินแดนที่ตกอยู่ในภัยคุกคามนี้คืออินโดจีนซึ่งมีการต่อสู้เพื่อเอกราชจากฝรั่งเศส ในทัศนะผู้นำอเมริกัน หากอินโดจีนตกเป็นของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ประเทศอื่นก็จะล้มตามกันไปทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนถึงตะวันออกกลางในที่สุด แนวคิดแบบ “ทฤษฎีโดมิโน” ทำให้สหรัฐเข้ามาสกัดกั้นการขยายตัวของฝ่ายคอมมิวนิสต์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะหลังจากที่ฝรั่งเศสถอนตัวออกจาก อินโดจีนในปี ค.ศ. 1954
ประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญและแข็งขันยิ่งของสหรัฐในการต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค[2] ในปี ค.ศ. 1950 ไทยได้เข้าร่วมกับสหรัฐในสงครามเกาหลี ต่อมาได้ทำข้อผูกพันทั้งพหุภาคีและทวิภาคีกับสหรัฐคือสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ค.ศ. 1954) และข้อตกลงร่วมถนัด – รัสค์ (1962) ยิ่งกว่านั้นไทยได้ส่งทหารเข้าร่วมรบกับสหรัฐในสงครามเวียดนาม รวมทั้งให้สหรัฐมาตั้งฐานทัพและมีกำลังทหารในประเทศไทยซึ่งเคยมีจำนวนทหารสูงถึง 50,000 คน และเครื่องบินกว่า 600 เครื่องในฐานทัพ 7 แห่งในไทย นอกจากนี้ สหรัฐยังให้ความช่วยเหลือแก่ไทยซึ่งคลอบคลุมในแทบทุกด้านตั้งแต่การพัฒนากองทัพ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และการปราบปรามการก่อการร้ายภายใน ความช่วยเหลือเน้นในด้านความมั่นคง เห็นได้ว่าตลอดทศวรรษ 1960 ความช่วยเหลือของสหรัฐสูงเกินกว่า 50% ของงบประมาณการป้องกันประเทศของไทย อีกทั้งกองทัพไทยยังพัฒนาโครงสร้างตามความช่วยเหลือที่ให้แก่ด้านการจัดองค์กร การฝึกการวางแผนและการพัฒนากองทัพ รวมทั้งการส่งทหารไปศึกษาและฝึกหัดที่สหรัฐ
พันธมิตรไทย – อเมริกันซึ่งส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อสังคมไทยถูกกำหนดจากทั้งสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศและบริบทการเมืองภายในของไทย ในช่วงที่สงครามเย็นร้อนแรงในทศวรรษ 1950 และ 1960 ระบบระหว่างประเทศมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศเล็กเพราะการที่โลกแบ่งเป็น 2 ขั้วอำนาจชัดเจนนั้น ทั้งสหรัฐและโซเวียตได้ต่อสู้ดุเดือดเพื่อแสวงหาพันธมิตรเข้าค่ายตนซึ่งปรากฏชัดจากสงครามตัวแทนทั่วโลก ในบริบทเช่นนี้ ประเทศเล็กมีทางเลือกจำกัดมาก โดยเฉพาะหากตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของมหาอำนาจ เห็นได้จากว่าบางประเทศที่ต้องการดำเนินนโยบายเป็นกลางก็ไม่เป็นผล เช่น กัมพูชาในทศวรรษ 1960 เป็นต้น ประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าวมีความสำคัญอย่างชัดเจนต่อยุทธศาสตร์ของสหรัฐในภูมิภาคนี้ ดังนั้น โอกาสที่ไทยจะดำเนินนโยบายอย่างอิสระอาจเป็นไปได้ยากยิ่ง
พัฒนาการในภูมิภาคที่ส่งผลต่อการกำหนดนโยบายไทย คือ ชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศจีนเมื่อปี ค.ศ. 1949 และการต่อสู้เพื่อเอกราชในเวียดนามที่นำโดยฝ่ายคอมมิวนิสต์ หลักฐานที่มักถูกอ้างเพื่อสนับสนุนภัยคุกคามจากจีนคือ การโจมตีรัฐบาลไทยผ่านวิทยุปักกิ่ง การแทรกซึมและเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในหมู่ชาวจีนในประเทศไทย และที่สำคัญคือจนถึงปลายทศวรรษ 1960 รัฐบาลไทยเชื่อว่าจีนเป็นผู้สนับสนุนหลักต่อขบวนการคอมมิวนิสต์ไทย ส่วนภัยคุกคามจากเวียดนามเหนือนั้นถูกระบุว่ามาจากการเข้ามาแทรกซึมเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในหมู่ชาวเวียดนามที่อาศัยในภาคอีสาน การให้สถานที่ พักพิงและฝึกอบรมแก่กองกำลังคอมมิวนิสต์ไทย และการขยายอิทธิพลเข้ามาในลาว
