ผลต่างระหว่างรุ่นของ "มนูญกฤต รูปขจร"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Panu (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
Panu (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัดที่ 37: บรรทัดที่ 37:
'''พลตรี มนูญ รูปขจร''' ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง เมื่อคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดินจากรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ส่งผลให้พลตรี มนูญ ถูกข้อกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีการลอบสังหารบุคคลสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2525-2527 จึงถูกคำสั่งให้ออกจากราชการและถูกถอดยศด้วย พลตรี มนูญ เดินทางกลับประเทศไทยเพื่อเข้ามอบตัวสู้คดี เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2535 โดยได้รับการประกันตัวออกไปด้วยหลักทรัพย์ในวงเงินประมาณ 3 ล้านบาท หลังจากนั้น ศาลทหารกรุงเทพ มีคำพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าว
'''พลตรี มนูญ รูปขจร''' ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง เมื่อคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดินจากรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ส่งผลให้พลตรี มนูญ ถูกข้อกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีการลอบสังหารบุคคลสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2525-2527 จึงถูกคำสั่งให้ออกจากราชการและถูกถอดยศด้วย พลตรี มนูญ เดินทางกลับประเทศไทยเพื่อเข้ามอบตัวสู้คดี เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2535 โดยได้รับการประกันตัวออกไปด้วยหลักทรัพย์ในวงเงินประมาณ 3 ล้านบาท หลังจากนั้น ศาลทหารกรุงเทพ มีคำพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าว


'''เริ่มเข้าสู่ถนนสายการเมือง''' เมื่อรัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ได้ทำเรื่องขอคืนยศให้ พลตรี มนูญ รูปขจร แล้วส่งพลตรี มนูญ ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพฯ เขต 12 เมื่อปี 2538 แต่สอบตก พลตรี มนูญ กลับมามีชื่อเสียงอีกครั้งในสมัยรัฐบาลชวน 2 โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “พลตรี มนูญกฤต” ทำหน้าที่เป็นประธานที่ปรึกษาของพลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์<ref>วีระ เลิศสมพร, หน้า 230-231.</ref>
'''เริ่มเข้าสู่ถนนสายการเมือง''' เมื่อรัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ได้ทำเรื่องขอคืนยศให้ พลตรี มนูญ รูปขจร แล้วส่งพลตรี มนูญ ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพฯ เขต 12 เมื่อปี 2538 แต่สอบตก พลตรี มนูญ กลับมามีชื่อเสียงอีกครั้งในสมัยรัฐบาลชวน 2 โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “พลตรี มนูญกฤต” ทำหน้าที่เป็นประธานที่ปรึกษาของพลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี [[รัฐมนตรี]]ว่าการกระทรวงมหาดไทย และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์<ref>วีระ เลิศสมพร, หน้า 230-231.</ref>


'''ก้าวสู่การเป็นสมาชิกวุฒิสภา''' เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 พลตรี มนูญกฤต รูปขจร ได้ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสระบุรี และได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2543 โดย[[รัฐธรรมนูญ]]ฉบับนี้ ได้กำหนดสมาชิกภาพให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2543 ถึงวันที่ 21 มีนาคม 2549 เป็นระยะเวลา 6 ปี<ref>มนูญกฤต รูปขจร, “วุฒิสภาหรือสภาปาหี่,” ใน '''6 ปี ในวุฒิสภา “จารึกไว้ในความทรงจำ”''' (กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2549), หน้า 242.</ref> ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา พลตรี มนูญกฤต ได้สมัครรับเลือกเป็นประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 ได้คะแนนเสียงน้อยกว่านายสนิท วรปัญญา ในรอบสุดท้าย ด้วยคะแนน 83 ต่อ 115 หลังจากที่นายสนิท วรปัญญา ต้องพ้นจากตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาจากคำสั่งเพิกถอนของ[[คณะกรรมการการเลือกตั้ง]] ตำแหน่งประธานวุฒิสภาว่างลง พลตรี มนูญกฤต ได้สมัครรับเลือกเป็นประธานวุฒิสภาอีกครั้ง เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2544 ผลปรากฏว่าได้รับเลือกให้เป็นประธานวุฒิสภา ด้วยคะแนนเสียง 114 คะแนน<ref>วีระ เลิศสมพร, หน้า 231.</ref>
'''ก้าวสู่การเป็นสมาชิกวุฒิสภา''' เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 พลตรี มนูญกฤต รูปขจร ได้ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสระบุรี และได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2543 โดย[[รัฐธรรมนูญ]]ฉบับนี้ ได้กำหนดสมาชิกภาพให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2543 ถึงวันที่ 21 มีนาคม 2549 เป็นระยะเวลา 6 ปี<ref>มนูญกฤต รูปขจร, “วุฒิสภาหรือสภาปาหี่,” ใน '''6 ปี ในวุฒิสภา “จารึกไว้ในความทรงจำ”''' (กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2549), หน้า 242.</ref> ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา พลตรี มนูญกฤต ได้สมัครรับเลือกเป็นประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 ได้คะแนนเสียงน้อยกว่านายสนิท วรปัญญา ในรอบสุดท้าย ด้วยคะแนน 83 ต่อ 115 หลังจากที่นายสนิท วรปัญญา ต้องพ้นจากตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาจากคำสั่งเพิกถอนของ[[คณะกรรมการการเลือกตั้ง]] ตำแหน่งประธานวุฒิสภาว่างลง พลตรี มนูญกฤต ได้สมัครรับเลือกเป็นประธานวุฒิสภาอีกครั้ง เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2544 ผลปรากฏว่าได้รับเลือกให้เป็นประธานวุฒิสภา ด้วยคะแนนเสียง 114 คะแนน<ref>วีระ เลิศสมพร, หน้า 231.</ref>

รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:03, 27 ตุลาคม 2552

ผู้เรียบเรียง ขัตติยา ทองทา

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


นายทหารม้า ผู้ที่เป็นแกนนำสำคัญคนหนึ่งใน “กลุ่มนายทหาร จปร. รุ่น 7” หรือ “กลุ่มทหารหนุ่ม” หรือ “นายทหารกลุ่มยังเติร์ก” มีส่วนเกี่ยวข้องกับความพยายามก่อรัฐประหารรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ถึง 2 ครั้ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เหตุการณ์ครั้งแรกได้รับการเรียกขานชื่อว่าเป็น “กบฏ 1 เมษา” หรือ “กบฏเมษาฮาวาย” หรือ “กบฏยังเติร์ก” เหตุการณ์ครั้งที่ 2 ได้รับการเรียกขานชื่อว่าเป็น “กบฏ 9 กันยา” หรือ “กบฏสองพี่น้อง” หรือ “กบฏชาร์เตอร์” ต่อมา ชีวิตพลิกผันเดินเข้าสู่ถนนสายการเมือง ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสระบุรี และได้รับเลือกให้เป็นประธานวุฒิสภา จากนั้น ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบสัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ และได้รับฉายาว่า “นักปฏิวัติมืออาชีพ” “จอมพลหลงสภา” “ม้าเหล็กตกราง” “แมวเก้าชีวิต” ซึ่งเป็นฉายาที่ถูกเรียกขานในวงการเมืองและสื่อมวลชนของ “พลตรี มนูญกฤต รูปขจร”

ประวัติพลตรี มนูญกฤต รูปขจร

พลตรี มนูญกฤต รูปขจร มีชื่อเดิมว่า มนูญ เกิดเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2478 ที่อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บิดาเป็นนายทหารเสนารักษ์ ประจำหน่วยทหารม้า ม. พัน 1 ต่อมาย้ายไปประจำกองพันทหารปืนใหญ่โคกกระเทียม จังหวัดลพบุรี เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 บิดาได้ลาออกจากราชการไปประกอบอาชีพค้าขายที่อำเภอท่าเรือ ในวัยเด็กต้องย้ายโรงเรียนตามการย้ายทางราชการของบิดาเสมอ

การศึกษาและการรับราชการทหาร เข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนประชาบาล และระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนโยธินบูรณะ โรงเรียนท่าเรือนิตยานุกูล และโรงเรียนไพศาลศิลป์ ตามลำดับ จนถึงปี 2496 เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมนายร้อย และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ในหลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต (ทบ.) จบการศึกษาเป็นรุ่นที่ 7 รับราชการครั้งแรกที่หน่วยทหารม้าสระบุรี จากนั้น เข้าศึกษาต่อหลักสูตรผู้บังคับหมวดทหารม้าและยานเกราะ เมื่อศึกษาจบหลักสูตรได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บังคับหมวดลาดตระเวน กองพันทหารม้าที่ 8 นครราชสีมา ประจำอยู่ที่หน่วยนี้เป็นเวลา 4 ปี ก็ได้เข้าศึกษาหลักสูตรผู้บังคับกองร้อย ศูนย์การทหารม้าสระบุรี สอบได้เป็นที่ 1 ของหลักสูตร ทางกองทัพบกให้สิทธิพิเศษในการเข้าศึกษาต่อหลักสูตรชั้นนายพันทหารม้ายานเกราะที่ฟอร์ดน๊อกซ์ มลรัฐเคนตั๊คกี้ สหรัฐอเมริกา เมื่อจบการศึกษากลับมาก็ได้ประจำอยู่ที่กองพันทหารม้าที่ 4 และในปี 2510 ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก เมื่อศึกษาจบแล้วได้รับการคัดเลือกไปรบที่เวียดนามในหน่วยกองพันทหารม้ายานเกราะของกองพลอาสาสมัคร (เสือดำ) เดินทางกลับประเทศไทย ภายหลังปฏิบัติราชการในเวียดนามเป็นเวลา 1 ปี ก็ได้รับการเลื่อนยศเป็น พันตรี ตำแหน่ง รองผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 4[1] ต่อมา เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จบหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพัฒนาสังคม[2]

