ผลต่างระหว่างรุ่นของ "สงครามเทคโนโลยี"
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
||
บรรทัดที่ 2: | บรรทัดที่ 2: | ||
'''ผู้เรียบเรียง :''' รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต | '''ผู้เรียบเรียง :''' รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต | ||
'''ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ''' : | '''ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ''' ''':''' ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู | ||
| |
รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:06, 10 สิงหาคม 2565
ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู
สงครามเทคโนโลยี
นักวิชาการด้านเศรษฐกิจจีน จินเคออวี่ (金刻羽) มองสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนว่าสงครามการค้าเป็นเพียงอาการ สาเหตุที่อยู่เบื้องหลังของความขัดแย้งที่แท้จริง คือ เรื่องเทคโนโลยี[1] เนื่องจากจีนมีการพัฒนาในด้านนี้เร็วมาก และอยู่ในสถานะที่จะท้าทายความเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกอื่น
ความสำเร็จในการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างมากของจีนและต่อเนื่องที่เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัย เติ้งเสี่ยวผิง ปฏิรูปและเปิดประเทศในปลาย ปี 1978 เป็นต้นมา ทำให้สหรัฐอเมริกามหาอำนาจหมายเลข 1 ของโลกอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ในสมัยรัฐบาลโอบามา ปี 2012 ต้องประกาศนโยบายปักหมุดเอเชีย (Pivot to Asia) เพื่อสกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจและปิดล้อมด้านการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชีย [2]
ฝ่ายจีนนั้นจำเป็นต้องดิ้นรนหาทางออกให้การพัฒนาประเทศและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนใน ปี 2013 ผู้นำใหม่ของจีน สีจิ้นผิง ได้นำเสนอนโยบาย “แถบและเส้นทาง” (一带一路) เพื่อเป็นแผนพัฒนาด้านสิ่งสาธารณูปโภค การคมนาคม และระบบสื่อสารกับประเทศในเอเชีย ยุโรป และอัฟริกา กว่า 60 ประเทศ ทั้งทางบก ทางทะเล ทางอากาศ และทางระบบเครือข่ายโทรคมนาคม[3]
ตามมาด้วยใน ปี 2015 รัฐบาลจีนประกาศแผน 10 ปี “ผลิตในจีน 2025” (Made in China 2025) มีเป้าหมายที่จะยกระดับการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมของจีนให้สินค้าจีนมีส่วนประกอบหลักที่เป็นวัสดุของในประเทศเพิ่มมากขึ้นเป็น 40-70 เปอร์เซ็นต์ แทนการรับจ้างการผลิตอย่างอดีตและมีเป้าหมายปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าราคาถูกที่ใช้แรงงานเข้มข้นเป็นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงใช้เทคโนโลยีเข้มข้น คือ การก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ประกอบด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีมากกว่า 10 สาขา ได้แก่
1. การบินอวกาศ (aerospace)
2. เทคโนโลยีชีวภาพ (biotech)
3. เทคโนโลยีสารสนเทศ (information technology)
4. การผลิตอัจฉริยะ (smart manufacturing)
5. วิศวกรรมสมุทรศาสตร์ (maritime engineering)
6. ระบบรางก้าวหน้า (advanced rail)
7. รถไฟฟ้า (electric vehicles)
8. อุปกรณ์หรือเครื่องมือไฟฟ้า (electrical equipment)
9. วัสดุใหม่ (new materials)
10. การแพทย์ชีวภาพ (biomedicine)
11. เครื่องยนต์และอุปกรณ์การเกษตร (agricultural machinery and equipment)
12. เภสัชกรรม (pharmaceuticals) และ
13. การผลิตหุ่นยนต์ (robotics manufacturing) [4]
นโยบาย “แถบและเส้นทาง” และนโยบาย “ผลิตในประเทศจีน” ทำให้ชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่เป็นมหาอำนาจหมายเลข 1 ของโลก ถือว่าเป็นการท้าทายสถานภาพของตน และมีความเชื่อว่ารัฐบาลจีนทำผิดกติกาของโลกทุนนิยมและระบบเสรีนิยม ที่ห้ามรัฐเข้ามาประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจและให้การอุดหนุนธุรกิจส่งออก[5] สหรัฐฯจึงดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อขัดขวางการพัฒนาของจีน เริ่มตั้งแต่สมัย บารัค โอบามา (Barack Obama) เป็นต้นมาสหรัฐฯพยายามโน้มน้าวประเทศพันธมิตรต่าง ๆ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย ให้ปิดล้อมการขยายอำนาจของจีน และโจมตีจีนว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายพื้นที่ของประเทศจีน เช่น ธิเบต ซินเจียง
