ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ปาฐกถา “สู่สังคมที่ยอมรับกันว่า Fair”"
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
||
บรรทัดที่ 1: | บรรทัดที่ 1: | ||
ปาฐกถา “สู่สังคมที่ยอมรับกันว่า Fair” | [[ปาฐกถา “สู่สังคมที่ยอมรับกันว่า Fair”]]ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร | ||
ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร | |||
คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | ||
รุ่นแก้ไขเมื่อ 23:27, 17 ธันวาคม 2552
ปาฐกถา “สู่สังคมที่ยอมรับกันว่า Fair”ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตรได้เริ่มปาฐกถาโดยตั้งประเด็นคำถามว่าอะไรคือ Fair? ทำไมจึงไม่ Fair? และทำอย่างไรจึงจะมีสังคมที่ยอมรับกันว่า Fair?
ประเด็นแรกสำหรับความหมายของคำว่า Fair นั้น อาจจะแตกต่างกันไปตามแต่การตีความของแต่ละบุคคล ดังนั้น การให้ความหมายนี้จึงอาจต้องมีการปรึกษาหารือกันให้เกิดความเห็นพ้องต้องกัน ซึ่งแท้จริงแล้วคำว่า Fair ในที่นี้ไม่จำเป็นต้องหมายถึงความเท่าเทียมกันทั้งหมด หากแต่ต้องเท่าเทียมกันทางโอกาสในเชิงการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม คนรุ่นต่อไปจะต้องมีอนาคตที่สดใส ทั้งนี้ทั้งนั้น สังคมดังกล่าวนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง แต่จะต้องมาจากการผลักดันร่วมกันของคนในสังคม
ประเด็นต่อมาได้กล่าวถึงสาเหตุที่ทำไมสังคมไทยในปัจจุบันยังไม่มีความเป็นธรรม และต้องประสบกับความขัดแย้งในวงกว้าง ซึ่งก็มีต้นตอมาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีอยู่มาก และสูงกว่ากรณีของประเทศเพื่อนบ้านที่เริ่มมีแนวโน้มลดลงแล้วเสียอีก โดยจะสามารถเห็นได้จากข้อมูลเชิงประจักษ์จากหลายหน่วยงานที่ชี้ชัดว่าการถือครองที่ดิน การถือครองทรัพย์สินและความมั่นคั่งในประเทศไทยยังคงกระจุกตัวอยู่กับคนกลุ่มน้อยเพียงร้อยละ 10 ของประเทศเท่านั้น ทำให้การกระจายรายได้ไปสู่คนทุกภาคส่วนนั้นไม่ทั่วถีงเท่าเทียม
ประเด็นสุดท้ายที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจคือการทำอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นในสังคม โดยอาจารย์ได้เสนอแนวทางการสร้างสังคมดังกล่าวอยู่ 3 ประการ คือ
1) การมีระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งเคารพหลักสิทธิเสรีภาพ ปลอดจากการแทรกแซงของทหาร มีระบบตรวจสอบที่โปร่งใสที่ลดการคอร์รัปชั่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2) การใช้นโยบายการคลังที่มีการใช้จ่ายภาครัฐที่ให้ประโยชน์กับทุกคน และที่สำคัญคือมีการจัดเก็บภาษีที่ยอมรับกันว่าเป็นธรรม ซึ่งโดยหลักการคือทุกคนต้องเสียภาษี แต่จ่ายตามฐานะ คือมีรายได้มากก็จ่ายมาก มุ่งเน้นให้ความสนใจกับการกระจายภาระภาษี และ 3) ความตั้งใจทางการเมือง (Political Will) ที่จะสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ดังเช่นในต่างประเทศที่มีนโยบายทางการเมืองในการสร้างรัฐสวัสดิการ แต่ในเมืองไทยยังไม่มีความตั้งใจทางการเมืองที่ชัดเจนในลักษณะนี้ ซึ่งความตั้งใจดังกล่าวนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างสังคมสันติสุขต่อไป
ผู้อภิปรายคนแรก ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในนามของนักวิชาการ กล่าวว่าสภาพความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ได้เป็นเพียงความขัดแย้งในระดับปัจเจกบุคคล แต่เป็นปัญหาความขัดแย้งในระดับโครงสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “อำนาจของรัฐในการจัดสรรทรัพยากร” ซึ่งเป็นการจัดสรรทรัพยากรให้แก่ “ชนชั้นนำ” ซึ่งเป็นผู้ยึดเอาทรัพยากรส่วนรวมไว้ใช้เพียงเพื่อผลประโยชน์แห่งตนและพวกพ้อง ในขณะที่คนส่วนใหญ่ของสังคมไม่มีโอกาส และไม่มีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับระบบการจัดสรรทรัพยากรโดยต้องเป็นการจัดสรรที่เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และมุ่งให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมในระยะยาว โดยสภาพการณ์อันเป็นปัญหาทั้งหมดเกิดจาก “การบริหารงานของรัฐที่รวมศูนย์มากเกินไป”