ในช่วงที่รับราชการทหารมีตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมาถึงความกล้าของร้อยเอก มนูญ รูปขจร (ยศและชื่อในขณะนั้น) ว่า เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกแล้ว ก็อาสาสมัครไปปฏิบัติราชการสงคราม ณ ประเทศสาธารณรัฐเวียดนามใต้ ตำแหน่ง นายทหารยุทธการ กองพันทหารม้ายานเกราะของกองพลอาสาสมัคร (เสือดำ) มีที่ตั้งในค่ายแบร์แคท อำเภอลองถั่น จังหวัดเบียนหว่า สาธารณรัฐเวียดนามใต้ ราวต้นปี 2513 เป็นช่วง 6 เดือนหลังที่กองพันทหารม้ายานเกราะจะเสร็จภารกิจที่เวียดนามใต้ ทางกองพลอาสาสมัคร ได้มีคำสั่งให้กองพันทหารม้ายานเกราะจัดกำลังเกือบเต็มอัตราไปคุ้มครองการตัดไม้ถางป่าของกำลังฝ่ายพันธมิตร (สหรัฐอเมริกา-ออสเตรเลีย-เวียดนามใต้) ภายใต้ชื่อรหัสว่า “ยุทธการโรมเพลา (Rome Plough)” ที่บริเวณทางตะวันออกของค่ายแบร์แคท

ร้อยเอก มนูญ รูปขจร นายทหารยุทธการกองพัน ก็ควบคุมการเคลื่อนย้ายหน่วยทางยุทธวิธีครั้งนี้ มีกองร้อยทหารม้ายานเกราะที่ 2 เป็นหน่วยนำ ตามด้วยกองบังคับการกองพัน ปิดท้ายด้วย กองร้อยทหารม้ายานเกราะที่ 3 เพียง 5 กิโลเมตร ห่างจากฐานแบร์แคท กองพันทหารม้ายานเกราะก็ถูกซุ่มโจมตีด้วยกำลังของเวียดนามไม่ทราบจำนวน ยิงอาร์.พี.จี. (RPG) ก่อนแล้วตามด้วยอาวุธยิงทุกชนิด ขณะนั้น สิ่งที่ช่างวิทยุกองร้อยกองบังคับการ และกำลังพลของกองพันทหารม้ายานเกราะ เห็นประจักษ์ตา คือ ร้อยเอก มนูญ รูปขจร ยืนเด่นบนรถ ซี.พี. (C.P.Command Post) ซึ่งก็คือ รถบังคับบัญชา เป็นรถสายพานลำเลียงพลเอ็ม.113 ได้วิทยุสั่งการให้หน่วยต่างๆ ตอบโต้ การซุ่มโจมตีของเวียดนาม และร้องขออาวุธยิงจากกันชีพ (gunship) เฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธที่คุ้มกันการเคลื่อนย้ายของกองพันทหารม้ายานเกราะให้ทำการยิงทำลายที่หมายนั้น โดยไม่สนใจต่อการยิงของเวียดนามแม้แต่น้อย เพียงครึ่งชั่วโมงต่อมา หน่วยก็เคลื่อนย้ายไปปฏิบัติภารกิจต่อไป จากเหตุการณ์นี้ทำให้มีคำกล่าวว่า “นายทหาร นักรบวัดใจกันตอนสัประยุทธ์ ว่า...ถึงขั้นไหน”[3]

การรับราชการการเมือง ปี 2519 เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ปี 2520 เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปี 2522 เป็นสมาชิกวุฒิสภา ปี 2523 เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี[4] ปี 2543 เป็นสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสระบุรี ปี 2544 เป็นประธานวุฒิสภา[5] ปี 2550 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบสัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ปี 2551 ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบสัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์[6]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยที่ได้รับ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก มหาวชิรมงกุฎ และเหรียญจักรพรรดิมาลา[7]

