ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ประชานิยมกับประชาธิปไตย"
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
||
บรรทัดที่ 270: | บรรทัดที่ 270: | ||
Vittori, D. (2021). Threat or Corrective? Assessing the Impact of Populist Parties in Government on the Qualities of Democracy: A 19-Country Comparison. Government and Opposition, 57(4), 589-609. | Vittori, D. (2021). Threat or Corrective? Assessing the Impact of Populist Parties in Government on the Qualities of Democracy: A 19-Country Comparison. Government and Opposition, 57(4), 589-609. | ||
----[1] อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | ----[1] อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | ||
[[หมวดหมู่:สารานุกรม คำศัพท์ต่าง ๆ]] |
รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:55, 18 กรกฎาคม 2568
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์ ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี[1]
บทคัดย่อ
แก่นแกนพื้นฐานของประชานิยม คือ การแบ่งแยกสังคมออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ ประชาชน และชนชั้นนำ โดยมีคุณลักษณะสำคัญ 3 ประการ คือ มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ต่อต้านชนชั้นนำ (anti-elitism) และความสัมพันธ์ที่เป็นปฏิปักษ์ซึ่งกันและกันของ 2 กลุ่ม ดังกล่าว เนื้อหาในบทนี้ ศึกษาและยกตัวอย่าง ยุทธศาสตร์ อุดมการณ์ ลีลาและท่วงทำนองของประชานิยมในหลายประเทศ ต่างภูมิภาค ข้อเสนอหลักคือ ความสัมพันธ์ระหว่างประชานิยมและการพัฒนาประชาธิปไตยมีทั้งด้านสว่าง และด้านมืด ในด้านสว่าง ผู้นำประชานิยมดึงเอากลุ่มคนทุกชนชั้น ผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร คนเล็กคนน้อย คนชายขอบ เพศสภาพทางเลือก เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมือง ส่งผลให้กลุ่มคนที่ถูกละเลยเกิดความรู้สึกมีศักดิ์ศรี มีสิทธิและบทบาททางการเมือง จึงเป็นการขยายฐานมวลชนในระบอบประชาธิปไตยและสกัดกั้นผู้นำเผด็จการอำนาจนิยม ส่วนในด้านมืดจะพบว่า ถึงแม้ผู้นำประชานิยมจะเรียกร้องโฆษณาประชาธิปไตย แต่พวกเขาไม่ได้ปฏิบัติตนตามแนวทางประชาธิปไตยเสมอไป ที่สำคัญผู้นำอำนาจนิยมมักฉวยใช้พลังจากความนิยมของประชาชนจากคะแนนเสียงเลือกตั้ง เพื่อรักษาตำแหน่งอย่างยาวนาน ประชานิยมเช่นนี้ กร่อนเซาะระบอบประชาธิปไตยให้อ่อนแอลง ประชานิยมจะปรากฏขึ้นได้ยากในสังคมที่มีประชาสังคมเข้มแข็ง เพราะประชาชนมีช่องทางในการส่งเสียง สามารถปกป้องผลประโยชน์และพึ่งพาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในสังคมที่ประชาธิปไตยตั้งมั่น การมีผู้นำและพรรคประชานิยม จะไม่สามารถสั่นคลอนระบอบประชาธิปไตยให้ถดถอยได้ ในขณะที่ประชานิยมจะกลั่นเซาะถึงขั้นทำให้ประชาธิปไตยล่มสลายได้ในประเทศประชาธิปไตยเพิ่งตั้งไข่
Abstract
The basic core of populism is the division of society into two main groups: the people and the elites. Populism has three key characteristics: the centrality of the common people, the opposition to the elite (anti-elitism), and the antagonistic relationship between these two groups.
This chapter examines and provides examples of the strategies, ideologies, styles, and tones of populism in various countries and regions. The main argument is that the relationship between populism and democratic development has both positive and negative sides.
On the positive side, populist leaders mobilize marginalized groups such as workers, farmers, the small and the poor, gender minorities, etc. into the political system. This makes the neglected groups feel dignified, with rights and political roles, thereby expanding the mass base of democracy and preventing the rise of authoritarian leaders.
On the negative side, even though populist leaders advocate for democracy, they do not always act democratically. Authoritarian populist leaders often leverage the popularity gained from electoral votes to cling to power for a long time. Populism can erode democracy and make it weaker.
Populism is less likely to emerge in societies with a strong civil society, as strong civil society provides channels for people to voice their demands confidently, and effectively protect their interests and be self-reliant. In firmly established democracies, the presence of populist leaders and parties cannot significantly undermine democracy, while populism can potentially lead to the collapse of democracy in newly democratic countries.
ประชานิยม ความหมายอันหลากหลาย
ประชานิยมมีหลากความหมาย หลายรูปแบบ และถูกใช้อธิบายปรากฏการณ์ต่างลักษณะ แต่สิ่งหนึ่งที่ประชานิยมมีร่วมกันคือการท้าทายอำนาจชนชั้นนำ (elite) โดยกล่าวอ้างถึงประชาชน (the people) ส่วนประชาชนที่เป็นศูนย์กลางของการอ้างอิงจะหมายถึงคนกลุ่มไหนของสังคม เป็นมาตรวัดประการหนึ่งของเฉดที่แตกต่างกันของนิยามประชานิยม เมื่อพิจารณาความหมายที่ลื่นไหล ไล่เลียงตามพัฒนาการ จะพบว่า ประชานิยมในฐานะขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองเกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นการระดมประชาชนในชนบทเพื่อต่อสู้กับ “ผู้ปกครอง” ในหลายพื้นที่ของโลก เช่น ในสหรัฐอเมริกา ใช้ชื่อพรรคประชาชน (People’s Party) (Hofstadter, 1955) หรือกลุ่ม Zapatistas ในการปฏิวัติเม็กซิโก การปฏิวัติรัสเซียก่อนการยึดครองโดยพวกบอลเชวิค (Bolsheviks) และขบวนการปฏิวัติของเหมา เจ๋อตุง (Maoism) ก็มักถูกมองว่าเป็นยุทธวิธีที่ผสมผสานระหว่างมาร์กซิสต์และประชานิยม (Canovan, 1987, pp. 189-190)
เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในศตวรรษ 1980 และต้นศตวรรษ 1990 ประชานิยมมีความหมายในฐานะแนวทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (populist economy) ที่เน้นการเจริญเติบโตและการกระจายรายได้ระยะสั้นเพื่อขยายปริมาณการบริโภคของภาคเอกชน โดยละเลยความมั่นคงระยะยาวและความสมดุลของเศรษฐกิจมหภาค (macroeconomic equilibrium) เป็นที่เชื่อกันว่านโยบายประชานิยมจะก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ เพราะเป็นการดำเนินนโยบายที่ขาดวินัยทางการเงินการคลัง และการขาดดุลงบประมาณ (Dornbusch and Edwards, 1989, p. 1) ในสังคมไทย นโยบายที่ส่งผลให้เกิดการถกเถียงอย่างกว้างขวางว่าเข้าข่ายเป็นนโยบายประชานิยมหรือไม่ เริ่มเมื่อพรรคไทยรักไทยหาเสียงโดยประกาศนโยบายพักชำระหนี้เกษตรกร กองทุนหมู่บ้าน ด้านหนึ่งมองว่า นโยบายเหล่านี้เป็นนโยบายกระจายรายได้ (redistributive policy) ที่เน้นการบริหารงบประมาณผันทรัพยากรไปสู่ชนบท ส่วนอีกด้านวิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือของพรรคการเมืองหลอกล่อเกี้ยวพาให้ชาวบ้านเทคะแนนเสียงในระหว่างการเลือกตั้งและมอบความไว้วางใจให้ปกครองประเทศ (Phongpaichit and Baker, 2001; ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ และนวลน้อย ตรีรัตน์, 2544, น. 121-172 อ้างถึงใน สิริพรรณ, 2546, น. 250-262)
ล้อไปกับแนวทางเศรษฐกิจแบบประชานิยมคือผู้นำประชานิยม ที่ได้รับแรงสนับสนุนอย่างล้นหลามจากมวลชน ผ่านการปลุกระดมทางการเมือง (political mobilization) โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับสถาบันทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย และยังท้าทายระเบียบอำนาจและกลุ่มอภิสิทธิ์ชนเดิมในระบบเศรษฐกิจการเมืองผูกขาด (Roberts, 1995) ประเทศในทวีปลาตินอเมริกาที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นต้นแบบประชานิยมในความหมายดังกล่าว เช่น อาร์เจนตินา ในสมัย Juan Domingo Perón (ค.ศ. 1946 - ค.ศ. 1974) และ Eva Peron เม็กซิโก ภายใต้ Lázaro Cárdenas del Río (ค.ศ. 1934 - ค.ศ. 1940) บราซิล ในรัฐบาลของ Getúlio Vargas (ค.ศ. 1930 - ค.ศ. 1945 และ ค.ศ. 1951 - ค.ศ. 1954) ผู้นำเหล่านี้ต้องการผลักดันให้ประเทศพัฒนาไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ผลก็คือ ประชาชนจำนวนมากอพยพจากชนบทสู่เมืองเพื่อทำงานในโรงงาน ความยากจนทำให้คนกลุ่มใหญ่เหล่านี้กลายเป็นมวลชนจัดตั้งที่สามารถถูกปลุกระดมเพื่อเป็นฐานคะแนนเสียงให้แก่ผู้นำที่อ้างว่าเข้ามาโอบอุ้มประชาชนผู้ยากไร้ด้วยนโยบายจัดหา “อาหารเพื่อยังชีพและความบันเทิงในชีวิต” (giving them bread and circuses) ให้มวลชน ผู้นำประชานิยมในยุคนั้นดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจแบบ “ชาตินิยม” โดยมีรัฐเป็นศูนย์กลาง (statist) และสร้างพรรคการเมืองหรือสหภาพแรงงานขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการปลุกระดมและรวบรวมผู้สนับสนุน ประกอบกับคุณสมบัติพิเศษส่วนตัวที่เรียกว่า “อำนาจบารมี” (charismatic) ทำให้สามารถสร้างทั้งความยำเกรง หวั่นกลัวในอำนาจ และปลูกฝังความรัก ศรัทธา นิยมยกย่อง ไปพร้อม ๆ กัน Alberto Fujimori ผู้นำเปรู (ค.