ในความเป็นจริง ดูเหมือนไม่เป็นที่ชัดเจนว่าจีนได้ดำเนินนโยบายเป็นปฏิปักษ์ต่อไทยอย่างไร แน่นอนว่าจีนเห็นว่าไทยเป็นปฏิปักษ์เพราะร่วมมือกับสหรัฐเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค ดังที่ผู้นำจีนกล่าวชัดเจนเมื่อตั้งซีโต้ว่าไทยเป็นฐานเตรียมพร้อมให้สหรัฐทำสงครามรุกรานจีน[3] ผู้นำจีนบางคนรวมทั้งเหมาเจ๋อตงได้ประกาศเปิดเผยว่าจีนสนับสนุนสงครามต่อต้านสหรัฐและสงครามปลดปล่อยในประเทศเกิดใหม่ทั่วโลกรวมทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้จะมิได้กล่าวชัดเจนว่าสนับสนุนอย่างไร[4] ส่วนการสนับสนุนของจีนต่อพรรคคอมมิวนิสต์ไทยนั้นปรากฏชัดในด้านอุดมการณ์ การให้ขวัญกำลังใจ ที่พักพิง และที่ฝึกอบรมแก่พรรค รวมทั้งด้านยุทธปัจจัย[5]
บริบทการเมืองภายในของไทยเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญยิ่งต่อการเลือกเป็นพันธมิตรอเมริกัน ในช่วงเวลาเกือบทั้งหมดตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1973 ประเทศไทยมีการปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร ดังนั้น ระบบพันธมิตรนี้ก็ถูกกำหนดจากแนวคิดผู้นำทหาร รวมทั้งผลประโยชน์ทั้งของกองทัพและคนในกองทัพ
โดยทั่วไปแล้ว ทหารได้รับการศึกษาอบรมให้มีจิตสำนึกว่ามีหน้าที่ปกป้องรักษาชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ซึ่งทำให้มีความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อลัทธิคอมมิวนิสต์โดยพื้นฐานอยู่แล้ว แต่ยิ่งกว่านั้น หน้าที่นี้ถูกนำมาอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมต่อการยึดอำนาจการเมืองของกลุ่มทหาร เห็นได้จากการใช้สื่อรัฐเผยแพร่โฆษณาอย่างกว้างขวางในระหว่างทศวรรษ 1940 ว่าความจำเป็นต้องยึดอำนาจการเมืองก็เพราะประเทศตกอยู่ในภัยคุกคามของ “ศัตรู” ร้ายแรงคือคอมมิวนิสต์ที่มุ่งทำลายสถาบันหลักของประเทศ การเน้นย้ำนี้ปรากฏชัดเจนในคำประกาศคณะปฏิวัติหลายฉบับตลอดช่วงการปกครองแบบอำนาจนิยมของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังรัฐประหารปี 2500[6]
แนวคิดต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ได้นำมาซึ่งนโยบายที่ต้องการให้พรมแดนไทยปลอดจากอิทธิพลคอมมิวนิสต์หรือกีดกันศัตรูให้ไกลจากพรมแดนไทยมากที่สุด ในแง่นี้ การเป็นพันธมิตรกับสหรัฐก็สอดคล้องกับทัศนะและความต้องการของผู้นำทหารไทยเพราะตั้งแต่ปี ค.ศ. 1954 จนถึงต้นทศวรรษ 1970 สหรัฐให้ความช่วยเหลือไทยโดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การต่อต้านคอมมิวนิสต์จากการรุกรานจากภายนอก และการล้มล้างรัฐบาลจากภายใน และการช่วยพัฒนาด้านเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนโครงสร้างการเมืองที่ดำรงอยู่ ความช่วยเหลือจากสหรัฐนอกจากเป็นประโยชน์ต่อกองทัพแล้ว นายทหารระดับสูงบางคนก็ใช้อภิสิทธิ์จากตำแหน่งเข้าไปมีส่วนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงการความช่วยเหลืออีกมากมาย[7]