คำถามที่น่าสนใจคือ ใครจะเป็นคนทำหรือรัฐทำเองได้ไหม? ซึ่ง อาจารย์ได้กล่าวย้ำว่ารัฐไม่สามารถทำเองได้ แต่จำเป็นต้องใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเสนอแนวทางแก้ไขการจัดสรรผลประโยชน์ที่น่าสนใจว่า จะต้องใช้หลักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งเรามักจะรู้จักกันเพียงแค่การเลือกตั้ง แต่ความจริงแล้วหลักประชาธิไตยยังรวมถึงกระบวนการติดตามตรวจสอบ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหา หรือแม้แต่การกระจายอำนาจ ซึ่งไม่เพียงแต่การมอบหมายงานให้หน่วยงานในสายงานที่มีอยู่ดำเนินการเท่านั้น แต่ยังต้องเน้นการกระจาย “อำนาจ” ในการบริหารจัดการทรัพยากรด้วย อาทิ การเก็บภาษี การจัดการน้ำ เป็นต้น
นอกจากนี้อาจารย์ยังได้เสนอแนวทางแก้ไขว่าการกระจายอำนาจนั้น ไม่เพียงแค่มองแต่หน่วยงานที่เป็นภาครัฐเฉพาะอย่างเดียว แต่ต้องให้หน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ ตลอดจนติดตาม ตรวจสอบ และถ่วงดุลด้วย ส่วนภาครัฐเองต้องทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน ให้คำปรึกษาแนะนำ ไม่คิดเองทำเอง และที่สำคัญต้องใช้กระบวนการสานเสวนาหาทางออก (Deliberative) มาใช้ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ ท้ายสุด อาจารย์ให้ข้อคิดที่ท้าทายว่าสังคมไทยจำเป็นที่จะต้องมีการสร้างกลไกในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคสังคม เพื่อให้ภาคสังคมได้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบ
ผู้ร่วมอภิปรายคนที่ 2 คือ ดร.ปรเมธี วิมลศิริ ซึ่งถือว่าเป็นผู้แทนจากภาครัฐ ได้ชี้ให้เห็นถึงวิวัฒนาการของการจัดสรรผลประโยชน์ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในกระแสของโลก โดยในระยะเริ่มแรก ภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดแนวทางและนโยบายต่างๆ โดยจะให้นโยบายการคลังเป็นตัวนำ แต่หลังจากนั้น ในช่วงกลางๆของการพัฒนาจะมีการเปลี่ยนแปลงไปใช้ระบบการตลาดและทุนนิยมมากขึ้น โดยจะเน้นการให้บริการทางเศรษฐกิจและสังคมกับประชาชนมากขึ้น เช่น มีการส่งเสริมด้านอาชีพ รายได้ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร โครงสร้างพื้นฐาน และการศึกษา อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังจนถึงปัจจุบัน วิวัฒนาการในการแบ่งสรรผลประโยชน์หรือการพัฒนาได้เปลี่ยนไป โดยมีการนำเกิดแนวคิดของกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเข้ามาใช้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์และความสุขที่ยั่งยืน แต่ก็ยังเกิดความขัดแย้งอยู่เพราะแม้ว่าในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมของการพัฒนาทางเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำในสังคมค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในสามจังหวัดภาคใต้ ซึ่งยังมีความยากจน การเข้าถึงการบริการต่างๆ ไม่ทั่วถึง การศึกษาต่ำ และแบ่งสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม หรือแม้แต่ปัญหาความขัดแย้งที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เช่นกัน
