ผลต่างระหว่างรุ่นของ "หน้าที่ของชนชาวไทย"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัดที่ 96: บรรทัดที่ 96:
----
----
{|cellpadding="2" cellspacing="5" style="vertical-align:top;background-color:#ffffff;color:#000;width:100%"
{|cellpadding="2" cellspacing="5" style="vertical-align:top;background-color:#ffffff;color:#000;width:100%"
! style="background-color:#fffff; font-size: 100%; border: 1px solid #afa3bf; text-align: left;  padding-left: 7px;  -moz-border-radius:7px"  |[[หน้าหลัก]] | [[สาระสำคัญโดยสรุปของรัฐธรรมนูญ]]
! style="background-color:#fffff; font-size: 100%; border: 1px solid #afa3bf; text-align: left;  padding-left: 7px;  -moz-border-radius:7px"  |[[หน้าหลัก]] | [[สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ]]
|}
|}
[[category:รัฐธรรมนูญ]]
[[category:รัฐธรรมนูญ]]

รุ่นแก้ไขเมื่อ 09:08, 19 กรกฎาคม 2553

ผู้เรียบเรียง พุทธชาติ ทองเอม

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การรักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นับเป็นหน้าที่หลัก ที่คนไทยทุกคนต้องระลึกและยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ โดยเฉพาะในฐานะเป็นพลเมืองของประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ซึ่งประชาชนสามารถเข้ามามีสิทธิ มีส่วนในการปกครองประเทศ หน้าที่สำคัญของชาวไทยทุกคนก็คือ ต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเพื่อเลือกบุคคลที่จะมาใช้อำนาจอธิปไตยแทนตนเอง หน้าที่ป้องกันประเทศชาติ หน้าที่รับราชการทหาร หน้าที่เสียภาษีอากร หน้าที่รับการศึกษาอบรม และหน้าที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ตาม เพื่อประโยชน์ของสังคมและความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติให้ทัดเทียมนานาประเทศโดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น

ความหมาย

คำว่า “หน้าที่” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายถึง กิจที่จะต้องทำด้วยความรับผิดชอบ[1] แต่เมื่อนำคำว่า “หน้าที่” รวมกับคำว่า “ชนชาวไทย” เป็น “หน้าที่ของชนชาวไทย” คณิน บุญสุวรรณ ได้ให้ความหมายไว้ในหนังสือปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย (ฉบับสมบูรณ์) ว่า ภาระและความรับผิดชอบที่รัฐธรรมนูญกำหนดบังคับให้บุคคลซึ่งเป็นชนชาวไทยต้องปฏิบัติ หรือกระทำให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดว่าการกระทำใดเป็นหน้าที่ของพลเมืองแล้ว ถ้าหากผู้ใดไม่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติถือว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและจะถูกลงโทษ[2]

อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของชนชาวไทย ถือว่าเป็นภาระและความรับผิดชอบของประชาชนชาวไทยทุกคนที่ต้องยึดถือปฏิบัตินั่นเอง

การกำหนดหน้าที่ของชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ

ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย ประชาชนมีสองสถานะ คือ[3]

1. ฐานะผู้ปกครอง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้อำนาจอธิปไตย ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองเป็นของปวงชนชาวไทย และประชาชนสามารถใช้อำนาจดังกล่าว ผ่านการเลือกผู้แทนของตน อันได้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภาแทนตน

2. ฐานะผู้อยู่ภายใต้การปกครอง รัฐธรรมนูญนอกจากจะมีบทบัญญัติในเรื่องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพไว้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็ได้กำหนดให้ประชาชนมีหน้าที่บางประการควบคู่ไปด้วย กล่าวคือ เมื่อรัฐได้ให้หลักประกันในสิทธิและเสรีภาพแก่ประชาชนแล้ว ประชาชนก็มีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อรัฐด้วย

จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศได้กำหนดรูปแบบของการปกครอง และเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมาได้กำหนดเรื่องสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทยไว้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ คำว่า “สิทธิ” มีคำคู่กันอยู่คือ “หน้าที่” ไม่ว่าเรื่องใด ๆ ก็ตาม เมื่อมี “สิทธิ” ก็ยอมมี “หน้าที่” คู่กันเสมอ เมื่อเราเกิดมาเป็นคนไทยมีสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญไทยกำหนด เราก็ย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติในฐานะเป็นคนไทยด้วยเช่นกัน[4] ซึ่งประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญย่อมรับรองสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลของประชาชนไว้อย่างชัดเจน แม้รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้สิทธิแก่ประชาชนแต่ได้กำหนดหน้าที่ให้แก่ประชาชนเช่นกัน อาทิ รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ความเสมอภาคแก่บุคคลในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่รัฐมีหน้าที่ต้องจัดให้ทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย แต่ในขณะเดียวกันก็บัญญัติให้บุคคลมีหน้าที่รับการศึกษาดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าพลเมืองที่มีการศึกษาดีย่อมเป็นทรัพยากรที่ดีในการพัฒนาประเทศต่อไป การกำหนดหน้าที่ดังกล่าวเป็นการกำหนดหน้าที่ของบุคคล เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประเทศหรือสังคมส่วนรวม เช่นเดียวกันกับในเรื่องของสิทธิในการเลือกตั้ง รัฐมีหน้าที่ต้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายการตัดสินใจทางการเมือง โดยกำหนดให้สิทธิแก่บุคคลทั่วไปในการใช้สิทธิการเลือกตั้ง หรือสมัครรับเลือกตั้ง ในขณะเดียวกัน เมื่อสังคมเห็นว่าการใช้สิทธิดังกล่าวเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้ประเทศได้มีผู้แทนที่ดี เป็นที่ยอมรับแก่ประชาชนและเป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งในการปฏิรูปทางการเมืองอย่างน้อยในแง่การป้องกันหรือลดการซื้อเสียงแล้วรัฐก็ย่อมมีอำนาจกำหนดให้บุคคลไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เพื่อประโยชน์ของสังคมและความเจริญก้าวหน้าของชาติ[5]

นอกจากนั้น ยังได้บัญญัติให้บุคคลมีหน้าที่ต่าง ๆ คือ รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บุคคลมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย มีหน้าที่ป้องกันประเทศ รับราชการทหาร เสียภาษีอากร ช่วยเหลือราชการ รับการศึกษาอบรม พิทักษ์ปกป้อง และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน้าที่สำคัญเพิ่มจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นของชนชาวไทยที่เป็นบุคคลผู้เป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ มีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม อำนวยความสะดวก และให้บริการแก่ประชาชน จะเห็นได้ว่าชาวไทยที่เป็นข้าราชการจะต้องปฏิบัติหน้าที่ของชนชาวไทยมากกว่าบุคคลที่เป็นประชาชนทั่วไป[6]

เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับหน้าที่ของชนชาวไทย

จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้กำหนดหน้าที่ของประชาชนไทย ไว้ในหมวด 4 หน้าที่ของชนชาวไทย ดังนี้

1. บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ (มาตรา 70)[7] โดยมีเจตนารมณ์ เพื่อกำหนดให้เป็นหน้าที่ของบุคคลทุกคนในการพิทักษ์รักษาชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งหลักการดังกล่าวเป็นหลักการเดิมตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 แต่แก้ไขถ้อยคำเพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้หลักการดังกล่าวยังได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 เป็นครั้งแรกอีกด้วย[8],[9]

2. บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ รักษาผลประโยชน์ของชาติ และปฏิบัติตามกฎหมาย (มาตรา 71)[10] โดยมีเจตนารมณ์เพื่อกำหนดให้ประชาชนชาวไทยมีหน้าที่ต่อประเทศ บุคคลที่เป็นประชาชนชาวไทยทุกคนต้องมีหน้าที่ในการปกป้องประเทศไม่ว่าด้านใดๆ รวมทั้งต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติ และมีหน้าที่เคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้ประเทศและประชาชนมีความผาสุก ซึ่งหลักการดังกล่าวเป็นหลักการเดิมตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 แต่เพิ่มให้ประชาชนชาวไทยมีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของชาติด้วย นอกจากนี้หลักการดังกล่าวยังได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เป็นครั้งแรกอีกด้วย[11],[12]

3. บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (มาตรา 72)[13]

บุคคลซึ่งไปใช้สิทธิหรือไม่ไปใช้สิทธิโดยไม่แจ้งเหตุอันสมควรที่ทำให้ไม่อาจไปใช้สิทธิได้ ย่อมได้รับสิทธิหรือเสียสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติ

การแจ้งเหตุที่ทำให้ไม่อาจไปเลือกตั้งและการอำนวยความสะดวกในการไปเลือกตั้งให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

โดยมีเจตนารมณ์ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยมีส่วนร่วมในการเลือกตัวแทนของตนเข้าสู่ระบบการปกครอง กำหนดให้บุคคลที่มีสิทธิเลือกตั้งมีหน้าที่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ดังนั้น รัฐต้องมีหน้าที่โดยตรงในการอำนวยความสะดวกและจัดให้สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้โดยง่าย การไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่มีเหตุอันสมควรย่อมเสียสิทธิบางประการตามที่กฎหมายกำหนดแล้วแต่กรณี ในทางตรงกันข้ามหากไปใช้สิทธิเลือกตั้งย่อมได้สิทธิบางประการตามที่กฎหมายบัญญัติเช่นกัน เพื่อเป็นการจูงใจให้บุคคลไปใช้สิทธิเลือกตั้งควบคู่กับการตัดสิทธิของผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการซื้อสิทธิขายเสียงอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งหลักการดังกล่าวเป็นหลักการเดิมตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 แต่เพิ่มให้ผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งอาจได้รับสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติ นอกจากนี้หลักการดังกล่าวยังได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 เป็นครั้งแรกอีกด้วย[14],[15]

4. บุคคลมีหน้าที่รับราชการทหาร ช่วยเหลือในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติสาธารณะ เสียภาษีอากร ช่วยเหลือราชการ รับการศึกษาอบรม พิทักษ์ ปกป้อง และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ (มาตรา 73)[16] โดยมีเจตนารมณ์ เพื่อกำหนดให้ประชาชนชาวไทยมีหน้าที่เสียสละ และมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม บทบัญญัตินี้จึงกำหนดให้ประชาชนชาวไทยทุกคนต้องมีหน้าที่เสียสละเพื่อส่วนรวมในการรับราชการทหาร ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เสียภาษีอากร ช่วยเหลือราชการ ตลอดจนมีหน้าที่อื่นๆ เช่น รับการศึกษาอบรม ปกป้องศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของชาติและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งหลักการดังกล่าวเป็นหลักการเดิมตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 แต่เพิ่มหน้าที่ของประชาชนในการช่วยเหลือป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติสาธารณะ นอกจากนี้หลักการดังกล่าวยังได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 เป็นครั้งแรกอีกด้วย[17],[18]

5. บุคคลผู้เป็นข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ มีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม อำนวยความสะดวก และให้บริการแก่ประชาชนตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

ในการปฏิบัติหน้าที่และในการปฏิบัติการอื่นที่เกี่ยวข้องกับประชาชน บุคคลตามวรรคหนึ่งต้องวางตนเป็นกลางทางการเมือง

ในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งละเลยหรือไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามหน้าที่ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง บุคคลผู้มีส่วนได้เสียย่อมมีสิทธิขอให้บุคคลตามวรรคหนึ่งหรือผู้บังคับบัญชาของบุคคลดังกล่าวชี้แจง แสดงเหตุผลและขอให้ดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติในวรรคหนึ่งหรือวรรคสองได้ (มาตรา 74)[19]

