ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ภาพถ่าย ภาพยนตร์และพระราชนิยมในการถ่ายภาพยนตร์"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัดที่ 46: บรรทัดที่ 46:
๓. การหลั่งไหลมาของกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศ ถ่ายทำบางฉากที่ไม่เหมาะสม
๓. การหลั่งไหลมาของกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศ ถ่ายทำบางฉากที่ไม่เหมาะสม


พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงมีแนวทางส่งเสริมให้ผู้นำเข้าภาพยนตร์ เจ้าของโรงภาพยนตร์ และผู้สร้างภาพยนตร์ให้มีคุณภาพและ[[ความรับผิดชอบต่อสังคม|ความรับผิดชอบต่อสังคม]] พร้อมทั้งมีมาตรฐานการกำกับดูแลในหมู่วิชาชีพกันเอง โดยโปรดให้ค่อยๆ กวดขันและท้ายที่สุด โปรดเกล้าฯ ให้ตรา[[พระราชบัญญัติภาพยนตร์_พ.ศ._๒๔๗๓|พระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. ๒๔๗๓]] ขึ้น เพื่อเป็นกรอบควบคุมการปฏิบัติ <ref>  พรทิพย์ ดีสมโชค. (๒๕๕๓) . แนวความคิดและวิธีการสื่อสารทางการเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๗. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. หน้า ๑๘๕-๑๙๔.</ref>
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงมีแนวทางส่งเสริมให้ผู้นำเข้าภาพยนตร์ เจ้าของโรงภาพยนตร์ และผู้สร้างภาพยนตร์ให้มีคุณภาพและ[[ความรับผิดชอบต่อสังคม|ความรับผิดชอบต่อสังคม]] พร้อมทั้งมีมาตรฐานการกำกับดูแลในหมู่วิชาชีพกันเอง โดยโปรดให้ค่อยๆ กวดขันและท้ายที่สุด โปรดเกล้าฯ ให้ตรา[[Thailand-film-act-2473.pdf|พระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. ๒๔๗๓ ]]ขึ้น เพื่อเป็นกรอบควบคุมการปฏิบัติ <ref>  พรทิพย์ ดีสมโชค. (๒๕๕๓) . แนวความคิดและวิธีการสื่อสารทางการเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๗. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. หน้า ๑๘๕-๑๙๔.</ref>


== อ้างอิง ==
== อ้างอิง ==

รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:44, 11 พฤศจิกายน 2564

 

ผู้เรียบเรียง : ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล

ศิริน โรจนสโรช
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์


พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยเรื่องการถ่ายรูปมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ในคราวการประกวดรูปถ่ายในงานวัดเบญจมบพิตร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ ทรงส่งรูปภาพ ชื่อว่า “รูปตื่น” เข้าประกวดและได้รับรางวัลเหรียญทองแดง เมื่อเจริญพระชนม์ขึ้น ได้เสด็จพระราชดำเนินต่างประเทศหลายแห่ง เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เป็นต้น ได้ทรงซื้อกล้องถ่ายภาพนิ่ง กล้องถ่ายภาพยนตร์ กล้องถ่ายภาพสามมิติ และกล้องแบบถ้ำมอง

ทรงสนพระราชหฤทัยการถ่ายภาพยนตร์

ในปีที่ทรงพระราชสมภพ พ.ศ. ๒๔๓๖ เป็นปีที่โทมัส เอดิสันผลิตเครื่องฉายภาพยนตร์แบบถ้ำมองหรือ คิเนโตสโคปออกจำหน่าย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการผลิตเครื่องฉายภาพยนตร์ในโลก

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยภาพยนตร์ และโปรดทอดพระเนตรภาพยนตร์ แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าเมื่อทรงพระเยาว์นั้น ทอดพระเนตรภาพยนตร์บ่อยเท่าใด และเรื่องอะไร แต่ในราชสำนักรัชกาลที่ ๕ มีการฉายภาพยนตร์จากต่างประเทศแล้ว จึงน่าจะได้ทอดพระเนตรด้วย ระหว่างที่ทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ พ.ศ. ๒๔๔๘-๒๔๕๗ เป็นช่วงที่ภาพยนตร์ได้รับความนิยมในต่างประเทศมาก น่าจะได้ทอดพระเนตรหลายเรื่อง แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานว่าในช่วงรัชกาลที่ ๖ ได้ทอดพระเนตรภาพยนตร์อะไรหรือทรงริเริ่มการถ่ายภาพยนตร์อะไรบ้าง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อทรงครองราชย์แล้วนับได้ว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรกที่เป็นนักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่น