ศ. 1990 - ค.ศ. 2000) Carlos Saúl Menem ผู้นำอาร์เจนตินา (ค.ศ. 1989 - ค.ศ. 1999) ถือได้ว่าเป็นผู้นำประชานิยมรุ่นต่อมาในลาตินอเมริกาที่มาจากการเลือกตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตย และดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตลาดเสรี ในขณะที่ Hugo Chávez ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมและชาตินิยมในเวเนซุเอลา ผู้นำประชานิยมยุคหลังในลาตินอเมริกาดังกล่าว ไม่นิยมสร้างพรรคการเมืองหรือสหภาพแรงงานให้เข้มแข็งเหมือนผู้นำประชานิยมยุคแรก การระดมมวลชนจะเกิดขึ้นเฉพาะระหว่างการเลือกตั้งหรือในช่วงที่รัฐบาลต้องการคะแนนเสียงไว้วางใจเพื่อสร้างภาพและความชอบธรรม เหตุผลประการหนึ่งก็เพราะผู้นำเหล่านี้สามารถเข้าถึงตัวประชาชนผ่านสื่อแขนงต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าการจัดตั้งองค์กร การคงไว้ซึ่งความศรัทธาและความจงรักภักดีก็โดยใช้ระบบผูกขาดการอุปถัมภ์ ผ่านโครงการช่วยเหลือชนบทและผู้ใช้แรงงานในรูปนโยบายกระจายรายได้ และสวัสดิการสังคม (social welfare) ในขณะเดียวกันก็ใช้นโยบายตลาดเสรี (laissez faire) เพื่อโอบอุ้มคนชั้นกลาง และกลุ่มธุรกิจ ดังนั้นประชานิยมรูปแบบนี้จึงมุ่งเสริมสร้างพลังสนับสนุนจากทุกชนชั้น (สิริพรรณ, 2546, น. 250-262)
ประชานิยมในทศวรรษ 2020
ตั้งแต่ประชามติ Brexit ในสหราชอาณาจักร ที่เชื่อกันว่าชัยชนะของฝั่ง “ออก” (leave) จากสหภาพยุโรป เป็นภาพสะท้อนของทัศนคติที่ผลประโยชน์คนในชาติเหนือกว่าความร่วมมือและภราดรภาพของประเทศสมาชิกในภูมิภาค (Iakhnis et al., 2018) และชัยชนะของ Donald Trump ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาปี 2016 ทำให้การศึกษาประชานิยมสมัยใหม่เฟื่องฟูขึ้นอย่างมาก (Schroeder, 2020, p. 14) Trump ถูกจัดให้เป็นประชานิยมรูปแบบหนึ่ง เพราะเป็นผู้ไม่ได้มีอุดมการณ์ที่ชัดเจน แต่ใช้วาทศิลป์และการเล่าเรื่องที่เน้นเชิดชูประชาชน ชาตินิยม ความเหนือกว่าของชาวอเมริกันผิวขาว ต่อต้านผู้อพยพอย่างแข็งกร้าว เสนอภาพลักษณ์เป็น “ผู้อยู่วงนอก” เป็นปฏิปักษ์กับนักการเมือง และสถาบันทางการเมืองที่ยึดกุมการจัดระเบียบทางอำนาจในสังคมอย่างยาวนาน ในยุโรปตะวันตก คลื่นประชานิยมได้กระจายไปกว้างขวาง เห็นได้จากชัยชนะของพรรคขวาจัด เช่น พรรค Alternative Für Deutschland ในเยอรมนี พรรค Vox ในสเปน ประชานิยมที่ขยับไปทางขวาด้วยจุดยืนและนโยบายที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ความเชื่อ วัฒนธรรมของคนในสังคม ส่งผลให้เกิดการแบ่งขั้วทางการเมืองที่ชัดเจนขึ้น
Narendra Modi นายกรัฐมนตรีของอินเดีย เป็นตัวอย่างผู้นำประชานิยมในเอเชีย Modi และพรรค Bharatiya Janata Party (BJP) ชนะเลือกตั้งครั้งแรกปี 2014 ด้วยจุดยืนที่สุดโต่ง ท้าทายการเมืองแบบสถาบันจารีต เสนอจุดยืนชาตินิยมฮินดู (Hindu nationalist) และอินเดียต้องมาก่อน (India first) ในความสัมพันธ์ระหว่างต่างประเทศ และใช้กลยุทธ์หาเสียงคล้าย Trump ที่อาศัยสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะ Twitter มากกว่าสื่อแบบดั้งเดิม ศูนย์กลางอุดมการณ์ของ Modi คือการฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ของอารยะธรรมฮินดูของอินเดีย ส่งผลให้เกิดการเผชิญหน้าและการปะทะกันกับวัฒนธรรมอิสลาม และชนชั้นนำกลุ่มเดิม รวมถึงสื่อกระแสหลักที่ผู้สนับสนุนนาย Modi เรียกขานว่า “สื่อโสเภณี” (presstitutes) และ “ผู้นิยมโลกฆราวาสจอมปลอม” (sickularists ที่มาจาก secularists) (Schroeder, 2020, p. 21) นาย Modi โจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอยู่เสมอ ความนิยมอย่างกว้างขวางของ นาย Modi คือแนวทางการพัฒนาประเทศถือเป็นวาระหลัก การขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานในทุกพื้นที่ ส่งเสริมนโยบายการบริโภคแบบชาตินิยม (patriotic consumption) และให้สวัสดิการ แต่ผู้ได้รับประโยชน์เน้นที่คนฮินดูเป็นหลัก โดยเฉพาะการเข้าถึงการศึกษาตั้งแต่ประถมศึกษาถึงมหาวิทยาลัย (Schroeder, 2020, p. 20) แม้ในการเลือกตั้งปี 2024 พรรค BJP จะไม่ชนะการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดตามคาดหวัง แต่ นาย Modi ก็ยังคงเป็นผู้นำพรรคร่วมรัฐบาลที่ผนึกรวมสังคมฮินดูให้หมุนรอบการกำกับสั่งการของเขา
นอกจาก Trump และ Modi แล้วผู้นำและนักการเมืองที่สะท้อนการเบ่งบานของประชานิยมทั่วทุกภูมิภาคของโลกในทศวรรษ 2020 เช่น Viktor Mihály Orbán แห่งฮังการี Recep Tayyip Erdoğan นักสู้ข้างถนน ผู้ท้าทายอำนาจดั้งเดิมของกลุ่ม Kemalist ในตุรกี Matteo Salvini ในอิตาลี Marine Le Pen ผู้นำฝ่ายค้านในปี 2024 ในฝรั่งเศส Geert Wilders หัวหน้าพรรค Party of Freedom ของเนเธอร์แลนด์ และ Javier Gerardo Milei ประธานาธิบดีคนล่าสุดของอาร์เจนตินา ผู้นำทางการเมืองเหล่านี้ต่างก็อ้างว่าตนคือตัวแทนที่แท้จริงหนึ่งเดียวของประชาชน ตนคือผู้แทนปวงชนที่ไม่มีช่องทางส่งเสียง เพื่อต่อต้านชนชั้นนำทุจริต ไร้ความสามารถ รื้อถอนคุณค่าเก่าอันโสมมที่นำพาประเทศสู่หายนะ
ส่วนประชานิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความแตกต่างจากประชานิยมในภูมิภาคอื่นของโลก เช่น อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ Rodrigo Duterte สร้างความนิยมในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน คนชั้นกลางล่าง และคนชั้นล่าง ที่คับข้องใจกับความไม่เท่าเทียม ความบีบคั้นทางเศรษฐกิจ ปัญหาอาชญากรรม และยาเสพติด โดยใช้กลยุทธ์ปราบปรามผู้ค้ายาเสพติดอย่างเด็ดขาด มีการวิสามัญฆาตรกรรม ละเลยกระบวนการยุติธรรม สร้างความกลัวอย่างกว้างขวาง แม้ว่า Duterte จะทำลายระบบตรวจสอบถ่วงดุล และกลั่นเซาะสถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่คนชั้นกลางบนไปจนถึงอภิสิทธิชนยังคงให้ความสนับสนุน เพราะเครือข่ายอุปถัมภ์ ผลปะโยชน์พวกพ้อง และอิทธิพลของตระกูลการเมือง ยังคงครอบงำระบบเศรษฐกิจการเมืองฟิลิปปินส์ไม่เปลี่ยนแปลง ประธานาธิบดี Duterte ใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อสื่อสารกับประชาชนโดยตรง สร้าง “กองทัพนักรบ Facebook” คอยตอบโต้ผู้เห็นต่าง แก้ข่าวร้าย โหมประโคมข้อมูลด้านเดียวของรัฐ (Etter, 2017) หลังหมดวาระในการดำรงตำแหน่ง Ferdinan “Bongbong” Marcos Jr. ชนะเลือกตั้ง โดยมี Sara Duterte ลูกสาวของ Rodrigo Duterte เป็นรองประธานาธิบดี
องค์ประกอบของประชานิยม
Wolfgang Merkel (2019) มองปฏิบัติการของประชานิยมว่ามีองค์ประกอบสำคัญ 3 ด้าน คือ ยุทธศาสตร์ (strategy) อุดมการณ์ (ideology) และท่วงท่า (style)
ยุทธศาสตร์หรือวิธีการของประชานิยม คือ การท้าทายอำนาจที่มีการสถาปนาอย่างเป็นทางการและยาวนานของชนชั้นนำ โดยมุ่งระดมกลุ่มประชาชนที่รู้สึกด้อยค่า อยู่ชายขอบ ไร้สิทธิ ขาดช่องทางให้ส่งเสียง ไม่มีใครรับฟังความทุกข์ยาก ไม่มีตัวแทนให้เป็นฐานพลัง นักประชานิยมมีการจัดองค์กรทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ในรูปแบบที่เน้นการสื่อสารเพื่อสร้าง รักษา และต่อยอด เสียงสนับสนุน ในโลกปัจจุบัน นักประชานิยมนิยมใช้การสื่อสารผ่านสังคมออนไลน์ในลักษณะที่องค์กร พรรคการเมือง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำประชานิยมสามารถสื่อสารไปยังประชาชนได้โดยตรง แทนการปล่อยให้สื่อกระแสหลักแบบดั้งเดิมเป็นผู้กำหนดวาระ ทำให้การสื่อสารทำได้ตลอดเวลา ทั้งเพื่อรับฟังเสียงชื่นชมจากกองเชียร์ และเพื่อกระตุ้นอารมณ์ร่วม สร้างความเป็นพวกพ้อง หรือโจมตีความเห็นต่าง และตอบโต้ฝั่งตรงข้าม
อุดมการณ์ : ประชานิยมแขวนอยู่บนอุดมการณ์ที่เปราะบาง ดึงดูดอารมณ์ ความรู้สึกที่อ่อนไหว การรับรู้แบบกระท่อนกระแท่น รวมกันกับความเข้าใจที่กระจัดกระจายและบิดเบี้ยว แต่เข้มข้นกับการดิ้นรนของพวกเราที่ถูกกดทับอยู่เบื้องล่างในการต่อสู้กับชนชั้นนำที่เอารัดเอาเปรียบอยู่ด้านบน
ลีลาและท่วงทำนอง : ประชานิยมในแต่ละสังคมมีลีลาต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าต่อสู้กับการจัดระเบียบทางอำนาจของสถาบันทางการเมืองและโครงสร้างทางสังคมที่ยึดกุมโดยชนชั้นนำแบบไหน แต่จุดเน้นและความเหมือนในความต่างคือการได้รับความสนใจจากสื่อ การใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการแสดงออกซึ่งท่วงทำนองทางการเมือง (Merkel 2019)
