ผลต่างระหว่างรุ่นของ "หลวงวิจิตรวาทการ : ยอดที่ปรึกษา"
สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร ผู้ท..." |
ล Apirom ย้ายหน้า หลวงวิจิตรวาทการ (ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร) ไปยัง [[หลวงวิจิตรวาทการ :... |
(ไม่แตกต่าง)
|
รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 17:45, 6 พฤษภาคม 2563
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
หลวงวิจิตรวาทการ : ยอดที่ปรึกษา
ผู้นำทางการเมืองระดับหัวหน้ารัฐบาลนั้นไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือประธานาธิบดีจะมี “ที่ปรึกษา” เพราะผู้นำรัฐบาลมีเรื่องสำคัญที่ต้องตัดสินใจ การตัดสินใจของหัวหน้ารัฐบาลนั้นย่อมมีผลกระทบอย่างมากต่อบ้านเมืองที่ท่านผู้นำเป็นผู้ปกครองและบริหารได้ ในเมืองไทยนั้นหัวหน้ารัฐบาลหลายท่านก็มีที่ปรึกษาสำคัญที่มีความรู้ความสามารถ และก็มีทั้งที่เปิดเผยตัวและที่ไม่เปิดเผยตัว ถ้าเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยแล้วหลายท่านมีที่ปรึกษาและเปิดเผยให้รู้กันพอสมควร นายกรัฐมนตรีคนแรก คือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดานั้นไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นที่ปรึกษาสำคัญ แต่สำหรับนายกรัฐมนตรีคนที่สอง พระยาพหลพลพยุหเสนานั้น ที่ปรึกษาสำคัญของท่าน คือ ท่านวรรณไวทยากร หรือภายหลัง คือ กรมหมื่นนราธิปพงษ์ประพันธ์ ท่านสำคัญถึงขนาดนายกรัฐมนนรีต้องขออนุญาตต่อสภาผู้แทนราษฎรให้ที่ปรึกษาท่านนี้เข้าไปชี้แจงในสภาผู้แทนฯได้
ในครั้งนี้จะคุยถึงยอดที่ปรึกษาของนายกฯท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้มีบทบาทหลายด้าน ทั้งในวงการการเมือง วงการประวัติศาสตร์ วงการวรรณกรรม และวงการศิลปะการแสดง ตลอดจนวงการทูต ท่านผู้นี้ คือ พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ท่านมียศทหารถึงพลตรี แต่บทบาททางทหารของท่านนั้นดูจะมีอยู่น้อยมาก เพราะท่านได้ยศทางทหารอันเนื่องมาจากความสามารถทางด้านอื่นที่ส่งเสริมให้ท่านได้รับการพิจารณายศทางทหารของกองทัพบก ชีวิตและงานของพลตรีหลวงวิจิตรวาทการนั้นมีหลายฉาก และเป็นที่น่าสนใจมากด้วย
หลวงวิจิตรวาทการเป็นคนต่างจังหวัด บ้านเกิดของท่านอยู่ที่จังหวัดอุทัยธานี ท่านเกิดเมื่อวันที่ 11 เดือนสิงหาคม ปี 2441 บนแพที่พักของบิดามารดาที่จอดอยู่ในแม่น้ำสะแกกรัง หน้าบ้านนายอำเภอผู้เป็นตา บิดาของท่าน ชื่อ อิน มารดาชื่อ คล้าย เมื่อเกิดนั้นท่านมีชื่อว่า “กิมเหลียง” นามสกุลที่ใช้ก็คือ วัฒนปฤดา ที่ท่านตั้งขึ้น ชื่อของท่านนี่เองที่มีผู้เข้าใจว่าท่านเป็นลูกจีน แต่ท่านได้เคยบอกให้รู้กันว่าท่านเป็นลูกไทย ให้ดูที่ชื่อของบิดามารดาของท่านก็ได้ เมื่อยังเล็กท่านได้รับการศึกษาเบื้องต้น ชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดขวิด ที่จังหวัดอุทัยธานี ต่อมาท่านได้เล่าเอาไว้ว่า “พ่อแม่ไม่มีทุนจะให้เข้าศึกษาต่อไป จึงเปลี่ยนวิธีใหม่ ได้เข้าศึกษาในทางธรรมอยู่ในวัดมหาธาตุ ตั้งแต่อายุ 13 ขวบ จนถึงอายุ 20 ปี” จากนั้นท่านได้สึกจากพระสงฆ์ หลังจากจบได้เปรียญ 5 ประโยค สอบได้เป็นที่หนึ่งของประเทศ ออกมาเป็น “มหา” หนุ่ม