ดร.ปรเมธี กล่าวว่าสภาพความเป็นจริงของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงจากทิศทางการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา ซึ่งอาศัยทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นฐานการผลิตและทุนทางเศรษฐกิจ รัฐทำหน้าที่เป็นกลไกหลักในการจัดการทรัพยากร ในขณะที่ “ฐานะทางเศรษฐกิจ” เป็นตัวกำหนดความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากร ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น จึงต้องพิจารณาถึงการปรับเปลี่ยนทิศทางในการพัฒนาประเทศ โดยต้องมุ่งเน้นการพัฒนาที่ “สมดุลในทุกมิติ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาที่เน้นให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน (WIN - WIN) อันจะนำไปสู่การสร้างโอกาสของการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ และ สามารถลดความขัดแย้งของคนในสังคม
ดร.ปรเมธี มีข้อเสนอ 3 ประการเพื่อลดความขัดแย้ง ได้แก่
1) การลดความเหลื่อมล้ำด้านความเจริญและรายได้ 2) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมในตลาด / ทุนนิยม และ 3) การร่วมกันสร้างการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน
ดร. สมภพ เจริญกุล เป็นผู้อภิปรายคนที่สาม ซึ่งถือว่าเป็นผู้แทนที่มาจากภาคเอกชน ได้บอกความรู้สึกส่วนตัวแก่ผู้เข้าสัมมนาว่า ปัจจุบันคนในสังคมไทยมีอาการ 5 อย่าง คือ 1) คนไทยกำลัง “สับสน” ว่าอะไรดีหรือไม่ดี เพราะไม่รู้ว่าจะเชื่อใครดี 2) เรากำลังมีอาการ “สุดเสียว” เพราะไม่รู้ว่าอนาคตของชาติจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นสภาพทางเศรษฐกิจซึ่ง "เจ๊ง" กับ เจ๋ง" มีโอกาสเท่าๆ กัน นักลงทุนต่างชาติไม่กล้าที่จะเข้ามาทำธุรกิจการค้าและประชาชนก็ไม่กล้าใช้จ่าย 3) คนไทยมีอาการ “สยอง” เพราะมีความรุนแรงเกิดทุกหนทุกแห่งทุกสถาบันหรือแม้แต่ในรัฐสภาก็ตาม คนในสังคมพูดส่อเสียดให้ร้ายกันต่างๆ นาๆ 4) คนไทยกำลัง “สิ้นหวัง” เพราะมองไม่เห็นแสงสว่างในการแก้ปัญหา และอาการสุดท้ายคือ 5) เรากำลัง “เศร้าสร้อย” ซึ่งสังเกตได้จากการยิ้ม แม้จะยิ้มหรือหัวเราะก็ไม่เต็มที่
ดร. สมภพ ยังชี้ให้เห็นว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจาก “ผลประโยชน์” เป็นหลักใหญ่ ซึ่งผลประโยชน์นั้นจะไม่เข้าใครออกใคร ไม่เลือกฝั่ง ใครให้ผลประโยชน์มากกว่าก็ไปอยู่กับฝ่ายนั้น และถ้ามนุษย์ไม่ได้อย่างที่ต้องการ ก็จะโกรธและเกิดความขัดแย้ง
ผู้เข้าร่วมอภิปรายคนสุดท้ายมาจากภาคประชาสังคม เป็นนักต่อสู้ และนักขับเคลื่อนเพื่อสิทธิของผู้บริโภค คุณสารี อ๋องสมหวัง เปิดการอภิปรายว่า สาเหตุของความขัดแย้งเกิดจากการที่สังคมไทยยอมรับในความไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้น หลายครั้งสังคมไทยจึงมักที่จะเพิกเฉยต่อการละเมิด เอาเปรียบ กดขี่ รวมทั้งความไม่เป็นธรรมในสังคม ทำให้เป็นปัญหาเรื้อรังยากที่จะแก้ไข คุณสารี ได้ยกตัวอย่างความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในหลายกรณีว่าเกิดจากความบกพร่องของกลไกการพัฒนาของรัฐ และการปิดกั้นโอกาสในการได้รับการพัฒนาและการเข้าถึงทรัพยากร ดังนั้น จึงเสนอว่าเพื่อจะลดความขัดแย้งและสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น จะต้องเร่งปรับปรุงและพัฒนากลไกในการจัดบริการของภาครัฐ เร่งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจในการจัดสรรทรัพยากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐจะต้อง “ฟังเสียงประชาชน” นอกจากนี้คุณสารี ยังได้เสนอแนะว่า การสร้างเครือข่ายและความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นกับภาคประชาชนเป็นแนวทางอย่างหนึ่งที่สำคัญ โดยได้ยกตัวอย่างของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 8 จังหวัด และเครือข่ายประชาชนผลักดันกฎหมายหลักประกัน เป็นต้น ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ช่วยต่อสู้เรื่องความเสียหายและความไม่เป็นธรรมให้แก่คนในสังคม
…………………………….