เหตุการณ์ที่ทำให้มีชื่อเสียง

พันเอก มนูญ รูปขจร เริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักในฐานะเป็นแกนนำสำคัญคนหนึ่งใน “กลุ่มนายทหาร จปร. รุ่น 7” หรือ “กลุ่มทหารหนุ่ม” ซึ่งได้รับการเรียกขานจากบุคคลอื่นว่าเป็น “นายทหารกลุ่มยังเติร์ก” สมาชิกก่อตั้งกลุ่มทหารหนุ่มได้รวมตัวกันเพราะผลสะเทือนจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และมีความเห็นว่าระยะเวลา 3 ปี หลัง 14 ตุลาคม 2516 จนถึงก่อน 6 ตุลาคม 2519 เป็นช่วงเวลาแห่งความยุ่งเหยิง ไร้ระเบียบในสังคมไทย อีกทั้ง ผู้นำทหารระดับสูงไม่เอาใจใส่ในการพัฒนากองทัพเข้าไปยุ่งกับการเมือง การค้ามากเกินไป จนมีผลทำให้กองทัพอ่อนแอ เสื่อมคุณค่า และเกียรติภูมิ จึงเริ่มเข้ามามีบทบาทในการเป็นกำลังหลักของการทำรัฐประหารรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 แล้วผลักดันให้พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี[8] ในเวลาต่อมาได้กดดันให้พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกลางสภา แล้วผลักดันให้ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน[9] หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ พันเอก มนูญ รูปขจร ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ คือ

เหตุการณ์ “กบฏ 1 เมษา” หรือ “กบฏเมษาฮาวาย” หรือ “กบฏยังเติร์ก” เป็นชื่อเรียกขานถึงเหตุการณ์ที่กลุ่มทหารหนุ่ม นำโดย พลเอก สัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก และนายทหารคนอื่นๆ เช่น พันเอก พัลลภ ปิ่นมณี พันเอก บวร งามเกษม พันเอกวีรยุทธ อินวะษา พันเอก มนูญ รูปขจร พันเอก สมบัติ รอดโพธิ์ทอง พันเอก ประจักษ์ สว่างจิตร เป็นต้น ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดินจากรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์[10] ทั้งนี้เนื่องจากในเดือน มีนาคม 2524 ได้มีข่าวแพร่สะพัดในหมู่ทหารหนุ่มว่า จะมีการต่ออายุราชการพลเอก เปรม ไปอีก 1 ปี และนายทหารหนุ่มที่คุมกำลังอยู่จะถูกโยกย้ายทั้งหมด ในคืนวันที่ 31 มีนาคม 2524 พันเอก ประจักษ์ สว่างจิตร ได้นำกำลังทหารกรมทหารราบที่ 2 เคลื่อนเข้ามาในกรุงเทพฯ และสมาชิกกลุ่มทหารหนุ่ม ซึ่งมีพันเอก มนูญ รูปขจร และคนอื่นๆ ได้ขอให้พลเอก เปรม นำการปฏิวัติ แต่ได้รับการปฏิเสธ กลุ่มทหารหนุ่มจึงตัดสินใจนำกำลังเข้ายึดอำนาจในรุ่งเช้าวันที่ 1 เมษายน 2524 จำนวน 42 กองพัน แต่ประสบความล้มเหลว[11] เนื่องจาก พลเอก เปรม ตั้ง “กองอำนวยการร่วมรักษาความสงบแห่งชาติ” ที่ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพภาค ที่ 1 กองทัพภาคที่ 2 กองทัพภาคที่ 3 กองทัพภาคที่ 4 กองทัพเรือ กองทัพอากาศ นำกองกำลังเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบแบบสายฟ้าแลบเป็นผลสำเร็จปราศจากการนองเลือด ทำให้ พลเอก สัณห์ จิตรปฏิมา และพันเอก มนูญ รูปขจร ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ ภายหลังจากเหตุการณ์สงบ คณะรัฐมนตรีได้ตัดสินใจนิรโทษกรรมไม่ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาด้วยการออก “พระราชกำหนดนิรโทษกรรมผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พุทธศักราช 2524” เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2524[12]