โดยเจตนารมณ์ เพื่อกำหนดให้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม อำนวยความสะดวกและบริการแก่ ประชาชนตามหลักธรรมาภิบาล และต้องวางตนเป็นกลางทางการเมือง หลักธรรมาภิบาล ได้แก่ 1) เกิดผลประโยชน์สุขของประชาชน 2) เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ 3) มีประสิทธิภาพและมีความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ 4) ไม่มีขั้นตอนในการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น 5) ปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์ 6) ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ 7) มีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ผู้สมัครรับการเลือกตั้งหรือพรรคการเมืองไม่ว่าระดับใดมีส่วนได้เปรียบหรือเสียเปรียบทางการเมือง และเพื่อกำกับตลอดจนปรับปรุงการดำเนินงานของข้าราชการ และพนักงานของรัฐเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งหลักการดังกล่าวเป็นหลักการเดิมตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และเป็นหลักการที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นครั้งแรกอีกด้วย[20],[21]

จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจะเห็นได้ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของชนชาวไทยทุกคนนั้น ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับทุกคนเลย และถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุกคน ทุกฝ่ายจะต้องหันหน้ามาดำเนินการตามหน้าที่ของชนชาวไทย เพื่อแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ด้วยสันติวิธี เนื่องจากวิกฤติของประเทศไทยในวันนี้มีทั้งวิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก วิกฤติทางการเมือง และวิกฤติความแตกแยกของคนในสังคม อันส่งผลต่อวิกฤติสถาบันชาติ สถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์และประชาชน ดังนั้น คนไทยทุกคนต้องยืนหยัด ปกป้องและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งปฎิบัติตามกฎหมายและประพฤติตนเป็นพลเมืองดีตามรัฐธรรมนูญอย่างเข้มแข็ง.

อ้างอิง

  1. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2546 หน้า 1247.
  2. คณิน บุญสุวรรณ. ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย (ฉบับสมบูรณ์). กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2548, หน้า 1012-1013.
  3. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. หน้าที่ของชนชาวไทย [ข้อมูลออนไลน์] สืบค้นได้จาก http://www.senate.go.th/web-senate/leftmenu/roles-thai.htm สืบค้นวันที่ 25 กันยายน 2552.
  4. มานิตย์ จุมปา. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2546, หน้า 1.
  5. อมร รักษาสัตย์. รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนพร้อมบทวิจารณ์. กรุงเทพฯ : บริษัท ด่านสุทธาการพิมพ์ จำกัด, 2541, หน้า 73-75.
  6. คณิน บุญสุวรรณ. ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย (ฉบับสมบูรณ์). กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2548, หน้า 1012-1013.
  7. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก ราชกิจจานุเบกษา 24 สิงหาคม 2550 หน้า 20.
  8. คณะกรรมาธิการวิสามัญบันทึกเจตนารมณ์ จดหมายเหตุ และตรวจรายงานการประชุม สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สำนักกรรมาธิการ 3, สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร). เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2550, หน้า 64-67.
  9. รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 27/2550 วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พุทธศักราช 2550. [ข้อมูลออนไลน์] สืบค้นได้จาก http://library2.parliament.go.th/ giventake/content_ca/r061850.pdf สืบค้นวันที่ 25 กันยายน ๒๕๕๒.
  10. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก ราชกิจจานุเบกษา 24 สิงหาคม 2550 หน้า 20.
  11. คณะกรรมาธิการวิสามัญบันทึกเจตนารมณ์ จดหมายเหตุ และตรวจรายงานการประชุม สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สำนักกรรมาธิการ 3, สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร). เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2550, หน้า 64-67.
  12. รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 27/2550 วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พุทธศักราช 2550. [ข้อมูลออนไลน์] สืบค้นได้จาก http://library2.parliament.go.th/ giventake/content_ca/r061850.pdf สืบค้นวันที่ 25 กันยายน 2552.
  13. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก ราชกิจจานุเบกษา 24 สิงหาคม 2550 หน้า 20.
  14. คณะกรรมาธิการวิสามัญบันทึกเจตนารมณ์ จดหมายเหตุ และตรวจรายงานการประชุม สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สำนักกรรมาธิการ 3, สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร). เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2550, หน้า 64-67.
  15. รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 27/2550 วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พุทธศักราช 2550. [ข้อมูลออนไลน์] สืบค้นได้จาก http://library2.parliament.go.th/giventake/content_ca/r061850.pdf สืบค้นวันที่ 25 กันยายน 2552.
  16. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก ราชกิจจานุเบกษา 24 สิงหาคม 2550 หน้า 20.
  17. คณะกรรมาธิการวิสามัญบันทึกเจตนารมณ์ จดหมายเหตุ และตรวจรายงานการประชุม สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สำนักกรรมาธิการ 3, สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร). เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2550, หน้า 64-67.
  18. รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ ๒๗/๒๕๕๐ วันจันทร์ที่ ๑๘ มิถุนายน พุทธศักราช 2550. [ข้อมูลออนไลน์] สืบค้นได้จาก http://library2.parliament.go.th/giventake/content_ca/r061850.pdf สืบค้นวันที่ 25 กันยายน 2552.
  19. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก ราชกิจจานุเบกษา 24 สิงหาคม 2550 หน้า 20.
  20. คณะกรรมาธิการวิสามัญบันทึกเจตนารมณ์ จดหมายเหตุ และตรวจรายงานการประชุม สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สำนักกรรมาธิการ ๓, สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร). เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2550, หน้า 67-67.
  21. รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 27/2550 วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พุทธศักราช 2550. [ข้อมูลออนไลน์] สืบค้นได้จาก http://library2.parliament.go.th/ giventake/content_ca/r061850.pdf สืบค้นวันที่ 25 กันยายน 2552.

หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ

1. คณิน บุญสุวรรณ. คู่มือการใช้สิทธิของประชาชน (ฉบับปรับปรุงใหม่). กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2548.

2. คณะกรรมาธิการวิสามัญบันทึกเจตนารมณ์ จดหมายเหตุ และตรวจรายงานการประชุม สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สำนักกรรมาธิการ 3, สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร). เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2550.

3. มานิตย์ จุมปา. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2546.

4. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สรรสาระรัฐธรรมนูญไทย, กรุงเทพฯ : บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2548.

5. อมร รักษาสัตย์. รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนพร้อมบทวิจารณ์. กรุงเทพฯ : บริษัท ด่านสุทธาการพิมพ์ จำกัด, 2541.

6. สำนักกรรมาธิการ 3 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ตารางความแตกต่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กับพุทธศักราช 2550 พร้อมเหตุผลโดยสังเขป. สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2551.

บรรณานุกรม

คณิน บุญสุวรรณ. ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย (ฉบับสมบูรณ์). กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2548.

คณิน บุญสุวรรณ. คู่มือการใช้สิทธิของประชาชน (ฉบับปรับปรุงใหม่). กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2548.

คณะกรรมาธิการวิสามัญบันทึกเจตนารมณ์ จดหมายเหตุ และตรวจรายงานการประชุม สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สำนักกรรมาธิการ 3, สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร). เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2550.

มานิตย์ จุมปา. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2546.

รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 27/2550 วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พุทธศักราช 2550. [ข้อมูลออนไลน์] สืบค้นได้จาก http://library2.parliament.go.th/giventake/content_ca/r061850.pdf สืบค้นวันที่ 25 กันยายน 2552.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก ราชกิจจานุเบกษา 24 สิงหาคม 2550.

สำนักกรรมาธิการ 3 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ตารางความแตกต่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กับพุทธศักราช 2550 พร้อมเหตุผลโดยสังเขป. สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2551.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สรรสาระรัฐธรรมนูญไทย, กรุงเทพฯ : บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2548.

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. หน้าที่ของชนชาวไทย [ข้อมูลออนไลน์] สืบค้นได้จาก http://www.senate.go.th/web-senate/leftmenu/roles-thai.htm สืบค้นวันที่ 25 กันยายน 2552.

อมร รักษาสัตย์. รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนพร้อมบทวิจารณ์. กรุงเทพฯ : บริษัท ด่านสุทธาการพิมพ์ จำกัด, 2541.


หน้าหลัก | สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