ทั้งนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์และเป็นพันธมิตรอเมริกันส่งผลต่อสังคมไทยที่สำคัญคือ
ประการแรก ความยั่งยืนของระบอบทหาร รัฐบาลทหารได้ใช้ข้อหามีพฤติกรรมเป็นคอมมิวนิสต์ปราบปรามประชาชนอย่างกว้างขวางและรุนแรง กฎหมายป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ทั้งในสมัยรัฐบาลทหาร ล้วนระบุความหมาย “การกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์” อย่างกว้างขวางที่สุด และบ่อยครั้งข้อหานี้ถูกใช้เพื่อกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองด้วย ยิ่งในสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จตามมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 การลงโทษในข้อหานี้มักได้แก่การประหารชีวิต[8] ขณะเดียวกัน การที่สหรัฐสร้างให้ไทยเป็นฐานการทำสงครามในอินโดจีน และเป้าหมายที่มุ่งให้ไทยมีเสถียรภาพมั่นคงเพื่อเป็นป้อมปราการต่อต้านคอมมิวนิสต์นั้น ในที่สุดแล้วก็แยกไม่ออกจากการสร้างรัฐบาลที่มั่นคงด้วย ปัจจัยนี้มีความสำคัญยิ่งที่ทำให้ระบอบทหารไทยสามารถดำรงอยู่ได้ยาวนานและสร้างความโกรธแค้นหรือถึงขั้นเกลียดชังสหรัฐในกลุ่มคนไทยที่ต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร
ประการที่สอง ยุคสงครามเย็นได้ส่งผลให้เกิดการแพร่หลายของแนวคิดมาร์กซิสต์ในสังคมไทย คือ กลุ่มผู้ใช้แนวคิดนี้วิพากษ์สังคมเพื่อเรียกร้องสังคมที่เป็นธรรม กลุ่มนี้ประกอบด้วยนักคิดนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ซึ่งได้ศึกษาจนเกิดความศรัทธาต่อแนวคิดมาร์กซิสต์และนำมาใช้วิพากษ์สังคมในช่วงประมาณทศวรรษ 1940 ถึงต้นทศวรรษ 1950 ประเด็นสำคัญที่ถูกวิพากษ์หรือ “ต่อต้าน” คือ ระบอบเผด็จการทหารที่ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนกับพวกพ้อง และระบอบจักรวรรดินิยมและทุนนิยมที่นำโดยสหรัฐมีอิทธิพลเหนือรัฐไทย ดังนั้น “ศัตรูของชาติ” ก็คือจักรวรรดินิยมอเมริกาและกลุ่มทหารกับนายทุนที่สนองผลประโยชน์ของสหรัฐ สหรัฐถูกโจมตีอย่างรุนแรงต่อการทำสงครามที่ไร้ศีลธรรมในอินโดจีน ทั้งได้ชักพาให้ไทยเข้าสู่สงครามและเป็นศัตรูกับประเทศเพื่อนบ้าน ยิ่งกว่านั้น ยังได้ตั้งฐานทัพและทหารไว้ รวมทั้งแทรกแซงครอบงำกิจการภายในของไทยอย่างกว้างขวาง สภาพเหล่านี้ได้ทำให้ไทยสูญเสียเอกราชและอธิปไตยไปแล้ว กลุ่มนี้เสนอว่าในท่ามกลางการต่อสู้ดุเดือดของมหาอำนาจ ไทยควรดำเนินนโยบายเป็นกลางและเชิดชูสันติภาพ[9] อย่างไรก็ตาม นักคิดนักเขียนเหล่านี้ได้ถูกปราบปรามอย่างรุนแรง แต่กระแสความคิดแนวนี้ก็มิได้สูญหายและจะกลับมารุนแรงยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในหมู่นักศึกษาช่วงปลายทศวรรษ 1960 ถึงต้นทศวรรษ 1970