แก่นแกนพื้นฐานของประชานิยม คือ การแบ่งแยกสังคมออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ ประชาชน และชนชั้นนำ โดยมี 3 คุณลักษณะ คือ ประชาชนเป็นศูนย์กลาง (people-centrism) ต่อต้านชนชั้นนำ (anti-elitism) และความสัมพันธ์ของ 2 กลุ่มดังกล่าวในลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์ซึ่งกันและกัน อีกนัยหนึ่งคือความเป็นขั้วตรงข้ามระหว่างประชาชนผู้มีปัญญากับนักการเมืองผู้ฉ้อฉล (Hawkins, 2010; Mudde, 2007) ในด้านประชาชน ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจึงสมควรเป็นผู้ตัดสินใจหรือมอบสิทธิให้ตัวแทนตัดสินใจทางการเมืองตามหลักการประชาธิปไตย (Canovan, 2002; Espejo, 2012) นอกจากนี้ ยังหมายถึงเจตจำนงของประชาชนที่มีผลประโยชน์หลากหลาย และที่สำคัญบ่มเพาะความรู้สึกต่อต้านนักการเมืองและความไม่ไว้วางใจชนชั้นนำ ผลคือ การปฏิเสธสถาบันทางการเมืองที่ครอบงำโดยชนชั้นนำ เช่น รัฐสภา ศาล (Stanley, 2008) ประชานิยมที่ตั้งอยู่บนแนวคิดมาตรฐานทางศีลธรรมและคุณธรรมของกลุ่มประชาชนที่สูงกว่าชนชั้นนำและประชาชนที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ทำให้เกิดการสร้างความเป็นปฏิปักษ์ของคู่ตรงข้ามทางการเมืองแบบฉาบฉวย ละเลยการมองสังคมอย่างประณีตที่มีหลายเฉดความรู้สึกนึกคิด แต่กลับเน้นแบ่งสังคมเป็นเพียง 2 กลุ่ม คือ “พวกเรา” ผู้ทรงคุณธรรม กับ “พวกเขา” ผู้คดโกง (‘us’ (good) versus ‘them’ (bad)) นำไปสู่การสร้างปีศาจทางการเมืองของผู้เห็นต่าง และการให้ความชอบธรรมในการทำลายผู้ถูกทำให้เป็นปีศาจทางการเมืองนั้น (Hawkins, 2010) มุมมองนี้สวนทางกับแนวคิดพหุนิยมทางการเมืองซึ่งเป็นพื้นฐานของระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย ที่แสวงหาความประนีประนอมระหว่างผู้แสดงทางการเมืองที่หลากหลายซ้อนทับระหว่างกัน ประชานิยมเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดแบบค่อยเป็นค่อยไป ที่ผู้นำและพรรคการเมืองสั่งสมความนิยม มากกว่าจะเกิดขึ้นทันทีทันใดแบบข้ามคืน ในแง่หนึ่ง พรรคการเมืองและขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองส่วนใหญ่มีความเป็นประชานิยมไม่มากก็น้อย
ตารางแสดงยุทธศาสตร์ ลีลา และคุณลักษณะของประชานิยม
ยุทธศาสตร์ อุดมการณ์ ลีลา | คุณลักษณะ |
---|---|
วาทศาสตร์ และวาทศิลป์ทางการเมือง | ต่อต้านการเมืองกระแสหลักที่อิงแอบสถาบันดั้งเดิม |
อารมณ์ร่วม | สร้างความรู้สึกร่วมของการเป็นผู้ถูกกระทำทางการเมืองและเศรษฐกิจ ด้วยข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อที่ตราตรึงความรู้สึก เพื่อจุดชนวนแห่งความโกรธแค้น ที่จะนำไปสู่การเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลง |
ความไม่เป็นทางการ เข้าถึงง่าย | ลดพิธีกรรม พิธีการ ที่รุงรัง สิ้นเปลือง ให้เหลือเพียงความเรียบง่าย ร่วมสมัย |
ฉกฉวยสถานการณ์ | จับจังหวะทางการเมืองที่สร้างจุดเปลี่ยนโดยการเล่าเรื่องที่เสนอความจริงเพียงบางส่วน |
สร้างความใกล้ชิด ผูกพัน | บอกเล่าเรื่องราว การใช้ชีวิต รสนิยม และเปิดเผยชีวิตส่วนตัวของแกนนำ ในมุมที่จะสร้างความชื่นชม ยกย่อง |
ปลุกเร้าความรู้สึกด้านลบที่มีต่อระบบการเมือง | ชี้เป้าปัญหา สร้างความตื่นตระหนก ปลุกกระแสความกลัว ความรังเกียจ ด้อยค่าระบบและสถาบันการเมือง |
เล่าเรื่องราวที่ลดความซับซ้อน | ทำให้ประเด็นปัญหาเหมือนจะแก้ไขได้โดยผู้นำประชานิยม ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงปัญหาทับซ้อน หลายระดับ |
เชิดชูพลังมวลชนให้ฮึกเหิมเกินตัว | กระตุ้น ปลุกเร้า ด้วยคำสวยหรู เพื่อสร้างความเป็นพวกเดียวกันของมวลชน โดยไม่คำนึงถึงชนชั้น การศึกษา รายได้ เพศ อายุ และสถานภาพทางสังคม |
ประณามชนชั้นนำ | ระดมพลังมวลชนต่อต้านชนชั้นนำ การต่อสู้ระหว่างประชาชนคนธรรมดา กับเครือข่ายชนชั้นนำที่ไม่เข้าใจความทุกข์ยากและความต้องการของประชาชน |
ที่มา: จัดทำโดยผู้เขียน โดยแปลสรุปและปรับปรุงจาก Bracciale and Martella, 2017, pp. 1310–1329
ประชานิยมในฐานะอุดมการณ์
คำว่าอุดมการณ์ (ideology) ตามที่นิยามโดย Michael Freeden (2003, p. 32) หมายถึง ชุดความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ และการให้คุณค่า ที่ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ คือ
1. เป็นแบบแผนที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
2. เชื่อถือยึดมั่นโดยกลุ่มคนที่มีบทบาทและความสำคัญในสังคม
3. ถูกนำไปใช้ในการแข่งขันเพื่อนำเสนอ จัดทำ และกำกับนโยบายสาธารณะ
4. มีเป้าหมายเพื่อสร้างความชอบธรรมในการต่อสู้ หรือ เพื่อเปลี่ยนแปลงการจัดระเบียบอำนาจและกระบวนการทางการเมืองในชุมชนการเมือง
ข้อถกเถียงว่าด้วยความเจือจาง หรือ เข้มข้น ของอุดมการณ์ประชานิยม แตกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งมองว่า ประชานิยมเป็นอุดมการณ์ในกลุ่ม “บาง หรือ เจือจาง” (thin ideology) ด้วยเหตุผลว่าประชานิยมไม่มีพัฒนาการ และเป็นพลังที่ส่งผลต่อจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์โลกอันยาวนานที่ผ่านมา ขาดประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนนโยบายที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อแก้ปัญหาที่เป็นโจทย์สำคัญทางการเมืองได้อย่างกว้างขวาง ดังนั้นจึงไม่สามารถดำรงอยู่ด้วยตัวเองได้ แต่ต้องเกาะเกี่ยวอยู่กับแนวคิดหรือหลักการอื่น (Mudde and Kaltwasser, 2017) เช่น หากปราศจากผู้นำที่ดึงดูด ประชานิยมก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ตัวอย่างอุดมการณ์ที่จัดว่าเป็นแบบเจือจาง เช่น การเคลื่อนไหวทางสังคม (social movements) อุดมการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม (ideologies of the environmental movements) อุดมการณ์เคลื่อนไหวด้านเพศสภาพ (gender movements) สิทธิสตรี (feminism) และอุดมการณ์ชาตินิยม (nationalism) (Neuner and Wratil, 2022)
ประชานิยมในฐานะอุดมการณ์ ในแง่มุมนี้จึงต่างไปจากอุดมการณ์กระแสหลัก เช่น เสรีนิยม (liberalism) อนุรักษ์นิยม (conservatism) สังคมนิยม (socialism) ที่จัดเป็นอุดมการณ์ “เข้มข้น” (thick ideology) มีฐานคิดที่ตั้งอยู่บนกรอบโครงที่มุ่งกระจายความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรและสินทรัพย์ที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีที่มีจำกัด (Stanley, 2008) ส่วนประชานิยมแบบ Trump หรือ Modi นั้น เน้นปฏิบัตินิยม และผลลัพธ์ที่ตรงกับอารมณ์ ตรงความรู้สึกของประชาชน ไม่ได้มีอุดมการณ์ที่ชัดเจน และแม้ประชานิยมในฐานะอุดมการณ์ทางการเมืองจะกล่าวถึงการกระจายทรัพยากร แต่การให้สวัสดิการและการเปิดโอกาสให้เข้าถึงทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ได้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับคนทุกคนหรือทุกกลุ่ม แต่เป็นสิทธิที่เหนือกว่าเฉพาะคนที่รัฐประชานิยมมองว่าเป็นเจ้าของประเทศ (welfare chauvinism) (Careja, 2022, p. 212) กล่าวอีกนัยหนึ่ง คนบางกลุ่มเท่านั้นที่สมควรได้รับทรัพยากร สิทธิ และสวัสดิการ ในขณะที่ข้อถกเถียงที่มองว่าประชานิยมเป็นอุดมการณ์แบบเข้มข้น ไม่ได้เจือจาง ชี้ประเด็นว่าประชานิยมมีพลัง มีน้ำหนักไม่แพ้อุดมการณ์กระแสหลักที่โลกคุ้นเคย เพราะเชื่อว่าประชานิยมจะส่งผลพวงที่ยาวนานในพัฒนาการของโลกต่อจากนี้ (Neuner and Wratil, 2022; Schroeder, 2020, pp. 21-23) นักวิชาการกลุ่มนี้เตือนว่าไม่ควรดูเบาประชานิยมว่าเป็นเพียงนโยบายที่เจือจาง ในทางตรงข้ามประชานิยมสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ได้มากอย่างที่คาดไม่ถึง
ประชานิยมขวา
ประชานิยมขวา (right-wing populism) มองว่าการกระจายทรัพยากรไม่ได้หมายรวมถึงการให้คนทุกคน ทุกกลุ่ม ในสังคมเข้าถึงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่เป็นการกระจายแบบกระจุกตัวอยู่ในบางกลุ่มเชื้อชาติ บางเผ่าพันธุ์ อีกนัยหนึ่งคือเชื้อชาติที่เป็น “เจ้าของประเทศ” เท่านั้นที่สมควรได้รับสิทธิที่จะเข้าถึงสวัสดิการก่อน หรือได้รับการจัดลำดับความสำคัญก่อน โดยกีดกันคนกลุ่มอื่นที่ตนมองว่าด้อยกว่าออกไป โดยเฉพาะผู้อพยพ (immigrants) ชาวมุสลิมที่ถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง และเข้ามาแย่งชิงทรัพยากร การจ้างงาน และการเข้าถึงบริการสาธารณะจากภาครัฐของคนในชาติ ตัวอย่างของประชานิยมขวา เช่น ในสวีเดน ฝรั่งเศส และอาร์เจนตินา ที่จะอธิบายพอสังเขปต่อไปนี้