กลุ่มย่อยที่ 1: รัฐบาลกับความชอบธรรมทางการเมือง
กลุ่มที่ 1 นี้ประกอบไปด้วยวิทยากรจำนวน 5 ท่าน ได้แก่ผศ.ดร.ชลัท จงสืบพันธุ์ ดร.ไมเคิล เนลสัน อาจารย์บุญเสริม นาคสาร รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต และผศ.ดร.ศุภมิตร ปิติพัฒน์ ดำเนินรายการโดยศ.ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู
กลุ่มนี้เริ่มต้นการพูดคุยโดยผศ.ดร.ชลัท จงสืบพันธุ์ ที่กล่าวถึงบทบาทของผู้ตรวจการแผ่นดินในประเด็นเรื่องความชอบธรรมของรัฐบาลว่าเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยของสถาบันฯเรื่อง “ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูประเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็งของสังคมไทย” ในการทำงานวิจัยดังกล่าว อาจารย์ได้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจไว้ว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินยังขาดความเป็นอิสระอย่างแท้จริง และยังมีความซ้ำซ้อนในแง่บทบาท อำนาจ หน้าที่ในส่วนของการรับรู้ของบุคคลภายนอก ในส่วนของปัญหาและอุปสรรคของผู้ตรวจการแผ่นดินพบว่ายังมีปัญหาทั้งทางด้านผู้ตรวจฯและสำนักงาน และที่สำคัญคือ ต้องมีการกำหนด “หลักแห่งความเป็นธรรม” ให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม
ต่อมาดร.ไมเคิล เนลสัน ได้แสดงความคิดเห็นว่าการเมืองไทยเป็นเรื่องโครงสร้างที่ประกอบไปด้วยกลุ่มอำนาจ 5 กลุ่ม คือ พระมหากษัตริย์ (และองคมนตรี) ทหาร อำมาตย์ นักการเมือง และประชาชน ซึ่งกลุ่มต่างๆเหล่านี้ ผลัดกันเข้ามามีบทบาททางการเมืองในแต่ละบริบท สำหรับบทความของอาจารย์ได้กล่าวถึงกระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งส่วนใหญ่การเปลี่ยนแปลงกระบวนการเลือกตั้งแบบปี 2540 เป็นแบบปี 2550 นั้น ไม่มีเหตุผลทางวิชาการสนับสนุน และไม่ตรงกับความเป็นจริงในระดับจังหวัดและประเทศไทย ในขณะที่รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต ได้เน้นว่าประชาธิปไตยแบบมีตัวแทนต้องคำนึงถึงความชอบธรรมอย่างน้อย 2 ประเด็น หนึ่ง คือการเข้าสู่อำนาจและการใช้อำนาจ ซึ่งต้องชอบธรรมด้วยหลักกฎหมายและหลักศีลธรรม มิฉะนั้นรัฐบาลจะอยู่ไม่ได้ แม้รัฐบาลจะมีประสิทธิภาพมากก็ตาม
สำหรับอาจารย์บุญเสริม นาคสาร ได้นำเสนอรูปแบบรัฐสภาที่เหมาะสม เช่น จำนวน สส.สว.ซึ่งมีผู้แทนจากหลากหลายกลุ่มอาชีพ เพื่อที่จะให้รัฐสภาเป็นสภาแห่งตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง โดยให้มีฝ่ายบริหารที่เข้มแข็งแต่สามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้ อาจารย์เห็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ควรสังกัดพรรคการเมืองใด
ในส่วนของผศ.ดร.ศุภมิตร ปิติพัฒน์ ได้ทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการนำนโยบายของรัฐในเรื่องการพัฒนาไปใช้ในสังคม ซึ่งอาจารย์พบว่านโยบายของรัฐทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม เพราะนโยบายของรัฐไม่ได้มาจากความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งทำให้เกิดการต่อต้านขึ้นจากประชาชน
กลุ่มย่อยที่ 2: การปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจในการลดความขัดแย้งและสร้างเสริมความชอบธรรมทางการเมือง
กลุ่มที่ 2 นี้ประกอบไปด้วยวิทยากรจำนวน 4 ท่าน ได้แก่รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ และ Prof.Shinya Imaizumi ดำเนินรายการโดยรศ.ดร.วัชรียา โตสงวน
สำหรับกลุ่มนี้ ได้ข้อสรุปการพูดคุยแลกเปลี่ยนที่สำคัญคือ ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการกระจายรายได้และความมั่งคั่ง (Income and Wealth Redistribution) ซึ่งหนึ่งในสาเหตุของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจดังกล่าวมาจากสาเหตุทางด้านการคลัง โดยแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็น 2 ด้าน คือ รายรับและรายจ่าย
1.ด้านรายรับ
ปัญหาความไม่เป็นธรรมของโครงสร้างภาษี ทั้งภาษีทางตรงและภาษีทางอ้อมก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจแก่ประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะภาษีทางอ้อมที่ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บ มีการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เกิดผลเสียหายต่อประชาธิปไตย เกิดปัญหาคอร์รัปชั่น และการแสวงหาผลตอบแทนส่วนเกิน (Economic Rent) ของนักการเมืองและข้าราชการ 2.ด้านรายจ่าย