เหตุการณ์ “กบฏ 9 กันยา” หรือ “กบฏสองพี่น้อง” หรือ “กบฏชาร์เตอร์” เป็นชื่อเรียกขานถึงเหตุการณ์ที่คณะบุคคลกลุ่มหนึ่งนำโดย พันเอก มนูญ รูปขจร ขณะเป็นนายทหารนอกประจำการ นาวาอากาศโท มนัส รูปขจร สังกัด กรมอากาศโยธิน ได้นำกำลังจากกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ และกรมอากาศโยธินบางส่วน เข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดินจากรัฐบาล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2528 ในขณะที่พลเอก เปรม เดินทางไปราชการต่างประเทศโดยยึดกองบัญชาการทหารสูงสุดไว้เป็นศูนย์บัญชาการ และประกาศให้พลเอก เสริม ณ นคร เป็นหัวหน้าผู้ก่อการ[13] และในการก่อความไม่สงบครั้งนี้มี นายเอกยุทธ อัญชันบุตร ผู้ต้องหาคดีแชร์ชาร์เตอร์ เข้าร่วมด้วยโดยนำกำลังทหารและสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจจำนวนหนึ่งเข้ายึดองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ[14] แต่ไม่สำเร็จ เพราะพลโท พิจิตร กุลละวณิชย์ แม่ทัพภาคที่ 1 ส่งตัวแทนไปเจรจากับฝ่ายผู้ก่อการประมาณ 30 นาที พันเอก มนูญ จึงตัดสินใจยอมจำนน และต้องลี้ภัยทางการเมืองไปประเทศสิงคโปร์ก่อนจะต่อเครื่องบินไปอยู่ประเทศเยอรมันถึง 3 ปีเต็ม[15] และเดินทางกลับประเทศไทยหลังจากได้รับการนิรโทษกรรมอีกครั้ง ซึ่งจากการสอบสวนพบว่าทำหน้าที่รับจ้าง ส่วนผู้อยู่เบื้องหลังตัวจริง ไม่ส่งกำลังมาสมทบตามกำหนด กลายเป็น “กบฏไม่มาตามนัด”[16] จากเหตุการณ์สำคัญเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของฉายา “นักปฏิวัติอาชีพ”

การก้าวสู่ตำแหน่งประธานวุฒิสภา

จากเหตุการณ์ “กบฏ 9 กันยา” ทำให้ถูกคำสั่งให้ออกจากราชการและถูกถอดยศจาก “พันเอก” มาเป็น “นาย” เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2528 หลังจากได้รับการนิรโทษกรรมก็เดินทางกลับประเทศไทย ซึ่งตรงกับสมัยรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ และได้รับการคืนยศดังเดิม และในปี 2534 ได้รับพระราชทานเลื่อนยศจาก “พันเอก” ให้เป็น “พลตรี” ประจำสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม สมัยพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี[17]

พลตรี มนูญ รูปขจร ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง เมื่อคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดินจากรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ส่งผลให้พลตรี มนูญ ถูกข้อกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีการลอบสังหารบุคคลสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2525-2527 จึงถูกคำสั่งให้ออกจากราชการและถูกถอดยศด้วย พลตรี มนูญ เดินทางกลับประเทศไทยเพื่อเข้ามอบตัวสู้คดี เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2535 โดยได้รับการประกันตัวออกไปด้วยหลักทรัพย์ในวงเงินประมาณ 3 ล้านบาท หลังจากนั้น ศาลทหารกรุงเทพ มีคำพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าว

เริ่มเข้าสู่ถนนสายการเมือง เมื่อรัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ได้ทำเรื่องขอคืนยศให้ พลตรี มนูญ รูปขจร แล้วส่งพลตรี มนูญ ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพฯ เขต 12 เมื่อปี 2538 แต่สอบตก พลตรี มนูญ กลับมามีชื่อเสียงอีกครั้งในสมัยรัฐบาลชวน 2 โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “พลตรี มนูญกฤต” ทำหน้าที่เป็นประธานที่ปรึกษาของพลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์[18]

ก้าวสู่การเป็นสมาชิกวุฒิสภา เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 พลตรี มนูญกฤต รูปขจร ได้ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสระบุรี และได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2543 โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้กำหนดสมาชิกภาพให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2543 ถึงวันที่ 21 มีนาคม 2549 เป็นระยะเวลา 6 ปี[19] ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา พลตรี มนูญกฤต ได้สมัครรับเลือกเป็นประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 ได้คะแนนเสียงน้อยกว่านายสนิท วรปัญญา ในรอบสุดท้าย ด้วยคะแนน 83 ต่อ 115 หลังจากที่นายสนิท วรปัญญา ต้องพ้นจากตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาจากคำสั่งเพิกถอนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตำแหน่งประธานวุฒิสภาว่างลง พลตรี มนูญกฤต ได้สมัครรับเลือกเป็นประธานวุฒิสภาอีกครั้ง เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2544 ผลปรากฏว่าได้รับเลือกให้เป็นประธานวุฒิสภา ด้วยคะแนนเสียง 114 คะแนน[20]