สวีเดน : พรรค Sweden Democrats ที่แม้จะเริ่มก่อตัวตั้งแต่ทศวรรษ 1890s ในนามนาซีใหม่ (Neo-Nazi) มีจุดยืนต่อต้านการเก็บภาษี (anti-tax movements) (Schroeder, 2020, p.19) แต่เพิ่งจะประสบความสำเร็จด้วยการมีที่นั่งในสภาหลังการเลือกตั้งปี 2010 ที่ได้คะแนนจากผู้เลือกตั้ง 5.7% และ 17.6% ในการเลือกตั้งปี 2018 นโยบายหลักของ Sweden Democrats นอกจากจะเน้นรัฐสวัสดิการ ละม้ายกับพรรคสังคมนิยมดั้งเดิมที่ครองความนิยมในสวีเดนมาอย่างยาวนานแล้ว ความแตกต่างคือพรรค Sweden Democrats มีนโยบายลดสวัสดิการแก่ผู้อพยพ คงไว้สำหรับ “คนสวีเดนโดยแท้” (true Swedes) (Schroeder, 2020, 19)เท่านั้น และยังต่อต้านวัฒนธรรมต่างชาติโดยเฉพาะอิสลาม ไม่ยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไม่ไว้วางใจสื่อกระแสหลัก และพรรคการเมืองเก่าแก่ ฐานเสียงของพรรคขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีกลุ่มประชากรที่สนับสนุนกว้างขวาง
ฝรั่งเศส : พรรค The National Front ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น The National Rally (RN) ก่อตั้งในปี 1972 เป็นที่รวมของแนวคิดชาตินิยมฝ่ายขวาถึงขวาจัด ที่เชิดชูความเหนือกว่าของชาติฝรั่งเศส เดียดฉันท์คนต่างชาติและผู้อพยพ สนับสนุนการออกกฎหมายกีดกันการให้สวัสดิการคนต่างชาติ ในทางสังคมและวัฒนธรรม ต้องการปกป้องธำรงรักษาอัตลักษณ์ของฝรั่ง ด้วยความกังวลว่าจะถูกเจือจางลงด้วยแรงปะทะและการกลืนกลายจากวัฒนธรรมต่างแดน ในด้านเศรษฐกิจ เน้นการตั้งกำแพงภาษีทางการค้า เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ ต่อต้านการจ้างแรงงานต่างชาติด้วยการขึ้นภาษีผู้ประกอบการ ในมิติต่างประเทศ เดิมทีพรรค National Rally สนับสนุนการออกจากสหภาพยุโรปเช่นเดียวกับ Brexit แต่เมื่อประเมินว่าจะสำเร็จได้ยาก จึงเปลี่ยนท่าทีให้อ่อนลงมาเป็นการปฏิรูปสหภาพยุโรป รวมถึงจุดยืนที่สงวนท่าทีของฝรั่งเศสในเวที NATO ในการเป็นผู้ปกป้องโลกเสรีเมื่อเกิดสงคราม
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฝรั่งเศส เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ปี 2024 แม้ในที่สุดแนวร่วมพรรคฝ่ายซ้ายจะพลิกสถานการณ์กลับมาชนะเลือกตั้ง แบบที่ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมา (hung parliament) แต่การที่นาง Marine Le Pen แกนนำจากพรรค National Rally ผู้มีแนวโน้มจะท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งครั้งหน้า และพรรคแนวร่วมขวาจัดได้รับคะแนนนิยมอย่างสูงสุดในการเลือกตั้งรอบแรก (33.2%) ก็ส่งสัญญาณอันตรายต่อการจัดระเบียบสังคมเสรีนิยมก้าวหน้าของฝรั่งเศส พรรค National Rally นำเสนอนโยบายหาเสียงที่มุ่งตอบโจทย์ในใจประชาชน คือ ลดการเก็บภาษีจากประชาชน ซึ่งเท่ากับเป็นการลดรายได้รัฐ และส่งเสริมการดูแลให้สวัสดิการ จึงเป็นการเพิ่มรายจ่ายของรัฐบาล เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้คนทำงานที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ไม่เรียกเก็บภาษีมรดกคนยากจนและคนชั้นกลาง ผู้เกษียณมีสิทธิรับเงินบำนาญตั้งแต่อายุ 60 ปี แทนที่จะต้องรอเกษียณตอนอายุ 64 ปี เหมือนที่ผ่านมา ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่เรียกเก็บจากการใช้น้ำมันเบนซิน เชื้อเพลิงทำความร้อน ไฟฟ้า และก๊าซ จาก 20% เหลือแค่ 5.5% อัดฉีดงบประมาณด้านสาธารณสุข (Leali, 2024) ชัยชนะในสมรภูมิเลือกตั้งรอบแรกของพรรคฝ่ายขวาและขวาสุดโต่งท่ามกลางการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป (EURO 2024) สะท้อนความย้อนแย้งในความสัมพันธ์ระหว่างประชานิยมและผู้อพยพอย่างน่ากังขา นักแตะทีมชาติฝรั่งเศสจำนวนมากเป็นลูกหลานผู้อพยพที่ผู้สนับสนุนพรรคขวาจัดต่อต้าน ขณะเดียวกันอาจเป็นคนกลุ่มเดียวกันนี้ที่เชียร์และส่งกำลังใจให้นักแตะคว้าชัยในการแข่งขันฟุตบอล
อาร์เจนตินา : นาย Javier Milei ผู้นำขวาสุดโต่ง (ultra-right) ชนะการเลือกตั้งในปี 2023 เป็นประธานาธิบดีอาร์เจนตินาด้วยคะแนนนิยม 55.6% มาพร้อมกับคำสัญญาแหวกแนวที่คาดไม่ถึง เช่น ประกาศใช้เงินสกุลดอลลาร์แทนสกุลเปโซ ยกเลิกธนาคารกลางของประเทศ (Central Bank of Argentina) เพื่อลดอัตราเงินเฟ้อ และปฏิวัติระบบบริหารราชการในประเทศที่ปกครองด้วยแนวทางก้าวหน้าอย่างยาวนานกว่า 20 ปี แทนที่ด้วยแนวคิดเสรีนิยมใหม่ Milei โด่งดังมาจากการเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ เขาต่อต้านการกักตัวในช่วงที่โควิด-19 ระบาดว่าเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน พรรค “La Libertad Avanza” (Liberty Moves Forward) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น พร้อมกับความตกต่ำถดถอยของพรรครัฐบาลที่ล้มเหลวในการบริหารประเทศ ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัว นาย Milei ต่อต้านการตั้งกำแพงภาษีการค้าระหว่างประเทศ และเชื่อในแนวทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) กล่าวคือ ระบบเศรษฐกิจที่ปล่อยเสรีในการแข่งขันแบบไม่มีข้อจำกัด โอนกิจการบริการสาธารณะให้เอกชนดูแล ลดกฎเกณฑ์ กติกาต่าง ๆ ที่กำกับผู้ประกอบการและการลงทุน รัฐไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบให้บริการด้านการศึกษาและสาธารณสุข เชื่อว่าการบริหารประเทศสามารถแก้ไขได้โดยเทคโนแครตหรือผู้เชี่ยวชาญ โดยไม่จำเป็นต้องเปิดช่องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ นาย Milei ปฏิเสธภาวะโลกร้อนว่าไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนว่าเป็นจริง การบริหารระบบเศรษฐกิจแบบอวดดีของนาย Milei แม้จะทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง แต่การจ้างงานก็ลดลงฮวบฮาบ เสรีภาพของสื่อในการวิพากษ์วิจารณ์ถูกคุกคาม การตรวจสอบและการควบคุมตั้งเป้าไปที่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องสิทธิสตรี ความหลากหลายทางเพศ และสถาบันทางวัฒนธรรมที่พิทักษ์ความเท่าเทียมกัน (The Economist, 2024)
ประชานิยมซ้าย
ประชานิยมฝ่ายซ้าย (left-wing populism) เชื่อว่าจำเป็นต้องจัดสรรทรัพยากรภายใต้ระเบียบกติกาใหม่ เพราะในระเบียบอำนาจเดิมแบบทุนนิยม ทรัพยากรถูกครอบงำและครอบครองโดยชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ กลุ่มทุนผูกขาดข้ามชาติ ที่เติบโตเบ่งบานในยุคโลกาภิวัตน์ ประชานิยมฝ่ายซ้ายเห็นว่าการเมืองควรเคารพเจตนารมณ์ของมวลชน กลุ่มผู้ใช้แรงงาน คนด้อยโอกาส และคนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ควรได้ส่วนแบ่งในทรัพยากรเพิ่มขึ้น ต้องเรียกร้องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จากการผูกขาดอย่างยาวนานจนเป็นเรื่องปกติที่คุ้นชินของชนชั้นนำที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน คดโกง และฉวยโอกาส (Mudde and Kaltwasser, 2017) โจทย์ที่เป็นเป้าหมายทางการเมืองของประชานิยมซ้าย คือ การหลอมรวมมวลชนที่ถูกบีบคั้น เอารัดเอาเปรียบ หรือถูกขูดรีดจากระบบเศรษฐกิจทุนนิยมให้เป็นพวกพ้องเดียวกันในนามประชาชน โดยไม่คำนึงถึงชนชั้น อาชีพ เพศ อายุ เชื้อชาติ ศาสนา
ต้นแบบประชานิยมซ้ายซึ่งเป็นที่รู้จักดี คือ พันโท Hugo Chávez ผู้นำเสนอภาพลักษณ์ “เป็นคนนอก” ของระบบการเมืองที่ปิดกั้นการเข้าสู่อำนาจ นโยบายหลักระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเวเนซุเอลา ตั้งแต่ปี 1999 จนเสียชีวิตในปี 2013 คือ แนวทางสร้างความนิยมในชาติ (nationalization) จัดให้มีสวัสดิการและโครงการช่วยเหลือประชาชน ต่อต้านแนวคิดเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) ซึ่งเน้นระบบเศรษฐกิจแบบการตลาด ที่ให้กลุ่มทุนและเอกชนควบคุมการบริโภคและปัจจัยพื้นฐาน เสรีนิยมใหม่เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีกำเนิดในสหรัฐอเมริกาแต่นำมาใช้แพร่หลายในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา คัดค้านมาตรการแทรกแซงการจัดระเบียบ ควบคุมการเงินการคลังของธนาคารโลก และ The International Monetary Fund ผู้สนับสนุนประชานิยมซ้ายของ Chávez ได้สมญานามว่า Chavism หรือ Chavismo หรือ Chavezism
พรรค Podemos ของสเปน เป็นตัวอย่างของประชานิยมฝ่ายซ้ายที่น่าหยิบยกมาพิจารณา พรรค Podemos ได้รับอิทธิพลทางการเมืองจากประสบการณ์ของพรรคการเมืองประชานิยมของประเทศในทวีปลาตินอเมริกาเป็นแรงบันดาลใจ ประกอบกับนำทฤษฎีประชานิยมของนาย Ernesto Laclau (Bickerton and Accetti, 2018) มาปรับใช้ในทางปฏิบัติ กล่าวคือ การประยุกต์อุดมการณ์เสรีนิยมซึ่งมีรากฐานที่เหนียวแน่นในสังคม เพื่อสร้างเอกภาพของการเมืองมวลชนแบบข้ามชนชั้น เป็นการก่อรูปองค์รวมประชาชนขึ้นมาใหม่ หรือสร้าง “เรา” ซึ่งหมายถึง การเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของผู้นําประชานิยมและประชาชนที่มีความรู้สึกร่วม จิตสํานึกรวมหมู่ กับคู่ตรงข้าม หรือ “ศัตรู” ที่เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายของมวลชน ยุทธศาสตร์ที่สำคัญคือการใช้วาทกรรม วาทศิลป์ และสัญลักษณ์ทางการเมือง