การกระจายผลประโยชน์จากการใช้จ่ายของภาครัฐใน 3 ด้านหลัก คือ สาธารณสุข การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐาน ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันระหว่างคนจน-คนรวย ซึ่งบริการของภาครัฐดังกล่าว ก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่กลุ่มคนที่มีรายได้สูงมากกว่ากลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำ
ดังนั้น กรอบแนวคิดการปฏิรูปเศรษฐกิจ คือ การพัฒนาเชิงคุณภาพของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยอาศัยเครื่องมือทางการคลัง คือ การปฏิรูปโครงสร้างทางภาษีอากรเพื่อเพิ่มรายรับ และลดรายจ่ายอื่นของรัฐในการนำมาใช้กับระบบสวัสดิการพื้นฐานที่เหมาะสมสำหรับประเทศที่กำลังก้าวไปสู่สังคมผู้สูงอายุเพื่อลดความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของคนไทย
กลุ่มย่อยที่ 3: ตุลาการภิวัตน์ (Judicial Review) และตุลาธิปไตย (Judicial Activism)
กลุ่มที่ 3 นี้ประกอบไปด้วยวิทยากรจำนวน 2 ท่าน ได้แก่รศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต และรศ.ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช ดำเนินรายการโดยอาจารย์ไพสิฐ พานิชกุล
สำหรับการนำเสนอข้อมูลและร่วมแลกเปลี่ยนในกลุ่มนี้ มีข้อสรุปดังต่อไปนี้ คือ
รัฐธรรมนูญและสังคมมอบอำนาจและความไว้วางใจให้สถาบันตุลาการทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาการเมือง จึงเกิดประเด็นคำถามในบทบาทของสถาบันตุลาการที่สำคัญ คือ “ตุลาการภิวัตน์” หรือ Judicial Review หรือ Judicialization ทั้งนี้ ตุลาการภิวัตน์ของไทยมีความแตกต่างไปจาก ตุลาการภิวัตน์ของประเทศที่เป็นต้นแบบ เช่น สหรัฐอเมริกา ค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมร่วมกันเสนอแนวทางหรือรูปแบบเพื่อ “ตุลาการภิวัตน์” ของไทย โดยต้องยึดมั่นในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญ ต้องมีความเป็นอิสระ เป็นกลาง ปลอดจากอคติ และต้องให้ความสำคัญกับ “วิธีพิจารณาความ” เพราะเป็นดุลพินิจที่มีผลต่อการสร้างความเป็นธรรม การให้เหตุผลประกอบคำพิพากษามีความสำคัญอย่างมากและมีผลต่อความเชื่อมั่นศรัทธาต่อสถาบันตุลาการ และต้องยึดหลักกฎหมายและความเป็นธรรม
ส่วนการใช้อำนาจหน้าที่ในทางการเมืองของศาลนั้น จำเป็นต้องมีการทบทวนความจำเป็น สัดส่วนความเหมาะสม ที่มาหรือองค์ประกอบของสถาบันตุลาการ รวมทั้งการยึดโยงกับประชาชนประกอบด้วย การพิจารณาคดีในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์นั้น เป็นส่วนที่ช่วยให้การทำหน้าที่ของศาลต้องระมัดระวังมากขึ้น โดยสังคมสามารถวิพากษ์วิจารณ์ศาลตามหลักทางวิชาการได้ บทบาทของสถาบันตุลาการในพื้นที่พิเศษเช่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีกฎหมายพิเศษ ทั้งกฎอัยการศึก และพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน อาจต้องพิจารณาเป็นการพิเศษ ทั้งนี้ เพื่อให้สถาบันตุลาการได้แสดงบทบาทในการแก้ไขปัญหาของสังคมไทยได้ ควรมีการปฏิรูปสถาบันตุลาการ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรแรกที่ควรศึกษาทบทวน เนื่องจากมีอำนาจหน้าที่เข้าข่ายเป็นตุลาการภิวัตน์มากกว่าศาลยุติธรรมและศาลปกครอง
การปฏิรูปสถาบันตุลาการ ซึ่งควรปฏิรูปตั้งแต่ที่มา องค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ อีกทั้ง มีการเสนอให้นำระบบผู้พิพากษาสมทบ และให้มีหน่วยงานสนับสนุนหรือระบบช่วยเหลือการทำหน้าที่ของศาล เพื่อให้มีข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วนก่อนพิพากษาคดี ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลสถาบันตุลาการโดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ อาจสร้างระบบการควบคุมกำกับกันเองเหมือนกับ ก.ต.ของศาลยุติธรรม
โดยรวมแล้ว ต้องพยายามทำให้คำพิพากษาของศาลเป็นคำพิพากษาที่มีคุณภาพ มีการให้เหตุผลอย่างชัดแจ้ง ซึ่งการที่จะเกิดขึ้นได้นั้น นอกจากต้องใช้แนวทางดังกล่าวแล้ว ต้องมีการปฏิรูประบบการเรียนการสอนวิชานิติศาสตร์ด้วย นอกจากนี้ สังคมโดยเฉพาะสถาบันวิชาการและสื่อมวลชน ต้องทำหน้าที่ในการกำกับและติดตามวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษา รวมทั้งการสอดส่องการดำรงตนของตุลาการด้วย กลุ่มย่อยที่ 4: นวัตกรรมในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นและสังคมวัฒนธรรมไทย
