ผลต่างระหว่างรุ่นของ "สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ"
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
||
บรรทัดที่ 34: | บรรทัดที่ 34: | ||
พระกรณียกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งใน '''สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ''' คือการพัฒนากองทัพอากาศไทย เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ทรงมีดำริที่จะจัดตั้งกิจการการบินขึ้นเป็นแผนกหนึ่งของกองทัพบก ทว่าในเวลานั้น สยามยังขาดผู้มีความรู้ความสามารถในกิจการการบิน ด้วยเหตุนี้ใน พ.ศ. 2455 จึงมีการคัดเลือกนายทหารไปศึกษาวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศส จำนวน 3 นาย ประกอบด้วย | พระกรณียกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งใน '''สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ''' คือการพัฒนากองทัพอากาศไทย เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ทรงมีดำริที่จะจัดตั้งกิจการการบินขึ้นเป็นแผนกหนึ่งของกองทัพบก ทว่าในเวลานั้น สยามยังขาดผู้มีความรู้ความสามารถในกิจการการบิน ด้วยเหตุนี้ใน พ.ศ. 2455 จึงมีการคัดเลือกนายทหารไปศึกษาวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศส จำนวน 3 นาย ประกอบด้วย | ||
''1) นายพันตรี หลวงศักด์ศัลยาวุธ (สุณี สุวรรณประทีป) ''ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์สูงสุดที่ | ''1) นายพันตรี หลวงศักด์ศัลยาวุธ (สุณี สุวรรณประทีป) ''ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์สูงสุดที่ พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ | ||
'' 2) นายร้อยเอก หลวงอาวุธวิขิกร (หลง สิน-สุข) ''ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์สูงสุดที่ นาวาเอก พระยาเวหาสยามศิลปสิทธิ์ และ | '' 2) นายร้อยเอก หลวงอาวุธวิขิกร (หลง สิน-สุข) ''ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์สูงสุดที่ นาวาเอก พระยาเวหาสยามศิลปสิทธิ์ และ | ||
'' 3) นายร้อยโททิพย์ เกตุทัต ''ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์สูงสุดที่ | '' 3) นายร้อยโททิพย์ เกตุทัต ''ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์สูงสุดที่ พระยาทยาพิฆาฏ | ||
เมื่อนายทหารทั้งสามนายสำเร็จการศึกษาแล้ว กระทรวงกลาโหมได้จัดตั้งแผนกการบินใน พ.ศ. 2456 ต่อมาหน่วยงานดังกล่าวได้ขยายตัวขึ้นและต้องการใช้สถานที่ใหม่ที่กว้างขวาง '''สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ''' พร้อมด้วย '''พระยาเฉลิมอากาศ''' ได้เลือกตำบลดอนเมืองเป็นสถานที่ที่ใช้ทำการบินจนก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2457 มีการยกระดับแผนกการบินทหารบกขึ้นเป็นกองบินทหารบกโดยมี พันโทพระยาเฉลิมอากาศ เป็นผู้บังคับการ[[#_ftn8|[8]]] เมื่อสยามเข้าร่วมสงครามโลก กองบินทหารบกนี้ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการสงครามดังกล่าวอีกด้วย การวางรากฐานด้านกิจการการบินของพระองค์ในประเทศถือเป็นคุณูปการอย่างยิ่ง พระเกียรติคุณดังกล่าวได้รับการยกย่องในเวลาต่อมาด้วยการถวายพระสมัญญานามว่า '''“พระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย”''' | เมื่อนายทหารทั้งสามนายสำเร็จการศึกษาแล้ว กระทรวงกลาโหมได้จัดตั้งแผนกการบินใน พ.ศ. 2456 ต่อมาหน่วยงานดังกล่าวได้ขยายตัวขึ้นและต้องการใช้สถานที่ใหม่ที่กว้างขวาง '''สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ''' พร้อมด้วย '''พระยาเฉลิมอากาศ''' ได้เลือกตำบลดอนเมืองเป็นสถานที่ที่ใช้ทำการบินจนก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2457 มีการยกระดับแผนกการบินทหารบกขึ้นเป็นกองบินทหารบกโดยมี พันโทพระยาเฉลิมอากาศ เป็นผู้บังคับการ[[#_ftn8|[8]]] เมื่อสยามเข้าร่วมสงครามโลก กองบินทหารบกนี้ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการสงครามดังกล่าวอีกด้วย การวางรากฐานด้านกิจการการบินของพระองค์ในประเทศถือเป็นคุณูปการอย่างยิ่ง พระเกียรติคุณดังกล่าวได้รับการยกย่องในเวลาต่อมาด้วยการถวายพระสมัญญานามว่า '''“พระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย”''' |
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:26, 25 พฤษภาคม 2565
ผู้เรียบเรียง : ศิวพล ชมภูพันธุ์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ
พระประวัติ
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เป็นพระราชโอรสใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง มีประสูติกาล เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2426 พระองค์ทรงเป็นพระอนุชาธิราชใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงเป็นพระเชษฐาธิราชใน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงเป็นเจ้านายที่มีบทบาททางการเมืองและการทหารอย่างสูงยิ่ง โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 6 ต่อมาเสด็จทิวงคต เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2463 ณ ประเทศสิงคโปร์ สิริพระชนมายุ 37 พรรษา สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงเป็นต้นราชสกุล “จักรพงษ์”
ในส่วนพระประวัติเกี่ยวกับการศึกษานั้น ในเบื้องต้น เมื่อยังทรงพระเยาว์ทรงได้รับการศึกษาภาษาไทยและภาษาอังกฤษในพระบรมมหาราชวัง โดยมีพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) และ ขุนบำนาญวรวัฒน์ (สิงโต) เป็นพระอาจารย์ถวายการสอนหนังสือไทย ส่วนวิชาภาษาอังกฤษมี นายวุสสเลย์ ลูวีส และ นายเยคอล พิลด์เยมส์ เป็นพระอาจารย์ เมื่อพระชนมายุ 14 พรรษา ได้เสด็จไปทรงศึกษาในประเทศอังกฤษเป็นระยะเวลาหนึ่ง ต่อมาในคราวที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2440 และเสด็จพระราชดำเนินเยือนราชสำนักรัสเซีย สมเด็จพระจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย ได้ทรงชักชวนให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวส่งพระราชโอรสมาศึกษาในประเทศรัสเซีย ในการนี้ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ (พระยศในขณะนั้น) ให้ทรงย้ายจากอังกฤษมาประทับและศึกษาในรัสเซีย ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 พร้อมด้วยสามัญชนชาวไทยอีก 1 คน คือ นายพุ่ม สาคร นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงจากโรงเรียนเทพศิรินทร์[1] สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ทรงเข้ารับการศึกษาวิชาทหาร ณ โรงเรียนนายร้อยมหาดเล็กในราชสำนักรัสเซีย เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาทรงได้รับการบรรจุเข้าเป็นนายทหารประจำการทหารม้าฮุลซาร์ของ สมเด็จพระจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2445 พระองค์ทรงเจริญก้าวหน้าในราชการของรัสเซียตามลำดับและสร้างความพอพระราชหฤทัยให้แก่ พระจักรพรรดิแห่งรัสเซียอย่างยิ่ง จนทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็น นายพันเอกพิเศษในกองทัพบกรัสเซีย และเป็นนายทหารพิเศษในกรมทหารม้าฮุสซาร์ของสมเด็จพระจักรพรรดิ ในการนี้ทรงได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เซนต์อันเดรย์ ชั้นสายสะพายและตราเซนต์วลาดิเมียร์[2]
บทบาททางการเมืองและการทหารในสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ
เมื่อเสด็จนิวัติสยาม พ.ศ. 2449 สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ทรงเป็นหนึ่งในเจ้านายที่สำคัญในการวางรากฐานการทหารสมัยใหม่ของไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการซึ่ง กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ทรงเป็นผู้บัญชาการ แต่ทรงดำรงตำแหน่งดังกล่าวเพียง 5 เดือน ต่อมาทรงย้ายไปเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบกซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทั้งทางการปกครองและการศึกษา ภารกิจในช่วงนี้ถือเป็นช่วงเวลาของการจัดการการศึกษาวิชาทหารของสยามให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น เช่น มีการตั้งกรมบัญชาการโรงเรียนทหารบก รวมถึงการแบ่งส่วนราชการกองโรงเรียนทหารบกออกเป็นโรงเรียนนายร้อยชั้นประถมและชั้นมัธยม เป็นต้น
ต่อมาใน พ.ศ. 2452 สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก และทรงรั้งตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศึกษาควบคู่กันไป ด้วยความสนพระทัยในกิจการทหารและการจัดการการศึกษาวิชาทหาร จะเห็นได้จากพระกรณียกิจที่สำคัญได้แก่ การขยายชั้นเรียนและการปรับปรุงหลักสูตรของโรงเรียนนายร้อย การขยายการรับสามัญชนเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยได้ พระนิพนธ์ตำราเกี่ยวกับการทหาร การริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนเสนาธิการเมื่อ พ.ศ. 2452 เพื่อเป็นสถานศึกษาวิชาการทหารชั้นสูง เป็นต้น[3]
ในสมัยรัชกาลที่ 6 สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ทรงมีบทบาททั้งในทางการเมืองและการทหารอย่างสูงยิ่ง เมื่อ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ. 2453 สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ทรงดำรงตำแหน่งรัชทายาทชั่วคราวโดยอนุโลมเนื่องด้วยในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมิได้ทรงมีพระราชโอรส[4] นอกจากนั้นยังทรงดำรงตำแหน่งที่สำคัญได้แก่ เสนาธิการทหารบก ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ รวมทั้งองคมนตรี อีกทั้งยังทรงมีส่วนร่วมในการเสนอพระทัศนะและการร่วมตัดสินใจต่อกิจการของประเทศที่สำคัญในเวลานั้น อาทิ การวางโครงการร่างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การร่างพระราชกำหนดลักษณะปกครองข้าราชการหัวเมืองฝ่ายธุรการ การพิจารณาพระราชบัญญัติว่าด้วยโรงเรียนเชลยศักดิ์ รวมถึงการตัดสินใจของสยามในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2460[5]
ในตอนต้นปี พ.ศ. 2454 ได้เกิดเหตุการณ์สร้างแรงกระเทือนต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นอย่างยิ่ง คือการเคลื่อนไหวของกลุ่มนายทหารหนุ่มที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองแต่ไม่ประสบความสำเร็จซึ่งรู้จักกันในเวลาต่อมาคือ “คณะ ร.ศ. 130” ซึ่งวางแผนการไว้ว่าหากก่อการสำเร็จจะยกเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งขึ้นเป็นกษัตริย์แทน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในหนึ่งในรายชื่อของผู้ก่อการคือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ ซึ่งทรงเป็นที่เคารพนับถือในหมู่นายทหาร การพาดพิงพระองค์ก่อให้เกิดความหวาดระแวงพระองค์จากฝ่ายราชสำนัก แต่กระนั้นพระองค์ก็พิสูจน์พระองค์ด้วยบทบาทการจับกุมผู้ก่อการอย่างแข็งขัน ด้วยการรับหน้าที่เป็นประธานอำนวยการพิจารณาโทษ คณะ ร.ศ. 130 และแสดงพระองค์ว่ามิได้มีส่วนเกี่ยวข้องพร้อมกับการแสดงความรับผิดชอบด้วยการขอลาออกแต่ก็ถูกระงับไว้
ผลจากเหตุการณ์ ร.ศ. 130 ทำให้เกิดความหวั่นเกรงภัยความมั่นคงของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่นับวันยิ่งปรากฏชัดยิ่งขึ้น สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ เองก็ทรงเห็นถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปภายหน้า จึงทรงพยายามกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงตระหนักถึงปัญหาตลอดจนการเสนอทางแก้ไขท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองในเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็น กระแสความคิดเกี่ยวกับการเมืองการปกครองแบบตะวันตก สภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย กระแสต่อต้านข้าราชการที่ประพฤติมิชอบ รวมทั้งความไม่พอใจกองเสือป่าที่ถูกมองว่าตั้งขึ้นมาซ้ำซ้อนกับกิจการทหาร เป็นต้น แต่ความพยายามของพระองค์ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
ในอีกด้านหนึ่ง แม้สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ จะมิได้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีของกระทรวงใดก็ตาม แต่ก็ทรงมีบทบาททางการเมืองอย่างสูงเด่น เนื่องด้วยยังทรงตำแหน่งรัชทายาท เมื่อมีการประชุมเสนาบดีสภาพระองค์จะทรงเข้าร่วมการประชุมตามกระแสพระบรมราชโองการ ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงมีส่วนในการตัดสินใจและการกำหนดนโยบายของรัฐอยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่องการทหารและความมั่นคง อย่างไรก็ตาม การประชุมของเสนาบดีสภาก็มิได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนักเนื่องด้วย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้ประทับในพระนครเป็นเวลานาน ด้วยเหตุนี้จะมีการโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมแทนพระองค์ โดยสลับหมุนเวียนกันไปตามพระราชกระแสรับสั่ง ซึ่งรวมถึงสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถด้วย กระนั้นก็ตาม การที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่โปรดให้มีการประชุมเสนาบดีบ่อยครั้ง หรือโปรดการบริหารราชการแผ่นดินผ่านการออกพระบรมราชโองการและให้เสนาบดีเข้าเฝ้าเป็นรายบุคคลนั้นได้ส่งผลให้เกิดปัญหาการประสานงานระหว่างเสนาบดี สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ จึงทรงเสนอให้มีการตั้ง “Institute” หรือสถาบันทางการเมืองอันเป็นที่พบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างเสนาบดี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอันเนื่องด้วยความขัดแย้งระหว่างพระมหากษัตริย์กับเสนาบดีด้านหนึ่ง และความขัดแย้งระหว่างเสนาบดีด้วยกันเองอีกด้านหนึ่ง[6]
เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอุบัติขึ้นในทวีปยุโรปช่วงกลางปี พ.ศ. 2457 สยามได้ประกาศความเป็นกลางในสงครามดังกล่าว เนื่องด้วยมิได้มีข้อขัดแย้งใดใดและยังมีสัมพันธไมตรีกับคู่สงครามทั้งสองฝ่าย การดำเนินความเป็นกลางของสยามดำเนินอย่างต่อเนื่อง 3 ปี จนกระทั่ง พ.ศ. 2460 การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างประเทศและสถานการณ์สงครามที่เริ่มเปลี่ยนไป ได้ส่งผลให้รัฐบาลสยามเริ่มตัดสินใจที่จะนำประเทศเข้าสู่สงคราม แต่กระนั้นก็ยังมิได้มีเหตุจำเป็นหรือได้รับผลกระทบโดยตรงจากคู่สงครามฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ในอีกด้านหนึ่ง เกิดความเคลื่อนไหวทางการทูตจากฝ่ายรัสเซียที่ต้องการชักชวนให้สยามเข้าร่วมกับสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร นายลอริส เมลิกอฟ อัครราชทูตรัสเซียประจำสยาม ได้ติดต่อสมเด็จฯ เพื่อกราบทูลโน้มน้าวให้พระองค์เห็นประโยชน์ของการเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งพระองค์เองก็ทรงเห็นพ้องกับเมลิกอฟแต่กระนั้น ก็ยังไม่มีเหตุที่จะตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับฝ่ายมหาอำนาจหรือมีเหตุอันใดที่จะเข้าร่วมสงคราม อย่างไรก็ตามรัฐบาลสยามก็เริ่มมีท่าทีในการเปลี่ยนแปลงนโยบายการต่างประเทศเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ดังจะเห็นได้จากการประชุมเสนาบดีตลอดเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ซึ่งมี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับเป็นองค์ประธานในที่ประชุมจนได้ข้อสรุปในเวลาต่อมาว่า สยามจะเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างเป็นเกียรติยศโดยใช้เหตุเรื่อง เยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี มิได้ประพฤติตนตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและหลักศีลธรรมจรรยาระหว่างประเทศ
สมเด็จฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงมีส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายการเข้าสงครามโลกครั้งที่หนึ่งของสยาม แม้ในบางคราว พระองค์จะมิได้ทรงเข้าร่วมการประชุมเนื่องด้วยทรงติดภารกิจอื่น แต่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จะมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานไปยังพระอนุชาธิราช เพื่อทรงสอบถามความคิดเห็นอยู่เสมอซึ่งข้อคิดเห็นเหล่านั้นได้เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดท่าทีของสยาม และแนวทางการเข้าสู่สงครามของสยามเป็นอย่างยิ่งจนกล่าวได้ว่า พระองค์ทรงสนับสนุนให้สยามเข้าร่วมสงครามเพื่อเป็นเกียรติยศของประเทศ เมื่อสยามประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 สมเด็จฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงมีบทบาทที่สำคัญในการสงครามครั้งนั้นหลายประการ ได้แก่ การดำเนินการจัดการเชลยศึกให้เป็นไปตามแบบแผนสากล การจัดการเรื่องการถอดคนเยอรมนีที่แปลงสัญชาติตลอดจนภารกิจที่สำคัญคือ การส่งกองทหารอาสาเข้าไปช่วยฝ่ายสัมพันธมิตรในสมรภูมิยุโรป เมื่อสยามได้ตอบรับข้อร้องขอของรัฐบาลฝรั่งเศสในการส่งหน่วยพยาบาล คนขับรถ และนักบิน อีกทั้งยังมีการรับสมัครกองทหารอาสาเพื่อไปราชการสงครามในทวีปยุโรป ปรากฎว่าได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก แม้แต่ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ก็มีพระประสงค์ที่จะเข้าร่วมอาสาดังกล่าวแต่ก็ได้รับการ ทัดทานจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไว้เนื่องด้วยทรงต้องการให้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงช่วยจัดการภารกิจภายในประเทศในฐานะแนวหลังเป็นสำคัญ[7]
พระกรณียกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งใน สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ คือการพัฒนากองทัพอากาศไทย เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ทรงมีดำริที่จะจัดตั้งกิจการการบินขึ้นเป็นแผนกหนึ่งของกองทัพบก ทว่าในเวลานั้น สยามยังขาดผู้มีความรู้ความสามารถในกิจการการบิน ด้วยเหตุนี้ใน พ.ศ. 2455 จึงมีการคัดเลือกนายทหารไปศึกษาวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศส จำนวน 3 นาย ประกอบด้วย
1) นายพันตรี หลวงศักด์ศัลยาวุธ (สุณี สุวรรณประทีป) ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์สูงสุดที่ พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ
2) นายร้อยเอก หลวงอาวุธวิขิกร (หลง สิน-สุข) ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์สูงสุดที่ นาวาเอก พระยาเวหาสยามศิลปสิทธิ์ และ
3) นายร้อยโททิพย์ เกตุทัต ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์สูงสุดที่ พระยาทยาพิฆาฏ
เมื่อนายทหารทั้งสามนายสำเร็จการศึกษาแล้ว กระทรวงกลาโหมได้จัดตั้งแผนกการบินใน พ.ศ. 2456 ต่อมาหน่วยงานดังกล่าวได้ขยายตัวขึ้นและต้องการใช้สถานที่ใหม่ที่กว้างขวาง สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ พร้อมด้วย พระยาเฉลิมอากาศ ได้เลือกตำบลดอนเมืองเป็นสถานที่ที่ใช้ทำการบินจนก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2457 มีการยกระดับแผนกการบินทหารบกขึ้นเป็นกองบินทหารบกโดยมี พันโทพระยาเฉลิมอากาศ เป็นผู้บังคับการ[8] เมื่อสยามเข้าร่วมสงครามโลก กองบินทหารบกนี้ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการสงครามดังกล่าวอีกด้วย การวางรากฐานด้านกิจการการบินของพระองค์ในประเทศถือเป็นคุณูปการอย่างยิ่ง พระเกียรติคุณดังกล่าวได้รับการยกย่องในเวลาต่อมาด้วยการถวายพระสมัญญานามว่า “พระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย”
ในด้านชีวิตส่วนพระองค์ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ทรงสมรสกับสตรีชาวรัสเซียชื่อว่า เอกาเทรินา อิวานอฟนา เดนิตสกายา หรือที่รู้จักกันในเวลาต่อมาว่า หม่อมคัทลิน โดยมีพระโอรสเพียงพระองค์เดียวคือ หม่อมเจ้าจุลจักรพงษ์ (ต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ เมื่อ พ.ศ. 2463) ต่อมาทรงหย่าร้างกับ หม่อมคัทลิน เมื่อ พ.ศ. 2462 และทรงมีพระประสงค์ที่จะเสกสมรสครั้งใหม่กับ หม่อมเจ้าชวลิตโอภาส พระธิดาใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ แต่กระนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ไม่พระราชทานพระบรมราชานุญาตเนื่องด้วยการหย่าร้างเป็นเรื่องที่ไม่ต้องด้วยพระราชนิยมจนสร้างความขัดแย้งระหว่างสองพระองค์ แต่กระนั้นภายหลังการเสด็จสวรรคตของ สมเด็จพระราชชนนี พระพันปีหลวง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ก็ทรงรับหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส เป็นชายาทั้งที่มิได้เสกสมรส ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระองค์มิได้คำนึงถึงข้อคัดค้านจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ประการใด[9]
สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ เสด็จทิวงคตเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2463 ที่สิงคโปร์ สิริพระชนมายุได้ 37 พรรษา ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาพระอิสริยยศพระองค์เป็น “สมเด็จพระอนุชาธิราช” และมีการพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2463
บรรณานุกรม
จุลจักรพงษ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า, เกิดวังปารุสก์ สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สมัยประชาธิปไตย, พิมพ์ครั้งที่ 16. กรุงเทพฯ: ริเวอร์บุคส์, 2560.
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ: มติชน, 2545.
ยุรารัตน์ พันธุ์ยุรา. กองทัพอากาศกับการเมืองไทย พ.ศ. 2480-2519. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2531.
ศิรินันท์ บุญศิริ. บทบาททางการทหารและการเมืองของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2523.
สุจิรา ศิริไปล์. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสงครามโลกครั้งที่ 1. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2560.
อ้างอิง
[1] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เกิดวังปารุสก์ สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สมัยประชาธิปไตย, พิมพ์ครั้งที่ 16 (กรุงเทพฯ: ริเวอร์บุคส์, 2560), หน้า 16.
[2] เรื่องเดียวกัน, หน้า 20.
[3] ศิรินันท์ บุญศิริ. บทบาททางการทหารและการเมืองของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ. (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2523), หน้า 35-52.
[4] เรื่องการแต่งตั้งสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถเป็นรัชทายาทนั้น แม้จะเป็นพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงดำเนินการสืบสันตติวงศ์ตามลำดับพระชนมายุของพระราชโอรสในสายสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง ทว่าพระราขดำริดังกล่าวก็มีกระแสคัดค้านภายในหมู่เจ้านายชั้นผู้ใหญ่เนื่องด้วยการที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ มีพระชายาเป็นชาวรัสเซีย ดูเพิ่มเติม ราม วชิราวุธ (นามแฝง), ประวัติต้นรัชกาลที่ 6, หน้า 150-158.
[5] ศิรินันท์ บุญศิริ. บทบาททางการทหารและการเมืองของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ, หน้า 143
[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 161-162.
[7] เรื่องเดียวกัน, หน้า 95.
[8] ยุรารัตน์ พันธุ์ยุรา. กองทัพอากาศกับการเมืองไทย พ.ศ. 2480-2519 (วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2531), หน้า 9-11.
[9] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เกิดวังปารุสก์ สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สมัยประชาธิปไตย, หน้า 142-143.