การลาออกจากตำแหน่งประธานวุฒิสภา เมื่อครั้งเสนอตัวเป็นประธานวุฒิสภา พลตรี มนูญกฤต รูปขจร ได้กล่าวไว้ในการแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมวุฒิสภาว่า “ผมจะทำงานในตำแหน่งประธานวุฒิสภาเพียง 2 ปี” จากคำพูดนี้ จึงเป็นการสร้างเงื่อนเวลามาจำกัดการทำงานในตำแหน่งประธานวุฒิสภา หลังจากพลตรี มนูญกฤต ทำหน้าที่ประธานวุฒิสภาครบ 2 ปี สมาชิกวุฒิสภาบางกลุ่มเรียกร้องให้พลตรี มนูญกฤต ลงจากตำแหน่งประธานวุฒิสภาตามที่เคยกล่าวไว้ ซึ่งในขณะนั้น สมาชิกวุฒิสภาแบ่งเป็นหลายกลุ่ม[21] แต่พลตรี มนูญกฤต ยืนยันว่าไม่เคยกล่าวเช่นนั้น และชี้ว่าเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนของสมาชิกวุฒิสภาอาจเกิดจากการสื่อสารที่ผิดพลาด และด้วยท่าทีที่แข็งกร้าว ไม่รับฟังเสียงสะท้อนจากสมาชิกวุฒิสภา ไม่ยอมลงจากตำแหน่งประธานวุฒิสภา ทำให้สมาชิกวุฒิสภาบางกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวและพยายามกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง ด้วยการตั้งคณะกรรมการประเมินผลงานประธานวุฒิสภา[22] ในที่สุด พลตรี มนูญกฤต ไม่สามารถต้านทานต่อแรงกดดันจากสมาชิกวุฒิสภาจำนวนมากได้ จึงประกาศในที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2546 ว่าจะลาออกจากตำแหน่งประธานวุฒิสภา ในวันที่ 4 มกราคม 2547[23] รวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2544 ถึงวันที่ 4 มกราคม 2547[24] เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน 26 วัน

ฉายาที่สื่อมวลชนประจำรัฐสภา ตั้งให้พลตรี มนูญกฤต รูปขจร ในขณะที่ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา ในรอบปี 2544 คือ “จอมพลหลงสภา” โดยอิงเหตุการณ์ที่พลตรี มนูญกฤต ทำหนังสือขอความเป็นธรรมไปยังกระทรวงกลาโหม กรณีถูกปลดออกจากราชการและคำสั่งดังกล่าวยังไม่มีการยกเลิก ซึ่งช่วงระยะเวลาของอายุราชการที่เหลืออยู่ 5 ปี ในตอนนั้นอาจทำให้พลตรี มนูญกฤต ได้รับการเลื่อนยศเป็นพลเอก ประกอบกับการทำหน้าที่ประมุข ซึ่งมีภาพของความเป็นนายทหารที่เข้มงวด แล้วนำลักษณะนิสัยดังกล่าวมาใช้ในการปกครองสมาชิก จึงทำให้ถูกมองว่าเป็นผู้ที่ยังไม่สามารถสลัดคราบหรือภาพของความเป็นจอมพลออกไปได้ทั้งหมด ส่วนฉายาในรอบปี 2545 คือ “ม้าเหล็กตกราง” เนื่องจากถูกมองว่ามีฐานะเป็นผู้นำขบวน แต่กลับมีปัญหาในเรื่องการวางตัวเป็นกลาง และไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ ส่งผลให้สมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดต้องเสียรูปขบวนตามไปด้วย ประกอบกับพลตรี มนูญกฤต เคยให้สัมภาษณ์เน้นย้ำอยู่ตลอดเวลาว่า หน้าที่หลักของวุฒิสภา คือ การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ภายหลังจากเวลาได้ล่วงเลยมาจนถึงสิ้นปีแล้วก็ยังไม่มีผลงานตามคำให้สัมภาษณ์เกิดขึ้นอย่างเด่นชัดเป็นรูปธรรมเลย[25]

ความรู้สึกที่มีต่อวุฒิสภา พลตรี มนูญกฤต รูปขจร ได้กล่าวถึงความรู้สึกส่วนตัวที่มีต่อวุฒิสภาชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งไว้เพื่อเป็นข้อคิดและเครื่องเตือนสติสำหรับอนุชนรุ่นหลัง และเพื่อจารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ทางการเมือง รวม 2 ประการ คือ (1) ความเป็นคนตามวิถีชาวพุทธและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สิ้นสุดลง เมื่อมาทำหน้าที่ทางการเมืองในวุฒิสภา โดยมาจากการเลือกตั้งตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตยแบบหลอกๆ ของประเทศไทย (2) ศักดิ์ศรีความเป็นวุฒิสภาสิ้นสุดลง เมื่อสมาชิกวุฒิสภาไม่มีความเป็นอิสระ ไม่มีความเป็นกลาง ไม่มีความสามารถที่จะพึ่งพาตนเองได้หรือยืนอยู่บนลำแข้งของตนเองได้โดยลำพัง ไม่มีอุดมการณ์และจิตสำนึกถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนที่ได้เลือกตนมา สำหรับเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจอันแน่วแน่ ทั้งนี้ เพื่อการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อแผ่นดิน[26]