กลุ่มที่ 4 นี้ประกอบไปด้วยวิทยากรจำนวน 4 ท่าน ได้แก่พระไพศาล วิสาโล ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ศ.(พิเศษ)ดร.ศรีศักร วัลลิโภดม และรศ.ดร.โคทม อารียา ดำเนินรายการโดยรศ.ดร.พรรณทิพย์ ศิริวรรณบุศย์
ที่ประชุมได้อภิปรายและเปลี่ยนความคิดเห็น โดยจำแนกความขัดแย้งออกเป็น 3 เรื่องหลัก คือ 1. ความขัดแย้งทางเมือง 2. ความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 3. ความขัดแย้งด้านสังคม ศาสนา และวัฒนธรรม
สำหรับการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง ควรจะสร้างสัมพันธภาพด้วยการให้ผู้นำมาพบปะพูดคุยกัน และควรเน้นการแก้ไขความขัดแย้งจากภายในด้านความรู้สึกและจิตใจ ส่วนความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ควรมีการวิเคราะห์ระดับความขัดแย้งและความหวาดระแวง โดยเชื่อมโยงกับแนวคิดเรื่องอำนาจว่าคู่ขัดแย้งมีอำนาจน้อยหรืออำนาจมาก และผสมผสานวิธีการแก้ไขไปตามความเหมาะสม ซึ่งในส่วนของวิธีการจัดการความขัดแย้งนั้น อาจจะใช้วิธีการเสริมพลังคนที่มีอำนาจน้อยกว่าเพื่อทำให้เขารู้สึกว่าพร้อมที่จะลุกขึ้นมาสู้ การแก้ไขความขัดแย้งโดยฝ่ายที่สาม และการหากิจกรรมร่วมกัน เช่น การสร้างสะพาน เป็นต้น
ในขณะที่ความขัดแย้งด้านสังคม ศาสนา และวัฒนธรรมนั้น สังคมไทยมีระบบการจัดการความขัดแย้งด้วยภูมิปัญญาในชุมชน ทำให้สามารถประสบความสำเร็จในการแก้ไขความขัดแย้งได้หลายกรณี อาทิ ความขัดแย้งในสถานพินิจ ความขัดแย้งระหว่างพระวินัยธรกับพระธรรมถึกกรณีที่ใช้น้ำในกระบวยในห้องน้ำเหลือ การแย่งน้ำที่อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง การเลือกตั้งในท้องถิ่นแล้วเกิดความขัดแย้งที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ผู้ค้ารายย่อยกับผู้เช่าสัมปทานรถไฟ อำเภอหัวหิน ความขัดแย้งในสถานศึกษาในโรงเรียน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา
สำหรับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนั้นมีหลายวิธี ประกอบด้วยการสานเสวนาพูดคุยกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจที่ดีต่อกันในรูปแบบคณะกรรมการที่มีส่วนร่วมจากผู้เกี่ยวข้อง การไกล่เกลี่ยโดยพระสงฆ์ และพระพุทธเจ้าซึ่งคู่กรณีให้การยอมรับ รวมถึงระบบศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ด้วยการสาบานต่อหน้าพระพุทธรูป และการไกล่เกลี่ยโดยเพื่อนนักเรียนด้วยกันเอง
กลุ่มย่อยที่ 5: การเมืองภาคประชาชนกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพื่อความชอบธรรมในการจัดสรรผลประโยชน์
กลุ่มที่ 5 นี้ประกอบไปด้วยวิทยากรจำนวน 4 ท่าน ได้แก่นายวีระ สมความคิด นางสาวรสนา โตสิตระกูล ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง และดร.นฤมล ทับจุมพล ดำเนินรายการโดยผศ.ทศพล สมพงษ์ ซึ่งกลุ่มนี้มีการสรุปผลการพูดคุยในประเด็นต่างๆดังต่อไปนี้
การใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขตและการทุจริตของภาครัฐได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชน โดยสาเหตุสำคัญของการทุจริตระยะเริ่มแรกเกิดจากระบบการเลือกตั้งของไทยที่มีการซื้อสิทธิขายเสียง ทำให้นักการเมืองต้องทุจริตเพื่อถอนทุน และในปัจจุบัน รูปแบบการทุจริตได้ถูกพัฒนาให้มีความหลากหลายมากขึ้น มีความซับซ้อน ยากต่อการตรวจสอบ และส่งผลเสียหายต่อสังคมมากขึ้น นอกจากนักการเมืองแล้ว นักธุรกิจและเจ้าหน้าที่รัฐยังถือได้ว่ามีส่วนสำคัญในกระบวนการทุจริต หรือเรียกว่า “สามเหลี่ยมแห่งการคอร์รัปชั่น”
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่พุทธศักราช 2540 ได้เพิ่มบทบาทให้กับภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ รวมทั้งกำหนดให้มีกลไกที่สนับสนุนการดำเนินการ เช่น การจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เช่น ปปช. เป็นต้น แต่กลไกตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประชาชนมักถูกปิดกั้นโอกาสในการตรวจสอบโดยนักการเมือง
