ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ปรีดี พนมยงค์ : หัวหน้าเสรีไทย"
สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร ผู้ท..." |
ล Apirom ย้ายหน้า ปรีดี พนมยงค์ (ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร) ไปยัง [[ปรีดี พนมยงค์ : หัวหน้า... |
(ไม่แตกต่าง)
|
รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 21:33, 6 พฤษภาคม 2563
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
ปรีดี พนมยงค์ : หัวหน้าเสรีไทย
ปีนี้ถ้านับตั้งแต่วันที่มีเสรีไทยมา ก็นับได้ว่าเข้าปีที่ 75 แล้ว ถ้าเราไม่ลืมว่าวันที่ญี่ปุ่นบุกไทย คือวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 และเมื่อรัฐบาลไทยได้ยอมให้กองทัพ “ลูกพระอาทิตย์” เดินทัพผ่านไทย จึงได้มีคณะบุคคลร่วมกันจัดตั้งเป็นองค์การต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นในเมืองไทย ที่ต่อมาได้พัฒนามาเป็นขบวนการเสรีไทย
ดังนั้นปีนี้จึงเป็นปีที่ 75 ที่เราน่าจะนึกถึงคนสำคัญคนหนึ่งของขบวนการเสรีไทย ท่านผู้นี้คือ นาย ปรีดี พนมยงค์ ผู้มีชื่อรหัสในการปฏิบัติงานเสรีไทยว่า “รูธ” ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤต งานของขบวนการเสรีไทยเป็นงานสำคัญที่มีผลช่วยประเทศไทยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ประเทศไทยสามารถต่อสู้ให้ประเทศไม่ต้องตกเป็นฝ่ายที่แพ้สงคราม แม้รัฐบาลไทยในเวลาสงครามได้เคยประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรไว้ก็ตาม
เรื่องการตั้งขบวนการเสรีไทยนั้นนาย ปรีดี พนมยงค์ ได้เคยให้การไว้ว่า
“...ในเรื่องการต่อต้านญี่ปุ่นนี้ คือเริ่มกระทำตั้งแต่ในวันแรกที่ญี่ปุ่นเข้ามาในเมืองไทย แล้วต่อมาได้ชักชวนเพื่อนฝูงหรือบุคคลที่สนิทสนมให้เข้าร่วมในส่วนภายในนี้เป็นจำนวนมาก และแม้แต่ในส่วนที่อยู่ในต่างประเทศก็มีบรรดาผู้ที่รู้จักหรือชอบพอกันหลายคนปฏิบัติการในต่างประเทศ”
ทั้งนี้ท่านยังให้การเพิ่มเติมไว้อีกตอนหนึ่งว่า
“เมื่อญี่ปุ่นได้ขึ้นประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมแล้ว ได้มีเพื่อนฝูงมาหาข้าพเจ้าหลายคน ได้ถามความเห็นของข้าพเจ้าว่านี่เราจะปล่อยประเทศให้เป็นอยู่เช่นนี้หรือ ข้าพเจ้าได้บอกไปว่าความคิดของข้าพเจ้ามีอยู่แล้ว เมื่อมีใครมารับอาสาก็จะใช้ให้ไป ผู้ที่ข้าพเจ้าใช้ให้ไปเป็นคนแรกก็คือหลวงกาจสงคราม”
ดังนั้นกลุ่มคนที่ร่วมกันคิดต่อต้านญี่ปุ่นจึงเริ่มขึ้นแทบจะทันที หลังเหตุการณ์ญี่ปุ่นบุกไทยในวันที่ 8 ธันวาคม ปี 2484 นั่นเอง และหัวหน้ากลุ่มเสรีไทยตั้งแต่แรกก็คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น ซึ่งได้แก่นาย ปรีดี พนมยงค์ ที่ต่อมาอีก 8 วันก็ต้องพ้นหน้าที่จากรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล เพราะได้ออกมาร่วมอยู่ในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะท่านเป็นบุคคลเป้าหมายที่ทางญี่ปุ่นไม่พอใจ ดังคำของท่านเองว่า
“...รัฐบาลในขณะนั้นบอกว่า ญี่ปุ่นไม่พอใจข้าพเจ้าว่าเป็นพวกสหประชาชาติ ญี่ปุ่นอยากให้ข้าพเจ้าออกจากรัฐบาล เพื่อให้ขาดจากอำนาจทางฝ่ายบริหาร แต่อยากจะให้อยู่ในตำแหน่งอะไรก็ได้ที่มีเกียรติยศ แต่ทำอะไรไม่ได้ ก็หมายความว่า เขาบุ้ยมาให้เป็นผู้สำเร็จฯ เพราะมีตำแหน่งว่างอยู่หนึ่งตำแหน่ง”