ประการที่สาม การเติบโตของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในยุคสงครามเย็น[10] จนถึงทศวรรษ 1950 พคท. ยังมิใช่ภัยคุกคามร้ายแรงต่อรัฐบาลไทย แต่การต่อสู้อันยาวนานก่อนหน้านั้นได้ก้าวเข้าสู่จุดเปลี่ยนสำคัญในยุครัฐบาลทหารที่ พคท. ได้กำหนดแนวทางการต่อสู้ด้วยอาวุธกับรัฐบาลซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1965 ในปี ค.ศ. 1969 หลายพื้นที่ใน 35 จังหวัดถูกประกาศให้เป็นเขตแทรกซึมของคอมมิวนิสต์ การเติบโตของ พคท. เป็นผลจากหลายปัจจัย ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ นโยบายการปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรงโดยเน้นด้านการทหารเป็นหลัก รวมทั้งการใช้ข้อหามีพฤติกรรมเป็นคอมมิวนิสต์ปราบปรามผู้ต่อต้านรัฐบาลซึ่งทำให้ พคท. กลายเป็นทางเลือกของผู้ที่ต่อต้านรัฐบาลทหาร ทั้งนี้ พคท. ยังแสวงหาแนวร่วมโดยชูประเด็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลทหารกับสหรัฐ ดังปรากฏในยุทธวิธีการทำงานของพรรคที่ระบุการต่อสู้กับจักรวรรดินิยมอเมริกาและโค่นล้มเผด็จการทหารที่เป็นสมุนอเมริกา นอกจากนี้ พคท. ยังได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศ อินโดจีนและจีนในด้านการเป็นพื้นที่พักพิงและฝึกกองกำลัง มีการศึกษาที่ชี้ว่าการสนับสนุนจากประเทศเหล่านี้ยังเป็นเพราะความร่วมมือระหว่างรัฐบาลทหารไทยกับสหรัฐในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค[11]
เมื่อมองย้อนกลับไป นโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของไทยในยุคสงครามเย็นอาจประเมินได้หลายแง่มุม
ประการแรก จากจุดยืนของผู้ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ไทยโชคดีที่เลือกข้างถูก ผู้นำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางคนเคยกล่าวตรงไปตรงมาภายหลังจากที่โลกได้เห็นการล่มสลายของประเทศคอมมิวนิสต์เกือบทั้งหมดว่า ภูมิภาคนี้ต้องขอบคุณสหรัฐที่ได้มาช่วยต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ มิฉะนั้น ประเทศแถบนี้ก็ต้องถูกยึดครองโดยฝ่ายคอมมิวนิสต์ไปแล้ว
ประการที่สอง การที่ผู้นำไทยผูกมัดความมั่นคงของประเทศไว้กับมหาอำนาจเดียวพร้อมกับเป็นศัตรูอย่างชัดแจ้งกับมหาอำนาจอื่นและประเทศเพื่อนบ้าน นับเป็นการดำเนินนโยบายที่เสี่ยงสูงยิ่ง ทั้งยั้งหมิ่นเหม่ต่อการนำประเทศเข้าสู่สงครามด้วย คำถามคือ ไทยมีทางเลือกหรือมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะใช้นโยบายเป็นกลางในสถานการณ์ความขัดแย้งร้อนแรงยุคสงครามเย็น คำตอบคืออาจจะไม่ เช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้หรืออื่นๆ ก็ไม่มีทางเลือกนี้
ประการสุดท้าย จากมุมมองด้านศีลธรรมและมนุษยธรรม นโยบายไทยไร้ปัจจัยข้อนี้อย่างสิ้นเชิง ความทุกข์สาหัสของชาวอินโดจีนและความหายนะของสังคมเหล่านั้นเกินกว่าที่จะใช้ตัวเลขๆ พรรณนาได้ ความโหดร้ายและความหายนะของสงครามเย็นเช่นนี้เกิดขึ้นในภูมิภาคอื่นทั่วโลกด้วย ซึ่งปรากฏชัดว่าเป็นผลจากอุดมการณ์การเมืองและการมองผลประโยชน์แห่งชาติอย่างคับแคบ
อ้างอิง
- ↑ Walter LaFeber, America, Russia, and the Cold War, 1945-1990, (McGraw - Hill, Inc., 1991)
- ↑ R. Sean Randolph, The United State and Thailand Alliance Dynamics, 1950 – 1985, (Institute of East Asian Studies, University of California, Berkeley, 1986), Chapter 2. George Herring, America's Longest War : The United States and Vietnam, 1950-1975, (New York: Wiley, 1979)
- ↑ Daniel D. Lonelace, China and People’s War in Thailand, 1946 – 1969, (China Research Monographs No.8, University of California Berkley, 1971), pp. 30 – 31.