ในสมัย โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) (มกราคม ค.ศ. 2017 - มกราคม ค.ศ. 2021) การต่อต้านจีนยิ่งชัดเจนและเข้มข้นมากขึ้น ด้วยการก่อสงครามการค้า สงครามด้านเทคโนโลยี กล่าวหาว่าจีนขโมยเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา บังคับให้บริษัทสหรัฐที่ค้าขายกับจีนต้องถ่ายทอดเทคโนโลยี ฯลฯ รวมทั้งกล่าวหาว่าเทคโนโลยี 5G ของ บริษัท หัวเหวย เป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ และพยายามชักชวนให้ประเทศพันธมิตรทั้งหลาย เช่น แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย อย่าได้ทำธุรกรรมกับบริษัทหัวเหวยของจีน รัฐบาลทรัมพ์ยังใช้มาตรการห้ามบริษัทสหรัฐฯขายชิ้นส่วนอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะ “ชิพ” ให้ บริษัท หัวเหวย[6] ห้ามบริษัทจีนด้านเทคโนโลยีระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กของสหรัฐฯ[7] จับบุคคลเป็นตัวประกัน โดยรัฐบาลสหรัฐได้ขอให้รัฐบาลแคนาดาจับตัวนางเมิงหว่านโจว (孟晚舟) ลูกสาวเจ้าของบริษัทและผู้บริหาร บริษัท หัวเหวย ด้านการเงินเป็นตัวประกันในระหว่างเปลี่ยนเครื่องบินที่ เมืองแวนคูเวอร์ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2018 เพื่อใช้เป็นข้อต่อรองกับฝ่ายจีน[8]
ล่วงมาถึงสมัย โจ ไบเดน (Joe Biden) (เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี 20 มกราคม 2021) การประชุมผู้นำ G7 (G7 Summit) ครั้งที่ 47 ที่คอร์นวอลล์ (Cornwall) ประเทศอังกฤษ ระหว่างวันที่ 11-13 มิถุนายน 2564 ที่ประชุมได้หารือในเรื่องจีนเป็นหัวข้อสำคัญ และในที่ประชุมสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำของกลุ่ม G7 ได้นำเสนอโครงการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภค “Building Back Better” เพื่อแข่งกับประเทศจีนที่นำเสนอโครงการแถบและเส้นทาง (一带一路) นักข่าวไทยตั้งข้อสังเกตว่า การแสดงออกของชาติตะวันตกเช่นนี้ แสดงถึง “ความตื่นตระหนกต่อชาติตะวันออกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”[9]
ในส่วนของสหรัฐเอง วุฒิสภาได้มีการผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยนวัตกรรมและการแข่งขัน ค.ศ. 2021 (the US Innovation and Competition Act 2021) วงเงิน 2.5 แสนล้านดอลลาร์ โดยแยกเป็น 1.9 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อการพัฒนาด้านเทคโนโลยีด้านชีวภาพ (biotechnology) ชีววิทยาสังเคราะห์ (synthetic biology) จีโนมิกส์ (genomics)[10] การระบุตัวตน (biometrics) และ วงเงิน 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ และอุปกรณ์ด้านคมนาคม ในเอกสารของการอภิปรายเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว จำนวนกว่า 2,000 หน้า มีการกล่าวถึงจีน 600 กว่าครั้ง เซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐที่ผลิตออกมาสู่ตลาด จีนเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ใน ปี 1990 ผลิตในสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 37 เมื่อมีการร่วมมือกับจีนในด้านการผลิตและการตลาด โรงงานในสหรัฐย้ายฐานไปจีนจำนวนมาก เนื่องจากค่าแรงถูก ศักยภาพในการผลิตสูง การผลิตในสหรัฐอเมริกาจึงลดน้อยลง ปัจจุบันเหลือเพียง ร้อยะล 12 สหรัฐประกาศว่าจะทวงคืนความยิ่งใหญ่ด้านเซมิคอนดักเตอร์อีกครั้งหนึ่งโดย โจ ไบเดน ได้เดินสายเชิญชวนบริษัทต่างชาติให้ไปลงทุนในสหรัฐ[11]
หน่วยงานของสหรัฐที่จะได้รับการจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) มากสุด ได้แก่ กองทุนวิทยาศาสตร์แห่งชาติ จะได้รับการจัดสรรงบประมาณมากสุด 8.1 หมื่นล้านดอลลาร์ โครงการทุนการศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่รัฐให้ความสำคัญ 5.2 พันล้านดอลลาร์ ส่งเสริมให้สถาบันวิชาการพัฒนาเทคโนโลยีในเชิงพาณิชย์กว่า 4 พันล้านดอลลาร์
ตาราง : แสดงวงเงินใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ของสหรัฐเทียบกับจีน
สหรัฐอเมริกา | จีน |
- ใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) มีสัดส่วนไม่ถึง ร้อยละ 1 ของ GDP หรือไม่ถึง ร้อยละ 3 ของการใช้จ่ายภาครัฐทั้งหมดและต่ำสุดตั้งแต่ช่วงก่อนทศวรรษ 1960 |
- ใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) คิดเป็น ร้อยละ 2.4 ของ GDP ในปี 2563 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.3 เท่ากับ 2.44 ล้านล้านหยวน - แผน 5 ปี (2564-2568) ตั้งเป้าเพิ่มการใช้จ่ายการวิจัยและพัฒนา (R&D) ร้อยละ 7 ต่อปี |
ที่มา..สมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (เศรษฐกิจ Insight)
ในด้านการขัดขวางการเติบโตของบริษัทด้านการป้องกันและเทคโนโลยีของจีน เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2021 โจ ไบเดน ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารห้ามธุรกิจจีน จำนวน 59 บริษัท ดำเนินการระดมเงินทุนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ เนื่องจากสงสัยว่ามีความเกี่ยวพันกับกิจการทหารและการสอดแนม บริษัทจีนที่ถูกสั่งห้ามประกอบการในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯเป็นบริษัทด้านต่อเรือ สร้างเครื่องบิน กิจการอวกาศ พลังงานนิวเคลียร์ เครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคม[12] ได้แก่ Aero Engine Corporation of China, Aerospace CH UAV Co. Ltd, Aerospace Communications Holdings group Co. Ltd, Aerosun Corporation, Anhui Greatwall Military Industry Co. Ltd, Aviation Industry Corporation of China, China Aerospace Science and Industry Corporation Ltd, China Aerospace Times Electronics Co.Ltd, China Electronics Technology Group Corporation, China General Nuclear Power Corporation, China Mobile Communications Group Co.Ltd, China Railway Construction Corporation Ltd, China Satellite Communications Co.Ltd, China Shipbuilding Industry Co.Ltd, etc.[13]
ฝ่ายรัฐสภาจีน เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2021 ได้ผ่านกฎหมายฉบับใหม่ต่อต้านการคว่ำบาตรของต่างชาติ โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวให้อำนาจรัฐบาลจีนสามารถปฏิเสธการออกวีซ่า ปฏิเสธการเข้าประเทศ การเนรเทศ การสั่งปิด ยึดและอายัดทรัพย์สินของบุคคล หรือธุรกิจที่ปฏิบัติตามมาตรการคว่ำบาตรของต่างชาติต่อธุรกิจหรือเจ้าหน้าที่จีน มาตรการนี้จะใช้ต่อเมื่อมีการคว่ำบาตรจากต่างประเทศอย่างผิดกฎหมายก่อน[14]
สงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐกับจีน แข่งกัน 3 ด้านหลัก ได้แก่ เทคโนโลยี 5G ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ เซมิคอนดักเตอร์ ในระยะยาวโลกจะมีทิศทางการพัฒนาไปทางไหนขึ้นกับเงื่อนไข 3 ข้อ
1. ใครจะชนะ ขึ้นกับใครปฏิวัติเทคโนโลยีใหม่สำเร็จก่อน
2. การพัฒนาเทคโนโลยีต้องคิดสร้างซัพพลายเชนส์ของตัวเองด้วย
3. การต่อสู้เป็นเรื่องยาวใช้เวลานาน[15]
อ้างอิง
[1] Jin Keyu (金刻羽), “Techno-nationalism and Technology Competition” (John CH Wong Distinguished Public Lecture via Zoom, East Asian Institute—NUS, 26 March 2021)
[2] “East Asian foreign policy of the Barack Obama administration” en.m.wikipedia.org (13/07/2564)
[3] 彭春红《一带一路:知识手册》(The Belt and Road Initiative Handbook)(深圳:深圳报业集团出版社,2017)第8-15页.
[4] “Made in China 2025” en/m/Wikipedia.org (13/07/2564)
[5] เพิ่งอ้าง
[6] “Exclusive: Trump admin slams China’s Huawei, halting shipments from Intel, others-sources” reuters.com (13/07/2564)
[7] “3 Chinese telecom companies to be delisted by NYSE” (China Mobile, China Unicom, and China Telecom unsuccessful in appeal.) asia.nikkei.com )13/07/2564)
[8] “孟晚舟事件”zh.m.wikipedia.org (13/07/2564)
[9] “สงครามเทคโนโลยี สหรัฐ-จีน..เดิมพันที่แพ้ไม่ได้” Youtube TNN online (12/07/2564)
[10]จีโนมิกส์ ศึกษาเกี่ยวกับพันธุกรรมของเซลล์สิ่งมีชีวิต การเรียงตัวของดีเอนเอ เป็นต้น
[11] ข้อมูล สมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ .
[12] “US releases list of 59 banned Chinese defense and tech…” asia.nikkei.com (13/07/2564)
[13] “US-China Tensions: US releases list of 59 banned Chinese defense and tech companies” Nikkei Asia, June 4, 2021 (12/07/2564)
[14] Shannon Tiezzi “China Passes New Law on ‘Countering Foreign Sanctions’” June 11, 2021, thediplomat.com (13/07/2564)
[15] หนุ่ยTalk แบไต๋“ยุทธศาสตร์อินทรีล้อมมังกรของไบเดน” d.facebook.com (13/07/2564)