ก่อนที่จะติดตามดูเรื่องราวการทำงานเสรีไทยของนายปรีดี พนมยงค์ เรามารู้จักชีวิตและการทำงานของนายปรีดี ที่ได้ทำมาก่อนงานเสรีไทยบ้าง จะได้ทราบถึงชีวิตและบทบาทต่างๆของท่านในสังคมไทยที่มีมาก่อน เมื่อปี 2484 นั้นท่านอายุ 41 ปี เพราะเกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2443 ที่แพริมน้ำหน้าวัดพนมยงค์ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเป็นบุตรของนายเสียง และนาง ลูกจันทร์ พนมยงค์ ซึ่งเป็นเจ้าของนาเมืองกรุงเก่า ท่านจึงได้เรียนเบื้องต้นที่ตัวจังหวัด สำหรับที่พระนครนั้นท่านเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ก่อนที่จะเข้าไปศึกษากฎหมายที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมจนจบกฎหมายชั้นเนติบัณฑิต และการที่เป็นนักเรียนที่เรียนเก่งจึงได้รับทุนกระทรวงยุติธรรมไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศสจบปริญญาเอกทางกฎหมาย ตอนนั้นท่านนับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ปริญญาเอกแห่งรัฐของฝรั่งเศส กลับมาเมืองไทยมารับราชการเป็นผู้พิพากษา ได้บรรดาศักดิ์เป็นหลวงประดิษฐ์มนูธรรมในปี 2471
บทบาทสำคัญของนายปรีดี ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 นั้นก็คือเป็นหัวหน้ากลุ่มผู้ก่อการฯฝ่ายพลเรือน ซึ่งสมัยเมื่อครั้งเรียนหนังสืออยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสนั้นท่านเป็นผู้เริ่มคิดกับเพื่อนอีกหกคนในเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพื่อนทั้งหกคนคือ ประยูร ภมรมนตรี แปลก ขิตตะสังคะ ทัศนัย มิตรภักดี ตั้ว ลพานุกรม จรูญ สิงหเสนี และแนบ พหลโยธิน เมื่อทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯได้ จึงมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย ที่ท่านเป็นผู้ร่าง คือพระราชบัญญัติการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475 ที่เป็นกติกาการปกครองระบอบราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นการปกครองรูปแบบรัฐสภาที่ประเทศไทยได้ใช้กันสืบต่อมา
ในทางการเมือง หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองฯแล้ว นายปรีดีได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกคนหนึ่งในจำนวนสมาชิกทั้งหมด 70 คน และก็ได้ร่วมรัฐบาลชุดแรกโดยเป็นรัฐมนตรีลอย ทั้งยังเป็นเลขาธิการคนแรกของสภาฯ ท่านมามีบทบาทในรัฐบาลชุดที่สองสมัยที่พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะท่านผลักดันให้มีกฎหมายเทศบาลฉบับแรกเมื่อเดือนมีนาคมปี 2476 อันเป็นกฎหมายกระจายอำนาจฉบับแรกที่ก่อให้เกิดการปกครองรูปแบบเทศบาล และในเวลาเดียวกันนี้ ท่านก็ได้ดำเนินการให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นมหาวิทยาลัยที่สองของประเทศ โดยท่านเองดำรงตำแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย ต่อมาท่านก็จึงได้เป็นรัฐมนตรีมหาดไทยที่ไปดูแลเรื่องการกระจายอำนาจ จากนั้นท่านย้ายกระทรวงมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ได้แก้ไขสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับต่างชาติได้ลุล่วงไปด้วยดีในปี 2481แล้วจึงมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสมัยที่หลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี และก็เป็นรัฐมนตรีคลังที่ค้าน ไม่เห็นด้วยที่จะให้ญี่ปุ่นกู้เงิน ซึ่งน่าจะเป็นอีกเหตุหนึ่งด้วยที่ทำให้ท่านต้องพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกจากรัฐบาลจึงทำให้ท่านทำงานเสรีไทยได้เต็มที่