ก้าวต่อไปบนถนนสายการเมือง เมื่อหมดวาระการดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสระบุรี พลตรี มนูญกฤต รูปขจร ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบสัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา และยื่นหนังสือ ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร แบบสัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ต่อ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2551 ให้เหตุผลว่า รู้สึกสะเทือนใจต่อกรณีการเสียดินแดนเขาพระวิหาร และการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ที่ไม่ควรสร้างในพื้นที่เกียกกาย เพราะเป็นพื้นที่ที่รัชกาลที่ 6 พระราชทานให้กับทหารม้า รวมทั้งการทำงานในระบบรัฐสภาไม่สามารถแก้ปัญหาให้ประเทศชาติได้ มีแต่ความขัดแย้ง โดยเฉพาะเรื่องจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้มีผู้ชุมนุมมาปิดล้อมรัฐสภา เข้าประชุมไม่ได้ จึงไม่ควรอยู่ทำหน้าที่ต่อไป และให้แนวคิดว่าทุกฝ่ายควรหันหน้าเข้าหากันสร้างความปรองดองเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้[27]

พลตรี มนูญกฤต รูปขจร นับว่าเป็นผู้ที่พร้อมด้วยบารมี มีประสบการณ์ทางการทหารและการเมือง ถึงแม้ช่วงชีวิตที่ผ่านมาจะประสบความล้มเหลวซ้ำซ้อนหลายครั้ง แต่ก็ยังกลับมามีฐานะหรือชื่อเสียงได้ดังเดิม สมกับฉายาที่ได้รับว่า “แมวเก้าชีวิต”

อ้างอิง

  1. ชัยอนันต์ สมุทวณิช, ยังเติร์กกับทหารประชาธิปไตย การวิเคราะห์บทบาททหารในการเมืองไทย (กรุงเทพฯ : บรรณกิจ, 2525), หน้า 88-89.
  2. “ทำเนียบสมาชิกรัฐสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร,” (ออนไลน์), เข้าถึงได้จาก : http://202.122.40.26/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_news.php?nid=805&filename=index012 สืบค้น 18 สิงหาคม 2552.
  3. รณชัย ศรีสุวรนันท์, พ.อ. มนูญ รูปขจร บนเส้นทางปฏิวัติพิเศษ : ยุทธการยึดเมือง บทวิเคราะห์ยุทธวิธี “ยึด-ต้าน” และครองอำนาจรัฐ (กรุงเทพฯ : สมาพันธ์, 2529), หน้า 88-89.
  4. “ทำเนียบสมาชิกรัฐสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร,” สืบค้น 18 สิงหาคม 2552.
  5. วีระ เลิศสมพร, ชื่อ ฉายา และสมญานามทางการเมืองไทย พ.ศ. 2475-2545 เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : พงษ์สวัสดิ์การพิมพ์, 2546), หน้า 231.
  6. “มนูญกฤต รูปขจร,” เดลินิวส์, 27 มีนาคม 2552, หน้า 14.
  7. “ทำเนียบสมาชิกรัฐสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร,” สืบค้น 18 สิงหาคม 2552.
  8. ชัยอนันต์ สมุทวณิช, หน้า 86, 93, 99.
  9. วีระ เลิศสมพร, หน้า 230.
  10. เสถียร จันทิมาธร, เส้นทางสู่อำนาจ มนูญ รูปขจร อาทิตย์ กำลังเอก ใต้เงา เปรม ติณสูลานนท์ (กรุงเทพฯ : มติชน, 2549), หน้า 117-118.
  11. ชัยอนันต์ สมุทวณิช, หน้า 113.
  12. วีระ เลิศสมพร, หน้า 213.
  13. วีระ เลิศสมพร, หน้า 229.
  14. “กบฏยังเติร์ก+กบฏพันธมิตร,” สยามรัฐ, 1 กันยายน 2551, หน้า 7.
  15. วีระ เลิศสมพร, หน้า 229.
  16. “กบฏยังเติร์ก+กบฏพันธมิตร,” หน้า 7.
  17. วีระ เลิศสมพร, หน้า 230.
  18. วีระ เลิศสมพร, หน้า 230-231.
  19. มนูญกฤต รูปขจร, “วุฒิสภาหรือสภาปาหี่,” ใน 6 ปี ในวุฒิสภา “จารึกไว้ในความทรงจำ” (กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2549), หน้า 242.
  20. วีระ เลิศสมพร, หน้า 231.
  21. “วุฒิเสื่อม-สภาบอบช้ำ “มนูญกฤต” ต้องออกไป,” คนการเมือง, 4, 45 (พฤษภาคม 2546), หน้า 51.
  22. ณัฐวุฒิ หวังทรัพย์, “วิกฤติศรัทธาสภาสูง,” กรุงเทพธุรกิจ, 20 พฤษภาคม 2546.
  23. วีระ เลิศสมพร, หน้า 232.
  24. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 77 ปี รัฐสภาไทย (กรุงเทพฯ : กลุ่มงานผลิตเอกสาร สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2552), หน้า 59.
  25. วีระ เลิศสมพร, ชื่อ ฉายา และสมญานามทางการเมืองไทย พ.ศ. 2475-2545 เล่ม 3 (กรุงเทพฯ : กิจเสรีการพิมพ์, 2546), หน้า 259-260, 283.
  26. มนูญกฤต รูปขจร, หน้า 246.
  27. “พล.ต. มนูญกฤต ลาออกจาก ส.ส. สัดส่วน ปชป.,” (ออนไลน์), เข้าถึงได้จาก : http://news.mcot.net/politic/inside.php?value=bmlkPTY2NDkyJm50eXBlPXRleHQ= สืบค้น 27 สิงหาคม 2552.

หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ

ประหยัด หงส์ทองคำ. “เลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา : บทเรียนที่มีคุณค่า.” รัฐสภาสาร 48, 4 (เมษายน 2543). หน้า 50-55.

มนูญกฤต รูปขจร. สรุปผลงานวุฒิสภา 2545. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, (2546).

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. การแสดงวิสัยทัศน์ของสมาชิกวุฒิสภาที่ประสงค์เสนอตัวเป็นประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภา. กรุงเทพฯ : ฝ่ายชวเลข กองการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, ม.ป.ป.

บรรณานุกรม

“กบฏยังเติร์ก+กบฏพันธมิตร.” สยามรัฐ. 1 กันยายน 2551. หน้า 7.

ชัยอนันต์ สมุทวณิช. ยังเติร์กกับทหารประชาธิปไตย การวิเคราะห์บทบาททหารในการเมืองไทย. กรุงเทพฯ : บรรณกิจ, 2525.

ณัฐวุฒิ หวังทรัพย์. “วิกฤติศรัทธาสภาสูง.” กรุงเทพธุรกิจ. 20 พฤษภาคม 2546.

“ทำเนียบสมาชิกรัฐสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร.” (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก : http://202.122.40.26/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_news.php?nid=805&filename=index012 สืบค้น 18 สิงหาคม 2552.

“พล.ต. มนูญกฤต ลาออกจาก ส.ส. สัดส่วน ปชป.” (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก : http://news.mcot.net/politic/inside.php?value=bmlkPTY2NDkyJm50eXBlPXRleHQ= สืบค้น 27 สิงหาคม 2552.

“มนูญกฤต รูปขจร.” เดลินิวส์. 27 มีนาคม 2552. หน้า 14.

มนูญกฤต รูปขจร. “วุฒิสภาหรือสภาปาหี่.” ใน 6 ปี ในวุฒิสภา “จารึกไว้ในความทรงจำ.”กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2549. หน้า 241-246.

“ย้อนอดีตสิทธิพิเศษทางทหาร.” มติชน. 24 เมษายน 2551. หน้า 11.

รณชัย ศรีสุวรนันท์. พ.อ. มนูญ รูปขจร บนเส้นทางปฏิวัติพิเศษ : ยุทธการยึดเมือง บทวิเคราะห์ยุทธวิธี “ยึด-ต้าน” และครองอำนาจรัฐ. กรุงเทพฯ : สมาพันธ์, 2529.

“วุฒิเสื่อม-สภาบอบช้ำ “มนูญกฤต” ต้องออกไป.” คนการเมือง 4, 45 (พฤษภาคม 2546). หน้า 50-53.

วีระ เลิศสมพร. ชื่อ ฉายา และสมญานามทางการเมืองไทย พ.ศ. 2475-2545 เล่ม 1. กรุงเทพฯ : พงษ์สวัสดิ์การพิมพ์, 2546.

วีระ เลิศสมพร. ชื่อ ฉายา และสมญานามทางการเมืองไทย พ.ศ. 2475-2545 เล่ม 3. กรุงเทพฯ : กิจเสรีการพิมพ์, 2546.

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. ทำเนียบสมาชิกวุฒิสภา 2543. กรุงเทพฯ : กลุ่มงานการพิมพ์ สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2547.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. 77 ปี รัฐสภาไทย. กรุงเทพฯ : กลุ่มงานผลิตเอกสาร สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2552.

เสถียร จันทิมาธร. เส้นทางสู่อำนาจ มนูญ รูปขจร อาทิตย์ กำลังเอก ใต้เงา เปรม ติณสูลานนท์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549.

ดูเพิ่มเติม