พรรค Podemos ใช้วิกฤติทางการเมืองขณะที่เศรษฐกิจตกต่ำ ความเชื่อมั่นในรัฐบาลถดถอย เป็นโอกาสในการสร้างพรรค โดยเสนอนโยบายที่มุ่งเน้นแก้บาดแผลที่สะสมอยู่ในใจประชาชนอย่างยาวนาน พรรค Podemos เล่าเรื่องราวให้สังคมเห็นว่าปัญหาทางการเมืองเกิดจากการเหนี่ยวรั้งการพัฒนาประเทศ เพราะชนชั้นนำเกาะกุมอำนาจเพื่อรักษาผลประโยชน์ ธำรงรักษาระเบียบอำนาจทางสังคมของชนชั้นนำบนการเอารัดเอาเปรียบ กีดกันประชาชนคนเล็กคนน้อย แนวทางแก้ปัญหาควรเพิ่มการลงโทษให้เด็ดขาด รุนแรง ต่อผู้มีพฤติกรรมฉ้อโกงคอร์รัปชัน สร้างมาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงภาษี ปรับลดเงินเดือนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพิ่มรายได้ขั้นพื้นฐานสําหรับทุกคน และให้มีระบบภาษีที่เป็นธรรม คนรวยจ่ายมากกว่าคนจน
ข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ พรรค Podemos ถือกำเนิดจากกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง และนักเทคโนแครตหรือผู้ทรงความรู้วิทยาการสมัยใหม่สาขาต่าง ๆ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เรียกได้ว่าเป็นพรรคประชานิยมผู้เชี่ยวชาญ (techno-populist) (Bickerton and Accetti, 2018) จะเห็นว่า บุคลากรชั้นนำส่วนใหญ่ของพรรคเป็นนักวิจัยและอาจารย์ที่มาจากมหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยของสเปน จนได้ชื่อว่าเป็นพรรคของอาจารย์มหาวิทยาลัย เช่น นาย Pablo Manuel Iglesias Turrión ผู้ก่อตั้งพรรค เป็นอาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ที่ The Complutense University of Madrid และนักจัดรายการทางโทรทัศน์ พรรค Podemos ขึ้นชื่อว่ามีการใช้ตัวเลข สถิติ และการคำนวณ อย่างเข้มข้น ละเอียด เป็นระบบ สื่อสารด้วยการให้ข้อมูลความรู้แก่สังคมด้วยท่าที ลีลา การนำเสนอแบบนิ่งสงบ ใช้ศัพท์เชิงวิชาการในทางการเมือง เทียบเคียงเสมือนการสอนในชั้นเรียน สร้างความแตกต่างระหว่างพรรค Podemos ที่เติบโตจากการเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวของพลเมืองกับพรรคการเมืองกระแสหลักอื่น ๆ และนักการเมืองคร่ำหวอดหลายสมัย ที่แม้จะเป็นนักการเมืองมืออาชีพแต่พูดในเรื่องเดิม ๆ จำเจ ซ้ำซาก วนเวียนอยู่กับปัญหาที่ไม่ได้เสนอทางออก
นาย Iglesia ฉายภาพลักษณ์ Podemos ว่าเป็นพรรคของ “คนธรรมดา” เป็นคนนอกที่บริสุทธิ์ (clean outsider) เปรียบเสมือนเฟอร์นิเจอร์ยี่ห้อดังอย่าง Ikea ด้วยภาพรดนํ้าต้นไม้บริเวณระเบียงบ้าน เป็นตัวแทนของประชาชนที่ซื่อตรง เข้าถึงง่าย จับต้องได้ (ปุณยวีร์ พลเสน, 2566, p. 4) ไม่ใช่พรรคของ “นักการเมือง” และชนชั้นปกครอง ผู้เป็นอภิสิทธิ์ชนที่เข้าไม่ถึงความทุกข์ยากลำเค็ญของประชาชน และยังฉ้อฉลโกงกิน
การสร้างความเป็นคนนอกของระบบการเมืองที่เน่าเฟะ เป็นกลยุทธ์ทางการเมืองที่สำคัญในการเจาะฐานเสียงให้ใช้ “สามัญสํานึก” ในการมองระบบนิเวศทางการเมืองว่า ปัญหาทางการเมืองที่สเปนประสบพบเจออย่างฝังรากลึกมาจากนักการเมืองและพรรคการเมืองในอดีต นาย Iglesia แจกแจงปัญหา นําเสนอหลักการ และค่านิยมพื้นฐานที่ทุกคนสามารถเห็นตามด้วยได้ง่าย เพราะเป็นความจริงที่ชัดเจนในชีวิตประจำวัน ยากจะโต้แย้งได้ นอกจากนี้ พรรค Podemos ยังยืนยันว่าแนวทางของพรรคซึ่งแก้ที่จุดกำเนิดของปัญหาเท่านั้น จึงจะจัดการปัญหาต่าง ๆ ในสังคมได้
นอกจากนั้น พรรค Podemos ยังใช้อินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ในการสื่อสารทางการเมือง และการหาเสียงเลือกตั้ง ใช้เทคนิคทางการตลาด พรรคเสนอกระบวนการแก้ปัญหาทางการเมืองที่ใช้สามัญสํานึกว่า ถ้าทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน ปัญหาทุกอย่างก็จะคลี่คลาย แม้ในความเป็นจริง ความเห็นพ้องเมื่อต้องจัดการปัญหาอย่างจริงจังอาจทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะผลประโยชน์ของกลุ่มประชาชนที่สนับสนุนมีความเดือดร้อนหลากหลายรูปแบบ และถึงที่สุดอาจขัดแย้งกันเอง
สำหรับประเทศไทย พอจะเทียบเคียงการเกิดและเติบโตของพรรค Podemos กับพรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกลของไทย จะเห็นว่าจุดยืนที่สร้างฐานที่มั่นของพรรคคือการแบ่งฝ่ายระหว่างประชาชนผู้เสียภาษีและเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย กับ นายทุน ขุนศึก ศักดินา พรรคก้าวไกลจึงเน้นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง กล่าวคือ จะแก้ไขการคอร์รัปชัน ความเหลื่อมลํ้า การกระจายอํานาจให้กับท้องถิ่น ยืนยันสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ปฏิรูปการศึกษา ปัญหาสิ่งแวดล้อม เหล่านี้คือปรากฏการณ์จริงในสังคม ไม่ว่าจะเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงต่างก็เผชิญร่วมกันอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ การสร้างแนวร่วมของ “ประชาชน” เพื่อสู้กับ “เขา” ที่เป็นนักเลือกตั้งคร่ำครึ และชนชั้นนำผูกขาด จึงเป็นแนวทางการต่อสู้ที่คล้ายคลึงกับพรรค Podemos
กล่าวโดยรวม ความแตกต่างระหว่างประชานิยมฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายมีนัยสำคัญต่อการทำความเข้าใจ ปฏิบัติการประชานิยม เนื่องจากแต่ละฝ่ายมีโลกทัศน์ในการประกอบร่างความเป็นประชาชน และชนชั้นนำที่เป็นศัตรู จากคนละมุมมอง ประชานิยมฝ่ายขวาเชื่อมโยงกับความเหนือกว่าของชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม แพร่กระจายความกลัว เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของความเป็นคนนอกที่จะเข้ามากอบกู้สถานการณ์ ส่วนประชานิยมฝ่ายซ้ายเน้นต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมทั้งทางอำนาจ และความมั่งคั่ง เพื่อจุดกระแสความโกรธ ความเกลียดชังชนชั้นนำที่ครอบครองผูกขาดทรัพยากร ประชานิยมขวาและซ้าย ต่างเจริญเติบโตได้ดีในสังคมที่แบ่งขั้วเลือกข้างที่ผลักคู่แข่งขันให้เป็นศัตรูทางการเมือง (Bernhard, Kreppel and de la Torre, 2024, pp. Chapter 1)
ประชานิยมกับประชาธิปไตย
ประชาธิปไตยเป็นระบอบการเมืองที่กล่าวได้ว่า การนิยามและคุณสมบัติมีความคลุมเครือ ทั้งในเชิงความหมาย และเป้าหมาย นอกจากนิยามประชาธิปไตยจะมีมากมาย หลายระดับ จนเมื่อพูดถึงประชาธิปไตย การบอกว่าคือระบอบที่ปกครองโดยประชาชน (rule by the people) จึงเป็นคำนิยามที่ตรงกันที่สุด พื้นฐานที่สุด และง่ายที่สุด (Collier and Levitsky, 1997; Munck, 2016) แต่ในคุณสมบัติที่เป็นรายละเอียด รูปแบบของระบอบประชาธิปไตย และแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมือง ประชาธิปไตยทั้งในเชิงทฤษฎี และความเป็นจริงของแต่ละประเทศ มีรายละเอียดแตกต่างกันไป (Held, 2006; Lijphart, 1999)
ระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง (electoral democracy) เป็นประชาธิปไตยขั้นต่ำ แนวคิดประชาธิปไตยพื้นฐานที่สุด คือ การเลือกตั้งที่มีการแข่งขันระหว่างพรรคการเมือง เพื่อให้ประชาชนเลือกผู้บริหารประเทศที่ตั้งอยู่บนหลักความเท่าเทียมกันทางการเมือง หนึ่งสิทธิ หนึ่งเสียง (Munck, 2016; Schumpeter, 1950) การมีส่วนร่วม ความอดทนอดกลั้นต่อความเห็นต่าง อาจกล่าวได้ว่า ความเชื่อมโยงระหว่างประชาธิปไตยกับประชานิยม คือ การเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง อีกนัยหนึ่งให้ความสำคัญกับการตรวจสอบแนวตั้ง (vertical accountability) นั่นคือ การเลือกตั้งโดยประชาชน ด้วยเหตุนี้จะเห็นว่านักการเมืองประชานิยมจะให้คุณค่ากับการเลือกตั้งในฐานะเป็นเครื่องมือสำคัญของการเข้าสู่อำนาจ ที่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน เพื่อตอกย้ำความชอบธรรมของผู้นำทางการเมือง
ท่ามกลางรูปแบบที่ไม่ตายตัว พลังของผู้นำและพรรคการเมืองประชานิยมจะคืบคลานเข้ามาอาศัยร่มเงาประชาธิปไตย ด้วยเป้าหมายเพื่อปรับกระบวนทัศน์และความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของสังคมนั้น ให้สอดคล้องกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์เฉพาะตัวของนักของประชานิยมที่จะนำไปปฏิบัติ นักประชานิยมมักได้รับเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศด้วยคำสัญญาว่าจะปฏิรูปสังคม ปรับปรุงคุณภาพชีวิตประชาชน และทำให้ประชาธิปไตยหยั่งรากลึก แต่ในความเป็นจริง ผู้นำประชานิยมฉกฉวยความได้เปรียบในการคุมอำนาจรัฐ และดัดแปลงสถาบันการเมืองเพื่อรักษาอำนาจตนเอง โดยไม่คำนึงว่าการกระทำดังกล่าวกลับทำให้ประชาธิปไตยโรยรา เช่น อดีตประธานาธิบดีเปรู Alberto Fujimori ประกาศว่าตัวเขาเองคือสถาปนิกผู้สร้างประชาธิปไตยสมัยใหม่ และต่อมายุบสภาในปี 2017 เพื่อ “ปกป้องระบอบประชาธิปไตย” หรือประธานาธิบดี Hugo Chávez แห่งเวเนซุเอลา สร้างภาพลักษณ์ให้เป็น “นักปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตย” ที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน และมักใช้กลไกของระบอบประชาธิปไตยโดยตรง เช่น การทำประชามติ เพื่อใช้ความเห็นของประชาชนเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้การกระทำของตน นาย Victor Orbán แห่งฮังการี เป็นตัวอย่างของผู้นำประชานิยมที่ปลูกฝังความคิดในสังคมว่าประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องเสรี (Plattner, 2019)
