ผลต่างระหว่างรุ่นของ "เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน)"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Trikao (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
Trikao (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัดที่ 2: บรรทัดที่ 2:
'''ผู้เรียบเรียง''' ''':''' ศิบดี นพประเสริฐ
'''ผู้เรียบเรียง''' ''':''' ศิบดี นพประเสริฐ


'''ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ''' ''':''' ดร.สติธร ธนานิธิโชติ
'''ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ''' ''':''' ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ


 
 

รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:36, 25 มกราคม 2566

ผู้เรียบเรียง : ศิบดี นพประเสริฐ

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ

 

เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน)

          พลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม พิชเยนทรโยธิน) นามเดิมว่า “อุ่ม” เกิดที่บ้านถนนพระสุเมรุ บางลำพูบน ในกำแพงพระนคร เป็นบุตรนายเสงี่ยม อินทรโยธิน มีตำแหน่งเป็นมหาดเล็กวิเศษอยู่เวรศักดิ์ และ คุณหญิงชม้าย อินทรโยธิน มีพี่น้องรวมท่านด้วยทั้งสิ้น 8 คน เป็นหญิงคนโต นอกนั้นเป็นชายทั้งหมด โดยนายอุ่มเป็นบุตรคนที่ 3

          สกุล “อินทรโยธิน” นี้ สืบเชื้อสายโดยตรงจาก สมเด็จพระมหาอุปราชเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี ประสูติแต่พระอัครมเหสีกรมหลวงบาทบริจา โดยสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์นี้ มีพระนามเดิมว่า “จุ้ย” สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการรบเช่นเดียวกับ สมเด็จพระบรมชนกนาถ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระมหาอุปราช และโปรดให้เสด็จไปตีเมืองกัมพูชาพร้อมกับสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก โดยมีพระราชดำริว่าเมื่อตีเขมรได้ก็ให้สมเด็จเจ้าพระยาฯ ทำพิธีสถาปนาสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ขึ้นเป็นเจ้าครองนครกัมพูชา ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน สืบสายเลือดความเป็นทหารมาจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และสมเด็จพระมหาอุปราช เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ นั่นเอง

          ในเบื้องต้น นายอุ่มได้รับการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนหลวงในพระบรมมหาราชวัง ในสำนักอำมาตย์ตรีพระยาอนุกูล (ชม) และได้เข้าศึกษาวิชาทหารในสำนัก พันเอก พระยาวิเศษสัจธาดา (อิ่ม ธรรมานนท์) แต่เมื่อยังเป็นจ่านายสิบขุนชาญสรกล และได้ศึกษาวิชาภาษาอังกฤษในสำนักครูลำดัสด้วย ต่อมาได้ถวายตัวเป็นทหารรักษาพระองค์ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารใน พ.ศ. 2427 ได้บวชเป็นสามเณรอยู่วัดรังสี ในสำนักท่านอาจารย์สี เมื่อสึกจากสามเณรแล้วได้ไปศึกษาวิชาภาษาอังกฤษในสำนักหมอแมกฟาร์แลนด์เป็นเวลา 3 ปี แล้วสมัครเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบก วังสราญรมย์เมื่อเรียนจบหลักสูตรแล้วก็เข้ารับราชการในกรมทหารราบที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2433 ได้ย้ายเข้าประจำกองโรงเรียนนายร้อยทหารบก ได้ไปในกองข้าหลวงใหญ่เพื่อปราบโจรผู้ร้ายหัวเมืองฝ่ายตะวันออก เมื่อครั้งที่ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ผู้บัญชาการทหารบก ได้รับโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เป็นข้าหลวงใหญ่ในการปราบปรามโจรผู้ร้าย

          ในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2437 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นร้อยเอกในกรมทหารบก มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสรสิทธยานุการ ต่อมาเมื่อ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จสวรรคต หลวงสรสิทธยานุการก็ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกไปรับราชการเป็นราชองครักษ์ประจำพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งกำลังทรงศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษ พร้อมกับ พลตรี พระยาเสมอใจราช ข้าหลวงผู้เชิญเครื่องราชอิสริยยศไปทูลเกล้าฯ ที่กรุงลอนดอน ในการสถาปนาพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร และระหว่างที่รับราชการประจำพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ หลวงสรสิทธยานุการก็ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินไปทุกหนทุกแห่งและได้ศึกษาวิชาทหารบางวิชา โดยเสด็จ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารด้วย

          เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงสำเร็จการศึกษาแล้ว ได้เสด็จประพาสไปเยี่ยมเยียนพระราชสำนักและเมืองต่าง ๆ ในยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น หลวงสรสิทธยานุการก็ได้ตามเสด็จฯ ไปด้วย ได้เสด็จฯ นิวัตกรุงเทพฯ ทางสหรัฐอเมริกา เสด็จฯ ถึงกรุงเทพฯ เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2445 นับได้ว่า หลวงสรสิทธยานุการ ได้ทำหน้าที่ราชองครักษ์ประจำพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธสยามมกุฎราชกุมาร ตั้งแต่ไปและกลับเป็นระยะเวลานานถึง 8 ปี และเมื่อกลับมาแล้วก็ยังคงรับราชการเป็นราชองครักษ์อยู่ต่อไปจนถึงวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2445 จึงได้พ้นจากตำแหน่งราชองครักษ์ประจำการ

          ต่อมา หลวงสรสิทธยานุการ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระสุรเดชรณชิต" เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 และนับจากนั้นเป็นต้นมา ท่านได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้บังคับการกองโรงเรียนทหารบก ผู้บัญชาการทหารบกมณฑลพายัพ จากนั้นจึงได้เป็น พระยาศักดาภิเดชวรฤทธิ์ ตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ 8 มณฑลพายัพ ต่อมาจึงได้รับพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมาดำรงตำแหน่งจเรทหารราบและจเรทหารม้า

          ใน พ.ศ. 2454 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาศักดาภิเดชวรฤทธิ์ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกองข้าหลวงปักปันเขตแดน มณฑลปัตตานี และนครศรีธรรมราช ต่อกับเขตเมืองไทรบุรีและกลันตัน ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2456 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็น พระยาเทพอรชุน และดำรงตำแหน่งสมุหราชองครักษ์ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าเป็นนายทหารพิเศษ ในกรมทหารรักษาวัง ว.ป.ร. ตำแหน่งจเรทหารรักษาวัง ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยได้รับพระราชทานยศ พลโท เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2457 ต่อมาในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2463 ได้รับคำสั่งให้เป็นผู้แทนกระทรวงกลาโหมไปในการรับพระศพ สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ณ ประเทศสิงคโปร์ พร้อมด้วยเสนาบดีกระทรวงวัง ต่อมารับพระราชทานสัญญาบัตรยศเป็น พลเอก เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2467

          ในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นองคมนตรีตามพระราชบัญญัติองคมนตรี พ.ศ. 2470 โดยเป็นสมาชิกสภากรรมการองคมนตรี ชุดที่ 1 (พ.ศ. 2470-2474) ระหว่างวันที่ 2 กันยายน 2470 - 31 มีนาคม 2474 ทั้งนี้ สภากรรมการองคมนตรี เป็นคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาขึ้นสามคณะ ประกอบด้วย อภิรัฐมนตรีสภา เสนาบดีสภา และสภากรรมการองคมนตรี โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติองคมนตรี พุทธศักราช 2470 ซึ่งทรงตราขึ้นมาใช้บังคับแทน พระราชบัญญัติปรีวีเคาน์ซิล พุทธศักราช 2417 ประกอบด้วยกรรมการองคมนตรี จำนวน 40 คน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสภากรรมการองคมนตรี 40 คน จากจำนวนองคมนตรีซึ่ง ซึ่งมีจำนวน 200 กว่าคน และมีอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และให้กรรมการองคมนตรี 40 คนนี้ประชุมกันเป็นประจำในลักษณะสภา คือ มีสภานายกและอุปนายก อย่างละ 1 ตำแหน่ง ทำหน้าที่พิจารณากฎหมายและเรื่องต่าง ๆ ที่จะพระราชทานลงมาให้ปรึกษา และถึงแม้ว่าเรื่องนั้น ๆ จะไม่ได้พระราชทานลงมา แต่กรรมการองคมนตรีสภา 5 คน หากพร้อมใจกันลงชื่อ ก็สามารถขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตประชุมในเรื่องเกี่ยวกับสวัสดิภาพของบ้านเมืองได้ (มาตรา 13) และมีอำนาจเชิญเจ้ากระทรวงทบวงกรมทั้งหลายมาชี้แจงข้อความอันเป็นประโยชน์แก่การประชุมได้ คณะกรรมการองคมนตรีสภาชุดแรกมีพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงดำรงตำแหน่งสภานายก พระยาจินดาภิรมย์ราชสภาบดี (จิตร ณ สงขลา)[1] เป็นอุปนายก[2]

          นอกจากนี้ พระยาเทพอรชุน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้กลับเข้ามารับราชการในตำแหน่งสมุหราชองครักษ์ และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้นสูงสุดเป็น "เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน หรินทรราชองครักษ์ มหาสวามิภักดิ์มูลิกากร อภิสรอนีกวนุส ยุทธสมัยสมันตวิทูร นเรนสูรศักตเสนานี มนัสวีเมตตาชวาศรัย อภัยพิริยบรากรมพาหุ มุสิกนาม"

          เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ตามเสด็จประพาสสิงคโปร์ ชวา และบาหลี ใน พ.ศ. 2472 และยังได้ตามเสด็จประพาสต่างประเทศอีกหลายครั้ง อาทิ การเสด็จประพาสอินโดจีนฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2473 การเสด็จประพาสญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และแคนาดา พ.ศ. 2473-2474 และเกษียณราชการใน พ.ศ. 2475

          ในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มาจนถึง พ.ศ. 2485 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ยังไม่สิ้นสุด ก็เริ่มมีอาการป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง จนถึงวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2485 พลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน ได้ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจ

 

          ทั้งนี้ พลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน ยังเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีชาติกำเนิดเดิมเป็นสามัญชนเพียงไม่กี่ท่านในสมัยรัตนโกสินทร์ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด อาทิ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (น.ร.) (ฝ่ายหน้า)[3] เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) (ฝ่ายหน้า) [4]

 

บรรณานุกรม

“แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58 ตอนที่ 0 ง, (18 กันยายน 2484) : 2942.

“แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 55 ตอนที่ 0 ง, (18 พฤศจิกายน 2481) : 2802.

ที่ระลึกไนการพระราชทานเพลิงสพ พนะท่าน นายพลเอก อุ่ม พิชเยนทรโยธิน ผู้สำเหร็ดราชการแทนพระองค์ นะสุสานหลวงวัดเทพสิรินทราวาส 16 ธันวาคม 2485. พระนคร: กรมราชองครักส์. 2485.

ธิกานต์ ศรีนารา, “องคมนตรีสภา,” ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า [ออนไลน์] แหล่งที่มา :  http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title =องคมนตรีสภา [เข้าถึงเมื่อ 8 ธันวาคม 2565]

 

อ้างอิง

[1] ต่อมาคือเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา)

[2] ธิกานต์ ศรีนารา, “องคมนตรีสภา,” ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า [ออนไลน์] แหล่งที่มา :  http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title =องคมนตรีสภา [เข้าถึงเมื่อ 8 ธันวาคม 2565]

[3] “แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58 ตอนที่ 0 ง,
(18 กันยายน 2484) : 2942.

[4] “แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 55 ตอนที่ 0 ง,
(18 พฤศจิกายน 2481) : 2802.