ออกจากวัดแล้วท่านมหากิมเหลียงก็สอบเข้าทำงานเป็นเสมียนที่กระทรวงการต่างประเทศ คนที่เข้าทำงานเป็นเสมียนกระทรวงนี้ในตอนต้น แล้วได้ดีมีตำแหน่งสำคัญของบ้านเมืองในตอนท้ายก็มีอยู่หลายคน มหากิมเหลียงนั้นต่อมาก็ได้เป็นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเลยทีเดียว ท่านเป็นคนทำงานดี ทำอยู่ประมาณ 2 ปีกว่าก็ได้ออกไปเป็นผู้ช่วยเลขานุการสถานทูตไทยที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ท่านออกเดินทางไปพร้อมกับ นายจรูญ สิงหเสนี หรือหลวงสิริราชไมตรี ที่ไปเป็นเลขานุการสถานทูต และนายจรูญ ผู้นี้เองที่เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ประชุมหารือกันเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินที่นครปารีส แต่นายกิมเหลียงก็มิได้ร่วมในกลุ่มผู้ก่อการฯ ท่านอยู่ที่ปารีส 6 ปี ก็ถูกย้ายไปยังสถานทูตไทยที่นครลอนดอน ไปอยู่ที่อังกฤษอีก 3 ปีจึงได้เดินทางกลับประเทศไทยในปี 2470 แม้จะไปเริ่มเรียนระดับมหาวิทยาลัยทั้งที่ฝรั่งเศสและอังกฤษ แต่ต้องทำงานด้วย ดังนั้น ท่านจึงไม่ได้ปริญญากลับมา ส่วนความรู้และประสบการณ์นั้นมีเต็มตัว กลับมาที่กระทรวงมีฝีมือจึงได้ขึ้นเป็นหัวหน้ากองการเมืองในปี 2474 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ หนึ่งปี ตอนนั้นท่านก็ได้รับเชิญไปปาฐกถาบ้างแล้ว หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ หน้าที่การงานก็ยังดีได้เป็นเจ้ากรมปกาสิต ด้วยเป็นผู้ที่มีฝีมือในงานประพันธ์ หลวงวิจิตรวาทการจึงมีงานเขียนทั้งที่เป็นเรื่องแต่ง และบทความออกเผยแพร่
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองฯได้ไม่นาน หลวงวิจิตรวาทการก็ได้เขียนหนังสือการเมืองออกเผยแพร่สองเล่ม เล่มแรกคือ “การเมืองการปกครองของกรุงสยาม” ซึ่งขายดีมาก ถัดมาอีกเดือนหนึ่งท่านก็เขียน “คณะการเมือง” ออกมาเผยแพร่ เล่มหลังนี้ คือ หนังสือว่าด้วยพรรคการเมืองนั่นเอง จากนั้นไม่นานท่านก็ลาออกจากการรับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศที่คนแย่งกันเข้าทำงาน ออกรับบำนาญเพื่อเป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ มีคนคิดกันว่าท่านลาออกมาเพื่อคิดจะเล่นการเมืองในแนวทางประชาธิปไตย และคิดตั้งพรรคการเมือง ดังที่มีเล่าอยู่ในหนังสืองานศพของท่านว่า
“...เมื่อหลวงวิจิตรออกจากราชการแล้ว ก็รวมคนดีมีปัญญาได้หลายคน มีพระยาโทณวนิกมนตรี (วิสุทธิ์ โทณวนิก) อดีตเสนาบดีว่าการกระทรวงการคลัง สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นต้น ตั้งคณะการเมืองขึ้นคณะหนึ่ง ให้ชื่อว่า ‘คณะชาติ’...”