กลับมาดูการปฏิบัติงานของเสรีไทย ที่เริ่มต้นกันเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 กันอีกครั้ง ผู้ที่ร่วมคิดและแสดงตนเข้าร่วมเป็นร่วมตายในวันนั้นซึ่งผู้ที่ได้รับการยอมรับให้เป็นหัวหน้า คือนาย ปรีดี พนมยงค์ ได้เขียนระบุว่ามี
“เมื่อข้าพเจ้ากลับถึงบ้านแล้วก็พบเพื่อนหลายคนที่มาคอยอยู่ อาทิ หลวงบรรณกรโกวิท (เปาว์ จักกะพาก) นาย สงวน ตุลารักษ์ นายจำกัด พลางกูร นายวิจิตร ลุลิตานนท์ นายเตียง ศิริขันธ์ นายถวิล อุดล ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ (หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์ )ฯลฯ”
ท่านระบุรายชื่อชัดเจนเท่านี้ แต่น่าจะมีคนอื่นอีก เพราะลงท้ายว่า "ฯลฯ" ส่วนภารกิจของ “องค์การต่อต้านญี่ปุ่น” ที่เป็นชื่อเริ่มแรกของขบวนการเสรีไทยนั้นหัวหน้าองค์การฯเขียนเล่าว่ามี 2 ด้าน
“('1) ต่อสู้ญี่ปุ่นผู้รุกราน โดยพลังของคนไทยผู้รักชาติ และร่วมกับสัมพันธมิตรสมัยนั้น
('2) ปฏิบัติการเพื่อให้สัมพันธมิตรรับรองว่า เจตนารมณ์แท้จริงของราษฎรไทยไม่เป็นศัตรูต่อสัมพันธมิตร”
ที่สำคัญนั้นปรากฏว่าต่อมาเมื่อรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี หลวงพิบูลสงครามได้ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรแล้ว องค์การจึงได้เพิ่มภารกิจเข้าไปอีกว่า “ปฏิบัติการเพื่อให้สัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม และการผ่อนหนักเป็นเบา”
งานที่องค์การนี้คิดจะปฏิบัติการไม่ใช่เรื่องเล็กแต่อย่างใด เพราะคิดตั้งรัฐบาลขึ้นอีกรัฐบาลต่อต้านญี่ปุ่นทางภาคเหนือ โดยจะใช้กำลังยึดชุมทางรถไฟที่ปากน้ำโพก่อนที่ญี่ปุ่นจะยึด และนายทหารที่เข้ามาร่วมงานในคืนนั้นคือ นาวาอากาศเอกหลวงกาจสงคราม ซึ่งอาสาเข้ามาช่วยโดยบอกว่าพอจะมีกำลังทหารอยู่ในมือด้วย แต่แผนนี้ก็ทำไม่ได้เพราะญี่ปุ่นได้ส่งทหารไปควบคุมได้ก่อน
การทำงานเสรีไทยนั้นสถานที่ซึ่งเป็นเสมือนศูนย์บัญชาการ มีอยู่ด้วยกัน 2 แห่ง ที่แรกคือบ้านพักผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายปรีดี พนมยงค์ ตั้งอยู่ที่ถนนพระอาทิตย์ ใกล้ๆกับท่าช้างวังหน้า จึงถูกเรียกว่า “ทำเนียบท่าช้าง”
เพราะเป็นสถานที่ซึ่งหัวหน้าเสรีไทยนัดพบผู้ร่วมงานและสั่งงานต่างๆ ส่วนอีกแห่งหนึ่งก็คือห้องทำงานของผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งขณะนั้นก็คือนายปรีดี ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยคนแรกและคนเดียวของมหาวิทยาลัยนั่นเอง ท่านได้ปรึกษางานและสั่งการให้ปฏิบัติงาน ณ ที่แห่งนี้ นอกจากนั้นในบริเวณมหาวิทยาลัยนี้ยังเป็นที่ตั้งค่ายกักกันคนชาติศัตรู ซึ่งก็คือคนอังกฤษและคนอเมริกัน ดังคำบอกเล่าของท่านผู้ประศาสน์การ
“รองนายกรัฐมนตรีจึงไปพบข้าพเจ้า ขอแบ่งสถานที่ส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ฯเพื่อกักกันคนสัญชาติดังกล่าว โดยขอให้มหาวิทยาลัยจัดเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเป็นผู้ดูแลค่ายกักกันนี้...”