ใน พ.ศ. ๒๔๖๓ เสด็จฯ ไปทรงศึกษาวิชาทหารที่โรงเรียนเสนาธิการฝรั่งเศส เมื่อเสด็จฯ กลับในพ.ศ. ๒๔๖๗ ทรงแวะสหรัฐอเมริกา ได้ทอดพระเนตรโรงถ่ายภาพยนตร์ที่ฮอลลีวู้ด และทรงคุ้นเคยกับผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ นักแสดง เช่น ดักลาส แฟร์แบ้งก์ส จูเนียร์ และแมรี่ ปิคฟอร์ด ภรรยาซึ่งเป็นหุ้นส่วนก่อตั้งบริษัทยูไนเต็ด อาร์ติส โรงถ่ายภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียง

ในการทรงถ่ายภาพยนตร์ ทรงได้รับคำแนะนำจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ซึ่งโปรดการถ่ายภาพยนตร์เช่นกันและทรงเป็นผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงที่มีหน้าที่ผลิตภาพยนตร์ของรัฐบาล ในการถ่ายภาพยนตร์ ต้องมีการเตรียมฟิล์มดิบ อุปกรณ์ สถานที่ การล้างฟิล์ม พิมพ์ฟิล์ม ตัดต่อ เขียนอักษรคำบรรยายประกอบหนังเงียบซึ่งทรงพระราชนิพนธ์เอง บางทีก็จัดฉาก เครื่องแต่งกาย ซ้อมการแสดง ภาพยนตร์ส่วนพระองค์นี้ระยะแรกเรียกว่า “ภาพยนตร์ทรงถ่าย” ต่อมาเปลี่ยนเป็น “ภาพยนตร์อัมพร” ตามนามของพระที่นั่งอัมพรสถาน ที่ประทับ บางส่วนทรงถ่ายเอง บางส่วนโปรดเกล้าฯ ให้ผู้อื่นหรือกรมรถไฟหลวงถ่าย มีทั้งสารคดี ซึ่งให้ความรู้ต่างๆ เช่น พระราชพิธี ประเพณี และบันเทิงคดี

เนื้อหาของภาพยนตร์อัมพร

ภาพยนตร์สารคดี เช่น เรื่องนาลิวันรำเขนง ทรงถ่ายที่พระที่นั่งอัมพรสถาน มีการแต่งกายผู้รำเหมือนพิธีโล้ชิงช้า ภาพยนตร์การรำมอญ ทรงถ่ายเมื่อเสด็จฯ ปากลัด (ข่าวศรีกรุง ๑๑ ก.พ. ๒๔๗๓) บางเรื่องก็ทรงถ่ายไว้ทอดพระเนตรในกลุ่มผู้ใกล้ชิด เช่นเรื่อง ภัตกรเรือนต้น

ภาพยนตร์ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไทยอีกเรื่องหนึ่งคือ พระราชพิธีเฉลิมพระนคร ๑๕๐ ปี ซึ่งจัดในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นบันทึกภาพและข้อมูลพิธีฉลอง เช่น การเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้า และขบวนเสด็จฯ ข้ามสะพาน การเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๑ พิธีบวงสรวงสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชที่พระนครศรีอยุธยา มีพระสุรเสียงพระราชดำรัสในพิธีบวงสรวง

ภาพยนตร์อัมพร ซึ่งทรงถ่ายด้วยพระองค์เองบางส่วน ยังมีที่บันทึกการเสด็จประพาสในต่างประเทศด้วย เช่นที่สิงคโปร์ ชวา และบาหลี ในพ.ศ. ๒๔๗๒ และที่อินโดจีนของฝรั่งเศส (เวียดนาม และกัมพูชาในปัจจุบัน) ในพ.ศ. ๒๔๗๓ ที่ชวานั้น เป็นที่น่าสังเกตมากว่าทรงบันทึกเรื่องราวที่สลักบนหิน ณ โบราณสถานปรัมบานันและบุโรพุทโธไว้อย่างละเอียดละออ แสดงถึงความสนพระราชหฤทัยในโบราณคดี