แต่พรรคการเมืองชื่อ “คณะชาติ” ก็ตั้งไม่ได้ เพราะนายกรัฐมนตรี พระยามโนกรณ์นิติธาดาไม่เห็นด้วยที่จะให้มีคณะการเมืองหรือพรรคการเมืองในเวลานั้น จึงไม่ให้ตั้งและไม่ให้สมาคมคณะราษฎรที่ได้จัดตั้งมาก่อนมีอยู่ต่อไปด้วย เหตุที่ว่านี้เกิดขึ้นตอนปลายปี 2475 (สมัยนั้นเดือนสุดท้ายของปีคือเดือนมีนาคม)
หลวงวิจิตรวาทการออกจากราชการมาไม่นานนักท่านก็กลับเข้ารับราชการใหม่ คราวนี้บอกกันว่าเพื่อนของท่านในคณะราษฎรได้ชวนให้ท่านกลับเข้ารับราชการ และยังเล่าอีกว่าท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนี่เองที่เป็นการเปิดทางให้ท่านขึ้นเป็นอธิบดีกรมศิลปากรในเวลาต่อมา เขาว่ากันว่าท่านได้รับความสนับสนุนจากคนสำคัญในคณะราษฎรสองท่านคือนายพันเอกหลวงพิบูลสงครามและหลวงประดิษฐ์มนูธรรม
ชีวิตการเมืองของหลวงวิจิตรวาทการที่ทำท่าจะเริ่มต้นตอนที่คิดตั้ง “คณะชาติ” เมื่อปลายปี 2475 เพื่อแข่งขันกับสมาคมคณะราษฎร ในรูปแบบที่เป็นพรรคการเมือง แต่ไม่ลุล่วงมาได้นั้น ปรากฏว่าในที่สุดฝีมือการทำงานของท่านก็ทำให้ผู้มีอำนาจในคณะราษฎรนำเอาหลวงวิจิตรเข้าร่วมรัฐบาลในวันที่ 2 สิงหาคม ปี 2480 เป็นรัฐมนตรีลอยของรัฐบาลที่มีพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่รัฐบาลนี้อายุสั้นอยู่ได้ไม่ถึง 5 เดือน เพราะนายกฯ ยุบสภาในวันที่ 21 ธันวาคม ปี 2480 หลังการเลือกตั้งใหม่ พระยาพหลฯได้กลับมาเป็นนายกฯใหม่อีกครั้ง หลวงวิจิตรวาทการก็ยังได้ร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีลอยเหมือนเดิม จนถึงวันที่ 16 ธันวาคม ปี 2481 นายกรัฐมนตรีท่านก็ยุบสภาฯอีก
หลังเลือกตั้งคราวนี้พระยาพหลฯไม่ได้กลับมาเป็นนายกฯ มีการเปลี่ยนตัวหัวหน้ารัฐบาล ได้อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คือ นายพันเอกหลวงพิบูลสงครามขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ปรากฏว่าหลวงวิจิตรฯ ก็ได้เข้าร่วมรัฐบาลใหม่กับนายกฯ คนใหม่ ซึ่งก็ยังคงเป็นผู้นำของคณะราษฎรอยู่เช่นเดิม แต่บทบาทของหลวงวิจิตรวาทการดูจะมากขึ้น นายกฯคนใหม่นั้นดูจะฟังคำเสนอแนะของหลวงวิจิตรฯ มากทีเดียว ช่วงนี้คือช่วงที่มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” ทั้งเป็นช่วงที่นายกรัฐมนตรีเน้นบทบาท “ท่านผู้นำ” บางทีก็เรียกช่วงเวลานี้ว่าเป็นช่วงเวลา “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย มาลานำไทยไปสู่อำนาจ” และรัฐบาลก็พยายามทำให้ประเทศไทยมีความเหมือนกับประเทศตะวันตกในหลายเรื่องหลายกรณี ร่วมทั้งกำหนดวันขึ้นปีใหม่ของไทยเสียใหม่ จากวันที่ 1 เมษายน เป็นวันที่ 1 มกราคม โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2484 โดยรัฐบาลเสนอเรื่องให้มีการพิจารณาเรื่องนี้ในวันที่ 1 สิงหาคม ปี 2483 ตัวแทนรัฐบาลที่แถลงชี้แจงในสภาฯก็คือรัฐมนตรีลอยที่ชื่อหลวงวิจิตรวาทการนั่นเอง
ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นขอเดินทัพผ่านไทยในวันที่ 8 ธันวาคม ปี 2484 แล้ว นายกฯ หลวงพิบูลสงครามได้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเองด้วย และในวันที่ 25 มกราคม ปี 2485 รัฐบาลไทยภายใต้การนำของหลวงพิบูลสงคราม ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ประกาศสงครามกับประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา งานด้านต่างประเทศจึงมีมากและสำคัญ ประกอบกับนายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศได้ลาออกเพื่อไปเป็นทูตที่ประเทศญี่ปุ่น ตำแหน่งจึงว่าง นายกฯ ได้เลือกเอาหลวงวิจิตรวาทการเข้ามาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในวันที่ 7 มีนาคม ปี 2485 เมื่อมีการปรับคณะรัฐมนตรี และในรัฐบาลของนายกฯ หลวงพิบูลฯ นี่เองที่หลวงวิจิตรฯ ได้ก้าวขึ้นไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญ ที่แสดงว่านายกฯ หลวงพิบูลฯ ไว้วางใจหลวงวิจิตรฯ มาก และเมื่อจะเอานายดิเรก ชัยนาม กลับจากญี่ปุ่น ในช่วงสงครามที่กำลังงวดลง ท่านก็ขอให้หลวงวิจิตรฯ ไปเป็นทูตที่ญี่ปุ่นแทน