- ↑ มีหลักฐานว่าผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนเคยประกาศสนับสนุนสงครามปลดปล่อยของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เหมาเจ๋อตง ผู้นำสูงสุดของจีนเคยกล่าวกับชาวฝรั่งที่เข้าพบเมื่อวันที่ 10 กันยายน 1964 ว่าจีน “ส่งเสริมและสนับสนุนสงครามกองโจรที่ต่อต้านสหรัฐ ลัทธิจักรวรรดินิยมและการกดขี่ภายในประเทศต่างๆ ทั่วโลก” รวมทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดูใน Mao Zedong on Diplomacy, (Beijing, Foreign Languages Press, 1998), p.415. และนายพลลินเปียว ผู้นำอันดับสองรองจากเหมาประกาศในกันยายน 1965 ว่าจีนจะส่งเสริมสงครามปลดปล่อยทั่วประเทศเกิดใหม่ แต่ก็กล่าวด้วยว่าขบวนการปฏิวัติเหล่านั้นต้องช่วยตัวเองด้วย ดูใน Walter LaFeber, America, Russia, and the Cold War, 1945-1990, (McGraw - Hill, Inc., 1991) p. 251.
- ↑ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, การเมืองการปกครองไทย : พ.ศ. 1762 – 2500, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เสมาธรรม, 2549), ภาคผนวก “คอมมิวนิสต์กับการเมืองไทย”, หน้า 805 – 943.
- ↑ เช่น “...ลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นภัยยิ่งใหญ่... การแทรกแซงของตัวแทนคอมมิวนิสต์มีอยู่ทุกกระแสในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม... ทำความพยายามทุกวิถีทางที่จะให้เกิดความเสื่อมโทรมระส่ำระส่ายในประเทศ ขุดโค่นราชบัลลังก์ ล้มล้างพระพุทธศาสนา และทำลายสถาบันทุกอย่างที่ชาติไทยได้ผดุงรักษามาด้วยความเสียสละอย่างยิ่งยวด...”อ้างใน โสภา ชานะมูล, “ชาติไทย” ในทัศนะปัญญาชนหัวก้าวหน้า, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2550), หน้า 205.
- ↑ อันที่จริงแล้ว ในยุคที่ทหารครองอำนาจการเมือง กลุ่มทหารบางกลุ่มก็ได้เข้าไปมีผลประโยชน์หรือผูกขาดกิจการสำคัญทั้งของรัฐและเอกชนอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว ดูเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้นำทหารกับโครงการที่เกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือของสหรัฐ ใน Randolph, op.cit, p.73. และ Denzil Peiris, “Thailand enter the general”, Far Eastern Economic Review, 14 February, 1975, p.10. เรื่องทหารกับธุรกิจดูใน สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย (พ.ศ. 2475 - 2503), (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สร้างสรรค์, 2525), เสถียร จันทิมาธร และ ขรรค์ชัย บุนปาน, บรรณาธิการ, กองทัพบกกับประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2526)
- ↑ เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย สมัย พ.ศ. 2475-2500
- ↑ ดูรายละเอียดใน โสภา ชานะมูล, อ้างแล้ว, และ พวงทอง รุ่งสวัสดิทรัพย์, สงครามเวียดนาม: สงครามกับความจริงของ “รัฐไทย”, (กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2549).
- ↑ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, อ้างแล้ว, Saiyud Kerdphol, The Struggle for Thailand : Counter – insurgency 1965 – 1985, (Bangkok: S. Research Center co., Ltd., 1986)
- ↑ George K. Tanham, Trial in Thailand, (New York: Crane, Russak & Company, Inc., 1974) p.90, Lorelace, op.cit, p.37, and Gereth Porter, “the Foreign Policy of Vietnam” in David Wurfel and Bruce Burton (edes), The Political Economy of Foreign Policy in Southeast Asia, (London: The Macmillans Press Ltd., 1990), p.236.