ภาพยนตร์บันเทิง มีการดำเนินเรื่อง ตามที่มีร่องรอยหลักฐานมีอย่างน้อยที่สุด ๔ เรื่อง ได้แก่ พระเจ้ากรุงจีน ชิงนาง ภาพยนตร์แนวจักรๆ วงศ์ๆ ที่ไม่ทราบชื่อ และแหวนวิเศษ

เรื่องพระเจ้ากรุงจีนเป็นภาพยนตร์แนวตลกล้อเลียน เป็นเรื่องของชาวตะวันตกที่ไปเข้าเฝ้าฯ พระเจ้า กรุงจีน แต่ไม่ยอมปฏิบัติตามธรรมเนียมจีน พระเจ้ากรุงจีนกริ้ว สั่งให้นำตัวไปประหารแต่เปลี่ยนพระทัยให้นำตัวมาเข้าเฝ้าฯใหม่ จึงกราบบังคมทูลเรื่องธรรมเนียมฝรั่งให้ทรงทราบ แต่เรื่องนี้ยังไม่ได้ทรงตัดต่อและ ประกอบคำบรรยาย เรื่องแหวนวิเศษ เป็นภาพยนตร์บันเทิงที่ฟิล์มภาพยนตร์ยังคงสภาพมาถึงปัจจุบันอย่างสมบูรณ์ที่สุด และเป็นภาพยนตร์บันเทิงที่ทรงทำสำเร็จสมบูรณ์ เนื้อเรื่องกล่าวถึงนายคง ซึ่งมีภรรยาเป็นแม่หม้ายลูกติด นายคงไม่ชอบลูกเลี้ยงทั้ง 5 คน จึงพาลูกเลี้ยงไปปล่อยในป่า แต่ลูกเลี้ยงเดินพเนจรไปจนพบนางพรายน้ำ นางพรายน้ำมอบแหวนวิเศษ ซึ่งสามารถเนรมิตสิ่งที่ปรารถนาได้ทุกอย่าง ลูกๆ เดินมาพบพ่อเลี้ยง จึงเล่าเรื่องนางพรายน้ำและแหวนวิเศษให้พ่อเลี้ยงฟัง ต่อมาพ่อเลี้ยงจึงแอบขโมยแหวน แต่ถูกลูกจับได้จึงถูกสาปเป็นสุนัข แต่ด้วยความเมตตาของลูกคนเล็ก พ่อเลี้ยงจึงกลายเป็นคนดี แล้วทุกคนก็กลับบ้านอย่างมีความสุข ภาพยนตร์เรื่องนี้สอนคุณธรรมแก่เด็กคือให้รู้จักความดี ความชั่ว เช่น ความเมตตา การให้อภัย ความสามัคคีในกลุ่ม ความช่วยเหลือกันและกัน และสอนไม่ให้เชื่องมงายในอำนาจเร้นลับมากกว่าคำสอนของศาสนา

ทรงสนับสนุนกิจการภาพยนตร์ไทย

พระองค์ไม่ได้เพียงแต่ทรงถ่ายภาพยนตร์เป็นการส่วนพระองค์เท่านั้น ยังได้ทรงสนับสนุนกิจการภาพยนตร์ในประเทศด้วย ในพ.ศ. ๒๔๗๓ โปรดเกล้าฯ ให้มีการประชุมนักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่นแล้วก่อตั้งสมาคมภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งสยาม (Amateur Cinema Association of Siam – A.C.A.S) เป็นสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ มีสำนักงานอยู่ในบริเวณสวนจิตรลดา สมาชิกประชุมกันเดือนละครั้ง เพื่อนำภาพยนตร์ฝีมือของตนไปฉายให้ได้ติชมกัน ทำนอง “เพื่อนช่วยเพื่อน” โปรดเกล้าฯ ให้ทำแหนบหรือเข็มชนิดหนึ่งด้วยทองคำแบบตราอาร์ม มีอักษรลงยาในวงตราว่า “ส.ภ.ส.” เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้ง มีพระมหามงกุฎอยู่เบื้องบนตัวอักษร ในกรอบสี่เหลี่ยมตัดกันคล้ายแผ่นฟิล์มภาพยนตร์ ในการประชุมครั้งหนึ่ง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำภาพยนตร์อัมพรของหลวง เรื่องการเสด็จประพาสเกาะบาหลีออกฉาย และยังได้เสด็จฯ พระราชทานคำอธิบายเป็นตอนๆ โดยตลอดด้วย ซึ่งมีรายงานว่า “พระราชกระแส แจ่มใสไพเราะ และยังพระราชทานความขบขันอีกหลายตอน” [1]