ระบอบประชาธิปไตยจะทัดทานการรุกรานของประชานิยมฝ่ายขวาก็ด้วยการถกเถียง การอธิบายด้วยเหตุผล และต้องไม่ยกความเหนือกว่าทางคุณธรรม และการศึกษา หรือนำมาตรฐานทางศีลธรรมอันสูงส่งมาค้ำยัน เพราะจะเข้าทางประชานิยมที่แนวคิดพื้นฐาน คือ ความเหนือกว่า ดีกว่า เหมาะสมกว่าของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง มากกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง จะเห็นได้ว่าในระบอบประชาธิปไตยที่เปราะบาง ถูกท้าทายทั้งโดยระบอบเผด็จการ ระบอบอำนาจนิยม และในปัจจุบันโดยประชานิยมที่โจมตีระบอบประชาธิปไตยในนามประชาชน ด้วยหลักการเสียงข้างมากของระบอบประชาธิปไตย ผลคือ คนกลุ่มน้อยที่จะถูกละเมิด ลิดรอนสิทธิ์
ประชานิยมจะเฟื่องฟูในระบบการเมืองที่ขับเคลื่อนบนความเหลื่อมล้ำ ความไม่มั่นคง ความไร้เสถียรภาพ ที่กัดกร่อนสังคม ชีวิตประจำวันของประชาชนเผชิญกับองค์กรอาชญากรรม พลเมืองที่ด้อยโอกาสและชนชั้นล่างถูกปล่อยให้แก้ปัญหาด้วยตนเอง แม้พรรคเหล่านี้จะมีองค์ประกอบบางประการที่เข้าข่ายการเป็นพรรคประชานิยม แต่หากเทียบกับการรัฐประหารแล้ว พรรคประชานิยมก็ไม่ได้ทำร้ายประชาธิปไตยได้เท่ากับการรัฐประหาร ดังนั้นการทำให้ผู้นำประชานิยม และพรรคการเมืองประชานิยม เป็นปีศาจทางการเมือง การบ่อนเซาะนักการเมืองและพรรคการเมืองเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับระบบราชการและกองทัพ กลับกลายเป็นอันตรายมากกว่าประชานิยม ซึ่งสุดท้ายต้องได้รับความนิยมจากประชาชน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และตรวจสอบได้โดยประชาชน
ประชานิยม อำนาจนิยม และประชาชน
ประชานิยมแบบอำนาจนิยม (authoritarian populism) จะเป็นอันตรายสูงสุดเมื่อประชานิยมท้าทายระเบียบทางสังคมแบบเสรีนิยมที่ตั้งอยู่บนฐานความเชื่อเรื่องความเท่าเทียม เสมอภาค ประชานิยมแบบอำนาจนิยมเกิดขึ้นเมื่อผู้นำประชานิยมยึดกุมอำนาจอย่างเหนียวแน่นมั่นคง ไม่มีสัญญาณการต่อต้านอย่างยาวนาน พวกเขามีแนวโน้มสร้างรัฐอำนาจนิยมที่กีดกันคนกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของประชาชน ตามนิยามของผู้นำประชานิยมในสังคมนั้น
อาจกล่าวได้ว่า แม้แนวคิดประชานิยมโดยตัวเองไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ หรือเป็นขั้วตรงข้ามกับประชาธิปไตยโดยตรง แต่ผู้นำอำนาจนิยมมักฉวยใช้พลังจากความนิยมของประชาชนจากคะแนนเสียงเลือกตั้ง เพื่อรักษาตำแหน่งอย่างยาวนาน ดังจะเห็นได้จากผู้นำประชานิยมที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้น ใช้อำนาจอย่างไร้ขอบเขต ไม่ยอมรับการตรวจสอบ จนใกล้เคียงกับผู้นำอำนาจนิยม ผลก็คือ ประชานิยมเซาะกร่อนระบอบประชาธิปไตยให้อ่อนแอลง ที่สำคัญไปกว่านั้นคือความดึงดูดกันระหว่างประชานิยมกับอำนาจนิยม (Norris and Inglehart, 2019) โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชานิยมขวาสุดโต่งในยุโรปมีแนวโน้มจะเข้าใกล้อำนาจนิยม ขณะที่ในลาตินอเมริกา จะพบความใกล้เคียงกันระหว่างประชานิยมซ้ายกับระบอบอำนาจนิยมที่มีการแข่งขัน (competitive authoritarianism) (Levitsky and Loxton, 2013)
ในกรณีที่ผู้นำประชานิยมใช้อำนาจกดขี่ รวมถึงสร้างมาตรการควบคุมผู้เห็นต่างอย่างไม่มีขีดจำกัด โดยใช้กฎหมาย และกติการัฐธรรมนูญที่ตนร่างขึ้นมาเอง เพื่อเป็นเครื่องมือลิดรอนสิทธิ์ประชาชน จะเรียกว่า “เผด็จการประชานิยม” (populist dictatorship) (Canovan, 1987, p. 190) กล่าวคือ เป็นเผด็จการที่อาศัยฐานสนับสนุนจากมวลชนระดับล่างของสังคม (mass-based dictatorship) ซึ่งแตกต่างจากเผด็จการคณาธิปไตย (oligarchy) โดยคณะทหาร นอกจากนี้ประชานิยมยังรวมถึงนักการเมืองที่อาศัยอคติของมวลชนเป็นเครื่องมือต่อต้าน และโจมตีนโยบายของผู้นำทางการเมืองที่ครองอำนาจอยู่ สร้างฐานคะแนนนิยมในหมู่ชนกลุ่มน้อยที่มีความรู้สึกแปลกแยกจากโครงสร้างของสังคมส่วนใหญ่ ด้วยวาทศิลป์และคำพูดที่แทนใจคน
โดยทั่วไป สังคมที่มีประชาสังคมเข้มแข็ง ประชานิยมจะปรากฏขึ้นได้ยาก เพราะประชาสังคมที่เข้มแข็งเป็นตัวบ่งชี้ว่าประชาชนมีช่องทางในการส่งเสียง แสดงออกซึ่งความต้องการได้อย่างมั่นใจว่าจะไม่ถูกเพ่งเล็ง สามารถปกป้องผลประโยชน์และพึ่งพาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนและสังคมที่มีคุณสมบัติเช่นนี้สามารถจัดการปัญหาจากล่างสู่บนด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพา รอรับความช่วยเหลือจากรัฐ ทุกเรื่อง ทุกเวลา จึงยากที่จะยอมจำนนต่อการปลุกระดม มีแนวโน้มตัดสินใจเลือกตั้งด้วยเหตุผล และผลประโยชน์ระยะยาว แทนที่จะแลกเปลี่ยนคะแนนเสียงในการเลือกตั้งกับสัญญาที่ไม่มีความแน่นอน ไม่ว่าผู้นำนั้นจะมีคุณสมบัติและบารมีเพียงใด สังคมที่มีความแตกต่างและไม่เท่าเทียมกันทางชนชั้นก็เป็นเงื่อนไขสำคัญของการเกิดประชานิยม เพราะในสังคมเช่นนี้จะเกิดกลุ่มคนที่รู้สึกถูกทอดทิ้ง ละเลย กลายเป็นคน “ชายขอบ” (marginalized) เอื้อให้ผู้นำประชานิยมตอบสนองมวลชนระดับล่างที่ต้องการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบ (political inclusion) ด้วยนโยบายที่ถูกใจ ด้วยวาทศิลป์ คำสัญญาที่ตรงใจ
ชัยชนะในการเลือกตั้งของนักประชานิยม เป็นภาพสะท้อนความไม่พอใจของคนจำนวนมากต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม และความปรารถนาที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เนื้อหาของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่นำเสนอทางเลือกใหม่ต่อคนชายขอบ ผู้รู้สึกแปลกแยกจากกระบวนการทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ฉะนั้น สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และวิกฤติศรัทธาทางการเมือง ส่งผลให้นักประชานิยมสามารถดึงดูดคนจำนวนมาก ที่คิดว่านโยบายประชานิยมจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะ คำขวัญในการหาเสียง (campaign slogan) จึงมักเน้นว่า อำนาจเป็นของประชาชน และจะนำกลับไปอยู่ในมือประชาชนหากนักประชานิยมได้รับความยินยอมจากประชาชน (popular ratification) ให้เป็นผู้ปกครอง ไม่ว่าจะโดยการระดมมวลชนเดินขบวนสนับสนุนบนท้องถนน หรือระดมคะแนนเสียงในหน่วยเลือกตั้ง คะแนนความนิยม (popularity) จำนวนมากนี้เป็นเสมือนหนึ่งเจตจำนงของประชาชนที่ให้ความไว้วางใจต่อผู้นำ จะเห็นได้ว่าในหลายประเทศ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นสลับกันไปมาระหว่างวิกฤติเศรษฐกิจ การยึดอำนาจของทหาร การเคลื่อนไหวต่อต้านของกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่นิยมผู้นำประชานิยม การขึ้นสู่อำนาจของผู้นำพร้อมกับแนวทางบริหารประเทศแบบประชานิยมที่นำไปสู่ปัญหาสภาวะเงินเฟ้อ รายจ่ายภาครัฐสูงจนเป็นหนี้ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง และจบลงที่เศรษฐกิจตกต่ำ จนกลายเป็นวงจรอุบาทว์ทางการเมือง (สิริพรรณ, 2546, น. 250-262)
ประชานิยมเป็นภัยคุกคาม หรือ ช่วยปรับสมดุลกระบวนการประชาธิปไตย
งานวิจัยที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประชานิยมกับประชาธิปไตยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม นักวิชาการกลุ่มหนึ่ง (Mudde and Kaltwasser, 2013, pp. 149-161; Plattner, 2010, pp. 81-92) มองว่าประชานิยมเป็นอันตรายต่อประชาธิปไตย เนื่องจากลดทอนความเข้มแข็งของสถาบันการเมืองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย และหลักนิติรัฐ รัฐบาลภายใต้การนำของผู้นำหรือพรรคการเมืองประชานิยมไม่ว่าจะประชานิยมซ้ายหรือประชานิยมขวา มักลดทอนการมีส่วนร่วม ไม่ยอมรับความอดทนอดกลั้นต่อความเห็นต่าง ปฏิเสธความเสมอภาคเท่าเทียมของมนุษย์ต่างชาติพันธุ์วรรณา ที่สำคัญรัฐบาลประชานิยมมักจะไม่สามารถรักษาคำมั่นสัญญาในการปรับปรุง พัฒนาคุณภาพชีวิตให้เกิดความแตกต่างอย่างมีนัยยะ ที่สัมผัสได้ ไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม และการมีส่วนร่วมทางการเมืองให้มีชีวิตชีวา (Vittori, 2021) ขณะที่นักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่ง (Canovan, 1999; Mény and Surel, 2002) มองต่างมุมว่าประชานิยมมีศักยภาพในการส่งเสริมสถาบันการเมืองแบบมีส่วนร่วม และสร้างความเข้มแข็งความเชื่อมโยงระหว่างตัวแทน คือ นักการเมืองและประชาชน เพราะประชานิยมเน้นการตรวจสอบและเฝ้าระวังแนวตั้ง (vertical mechanism) ผ่านการเลือกตั้ง
จะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประชานิยมและการพัฒนาประชาธิปไตยมีทั้งด้านมืด และด้านสว่าง กล่าวคือ ในด้านสว่าง ผู้นำประชานิยมดึงเอากลุ่มคนทุกชนชั้น ผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร คนเล็กคนน้อย คนชายขอบ เพศสภาพทางเลือก เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมือง ส่งผลให้กลุ่มคนที่ถูกละเลยเกิดความรู้สึกมีศักดิ์ศรี มีสิทธิและบทบาททางการเมือง จึงเป็นการขยายฐานมวลชนในระบอบประชาธิปไตยและสกัดกั้นผู้นำเผด็จการอำนาจนิยมโดยทหาร ส่วนในด้านมืดจะพบว่า ถึงแม้ผู้นำประชานิยมจะเรียกร้องโฆษณาประชาธิปไตย แต่พวกเขาไม่ได้ปฏิบัติตนตามแนวทางประชาธิปไตยเสมอไป (Conniff, 1999, p. 7) เมื่อบริหารประเทศผู้นำประชานิยมมักจะมีแนวโน้มใช้อำนาจเด็ดขาด ไม่ให้ความเคารพการปกครองโดยหลักนิติธรรมที่บังคับใช้กับตน ไม่เห็นความสำคัญของความเป็นพหุนิยมทางการเมือง (pluralism) ละเลยบรรทัดฐานของระบอบประชาธิปไตยในเรื่องการประนีประนอม และแสวงหาฉันทามติบนความแตกต่าง ไม่ยอมรับกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ และมีแนวโน้มจะมองศาล สื่อมวลชน และหน่วยงานอิสระต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดว่ากำลังขัดขวางเสียงของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย
นักประชานิยมตอกย้ำความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ ที่แปรไปเป็นความไม่เท่าเทียมกันทางการเมืองระหว่างประชาชนคนธรรมดา และชนชั้นนำผู้ทรงพลังอำนาจ หากมองในมุมนี้ น่าจะเชื่อได้ว่าประชานิยมจะส่งผลในทางบวกต่อประชาธิปไตยที่มีความเท่าเทียมเป็นเป้าหมาย ในความเป็นจริงกลับพบว่า สังคมที่นักประชานิยมขึ้นสู่อำนาจ กลับกัดเซาะแก่นแกนประชาธิปไตยให้ผุกร่อน นอกจากนั้นนักประชานิยมมักไม่รักษาคำมั่นสัญญาในการส่งเสริมความเท่าเทียมหรือการสนับสนุนการมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญของระบอบประชาธิปไตย
จุดปะทะระหว่างประชาธิปไตยและประชานิยม คือ แนวคิดประชานิยมจะมุ่งแสวงหาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของมวลประชากร เชื่อว่ามีแนวทางเดียว คำตอบเดียวที่ถูกต้องคือคำตอบที่นักประชานิยมนำเสนอ ขณะที่ระบอบประชาธิปไตยยืนอยู่บนหลักเสรีภาพของการแสดงความเห็น เสรีภาพในการรวมกลุ่ม และเสรีภาพของสื่อที่ปราศจากการครอบงำ นอกจากนี้ผู้นำประชานิยมจำนวนหนึ่งยังมีแนวโน้มที่จะฉกฉวยความได้เปรียบในการแข่งขันเลือกตั้ง ทำให้สนามการแข่งขันเอื้อประโยชน์ให้ตน และพรรคของตน (Levitsky and Loxton, 2013) ทั้งโดยการดึงบังคับฝ่ายตรงข้ามให้เข้ามาเป็นพวก (cooptation) ทั้งโดยการสร้างแรงจูงใจ ให้รางวัล และการลงโทษ ใช้กฎ ระเบียบ กติกา ที่ร่างเอง องค์กรที่จัดการเลือกตั้ง และผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบที่แต่งตั้งมาเอง กำกับสื่อให้กลายเป็นเครื่องจักรของการโฆษณาชวนเชื่อ ผลก็คือ การเลือกตั้งไม่เป็นธรรม ภายใต้ปรากฏการณ์นี้ ประชาธิปไตยและประชานิยมจึงไม่อาจเป็นเนื้อเดียวกันได้
โดยรวม นักวิชาการทั้งสองกลุ่มมีความเห็นในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลประชานิยมและความตั้งมั่นของระบอบประชาธิปไตยร่วมกันว่า สำหรับประชาธิปไตยที่แข็งแรง หนักแน่น มั่นคง จะสามารถยืนหยัดทัดทานประชานิยมได้อย่างไม่สั่นคลอน กล่าวคือ ผลพวงด้านลบจากประชานิยม แม้จะมีบ้างในแง่มุมต่าง ๆ เช่น การปะทะกันทางความคิดของมุมมองสุดโต่ง การประท้วง และความรุนแรงเป็นครั้งคราว แต่ผลกระทบเหล่านี้ก็เพียงบางเบาไม่ส่งผลให้ประเทศเสรีประชาธิปไตยที่มีกลไกรองรับการมีส่วนร่วมที่ตั้งมั่นเสื่อมถอยลงได้ (Ruth-Lovell and Grahn, 2023) กรณีศึกษาที่น่าสนใจคือผลลัพธ์ที่ต่างกันระหว่างประชานิยมภายใต้ Hugo Chávez แห่งเวเนซุเอลา ที่ทำลายสถาบันทางการเมืองเสรีนิยมประชาธิปไตยให้แตกสลาย ขณะที่แม้ Donald Trump จะทำให้ความชอบธรรมในการใช้อำนาจประธานาธิบดีตามระบอบประชาธิปไตยถูกตั้งคำถามตลอด 4 ปี ที่ดำรงตำแหน่ง แต่ไม่สามารถทำลายระบอบประชาธิปไตยในสหรัฐอเมริกาได้
Chávez ผงาดขึ้นสู่อำนาจท่ามกลางวิกฤติของสถาบันทางการเมืองในเวเนซูเอล่า หลังขวนการต่อต้านความไม่เท่าเทียมอันเป็นผลจากการนำโนยายเสรีนิยมใหม่มาใช้ Chávez แก้ไขปัญหาความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนโดยระบบเศรษฐกิจที่ควบคุมโดยรัฐส่วนกลางตามแนวทางสังคมนิยม ขณะที่นำเงินที่ได้จากการค้าน้ำมันมาพัฒนาประเทศ ผลก็คือ การขยายอำนาจฝ่ายบริหารอย่างล้นเหลือ จะการตรวจสอบถ่วงดุลล้มเหลว และสร้างความแตกแยกแบ่งฝักฝ่ายระหว่างมิตร และศัตรู หลัง Chávez อสัญกรรม Nicolás Maduro Moros ปกครองด้วยการกดขี่ฝ่ายต่อต้าน ละเมิดสิทธิ เสรีภาพ จนอาจเรียกได้ว่าเป็นระบอบเผด็จการเข้มข้น (Maya, 2024, pp. Chapter 12)
ความเข้มแข็งของสถาบันและกระบวนการทางการเมืองในสหรัฐอมริกา ทำให้พรรคการเมืองแบบประชานิยมยากที่จะประสบความสำเร็จ แต่การที่นักการเมืองอย่าง Donal Trump จะฉกเอาพรรค Republican มาอยู่ในอุ้งมือ เป็นเรื่องง่ายดาย และแม้ว่า Trump ไม่อาจล้มล้างระบอบประชาธิปไตยได้ แต่วาทกรรมประชานิยม และการกระทำที่สร้างความแตกแยกเป็นภัยคุกคามบรรทัดฐานของระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้เพราะแม้คนอเมริกันจะไม่ไว้วางใจพรรคการเมือง แต่ไม่ได้หมดความเชื่อมั่นศรัทธาในสถาบันทางการเมืองและระบอบประชาธิปไตย และที่สำคัญ ความจงรักภักดีของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งระดับมลรัฐและระดับชาติ ขึ้นตรงต่อระเบียบ กติกา และกระบวนการของประชาธิปไตย เหนือกว่าความภักดีต่อประธานาธิบดีในฐานะตัวบุคคล (Lee, 2024, pp. Chapter 13)
บทสรุป: มองไปข้างหน้ากับโลกที่มีประชานิยม
จะเห็นว่า ตลอดเนื้อหาในบทนี้ ประชานิยมสัมพันธ์กับ 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ประชาชน ชนชั้นนำ และการกระจายทรัพยากร ตอกย้ำว่าประชานิยมในตัวเองไม่ได้ต่อต้านประชาธิปไตยโดยตรง หากจะตอบคำถามว่าประชานิยมเป็นอันตรายต่อประชาธิปไตยไหม ความเห็นต่อเรื่องนี้ต้องเริ่มต้นจากคำถามพื้นฐานว่าใครคือ ประชาชน ใจกลางของประชานิยมที่สร้างความไม่สบายใจต่อผู้รักประชาธิปไตย คือ ประชานิยมขวา จะขับเน้นชาติพันธุ์วรรณนา อีกนัยหนึ่ง เชิดชูความเหนือกว่าของเชื้อชาติ (racism) ประชานิยมฝ่ายขวาจึงมักกีดกัน “ประชาชนต่างชาติ” ว่าเป็นเผ่าพันธุ์ที่ด้อยกว่า ต่อต้านสิทธิของชนกลุ่มน้อย ไม่โอบรับทุนนิยม และบางครั้งไปไกลขนาดกร่อนเซาะแก่นแกนของระบอบประชาธิปไตย เช่น การมีส่วนร่วม การรับฟังความเห็น ความเสมอภาค เท่าเทียม ช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ประชานิยมฝ่ายขวาในยุโรปและลาตินอเมริกา ทำให้ภูมิทัศน์ในการแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองแบ่งเป็นสองขั้วความคิดที่ข้นเคี่ยวขึ้นมาก ส่งผลให้มีการปะทะกันทางความคิดที่ขาดขันติธรรมในการอยู่ร่วมกันอย่างแรง แบ่งฝักฝ่าย โดยเฉพาะในประเด็นผู้อพยพ เกิดกระแสชาตินิยม และความเหนือกว่าทางชาติพันธุ์ ที่เป็นคู่ตรงข้ามกับความร่วมมือระหว่างสังคมประชาธิปไตยในระดับนานาชาติ ปัจจัยดังกล่าวถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อระบอบประชาธิปไตย ประชานิยมฝ่ายขวาจึงมักถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย
ขณะที่ประชานิยมฝ่ายซ้าย จะมองประชาชนว่ายากไร้ ด้อยโอกาส ถูกเอารัดเอาเปรียบ และนับรวมคนชายขอบกลุ่มต่าง ๆ ทั้งทางเศรษฐกิจสังคม เข้าเป็นประชาชน มักได้รับการยอมรับในวงวิชาการ เพราะโอบรับประชาชนอย่างกว้างขวาง แสวงหาแนวร่วมด้วยการกระจายทรัพยากรและสวัสดิการ สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย แต่ก็สร้างปัญหาจากยุทธศาสตร์ที่มุ่งขยายความแตกแยกที่แหลมคมในสังคมการเมือง สร้างคู่ขัดแย้ง และขั้วตรงข้ามทางการเมือง ฉายภาพว่าพวกเขานั้นต่อสู้อยู่ตลอดเวลา เสมือนว่าสังคมบ่มเพาะปัญหาร้ายแรงอยู่เสมอ วิกฤติการเมืองไม่เคยจบสิ้น และมีเพียงประชานิยมซ้ายแบบพวกเขาเท่านั้นที่จะแก้ไขได้ ผลคือ เป็นสังคมที่ยากต่อการประนีประนอมและสร้างฉันทามติ อันเป็นกลไกสำคัญของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในระบอบประชาธิปไตย
เป็นความจริงที่ประชานิยม คือ ความท้าทายของระบอบประชาธิปไตยในทศวรรษ 2020 และจะยังคงสร้างปัญหาหลายประการในอนาคต ทั้งนี้เพราะประชาธิปไตยในตัวมันเองไม่ใช่ระบอบที่สมบูรณ์พร้อม ไร้ตำหนิ แต่เป็นระบอบที่เปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมตัดสินใจ เป็นผู้เลือกผู้บริหารมาปกครองตนเอง ระบอบประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น หยั่งรากลึก จะสามารถต้านทานความท้าทายรูปแบบต่าง ๆ ที่พลังประชานิยมจะปล่อยออกมาได้ ประชานิยมไม่สามารถสร้างอันตรายได้ แต่ประเทศที่ประชาธิปไตยเพิ่งตั้งไข่ ความท้าทายจากผู้นำและพรรคการเมืองประชานิยมอาจสั่นคลอนสถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตยได้ อย่างไรก็ตามประชานิยมไม่ใช่ภัยคุกคามหนึ่งเดียวของระบอบประชาธิปไตย และที่สำคัญ ประชานิยมสมัยใหม่ต้องอาศัยกลไกของระบอบประชาธิปไตยเข้าสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้ง