ดังนั้น ภาคประชาชนต้องมีบทบาทในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมากขึ้น เนื่องจากเป็นทั้งสิทธิและหน้าที่ของประชาชนในการมีส่วนร่วมจัดสรรผลประโยชน์เพื่อสาธารณะ ทั้งนี้ ภาคประชาชนจะประสบความสำเร็จในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้ จำเป็นที่จะต้องได้รับช่องทางในการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบ เช่น การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารภาครัฐ และนอกจากนี้ สื่อมวลชนเองก็เป็นภาคส่วนสำคัญที่จะต้องทำหน้าที่เฝ้าระวังและตีแผ่การทุจริต รวมทั้งเสริมสร้างให้เกิดค่านิยมในการมีส่วนร่วมเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบการทุจริตโดยภาคประชาชน ในขณะเดียวกันจำเป็นต้องมีมาตรการทางกฎหมายที่เอื้อต่อการตรวจสอบได้อย่างแท้จริง เนื่องจากในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐนั้น ประชาชนต้องแบกรับความเสี่ยง ต้องเสียเวลา และผลกระทบที่อาจตามมาต่อหน้าที่การงาน หรือแม้กระทั่งการสูญเสียชีวิต เพื่อให้สามารถเข้าถึงความยุติธรรม
กลุ่มย่อยที่ 6: ยุทธศาสตร์การปรับระบบการบริหารภาครัฐ
กลุ่มที่ 6 นี้ประกอบไปด้วยวิทยากรจำนวน 3 ท่าน ได้แก่ศ.ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ นายจาดุร อภิชาตบุตร ดร.พีรพล ไตรทศาวิทย์ ดำเนินรายการโดยศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์
ห้องนี้จะเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในประเด็นเรื่องยุทธศาสตร์การปรับระบบการบริหารภาครัฐ ซึ่งศ.ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ได้กล่าวว่า กระบวนการโลกาภิวัตน์ทำให้สมรรถนะความสามารถของหน่วยงานภาครัฐลดลง แม้ว่าระบบการบริหารภาครัฐจะมีการปรับกระบวนทัศน์หลายต่อหลายครั้งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของภาครัฐในการตอบสนองและจัดการปัญหาภายใต้การเปลี่ยนแปลงของประเทศและโลกที่ประชาชนมีความเข้มแข็งขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถตอบสนองได้ดีและรวดเร็วทันต่อความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น อาจารย์ได้กล่าวต่อไปว่าระบบการบริหารภาครัฐควรจะต้องพัฒนาในเรื่องสมรรถนะความสามารถแกนหลักเพิ่มขึ้น 3 ประการ คือ ความเข้าถึงเข้าใจความต้องการของภาคส่วนต่างๆ ความสามารถในการแสวงหา แบ่งปัน และรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น และความสามารถด้านการบริหารจัดการ นอกจากนี้ ยังต้องมีความน่าเชื่อถือไว้วางใจ และความชอบธรรมในการจัดสรรทรัพยากรด้วย ในการปรับนั้นองค์กรควรจะใช้หลักการบริหารแบบ Sense & Simplicity หมายถึงเข้าใจ เข้าถึง และทำได้ แก้ปัญหาได้ คือง่ายและรวดเร็วนั่นเอง ซึ่งที่ผ่านมาจะเน้นในระดับบริการและระดับการจัดการทรัพยากร แต่ยังไม่มีในระดับนโยบาย ดังนั้น จึงควรต้องให้ความสำคัญเร่งด่วนในระดับระบบ (Systematic Level) มากกว่าในระดับบริหาร (Technical Level) และอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือต้องปรับโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนและประชาชน
ในส่วนมุมมองจากผู้ปฏิบัตินั้น นายจาดุร อภิชาตบุตร กล่าวว่าโครงการต่างๆ ของรัฐที่ล้มเหลว เช่น โครงการโฮปเวลล์ และโครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จริงๆ แล้วระบบบริหารราชการแบบเดียวกันใช้ได้ดีในหลายๆ ประเทศ แต่ที่ไม่ได้ผลในบางประเทศเป็นเพราะการบริหารงานยังไม่เข้าถึงประโยชน์สุขของประชาชนอย่างทั่วถึง คนที่ควบคุมระบบต้องมีจิตสำนึกรับผิดชอบ มีจริยธรรม กล่าวได้ว่าตัวระบบนั้นดี แต่ปัญหาจริงๆ คือคนที่ควบคุมระบบ ควรมีระบบในการคัดเลือกคนดีมีจริยธรรมเข้ามาควบคุมระบบ
ในขณะที่ดร.พีรพล ไตรทศาวิทย์ ได้กล่าวถึงวิวัฒนาการของยุทธศาสตร์การปรับระบบบริหารราชการส่วนภูมิภาคในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต การพัฒนาระบบจังหวัดบูรณาการเป็นการลดอำนาจกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ มาอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด จังหวัดมีงบประมาณและยุทธศาสตร์ของตัวเอง แต่การจัดระบบกลุ่มจังหวัด นอกจากจะมีกรรมการบริหารจังหวัดแล้วควรจะมีกรรมการบริหารอำเภอแบบบูรณาการด้วย และควรมีการจัดบุคลากรที่มีทักษะ ความถนัดให้เหมาะสมกับงาน รวมถึงระบบงบประมาณซึ่งยังคงใช้งบส่วนกลาง ซึ่งในส่วนนี้ได้มีการทบทวนแก้ไขในช่วงปี 2551 โดยกำหนดให้ทุกภาคส่วนเข้าร่วมในการจัดทำแผนและงบจังหวัด ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดวิธีการสำรวจและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การตั้งกรรมการบริหารอำเภอ และให้ส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการสอดคล้องกับแผนจังหวัด ส่วนในอนาคตนั้น ควรจะเน้นชุมชนเข้มแข็ง ปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและประชาชน สำรวจปัญหาความต้องการผ่านประชาคมที่เป็นกลาง กำหนดแผนตามความต้องการโดยบูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงการประเมินผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อสร้างดุลยภาพระหว่างผลงานกับเส้นด้วย