สำหรับภาพยนตร์ที่จะออกฉายแก่สาธารณชนในโรงนั้น ทอดพระเนตรภาพยนตร์ก่อนการฉายในกรณีที่ผลิตในประเทศไทย และพระราชทานคำแนะนำแก่ผู้สร้าง เช่น ภาพยนตร์โชคสองชั้น ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่สร้างโดยคนไทยคือกลุ่มกรุงเทพภาพยนตร์บริษัท เมื่อบริษัทภาพยนตร์พัฒนากรทดลองผลิตภาพยนตร์เสียง ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทอดพระเนตรก่อน ต่อมาจึงเกิดภาพยนตร์ไทยมีเสียงเรื่องแรกคือ หลงทาง ฉายวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕ นอกจากนั้น ยังพระราชทานเงินสร้างโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงซึ่งเปิดให้ประชาชนชมภาพยนตร์รอบปฐมฤกษ์คือ เรื่องมหาภัยใต้ทะเลเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๖

ในทางพระบรมราโชบาย เพื่อสนองตอบต่อสภาวการณ์ ๓ อย่าง คือ

๑.การฉายภาพยนตร์จากต่างประเทศที่มีเนื้อหาสอนกลเม็ดแก่โจรผู้ร้ายหรือบ่มเพาะความคิดทางการเมืองและอุปนิสัยของพลเมืองในทางที่เสื่อมเสียต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรม

๒. สภาพของโรงภาพยนตร์ที่ไม่มีความสะอาดหรือมาตรการรักษาความปลอดภัยจากเพลิงไหม้

๓. การหลั่งไหลมาของกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศ ถ่ายทำบางฉากที่ไม่เหมาะสม

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงมีแนวทางส่งเสริมให้ผู้นำเข้าภาพยนตร์ เจ้าของโรงภาพยนตร์ และผู้สร้างภาพยนตร์ให้มีคุณภาพและความรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมทั้งมีมาตรฐานการกำกับดูแลในหมู่วิชาชีพกันเอง โดยโปรดให้ค่อยๆ กวดขันและท้ายที่สุด โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. ๒๔๗๓ ขึ้น เพื่อเป็นกรอบควบคุมการปฏิบัติ [2]

อ้างอิง

  1. โดม สุขวงศ์. (๒๕๓๗). พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กับภาพยนตร์ ในเอกสารประกอบการประชุมวิชาการ เรื่อง สังคมไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดโดย สถาบันไทยคดีศึกษาและฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๗-๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ . หน้า ๑๔-๑๘.
  2. พรทิพย์ ดีสมโชค. (๒๕๕๓) . แนวความคิดและวิธีการสื่อสารทางการเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๗. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. หน้า ๑๘๕-๑๙๔.

บรรณานุกรม

โดม สุขวงศ์. (๒๕๓๔). หลงทาง: หนังไทยพูดได้เรื่องแรกเฉลิมฉลองกรุงเพทฯ ๑๕๐ปี. ความรู้คือประทีป ๒, ๗-๑๕.

โดม สุขวงศ์. (๒๕๓๗). พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กับภาพยนตร์ ในเอกสารประกอบการประชุมวิชาการ เรื่อง สังคมไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดโดย สถาบันไทยคดีศึกษาและฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๗-๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗.

โดม สุขวงศ์. (๒๕๓๘). พบโชคสองชั้น: หนังไทยเรื่องแรก. ศิลปวัฒนธรรม ๑๖ (๑๒), ๒๐๘-๒๑๓.

โดม สุขวงศ์. (๒๕๓๙). พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กับภาพยนตร์. กรุงเทพฯ: ต้นอ้อ แกรมมี่. นิทานของลุงเรื่อง “แหวนวิเศษ” ภาพยนตร์ฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และภาพยนตร์ พุทธประวัติ “บุรพประทีป”. (๒๕๓๐). กรุงเทพฯ: มูลนิธิหนังไทย หอภาพยนตร์แห่งชาติ กรมศิลปากร.

พรทิพย์ ดีสมโชค. (๒๕๕๓). แนวความคิดและวิธีการสื่อสารทางการเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๗. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ศักดา ศิริพันธุ์. (๒๕๓๕). พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการถ่ายรูป ใน กษัตริย์ & กล้องวิวัฒนาการการถ่ายภาพในประเทศไทย พ.ศ. ๒๓๘๘-๒๕๓๕. กรุงเทพ ฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์.