ครั้นรัฐบาลของหลวงพิบูลสงครามเจอมรสุมการเมืองในสภาฯ เพราะสภาฯไม่ผ่านร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดถึง 2 ฉบับ นายกฯจึงลาออกในเดือนกรกฎาคม ปี 2487 และต่อมาเมื่อไทยมีกฎหมายว่าด้วยอาชญากรสงคราม อดีตนายกฯ ผู้ประกาศสงครามก็เจอข้อหาเป็นอาชญากรสงคราม หลวงวิจิตรวาทการตกเป็นผู้ต้องหาด้วยและท่านก็ถูกควบคุมตัวที่ประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ดำรงตำแหน่งทูตไทยอยู่ที่นั่น และนำกลับมาไทยมาขึ้นศาลไทย แม้จะมีเคราะห์แต่ก็เคราะห์ดี ถูกคุมตัวเป็นผู้ต้องหาคดีอาชญากรสงครามได้ไม่นาน ในเดือนมีนาคม ปี 2489 ศาลสถิตยุติธรรมวนิจฉัยว่ากฎหมายอาชญากรสงครามจะใช้ย้อนหลังไม่ได้ ผู้ต้องหาคดีนี้ทั้งหมดในไทยจึงพ้นคดี รวมทั้งหลวงวิจิตรฯ ชีวิตของท่านนั้นจึงมีขึ้นมีลงอย่างสาหัส ขั้นสูงสุดก็ได้เป็นเจ้ากระทรวงการต่างประเทศที่ตนเคยเป็นเสมียนในครั้งแรก ที่ต่ำสุดก็คือตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาชญากรสงคราม แต่ก็รอดมาได้ ท่านเป็นคนที่เขียนหนังสือสอนคนมามาก ท่านจึงไม่เดือดร้อน ครั้นนายเก่าหลวงพิบูลสงครามกลับมาเป็นนายกฯ อีกหลังการรัฐประหารปี 2490 โดยมาเป็นต่อจากนายควงในเดือนเมษายน ปี 2491 หลวงวิจิตรฯจึงได้ฟื้นขึ้นมาอีก คราวนี้ท่านถูกส่งไปเป็นทูตที่ประเทศอินเดีย ในปี 2495 อินเดียเป็นประเทศที่เพิ่งได้รับเอกราชในปี 2492 จากอินเดียท่านได้รับการแต่งตั้งไปเป็นทูตที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ขณะที่หลวงวิจิตรวาทการเป็นทูตอยู่ที่ประเทศสวิส ได้เกิดการยึดอำนาจในประเทศไทยในปี 2500 เพราะหลังการเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปี 2500 ที่พรรคเสรีมนังคศิลาของรัฐบาลชนะการเลือกตั้ง ได้เกิดการประท้วงใหญ่ของนิสิต นักศึกษาและประชาชน กล่าวหาว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นมีการโกงการเลือกตั้ง การต่อต้านรัฐบาลได้เปิดทางให้จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับคณะทหารนำกำลังเข้าล้มรัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม ต่อมาจอมพล สฤษดิ์ได้ยึดอำนาจซ้ำอีก และได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีเองในปี 2502 คราวนี้ปรากฏว่าคนหน้าเก่าในวงการเมืองที่จอมพล สฤษดิ์ดึงตัวเข้ามาร่วมงานคนหนึ่งคือหลวงวิจิตรวาทการ และเป็นงานสำคัญด้วยถึงขนาดสร้างตำแหน่งใหม่ขึ้นมาเรียกว่า “ปลัดบัญชาการ” ตามกฏหมายจัดระเบียบราชการสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2502 มีคนอธิบายว่าเหมือนตำแหน่ง “Chief of Staff” ที่ทำเนียบประธานาธิบดีอเมริกัน คือ ควบคุมดูแลงานที่ทำเนียบของนายกฯเพื่อสนองงานนายกฯให้ลุล่วงไปด้วยดี จึงต้องเป็นคนที่นายกฯไว้วางใจ และมีความรอบรู้สารพัดเรื่อง ซึ่งหลวงวิจิตรวาทการน่าจะมีคุณสมบัติที่ว่านี้ ท่านจึงเป็นที่ปรึกษาสำคัญโดยไม่ต้องเรียกว่าที่ปรึกษานั่นเอง ท่านจึงเป็นที่เขาว่ากันว่าจอมพล สฤษดิ์เคยบอกว่า “ถือว่าขาดไม่ได้” แต่หลวงวิจิตรฯ ก็ได้ทุ่มเททำงานให้จอมพล สฤษดิ์อย่างเต็มที่ น่าเสียดายว่าท่านได้ป่วยและถึงแก่อนิจกรรมจากภรรยา คือ คุณหญิงประภาพรรณและบุตรกับธิดาไปในวันที่ 31 มีนาคม ปี 2505