เมื่อรัฐบาลของหลวงพิบูลฯได้ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรในตอนต้นปี 2485 ทำให้มีกลุ่มเสรีไทยเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ที่นำโดยอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ต่อมาทางอังกฤษก็สามารถตั้งกลุ่มเสรีไทยขึ้นมาได้ แต่องค์การต่อต้านญี่ปุ่นในเมืองไทยก็ยังติดต่อกับทางต่างประเทศไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ ตอนปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2486 นายปรีดี จึงส่งนายจำกัด พลางกูร แอบเดินทางไปจีนเพื่อติดต่อกับรัฐบาลของจอมพลเจียงไคเชคที่เมืองจุงกิง เพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรทราบว่ามีกลุ่มคนไทยที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลและต่อต้านญี่ปุ่น และนายจำกัด พลางกูร ก็เป็นเสรีไทยคนแรกที่ต้องเสียชีวิตขณะปฏิบัติงาน เพราะป่วยหนักที่นั่น จากนั้นยังส่งนายสงวน ตุลารักษ์ ไปติดต่อทั้งที่จีนและสหรัฐอเมริกา ส่งพระพิศาลสุขุมวิทย์ หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ นายแผน วรรณเมธี และคนอื่นๆไปติดต่อกับสหรัฐอเมริกา และเสรีไทยทั้งจากอังกฤษและอเมริกาก็โดดร่มเข้ามาทำงานในไทยกันหลายคน รวมทั้ง"นายเข้ม "หรือ ป๋วย อึ้งภากรณ์ ในเมืองไทยเองก็ได้เตรียมฝึกผู้คน และเตรียมอาวุธไว้พร้อมทั้งในพระนครและต่างจังหวัด เผื่อจำเป็นจะต้องสู้รบ
ในที่สุดการเมืองภายในประเทศก็สุกงอม ได้เวลาเปลี่ยนรัฐบาลของหลวงพิบูลฯตามรัฐธรรมนูญ พระราชกำหนด 2 ฉบับที่รัฐบาลประกาศใช้แพ้เสียงจึงไม่ผ่านออกมาเป็นกฎหมาย หลวงพิบูลฯลาออกจากนายกฯในเดือนกรกฎาคม ปี 2487 นายควง อภัยวงศ์ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี และในวันที่ 16 สิงหาคม ปี 2488 ไทยก็สามารถประกาศสันติภาพได้ ตามมาด้วยการมีนายทวี บุณยเกตุ และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าเสรีไทยสายอเมริกาเข้ามาเป็นนายกฯตามลำดับ
หลังสงครามขบวนการเสรีไทยก็สลายตัว ทุกฝ่ายหันหน้าเข้ามาช่วยกันและพยายามไม่ให้ประเทศไทยต้องเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ และในปี 2488 สมัยรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์นั่นเองท่านหัวหน้าเสรีไทยก็ได้รับแต่งตั้งเป็น “รัฐบุรุษอาวุโส” แต่ท่านยังไม่ได้กลับเข้ามาสู่วงการเมือง หลังการเลือกตั้งในเดือนมกราคม ปี 2489 นายควง ได้กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง แต่รัฐบาลเกิดแพ้เสียงในสภาฯจนต้องลาออก ถึงตอนนั้นสภาฯ จึงได้ไปขอให้หัวหน้าเสรีไทยในอดีต นายปรีดีมาเป็นหัวหน้ารัฐบาล และหลังกรณีสวรรคตเกิดขึ้น ก็มีแรงบีบคั้นทางการเมืองมากท่านจึงวางมือจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อมาในปี 2490 คณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจล้มรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ท่านได้เดินทางหลบไปต่างประเทศ แต่ได้เดินทางกลับเข้ามาไทยตอนต้นปี 2492 เพื่อล้มรัฐบาลของคณะรัฐประหาร แต่ทำการไม่สำเร็จ ท่านจึงเดินทางไปลี้ภัยอยู่ที่จีน ก่อนจะย้ายไปอยู่ที่ฝรั่งเศส
หัวหน้าใหญ่เสรีไทย นายปรีดี พนมยงค์ พำนักอยู่ที่ฝรั่งเศสต่อมาจนอสัญกรรมในวันที่ 2 พฤษภาคม ปี 2526