กลุ่มย่อยที่ 7: การปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมไทย
กลุ่มที่ 7 นี้ประกอบไปด้วยวิทยากรจำนวน 4 ท่าน ซึ่งเป็นนักวิชาการ 3 ท่านและนักปฏิบัติ 1 ท่าน ได้แก่ ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ รศ.ตระกูล มีชัย อาจารย์วีระศักดิ์ เครือเทพ และนายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม
ทั้งนี้ รศ.ตระกูล มีชัยได้นำเสนอประเด็นการเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น โดยกล่าวถึงสภาพปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ของท้องถิ่น ซึ่งไม่ได้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพียงองค์กรเดียวในการใช้อำนาจทางการบริหารและอำนาจปกครอง แต่ยังมีองค์กรภาคประชาสังคมอันได้แก่สภาองค์กรชุมชน และราชการส่วนท้องที่อันได้แก่ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน จึงได้เสนอให้มีการปรับรูปแบบที่มาของสมาชิกสภาท้องถิ่นให้มาจากทั้งการเลือกตั้งโดยประชาชนผสมกับการเลือกผู้แทนของภาคประชาสังคม อันจะทำให้เกิดการกระจายอำนาจการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม และเกิดการทำงานแบบร่วมมือและปรึกษาหารือกัน และลดปัญหาความขัดแย้งภายในท้องถิ่น
ส่วนอาจารย์วีระศักดิ์ เครือเทพได้ให้ความเห็นในประเด็นการจัดทำแผนและงบประมาณแบบมีส่วนร่วมว่า การทำประชาคมหมู่บ้านและประชาคมตำบลในปัจจุบันประสบปัญหาการวางแผนแบบแยกส่วนและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อปกป้องประโยชน์ส่วนตนมากกว่าที่จะมองถึงประโยชน์ส่วนรวม ส่งผลให้แผนพัฒนาตำบลและแผนงบประมาณไม่มีทิศทาง จึงเสนอให้เขตการเลือกตั้งของสมาชิกสภา อบต.เหลือเพียงเขตเลือกตั้งเดียว เพื่อให้การพัฒนาตำบลเป็นแบบองค์รวม ไม่มีการแย่งชิงงบประมาณเพื่อลงพื้นที่/หมู่บ้านของตน ประกอบกับให้มีการจัดทำกรอบงบประมาณที่บ่งบอกถึงขนาดงบประมาณที่รองรับต่อการจัดทำแผนพัฒนาตำบล เพื่อให้ประชาชนสามารถเรียกร้องโครงการอย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้นและอยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้ทางการคลัง
ศาสตราจารย์ ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ กล่าวถึงประเด็นการบริการสาธารณะด้านสวัสดิการสังคมและการจัดสรรรายจ่ายเฉพาะกลุ่มคนจนและด้อยโอกาสในสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมว่า ปัจจุบันนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเน้นการจัดบริการสาธารณะด้านโครงสร้างพื้นฐานมากกว่าการพัฒนาคุณภาพชีวิตและจัดสวัสดิการสังคม อีกทั้งกลุ่มคนจนและคนด้อยโอกาสไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้อย่างเท่าเทียมกัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงควรปรับสมรรถนะในการจัดบริการเชิงรุกให้เข้าถึงคนทุกกลุ่ม โดยมีการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลผู้รับบริการเฉพาะกลุ่ม นอกจากนี้ หากในอนาคต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ก็จะสามารถจัดสรรงบประมาณสำหรับจัดบริการสาธารณะที่ตรงกับความต้องการของคนเฉพาะกลุ่มได้มากขึ้น
ส่วนนักปฏิบัติหนึ่งเดียวของกลุ่มคือ นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ได้นำเสนอการมีส่วนร่วมของประชาชนในเขตเทศบาลนครยะลา โดยเล่าถึงกิจกรรมที่เทศบาลได้ดำเนินการเพื่อเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม ทุกระดับ เช่น โครงการสภาประชาชน เทศบาลสัญจร และโครงการที่เน้นการปลูกจิตสำนึกให้กับเยาวชน เช่น โครงการสำนึกรักท้องถิ่น การจัดหลักสูตรท้องถิ่น
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าข้อเสนอของวิทยากรทั้ง 4 ท่านมีความน่าสนใจ และเป็นประเด็นที่ท้าทายต่อการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อันควรที่จะมีการศึกษาวิจัยเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริงที่มีความสอดคล้องกับบริบทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความหลากหลายต่อไป