เอกสารอ้างอิง
ภาษาไทย
ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ และ นวลน้อย ตรีรัตน์. (2544). ตลาดการเมือง ประชานิยม และอนาคตเศรษฐกิจสังคมไทย. ใน กนกศักดิ์ แก้วเทพ และนวลน้อย ตรีรัตน์ (บรรณาธิการ), 2540 จุดเปลี่ยนประเทศไทย (น. 121-172). กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ปุณยวีร์ พลเสน. (2566). การเปรียบเทียบพรรค Podemos กับพรรคก้าวไกล: รายงานในวิชาพฤติกรรมการเมืองและการเลือกตั้ง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สิริพรรณ นกสวน. (2546). ประชานิยม. ใน สิริพรรณ นกสวน และ เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา (บรรณาธิการ), คำและความคิดในรัฐศาสตร์ร่วมสมัย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ภาษาอังกฤษ
Bernhard, M., Kreppel, A., and de la Torre, C. (Eds.). (2024). Still The Age of Populism?: Re-examining Theories and Concepts. Oxford: Routledge. doi: 10.4324/
9781003453178.
Bickerton, C. J., and Accetti, C. I. (2018). ‘Techno-populism’ as a New Party Family: The Case of The Five Star Movement and Podemos. Contemporary Italian Politics, 10(2), 132-150.
Bracciale, R., and Martella, A. (2017). Define the Populist Political Communication Style: the Case of Italian Political Leaders on Twitter. Information, Communication & Society, 20(9), 1310–1329. doi: 10.1080/1369118X.2017.1328522.
Calegari, A. P. K. (2019). The New Wave of Populism Exposes The Fragile Nature of Democracy. Retrieved from https://www.dwih-saopaulo.org/en/topics/democracy-and-human-rights/the-new-wave-of-populism-exposes-the-fragile-nature-of-democracy/
Canovan, M. (1987). Populism. In J. Kuper (Ed.), Political Science and Political Theory (pp. 188-192). London: Routledge.
Canovan, M. (1999). Trust the People! Populism and the Two Faces of Democracy. Political Studies, 47(1), 2-16.
Canovan, M. (2002). Taking Politics to the People: Populism as the Ideology of Democracy. In Y. Mény; and Y. Surel (Eds.), Democracies and the Populist Challenge (pp. 25-44). New York: Palgrave.
Careja, R., and Harris, E. (2022). Thirty Years of Welfare Chauvinism Research: Findings and Challenges. Journal of European Social Policy, 32(2), 212-224.
Collier, D., and Levitsky, S. (1997). Democracy with Adjectives: Conceptual Innovation in Comparative Research. World Politics, 49(3), 430-451.
Conniff, M. L. (1999). Populism in Latin America. Tuscaloosa, Alabama: The University of Alabama Press.
Dahl, R. A. (1956). A Preface to Democratic Theory. Chicago: The University of Chicago Press.
Dornbusch, R., and Edwards, S. (1989). The Macroeconomics of Populism in Latin America. Chicago: University of Chicago Press.
Espejo, P. O. (2012). Paradoxes of Popular Sovereignty: A View from Spanish America. The Journal of Politics, 74(4), 1053-1065.
Freeden, M. (2003). Ideology: A Very Short Introduction. Oxford: Oxford University Press.
Hawkins, K. A. (2010). Venezuela’s Chavismo and Populism in Comparative Perspective. New York: Cambridge University Press.
Held, D. (2006). Models of democracy. (3rd Edition). USA: Polity Press.
Hofstadter, R. (1955). The Age of Reform. New York: Alfred A. Knopf.
Iakhnis, E., Rathbun, B., Reifler, J., and Scotto, T. J. (2018). Populist Referendum: Was ‘Brexit’ an Expression of Nativist and Anti-elitist Sentiment?. Research & Politics, 5(2), 1-7.
Lee, F.E. (2024). Populism and the American Party System: Opportunities and Constraints. In Bernhard, M., Kreppel, A., & de la Torre, C. (Eds.), Still the Age of Populism?: Reexamining Theories and Concepts (pp. Chapter 13). Oxford: Routledge. doi: 10.4324/9781003453178.
Leali, Giorgio. (2024). French Far Tight Backpedals on Big-ticket Proposals as Markets Tumble. Retrieved from https://www.politico.eu/article/marine-le-pen-jordan-bardella-national-rally-french-far-right-postpone-costly-measures-markets-tumble/
Levitsky, S., and Loxton, J. (2013). Populism and Competitive Authoritarianism in The Andes. Democratization, 20(1),107-136.
Lijphart, A. (1999). Patterns of Democracy: Government Forms and Performance in Thirty-Six Countries. New Haven: Yale University Press.
Maya, M.L. (2024). Left-Wing Populist in Power: Venezuela’s Experience. In Bernhard, M., Kreppel, A., & de la Torre, C. (Eds.). Still the Age of Populism?: Re-examining Theories and Concepts (pp. Chapter 12). Oxford: Routledge. doi: 10.4324/9781003453178.
Mény, Y., and Surel, Y. (2002). The Constitutive Ambiguity of Populism. In Y. Mény; and Y. Surel (Eds.), Democracies and the Populist Challenge (pp. 1-21). New York: Palgrave.
Merkel, W. (2019). The New Wave of Populism Exposes the Fragile Nature of Democracy. DWIH Sal Paolo. Retrieved from https://www.dwih-saopaulo.org/en/topics/democracy-and-human-rights/the-new-wave-of-populism-exposes-the-fragile-nature-of-democracy/
Mudde, C. (2007). Populist Radical Right Parties in Europe. New York: Cambridge University Press.
Mudde, C., and Kaltwasser, C. R. (2013). Exclusionary vs. Inclusionary Populism: Comparing
Contemporary Europe and Latin America. Government and Opposition, 48(2), 147-174.
Mudde, C., and Kaltwasser, C. R. (2017). Populism: A Very Short Introduction. Oxford: Oxford University Press.
Munck, G. L. (2016). What is Democracy? A Reconceptualization of The Quality of Democracy. Democratization, 23(1), 1-26.
Neuner, F. G., and Wratil, C. (2022). The Populist Marketplace: Unpacking the Role of “Thin” and “Thick” Ideology. Political Behaviour, 44, 551-574.
Norris, P., and Inglehart, R. (2019). Cultural Backlash: Trump, Brexit, and Authoritarian Populism. Cambridge: Cambridge University Press.
Phongpaichit, P., and Baker, C. (2001). Thailand’s Thaksin: From Inside and Out. Bangkok: Chulalongkorn University.
Phongpaichit, P., and Baker, C. (2001). Thailand’s Thaksin: New Populism or Old Cronyism. Bangkok: Chulalongkorn University.
Plattner, M. F. (2010). Populism, Pluralism, and Liberal Democracy. Journal of Democracy, 21(1), 81-92.
Plattner, M. F. (2019). Illiberal Democracy and the Struggle on the Right. Journal of Democracy, 30(1), 5-19.
Roberts, M. K. (1995). Neoliberalism and the Transformation of Populism in Latin America: the Peruvian Case. World Politics 48(1), 82-116.
Ruth-Lovell, S. P., and Grahn, S. (2023). Threat or Corrective to Democracy? The Relationship Between Populism and Different Models of Democracy. European Journal of Political Research, 62, 677-698.
Schroeder, R. (2020). The Dangerous Myth of Populism as a Thin Ideology. Populism, 3(1), 13-28. Doi: 10.1163/25888072-02021042.
Schumpeter, J. A. (1950). Capitalism, Socialism, and Democracy. New York: Harper & Brothers.
Stanley, B. (2008). The Thin Ideology of Populism. Journal of Political Ideologies, 13(1), 95-110.
The Economist. (2024). Javier Milei has turned Argentina into a Liberal Laboratory. Retrieved from https://www.economist.com/the-americas/2024/06/20/javier-milei-has-turned-argentina-into-a-libertarian-laboratory
Vittori, D. (2021). Threat or Corrective? Assessing the Impact of Populist Parties in Government on the Qualities of Democracy: A 19-Country Comparison. Government and Opposition, 57(4), 589-609.
[1] อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย