ผลต่างระหว่างรุ่นของ "กรณีศึกษาเรื่องคนไร้รัฐ ของ นักศึกษา สสสส.๑"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Ekkachais (คุย | ส่วนร่วม)
สร้างหน้าใหม่: รายงานข้อมูลและความเห็นจากการศึกษาดูงานเรื่องคนไร้รั...
 
Ekkachais (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัดที่ 88: บรรทัดที่ 88:


                                                             ---------------------------
                                                             ---------------------------
'''บทสรุปการศึกษาดูงานคนไร้รัฐ ต.แม่อาย จ.เชียงใหม่
นายบัณฑูร  ทองตัน นักศึกษา สสสส.๑'''
สภาพปัญหา
ที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-พม่าและเป็นเขตทับซ้อนทางอธิปไตยระหว่างไทยกับพม่าอีกด้วย  ในอดีตชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวไม่รู้เรื่องความสำคัญของบัตรประชาชน/ทะเบียนราษฎร จึงไม่ให้ความสนใจไปแจ้งข้อมูลกับทางราชการ  แต่พอไปขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรได้ระยะหนึ่ง ที่ว่าการอำเภออายถูกไฟไหม้เอกสารสูญหาย ราษฎรขอทำบัตรใหม่อำเภอก็ไม่ออกให้ประกอบกับช่วงประมาณ ปีพ.ศ.๒๕๑๙-๒๐ คนพม่าได้อพยพหนีตายจากสงครามเข้ามามาก ช่วงนั้นอำเภอแม่อายได้ออกบัตร “ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า” ให้กับชาวบ้าน แต่ชาวบ้านไม่ยอมรับ จึงทูลเกล้าถวายฎีกาแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในที่สุดด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปัญหานี้จึงคลี่คลายลง  โดยนายอำเภอกฤษฎา และ นายอำเภอ ชยันตร์ ตรวจสอบยืนยันว่าชาวบ้านแม่อายเป็นคนสัญชาติไทยจึงได้มีการทำบัตรประชาชน และมีรายชื่อชาวบ้านในทะเบียนราษฎร์
แต่พอวันที่ ๕ กุมภาพันธ์  พ.ศ.๒๕๔๕ นายอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินการให้มีการจำหน่ายชื่อราษฎรจำนวน ๑,๒๔๓ คน ออกจากทะเบียนราษฎร (ทร.๑๔) โดยอ้างว่าบุคคลเหล่านี้เคยถือบัตรพลัดถิ่นสัญชาติพม่าและการระบุสัญชาติไทยกับบุคคลเหล่านี้แท้จริงแล้วมีการทุจริตเกิดขึ้น โดยไม่มีการประกาศให้ชาวบ้านได้รับรู้ ชาวบ้านมาทราบเมื่อไปตรวจรายชื่อเพื่อเลือกผู้ใหญ่บ้าน แต่ข้อเท็จจริงกลับได้ความว่ามีคนไทยแท้ๆจำนวนมากแต่ตกสำรวจถูกเหมารวมเอาว่าไม่ใช่คนสัญชาติไทย ทำให้ราษฎรที่ถูกกระทำดังกล่าวต้องพบเจอกับปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติทันที
เรื่องราวแห่งการต่อสู้
ชาวบ้านแม่อายจำเป็นต้องลุกขึ้นต่อสู้กับอำนาจรัฐโดยใช้ความสามัคคีรวมตัวร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยมีผู้อยู่เบื้องหลังหลายท่าน เช่น คุณหญิงอัมพร มีสุข คณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ / ครูแดง เตือนใจ ดีเทศน์ ส.ว.เชียงราย /นายวินิจ ล้ำเหลือ ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ ผู้พลัดถิ่น แรงงานต่างด้าว สภาทนายความ/นายกฤษฎา บุญราช อดีตนายอำเภอแม่อาย/ นักวิชาการกฎหมาย และอีกหลายๆท่าน ได้ให้การสนับสนุนชี้แนะ แนะนำข้อกฎหมาย ทั้งรัฐธรรมนูญ กฎหมายสัญชาติ กฎหมายทะเบียนราษฎร ให้ชาวบ้านได้เข้าใจสิทธิของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร และลูกศิษย์ได้ช่วยให้ชาวบ้านตั้งหลักในการต่อสู้โดยสันติวิธี
ชาวแม่อายโดยความช่วยเหลือจากผู้มีความรู้ทางกฎหมายและรักความเป็นธรรมได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และศาลปกครองชั้นต้น(เชียงใหม่) มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๗ ว่าคำสั่งของนายอำเภอไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่ประกาศให้ผู้เสียสิทธิทราบและไม่เปิดโอกาสให้มีการพิสูจน์  ต่อมาวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๘ ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น
ปัญหายังไม่จบ
แม้ผลคำพิพากษาจะปรากฏออกมาแล้ว แต่การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบก็ยังมีปัญหาด้านต่างๆ เช่น เรื่องหนี้สินที่กู้กับธนาคาร เมื่อถูกถอนสัญชาติก็ถูกบอกเลิกสัญญา สิทธิของคนเป็นข้าราชการที่จะเบิกค่ารักษาพยาบาลแม่ที่ป่วยซึ่งถูกถอนชื่อจากทะเบียนราษฎร์  และคนที่ไม่ได้ถูกเพิกถอนสัญชาติแต่ยังไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร์จะดำเนินการกันอย่างไรเพื่อให้ได้สัญชาติ จะพิสูจน์สัญชาติให้ชาวบ้านอย่างไร
รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ และคณะ จึงลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็ง แนะนำวิธีทำสายเครือญาติ เรียงลำดับญาติ ตระกูลต่างๆ วิธีการรวบรวมหลักฐาน รวมตลอดถึงการพิสูจน์ดีเอ็นเอ จนทำให้ชาวบ้านได้รับสัญชาติคืนมาอีก ๑๒๒ คน
การช่วยชาวบ้านแบบมีคนทำให้ทุกอย่าง ย่อมเป็นที่แน่นอนว่าชาวบ้านจะคิดไม่เป็น ช่วยเหลือตัวเองไม่เป็น ต้องร้องขอความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงต้องให้ชาวบ้านศึกษาทำความเข้าใจกับปัญหา รู้จักวิเคราะห์ปัญหา วิธีแก้ไขปัญหา จึงต้องหาแกนนำมาเพิ่มอาวุธทางปัญญา ให้เขาทำความเข้าใจกับข้อกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง จากการร่วมมือกันจากหลายภาคส่วนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ข้าราชการทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น นักการเมือง องค์การยูนิเซฟ แห่งประเทศไทย  วันนี้ที่แม่อาย มี “คลินิกกฎหมายชาวบ้านด้านสถานะและสิทธิบุคคล” เกิดขึ้นแล้ว โดยชาวบ้านช่วยเหลือกันเองเป็นทนายเท้าเปล่า ที่มาช่วยเพื่อนบ้านรวบรวมพยานหลักฐานเพราะเขาก็คืออดีตคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ถูกเพิกถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎรนั่นเอง
เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๑ คณะนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง “การเสริมสร้างสังคมสันติสุข” รุ่นที่ ๑ ของสถาบันพระปกเกล้าฯ ได้ลงพื้นที่ศึกษาสภาพปัญหาทั้งในเชิงพื้นที่และในเชิงบุคคลในพื้นที่และศึกษาต้นแบบกระบวนการจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลสำหรับคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย
 
สิ่งที่ได้พบและข้อเสนอแนะ
ความเข้มแข็งของชุมชนโดยเฉพาะกลุ่มแกนนำที่ให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน ที่แม้ความรู้สายสามัญจะไม่สูงแต่เมื่อเขาได้เรียนรู้การแก้ไขปัญหาให้กับคนในชุมชนโดยกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายสัญชาติ กฎหมายทะเบียนราษฎร ทั้งยังอ้างอิงบทมาตราได้อย่างคล่องแคล่ว แสดงให้รู้ว่าแกนนำชุมชนเหล่านี้รู้กฎหมายเหล่านี้จริง
วิธีการพัฒนาชาวบ้านโดยจัดชั้นเรียนปัญหาของชุมชนโดยแยกห้องเรียนแต่ละปัญหาออกจากกัน เช่น คนไทยที่เกิดในไทยแต่ตกสำรวจ  หรือคนสัญชาติอื่นที่ไม่มีประเทศใดรับรองสัญชาติแต่มาอยู่ในพื้นที่แม่อาย เป็นต้น จะทำให้ได้ผู้รู้ประจำชุมชนในเรื่องนั้นๆ เหมาะกับสภาพของแกนนำแต่ละคน
การช่วยให้ชาวบ้านได้เรียนรู้สายลำดับเครือญาติและค้นหาหลักฐานต่างๆมารวบรวมไว้ ค่อนข้างทำได้ดี แต่ที่ได้เห็นปัญหาอย่างชัดเจนคือการเก็บเอกสารไม่เป็นระบบ  ประสบการณ์จากการทำสำนวนคดีจึงรู้ว่าหากการเก็บเอกสารแบบที่ชุมชนแม่อายทำอยู่ขณะนี้หากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบไม่อยู่จะไม่สามารถค้นหาหลักฐานใดๆได้เลย จึงได้แนะนำวิธีการจัดการข้อมูล เช่น ให้เก็บแบบเรียงลำดับบ้านเลขที่ในหมู่บ้าน หรือเรียงอักษรชื่อบุคคล ก.ถึง ฮ.หรือจัดหมวดหมู่ประเภทของปัญหา หรือหมวดหมู่ของตระกูล หรือลำดับของผู้มาร้องขอความช่วยเหลือ และแนะนำให้ใช้เครื่องคอมพิเตอร์เก็บข้อมูลเป็นฐานข้อมูลที่ตรวจสอบได้ง่าย เพราะเบื้องต้นเมื่อการเก็บหลักฐานมีเพียงไม่กี่ครอบครัวก็จะไม่ยุ่งยาก มีแฟ้มจำนวนเล็กน้อย แต่เท่าที่เห็นในวันลงพื้นที่พบว่ามีชั้นเก็บเอกสารหลายชั้นมากและในแต่ละชั้นมีแฟ้มจำนวนมาก เมื่อถามว่าจะหาอย่างไรก็ตอบว่าก็คงต้องค้นหา ซึ่งเห็นว่าผิดวิธีและทำให้การทำงานสับสนและล่าช้าได้
        ได้แนะนำการกรอกแบบสอบถามเพื่อกำหนดสถานะบุคคล ฯ โดยให้พยายามกรอกรายละเอียดให้มากที่สุด เพราะเท่าที่ขอตรวจดูพบว่ามักจะกรอกข้อมูลไม่ครบ อาจเป็นเพราะไม่เห็นความสำคัญ ได้แนะนำว่าให้ถือว่าข้อมูลทุกชนิดที่เกี่ยวข้องกับแต่ละบุคคลมีความสำคัญทั้งนั้นและต้องจัดเก็บให้ดี
ได้แนะนำวิธีติดต่อกับทางราชการให้ติดต่อโดยหนังสือและให้เจ้าหน้าที่ลงรับเป็นหลักฐานให้ หากไม่ ได้แนะนำการกรอกข้อมูลแบบสอบถามยอมรับให้ส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ และแนะนำให้เก็บสำเนาเอกสารอย่างน้อยสองชุดเพื่อจะได้เป็นหลักฐานว่าชาวบ้านได้มาติดต่อกับทางราชการจริง
การขอคัดเอกสารจากทางราชการให้ขอให้ทางเจ้าหน้าที่รับรองสำเนาทุกครั้งหากมีการขยายวิธีการนี้ไปยังกลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยตามจุดต่างๆ เช่น กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่จังหวัดระนอง (ทราบว่ามีโครงการต่อยอดจากแม่อายสู่ระนองแล้ว) กลุ่มคนไทยตามแนวตะเข็บชายแดนต่างๆ ก็จะเป็นการดี ต้องมีวิธีการปลุกจิตสำนึกข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับสัญชาติและทะเบียนราษฎรให้เลิกหากินบนความทุกข์ยากของคนไทยด้วยกัน
กระตุ้นให้กระบวนการยุติธรรมให้ความสนใจปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติเพิ่มขึ้น โดยอาจขอให้เพิ่มหลักสูตรในการอบรมบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เห็นและเข้าใจความเดือดร้อนของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ และการวิเคราะห์คดีเหล่านี้ด้วยละเอียดรอบคอบและยุติธรรม
ข้อมูลอ้างอิงจาก
    เอกสารประกอบการดูงานภาคเหนือ กลุ่มที่ ๔ : สิทธิทางกฎหมายที่ต้องทวงถามของคนแม่อาย โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร
    เอกสารประกอบการศึกษาดูงานของนักเรียนสถาบันพระปกเกล้า หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง "การเสริมสร้างสังคมสันติสุข" รุ่นที่ ๑ ณ ชุมชนแม่อาย จ.เชียงใหม่ โดยคลินิกกฎหมายชาวบ้าน(ด้านสถานะและสิทธิของบุคคล) อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
    http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9480000125631

รุ่นแก้ไขเมื่อ 21:54, 10 มีนาคม 2552

รายงานข้อมูลและความเห็นจากการศึกษาดูงานเรื่องคนไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่ตำบลห้วยข่า อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี โดย นายอานุภาพ นันทพันธ์ นศ.สสสส.๑ เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๑


ความนำ

การศึกษาดูงานพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือระหว่างวันที่ ๑๐ ถึง ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๑ มีการแบ่งกลุ่มตามหัวข้อจำนวน ๕ กลุ่ม สำหรับกลุ่ม ๒ ได้รับมอบหมายในหัวข้อ “คนไร้รัฐไร้สัญชาติ” โดยกำหนดพื้นที่ศึกษาดูงานที่ตำบลห้วยข่า อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นอำเภอแนวชายแดนติดประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

เมื่อกลุ่ม ๒ เดินทางไปถึงบ้านบะไห ตำบลห้วยข่า ได้พบว่า มีชาวบ้านจำนวนมากมารอพบส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่ในข่ายเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติจำนวนกว่าร้อยคน ซึ่งต่างมาด้วยความหวังว่าจะได้รับการช่วยเหลือ มีความพยายามในการให้ข้อมูลที่หลากหลาย ทำให้ในตอนแรกไม่อาจประมวลข้อเท็จจริงอย่างเป็นระบบได้ ทั้งยังมีประเด็นปัญหากฎหมายและระเบียบวิธีปฏิบัติ ซึ่งเป็นปัญหาด้านความรู้ความเข้าใจของทั้งสองฝ่าย ทางกลุ่มจึงมีความเห็นร่วมกับชาวบ้านและผู้นำว่าหลังรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันแล้ว จะมีการแบ่งกลุ่มสัมภาษณ์รายบุคคลเพื่อให้เข้าถึงข้อมูลโดยตรง ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีผู้สัมภาษณ์ ๒ คน และผู้ถูกสัมภาษณ์ประมาณ ๑๐ คน โดยแยกกันตั้งวงตามใต้ถุน ร่มไม้ ชายคาบ้าน เท่าที่สถานที่จะอำนวย

จากการแยกสัมภาษณ์กลุ่มย่อยกลุ่มหนึ่งจำนวน ๑๑ คน ทำให้ได้ข้อมูลในเบื้องต้นที่พอจะเป็นตัวแทนของกลุ่มปัญหาตามหัวข้อที่ศึกษา แต่ด้วยหัวข้อที่ศึกษาเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อนหลายมิติ ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงอันจะนำไปสู่ความเป็นจริงที่ถูกต้องโดยไม่ปิดบังซ่อนเร้นแอบแฝงซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหาไปถูกทิศทางและถูกต้อง ปัญหาระบบและตัวบทกฎหมายซึ่งมีหลายฉบับหลายเจตนารมณ์ยากต่อการทำความเข้าใจและนำไปใช้ โดยเฉพาะกับคนไร้รัฐไร้สัญชาติซึ่งมักจะด้อยโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้ดังกล่าว ด้วยเหตุดังกล่าวประกอบกับยังมีปัญหาเกี่ยวเนื่องกับระบบ ระเบียบ และวิธีปฏิบัติทางราชการซึ่งยังมีลักษณะยุ่งยากซับซ้อนล่าช้าและมีการใช้ดุลยพินิจที่แตกต่างหลายแนวทาง ไม่เอื้อต่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งอาจมีสาเหตุหลายประการที่ทำให้เป็นเช่นนั้น เช่น ความรู้ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ ความมุ่งมั่นต่อการแก้ไขปัญหา แนวคิดในด้านความมั่นคง เป็นต้น ทำให้การศึกษาดูงานเพียงเท่าเวลาที่มีอยู่ยังไม่สามารถเข้าถึงสภาพปัญหาและข้อเท็จจริงทั้งหมดได้ อย่างไรก็ตาม มีความเห็นว่า โดยภาพรวมการแก้ไขปัญหามีพัฒนาการที่ดีขึ้น มีการยอมรับการกำหนดสถานะของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย เพื่อให้มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐไทยในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และมีการปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ กฎเกณฑ์ ที่เอื้อต่อการปฏิบัติมากขึ้นเป็นระยะ ๆ ซึ่งในที่สุดแล้วจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม สำหรับรายงานนี้จะขอนำเสนอมุมมองจากการศึกษาดูงานและการสัมภาษณ์กลุ่มย่อยตามหัวข้อ ดังนี้

๑. สถานการณ์ของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่ศึกษา ๒. กฎหมายเกี่ยวกับสัญชาติและคนไร้รัฐหรือไร้สัญชาติ ๓. ปัญหาเกี่ยวเนื่องกับคนไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่ศึกษา ๔. แนวทางดำเนินการกับปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่ศึกษา

๑. สถานการณ์ของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่ศึกษา

๑.๑ สถานการณ์โดยทั่วไป

สถานการณ์ของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่ศึกษา เท่าที่ปรากฏเป็นกรณีของชาวลาวหรือชาวอีสานซึ่งเป็นคนไร้รัฐ หรือไม่มีสัญชาติ หรือยังไม่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติซึ่งอาจเป็นคนลาวหรือคนไทย ที่เป็นเช่นนั้นอาจเกี่ยวเนื่องกับเหตุปัจจัยหลายประการ ที่สำคัญเช่น

(๑) กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิม กล่าวคือ คนในพื้นที่ภาคอีสานของไทยส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนลาวในประเทศลาวโดยมีความเกี่ยวเนื่องกันทางเผ่าพันธุ์ มีภาษา ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีการดำเนินชีวิต ในแบบเดียวกัน รวมทั้งมีความเกี่ยวข้องกันทางสายโลหิต โดยเฉพาะบริเวณแนวชายแดน ทำให้เกิดอัตลักษณ์ร่วมเป็นกลุ่มชนเดียวกัน มีการติดต่อไปมาหาสู่และเคลื่อนย้ายการอพยพโดยไม่คิดว่ามีเขตแดน และคนส่วนหนึ่งไม่ได้แสดงตนในต่อรัฐใด เพื่อมีนิติสัมพันธ์หรืออยู่ภายใต้การปกครองในฐานะคนของรัฐหรือคนสัญชาติของรัฐนั้น จนทำให้เกิดปัญหาเป็นคนไร้รัฐหรือไร้สัญชาติ ซึ่งปัญหาจากสาเหตุนี้มีอยู่ในแนวเขตชายแดนของทั้งสองประเทศ

(๒) การสู้รบ กล่าวคือ ในอดีตที่ผ่านมาช่วงเวลาเดียวกับสงครามการต่อสู้ทางลัทธิการปกครองในภูมิภาคอินโดจีน ในลาวเองก็ได้มีสงครามสู้รบระหว่างลาวสองฝ่าย คือ ฝ่ายนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ กับฝ่ายประชาธิปไตยซึ่งเป็นระบอบที่ใช้อยู่ก่อน โดยฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้เริ่มมีอิทธิพลและครอบครองพื้นที่ทางตอนเหนือของลาวก่อน เรียกกันว่าฝ่ายลาวแดง หลังจากนั้นจึงได้รุกคืบลงมาทางลาวตอนใต้ซึ่งปกครองโดยรัฐบาลในระบอบเดิมโดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งเรียกกันว่าฝ่ายลาวขาว จนในที่สุดลาวแดงเป็นฝ่ายชนะและสามารถเปลี่ยนระบอบการปกครองได้อย่างสมบูรณ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ผลจากการสู้รบและการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้มีกลุ่มชาวลาวที่หนีภัยสงครามรวมทั้งลาวขาวที่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงครามหลบหนีเข้ามาอยู่ในเขตประเทศไทยในราวปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ถึง ๒๕๑๙ รวมถึงในเขตพื้นที่จังอุบลราชธานี โดยส่วนใหญ่จะมาอยู่กับญาติพี่น้องของตนที่ฝั่งไทย ซึ่งกรมการปกครองจะเรียกคนลาวกลุ่มนี้ว่า “ลาวอพยพ”

(๓) เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ เนื่องจากความแตกต่างทางเศรษฐกิจ โดยประเทศไทยได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีการจ้างงานและต้องการแรงงานสูง ทำให้ความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตขึ้นด้วย ขณะที่ประเทศลาวมีการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ยงคงอิงอยู่กับวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมซึ่งมีความยากไร้ ทำให้ต้องแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าโดยหนีหรือย้ายเข้ามายังฝั่งไทยเพื่อหางานไปจนถึงให้ได้มาซึ่งการเป็นคนไทย สภาพการณ์นี้เกิดขึ้นกับชายแดนที่ดินกับพม่าและเขมรด้วย

๑.๒ สถานการณ์ตามกลุ่มปัญหา

เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงในพื้นที่ศึกษา พบกลุ่มปัญหาคนไร้รัฐหรือไร้สัญชาติ ซึ่งอาจแยกได้ดังนี้

(๑) กลุ่มหลบหนีภัยสงคราม กลุ่มนี้อพยพเข้ามาราวปี ๒๕๑๘ ถึง ๒๕๑๙ ซึ่งเป็นช่วงระหว่างการต่อสู้และเปลี่ยนแปลงการปกครอง ส่วนใหญ่มาเป็นครอบครัวมีพ่อแม่ลูก อีกส่วนหนึ่งแยกจากครอบครัวมา ปัจจุบันมีอยู่จำนวนน้อย รุ่นพ่อแม่กลายเป็นผู้สูงวัยและรุ่นลูกอยู่ในวัยผูใหญ่ กลุ่มนี้หากได้ดำเนินการโดยถูกต้องตามระเบียบราชการจะได้รับบัตร ลาวอพยพ(บัตรสีฟ้า) สำหรับรุ่นลูกที่อพยพเข้ามาด้วยกันส่วนใหญ่ได้แสดงตนต่อทางการไทยโดยได้รับแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษ ๓ สัญชาติ (พม่า ลาว กัมพูชา) หรือ ทร. ๓๘/๑ ทั้งนี้ เท่าที่ได้สัมภาษณ์ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ทุกคนมีเอกสารแสดงที่อยู่ในประเทศไทยเป็นทะเบียนบ้านของบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย หรือ ทร. ๑๓ โดยอาศัยเลขที่บ้านของคนสัญชาติไทยที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ แท้จริงแล้วคนกลุ่มนี้ไม่ใช่คนไร้รัฐ เพราะเป็นคนของรัฐลาวและมีสัญชาติลาวแต่ไม่ยอมอยู่ภายใต้อำนาจรัฐของตนและบางคนไม่ใส่ใจต่อการแสดงหรือพิสูจน์สัญชาติลาว ขณะเดียวกันรัฐไทยก็ยังไม่ให้สัญชาติไทย

(๒) กลุ่มบุตรหลานลาวอพยพที่เกิดในไทย กลุ่มนี้เป็นบุตรของกลุ่มหลบหนีภัยสงครามที่เกิดในประเทศไทยและบุตรที่สืบสันดานในลำดับชั้นต่อมา จากการสำรวจข้อมูลกลุ่มที่สัมภาษณ์พบว่า เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยกลุ่มนี้มีการขึ้นทะเบียนประเภท ทร. ๑๓ เช่นเดียวกับกลุ่ม (๑) แต่ทั้งสองกลุ่มนี้พบว่า มีการแยกสร้างบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ต่างหากซึ่งไม่ใช่บ้านตาม ทร. ๑๓ และไม่มีบ้านเลขที่ และสำหรับคนในวัยทำงานมีการขึ้นทะเบียนประเภท ทร. ๓๘/๑ อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า กลุ่มนี้มีความแตกต่างจากกลุ่มพม่า ลาว กัมพูชา ที่ทะลักเข้ามาขายแรงงานในปัจจุบันซึ่งมีการผ่อนปรนโดยการออก ทร. ๓๘/๑ แต่มีการดำเนินการแก้ปัญหาโดยอาศัยวิธีการเดียวกัน ซึ่งดูตามเหตุผลของการเข้าประเทศไทยแต่ต้นแล้วควรจัดให้กลุ่มนี้เป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนโดยจะได้รับใบทะเบียนประวัติของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน หรือ ทร. ๓๘ ก ซึ่งจะมีโอกาสในการได้สัญชาติไทยมากกว่า แต่สำหรับบุตรที่เกิดในรุ่นหลังและอยู่ในวัยศึกษา ภาครัฐได้มีมาตรการสำรวจในโรงเรียนสถานที่ศึกษาจึงทำให้มีการออก ทร.๓๘ก ให้ถูกต้องตามระเบียบและได้รับใบสูติบัตร ปัญหาว่ากลุ่มนี้จะไดสัญชาติไทยหรือไม่ อย่างไร อาจแยกพิจารณาได้ดังนี้

ก. บุตรที่เกิดจากพ่อและแม่ที่เป็นลาวอพยพ เมื่อเกิดไม่ได้สัญชาติไทยโดยผลของ ปว.๓๓๗ และเมื่อพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ใช้บังคับก็ยังคงไม่ได้สัญชาติไทยเพราะมีพ่อและแม่เป็นคนต่างด้าวตามเงื่อนไขในมาตรา ๗ ทวิ(๑) (๒) หรือ (๓) แต่ในกรณีเห็นสมควรรัฐมนตรีอาจจะพิจารณาและสั่งเฉพาะรายให้ได้รับสัญชาติไทยตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคสอง หลังจากนั้นเมื่อพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑ ใช้บังคับก็ยังคงไม่ได้สัญชาติไทยเช่นเดียวกับหลักในพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ ๒) ฯ ต่างกันที่รัฐมนตรีอาจจะพิจารณาและสั่งเฉพาะรายหรือเป็นการทั่วไปให้ได้สัญชาติไทยตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคสอง

ข. บุตรที่เกิดจากลาวอพยพและคนสัญชาติไทย ซึ่งเกิดในประทศไทยหลังจากอพยพเข้ามาในประเทศไทย โดยผลของประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ (ปว.๓๓๗) ซึ่งโดยหลักไม่ให้สัญชาติไทยแก่บุตรที่มีพ่อหรือแม่เป็นคนต่างด้าว ดังนั้น แม้จะมีพ่อหรือแม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนไทย บุตรก็ไม่ได้รับสัญชาติไทย แต่โดยผลของพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งยกเลิก ปว. ๓๓๗ ทำให้ได้สัญชาติไทยตามมาตรา ๗(๑)

(๓) กลุ่มที่เข้ามาภายหลัง จากการสัมภาษณ์ ผู้ให้ข้อมูลทั้งหมดจะให้ข้อมูลที่เข้ากรณีกลุ่ม (๑) หรือ (๒) แต่จากการประมวลตามสภาพการณ์และการตอบคำถามที่มีการจัดเตรียมและจัดตั้ง ทางกลุ่มเชื่อว่ามีส่วนหนึ่งที่เข้ามาภายหลัง เช่น คนที่ไม่ปรากฏพ่อแม่ทุกคนจะบอกว่าเข้ามากับป้ากับลุง พ่อแม่อยู่ที่ประเทศลาว หรือเข้ามากับพ่อแม่แต่พ่อแม่กับไปประเทศลาวตั้งแต่ตนยังเด็ก ซึ่งโดยความผูกพันกันระหว่างพ่อแม่ลูกของครอบครัวคนลาวและคนอีสานแล้วไม่น่าที่จะมีการแยกกันระหว่างพ่อแม่ลูกในลักษณะดังกล่าวเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่น่าเชื่อว่าส่วนหนึ่งตามเข้ามาภายหลังมาอยู่กับญาติพี่น้องที่ฝั่งไทยเพื่อโอกาสที่ดีกว่าในการทำมาหาเลี้ยงชีพ ซึ่งกลุ่มนี้ได้ขอขึ้นทะเบียน ทร. ๓๘/๑ เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการใช้แรงงาน และมีการขึ้นทะเบียนบ้านตาม ทร.๑๓ ซึ่งโดยหลักจะไม่ได้รับสัญชาติไทย

สำหรับกลุ่มอื่น ๆ เช่น กลุ่มคนไทยตกหล่น กลุ่มชาวลาวที่อพยพเข้ามาในช่วงการเปิดประเทศตั้งแต่ก่อนที่ไทยจะมีพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๔๗๐ และที่อพยพเข้ามาหลังการใช้พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๔๗๐ ไม่พบตัวอย่างข้อเท็จจริงหรือการกล่าวอ้างถึงปัญหา

๒. กฎหมายเกี่ยวกับสัญชาติและคนไร้รัฐไร้สัญชาติ

จากความพยายามในการศึกษาเพิ่มเติมหลังการศึกษาดูงานพบว่ามีกฎหมายและกฎระเบียบหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย แต่ก็เป็นความยากลำบากที่พบว่ากฎหมายในเรื่องดังกล่าวมีความยุ่งยากซับซ้อนซึ่งเป็นไปตามนโยบายแต่ละยุคสมัย ทำให้เกิดความยากลำบากต่อทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติดังกล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้วกฎหมายได้มีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับซึ่งน่าจะสามารถแก้ปัญหาที่มีอยู่ได้ดียิ่งขึ้น เราพบว่า มีกฎหมายหลักซึ่งประเทศไทยอาจนำมาใช้ในการจัดการปัญหาความไร้รัฐและความไร้สัญชาติของบุคคลธรรมดาในประเทศไทย อยู่ ๓ ลักษณะ กล่าวคือ ลักษณะแรก ก็คือ กฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติไทยซึ่งอาจใช้ในการขจัดปัญหาความไร้สัญชาติโดยการให้สัญชาติไทย โดยเฉพาะ พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พระราชสัญชาติ (ฉบับที่ ๒ และ ๓) พ.ศ.๒๕๓๕ รวมถึงพระราชบัญญัติ สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งมีผลในปัจจุบัน ลักษณะที่สอง ก็คือ กฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรซึ่งอาจใช้ในการขจัดปัญหาความไร้รัฐโดยการให้สถานะทะเบียนไทย โดยเฉพาะ พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งมีผลในปัจจุบัน ตลอดจนระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. ๒๕๔๘ และระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำบัตรประจำตัวคนที่ไม่มีสัญชาติไทย พ.ศ.๒๕๕๑ ลักษณะที่สอง ก็คือ กฎหมายไทยว่าด้วยการประกอบอาชีพซึ่งอาจใช้ในการขจัดปัญหาความผิดกฎหมายว่าด้วยการประกอบอาชีพโดยการให้สิทธิประกอบอาชีพ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๕๑ สำหรับการจ้างแรงงาน หรือพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๔๒ สำหรับการลงทุน

๓. ปัญหาเกี่ยวเนื่องกับคนไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่

๓.๑ ปัญหาที่เกิดกับบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ

๓.๑.๑ ปัญหาความยากจน พบว่าในพื้นที่ศึกษาเป็นสังคมเกษตรกรรมเพาะปลูกทำนาเป็นหลัก ซึ่งแม้คนสัญชาติไทยเองก็ยังคงมีสภาพยากจนปรากฎให้เห็น สำหรับกลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติส่วนใหญ่รับจ้างทำงานในพื้นที่ มีบางส่วนที่ไปรับจ้างทำงานในพื้นที่อื่น เช่น กรุงเทพมหานคร ซึ่งส่วนใหญ่ไปโดยผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนดังกล่าวดูมีความพอใจในฐานะความเป็นอยู่ซึ่งอาจเพราะเห็นว่าดีกว่าที่เดิมหรือไม่มีทางเลือก

๓.๑.๒ ปัญหาการการทำผิดกฎหมายการทำงานของคนต่างด้าวและการทะเบียนราษฎร ซึ่งพบว่าการไปทำงานนอกพื้นที่โดยไม่มีการขอใบอนุญาตทำงานให้ถูกต้อง และไม่มีการขออนุญาตออกนอกพื้นที่ นอกจากนี้มีหลายครอบครัวที่แยกไปสร้างบ้านเรือนอยู่ใหม่ไกลออกไปโดยไม่ได้อาศัยอยู่ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้ตาม ทร. ๑๓ โดยบ้านที่สร้างอยู่ใหม่ไม่มีเลขที่ ทำให้ยากต่อการควบคุมการเคลื่อนย้าย

๓.๑.๓ ปัญหาด้านการศึกษา คนต่างด้าวกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้เข้ารับการศึกษาในระบบ ทำให้ด้อยความรู้ ขาดการพัฒนา อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่เกิดรุ่นหลังมีการเข้ารับการศึกษาที่ดีขึ้นในระบบการศึกษาของไทย แต่ยังขาดความเข้าใจในสิทธิด้านการศึกษาของคนต่างด้าว และไม่มั่นใจในโอกาสที่จะได้เข้าทำงานหลังจบการศึกษา

๓.๑.๔ ปัญหาด้านการเข้าถึงสิทธิอย่างคนสัญชาติไทย คนต่างด้าวกลุ่มนี้มีความต้องการได้สิทธิต่างๆ อย่างคนสัญชาติไทย โดยไม่ได้คิดแต่เพียงว่าเป็นคนต่างด้าว ทำให้เกิดการเรียกร้องหรือทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิบางประการซึ่งอาจการไม่ชอบ

๓.๑.๕ ปัญหาด้านข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานะบุคคลตามกฎหมาย พบว่า หลายกรณีไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง เช่น ส่วนหนึ่งไม่ขอทำบัตรลาวอพยพตามช่วงเวลาที่ทางราชการประกาศและอาศัยการดำเนินการตามแบบ ท.ร.๓๘/๑ เป็นทางออก ซึ่งทำให้ขาดโอกาสในการได้สัญชาติไทย และอาจมีหลายกรณีที่มีการสร้างข้อเท็จจริงโดยหวังว่าจะเป็นช่องทางให้ได้สิทธิมากขึ้น โดยเฉพาะการได้เป็นคนสัญชาติไทย นอกจากนี้ มีอีกตัวอย่างหนึ่งที่บอกว่าพ่อเป็นลาวอพยพเข้ามาในปี ๒๕๑๘ แม่เป็นคนไทยแต่ไม่มีบัตร หากเป็นจริงบุคคลดังกล่าวย่อมมีสัญชาติไทยไม่ใช่คนไร้รัฐหรือไม่มีสัญชาติซึ่งมีแต่เพียง ท.ร.๓๘/๑ และ ท.ร.๑๓ แต่ก็ไม่มีสิ่งใดยืนยันได้ว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นจริงหรือเท็จ

๓.๒ ปัญหาจากภาครัฐ

๓.๒.๑ ปัญหาเกี่ยวเนื่องในเชิงนโยบาย เนื่องจากรัฐมีความระมัดระวังในด้านความมั่นคง การดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับคนต่างด้าวจึงยังคงมีแนวคิดในเชิงลบต่อการให้สิทธิคนต่างด้าว อย่างไรก็ตามในระยะหลังได้มีการผ่อนปรนค่อนข้างมาก และหากมีการคำนึงถึงสัดส่วนด้านมนุษยธรรมเพิ่มมากขึ้น น่าเชื่อว่าสถาณการณ์จะดีขึ้นอีก

๓.๒.๒ ปัญหาด้านการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เช่น ปัญหาด้านการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กับกลุ่มคนต่างด้าว การละเว้นการปฏิบัติต่อคนต่างด้าวที่กระทำผิดกฎหมายซึ่งทำให้คนต่างด้าวไม่ทราบถึงความผิดหรือไม่กลัวความผิด หรือการเลือกปฏิบัติซึ่งทำให้ขาดความเป็นธรรม นอกจากนี้ยังอาจมีปัญหาด้านความเข้าใจในกฎเกณฑ์ที่มีความยุ่งยากซึ่งทำให้มีข้อผิดพลาดในการปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่เป็นมาตรฐานอย่างเดียวกัน

๓.๓ ปัญหาจากตัวบทกฎหมาย

เท่าได้ศึกษาเพิ่มเติมด้านกฎหมายในระยะเวลาอันจำกัด พบว่า กฎหมายแม่บทที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกฎหมายสัญชาติและกฎระเบียบวิธีปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวมีความยุ่งยากต่อการทำความเข้าใจ มีหลักและมีข้อยกเว้นและเงื่อนไขยกเว้นทั้งตามพระราชบัญญัติและปราศคณะปฏิวัติ จึงเป็นการยากที่คนต่างด้าวจะสามารถเข้าใจและทำให้ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย แม้แต่คนไทยที่ไม่ได้ศึกษาอย่างจริงจังก็ไม่อาจเข้าใจได้ทั้งหมด

๔. แนวทางดำเนินการกับปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่

๔.๑ การให้สัญชาติแก่บุตรของลาวอพยพ แนวทางนี้ มีหลักการและเหตุผลว่า คนลาวอพยพที่หลบหนีภัยสงครามเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ ถึง ๒๕๑๙ ได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทย เป็นแหล่งทำมาหาเลี้ยงชีพและทำประโยชน์มาเป็นระยะเวลายาวนาน มีความผูกพันแน่นแฟ้นกับกลุ่มคนไทยในพื้นที่ที่เข้ามาอาศัยอยู่ด้วยจนเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่มีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคง และโดยเหตุผลด้านมนุษยธรรม จึงควรให้สัญชาติไทยแก่บุตรของคนกลุ่มนี้ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๗ ทวิ วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑ ทั้งนี้ เป็นอำนาจของรัฐมนตรีที่จะให้สัญชาติไทยเป็นการเฉพาะรายหรือเป็นการทั่วไปได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด นอกจากนี้ อาจสนับสนุนหรือช่วยให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทยตามเงื่อนไขที่กำหนดในมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑ กรณีที่เข้าเงื่อนไข ในส่วนของพ่อแม่ที่เป็นลาวอพยพโดยแท้ เมื่อคำนึงถึงเหตุและผลอย่างเดียวกันดังกล่าวข้างต้น รัฐน่าจะช่วยสนับสนุนให้ได้สัญชาติไทยโดยกฎหมายและมาตรการที่อาจมีเพิ่มเติม

๔.๒ ส่งเสริมการประกอบอาชีพในกรอบที่สามารถทำได้ เช่นเดียวกับคนสัญชาติไทยเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและการย้ายถิ่น โดยหลักมนุษยธรรม และโดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่มีเชื้อชาติ ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม และพื้นเพชีวิตเดียวกัน

๔.๓ ในการควบคุมดูแล ควรปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายโดยเท่าเทียมและถูกต้อง ไม่มีการเลือกปฏิบัติ โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนในระดับสากล

๔.๔ ในด้านการศึกษา ควรส่งเสริมให้ได้รับการศึกษา เพื่อให้รู้ทัน สามารถพึ่งตนเองได้โดยไม่เป็นภาระแก่สังคม ซึ่งในปัจจุบันรัฐไทยได้มีแนวปฏิบัติผ่อนผันและเอื้อให้คนกลุ่มนี้มีสิทธิเข้ารับการศึกษาใกล้เคียงกับคนสัญชาติไทย

๔.๕ ในด้านการให้ความรู้ ควรให้ความรู้ดานกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้รู้ถึงสิทธิหน้าที่ และการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นการลดภาระและเวลาของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามสิทธิ

๔.๖ ภาครัฐและเจ้าหน้าที่รัฐควรให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงเพื่อให้สามารถวินิจฉัยและแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง และให้การส่งเสริมหรือร่วมมือกับหน่วยงานหรือองค์กรเอกชน เพือสร้างเครือข่ายและร่วมกันแก้ปัญหา

                                                            ---------------------------


บทสรุปการศึกษาดูงานคนไร้รัฐ ต.แม่อาย จ.เชียงใหม่ นายบัณฑูร ทองตัน นักศึกษา สสสส.๑

สภาพปัญหา

ที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-พม่าและเป็นเขตทับซ้อนทางอธิปไตยระหว่างไทยกับพม่าอีกด้วย ในอดีตชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวไม่รู้เรื่องความสำคัญของบัตรประชาชน/ทะเบียนราษฎร จึงไม่ให้ความสนใจไปแจ้งข้อมูลกับทางราชการ แต่พอไปขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรได้ระยะหนึ่ง ที่ว่าการอำเภออายถูกไฟไหม้เอกสารสูญหาย ราษฎรขอทำบัตรใหม่อำเภอก็ไม่ออกให้ประกอบกับช่วงประมาณ ปีพ.ศ.๒๕๑๙-๒๐ คนพม่าได้อพยพหนีตายจากสงครามเข้ามามาก ช่วงนั้นอำเภอแม่อายได้ออกบัตร “ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า” ให้กับชาวบ้าน แต่ชาวบ้านไม่ยอมรับ จึงทูลเกล้าถวายฎีกาแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในที่สุดด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปัญหานี้จึงคลี่คลายลง โดยนายอำเภอกฤษฎา และ นายอำเภอ ชยันตร์ ตรวจสอบยืนยันว่าชาวบ้านแม่อายเป็นคนสัญชาติไทยจึงได้มีการทำบัตรประชาชน และมีรายชื่อชาวบ้านในทะเบียนราษฎร์ แต่พอวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๕ นายอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินการให้มีการจำหน่ายชื่อราษฎรจำนวน ๑,๒๔๓ คน ออกจากทะเบียนราษฎร (ทร.๑๔) โดยอ้างว่าบุคคลเหล่านี้เคยถือบัตรพลัดถิ่นสัญชาติพม่าและการระบุสัญชาติไทยกับบุคคลเหล่านี้แท้จริงแล้วมีการทุจริตเกิดขึ้น โดยไม่มีการประกาศให้ชาวบ้านได้รับรู้ ชาวบ้านมาทราบเมื่อไปตรวจรายชื่อเพื่อเลือกผู้ใหญ่บ้าน แต่ข้อเท็จจริงกลับได้ความว่ามีคนไทยแท้ๆจำนวนมากแต่ตกสำรวจถูกเหมารวมเอาว่าไม่ใช่คนสัญชาติไทย ทำให้ราษฎรที่ถูกกระทำดังกล่าวต้องพบเจอกับปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติทันที

เรื่องราวแห่งการต่อสู้

ชาวบ้านแม่อายจำเป็นต้องลุกขึ้นต่อสู้กับอำนาจรัฐโดยใช้ความสามัคคีรวมตัวร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยมีผู้อยู่เบื้องหลังหลายท่าน เช่น คุณหญิงอัมพร มีสุข คณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ / ครูแดง เตือนใจ ดีเทศน์ ส.ว.เชียงราย /นายวินิจ ล้ำเหลือ ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ ผู้พลัดถิ่น แรงงานต่างด้าว สภาทนายความ/นายกฤษฎา บุญราช อดีตนายอำเภอแม่อาย/ นักวิชาการกฎหมาย และอีกหลายๆท่าน ได้ให้การสนับสนุนชี้แนะ แนะนำข้อกฎหมาย ทั้งรัฐธรรมนูญ กฎหมายสัญชาติ กฎหมายทะเบียนราษฎร ให้ชาวบ้านได้เข้าใจสิทธิของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร และลูกศิษย์ได้ช่วยให้ชาวบ้านตั้งหลักในการต่อสู้โดยสันติวิธี

ชาวแม่อายโดยความช่วยเหลือจากผู้มีความรู้ทางกฎหมายและรักความเป็นธรรมได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และศาลปกครองชั้นต้น(เชียงใหม่) มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๗ ว่าคำสั่งของนายอำเภอไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่ประกาศให้ผู้เสียสิทธิทราบและไม่เปิดโอกาสให้มีการพิสูจน์ ต่อมาวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๘ ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น

ปัญหายังไม่จบ

แม้ผลคำพิพากษาจะปรากฏออกมาแล้ว แต่การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบก็ยังมีปัญหาด้านต่างๆ เช่น เรื่องหนี้สินที่กู้กับธนาคาร เมื่อถูกถอนสัญชาติก็ถูกบอกเลิกสัญญา สิทธิของคนเป็นข้าราชการที่จะเบิกค่ารักษาพยาบาลแม่ที่ป่วยซึ่งถูกถอนชื่อจากทะเบียนราษฎร์ และคนที่ไม่ได้ถูกเพิกถอนสัญชาติแต่ยังไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร์จะดำเนินการกันอย่างไรเพื่อให้ได้สัญชาติ จะพิสูจน์สัญชาติให้ชาวบ้านอย่างไร

รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ และคณะ จึงลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็ง แนะนำวิธีทำสายเครือญาติ เรียงลำดับญาติ ตระกูลต่างๆ วิธีการรวบรวมหลักฐาน รวมตลอดถึงการพิสูจน์ดีเอ็นเอ จนทำให้ชาวบ้านได้รับสัญชาติคืนมาอีก ๑๒๒ คน

การช่วยชาวบ้านแบบมีคนทำให้ทุกอย่าง ย่อมเป็นที่แน่นอนว่าชาวบ้านจะคิดไม่เป็น ช่วยเหลือตัวเองไม่เป็น ต้องร้องขอความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงต้องให้ชาวบ้านศึกษาทำความเข้าใจกับปัญหา รู้จักวิเคราะห์ปัญหา วิธีแก้ไขปัญหา จึงต้องหาแกนนำมาเพิ่มอาวุธทางปัญญา ให้เขาทำความเข้าใจกับข้อกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง จากการร่วมมือกันจากหลายภาคส่วนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ข้าราชการทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น นักการเมือง องค์การยูนิเซฟ แห่งประเทศไทย วันนี้ที่แม่อาย มี “คลินิกกฎหมายชาวบ้านด้านสถานะและสิทธิบุคคล” เกิดขึ้นแล้ว โดยชาวบ้านช่วยเหลือกันเองเป็นทนายเท้าเปล่า ที่มาช่วยเพื่อนบ้านรวบรวมพยานหลักฐานเพราะเขาก็คืออดีตคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ถูกเพิกถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎรนั่นเอง

เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๑ คณะนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง “การเสริมสร้างสังคมสันติสุข” รุ่นที่ ๑ ของสถาบันพระปกเกล้าฯ ได้ลงพื้นที่ศึกษาสภาพปัญหาทั้งในเชิงพื้นที่และในเชิงบุคคลในพื้นที่และศึกษาต้นแบบกระบวนการจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลสำหรับคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย

สิ่งที่ได้พบและข้อเสนอแนะ

ความเข้มแข็งของชุมชนโดยเฉพาะกลุ่มแกนนำที่ให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน ที่แม้ความรู้สายสามัญจะไม่สูงแต่เมื่อเขาได้เรียนรู้การแก้ไขปัญหาให้กับคนในชุมชนโดยกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายสัญชาติ กฎหมายทะเบียนราษฎร ทั้งยังอ้างอิงบทมาตราได้อย่างคล่องแคล่ว แสดงให้รู้ว่าแกนนำชุมชนเหล่านี้รู้กฎหมายเหล่านี้จริง

วิธีการพัฒนาชาวบ้านโดยจัดชั้นเรียนปัญหาของชุมชนโดยแยกห้องเรียนแต่ละปัญหาออกจากกัน เช่น คนไทยที่เกิดในไทยแต่ตกสำรวจ หรือคนสัญชาติอื่นที่ไม่มีประเทศใดรับรองสัญชาติแต่มาอยู่ในพื้นที่แม่อาย เป็นต้น จะทำให้ได้ผู้รู้ประจำชุมชนในเรื่องนั้นๆ เหมาะกับสภาพของแกนนำแต่ละคน

การช่วยให้ชาวบ้านได้เรียนรู้สายลำดับเครือญาติและค้นหาหลักฐานต่างๆมารวบรวมไว้ ค่อนข้างทำได้ดี แต่ที่ได้เห็นปัญหาอย่างชัดเจนคือการเก็บเอกสารไม่เป็นระบบ ประสบการณ์จากการทำสำนวนคดีจึงรู้ว่าหากการเก็บเอกสารแบบที่ชุมชนแม่อายทำอยู่ขณะนี้หากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบไม่อยู่จะไม่สามารถค้นหาหลักฐานใดๆได้เลย จึงได้แนะนำวิธีการจัดการข้อมูล เช่น ให้เก็บแบบเรียงลำดับบ้านเลขที่ในหมู่บ้าน หรือเรียงอักษรชื่อบุคคล ก.ถึง ฮ.หรือจัดหมวดหมู่ประเภทของปัญหา หรือหมวดหมู่ของตระกูล หรือลำดับของผู้มาร้องขอความช่วยเหลือ และแนะนำให้ใช้เครื่องคอมพิเตอร์เก็บข้อมูลเป็นฐานข้อมูลที่ตรวจสอบได้ง่าย เพราะเบื้องต้นเมื่อการเก็บหลักฐานมีเพียงไม่กี่ครอบครัวก็จะไม่ยุ่งยาก มีแฟ้มจำนวนเล็กน้อย แต่เท่าที่เห็นในวันลงพื้นที่พบว่ามีชั้นเก็บเอกสารหลายชั้นมากและในแต่ละชั้นมีแฟ้มจำนวนมาก เมื่อถามว่าจะหาอย่างไรก็ตอบว่าก็คงต้องค้นหา ซึ่งเห็นว่าผิดวิธีและทำให้การทำงานสับสนและล่าช้าได้

       ได้แนะนำการกรอกแบบสอบถามเพื่อกำหนดสถานะบุคคล ฯ โดยให้พยายามกรอกรายละเอียดให้มากที่สุด เพราะเท่าที่ขอตรวจดูพบว่ามักจะกรอกข้อมูลไม่ครบ อาจเป็นเพราะไม่เห็นความสำคัญ ได้แนะนำว่าให้ถือว่าข้อมูลทุกชนิดที่เกี่ยวข้องกับแต่ละบุคคลมีความสำคัญทั้งนั้นและต้องจัดเก็บให้ดี

ได้แนะนำวิธีติดต่อกับทางราชการให้ติดต่อโดยหนังสือและให้เจ้าหน้าที่ลงรับเป็นหลักฐานให้ หากไม่ ได้แนะนำการกรอกข้อมูลแบบสอบถามยอมรับให้ส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ และแนะนำให้เก็บสำเนาเอกสารอย่างน้อยสองชุดเพื่อจะได้เป็นหลักฐานว่าชาวบ้านได้มาติดต่อกับทางราชการจริง

การขอคัดเอกสารจากทางราชการให้ขอให้ทางเจ้าหน้าที่รับรองสำเนาทุกครั้งหากมีการขยายวิธีการนี้ไปยังกลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยตามจุดต่างๆ เช่น กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่จังหวัดระนอง (ทราบว่ามีโครงการต่อยอดจากแม่อายสู่ระนองแล้ว) กลุ่มคนไทยตามแนวตะเข็บชายแดนต่างๆ ก็จะเป็นการดี ต้องมีวิธีการปลุกจิตสำนึกข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับสัญชาติและทะเบียนราษฎรให้เลิกหากินบนความทุกข์ยากของคนไทยด้วยกัน กระตุ้นให้กระบวนการยุติธรรมให้ความสนใจปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติเพิ่มขึ้น โดยอาจขอให้เพิ่มหลักสูตรในการอบรมบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เห็นและเข้าใจความเดือดร้อนของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ และการวิเคราะห์คดีเหล่านี้ด้วยละเอียดรอบคอบและยุติธรรม

ข้อมูลอ้างอิงจาก

    เอกสารประกอบการดูงานภาคเหนือ กลุ่มที่ ๔ : สิทธิทางกฎหมายที่ต้องทวงถามของคนแม่อาย โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร
    เอกสารประกอบการศึกษาดูงานของนักเรียนสถาบันพระปกเกล้า หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง "การเสริมสร้างสังคมสันติสุข" รุ่นที่ ๑ ณ ชุมชนแม่อาย จ.เชียงใหม่ โดยคลินิกกฎหมายชาวบ้าน(ด้านสถานะและสิทธิของบุคคล) อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
    http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9480000125631